ครูต๋อย – สุทัศน์ ถาวรวิไลฤกษ์ คือเขยด่านเกวียนแห่งเมืองโคราช ที่ตกหลุมรักศิลปะการปั้นดินอย่างลึกซึ้ง เขาใช้เวลากว่า 26 ปี ‘ค้นหา’ สิ่งใหม่ๆ บนเส้นทางสายนี้ เริ่มจากฝึกปั้น โอ่ง อ่าง กระถาง ไห ที่หน้าตาเหมือนผลิตภัณฑ์ทั่วไปในด่านเกวียน ครูต๋อยไม่เคยหยุดศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม จน ‘ค้นพบ’ เอกลักษณ์ของตนเอง
ความพิเศษของงานปั้นครูต๋อย คือ ‘วัตถุดิบ’ เครื่องปั้นดินเผาแบบดั้งเดิมยังมีข้อจำกัดเรื่องน้ำยาเคลือบ และความทนทานต่อความร้อนยามเข้าเตาไฟ ทำให้ได้ชิ้นงานที่หนาและหนัก ดินของครูต๋อยถูกผสมให้มีคุณภาพดีขึ้น ทนทานต่ออุณหภูมิสูงๆ มากขึ้น จึงสามารถใช้ทำงานปั้นที่บางเบาและละเอียดกว่าเดิม สามารถเติมไอเดียและใส่ความคิดสร้างสรรค์ สนุกกับการออกแบบได้กว่าที่เคยเป็นมา
“เมื่อผมไปเข้าร่วมอบรมทำตุ๊กตาเรซินตัวเล็กๆ ก็สงสัยว่า เออ…ทำไมเราถึงไม่ลองเอาดินมาปั้นงานแบบนี้บ้างล่ะ” นั่นคือจุดเริ่มต้นของผลงานสร้างชื่อ ซึ่งก็คือ ‘ตุ๊กตาหน้าเหมือนคนดังของประเทศไทย’ ซึ่งครูต๋อยมักจะผลิตผลงานออกมาเป็นชุดๆ เช่น งานปั้นชุดนายกรัฐมนตรีไทย ที่ครอบคลุมตั้งแต่นายกฯ คนแรกมาจนถึงคนปัจจุบัน
ครูต๋อยจึงมีงานตามออร์เดอร์ประจำทุกปี โดยเฉพาะการปั้นตุ๊กตาเป็นของขวัญงานรับปริญญา ที่คิวยาวเหยียดจนต้องกำหนดจำนวนรับ “ปีหนึ่งผมรับได้แค่ไม่เกิน 150 ตัว เราจะให้เขามองตัวเองว่าอยากเป็นตัวอะไร เป็นซูเปอร์แมนหรือสไปเดอร์แมนแบบนี้ก็ได้ ที่สำคัญก็คือเราต้องถอดเอกลักษณ์ของแต่ละคนออกมา” ตุ๊กตาหน้าเหมือนเป็นผลงานที่ต้องอาศัยความละเอียดอ่อนในการตีความและจับลักษณะเด่นของตัวบุคคลต้นแบบ แม้จะรับงานเยอะแบบนี้ แต่ครูต๋อยก็มีเพียงลูกสาวคนเดียวที่คอยเป็นลูกมือช่วยขึ้นตัวหุ่นหรือลงสีได้บ้าง งานส่วนสำคัญอย่างการปั้นใบหน้า ก็ต้องถึงมือศิลปินหลักอยู่ดี
หลังจากปั้นดินมานานจนฝีมือเข้าที่ ก็ถึงเวลาสวมบทบาทวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้กับศิลปินและผู้สนใจในจังหวัดต่างๆ ครูต๋อยใส่ใจและทำการบ้านอย่างหนักก่อนการสอนแต่ละครั้ง เริ่มจากศึกษาว่ามีวัตถุดิบอะไรในพื้นที่ มีเรื่องราวอะไรซ่อนอยู่ เพื่อออกแบบการสอนที่จะต่อยอดและพัฒนาทักษะคนในพื้นที่ให้ได้ประสิทธิผลที่สุด
“ยกตัวอย่างเช่นที่สุรินทร์มีดินสีดำ และทำหม้อด้วยวิธีการตี ผมก็ไปนำเสนอให้ลองทำด้วยวิธีขึ้นแป้นหมุน แล้วก็ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ชวนเขาคิดว่าถ้าปั้นหม้อต่อไปเรื่อยๆ จะขายให้ใคร ลองทำหม้อจิ้มจุ่มดูดีไหม จนชาวบ้านเขาสามารถทำและขายได้จริงๆ”
ในเมืองโคราชเอง ครูต๋อยก็ทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้ด้านวัฒนธรรมทั้งในโรงเรียน และพื้นที่เรียนรู้อื่นๆ ร่วมกับปราชญ์ชุมชนอีกหลายท่าน จนเกิดเป็นโครงการต่อเนื่องยาวนาน “เราทำงานแบบไม่หวังผลกำไรมานานถึง 10 ปี สิ่งที่ได้กลับมาคือเพื่อน ได้เจอคนที่มีความรู้มากมาย ได้แลกเปลี่ยนความรู้กัน ทำให้เรามีความรู้มากขึ้น”
สวมบทบาทเป็นทั้งนักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ศิลปิน และครู มานานกว่า 2 ทศวรรษ ครูต๋อยเองก็ได้เรียนรู้จากการเดินทางบนถนนสายดินปั้นหลายประเด็นเช่นกัน “สิ่งที่ผมทำอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากก็จริง แต่สิ่งที่ผมได้คือการเปลี่ยนวิธีคิด material เป็นเรื่องแรก เรื่องที่สองคือ logistics เรื่องที่สามคือความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ถ้า material ดี process ดี เราก็จะได้ชิ้นงานที่ดี แต่ถ้าเรายังทำเหมือนคนอื่น เราก็จะไม่มีวันขายได้ เราต้องพาตัวเราออกไปให้เขาดู ไม่ใช่รอให้คนวิ่งเข้ามาหา เรามองเห็นโลกแต่ว่าโลกยังมองไม่เห็นเรา”
ทั้งหมดที่ทำมา รวมถึงที่วางแผนจะทำต่อไป ล้วนเกิดขึ้นเพราะครูต๋อยไม่อยากให้ศิลปะงานปั้นของด่านเกวียนเลือนหายไป และอยากให้ชุมชนเข้มแข็งด้วยการสนับสนุนที่เหมาะสม
“อยากให้ได้คนลองมาจับดิน ลองใช้แป้นหมุน จะได้เข้าใจชุมชน เข้าใจว่าด่านเกวียนคืออะไร เข้าใจจากประสบการณ์ของตัวเอง ไม่ใช่จากการอ่านบทความต่างๆ อยากให้สิ่งที่เราทำมีส่วนช่วยให้เกิดโอกาส และโอกาสนั้นลงมาถึงชุมชนจริงๆ แต่ชุมชนก็ต้องสร้างตัวตนให้เข้มแข็งก่อน ทำในสิ่งที่เราถนัดให้ดี เพื่อที่หน่วยงานภาครัฐจะได้เข้ามาช่วยเป็นตัวกลางในการติดต่อกับตลาดต่างประเทศ ช่วยเรื่องการประชาสัมพันธ์ ทำให้เกิดเฟสติวัลหรือเทศกาล ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกปีอย่างยั่งยืน ไม่ได้เกิดขึ้นแล้วจบลงเป็นครั้งๆ”
นี่คือความฝันของศิลปินและครูคนหนึ่ง
