เมื่อได้ยินคำว่า ‘รัฐสวัสดิการ’ หลายคนอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว เกี่ยวข้องกับนโยบายทางการเมืองที่ซับซ้อน จับต้องยาก
แต่ในความเป็นจริง การมีรัฐสวัสดิการที่ดี สัมพันธ์โดยตรงกับการมีคุณภาพชีวิตที่ดี กล่าวคือไม่ว่าจะยากดีมีจน สืบต้นตระกูลมาจากไหน ทุกคนในสังคมนั้นๆ มีสิทธิที่จะได้รับสวัสดิการที่รัฐจัดสรรให้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง
สำหรับประเทศไทย มีการพูดถึงเรื่องนี้มากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยนักวิชาการที่มีบทบาทสำคัญคือ รองศาสตราจารย์ ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานเขียนและบทสัมภาษณ์ของเขาหลายต่อหลายชิ้น ช่วยเปิดมุมมองและโลกทัศน์ใหม่ๆ ในเรื่องรัฐสวัสดิการ อันเป็นรากฐานของสังคมที่เท่าเทียม
ปาฐกถาเรื่อง ‘รัฐสวัสดิการเพื่อความสุขสมบูรณ์ของราษฎร’ คือผลงานชิ้นโบแดงที่สะท้อนแง่มุมเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการในประเทศไทยได้อย่างแหลมคม
เพื่อพิสูจน์ว่ารัฐสวัสดิการไม่ใช่ยาขม แต่เป็นลูกอมที่ใครก็ทานได้ เราจึงชวนเขามาสนทนาในหัวข้อที่เรียบง่ายและใกล้ตัวทุกคนอย่าง ‘พื้นที่สาธารณะ’
คำถาม-คำตอบต่อไปนี้ นอกจากจะทำให้เห็นภาพว่าพื้นที่สาธารณะที่ดี (และไม่ดี) เป็นอย่างไร ยังช่วยให้ตระหนักว่ารัฐสวัสดิการไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่คิด แต่เกี่ยวข้องกับชีวิตเราตั้งแต่ตอนที่ยังอยู่ในท้องแม่ด้วยซ้ำ
เรื่องพื้นที่สาธารณะ เกี่ยวข้องกับรัฐสวัสดิการยังไง
เวลาเราพูดถึงรัฐสวัสดิการ มันคือการดีเบตกันว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญในสังคมนี้ คือการต่อสู้เพื่อนำไปสู่การจัดสรรทรัพยากร คือการที่เงินทุกบาทถูกแปลงมาเป็นสวัสดิการให้แก่ประชาชน
ถ้าเราสามารถต่อสู้จนถึงจุดที่รัฐเห็นว่าชีวิตเป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดนโยบาย สวัสดิการที่เราควรได้รับจะความหมายครอบคลุมทุกมิติของชีวิต ตั้งแต่ตอนอยู่ในท้องแม่ เกิดมา จนกระทั่งตาย ไล่ตั้งแต่เงินเลี้ยงดูเด็ก เรียนหนังสือฟรี รักษาพยาบาลฟรี ประกันการว่างงาน ไล่ไปถึงเงินบำนาญจนตายจากโลกนี้ไป นี่คือความหมายที่เราคุ้นเคยกัน เมื่อพูดถึงคำว่ารัฐสวัสดิการ
แต่ชีวิตก็มีมิติอื่นๆ ด้วยที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมขนส่ง น้ำ ไฟฟ้า กีฬา รวมถึงการพักผ่อนหย่อนใจและความบันเทิงต่างๆ ส่วนนี้ผมคิดว่ามีความเกี่ยวพันกับเรื่องการจัดสรรพื้นที่สาธารณะ ที่ผ่านมาคนที่เป็นนักกำหนดนโยบายสาธารณะ มักจะบอกว่าต้องแยกกัน หรือต้องทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ก่อน สิ่งที่ผมอยากชวนให้มีการถกเถียงกันให้ไกลขึ้น คือสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่ไปด้วยกัน เพราะมันสัมพันธ์กัน
สมมุติว่าตอนนี้ชีวิตเรามีความมั่นคงด้านเศรษฐกิจแล้ว แต่เราไม่มีสวนสาธารณะ ไม่มีห้องสมุด ไม่มีโรงละครที่ฟรี ดี หรือราคาถูกอยู่ใกล้บ้าน เราจะหาความบันเทิงในชีวิตจากไหน หรือในทางกลับกัน ต่อให้เรามีสวนสาธารณะที่ดี แตผู้คนไม่มีเวลาว่างเลย เพราะต้องหาเงินเพื่อส่งลูกเข้าโรงเรียนแพงๆ หรือหมกมุ่นกับการทำงานเพื่อเก็บเงินไว้ใช้ยามเกษียณ สวนสาธารณะที่ดีก็ไม่มีความหมาย
แสดงว่าในมุมของคุณ การจัดสรรรัฐสวัสดิการควรทำทุกด้านไปพร้อมๆ กัน
ใช่ เพราะมันเป็นเรื่องเดียวกัน เวลาเราพูดถึงชีวิต สิทธิในการเลือกเสพความความบันเทิงต่างๆ สิทธิในการพักผ่อนหย่อนใจ การมีน้ำ มีอากาศที่ดี ก็เป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์เหมือนกัน และสามารถเชื่อมให้เป็นเรื่องเดียวกันได้
พื้นที่สาธารณะจะถูกใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อคนในสังคมมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ มีโครงสร้างพื้นฐานดี ทำให้คนออกมาใช้ชีวิตและมีปฏิสัมพันธ์ในพื้นที่สาธารณะได้อย่างเต็มที่
แต่ถ้าเราอยู่ในสังคมที่คนไม่มีเงิน ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีเวลาว่าง พื้นที่สาธารณะจะเหลื่อมล้ำมากขึ้นไปตามปัจจัยเหล่านี้ เราจึงเห็นสนามฟุตซอลใต้ทางด่วน เห็นสวนป่าส่วนตัวในหมู่บ้านจัดสรร ถ้ารัฐสวัสดิการไม่ถูกทำให้เกิดขึ้น พื้นที่สาธารณะก็ยิ่งเหลื่อมล้ำมากขึ้น มันคือเรื่องเดียวกัน
พอจะมีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมไหม
ประเทศที่ใช้แนวรัฐสวัสดิการที่เห็นได้ชัดที่สุด คือกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ซึ่งเป็นต้นแบบของสังคมนิยมประชาธิปไตย วิธีที่เขาใช้คือการเอามนุษย์เป็นตัวตั้ง แล้วออกแบบความมั่นคงด้านเศรษฐกิจควบคู่ไปกับความมั่นคงทางด้านคุณภาพชีวิต
ผมขอยกตัวอย่างประเทศนอร์เวย์ นอร์เวย์เคยมีปัญหาอาชญากรรมจากผู้อพยพ อย่างที่เรารู้กันว่าประเทศเหล่านี้ เขารับผู้อพยพจำนวนมาก คนเหล่านี้ส่วนมากจะทำงานที่คนท้องถิ่นไม่ทำ เช่น เป็นพนักงานซูเปอร์มาร์เก็ตกะดึก ปัญหาก็คือลูกหลานที่ติดตามมาด้วย พ่อแม่จะไม่ค่อยมีเวลาดูแล ผลที่ตามมาคือพวกเด็กวัยรุ่นที่เป็นลูกหลานผู้อพยพ จะมารวมตัวกัน เข้าแก๊งอันธพาล ก่อความวุ่นวาย เทียบกับบ้านเราอาจคล้ายกลุ่มเด็กแว้น
รัฐบาลท้องถิ่นก็คิดว่าจะแก้ไขเรื่องนี้ยังไง ถ้าเป็นบ้านเรา ก็คงเพิ่มกล้องวงจรปิด หรือเพิ่มกำลังตำรวจให้มากขึ้น แต่สิ่งที่เขารัฐบาลท้องถิ่นของเขาทำคือการสร้างสนามกีฬา จากนั้นก็จ้างโค้ชฟุตบอลมาช่วยสอน เปิดไฟไว้ 24 ชั่วโมง ให้เด็กเข้าไปเล่นตอนไหนก็ได้ ลองคิดง่ายๆ ว่าระหว่างการสร้างสนามกีฬากับกับการเพิ่มตำรวจ อะไรถูกกว่ากัน สนามกีฬาถูกกว่าเยอะเลย
สิ่งที่เกิดขึ้นคือปัญหาอาชญากรรมของเด็กลดลง แก๊งอันธพาลลดลง คนหันมาเล่นกีฬามากขึ้น นี่คือตัวอย่างของคำว่าพื้นที่สาธารณะ คุณแค่สร้างสนามกีฬา จ้างโค้ช แล้วก็เปิดไฟ 24 ชั่วโมง ไม่ได้เป็นนวัตกรรมที่ซับซ้อน แต่ผลที่เกิดขึ้นคือการ transform สังคม ทำให้เด็กกลุ่มนี้ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับแก๊งอันธพาล โฟกัสกับการเรียนได้ดีขึ้น พ่อแม่ไม่ต้องมาคอยกังวล เหนืออื่นใดคือทำให้ประเทศสามารถพัฒนาพลเมืองของเขาต่อไปในเส้นทางต่างๆ ได้
นี่แค่กรณีของเด็กวัยรุ่น ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น มันสะท้อนว่าถ้าคุณมีพื้นที่สาธารณะเพียงพอ ประชากรจะมีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น
ฟังดูแล้วเป็นเรื่องใกล้ตัวและเรียบง่ายกว่าที่คิด แล้วถ้ามองกลับมาที่ประเทศไทย ปัญหาของเราคืออะไร
ผมคิดว่าทุกคนตระหนักว่าเรื่องนี้สำคัญ แต่ปัญหาคือบ้านเรายังไม่มีวิธีคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ ในฐานะสิทธิถ้วนหน้าของประชาชนทุกคน มันเลยกลายเป็นสวัสดิการตามลำดับชั้น ตั้งแต่เรื่องการศึกษา เรื่องการรักษาพยาบาล ไล่มาถึงพื้นที่สาธารณะ
ถ้าคนมีเงินหน่อย คุณก็ซื้อหมู่บ้านจัดสรรที่มันมีทุกอย่างเลย แม้กระทั่งป่าส่วนตัว ถ้าคุณเป็นชนชั้นกลาง พอมีเงินเดือนหน่อย คุณก็อาจไปเช่าสนามฟุตซอลเพื่อออกกำลังกาย หารค่าสนามกันในกลุ่มของคนที่มีรายได้ระดับเดียวกัน แต่กับคนทั่วไปล่ะ คนกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกแบบชนชั้นกลางและชนชั้นสูงได้ เขาจะทำยังไง ภาพที่เราเห็นคือ ถ้าเกิดเขาอยากเตะบอล เขาก็ต้องไปสนามฟุตซอลใต้ทางด่วน หรือลานกีฬาต้านยาเสพติด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกเจียดมาให้ใช้ แต่ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะที่ดีพอสำหรับทุกคน
แง่หนึ่งมันจึงกลายเป็นการส่งเสริมวิธีคิดที่ว่า ถ้าวันหนึ่งคุณมีเงิน คุณจะกระเถิบไปซื้อบริการที่ดีกว่านี้ กระเถิบออกไปจากชุมชนนี้ เพื่อซื้อสังคมและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า เรายังไม่มีวิธีคิดในการออกแบบพื้นที่สาธารณะให้คนรวย คนชั้นกลาง และคนจนได้ใช้ร่วมกัน กลายเป็นว่าพื้นที่สาธารณะที่รัฐจัดให้ มีไว้สำหรับคนจน คนด้อยโอกาส ซึ่งคุณภาพก็ไม่ค่อยดี เหมือนมีไว้แค่กันตาย จึงไม่แปลกที่จะได้ยินคำพูดทำนองว่า ถ้าคุณมีเงิน คุณก็ไปหาทางเลือกอื่นเอา ใครไม่มีเงิน ก็ใช้สิ่งที่รัฐจัดไว้เท่าที่มี นี่คือภาพของพื้นที่สาธารณะที่เราเห็นได้ทั่วไป
พูดง่ายๆ คือแทนที่จะเป็นรัฐสวัสดิการ แต่ของเรากลับเป็นรัฐอุปถัมภ์
ใช่ครับ ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาเราเห็นโครงการฝึกกีฬาให้เด็กต่างจังหวัด มันมักจะเป็นเรื่องของ CSR บวกกับการสงเคราะห์ เราไม่ได้มองว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน สิทธิที่เขาจะเลือกได้ หรือการที่เราบอกว่าคนแก่ควรมีพื้นที่ออกกำลังกาย หลายคนจะมองว่าเป็นเรื่องหรูหราเกินกว่าที่รัฐจะต้องเข้ามาดูแล แต่ไม่ได้นึกภาพในฐานะสิทธิพื้นฐานที่คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกฐานะ สามารถเข้ามาใช้ร่วมกันได้
การมีพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนใช้ร่วมกันได้ สำคัญยังไง
สำคัญใน่แง่การสร้างความรู้สึกร่วมของคนในสังคม จากการที่คนได้ใช้อะไรร่วมกัน ได้สูดอากาศหายใจในพื้นที่เดียวกัน สัมผัสถึงความเป็นเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ในสังคมเดียวกัน ไม่ใช่ตัวใครตัวมัน นี่คือหัวใจสำคัญของพื้นที่สาธารณะ และเป็นหัวใจของการสร้างรัฐสวัสดิการในประเทศที่มีระบบรัฐสวัสดิการเข้มแข็ง
อีกตัวอย่างที่ผมอยากพูดถึง คือสิงคโปร์ เวลาเราพูดถึงพื้นที่สาธารณะในประเทศไทย จะมีคนที่ตั้งข้อสังเกตว่าเราเป็นประเทศที่อากาศร้อนชื้น คนไม่ค่อยออกมาใช้ชีวิตกลางแจ้ง อยากอยู่ในห้องแอร์ เราเลยมีแต่ห้างเต็มไปหมด
แต่ถ้าเทียบกับสิงคโปร์ ซึ่งมีสภาพภูมิอากาศใกล้เคียงกับเรา แต่เขามีวิธีออกแบบและจัดการพื้นที่สาธารณะที่น่าสนใจ เป็นพื้นที่ที่สามารถใช้ได้จริง ไม่ถูกทิ้งให้รกร้างว่างเปล่า มีระบบขนส่งสาธารณะที่ทั่วถึง
บางคนอาจมองว่า สิงคโปร์เป็นประเทศเล็กๆ เลยทำได้ แต่ผมอยากชี้ให้เห็นว่า อำนาจในการการจัดการพื้นที่สาธารณะ เป็นอำนาจระดับท้องถิ่น เช่น อบจ. สามารถจัดการด้วยตัวเองได้ และไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมากมาย นี่อาจเป็นประเด็นที่สำคัญกว่า สภาพอากาศไม่ใช่เรื่องใหญ่ และไม่ใช่เงื่อนไขที่ขัดขวางการมีพื้นที่สาธารณะที่ดี
การที่ประเทศไทยมีห้างสรรพสินค้ามากกว่าสวนสาธารณะ สะท้อนให้เห็นอะไรบ้าง
ผมคิดว่าหลายเมืองทั่วโลกก็เป็นแบบนี้ คือมีห้างเป็นศูนย์กลางของเมือง แต่ในบางเมือง รวมถึงประเทศไทย การกระจุกของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กิจกรรมทางสังคม มันผูกติดอยู่กับห้างมากเกินไป ผมมองว่าไม่ใช่เรื่องที่ดีนักที่กิจกรรรมหลายๆ อย่างมันถูกควบรวมไว้ในห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นการส่งเสริมความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ
กรณีที่น่าสนใจคือไต้หวัน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจและค่าครองชีพใกล้เคียงกับเรา เขามีห้างสรรพสินค้าน้อยกว่าเรามาก แต่มี street shop ที่เยอะและหลากหลายกว่า ส่งผลโดยตรงต่อกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะ เช่น การเดินเล่นในเมือง จะง่ายขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น
ลองคิดง่ายๆ ว่า ถ้าเราอยู่ในเมือง แล้วอยากนัดกับเพื่อน ง่ายสุดคือนัดกันที่ห้าง ไปกินชาบู กินเสร็จเดินเล่นในห้างต่อ แต่เราจะไม่มีไอเดียว่า เดี๋ยววันนี้จะไปเดินเล่นในเมืองกัน เดินคุยกันไปเรื่อยๆ เพราะเราไม่รู้จะไปเดินที่ไหน เรื่องนี้ถ้ามองดีๆ ก็เกี่ยวข้องกับการผูกขาดของกลุ่มทุน ซึ่งผูกขาดพื้นที่สาธารณะในเมืองไปด้วยพร้อมๆ กัน
พื้นที่สาธารณะอีกประเภทหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือพื้นที่การเรียนรู้ เช่น ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ถ้าเทียบระหว่างไทยกับต่างประเทศ คุณเห็นความแตกต่างในแง่ไหนบ้าง
ขอพูดถึงห้องสมุดก่อน ผมคิดว่าทุกวันนี้คนยังเข้าใจคำว่าห้องสมุดในความหมายที่แคบอยู่ คือมองว่าในเมื่อเทคโนโลยีต่างๆ พัฒนามาขนาดนี้ เราจะยังเข้าห้องสมุดกันอยู่ทำไม แต่ความจริงแล้ว ฟังก์ชันของห้องสมุดอย่างหนึ่งคือการเป็นศูนย์กลางของชุมชน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเข้าไปอ่านหนังสืออย่างเดียว
ห้องสมุดหลายแห่งมีบอร์ดเกมให้เล่น มีโต๊ะให้นั่งทำงาน มีมุมสำหรับเด็กๆ เป็นพื้นที่ที่เปิดให้คนเข้ามาพบปะและใช้ชีวิตร่วมกัน ถ้ามองในแง่นี้ เราจะเห็นว่าบริษัทใหญ่ๆ ก็ตระหนักถึงความสำคัญของพื้นที่แบบนี้ จากการทำ CSR สร้างห้องสมุด ร้านหนังสือ หรือศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ
ถามว่าห้องสมุดสำคัญอย่างไรในแง่พื้นที่สาธารณะ ผมเคยคุยกับ ส.ส. ของประเทศสวีเดน ถามเขาว่าในอนาคต A.I. จะเข้ามามากขึ้น คนตกงานเพิ่มขึ้น รัฐสวัสดิการของคุณก็จะไม่มีคนจ่ายภาษีให้ คุณคิดว่าคุณจะเอาตัวรอดได้อย่างไร
คำตอบของเขาน่าสนใจมาก เขาบอกว่าสวีเดนจะสามารถเอาชนะ A.I. ได้ด้วยสองสิ่ง สิ่งแรกคือห้องสมุด สองคือประกันการว่างงาน ผมก็ถามต่อว่า ห้องสมุดจะเอาชนะ A.I. ได้ยังไง เพราะมันดูเป็นสิ่งที่ตกยุคมากเลย เขาก็อธิบายว่า สิ่งที่ทำให้มนุษย์เหนือกว่า A.I. คือมนุษย์มีเวลาว่าง หมายถึงมีเวลาในการขบคิด พูดคุย แล้วห้องสมุดนี่แหละคือกลไกสำคัญที่ทำให้มนุษย์ได้ใช้เวลาในการขบคิด พูดคุยกันในลักษณะที่ A.I. ทำไม่ได้ ห้องสมุดมีองค์ความรู้มากมาย มีปรัชญา มีวิทยาศาสตร์ มีวรรณคดี ที่สำคัญคือมี ‘คน’ จริงๆ ที่สามารถนั่งคุยกันได้ สิ่งนี้แหละคือปัจจัยที่ทำให้มนุษย์สามารถคิดอะไรได้ไกลขึ้น
พอมองย้อนกลับมาที่ไทย ห้องสมุดที่เรามีสามารถตอบโจทย์ที่ว่ามาไหม
ตัวอย่างหนึ่งที่ผมเห็นมา แล้วรู้สึกว่าน่าเศร้า คือหอสมุดเมือง กรุงเทพมหานคร ที่ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน ถ้ามองในแง่สถาปัตยกรรม มันก็ดูสวยดี มีพื้นที่กว้างขวาง แต่ในแง่การใช้งาน ผมไม่แน่ใจว่ามันตอบโจทย์แค่ไหนในฐานะห้องสมุดของคน 6 ล้านคนในกรุงเทพฯ หรือถ้านับแค่เขต ก็เป็นหลักแสนคน
เอาแค่เรื่องหนังสือ ก็ถือว่ามีค่อนข้างน้อย น้อยกว่าห้องสมุดมหาวิทยาลัยหรือห้องสมุดบางโรงเรียนด้วยซ้ำ แล้วส่วนมากก็เป็นหนังสือที่ได้มาจากหน่วยงานต่างๆ ส่วนเรื่องการเดินทาง หากจะมาด้วยขนส่งสาธารณะก็ไม่ง่ายนัก ยังไม่นับว่าหลายชุมชนเก่าแก่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ โดนไล่รื้อออกไปเกือบหมด มันไม่มีคนจริงๆ อยู่ในนั้น
เรื่องหนึ่งที่ผมอยากย้ำคือ เวลาเราสร้างบริการที่เป็นสาธารณะเหล่านี้ บางครั้งเราคิดเรื่องกำไรขาดทุนมากเกินไป สำหรับผมเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ต้องยอมขาดทุน แต่ส่วนมากเรามักจะคิดในสมการของธุรกิจ คิดแบบห้างสรรพสินค้าที่ต้องหารายได้ ผมยกตัวอย่างขนส่งสาธารณะของหลายประเทศ สมมติลงทุนไป 100 บาท เขาโยนเงินทิ้งเลย 70 บาท เก็บคืนได้แค่ 30 บาท โมเดลเขาเป็นแบบนั้น
ผมยกตัวอย่างสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เขามีห้องสมุดสำหรับเด็กโดยเฉพาะ ตั้งอยู่กลางเมืองในพื้นที่ของเทศบาล ถามว่าในชีวิตเรา เราจะพาลูกไปห้องสมุดเด็กสักกี่ครั้ง ว่ากันตามจริง ก็ไม่บ่อยหรอก ครอบครัวที่ขยันหน่อยอาจพาไปปีละ 3-4 ครั้ง พาไปบ่อยเกินเด็กก็เบื่อ ตอนผมอยู่สวีเดน เคยลองเข้าไปดู คนก็ไม่ได้เยอะนะ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า ถ้าคุณอยากมา อยากใช้ มันมีสิ่งเหล่านี้ที่คอยให้บริการอยู่ ไม่ใช่ว่าพอถึงเวลา ลูกคุณอายุครบ 4 ขวบ เริ่มหัดอ่านหนังสือได้ หรืออยากเล่มเกมบางอย่าง คุณต้องไปเก็บเงินผ่อนบัตรเครดิตเพื่อซื้อทุกอย่าง เขาสิ่งเหล่านี้รองรับไว้ ไม่ใช่ผลักภาระให้เป็นเรื่องของตัวใครตัวมัน
เช่นเดียวกัน ถ้าเราอยากวิ่ง จะดีกว่าไหมถ้าแค่เราใส่รองเท้า ก้าวออกจากบ้าน แล้วมีพื้นที่สาธารณะให้เราวิ่งในระยะใกล้ๆ ไม่ต้องเสียเวลาขับรถไปไกลๆ ไม่ต้องไปถึงกรีนโซนที่สุวรรณภูมิ หน้าที่ของรัฐคือต้องจัดสรรพื้นที่เหล่านี้ไว้ กำไรมากน้อยไม่ใช่ประเด็น คนใช้มากหรือน้อยไม่ใช่ประเด็น
แล้วในส่วนของพิพิธภัณฑ์ล่ะ
ผมคิดว่าฟังกชันสำคัญอย่างหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ คือการส่งต่อเรื่องราวของคนธรรมดา เวลาเราไปดูพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในไทย มันมีเรื่องราวนะ ไม่ใช่ไม่มี แต่มักจะเป็นเรื่องราวที่ไม่ได้ยึดโยงกับคนทั่วไป และวิธีการนำเสนอก็ไม่ได้ทำให้คนรู้สึกสนุกไปกับมัน
ความสนุกอาจไม่สำคัญเท่าไหร่ แต่อย่างน้อยมันต้องทำให้คนเกิดความรู้สึกร่วม รู้สึกเป็นเจ้าของสิ่งเหล่านั้น ปัญหาของพิพิธภัณฑ์ไทยคือการพยายามยึดโยงกับบางสิ่งมากเกินไป ผลที่ตามมาคือมันมักจะไม่สนุก ถ้าลองเทียบกับประเทศในเอเชีย เช่นญี่ปุ่น เขาสามารถนำเทพเจ้ามาทำเป็นกิมมิค ทำเป็นขนม หรือหาวิธีแปลกๆ ที่ทำให้คนรู้สึกเชื่อมโยงกับสิ่งนั้นได้
อีกเรื่องที่สำคัญ คือพิพิธภัณฑ์ไม่จำเป็นต้องนำเสนอแต่เรื่องเก่าเท่านั้น แต่สามารถเล่าเรื่องปัจจุบันได้ด้วย เช่น พูดถึงความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชน หรือความคิดความฝันของคนรุ่นใหม่ การมีเรื่องราวปัจจุบันจะทำให้พิพิธภัณฑ์ไม่แห้งแล้งจนเกินไป
ข้อสุดท้าย พิพิธภัณฑ์ไม่จำเป็นต้องเล่าแต่เรื่องดีๆ เท่านั้น พิพิธภัณฑ์พูดถึงเรื่องแย่ๆ ได้ พูดถึงความอัปลักษณ์ได้ พูดถึงความโหดร้ายได้ พูดถึงความสำเร็จและบทเรียนต่างๆ ได้ และท้ายที่สุด ไม่จำเป็นต้องจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งก็ได้ แต่พิพิธภัณฑ์ไทยส่วนใหญ่มักจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง เริ่มจากการชี้ให้เห็นปัญหา แล้วสุดท้ายต้องมีคนมาช่วยแก้ ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องลงเอยแบบนั้นเสมอไป ปัญหาไหนยังแก้ไม่ได้ ก็บอกว่าแก้ไม่ได้ หรือทิ้งเป็นคำถามให้คนคิดต่อก็ได้ว่า ถ้าเป็นคุณจะแก้ยังไง ทำเป็นระบบอินเตอร์แอคทีฟ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อดึงให้คนเกิดความรู้สึกร่วมมากขึ้น มีวิธีมากมายที่สามารถทำได้
อย่างที่ผมบอกไป เรื่องพวกนี้ทำแล้วคุณขาดทุนแน่นอน ขาดทุนในแง่ตัวเงิน แต่มันสำคัญมากในแง่ของการทำให้คนเข้าใจปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนหรือสังคมนั้น
เท่าที่ฟังมา การทำให้คนมีความรู้สึกร่วมหรือเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะ ห้องสมุด หรือพิพิธภัณฑ์ ถือเป็นหัวใจสำคัญเหมือนกัน
ใช่ครับ การที่คนจะมีความรู้สึกร่วม รู้สึกเป็นเจ้าของ มาจากหลายปัจจัย ไล่ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานอย่างการเดินทาง มีขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงไหม ทำเลที่ตั้งอยู่ตรงไหน เวลาเปิด-ปิดเหมาะสมไหม เงื่อนไขการเข้าชมเป็นยังไง ลองคิดง่ายๆ ว่าถ้าเราอยากเข้าชมพิพิธภัณฑ์ แต่ต้องทำหนังสือเพื่อให้ผู้อำนวยการเซ็นอนุมัติ ถึงจะเข้าชมได้ แบบนี้คนก็ไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของแล้ว
อีกเรื่องที่เห็นชัด คือการตั้งชื่อ ไม่รู้ทำไมเราถึงชอบตั้งชื่อสถานที่เหล่านี้ให้ดูขรึมขลัง ศักดิ์สิทธิ์ ใช้คำยากๆ ที่คนทั่วไปไม่เข้าใจ เช่น ราชมังคลากีฬาสถาน แค่ชื่อคนก็ไม่รู้สึกเป็นเจ้าของแล้ว
ประเด็นที่ผมจะบอกคือ เราต้องลดความศักดิ์สิทธิ์ของพื้นที่สาธารณะลงมา ทำให้มันเป็นสิ่งธรรมดาสามัญ ตั้งแต่การตั้งชื่อ การกำหนดเวลาเปิด-ปิด ไปจนถึงการลดกำแพง รั้วรอบขอบชิด เพื่อให้คนเข้าถึงได้ง่ายที่สุด ที่สำคัญคือต้องเป็นของสาธารณะจริงๆ ไม่จำเป็นต้องจั่วหัวว่าคนนี้สร้าง คนนั้นบริจาค ซึ่งประเทศไทยดันหมกมุ่นกับเรื่องนี้มาก แค่เดินเข้าไปในสวนสาธารณะ เราจะพบว่าม้าหินแทบทุกตัวมีชื่อสลักอยู่ เรื่องเหล่านี้มีผลมากในแง่ความรู้สึกร่วมของผู้คน
อีกประเด็นที่อยากชวนคุย คือเรื่องพื้นที่ในการแสดงออกของประชาชน การชุมนุมเรียกร้องสิทธิต่างๆ ซึ่งสัมพันธ์กับพื้นที่สาธารณะโดยตรง คุณคิดว่าพื้นที่ประเภทนี้มีความสำคัญอย่างไร
ในแง่นามธรรม มันสำคัญในแง่สิทธิเสรีภาพที่ประชาชนพึงมี คือสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แน่นอนว่าทุกวันนี้เราสามารถแสดงความเห็นต่างๆ ได้บนพื้นที่ออนไลน์ แต่ผมมองว่าเสรีภาพบนโลกออนไลน์มันไม่สมบูรณ์โดยตัวมันเอง ถ้าเราบอกว่า การที่เราสามารถโพสต์หรือทวีตอะไรก็ได้ ถือว่าเรามีเสรีภาพแล้ว แต่ขณะเดียวกัน ถ้าเราไม่สามารถเอาเรื่องนี้ออกไปพูดข้างนอกได้ ไม่สามารถชุมนุมหรือรวมกลุ่มกันเกิน 5 คนเพื่อพูดเรื่องเหล่านี้ได้ สิทธิเสรีภาพนั้นก็ไม่สมบูรณ์อยู่ดี
ถ้าใครเคยไปเที่ยวเมืองใหญ่ๆ ในยุโรป หรือกระทั่งสหรัฐอเมริกา จะสังเกตว่ามีพื้นที่ที่เป็นจัตุรัสกลางเมือง ให้คนมาเดิน ทำกิจกรรม ทำไฮด์ปาร์ค การนัดชุมนุมประท้วงใหญ่ๆ จะเกิดบนพื้นที่เหล่านี้ แต่ของเมืองไทย ปัญหาใหญ่ที่สุดคือชนชั้นนำรวมถึงรัฐบาล ไม่เชื่อในเรื่องสิทธิเสรีภาพ พยายามทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องแปลกประหลาดและน่ากลัว
ถ้าคนอยากแสดงออกในพื้นที่สาธารณะ ต้องทำหนังสืออนุญาต ผ่านขั้นตอนและเงื่อนไขมากมาย ขณะเดียวกันพื้นที่ที่คนสามารถรวมตัวกันได้ ก็ค่อยๆ หายไปทุกวัน ตัวอย่างที่เห็นในกรุงเทพฯ คือสนามหลวง ซึ่งถูกปิดตาย คนทั่วไปไม่สามารถเข้าไปใช้ได้ พื้นที่ที่พอมีในมหาวิทยาลัยก็กลายเป็นพื้นที่ปิด มีรั้วรอบขอบชิด ไม่สามารถเข้าไปใช้ได้
สุดท้ายมันวนกลับมาที่มายด์เซ็ตของผู้มีอำนาจ ที่มองว่าพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นพื้นที่ของรัฐ ไม่ใช่พื้นที่ของประชาชน ต้องเข้ามาควบคุมจัดการให้ทุกอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย
สุดท้ายแล้วการที่พื้นที่สาธารณะค่อยๆ หายไป หรือใช้งานไม่ได้ ส่งผลต่อผู้คนและสังคมอย่างไร
เมื่อคนไม่สามารถออกมาพบปะพูดคุย เจอหน้า สบตา รวมถึงการแสดงออกในพื้นที่สาธารณะ สุดท้ายแล้วเราจะขาดความทรงจำร่วมกัน นำไปสู่การแยกขาดจากความเป็นมนุษย์ ต่างคนต่างอยู่ ซึ่งผู้มีอำนาจในปัจจุบันจะสามารถควบคุมเราได้ง่ายขึ้น นั่นคือเหตุผลว่าทำไมรัฐบาลอำนาจนิยมทั่วโลกถึงต้องพยายามควบคุมพื้นที่สาธารณะ
แล้วในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย รัฐมีวิธีรับมือหรือจัดการกับการแสดงออกในพื้นที่สาธารณะยังไง
ข้อแรกคือเขาไม่ห้ามประชาชน เขาไม่สามารถสั่งห้าม เซ็นเซอร์ หรือจับกุมประชาชนที่ออกมาชุมนุมได้ สิทธิในการชุมนุมในที่สาธารณะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนสามารถทำได้ เพียงแต่ถ้าคุณจะปิดถนน ต้องแจ้งทางการล่วงหน้า เพื่อให้เจ้าหน้าที่มาอำนวยสะดวก ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ในเดนมาร์กหรือสวีเดนก็เป็นแบบนี้
จุดที่ผมอยากชี้ให้เห็น คือประเทศเหล่านี้ ไม่ใช่ว่าจู่ๆ ก็ได้เรื่องพวกนี้มาโดยอัตโนมัติ แต่ได้มาจากการต่อสู้ทางการเมืองทั้งนั้นจนทำให้พื้นที่สาธารณะย้อนกลับมาเป็นของประชาชนได้
ที่มา
Cover Photo มติชนออนไลน์