ห้องสมุดกับ SDGs สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

5,846 views
11 mins
December 21, 2022

          ทุกวันนี้ หลายๆ คนคงจะคุ้นเคยกับคำว่า ‘SDGs’ ตาราง 17 ช่องสีสันสดใสกลายเป็นภาพที่ชินตา พบเจออยู่บ่อยครั้งตามสื่อต่างๆ แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจความหมายอย่างปรุโปร่ง มองปราดเดียวก็รู้ว่าเราจะนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเหล่านั้นมาใช้อย่างไร

          บางคนอาจจะมองว่า SDGs เป็นเรื่องไกลตัว การดำเนินตามเป้าหมายที่ยั่งยืนอาจเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย แรงกาย แรงใจ เพื่อปั้นโครงการใหม่ บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับพื้นที่และผู้คนที่ขาดแคลน ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก หลายคนอาจจะมองว่าเป็นแนวคิดเชิงอุดมคติที่จับต้องยาก บ้างก็ว่าคำว่า ‘ยั่งยืน’ ยังเป็นเป้าหมายที่ดูห่างไกลแสนไกล ในสภาพสังคมที่ผันผวนแบบนี้ แค่ยืนระยะให้ได้ยาวนานสักหน่อยก็ถือว่าดีแล้ว

          มุมมองของประชาชนทั่วไปมีหลายส่วนที่เป็นมายา (Myths) และประชาชนอีกส่วนหนึ่งอาจยังคงตั้งคำถามว่า หน่วยงานของตนเองจะนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมาประยุกต์กับแผนงานได้อย่างไร

          ในมุมมองของนักวิชาการในต่างประเทศ ‘ห้องสมุด’ องค์ประกอบหนึ่งในระบบนิเวศการเรียนรู้สามารถเข้ามามีบทบาทในการสร้างเสริมทัศนคติที่ดีต่อ SDGs ได้หลายทาง ทั้งในฐานะพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่จะช่วยกระจายความรู้ความเข้าใจ และในฐานะตัวอย่างในการดำเนินโครงการที่มีความยั่งยืนเป็นเป้าหมายหลัก

          กรณีศึกษาห้องสมุดต่างๆ ที่บทความนี้หยิบยกมาบอกเล่า เป็นประจักษ์พยานว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่ในประเทศไหน เป็นองค์กรขนาดเล็กหรือใหญ่ การนำ SDGs มาใช้ไม่ใช่เรื่องยาก และไม่ใช่ ‘งานเพิ่ม’ หรือ ‘งานโลกสวย’ ที่ต้องปรับทัศนคติ หรือมองผ่านเลนส์ทุ่งดอกไม้ก่อนลงมือทำ

          แค่เป็นหน่วยงานที่เชื่อในความเท่าเทียม มีความต้องการที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับบุคลากรภายในองค์กร และชุมชนรอบข้าง มีความรับผิดชอบต่อสังคม เพียงเท่านี้งานของท่านก็สอดคล้องกับ SDGs ไปหลายข้อแล้ว

ชวนหันมามอง SDGs ให้ดีๆ อีกครั้ง

          SDGs (Sustainable Development Goals) หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ถือเป็นวาระการพัฒนาที่ UN เสนอในที่ประชุม สมาชิก 193 ประเทศ ส่งเสียงตอบรับเป็นอย่างดี และต่อมาได้กลายมาเป็นสิ่งที่แต่ละประเทศล้วนให้ความสำคัญ พร้อมทั้งพยายามผลักดันให้เป็นเป้าหมายของนโยบาย และแผนงานต่างๆ

          ก่อนที่ SDGs จะเป็นที่รู้จัก แนวคิด ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ ถูกพูดถึงมาเนิ่นนานแล้ว หลายท่านอาจเคยคุ้นกับภาพวงกลม 3 วง ที่ซ้อนทับกันคล้ายโลโก้ของสถานีโทรทัศน์ที่คุ้นตา บ่งบอกถึงความสำคัญของปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่นักพัฒนาต้องคำนึงถึง

          SDGs ทำให้คำว่า ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ เป็นรูปธรรมมากขึ้น ด้วยการถอดแนวคิดออกมาเป็นเป้าหมาย 17 ข้อ พร้อมกับเป้าหมายย่อยและตัวชี้วัดให้ผู้ใช้งานนำมาใช้วางกรอบนโยบายหรือวางแผนงาน ไม่ว่าจะเป็นในระดับท้องถิ่นหรือระดับโลก

          ทุกประเทศมีปัญหาที่ต้องเผชิญ แม้จะต่างกันในด้านบริบท แต่ก็ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ไม่ต่างกัน ประเทศที่กำลังดิ้นรนพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจอาจกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนอาหารในบางพื้นที่ แต่ไม่มีอะไรรับประกันว่าในประเทศที่มีสภาพเศรษฐกิจที่ดีกว่า ประชากรจะมีพฤติกรรมการกินที่ส่งเสริมสุขภาพเสมอไป สารคดีของเชฟชื่อดังในยุโรป เคยตีแผ่รายการอาหารกลางวันในแคนทีนของสถานศึกษาหลายแห่ง เพื่อบอกให้โลกได้รับรู้ว่า แม้ในประเทศที่มองกันว่าพัฒนาแล้ว ก็ยังมีโอกาสที่คนในประเทศจะเกิดภาวะ ‘malnutrition’ หรือ ทุพโภชนาการได้เช่นกัน

          SDGs ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่คือการต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นวาระที่มีพื้นที่อยู่ในแผนพัฒนาทุกลำดับชั้นเสมอ ไม่ว่าประเทศนั้นจะมีระบบเศรษฐกิจเป็นแบบไหนก็ตาม

ห้องสมุดกับ SDGs สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ทั้ง 17 เป้าหมาย
ห้องสมุดกับ SDGs สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
เป้าหมายทั้ง 17 ข้อ สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ด้าน หรือ 5Ps ประกอบด้วย Peace, Prosperity, People, Planet และ Partnership
Photo : SDG Move
เข้าใจ SDGs มากขึ้น ผ่านมุมมองทั้ง 5 ด้าน

ห้องสมุดจะช่วยขับเคลื่อนสังคมสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไร

          หากถูกโยนโจทย์ลงมาว่าแผนงานของห้องสมุดในปีหน้าจะสอดคล้องกับ SDGs ได้อย่างไร เชื่อว่าหลายท่านอาจนึกถึงการปั้นโครงการหรือกิจกรรมใหม่เพื่อตอบสนองแนวคิดที่ใครๆ ก็ยึดถือกันทั่วโลก แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากลองกลับมามองกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ หรือลองมองกระบวนการทำงานประจำวัน ห้องสมุดของท่านอาจจะดำเนินการตามรอยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอยู่แล้วโดยไม่รู้ตัว และหากปรับรูปแบบการทำงานอีกนิด สิ่งที่ทำก็อาจจะครอบคลุมเป้าหมาย นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ชัดเจนขึ้นไปอีก

          ห้องสมุดคือพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ปลอดภัย พื้นที่แห่งการเรียนรู้ หลักการสำคัญที่ห้องสมุดหลายแห่งยึดถือคือ ให้ความสำคัญกับ ‘คน’ โดยมุ่งเป้าไปที่การเข้าถึง และการหลอมรวมทางสังคม (Access and Social Inclusion) ลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำ

          ดังนั้นบทบาทหน้าที่ของห้องสมุดสอดคล้องและดำเนินไปในทิศทางเดียวกันกับการพัฒนาที่ยั่งยืนอยู่แล้ว ดังที่ ดร. เดบรา โรว์ (Debra Rowe) โปรเฟสเซอร์ด้านการจัดการพลังงานและพลังงานหมุนเวียนที่วิทยาลัยชุมชนโอ๊กแลนด์ ได้กล่าวไว้ว่า

           “การพัฒนาที่ยั่งยืนคือการใส่ใจเพื่อนร่วมโลกนอกเหนือไปจากครอบครัวและเพื่อนๆ ถ้าคุณห่วงใยเพื่อนมนุษย์ การพัฒนาที่ยั่งยืนก็จะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ”

          โรบิน เคียร์ (Robin Kear) บรรณารักษ์ประสานงาน (Liaison Librarian) ของมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก สนับสนุนคำกล่าวนั้น “SDGs ส่งเสริมให้เกิดสันติภาพ ความอุดมสมบูรณ์ และทำให้ความลำบากหมดสิ้นไปจากโลก ห้องสมุดวางแผนงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายพวกนั้นได้ เพราะมันตรงกับคุณค่าที่เรายึดถือ”

          เมื่อผนวกกับทรัพยากร และฐานผู้ใช้งานที่ห้องสมุดแต่ละแห่งมีอยู่ในมือ ปฏิเสธไม่ได้ว่าห้องสมุดคือสถานที่ชั้นดีสำหรับการเผยแผ่ความรู้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ SDGs และดำเนินโครงการหรือกิจกรรม ที่เป็นการ ‘ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง’

           “การพัฒนาที่ยั่งยืน ควรจะเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการห้องสมุด และ SDGs ก็ควรจะเป็นเฟรมเวิร์กที่ห้องสมุดนึกถึงเมื่อต้องวางแผนงานทั้งในเชิงพื้นที่และในเชิงกิจกรรม ห้องสมุดทำในสิ่งที่หน่วยงานด้านวิชาการอื่นๆ ทำไม่ได้ เราคือผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเก็บรักษาและเผยแพร่ข้อมูล” เจอรัลด์ อาร์ บีสลีย์ (Gerald R. Beasley) บรรณารักษ์ห้องสมุดมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ได้กล่าวไว้

          หากสรุปให้เข้าใจได้โดยง่าย ภาระงานหลายประการของห้องสมุดสอดคล้องกับ SDGs เช่น การส่งเสริมการเรียนรู้และทักษะที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการอ่าน การเขียน หรือทักษะด้านดิจิทัล การรู้เท่าทันสื่อ ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูล เป็นช่องทางเผยแพร่และอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม รวมถึงกระจายแนวคิดความเท่าเทียม หากคุณเป็นบรรณารักษ์หรือทำงานกับห้องสมุดในตอนนี้ ลองหยิบตาราง 17 ช่อง พร้อมกับเป้าหมายย่อยและตัวชี้วัดขึ้นมาเทียบกับสิ่งที่เคยทำดู คุณอาจจะพบว่างานที่ทำอยู่ตอบโจทย์ไปแล้วมากกว่าหนึ่งข้อก็เป็นได้

มายา 4 ประการเกี่ยวกับ SDGs กับห้องสมุด

          แม้ว่า SDGs จะถูกกล่าวถึงบ่อยแค่ไหน แต่ก็ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ดังที่รายงานฉบับร่าง ‘เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกับห้องสมุดในยุโรป’ เรียกเอาไว้อย่างสะดุดหูว่า ‘มายา 4 ประการ’ (The 4 myths of SDGs and Library)

มายา ข้อเท็จจริง
SDGs คืองานที่เพิ่มเข้ามา เป็นงานที่ดำเนินไปควบคู่กับวัตถุประสงค์หลักของห้องสมุด แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานหลักโดยตรง การให้ความสำคัญกับ SDGs ไม่ได้แปลว่าห้องสมุดจะต้องปั้นกิจกรรมใหม่เสมอไป บางกิจกรรมที่ดำเนินการมานานอาจสอดคล้องกับเป้าหมายเหล่านั้นอยู่แล้ว การปรับการทำงานและทัศนคติบางอย่าง ก็อาจนำไปสู่ปลายทางที่ยั่งยืนได้
โดยส่วนมากแล้ว SDGs เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นที่การลดโลกร้อน ลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศนอกจากสิ่งแวดล้อม ประเด็นทางเศรษฐกิจ และสังคมก็เป็นด้านที่ SDGs ให้ความสำคัญ
ด้วยความซับซ้อนของโครงสร้าง 17 เป้าหมายหลัก 169 เป้าหมายรอง 241 ตัวชี้วัด ทำให้ SDGs เหมาะสมที่จะนำไปใช้กับนโยบายด้านการเงิน หรือกฎหมายในระดับมหภาคมากกว่านโยบายระดับจุลภาคโครงการเล็กหรือใหญ่ ระดับมหภาคหรือจุลภาคก็สามารถวาง SDGs เป็นเป้าหมายได้ทั้งนั้น
SDGs เหมาะสมกับห้องสมุดขนาดเล็ก หรือโครงการระดับท้องถิ่น เป็นโครงการสาธิตให้เห็นถึง ‘ตัวอย่างที่ดี’ ไม่ใช่โครงการที่ดำเนินต่อเนื่องกรณีศึกษาห้องสมุดหลายแห่งได้แสดงให้เห็นว่า โครงการที่ดำเนินมาต่อเนื่อง ก็สอดคล้องกับ SDGs ได้เช่นกัน

          ถึงแม้ว่านี่จะเป็นการรวบรวมข้อมูลจากประเทศในยุโรป แต่ความเข้าใจคลาดเคลื่อนเหล่านี้ก็ดูจะเป็นเรื่องสามัญที่ประเทศในภูมิภาคอื่นของโลกก็ประสบพบเจอไม่ต่างกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีการปลุกปั้นโครงการใหม่ที่ดู ‘กรีน’ ‘มุ่งเน้นความเท่าเทียม’ ‘ใส่ใจธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียน’ โดยที่ไม่ได้เป็นภารกิจหลักของห้องสมุดมาก่อน เพียงเพื่อจะให้ตอบโจทย์ว่าองค์กรมีโครงการที่สอดคล้องกับ SDGs

องค์กรเล็กหรือใหญ่ อยู่ที่ไหน ก็ขับเคลื่อน SDGs ได้ ขอแค่มี ‘ใจ’

          กรณีศึกษาของห้องสมุดเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การขับเคลื่อน SDGs เกิดขึ้นได้ทุกที่ และมีหลากหลายรูปแบบตามบริบทของสังคมที่ห้องสมุดตั้งอยู่ โดยส่วนมากคือการแก้ปัญหาในด้าน สังคม (People) สิ่งแวดล้อม (Planet) และเศรษฐกิจ (Prosperity) ความเกี่ยวข้องกับ SDGs มีระดับความเข้มข้นที่แตกต่างกันไปคือ

  1. กิจกรรมหรือโครงการที่ ‘ให้ในสิ่งที่ขาด’ เช่น อาหาร ที่พักพิง หรือหนังสือ ที่จะช่วยบรรเทาปัญหาความขาดแคลนที่เกิดขึ้น
  2. กิจกรรมหรือโครงการที่ ‘ให้ความรู้และทักษะ’ เช่น โครงการอบรม หลักสูตรเข้มข้น พัฒนาทักษะ ที่จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีศักยภาพที่จะผลักตัวเองออกจากสภาพปัญหา
  3. เป็นการแทรกแนวคิด ‘ความยั่งยืน’ ลงไปในภารกิจของห้องสมุด ทำให้เจ้าหน้าที่มองว่าความยั่งยืนเป็นเรื่องปกติสามัญ และเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานอื่นๆ

          ตัวอย่างต่อไปนี้ เป็นการใช้ข้อมูลมาคัดค้านมายาทั้ง 4 ข้อ โครงการริเริ่มใหม่ มากกว่าที่ให้พักพิงคือสอนให้คนไร้บ้านมีทักษะ แล้วเน้นย้ำว่า การนำ SDGs มาใช้เป็นเป้าหมายในการทำงาน อาจเกิดขึ้นได้กับห้องสมุดทั้งในและนอกเมือง ทั้งในประเทศที่กำลังพัฒนาและในประเทศอุตสาหกรรม เป็นโครงการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ปัญหาสังคมโดยเฉพาะ เป็นการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่แล้วให้กับกลุ่มคนที่ขาดแคลน หรือเป็นสิ่งที่ทำเป็นประจำทุกวันก็ได้ แต่ประเด็นสำคัญคือ ปัญหาคืออะไร เราแก้ปัญหาอย่างไร และใช้วิธีไหนต่างหาก

BiblioStreet : โครงการริเริ่มใหม่ มากกว่าที่ให้พักพิงคือสอนให้คนไร้บ้านมีทักษะ

          การให้ที่พำนักนั้นอาจจะดูเป็นเรื่องราวที่สวยงาม แต่ในระยะยาวคงไม่อาจจะช่วยลดปัญหาคนไร้บ้านได้อย่างยั่งยืน หน่วยงานด้านสาธารณสุขของชิลีร่วมกับห้องสมุดจึงค้นหาที่มาของความไร้บ้านว่าเกิดจากการขาดทักษะ หรือความรู้ที่จะช่วยให้เกิดการประกอบอาชีพ โครงการ ‘BiblioStreet’ จึงเกิดขึ้นเพื่อมอบ ‘เครื่องมือ’ ให้กับคนไร้บ้าน ในการประกอบวิชาชีพต่อไปในอนาคต ตลอดการดำเนินโครงการคนไร้บ้านจะได้รับการฝึกทักษะพื้นฐาน เช่น การอ่าน การเขียน ทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงทักษะการนำเสนอและการเล่าเรื่อง และการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม

          ห้องสมุดไม่อาจทำงานนี้ได้อย่างโดดเดี่ยว โครงการนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือกับองค์กรอาสาสมัครอื่นๆ ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการต่อสู้กับความยากไร้ กระบวนการอบรม เทรนนิ่งอย่างเข้มข้นยาวนานถึง 5 เดือนเพื่อให้แน่ใจว่าผู้เข้าร่วมนั้นจะสามารถเก็บเกี่ยวทักษะได้จริง เสียงตอบรับจากผู้เข้าร่วมโครงการนั้นถือว่าดี เพราะอดีตคนไร้บ้านเล่าว่าเขาได้ช่องทางที่จะพาตัวเองกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอีกครั้ง โครงการนี้สอดคล้องกับ SDGs หลายข้อ ทั้งข้อ 1 (กำจัดความยากไร้) ข้อ 3 (สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี) ข้อ 4 (การศึกษาที่มีคุณภาพ) ข้อ 10 (ลดความไม่เสมอภาค) ข้อ 11 (มีชุมขนที่เข้มแข็งและยั่งยืน) ข้อ 17 (สร้างเครือข่ายและหุ้นส่วนในการดำเนินงานให้ถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน)

ห้องสมุดกับ SDGs สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
Photo : Fundación Trascender, CC BY 4.0 via IFLA
ห้องสมุดกับ SDGs สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
Photo : Fundación Trascender, CC BY 4.0 via IFLA

Library Gives Rural Farmers Access to ICT : ส่วนผสมของโครงการใหม่ กับการใช้ทรัพยากรที่ห้องสมุดมีอยู่แล้วให้เป็นประโยชน์

          โครงการที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่อีกโครงการหนึ่ง คือโครงการส่งเสริมทักษะด้านไอทีให้กับเกษตรกร ในชุมชนเอเดนวิลล์ (Edenville) ชุมชนเล็กๆ ในประเทศแอฟริกาใต้ คนในชุมชนพึ่งพารายได้จากผลผลิตทางการเกษตรเป็นหลัก จึงมีการรวมกลุ่มผู้ผลิตเป็นสหกรณ์ขึ้นมา แต่ปัญหาของสหกรณ์การเกษตรกลุ่มนี้คือขาดความรู้ด้านไอที การตลาด การทำธุรกิจ หรือแม้กระทั่งความรู้เกี่ยวกับการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร

          ขั้นแรก ห้องสมุดประชาชนร่วมกับ Small Enterprise Development Agency (SEDA) จัดคอร์สอบรมทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจการเกษตรให้กับสมาชิกสหกรณ์ วางรากฐานตั้งแต่การใช้โปรแกรมรวบรวมข้อมูล ทำรายงาน ติดต่อสื่อสารพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ รวมถึงชี้นำการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เมื่อสมาชิกสหกรณ์มีความรู้พื้นฐานเพียงพอแล้ว ห้องสมุดยังให้บริการพื้นที่สำหรับการประชุมสหกรณ์ ให้บริการเครื่องมือเครื่องใช้ด้านไอทีในการติดต่อสื่อสาร จัดประชุม หรือทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขยายธุรกิจ โครงการนี้จึงเป็นส่วนผสมของกิจกรรมอบรมที่เกิดขึ้นใหม่ และการให้บริการด้านการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เป็นบทบาทหน้าที่ของห้องสมุดอยู่แล้ว เพียงแต่ในครั้งนี้ห้องสมุดตั้งพิกัดเป้าหมายที่กลุ่มเกษตรกรผู้ที่มีปัญหาด้านความเป็นอยู่ แล้วดึงเข้ามาในขอบเขตการให้บริการของตนเอง

          หนึ่งในสมาชิกสหกรณ์กล่าวว่า ตั้งแต่ได้รับความช่วยเหลือจากห้องสมุด รายได้จากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรนั้นเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ทุกวันนี้ห้องสมุดยังให้บริการกลุ่มสหกรณ์การเกษตร และยังขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังชุมชนอื่นๆ ที่ขาดการเข้าถึงด้วยเช่นกัน

          โครงการนี้ จัดว่าตรงกับเป้าหมาย SDGs ข้อ 1 (กำจัดความยากไร้) ข้อ 2 (กำจัดความขาดแคลนอาหาร) ข้อ 8 (ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ) ข้อ 9 (สร้างนวัตกรรมและสาธารณูปโภค) และข้อ 17 (สร้างเครือข่ายและหุ้นส่วนในการดำเนินงานให้ถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน)

ชวนมอง SDGs มุมใหม่ ความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องไกลตัว

Better Beginnings : โครงการใหญ่ๆ ที่ดำเนินมาเนิ่นนานก็เป็นหลักฐานของ SDGs ได้

          โครงการทั้ง 2 ที่เล่ามาข้างต้นนั้น เป็นตัวอย่างโครงการในระดับจุลภาค ที่ห้องสมุดแต่ละแห่งวางแผนต่อสู้กับปัญหาความขาดแคลน ทั้งความยากไร้ ที่อยู่อาศัย หรือความเหลื่อมล้ำทางความรู้ ตัวอย่างกรณีศึกษาจากออสเตรเลียที่จะกล่าวถึงนี้ เป็นหลักฐานว่าแม้จะอยู่ในประเทศที่เรียกได้ว่าพัฒนาแล้ว ก็มีปัญหาทางสังคมที่ยังต้องการการแก้ไขได้ไม่ต่างกัน และโครงการในสเกลที่ใหญ่ขึ้น และดำเนินมาเนิ่นนาน ก็สอดคล้องกับ SDGs ได้เช่นกัน ขอเพียงตรงกับเป้าหมายย่อย และนำไปสู่การวัดผลได้

          ข้อมูลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า เด็กอายุ 5 ขวบจำนวน 17% ในประเทศออสเตรเลียมีปัญหาเกี่ยวกับความสามารถในการอ่าน รวมถึงการพัฒนาทักษะทางปัญญา (Cognitive Skill) โครงการ ‘Better Beginnings’ จึงเกิดขึ้นโดยความร่วมมือของ The State Library of Western Australia ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีหน้าที่ดูแลห้องสมุดประชาชน 233 แห่ง และภาคธุรกิจอย่าง Rio Tinto เพื่อวางโปรแกรมส่งเสริมการเรียนรู้ทางภาษาก่อนที่เยาวชนเหล่านั้นจะเข้าสู่ระบบการศึกษา เป็นการป้องกันปัญหาในระยะยาว โดยโครงการนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2004 และยังดำเนินเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

          ห้องสมุดประชาชนที่ร่วมโครงการจะเป็นจุดกระจาย ‘Reading Pack’ หรือแพ็กเกจหนังสือและคำแนะนำการสอนอ่านเขียนสำหรับครอบครัวที่มีบุตรวัยเยาว์ โดยโครงการนี้จะแจกแพ็กเกจสำหรับเด็กวัย 2 เดือน 2 ปี และ 4 ปี ในแต่ละชุดจะมีหนังสือที่เหมาะสมกับช่วงวัย และข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนรู้ของเด็กวัยต่างๆ เพื่อสร้างเสริมความเข้าใจให้กับผู้ปกครอง นอกจากนั้นห้องสมุดประชาชนหลายแห่งยังมีกิจกรรมที่สอดคล้องกับโครงการ Better Beginnings เพื่อส่งเสริมคุณภาพการอ่านของเด็กๆ ปฐมวัย โดยองค์กรปกครองท้องถิ่น และหน่วยงานเครือข่ายจะคอยดูแลด้านการเข้าถึง และภาคธุรกิจดูแลเรื่องเงินทุนสนับสนุน

ห้องสมุดกับ SDGs สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ตัวอย่างแพ็กเกจ ‘Better Beginnings’ สำหรับเด็กวัย 2 ปี
Photo : State Library of Western Australia, CC BY 4.0 via IFLA

          จากการเก็บข้อมูลมากว่า 15 ปี ทางโครงการได้ประเมินผลลัพธ์ของโครงการ และพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านการอ่าน การเรียนรู้ของเยาวชนจริง โดยมีรายงานที่แสดงตัวเลขสถิติการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกของทักษะการอ่านในเด็กเล็ก และทัศนคติของผู้ปกครองด้วย โครงการระยะยาวนี้ สอดคล้องกับ SDGs ข้อ 3 (สุขภาพและสุขภาวะที่ดี) และข้อ 4 (ส่งเสริมการศึกษาที่มีคุณภาพ)

ห้องสมุดกับ SDGs สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
Photo : State Library of Western Australia, CC BY 4.0 via IFLA
ห้องสมุดกับ SDGs สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
Photo : State Library of Western Australia, CC BY 4.0 via IFLA

The Green Team : แทรกนโยบายรักษ์โลกลงในกิจวัตรประจำวัน

          หากเอ่ยถึง SDGs คงจะมองข้ามโครงการหรือกิจกรรมที่ว่าด้วยการลดมลภาวะ ลดการบริโภค และร่วมใจกันไขปัญหาโลกร้อนไปไม่ได้ เพราะนั่นคือ SDGs ข้อที่ 6 (น้ำสะอาดและสุขอนามัยที่ดี) ข้อ 12 (การผลิตและการบริโภคที่มีความรับผิดชอบ) ข้อ 13 (พิทักษ์สภาพอากาศ)

          แคมเปญรณรงค์ของห้องสมุดมหาวิทยาลัยคอร์ก ประเทศไอร์แลนด์ หรือห้องสมุด UCC คือหนึ่งตัวอย่างของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน แคมเปญนี้เกิดขึ้นเพราะมหาวิทยาลัยมีความจำเป็นต้องลดการใช้พลังงาน 33% ภายในปี 2020 ตามนโยบายของประเทศ แต่อาคารที่บริโภคพลังงานมหาศาลคือห้องสมุด คิดเป็น 10% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่ใช้ไปในมหาวิทยาลัย ห้องสมุดมหาวิทยาลัยเลยก่อตั้งกลุ่มทำงานที่เรียกว่า ‘The Green Team’ ที่มาช่วยกันระดมสมองหาวิธีที่จะลดรายจ่ายด้านพลังงานลงไป

          แคมเปญเริ่มต้นจากประชาสัมพันธ์ให้รู้กันทั่วแคมปัส ว่าห้องสมุดกำลังจะเข้าสู่ยุคกรีน สมาชิกห้องสมุดมาร่วมลงนามให้ความร่วมมือกว่า 1,000 คน ภายใน 24 ชั่วโมงที่ประกาศออกไป หลังจากนั้นทีมงานก็ร่วมคำนวณวิธีการลดพลังงาน ตั้งแต่การตั้งเครื่องทำความร้อน ปรับระบบถ่ายเทอากาศ รวมถึงวางแผนปิดไฟในบางพื้นที่ที่ไม่มีคนใช้

          ต่อมาถึงเป็นเรื่องของการกำจัดขยะ ถังขยะเล็กๆ ตามชั้นต่างๆ ถูกเก็บออกไป โดยมีถังขยะรีไซเคิลตั้งให้ใช้งานตรงชั้นล่าง พร้อมทั้งขอความร่วมมือผู้ใช้งานห้องสมุดไม่ให้นำภาชนะที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น แก้วน้ำกระดาษ หรือพลาสติกเข้ามา แต่ส่งเสริมการใช้กระติกน้ำที่ใช้ซ้ำได้ อีกทั้งยังมีแก้วที่ทำจากไม้ไผ่จำหน่ายที่ห้องสมุดด้วย

          มหาวิทยาลัยยังมีโปรแกรมพิเศษสำหรับห้องสมุดเพื่อสนับสนุนและท้าทายความสามารถของทีมงานไปในตัว กล่าวคือทางมหาวิทยาลัยจะให้ค่าใช้จ่ายก้อนหนึ่งสำหรับเป็นค่าไฟ หากค่าไฟที่ต้องจ่ายจริงน้อยกว่าก้อนนั้น ห้องสมุดสามารถเก็บเงินส่วนที่เหลือไว้ทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมได้โดยไม่ต้องคืน แต่ถ้าค่าไฟของห้องสมุดสูงกว่าเงินจำนวนนั้น ห้องสมุดจะต้องเสียค่าปรับเพิ่มเติมด้วย

          ภายในปีแรก ห้องสมุดสามารถประหยัดค่าพลังงานไปได้ 9% คิดเป็น 155,000 กิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh) ซึ่งเป็นปริมาณพลังงานที่จะทำให้หลอดไฟส่องแสงได้นานถึง 1,770 ปี หรือสามารถเติมพลังให้รถไฟฟ้าแล่นรอบโลกได้ 24 รอบ

          โครงการนี้แทบจะไม่ได้ใช้งบประมาณเพื่อสร้างสิ่งใหม่หรือกิจกรรมใหม่ แต่ใช้วิธีการปรับเปลี่ยนสิ่งที่ทำมาแต่เดิมเพื่อเพิ่มผลเชิงบวกที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เรียกได้ว่าตอบโจทย์ SDGs หลายข้อ ทั้งข้อ 6 (น้ำสะอาดและสุขอนามัยที่ดี) ข้อ 7 (พลังงานสะอาดและไม่สิ้นเปลือง) ข้อ 9 (ส่งเสริมนวัตกรรมและสาธารณูปโภค) ข้อ 11 (เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน) ข้อ 12 (การผลิตและการบริโภคที่มีความรับผิดชอบ) และข้อ 13 (พิทักษ์สภาพอากาศ)

          จนถึงวันนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านยังคงตั้งข้อสงสัยว่าความยั่งยืนนั้นเกิดขึ้นได้จริงไหม เพราะสิ่งใดในโลกล้วนมีการเปลี่ยนแปลง แต่อย่างน้อยการหยิบยก SDGs  ทั้ง 17 ข้อ มาเป็นเป้าหมายในการออกแบบกิจกรรม โครงการ หรือบริการ ก็คงจะทำให้ปัญหาสังคมลดทอนลงไปได้บ้าง เพราะเป็นการฝึกให้เรามองการก่อร่างสร้างโครงการจากปัญหา ยิ่งดำเนินกิจกรรมมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งเข้าใจสภาพปัญหาในสังคมมากขึ้นเท่านั้น ไม่ได้มีแต่ผู้ร่วมกิจกรรมเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์จากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ผู้ที่นำแนวคิดไปขับเคลื่อนต่อก็คงจะได้เรียนรู้ และซึมซับอะไรไปได้บ้างไม่ต่างกัน

ห้องสมุดกับ SDGs สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
Photo : UCC Library
ห้องสมุดกับ SDGs สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
Photo : UCC Library, CC BY 4.0 via IFLA
ห้องสมุดกับ SDGs สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
Photo : UCC Library


ที่มา

บทความ Achieving the UN SDGs – is there a role for libraries? (Online)

บทความ Libraries and the Sustainable Development Goals a storytelling manual (Online)

บทความ Sustainable Development Goals and Libraries – First European report (Online)

เว็บไซต์ IFLA SDG Stories (Online)

เว็บไซต์ SDG Move (Online)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก