เดินทางทะลุจักรวาลด้วยวิทยาศาสตร์และจินตนาการ กับศุภชัย อาวิพันธุ์

1,216 views
9 mins
February 8, 2023

          ดวงดาวบนท้องฟ้าเสริมสร้างจินตนาการมากมายแก่มนุษย์มาตั้งแต่โบราณกาล และจะยังเป็นเช่นนั้นต่อไป…อย่างน้อยก็จนกว่ามนุษย์จะสามารถเดินทางท่องอวกาศได้กระมัง

          จากตำนานปกรณัมกรีกถึงพหุจักรวาล (Multiverse) ของ มาร์เวล มนุษย์ต่างดาวถึงการเดินทางท่องอวกาศผ่านรูหนอน การทำเหมืองในอวกาศถึงการตั้งนิคมของมนุษย์บนดาวเคราะห์ดวงอื่นนอกระบบสุริยะจักรวาล หรือแม้กระทั่งการส่งยานอวกาศของคนไทยไปดวงจันทร์ ปฏิเสธได้หรือว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้น ถึงหลายอย่างจะไกลเกินกว่าอายุขัยของเรา

          เหมือนมีเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างจินตนาการกับวิทยาศาสตร์ ก็คงใช่ แต่ศุภชัย อาวิพันธุ์ นักวิจัย กลุ่มวิจัยดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะและชีวดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. (National Astronomical Research Institute of Thailand: NARIT) ผู้มีส่วนร่วมในการค้นพบทางดาราศาสตร์สำคัญๆ หลายครั้ง บอกว่า

          “ถ้าเราไปปิดกั้นจินตนาการ…เราจะไม่มีวันเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้เลย เพราะถูกตีกรอบด้วยทฤษฎี ทฤษฎีใหม่ๆ หลายอย่างเกิดจากจินตนาการทั้งนั้น”

          ปัญหาการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ในสังคมไทยอาจไม่ได้อยู่ที่องค์ความรู้หรือเทคโนโลยีเท่ากับการขาดแคลนจินตนาการของผู้กำหนดนโยบายและภาคธุรกิจเอกชน

          เราปล่อยให้บทสนทนาเดินทางไกลออกไปไร้ขอบเขตในช่วงท้ายๆ ตามความอยากรู้อยากเห็นและความสนุกของผู้สัมภาษณ์ (ขออภัยมา ณ ที่นี้) แต่เราเชื่อว่ามันจะพาคุณเดินทางไปพบหลายสิ่งอย่างไกลออกไปสุดขอบจักรวาลหรือทะลุจักรวาลไปเลย

          ขอแค่อย่าหยุดจินตนาการ

ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยครับว่าชีวดาราศาสตร์คืออะไร

          ดาราศาสตร์เป็นสาขาวิชาหนึ่งที่ผมชอบเปรียบเทียบว่าเหมือนกับเราย้ายห้องแล็บ จากแล็บเคมี ชีวะ ฟิสิกส์ ไปอยู่บนอวกาศ เพราะฉะนั้นมันไม่จำเป็นต้องมีความรู้สาขาเดียว ส่วนมากคนจะคิดถึงดาราศาสตร์คือ ฟิสิกส์ของดาวฤกษ์ การโคจรต่างๆ แต่จริงๆ แล้วดาราศาสตร์ยังมี เคมีดาราศาสตร์ ชีวดาราศาสตร์ด้วย คือการเอาความรู้ด้านเคมีหรือชีววิทยามาศึกษาทางด้านดาราศาสตร์ หลายคนอาจจะงงว่าดาราศาสตร์มันอยู่บนอวกาศแล้วชีวดาราศาสตร์ที่เกี่ยวกับพืชหรือสัตว์ มันจะเกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ยังไง

          ถามว่าทำไมเราต้องศึกษาสิ่งมีชีวิตนอกโลก มันมีคำตอบอยู่สองอย่าง อย่างแรกคือเราต้องการศึกษาว่ามีสิ่งมีชีวิตนอกโลกจริงหรือไม่ อย่างที่สองคือเราต้องการศึกษาว่าสิ่งมีชีวิตบนโลกของเราเกิดขึ้นได้อย่างไร มันมีหลายแนวคิดว่าอาจเกิดจากน้ำ เกิดจากอุกกาบาตมาชนแล้วมีสิ่งมีชีวิตติดอยู่ ก็เหมือนการศึกษาตั้งต้นของสิ่งมีชีวิตบนโลกของเรา เพียงแค่ศึกษาว่ามันเกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์อย่างไร เช่น ตอนนี้นาซาส่งยานไปที่ดาวอังคาร เขาเจอว่าหินบางก้อนมีแบคทีเรียหรือซากแบคทีเรียซึ่งเราต้องวิเคราะห์ว่ามันเป็นสิ่งมีชีวิตจริงไหม หรือเป็นแค่กรดอะมิโนบางอย่างเฉยๆ ที่ไม่ใช่สิ่งมีชีวิต ความรู้เหล่านี้ต้องใช้ความรู้ด้านชีววิทยา เพราะนักฟิสิกส์ตอบไม่ได้หรอกว่า อาร์เอ็นเอ ดีเอ็นเอแบบนี้ หรือกรดอะมิโนแบบนี้ คือสิ่งมีชีวิตหรือยัง อันนี้คือส่วนหนึ่ง

          แน่นอน มันก็มีอีกหลายส่วน อย่างเช่น ถ้าเราบอกว่าพืชที่อยู่บนโลกของเรามีสีเขียว สีแดง คำถามคือถ้าพืชนี้ไปอยู่บนดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงอื่น สีจะเป็นเหมือนบนโลกไหม ทำไมมันต้องเป็นสีเขียว เพราะว่าดวงอาทิตย์ปล่อยแสงสีเขียวออกมามากที่สุดเมื่อเทียบกับความยาวคลื่นอื่นๆ พืชบนโลกก็เลยกลายเป็นสีเขียว มีการดูดกลืนสีเขียว เพราะฉะนั้นถ้าดาวฤกษ์ดวงอื่นปล่อยแสงสีแดงมากที่สุดล่ะ พืชอาจจะกลายเป็นสีแดงทั้งหมดก็ได้ มันเป็นการศึกษาชีววิทยาที่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตนอกโลกเพื่อตอบคำถามอะไรหลายๆ อย่าง เป็นการศึกษาความเป็นไปได้ แล้วก็เหมือนกับไซไฟว่าถ้าสิ่งมีชีวิตไปอยู่บนดาวเคราะห์ดวงนี้จะเป็นอย่างไร แน่นอนว่ามันเป็นขั้นตอนหนึ่งในการไปหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกเหมือนกัน แต่มันยังไม่มีหลักฐานที่คอนเฟิร์มว่ามีสิ่งมีชีวิตนอกโลกจริงๆ หรือเปล่า หลักฐานที่ใกล้ที่สุดคือ ดาวอังคาร

เดินทางทะลุจักรวาลด้วยวิทยาศาสตร์กับจินตนาการ กับศุภชัย อาวิพันธุ์
Photo : คชรักษ์ แก้วสุราช

ส่วนตัวจำไม่ได้เลยว่าตอนเรียนมีวิชาดาราศาสตร์ ตอนคุณเรียนมีวิชานี้หรือเปล่า

          ไม่มีครับ เรามีวิชาโลกและดาราศาสตร์ ความจริงรุ่นผมอาจจะเป็นรุ่นแรกด้วยซ้ำ รุ่นผมยังเรียนอยู่ แต่เรียนน้อยมากตอน ม.6 เป็นรุ่นแรกที่มีวิชาโลก อวกาศ และดาราศาสตร์ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ สมัยก่อนอาจจะได้เรียนในวิชาลูกเสือหรืออะไรต่างๆ แต่ปัจจุบันมีวิชานี้เกิดขึ้นมา ซึ่งหลายคนตั้งคำถามว่าวิชาโลก อวกาศ และดาราศาสตร์ มันเรียนธรณีด้วย เรียนสภาพอากาศด้วย เรียนอวกาศด้วย ดาราศาสตร์ด้วย วิชานี้มีประโยชน์อย่างไร

          อย่างที่บอกตั้งแต่ต้นว่าสำหรับผม ดาราศาสตร์มันเหมือนห้องแล็บ คนที่ศึกษาธรณีฯ ห้องแล็บของเขาคือพื้นดินทั้งโลกหรือนอกโลกด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นที่เราเรียนฟิสิกส์ เคมี ชีวะ มันสามารถเอาไปประยุกต์กับสิ่งอื่นๆ ได้ ไม่จำเป็นแค่คุณเรียนฟิสิกส์ คุณต้องมาทำนิวตันหนึ่งสองสามสี่อย่างเดียว แน่นอนว่าสิ่งต่างๆ มันสามารถเอาไปอธิบายการโคจรของดาว ชั้นบรรยากาศ

          ผมมีความรู้สึกว่าเป้าหมายของวิชา ไม่ใช่ว่าเราต้องการให้ทุกคนเป็นนักดาราศาสตร์ แต่ต้องการให้คนเห็นว่าวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายสิ่งที่อยู่รอบตัวเราได้ หลายคนชอบมองว่าทำไมต้องเรียนดาราศาสตร์ นักดาราศาสตร์ทั่วประเทศไทยมีอยู่แค่ประมาณ 100 คน ทำไมเราต้องเรียนดูดาวด้วย แต่ผมมองว่ามันเป็นวิชาที่ช่วยให้นักเรียนมองเห็นว่าข้างนอกมีอะไรหลายอย่างที่สามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์

          ผมเข้าใจว่าหลายวิชา การออกข้อสอบประเมินผลเข้ามหาวิทยาลัยในปัจจุบัน มีบางวิชาที่เด็กเข้าไปสอบแล้วบอกว่าไม่จำเป็นต้องจำเลย เหมือนเด็กเข้าไปอ่านเอาความรู้และตอบคำถามในนั้น ซึ่งผมคิดว่าข้อสอบเราเป็นข้อสอบที่ถูกต้องที่เราจะอธิบายวิทยาศาสตร์ในโลกของความเป็นจริง เด็กไม่จำเป็นต้องจำสูตรฟิสิกส์ได้ทุกตัวเพื่อเข้าไปสอบ เราสามารถเอาสูตรให้เด็กก็ได้ แต่เด็กจะต้องเอาสูตรตัวนี้มาคำนวณให้ได้ มาอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ให้ได้มากกว่าที่จะต้องมานั่งจำ

          ปัจจุบันผมเป็นนักวิจัย คำถามคือผมต้องจำสูตรทุกอย่างในฟิสิกส์หรือดาราศาสตร์มั้ย คำตอบคือไม่ สิ่งที่เกิดคือถ้าผมต้องการสูตรแปลกๆ หรือสูตรที่จำไม่ได้ หรือแม้กระทั่งบางทีสูตรง่ายๆ เราต้องการเช็คว่าเราถูกมั้ย เข้าอินเทอร์เน็ตแป๊บเดียวก็ได้ เพราะฉะนั้นในโลกแห่งความเป็นจริงหลายคนไม่จำเป็นต้องจำสูตรเลยด้วยซ้ำ ขนาดผมเองก็ยังไม่จำสูตร เพราะฉะนั้นการศึกษาวิทยาศาสตร์ในอนาคต ผมว่ามันต้องเปลี่ยน ซึ่งผมก็เห็นแนวโน้มในการเปลี่ยน แม้กระทั่งฟิสิกส์ หลายคนบอกว่าฟิสิกส์ไม่เห็นต้องจำเลย จำแค่สูตรก็พอ แต่ถ้าเรากล้าให้สูตร ให้ทุกอย่างกับเด็ก มันเหมือนแทนค่าตอบก็จริง แต่เด็กต้องเข้าใจว่าตัวเองจะต้องเอาอะไรไปแทนในตัวไหนด้วย

เวลานักดาราศาสตร์มองขึ้นไปบนท้องฟ้าแตกต่างจากคนอื่นๆ ไหม คุณมองอะไรเป็นหลัก

          ความจริงผมก็เหมือนเด็กทั่วไปที่ชอบหนังไซไฟ การ์ตูนไซไฟที่ออกนอกโลก ยานอวกาศ มนุษย์ต่างดาว สมัยก่อนก็รู้ว่ามียานอะพอลโลสิบเอ็ด สิบสอง สิบสามเหมือนคนทั่วไป แต่ความจริงผมดูดาวไม่เป็น จนกระทั่ง ม.4 ได้ไปเข้าค่ายโอลิมปิกดาราศาสตร์ ความจริงผมเข้าค่ายโอลิมปิกฟิสิกส์มาก่อน ซึ่งข้อสอบเข้าเป็นข้อสอบฟิสิกส์เกินครึ่ง ตอนนั้นรู้สึกว่ามันเป็นสาขาที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เราสนใจมาก่อน ดาวแต่ละดวงเป็นอย่างไร ปรากฏการณ์ต่างๆ ซูเปอร์โนวา หาดาวเคราะห์ยังไง อันนั้นคือจุดเริ่มต้นจริงๆ ของผม จากนั้นก็เริ่มดูดาว

          วันนั้นที่ผมเริ่มดูดาวกับวันนี้การดูดาวต่างกันมั้ย คำตอบคือต่างกันโดยสิ้นเชิง ตอนนั้นผมมีความสนุกในการดูดาวเหมือนคนทั่วไปที่ชอบดูดาว ก็คือออกไปมองท้องฟ้าแล้วมีกลุ่มดาวหนึ่งสองสามสี่ แต่ผมก็เรียนต่อมาเรื่อยๆ ถึงปัจจุบัน การดูดาวของนักดาราศาสตร์ไม่เหมือนกับการดูดาวของคนทั่วไป เพราะว่าเราไม่จำเป็นต้องจำกลุ่มดาวเลยดวงซ้ำ ว่าดาวดวงนี้ชื่อว่าอะไร สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราต้องการศึกษาอะไร เราต้องการใช้กล้อง เราแค่บอกชื่อดาวดวงนี้ กล้องโทรทัศน์ก็จะหาดาวหรือวัตถุบนท้องฟ้าให้กับเราเลย ไม่ต้องจำตัวเลขเลยด้วยซ้ำว่าดาวอยู่ตำแหน่งไหน เพราะฉะนั้นในความเป็นจริงนักดาราศาสตร์หลายคนดูดาวไม่เป็น

          นักดาราศาสตร์จะมองดาวเป็นเหมือนห้องแล็บว่าเราต้องการศึกษาตรงนี้ เหมือนคนที่ดูพืช หลายคนก็เลี้ยงไว้เพื่อความสวยงาม แต่นักพฤกษศาสตร์เขาไม่ดูว่าต้นนี้สวยไม่สวย แต่เขาดูว่าพืชตรงนี้เป็นยังไง

แล้วคุณย้ายความสนใจจากฟิสิกส์มาเป็นชีววิทยาได้ยังไง

          ความจริงปัจจุบันผมยังเป็นนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์เป็นส่วนหลักอยู่ แต่เริ่มเข้ามาทำงานด้านชีวดาราศาสตร์มากขึ้น เนื่องจากพอจบฟิสิกส์ที่เชียงใหม่ ผมก็ได้ทุนของกระทรวงวิทยาศาสตร์ไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ ตอนนั้นฟิสิกส์ดาราศาสตร์ในประเทศไทยมีไม่กี่สาขา ผมก็คิดว่าเราอยากเรียนอะไรกันแน่ สาขามันมีให้เลือกเยอะขึ้นถ้าเราไปเรียนต่างประเทศ หนึ่งในคำถามที่ติดค้างในใจตัวเองก็คือ มนุษย์ต่างดาวมีจริงมั้ย ด้วยความเป็นนักฟิสิกส์สิ่งแรกที่เราหาคือ เราต้องหาดาวเคราะห์ก่อน ผมก็เลยไปเรียนทางด้านการหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะว่า เราจะมีวิธีการหาดาวเคราะห์อย่างไร ดาวเคราะห์ที่เหมาะสมกับสิ่งมีชีวิตเป็นอย่างไร ในปัจจุบันเราสามารถหาได้ถึงว่าชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์มีน้ำ มีอะไรต่างๆ ซึ่งตรงนี้เป็นงานวิจัยหลักๆ ของผม

          ในอนาคตก็มีโอกาสที่จะเปลี่ยนไปด้านชีวดาราศาสตร์มากขึ้น ปัจจุบันผมก็เริ่มเรียนมาทางด้านชีวดาราศาสตร์ เพราะถ้าต้องการตอบคำถามทุกอย่าง เราต้องรู้ชีวดาราศาสตร์มากขึ้น อุณหภูมิแบบนี้ โครงสร้างชั้นบรรยากาศแบบนี้ สิ่งมีชีวิตจะอยู่ได้หรือไม่ได้

          ปัจจุบันเนื่องจากเรามีการวิจัยดาวเคราะห์นอกระบบแล้ว มันควรต้องมีชีวดาราศาสตร์ซึ่งผมก็รอว่าจะมีใครไปศึกษาทางด้านนี้อย่างลึกซึ้ง แล้วกลับมาช่วยพัฒนาองค์ความรู้นี้มั้ย เพราะทั้งสองสาขานี้ ทั้งดาวเคราะห์นอกระบบและชีวดาราศาสตร์ เป็นสาขาที่ใหม่มากสำหรับนักดาราศาสตร์ ดาวเคราะห์ดวงแรกที่เราค้นพบก็เพียงแค่ประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา มันจึงเป็นสาขาที่ใหม่มากๆ เมื่อเทียบกับสาขาอื่นที่เรารู้ว่ามีดาว มีดาวฤกษ์ มีซูเปอร์โนวา มีหลุมดำ ปัจจุบันชีวดาราศาสตร์ก็เริ่มเป็นที่สนใจของคนทั่วโลก สิ่งที่ผมต้องทำก็คือ การจุดประกายว่ามันมีสาขาแบบนี้อยู่ในโลกที่เราสามารถเรียนได้

เดินทางทะลุจักรวาลด้วยวิทยาศาสตร์กับจินตนาการ กับศุภชัย อาวิพันธุ์
Photo : NARIT

ตอนนี้เราเจอดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะกี่ดวงแล้ว

          เราเจอดาวเคราะห์อยู่ที่ประมาณ 5 พันกว่าดวง ซึ่งประมาณ 11 ดวงในนั้น เจอด้วยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ของเรา ส่วนตัวผมเองก็เจอ คือการเจอไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ก็เจอด้วยตัวคนเดียว แต่ร่วมกับกลุ่มต่างๆ ของผมก็เจออยู่ 2 ดวงร่วมกับทีมนักดาราศาสตร์จากอเมริกาหรือที่ต่างๆ เพราะฉะนั้นการหาดาวเคราะห์ในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องยุ่งยากมากแล้ว เราเจอดาวเคราะห์เกือบทุกวันด้วยซ้ำ

คุณเชื่อว่ามีมนุษย์ต่างดาวหรือเปล่า

          ส่วนตัวผมเชื่อว่ามันมี และที่สำคัญถามว่าทำไมเชื่อว่ามี เพราะมีการสัมภาษณ์คนที่ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว เขาเป็นนักดาราศาสตร์ ถูกถามว่ามีมนุษย์ต่างดาวมั้ย ซึ่งผมชอบคำตอบของเขามากเพราะเป็นคำตอบเดียวกับผม ก็คือมันคงเป็นเรื่องแปลกที่เราจะเป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวในจักรวาลนี้ที่มีสิ่งมีชีวิต เพราะปัจจุบันมีหลักฐานด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์ว่าดาวฤกษ์ทุกดวงมีดาวเคราะห์อย่างน้อย 1 ดวง และยังมีงานวิจัยเมื่อปี 2019 พบว่ารอบๆ ดาวฤกษ์ที่คล้ายดวงอาทิตย์ทุกๆ 2-33 ดวงจะมีดาวเคราะห์ที่คล้ายกับโลกอย่างน้อย 1 ดวง ในอนาคตเราอาจเจอดาวเคราะห์เป็นพันล้านดวงด้วยซ้ำ แล้วมันคงแปลกมากๆ ที่มีแค่โลกของเราใบเดียวที่มีสิ่งมีชีวิตอยู่

จินตนาการของมนุษย์ถึงมนุษย์ต่างดาว มันก็ไม่ใช่จินตนาการที่ไร้สาระเสียทีเดียว

          ใช่ครับ ผมมองว่ามันไม่ใช่เรื่องไร้สาระที่เราจะจินตนาการว่ามีมนุษย์ต่างดาว แต่สิ่งที่เราทำคือเราต้องหาหลักฐาน คำว่าหลักฐานก็คือหลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ผมเดินออกมาบอกทุกคนว่าผมเจอมนุษย์ต่างดาวแล้ว แต่ผมเจอได้แค่คนเดียวนะ มันก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นเรื่องจริง แม้กระทั่งนาซาก็เคยเจอก้อนหินบางดวงที่แอนตาร์กติกามีรูปร่างคล้ายกับหนอน ทุกคนก็เชื่อกันแล้วว่านั่นคือหนอนมาจากนอกโลก แต่ปัจจุบันเขาก็รู้ว่ามันเป็นแค่โครงสร้างชั้นหินเฉยๆ ที่คล้ายกับหนอน เพราะฉะนั้นแล้วหลักฐานทุกอย่างมันต้องถูกพิสูจน์ให้ได้ว่ามนุษย์ต่างดาวมีจริงหรือไม่

          จินตนาการมันผลักดันเราให้ไปหาคำตอบได้ แต่ระหว่างการไปหาคำตอบ เราต้องใช้กระบวนการทางด้านวิทยาศาสตร์มาช่วยในการตอบที่ถูกต้องด้วย

จินตนาการมีความสำคัญต่อวิชาดาราศาสตร์ปัจจุบันหรือเปล่า หรือมันเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ล้วนๆ

          หลายคนชอบยกคำของไอน์สไตน์ว่า จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ ทำไมไอน์สไตน์ถึงพูดแบบนั้น เพราะว่าตราบใดที่เรายึดติดกับกรอบที่เราบอกว่า เรารู้มากเท่าไหร่ เราจะไม่สามารถหาสิ่งใหม่ๆ เจอได้ วันนี้ผมบอกว่านี่คือวิธีการหาดาวเคราะห์หนึ่งดวง ถ้าทุกคนยึดติดว่านี่คือวิธีการเดียวที่หาดาวเคราะห์ได้ โดยไม่มีคนที่มีจินตนาการมาบอกว่า เฮ้ย มันมีวิธีการอื่นๆ อีกนะ เราก็จะจำเพาะเจาะจงว่าเราหาดาวเคราะห์ด้วยวิธีเดียวเท่านั้น ทั้งที่การแก้โจทย์นี้มันมีหลายทาง เพราะฉะนั้นเราต้องมองในหลายมุม จินตนาการว่าถ้าเราใช้เครื่องมืออย่างอื่นในการพิสูจน์ มันสามารถทำได้มั้ย

คุณบอกว่าประเทศไทยมีนักดาราศาสตร์ประมาณ 100 กว่าคน ในประเทศที่มีประชากร 70 ล้านคน ตัวเลขนี้มีบ่งชี้นัยอะไรหรือเปล่า

          ผมว่าบ่งชี้ ถ้าจำไม่ผิดตอนนี้ ท่านน่าจะเป็น ผอ.ของ VISTEC (Vidyasirimedhi Institute of Science and Technology หรือ สถาบันวิทยสิริเมธี) ตอนนั้นผมอยู่ ม.3 ไปแข่งตอบปัญหาวิทยาศาสตร์ แล้วท่านพูดประโยคหนึ่งว่า นักวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยมีแค่หลักพันคน แต่เรามีคนเท่ากับเกาหลีใต้ซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์เป็นหมื่น เป็นแสนคน ทำไมประเทศเราถึงมีจำนวนน้อยขนาดนี้ นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมกลับไปบอกคุณแม่ว่าผมไม่เข้าหมอแล้ว ผมไม่เข้าวิศวะแล้ว มุมมองของผมตอนนั้นคือ ถ้าเราเป็นหนึ่งในร้อย ในพันตรงนั้น มันคงเจ๋งกว่าที่เราจะเป็นหนึ่งในหมื่นคน แสนคนที่เป็นหมอ

          มันบ่งบอกว่าปริมาณคนทำงานด้านการวิจัยของไทยมีน้อย การน้อยนี่มันถูกจำกัดด้วยหลายปัจจัย เช่น การที่เราบอกว่าทำไมเราต้องจ้างนักวิทยาศาสตร์เยอะ ไม่ได้ช่วยทำให้ราคาข้าวของมันถูกลง การที่เรามีนักวิจัยหรือนักดาราศาสตร์หนึ่งคน มันไม่ช่วยทำให้ประเทศเจริญแบบก้าวกระโดด แต่ทำไมประเทศอื่นๆ ถึงมีนักวิทยาศาสตร์เยอะ คำตอบคือนักวิทยาศาสตร์ไม่จำเป็นต้องอยู่ในองค์กรของรัฐบาล เอกชนก็ต้องการนักวิจัยไปศึกษาเรื่องต่างๆ

          เช่น ผมมีเพื่อนที่จบดาราศาสตร์ที่อังกฤษ แต่ปัจจุบันเขาทำงานเกี่ยวกับอุตุนิยมวิทยา เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ข้อมูล จัดการข้อมูลสภาพอากาศของธนาคาร อาจฟังดูแปลกว่าทำไมธนาคารต้องการคนที่มาจัดการสภาพโมเดลอากาศ สิ่งที่เกิดขึ้นคือธนาคารในต่างประเทศมีสิ่งที่ตอบแทนต่อสังคม เขาเลยจัดแคมเปญหนึ่งสองสามสี่ เขาต้องการวิจัยข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ ในประเทศไทยปัจจุบันไม่มีบริษัทที่กล้าทำแบบนี้ ที่จ้างนักวิจัยหนึ่งคนมาทำงาน มีบริษัทไม่กี่บริษัทในไทยที่กล้าจ้างปริญญาเอกมาทำวิจัย

          ผมมีลูกศิษย์อยู่ที่อังกฤษ เพิ่งจบ ถ้าเราต้องการจ้างคนผลิตเกม แน่นอนว่าหลายคนต้องบอกให้ไปหาโปรแกรมเมอร์ ไปหาคนที่ทำแอนิเมชันได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ นักศึกษาดาราศาสตร์ปริญญาเอกคนนี้ ปัจจุบันเขาถูกซื้อตัวจากบริษัทเกม ทำไมเขาถึงซื้อตัวนักดาราศาสตร์ไปทำงานบริษัทเกม เพราะนักศึกษาคนนี้เขาทำ GPU (Graphics Processing Unit หรือ หน่วยประมวลผลภาพกราฟิก) ของดาราศาสตร์ได้ คือคำนวณการ์ดจอในการคำนวณดาราศาสตร์ บริษัทเกมบอกว่านี่แหละคนที่ฉันต้องการเพราะเขาสามารถจัดการกับข้อมูลขนาดใหญ่ได้โดยใช้การ์ดจอ เขาซื้อตัวไปเลยตั้งแต่ยังไม่จบ

          ผมมีความรู้สึกว่าตลาดในประเทศไทยยังไม่เปิดกว้างขนาดที่จะรับคนที่จบมาในหลายสาขา โดยไม่ได้ดูแค่ปริญญา แต่ดูที่ทักษะของเขาจริงๆ ปัจจุบันประเทศไทยยังดูที่ปริญญามากกว่า ว่าคุณจบวิศวกรรมมานะ คุณถึงทำงานวิศวะได้ เขาไม่มองว่าคุณมีทักษะบางอย่างที่สามารถเอามาทำกับวิศวะได้

การตั้งเป้าหมายที่จะส่งยานไปดวงจันทร์ ภายในปี 2570 เป็นคำตอบของการพัฒนาด้านอวกาศในไทยมากน้อยแค่ไหน หรือเราควรคิดเรื่องอื่นก่อน

          การที่เราจะส่งยานอวกาศไปดวงจันทร์ภายใน 5 ปี เป็นเป้าหมายที่หลายคนฟังแล้วอาจถามว่าเป็นไปได้เหรอ อีกหลายคนถามว่าทำไปทำไม เทคโนโลยีในปัจจุบันเราสามารถทำได้แล้วและมันดูไม่ยาก ถามว่าทำได้มั้ย การที่กำหนดกรอบเวลา 5 ปี มันเป็นการท้าทายประเทศเราว่าใน 5 ปี เราควรจะผลักออกไป ถ้าเราตั้งเป้าหมายระยะยาว 20 ปีหลายคนก็จะบอกว่าอีกตั้งสิบเจ็ดสิบแปดปี มันเป็นการท้าทายเราเองว่าเทคโนโลยีที่ต่างประเทศทำได้ เราสามารถทำได้ใน 5 ปีได้มั้ย

          ถามว่าแล้วทำไปทำไมในเมื่อต่างประเทศทำได้ มันก็ย้อนกลับมาว่ามันคือ การผลักเทคโนโลยีของเราให้ไปอยู่จุดที่อย่างน้อยใกล้เคียงกับต่างประเทศให้ได้ ถ้าเราไม่เริ่มตั้งแต่วันนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็เหมือนกับเราไม่มีวันนับหนึ่ง ถ้าวันนี้เราไม่นับหนึ่งแล้วพรุ่งนี้เราจะไปนับที่ยี่สิบ หนึ่งร้อย หนึ่งพัน ตอนนี้ อีลอน มัสก์ ส่งอะไรมากมาย มันอยู่ที่หนึ่งพันเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าวันนี้เราไม่นับหนึ่ง มันก็จะไม่มีวันที่เราจะนับถึงพันได้

          บางคนอาจจะคิดว่ามันเร็วไป 5 ปี ไม่ทันหรอก แต่มันเป็นการท้าทายเทคโนโลยีที่เราคิดว่าน่าจะทำได้ภายใน 5 ปี อีกมุมหนึ่งมันคือการนับหนึ่ง มันไม่ใช่เรื่องยาก โอเคมันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราต้องเริ่มนับด้วยการมีกรอบเวลาเพราะถ้าเราไม่เริ่มสักที มันก็ไม่ได้เริ่ม หรือถ้าเราบอกว่ามันยากเกินไป เราก็ไม่ได้เริ่มสักทีเหมือนกัน

ตอนนี้เริ่มกันหรือยัง

          ตอนนี้เริ่มกันแล้วครับ โครงการที่เราจะไปดวงจันทร์เริ่มมาพอสมควรแล้ว ที่ NARIT ของเราก็มีการศึกษาต่างๆ เยอะแยะมากมาย การจะไปดวงจันทร์ไม่ใช่ว่าก้าวแรกเราจะไปดวงจันทร์เลยด้วยซ้ำ ในปีสองปีข้างหน้าเราจะมีดาวเทียม 2 ดวงที่เราจะสร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวทดลองก่อนจะไปดวงจันทร์ ดวงแรกน่าจะใกล้เสร็จแล้ว เป็นความร่วมมือกับจีน ตัวถัดมาเราจะพยายามทำเอง และหลังจากนั้นจะเป็นตัวถัดไปที่จะไปดวงจันทร์ 5 ปี ไทม์ไลน์มันสั้นมากๆ สำหรับดาวเทียมแต่ละตัว ซึ่งตัวของจีนคิดว่าไม่น่าจะนานมาก ไม่น่าจะเกินปีสองปีข้างหน้า

          ถามว่าได้แน่หรือเปล่า คำตอบคือ ทุกอย่างยังอยู่ในไทม์ไลน์ แต่แน่นอนว่าพอทำไปเรื่อยๆ ก็อาจจะเหมือนกับนาซาที่ส่งยานอวกาศอย่างกล้องเจมส์เวบบ์ไป กว่าจะส่งขึ้นไป เขาดีเลย์มาสิบปี เราไม่ได้บอกว่าจะดีเลย์นะครับ แน่นอนว่าเราต้องตรวจเช็คให้ดีที่สุดก่อนจะส่งอะไรออกไป ตอนนี้ทุกอย่างยังอยู่ในไทม์ไลน์ที่เราคาดหวังไว้อยู่ แต่ในอนาคตถ้าเราพบว่าอุปกรณ์ชิ้นนี้มีปัญหา มันไม่สามารถซ่อมได้ถ้าเราส่งไปแล้ว มีโอกาสที่จะเลื่อนออกไปมั้ย ก็มี เราไม่สามารถการันตีได้ว่า 5 ปี เป๊ะแล้วจะส่งขึ้นไปได้

ประเทศไทยตอนนี้ มีองค์กรที่วางขั้นตอนการพัฒนาด้านอวกาศของไทยหรือยัง กี่ปีเราจะทำอะไรๆ บ้าง ทุกวันนี้ต่างประเทศพูดถึงการจับจองพื้นที่ในอวกาศกันแล้ว

          ไทม์ไลน์ที่ใกล้ที่สุดของเราในปัจจุบันคือ การส่งยานไปอวกาศ ถามว่า NARIT ทำเองได้มั้ย NARIT เป็นสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ ไม่ใช่สถาบันวิจัยอวกาศ ฉะนั้นถามว่า NARIT เกี่ยวกับการส่งยานไปดวงจันทร์มั้ย สิ่งที่เกิดขึ้นคือ NARIT มีความเชี่ยวชาญด้านอุปกรณ์รับสัญญาณ เราก็จะพัฒนาระบบนี้ มันต้องอาศัยองค์กรอื่นในประเทศไทยเพื่อทำงานในส่วนอื่นร่วมกัน

          ปัจจุบันสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยคือ ยังไม่มีองค์กรที่ตั้งมาโดยเฉพาะกับการทำงานด้านอวกาศ ต้องแยกกันระหว่างอวกาศกับดาราศาสตร์นะครับ เรายังไม่มีองค์กรที่ทำงานร้อยเปอร์เซ็นต์ด้านอวกาศ อาจจะมีหลายองค์กร เช่น NARIT เกี่ยวกับดาราศาสตร์ วงโคจร หรือ GISTDA ที่เกี่ยวกับภูมิสารสนเทศซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านดาวเทียม กองทัพอากาศด้วย หรือเราจะได้ยินกฎหมายด้านอวกาศต่างๆ สิ่งเหล่านี้มีในปัจจุบัน แต่ในโรดแมประยะยาวยังเหมือนกับว่าทุกองค์กรต้องมาช่วยกัน เรายังไม่มีองค์กรแบบนาซาที่จะทำงานด้านอวกาศร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นทิศทางจึงเป็นแบบหลายองค์กร หลายภาคส่วนที่จะมองว่าอนาคตเป็นยังไง มุมมองของผมเองก็คือยังต้องการหลายปัจจัยหรือหลายองค์กรที่ Formulate ขึ้นมาให้เป็นองค์กรที่ดูแลส่วนนี้จริงๆ

น่าจะเกิดยากหรือเปล่า เพราะมันไม่ใช่ความสำคัญอันดับต้นๆ

          ผมก็มองอย่างนั้น เรามี NARIT ทำไมเราต้องศึกษาดาราศาสตร์ มันก็เหตุผลเดียวกันว่าทำไมเราต้องไปศึกษาอวกาศ เพราะฉะนั้นแล้วเราต้องอาศัยหลายๆ อย่างที่จะผลักดันให้มันเกิดขึ้นได้ ซึ่งตอนนี้สิ่งที่เราผลักดันได้คือ สร้างโครงการ Thai Space Consortium (TSC) เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆ ที่จะส่งยานอวกาศไปยังดวงจันทร์

          แต่ในอนาคตถามว่า Consortium นี้ จะสามารถผลักดันให้กลายเป็นองค์กรในอนาคตได้มั้ย อันนี้ก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน หรือว่ามันควรจะอยู่ในรูปแบบของความร่วมมือแบบนี้อยู่ อันนี้ก็ขึ้นกับนโยบายในอนาคต ผมยังคาดหวังว่าในอนาคตอันใกล้ภาครัฐจะเห็นความสำคัญในระดับหนึ่ง แต่เราต้องให้ความรู้กับคนทั่วไปว่าการที่เราลงทุนส่งยานไป โอเค เราล้าหลังกว่าอเมริกาแน่นอน หลายคนบอกว่าคุณส่งยานไปดวงจันทร์แบบนี้แล้วมันช่วยให้หมูราคาถูกลงมั้ย ทำให้น้ำไม่ท่วมมั้ย คำตอบคือ ไม่ แต่ถ้าเราไม่เริ่มวันนี้ มันก็ไม่มีวันเริ่มเหมือนกัน เพราะฉะนั้นแล้วมันเป็นการมองไปในอนาคตมากกว่า

          ถ้านักการเมืองเห็นคอมเมนต์แบบนี้เกี่ยวกับการไปดวงจันทร์ เขาก็ต้องหาสิ่งที่จะดึงคะแนนเสียงของเขา สร้างถนนดีกว่ามั้ย ปรับปรุงน้ำไฟดีกว่ามั้ย เพราะนั่นคือคะแนนเสียง ดังนั้น ส่วนหนึ่งเราต้องให้ความรู้คนว่าการที่เราไปไม่ใช่การตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ มันคือก้าวแรก เราช้าไปหลายก้าวมากๆ เพราะฉะนั้นการที่เราเดินก้าวแรกก็อยากให้มันผ่านไปให้ได้ก่อน

การเพิ่มจำนวนแหล่งเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์และอวกาศ รวมถึงนิทรรศการต่างๆ เป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ต้องมีการจัดการให้ออกมาดีและน่าสนใจ คุณมีคำแนะนำมั้ย

          ปัจจุบันหลายคนก็ยังคิดว่ามีแค่ท้องฟ้าจำลอง ความจริงที่ NARIT ก็มีท้องฟ้าจำลองเหมือนกันและยังมีอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ เยอะมาก ตอนนี้เรามีอยู่ที่โคราช ฉะเชิงเทรา สงขลา และเรากำลังสร้างที่ขอนแก่น อนาคตจะมีที่พิษณุโลก เราพยายามกระจาย NARIT ในฐานะองค์กรวิจัยด้านดาราศาสตร์ เราต้องให้องค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ เราจึงมีหอดูดาวภูมิภาคที่สามารถให้ประชาชนมาดูดาว เรียนรู้ ดูท้องฟ้าจำลองได้ นั่นเป็นภารกิจหนึ่งของ NARIT

          เราเป็นสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หลายคนถามว่าทำไมเราต้องสอนดูดาวด้วย เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าเราวิจัย ผลประโยชน์เกิดกับนักวิจัยแค่สามสิบสี่สิบคน เราไปเจอดาวเคราะห์ดวงใหม่หนึ่งดวง มันได้ประโยชน์อะไรกับประเทศไทยมั้ย ไม่ เพราะดาวเคราะห์ดวงนั้นเรายังไม่ไปถึง ไม่ได้ไปจับจองด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่เกิดคือมันเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ ไม่ใช่แค่ด้านดาราศาสตร์ครับ แต่เป็นด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่เด็ก ถ้าเด็กเห็นว่าผมเองสามารถหาดาวเคราะห์นอกระบบได้ก็อาจจะมีเด็กบางคนบอกว่า ฉันอยากหาดาวเคราะห์บ้าง ฉันอยากศึกษามนุษย์ต่างดาว นั่นคือการสร้างแรงบันดาลใจ มันคือการสอนวิทยาศาสตร์ที่สวยงามให้แก่เด็ก

          การดูท้องฟ้าเป็นวิทยาศาสตร์ที่มีความสวยงามของมันอยู่ สิ่งที่เราทำในมุมมองของ NARIT มันไม่ใช่แค่การสร้างองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ ไม่ใช่แค่วิจัย แต่เราต้องถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ให้แก่ประชาชนทั่วไปด้วย 

          เพราะฉะนั้นถามว่าในปัจจุบันมันเพียงพอหรือยัง คำตอบคือมันไม่เพียงพอแน่นอน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือเรายังไม่ไปถึงโรงเรียน ปัจจุบันเราแจกกล้องดูดาวให้โรงเรียน ตอนนี้มีอยู่ประมาณห้าหกร้อยโรงเรียนแล้วที่ได้กล้องของเราไป มีการติดตาม ประมวลผลว่าใช้กล้องแล้ว มีการจัดกิจกรรมมั้ย มีการโปรโมตกิจกรรมของเราให้เครือข่ายมั้ย แต่นั่นก็เป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ เท่านั้นที่เราทำอยู่ เมื่อเทียบกับทั่วประเทศไทยที่มีนักเรียน มีเยาวชนอยู่เป็นหลักสิบล้าน ยี่สิบล้านคน เราต้องกระจายความรู้ โอกาส ให้กับเยาวชนต่อไป

          ที่สำคัญ NARIT ไม่ได้ต้องการให้คนที่สนใจดาราศาสตร์มาเป็นนักดาราศาสตร์ แต่อย่างน้อยเขายังเข้ามาสนใจวิทยาศาสตร์ก็ยังดี ผมคิดว่านอกจาก NARIT แล้ว แหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยค่อนข้างยังจำกัด โดยเฉพาะจำกัดอยู่ในกรุงเทพ เด็กจากต่างจังหวัดควรมีโอกาสได้เรียนรู้ มีนิทรรศการให้เขาเรียนรู้ ที่ NARIT ไม่ได้ตั้งท้องฟ้าจำลองที่กรุงเทพฯ ก็เพราะกรุงเทพฯ ท้องฟ้าไม่ดีด้วย

ซึ่งต้องไม่น่าเบื่อด้วย?

          แน่นอนครับ อย่างที่ NARIT ทำผมก็ช่วยหลายส่วนเหมือนกัน นิทรรศการควรเป็นอะไรที่เด็กได้เล่น สมัยก่อนผมเคยไปดูพิพิธภัณฑ์ที่ญี่ปุ่น ต่อให้เราอ่านภาษาญี่ปุ่นไม่เข้าใจ แต่เราสนุก เพราะว่ามันมีอะไรให้เราหยิบจับ มีเกม ซึ่ง NARIT ของเราก็พยายามทำอย่างนั้น แทนที่เราจะสอนเด็กให้รู้ว่าการหมุนของเส้นต่างๆ ของดาวพฤหัสเกิดขึ้นได้อย่างไร มันก็มีเครื่องหมุนให้เด็กๆ ว่าเราหมุนของเหลวตรงนี้ คลื่นจะเกิดริ้วขึ้นมา เด็กจะได้รู้ว่าการหมุนทำให้เกิดริ้ว ถ้าเราไม่หมุน มันก็จะไม่เกิดริ้วเมฆบนดาวพฤหัส

หอดูดาวฉะเชิงเทรา

ในชั่วชีวิตคุณ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีจะพัฒนาไปไกลพอจะได้เห็นการตั้งนิคมของมนุษย์บนดวงจันทร์หรือดาวเคราะห์ดวงอื่นมั้ย

          ผมรู้สึกว่าดวงจันทร์เป็นอะไรที่ใกล้ที่สุด ที่เราสามารถไปตั้งนิคมได้ หรือแม้กระทั่งดาวอังคาร ซึ่งอาจจะไกลกับช่วงอายุของเราไปนิดหนึ่ง เพราะว่าในปัจจุบันเรายังไม่ส่งมนุษย์ไปดาวอังคารเลยด้วยซ้ำและการไปดาวอังคารในแต่ละครั้งกินเวลาเป็นปี แต่การไปดวงจันทร์ใช้ระยะเวลาเป็นหลักวัน เราอาจจะไปทำอะไรบนดวงจันทร์ได้ แต่แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะดวงจันทร์ไม่มีชั้นบรรยากาศ มันเป็นก้อนหินหนึ่งก้อน มันอาจจะมีสถานีวิจัยหรืออะไรต่างๆ ในอนาคตที่เราจะส่งคนไปอยู่ อันนี้น่าจะเกิดขึ้นในชั่วชีวิตของเรา ดาวอังคารเป็นเป้าหมายถัดไปซึ่งอาจจะเป็นรุ่นหลัง 50 ปี 100 กว่าปี แต่ถามว่าเรามีโอกาสที่จะไปยังดาวเคราะห์ดวงอื่นนอกระบบสุริยะจักรวาลมั้ย ไม่มี

ไม่มี?

          ไม่มีเลยด้วยซ้ำ โอกาสแทบจะเป็นศูนย์ เพราะว่าแค่ดาวฤกษ์ที่ใกล้เราที่สุดก็ใช้เวลาเดินทาง 4 ปีแสง ถ้าเราเดินทางด้วยความเร็วแสง 4 ปี กว่าเราจะไปถึง อีก 4 ปี กว่าเราจะกลับมา ถ้าเทคโนโลยีเราไม่สามารถค้นพบรูหนอนที่สองสามสี่ ซึ่งมันดูไกลมากๆ ที่เราจะสามารถส่งอะไรผ่านรูหนอนแบบไซไฟขนาดนั้นได้หรือการวาร์ปต่างๆ มันยังไกลมากๆ กับเทคโนโลยีในปัจจุบัน

          ยานอวกาศของเราที่ส่งไปไกลมากที่สุด ส่งไปสี่สิบ ห้าสิบปีแล้วยังไปไม่ถึงปีแสงเลยด้วยซ้ำ มันไกลตัวเรามากๆ ที่จะส่งมนุษย์ไปยังดาวเคราะห์ดวงอื่นนอกระบบสุริยะจักรวาล

          หลายคนก็จะถามกลับมาว่าแล้วเราจะเจอมนุษย์ต่างดาวได้ไง ในเมื่อเราไปไม่ถึงและเราก็รู้ว่าในระบบสุริยะจักรวาลของเราไม่มีมนุษย์ต่างดาวที่เราเห็นตัวเป็นๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เทคโนโลยีดาราศาสตร์ปัจจุบันสามารถวิเคราะห์ธาตุบนชั้นบรรยากาศได้ค่อนข้างดีในระดับหนึ่ง ในอนาคตจะดีกว่านี้อีก ถ้าเราวิเคราะห์ธาตุได้ นั่นหมายความว่าเมื่อมนุษย์ต่างดาวมองมายังโลกของเรา ธาตุที่เห็นส่วนใหญ่ก็จะเป็นไนโตรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ ออกซิเจน แต่ก็จะมีบางธาตุในชั้นบรรยากาศ อย่างเช่น ที่เกิดจากสารอุตสาหกรรม ซีเอฟซี ซึ่งมนุษย์ต่างดาวอาจมองมายังโลกของเราแล้วเห็นว่ามนุษย์โลกเรากำลังทำอุตสาหกรรมอยู่ อีกประมาณไม่กี่สิบปีเราอาจจะมีสัญญาณบางอย่างที่บอกว่าดาวเคราะห์ทำอุตสาหกรรมอยู่ ทำเกษตรกรรมอยู่ก็เป็นได้ เพราะเราสามารถตรวจวัดปริมาณาธาตุบนชั้นบรรยากาศ เราอาจยืนยันได้ว่ามีมนุษย์ต่างดาว แต่เราจะไม่เจอมัน

การจะไปดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะจักรวาล ถ้าจะเป็นไปได้ต้องพัฒนาเทคโนโลยีมากกว่าตอนนี้มากๆๆๆ

          ใช่ครับ ดาราศาสตร์สามารถหามนุษย์ต่างดาวได้ แต่การเดินทางในอวกาศเป็นเทคโนโลยีที่เรายังไปไม่ถึงระดับนั้น

เดินทางทะลุจักรวาลด้วยวิทยาศาสตร์กับจินตนาการ กับศุภชัย อาวิพันธุ์
Photo : NARIT

ทฤษฎีรูหนอนเป็นจริงมั้ย?

          มันเป็นจริงในทางทฤษฎี แต่การที่บอกว่าเราจะประดิษฐ์รูหนอนขึ้นมา เราต้องเข้าใจมันมากกว่านี้ แน่นอนรูหนอนไม่ใช่ดูหนังแล้วเกิดรูหนอนใหญ่ๆ ขึ้นมา มันใช่แบบนั้น ปัจจุบันมันคือทฤษฎีที่มีรูหนอนเล็กๆ ถามว่าเป็นจริงมั้ย ปัจจุบันเราก็ยังไม่สามารถยืนยันด้วยการสังเกตการณ์ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ทางทฤษฎีมันควรจะเป็นแบบนั้น เหมือนกับสิ่งอื่นๆ รอบข้างมันบ่งบอกว่าตัวนี้เป็นเหมือนหนึ่งในทฤษฎีที่อธิบายได้ดีที่สุด มันอาจจะมีหลายทฤษฎี ทฤษฎีรูหนอนเป็นหนึ่งในนั้น แต่เรายังไม่สามารถเจอ ยังไม่เห็นรูหนอนจริงๆ และต่อให้เราเห็นจริงๆ การที่เราจะสร้างมันขึ้นมาหรือหามันเจอก็เป็นทฤษฎีที่ต่อไปไกลๆ อีก

พหุจักรวาลเป็นทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์หรือเป็นแค่เรื่องแต่ง?

          คำตอบคือทั้งสองอย่าง ทฤษฎีจริงๆ ก็มี แต่พหุจักรวาลก็หมายถึงหลายอย่าง เช่น เรามีจักรวาล จักรวาลเราขยายตัว บิ๊กแบงขยายตัว หดตัวลง เราอาจจะมีจักรวาลที่เกิดขึ้นหลายๆ จักรวาลซึ่งถามว่ามันจะเชื่อมต่อกันมั้ย เราก็ไม่รู้ว่ามันเชื่อมต่อหรือไม่เชื่อมต่อกัน มันจะมีหรือไม่มีเราก็ยังไม่รู้ แต่ก็เป็นทฤษฎีหนึ่งที่เป็นไปได้ทางฟิสิกส์ว่าเราเหมือนกับวัตถุก้อนหนึ่งที่โตขึ้นมา อาจจะมีก้อนอื่น มัลติเวิร์สอื่นๆ ที่ขยายตัวอยู่ก็ได้ ซึ่งมันอาจจะอยู่ในอีกมิติหนึ่ง

          ทฤษฎีมัลติเวิร์สที่แบบย้อนเวลากลับไปได้ มีหนึ่งสองสามสี่ข้ามไปข้ามมา มันจะเหมือนกันขนาดนั้นเลยมั้ย คำตอบคือหนังก็ใส่อะไรเข้าไปหลายอย่าง เพราะเรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีมัลติเวิร์สหรือเปล่า แล้วจักรวาลนั้นจะเหมือนเราร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ยังไง หรือมันไม่เหมือน

          สมัยก่อนเรามองเห็นดาวฤกษ์อยู่ไกลๆ เราไม่รู้ว่าดาวฤกษ์ดวงนี้เหมือนหรือไม่เหมือน แต่ปัจจุบันเราตอบได้แล้วว่าดาวฤกษ์ดวงอื่นไม่เหมือนกับเรา จักรวาลอื่นๆ จะเหมือนหรือไม่เหมือน คำตอบคือเราก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นแล้วเรื่องมัลติเวิร์สเป็นเรื่องที่ยังเป็นเพียงแค่ทฤษฎีในปัจจุบัน ทฤษฎีเกิดขึ้นได้ก็หายไปได้

แต่หนังซูเปอร์ฮีโรก็ทำให้มัลติเวิร์สเป็นทฤษฎีที่สนุกดี

          ผมว่ามันก็สนุกดี อย่างหนังสตาร์ วอร์ส สตาร์ เทรค มันเป็นหนังที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน ผมคิดว่า มาร์เวล ก็สร้างแรงบันดาลใจให้หลายคน ฉันอยากเป็นโทนี สตาร์ก เป็นไอรอน แมน อยากประดิษฐ์ของได้ ซึ่งมันก็สร้างไอเดียความเป็นนักประดิษฐ์ ถ้าเราไปปิดกั้นจินตนาการ บอกว่านี่คือฟิสิกส์ทั้งหมด เป็นกรอบ เราจะไม่มีวันเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้เลย เพราะถูกตีกรอบด้วยทฤษฎี ทฤษฎีใหม่ๆ หลายอย่างเกิดจากจินตนาการทั้งนั้น ความจริงพวกมัลติเวิร์สเกิดจากจินตนาการของนักฟิสิกส์ ซึ่งจะจริงหรือไม่จริงสุดท้ายเราต้องพิสูจน์ทางด้านวิทยาศาสตร์ต่อไป

เดินทางทะลุจักรวาลด้วยวิทยาศาสตร์กับจินตนาการ กับศุภชัย อาวิพันธุ์

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก