“คนที่รักการอ่าน คือ คนที่สามารถเรียนรู้ สืบค้นข้อมูล ปลอบประโลมใจ และแสวงหากิจกรรมให้ตัวเองทำแบบไม่โดดเดี่ยวได้จนตลอดชีวิต”
ลินน์ โอมิสซี หัวหน้าบรรณารักษ์ของห้องสมุดเจอร์ซีย์ (Jersey Library) สหราชอาณาจักร กล่าวถึงคุณประโยชน์จากการอ่านหนังสือ พร้อมทั้งย้ำว่า ‘การอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน’ หรือ ‘Reading for Pleasure’ มีความสำคัญมาก ห้องสมุดเจอร์ซีย์จึงเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘Summer Reading Challenge’ มาตั้งแต่เปิดตัวในปี 1999 ตลอดชีวิตการทำงานของเธอ โอมิสซีพยายามอย่างแข็งขันที่จะชวนนักอ่านตัวน้อยมาร่วมท้าทายตัวเองด้วยการอ่านหนังสือไปพร้อมกัน เธอมองเห็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการอ่านของเด็กๆ ที่ร่วมโครงการมาหลายต่อหลายรุ่น และรู้สึกภาคภูมิใจที่มีส่วนช่วยผลักดัน
“ทุกๆ ปี ฉันเห็นเด็กๆ เปลี่ยนผ่านจากคนที่ ‘อ่านหนังสือได้’ มาเป็นคนที่ ‘รักการอ่าน’ หรือดื่มด่ำไปกับจินตนาการไม่รู้จบในหนังสือ”
นั่นคือตัวอย่างของสิ่งที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรในทุกฤดูร้อน กับโครงการ ‘Summer Reading Challenge’ โปรแกรมที่จัดโดย The Reading Agency องค์กรส่งเสริมการอ่านและการรู้หนังสือในสหราชอาณาจักรที่ชักชวนเยาวชนวัย 4-11 ปี ทั่วประเทศ ให้มาอ่านหนังสือภายใต้ธีมเดียวกัน แต่เลือกอ่านได้แบบเสรีไม่จำกัดหัวเรื่อง เด็กๆ สามารถเข้าถึงหนังสือตามธีมเหล่านั้นได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ณ ห้องสมุดประชาชนที่เข้าร่วมโครงการหรือสมัครได้แบบออนไลน์ ตั้งเป้าหมาย ระบุหนังสือที่จะอ่าน รับรางวัลไปตามเส้นทางการอ่าน จนกระทั่งได้รับเกียรติบัตรเมื่อสามารถอ่านหนังสือครบจำนวนที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้
โครงการ Summer Reading Challenge อยู่คู่ประเทศมานานกว่า 20 ปี แล้ว เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จด้วยดี เพราะในแต่ละปีมีเยาวชนกว่า 700,000 คนเข้าร่วม มีเสียงชื่นชมจากผู้ปกครองและโรงเรียน บางครอบครัวส่งเสริมให้ลูกๆ เข้าร่วมกิจกรรมหลายปีติดต่อกัน จนเด็กๆ เติบโตไปเป็นวัยรุ่นที่รักการอ่านมากขึ้น แต่ The Reading Agency ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น กลับขยายฐานความร่วมมือ และพยายามค้นหาวิธีการปรับรูปแบบการดำเนินโครงการให้ตอบโจทย์สังคมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ทั้งหมดนี้ เป็นเพราะ The Reading Agency เล็งเห็นว่า ด้วยความพยายามเหล่านี้ โครงการจะสามารถนำพาเยาวชนไปสู่เป้าหมายที่คาดหวังไว้ นั่นคือทำให้ ‘การอ่านหนังสือเพื่อความเพลิดเพลิน’ เป็นกิจกรรมที่ฝังรากลึกลงไปในวัฒนธรรม กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และแผ่กิ่ง ก้าน ใบ ออกดอกออกผล ให้ผู้ที่รักการอ่านได้รับประโยชน์ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
อ่านให้เพลิดเพลิน (Reading for Pleasure) คือ พื้นฐานของการเรียนรู้
การอ่านอย่างเพลิดเพลิน หรือ Reading for Pleasure คือ การอ่านหนังสือที่เกิดขึ้นโดยความสมัครใจ อ่านเพราะความสนใจ หรืออ่านในเวลาว่างในฐานะงานอดิเรก ไม่ได้อ่านเพราะเป็นส่วนหนึ่งของการเรียน หนังสืออ่านนอกเวลาภาคบังคับ หรือในฐานะส่วนหนึ่งของการทำงาน
งานวิจัยหลายชิ้นในช่วงที่ผ่านมา ทั้งจากภาคการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยต่างๆ องค์กรส่งเสริมการอ่านอย่าง National Literacy Trust องค์กรระหว่างประเทศแบบ OECD ล้วนกล่าวถึงผลดีจากการที่เยาวชนรู้จักอ่านหนังสือเพื่อความเพลิดเพลิน ไม่ว่าจะเป็นผลลัพธ์ในระยะสั้น เช่น นักอ่านรุ่นเยาว์มีผลการเรียนที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยโดยทั่วไป มีการพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับการอ่านการเขียน มีความรู้รอบตัว หรือ เกิดผลลัพธ์ในระยะยาวอย่างการเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ สามารถตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผล มีเชื้อไฟในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ยกตัวอย่างเช่น Reading Between the Lines: The Benefits of Reading for Pleasure งานวิจัยร่วมระหว่างโครงการ Good Reads กับ มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลบ่งชี้ถึงประโยชน์ของการอ่านเพื่อความเพลิดเพลินในวัยผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเสถียรภาพของสภาวะทางจิตใจ ความมั่นใจในตนเอง ความสามารถในการตัดสินใจ หรือการสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง น่าเสียดายที่ 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่ในสหราชอาณาจักร มองเห็นว่าการอ่านไม่ใช่กิจกรรมที่เพลิดเพลิน โดยรายงานระบุว่า ประชากรสหราชอาณาจักร 1.2 ล้านคน เคยอ่านหนังสือเป็นประจำ แต่ไม่ได้อ่านอีกต่อไปเพราะปัญหาจากสภาวะซึมเศร้า ส่วน 42% ของกลุ่มตัวอย่างการสำรวจกล่าวว่า ภาระประจำวันไม่ว่าจะจากงานประจำ หรือจากการดูแลบ้าน ครอบครัว และบุตร ทำให้ไม่มีเวลาที่จะอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน
ทำอย่างไรให้นิสัย ‘รักการอ่าน’ เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่วัยเด็กจวบจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ นี่คือโจทย์ที่ The Reading Agency พยายามวางรากฐานด้วยโครงการส่งเสริมการอ่านสำหรับกลุ่มเป้าหมายหลากหลายช่วงวัย เมื่อย้อนมามองกรณีของเยาวชน ตัวเลขสถิติของจำนวนเด็กๆ ที่อ่านเพื่อความเพลิดเพลินก็มีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อยๆ เช่นกัน โดยข้อมูลจาก The Reading Agency ระบุว่า 1 ใน 4 ของประชากรที่สำรวจกล่าวว่าไม่รู้สึกเพลิดเพลินสนุกสนานกับการอ่านหนังสือ
และนั่นเป็นปัญหาใหญ่ที่นิ่งนอนใจไม่ได้ โครงการ Summer Reading Challenge จึงปรับปรุงรูปแบบการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้นักอ่านตัวน้อยมองเห็นคุณค่าของการอ่าน เกิดทักษะที่ควรจะเป็น สำหรับการเรียนรู้ในอนาคตอันใกล้ และสำหรับการพัฒนาตนเองในวัยผู้ใหญ่ต่อไป
Summer Reading Challenge: ปิดเทอมนี้ เด็กๆ อ่านหนังสืออะไร
มองย้อนไปในวัยเรียน หากโรงเรียนของคุณผู้อ่านเคยสั่ง ‘การบ้าน’ เป็นหนังสืออ่านนอกเวลา ก็คงจะคุ้นเคยกับความรู้สึกที่ต้องพกพาหนังสือไปไหนมาไหนด้วย แล้วหยิบออกมาอ่านเมื่อมีโอกาสในระหว่างช่วงปิดภาคเรียน เพราะเปิดเทอมมาอาจจะมีการวัดผลว่าอ่านแล้วได้อะไรบ้าง
แต่ต้องบอกว่าบรรยากาศของโครงการ Summer Reading Challenge แตกต่างจากการสั่งการบ้านในห้องเรียน แล้วให้เวลาแยกย้ายกันไปอ่านตามอัธยาศัยแบบประเทศไทยค่อนข้างมาก เพราะโครงการนี้มีผู้ร่วมอ่านหนังสือในโครงการเดียวกันอีกหลายแสนคนทั่วประเทศ แต่อาจจะเลือกอ่านคนละเรื่อง มีกิจกรรมในห้องสมุดประชาชนท้องถิ่นที่ครอบครัวสามารถพาลูกหลานมาร่วมแจม และยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่เชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกับหนังสือและการอ่านตามธีมให้คุณหนูมาร่วมสนุกและล่ารางวัลอย่างคึกคักอีกด้วย
โครงการ Summer Reading Challenge เริ่มขึ้นในปี 1999 ดำเนินการโดย The Reading Agency ร่วมมือกับห้องสมุดประชาชนเมืองต่างๆ กลุ่มเป้าหมายคือเยาวชนอายุ 4-11 ปี โจทย์แรกเริ่มคือ การรักษาโอกาสฝึกฝนทักษะการอ่านในช่วงเวลาที่เด็กๆ ปิดภาคเรียนฤดูร้อน หลายปีผ่านไปผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นคือ การส่งเสริมสุขภาวะด้านจิตใจ และการสร้างความเชื่อมโยงทางสังคมระหว่างคนในครอบครัว รวมถึงระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในชุมชนอีกด้วย เพราะทันทีที่ Challenge เริ่มต้นขึ้น ห้องสมุด และสถานศึกษา ต่างพยายามค้นหากิจกรรมมาดึงดูดให้เด็กๆ สนใจ และเข้ามาร่วมโปรแกรมอย่างคึกคัก
กำลังสำคัญของ The Reading Agency ในการดำเนินโครงการนี้คือ ห้องสมุดประชาชน เพราะเป็นสถานที่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมและกระจายหนังสือให้กับเยาวชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ แต่ละปี ผู้จัดจะกำหนดช่วงเวลา พร้อมกับกำหนดธีมที่น่าตื่นเต้นสนุกสนาน ประกาศให้ทราบโดยทั่วกันในหน้าเว็บไซต์ Summer Reading Challenge
นอกจากข้อมูลของ Summer Reading Challenge แล้ว ยังมีข้อมูลของหนังสือและนักเขียน เด็กๆ สามารถเลือกอ่านหนังสือเล่มไหนก็ได้ตามความสมัครใจภายใต้ธีมที่กำหนดในแต่ละปี เช่น ธีมของปี 2023 คือ Ready, Set, Read! (เข้าที่, ระวัง, อ่าน! – เป็นธีมที่เกี่ยวข้องกับการเล่นเกม กีฬา และกิจกรรมที่ใช้กำลัง) ส่วนธีมในปี 2022 คือ Gadgeteers (นักประดิษฐ์) และธีมในปี 2021 คือ Wild World Heroes! (ฮีโร่ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม) ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถลงทะเบียนที่ห้องสมุดใกล้บ้านหรือลงทะเบียนออนไลน์ ตั้งเป้าหมายในการอ่าน หลังจากนั้นก็สามารถสะสมแต้มหรือรางวัลได้ตามความสามารถในการพิชิตเป้าหมาย โดยโครงการกำหนดไว้ที่ 6 เล่ม
ห้องสมุด และสถานศึกษาแต่ละแห่งจะเตรียมความพร้อมในการกระตุ้นให้เยาวชนเข้าร่วมโครงการ สำหรับห้องสมุดต่างๆ นี่คือโอกาสทองที่จะออกแบบกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้กับผู้รับบริการในพื้นที่เลยทีเดียว เช่น ห้องสมุดลูวิแชม (Lewisham) มีโครงการเปิดโอกาสรับอาสาสมัครที่มีช่วงวัยใกล้เคียงกับเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ Summer Reading Challenge ได้ มาจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน พูดคุย แลกเปลี่ยน ตั้งกลุ่มสนทนาออนไลน์ กลุ่มเล่านิทาน เวิร์กชอปงานฝีมือ ตลอดจนช่วยค้นหาและแนะนำหนังสือหรืออีบุ๊กที่สอดคล้องกับธีมประจำปี ทางผู้อำนวยการห้องสมุดก็ให้ความคิดเห็นว่า โครงการอาสาสมัครนี้ ช่วยสร้างไอเดีย กิจกรรมใหม่ๆ ให้กับห้องสมุดได้เป็นอย่างดี ตัวอาสาสมัครเองก็ช่วงวัยใกล้เคียงกับนักอ่านรุ่นเยาว์ สามารถสื่อสารกันได้ดี และทำหน้าที่เป็นต้นแบบนักอ่าน หรือ ไอดอล ให้กับน้องๆ หนูๆ ที่เข้าร่วมโครงการได้อีกด้วย
ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา The Reading Agency ขยายฐานเครือข่ายในการดำเนินโครงการให้กว้างขึ้น นอกจากจะร่วมมือกับห้องสมุดประชาชนแล้ว ยังผนึกกำลังกับองค์กรอื่นๆ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานด้านเยาวชนในท้องถิ่น หน่วยงานด้านสุขภาวะ และพาร์ตเนอร์ที่สำคัญคือ Holiday Activity and Food Programme (HAF) เพื่อปรับรูปแบบกิจกรรม และขยายผลไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เจาะจงยิ่งขึ้น วางรากฐานความรักในการอ่านตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อให้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต
The Reading Agency เริ่มทดลองโมเดลการมีส่วนร่วมแบบขยายฐานกับห้องสมุดประชาชน 10 แห่ง ในปีแรก และเพิ่มจำนวนเป็น 30 แห่ง ทั้งในอังกฤษ สกอตแลนด์ ปีต่อมา มีการปรับรูปแบบจากการดำเนินการแบบ ‘Universal’ หรือประชาสัมพันธ์ให้เด็กๆ ในพื้นที่เข้ามาร่วมกิจกรรมให้มากขึ้น มาเป็นแบบ ‘Targeted Area’ หรือกำหนดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น เด็กที่ขาดโอกาส ครอบครัวที่รายได้ต่ำ หรือกลุ่มที่มีปัญหาด้านการอ่าน และวางเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านการรู้หนังสือ สุขภาวะทางจิตใจ ข้อจำกัดในการเข้าถึงทรัพยากรการเรียนรู้ การทำงานร่วมกับ HAF ที่ทำงานกับเด็กซึ่งขาดทุนทรัพย์ และมีข้อจำกัดต่างๆ อยู่แล้ว ทำให้โครงการ Summer Reading Challenge สามารถเจาะเข้าหากลุ่มเด็กที่ด้อยโอกาสได้สะดวก และตรงกลุ่มมากขึ้น
นอกจากการเจาะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นเด็กด้อยโอกาสแล้ว การร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ ยังนำมาซึ่งรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลายด้วย เช่น ในปี 2023 ภายใต้ธีม ‘Ready, Set, Read!’ นั้น The Reading Agency ร่วมมือกับ The Youth Sport Trust ออกแบบกิจกรรมที่ชักชวนเยาวชนมาร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเล่น เกม และกีฬา The Youth Sport Trust จัดทำ Activity Pack สำหรับให้บริการผู้ปกครองควบคู่ไปกับหนังสือ เพื่อพัฒนาทักษะการอ่าน กระบวนการคิด ร่างกาย และจิตใจ ในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมส่งเสริมให้เด็กๆ ได้พบปะมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอีกด้วย เรียกได้ว่า ก้าวข้ามกิจกรรมการอ่านธรรมดาๆ กลายเป็นกิจกรรมแนวผสมผสาน เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนรู้สึก ‘สนุก’ และ ‘เพลิดเพลิน’ กับการอ่านเพิ่มมากขึ้น
ให้ไฟแห่งการอ่านลุกโชนตลอดชีวิต
ตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา โครงการ Summer Reading Challenge เก็บข้อมูลเสียงตอบรับที่จากผู้เข้าร่วมโครงการเสมอ ไม่ว่าจะเป็นนักอ่าน ห้องสมุด หรือโรงเรียน โดยเก็บข้อมูลทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ เพื่อสำรวจความสำเร็จและข้อควรระวัง เพื่อพัฒนาโครงการให้ตอบโจทย์มากขึ้นในปีต่อๆ ไป
แต่ละปีมีการรายงานผลและการวิเคราะห์ผลที่ชัดเจน ล่าสุดสถิติระบุว่า ปี 2022 มีเยาวชน 212,454 คน ที่สมัครเข้าร่วม Summer Reading Challenge ผ่านส่วนขยายของโครงการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพาร์ตเนอร์ใหม่ๆ เข้ามามีส่วนร่วม เยาวชน 46,575 คน จากจำนวนกว่าสองแสนคนนี้ สมัครเป็นสมาชิกใหม่ของห้องสมุด โดยผู้เข้าร่วมระบุว่าโครงการช่วยให้มีโอกาสได้อ่านหนังสือมากขึ้น สนุกกับการอ่านมากขึ้น และมีสุขภาวะที่ดีขึ้น อาทิ
“หนูคิดว่าโครงการนี้ ส่งเสริมให้หนูได้อ่านหนังสือมากขึ้น…เพราะหนูอยากอ่านให้จบไวที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็เลยเริ่มรู้สึกว่า มันก็ดีเหมือนกันนะที่ได้อ่านหนังสือทุกๆ วัน”
“ก่อนหน้านี้หนูไม่ค่อยได้อ่านหนังสือมากนัก ไม่อ่านเลยด้วยซ้ำ เพราะว่าไม่ชอบ หนูจะใช้เวลากับยูทูป โทรทัศน์ หรืออะไรพวกนั้นมากกว่า หลังจากเข้าร่วมโครงการหนูชอบอ่านวรรณกรรมมากขึ้น และเริ่มจะชอบอ่านหนังสือประเภทอื่นๆ ที่แตกต่างหลากหลายด้วย”
“เมื่อได้อ่านหนังสือ หนูรู้สึกเหมือนหลุดออกมาจากสิ่งรอบตัวเลย ไม่ว่าจะอ่านอะไรก็ตาม มันทำให้หนูรู้สึกจิตใจสงบนิ่งมากขึ้น”
สำหรับคนทำงานในสายการศึกษาและสายห้องสมุด หลายคนมีความคิดเห็นว่า การพัฒนาต่อยอดโครงการ Summer Reading Challenge โดยร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ ขยายขอบเขตกิจกรรม และขอความร่วมมือในการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย พร้อมกับการประชาสัมพันธ์ ช่วยขยายผลลัพธ์ที่ดีได้ขึ้นอีกมาก
บรรณารักษ์ท่านหนึ่งให้ข้อมูลไว้ในรายงานผลโครงการปี 2022 ว่า “ตอนที่หน่วยงานเกี่ยวกับเยาวชนต้องเสนอกิจกรรมเพื่อของบประมาณจากผู้สนับสนุน เขาก็ยังไม่ค่อยมองเห็นว่านอกจากกิจกรรมสันทนาการและอาหาร การรู้หนังสือก็สำคัญ ความร่วมมือกับหน่วยงานเหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเลยทีเดียว”
ผู้ดำเนินโครงการเกี่ยวกับเด็ก และเยาวชนก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน “โครงการนี้เข้ากันกับ HAF ได้ดีมาก เด็กๆ ได้มีโอกาสได้เข้าถึงหนังสือมากขึ้น มีโอกาสได้ผ่อนคลาย”
โครงการ Summer Reading Challenge ดำเนินมานานกว่า 20 ปีแล้ว และผลตอบรับโดยส่วนมากก็เป็นเชิงบวก ความท้าทายของผู้จัดโครงการโดยเฉพาะช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ ทำอย่างไรถึงจะช่วยแก้ไขปัญหาด้านสุขภาวะทางจิตใจ และส่งเสริมให้การพัฒนาการอ่านและอัตราการรู้หนังสือ สอดคล้องกลมกลืนไปกับการพัฒนาในด้านอื่นๆ
คาเรน เนเปียร์ CEO ของ The Reading Agency เคยกล่าวไว้ในปี 2021 ว่า “ไม่มีอะไรที่สำคัญไปกว่าการส่งเสริมให้เยาวชนได้เข้าถึงขุมพลังและเริ่มต้นเส้นทางการอ่าน การอ่านหนังสือไม่เพียงแต่ส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ แต่ยังส่งเสริมสุขภาวะทางจิตใจ และความเป็นอยู่ที่ดี ช่วงปีที่ผ่านมาคือช่วงเวลาแห่งความท้าทายของเด็กๆ หวังว่าการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ จะทำให้เราเข้าถึงครอบครัวและเด็กๆ ได้มากขึ้น”
และสำหรับ Challenge ที่เพิ่งผ่านพ้นไป คาเรนก็ยังเชื่อมั่นในการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อออกแบบกิจกรรมให้สร้างสรรค์ยิ่งไปกว่าเดิม “เราดีใจมากที่ได้ร่วมมือกับ The Youth Sport Trust เพื่อต่อยอดความสำเร็จจากปีก่อนหน้า เด็กที่ลงทะเบียนสมาชิกห้องสมุดมีเพิ่มมากขึ้น เรามีข้อมูลเสียงตอบรับจากผู้ปกครองด้วย ว่าพวกเขาต้องการกิจกรรมที่สามารถเข้าร่วมและพบปะสังสรรค์กันได้จริงๆ ธีมของปีนี้ช่วยให้เด็กๆ มีโอกาสมารวมตัวกันทำกิจกรรมสนุกๆ พร้อมไปกับสัมผัสพลังแห่งการอ่าน”
นั่นคือตัวอย่างของความมุ่งมั่นส่งเสริมให้การอ่านหนังสือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของชีวิต นอกจากโครงการ Summer Reading Challenge แล้ว The Reading Agency และองค์กรการศึกษาอื่นๆ ก็ยังมีโครงการส่งเสริมการอ่านและพัฒนาอัตราการรู้หนังสืออีกมากมาย
หลากหลายจิกซอว์ เมื่อนำมาต่อประสานกันแล้ว อาจเป็นที่มาของภาพที่ชาวสหราชอาณาจักรต่างช่วงวัยมักจะพกพาหนังสือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับอ่านอีบุ๊กติดตัวเสมอในยามเดินทางสัญจร ไม่ว่าจะระยะสั้นหรือระยะยาว บนรถไฟ รถโดยสารระหว่างเมือง หรือบนเครื่องบิน
เกิดบุ๊กคลับ หรือ Reading Group ที่มีผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างแข็งขัน
มีผู้เข้าร่วมรีวิวหรือแสดงความคิดเห็นบนเว็บไซต์ขายหนังสือออนไลน์อย่างคับคั่ง หลายๆ ความคิดเห็นลุ่มลึกและเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจจะซื้อหามาครอบครอง
ทั้งหมดล้วนเป็นภาพที่น่าชื่นใจและบ่งชี้ว่า วัฒนธรรมการอ่านในสังคมของเขาเข้มแข็งพอที่จะทำให้การอ่านกลายเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของชีวิตที่เกิดขึ้นโดยเสรี เกิดขึ้นเพื่อความเพลิดเพลินได้อย่างแท้จริง
ที่มา
บทความ “The Reading Agency to pilot integrated local authority model for Summer Reading Challenge 2021” จาก readingagency.org.uk (Online)
บทความ “The Summer Reading Challenge theme is… Ready, Set, Read! with Youth Sport Trust” จาก readingagency.org.uk (Online)
บทความ “Reading Between the Lines: the Benefits of Reading for Pleasure” (Online)
บทความ “Summer Reading Challenge Cross-Authority Pilot 2022: EVALUATION SUMMARY REPORT” จาก summerreadingchallenge.org.uk (Online)
เว็บไซต์ Summer Reading Challenge (Online)
เว็บไซต์ The Reading Agency (Online)