สุมาลี บำรุงสุข: นักแปลผู้แนะนำ ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ ให้นักอ่านชาวไทยได้รู้จัก

871 views
7 mins
February 13, 2024

          ถ้าให้นึกถึงวรรณกรรมเรื่องที่จบไปนานแล้ว แต่ยังตราตรึงใจคนอ่านไม่รู้ลืม หนึ่งในชื่อที่หลายคนนึกถึงน่าจะเป็น แฮร์รี่ พอตเตอร์ (Harry Potter) ฮอกวอตส์ยังคงเป็นบ้านของนักอ่านเสมอ ในเวลาที่ไม่รู้จะอ่านอะไร แฮร์รี่ก็เป็นตัวเลือกแรกๆ ที่หลายคนหยิบขึ้นมาบ่อยๆ นอกจากการผจญภัยอันสนุกสนานในโลกเวทมนตร์แสนมหัศจรรย์ และการเฝ้าดูตัวละครที่รักได้เติบโต สิ่งที่หลายคนน่าจะจำได้คือสำนวนการแปลที่เต็มไปด้วยอรรถรสของ ‘สุมาลี’

          สุมาลี บำรุงสุข อยู่กับการเขียนการอ่านมาตั้งแต่เด็ก เธอเคยเขียนวรรณกรรมเยาวชนมาก่อน และแปล แฮร์รี่ พอตเตอร์ฉบับภาษาไทย 5 เล่มจาก 7 เล่ม นั่นคือสิ่งที่หลายคนรู้ แต่สิ่งที่คุณอาจไม่รู้คือเธอนี่แหละเป็นคนแนะนำวรรณกรรมเรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์ ให้ นานมีบุ๊คส์ ซื้อลิขสิทธิ์มาแปลเป็นภาษาไทย เพราะความประทับใจจากการอ่าน แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์ ในห้องสมุดสาธารณะที่อังกฤษจนวางไม่ลง

          ในปี 2543 วรรณกรรมเยาวชนไทยยังไม่เฟื่องฟูในหมู่นักอ่านเท่าไร การลงทุนกับวรรณกรรมเรื่องดังที่ค่าลิขสิทธิ์แพงมากอาจเป็นความเสี่ยงของสำนักพิมพ์ แต่สุมาลีก็ยืนยันให้นานมีบุ๊คส์ซื้อลิขสิทธิ์ แฮร์รี่ จนสำเร็จ พร้อมรับประกันว่าจะขายได้หลักหมื่นเล่มแน่นอน

          รู้ตัวอีกที แฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับภาษาไทยก็เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ของวรรณกรรมเยาวชนของไทยไปตลอดกาล หนังสือขายได้หลักแสนเล่มและยังตีพิมพ์มาจนถึง 20 ปีให้หลัง แถมยังจุดประกายให้มีวรรณกรรมเยาวชนที่เขียนโดยคนไทยและแปลจากภาษาต่างประเทศผุดขึ้นมากมายจนเฟื่องฟูในยุคหนึ่ง

          อะไรทำให้สุมาลีมั่นใจในวรรณกรรมชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ ตั้งแต่แรกอ่าน ให้บทสนทนานี้เล่าให้ฟัง

การอยู่กับหนังสือมาตั้งแต่เด็กส่งผลต่อตัวตนของคุณทุกวันนี้อย่างไร

          หนังสือทำให้ไม่เหงาค่ะ แม้ว่าดิฉันจะจากครอบครัวที่เมืองไทยมาอยู่ที่อังกฤษเป็นเวลาหลายปีแล้ว ก็มีหนังสือเป็นเพื่อนเสมอ ดิฉันอ่านนิทานและนิยายมาตั้งแต่เด็ก ติดนิยายของ โรสลาเรน (ทมยันตี) และ ดอกไม้สด มากค่ะ ก็ทำให้อยากเขียนเรื่องของตนเองบ้าง เรื่องแรกๆ ก็แต่งเองและแบ่งให้อ่านกันในหมู่เพื่อน แต่เล่มที่ทำให้ได้เป็นนักเขียนเต็มตัวคือ นิตยสาร สตรีสารภาคพิเศษ ตอนนั้นมีคอลัมน์แต่งเรื่องจากภาพที่เปิดให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 15 ปีเขียนเรื่องส่งไปได้ ดิฉันอายุ 15 ปีพอดี จึงเขียนไปถามพี่โบตั๋น (สุภา สิริสิงห) บ.ก.ภาคพิเศษ ว่าขอแต่งเรื่องจากภาพบ้างได้ไหม บ.ก. ตอบมาว่า อายุเกินกำหนดที่จะร่วมรายการนี้ ขอให้เขียนเรื่องอื่นๆ ส่งมาแทน ดิฉันจึงแต่งเรื่อง เมื่อแม่น้ำและลูกน้ำถูกตี ส่งไปและได้ตีพิมพ์ พอแต่งหลายเรื่องก็ได้รวมเล่มเป็นหนังสือชุด เรื่องของม่าเหมี่ยว และ ม่าเหมี่ยวกับเพื่อน

          สำหรับงานแปล ดิฉันตั้งต้นจากการแปลนิทานสั้นๆ กับเพื่อนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะรวมเล่มชื่อ นิทานเจ้าหญิง ต่อมาจึงแปลหนังสือเป็นเล่ม ดิฉันชอบอ่านนิยายแปลมากเช่นกัน เป็นแฟนหนังสือของ สุคนธรส, อมราวดี, แม่อนงค์, อ.สนิทวงศ์, นิดา, ประมูล อุณหธูป เป็นต้น หนังสือชุด บ้านเล็กในป่าใหญ่ ที่สุคนธรสแปลเป็นหนังสือที่อ่านทวนหลายหนค่ะ

สุมาลี บำรุงสุข: นักแปลผู้แนะนำ ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ ให้นักอ่านชาวไทยได้รู้จัก
Photo: สุมาลี บำรุงสุข

ทุกวันนี้คุณยังเขียนและแปลหนังสืออยู่หรือเปล่า มองเห็นการเติบโตด้านงานเขียนและแปลของตนเองอย่างไร

          ก็ยังเขียนและแปลงานอยู่เรื่อยๆ ค่ะ แต่ไม่ได้ทำงานคร่ำเคร่งเหมือนสมัยสาวๆ เพราะอายุมากขึ้น ร่างกายก็ล้า สายตาไม่ค่อยดี ต้องใช้เวลาทำงานนานกว่าเดิมค่ะ ดิฉันยังเขียนเรื่องสำหรับเด็กและเยาวชนและแปลนิยายที่น่าสนใจ เช่น งานของแคลร์ คีฟ-ฟ็อกซ์ (Claire Keefe-Fox) เมื่อไม่นานมานี้ก็แปล Animal Farm ของ George Orwell ฉบับเยาวชน แปลด้วยสำนวนให้ผู้ใหญ่อ่านได้ เด็กอ่านดี มีภาพประกอบสวยงามมากค่ะ

          เรื่องการเขียนและการแปลของดิฉันเองก็ต้องบอกว่าคืบหน้าไปด้วยดีค่ะ ที่กล้าพูดเช่นนี้เพราะงานเขียนงานแปลได้รับรางวัลระดับชาติด้วย และที่ภูมิใจมากคือได้รับ รางวัลสุรินทราชา ที่สมาคมนักแปลมอบให้

หลักการแปลแบบไหนที่สุมาลีเลือกใช้

          ถูกต้องตามต้นฉบับทั้งความหมายและสำนวนค่ะ โดยจะยึดหลักในการแปลสำนวนให้คงสำนวนโวหารของผู้ประพันธ์ให้มากที่สุด จึงเลือกงานแปลหนังสือเด็กและเยาวชนหรือเรื่องเชิงประวัติศาสตร์มากกว่าเรื่องแนวปรัชญา เพราะสำนวนพื้นฐานของดิฉันเองไปทางนั้นได้ดี ดิฉันยอมรับว่างานแปลที่เคยทำก็มีผิดพลาดบ้าง แต่เป็นความผิดพลาดที่ไม่ได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อหรือไม่ถี่ถ้วนนะคะ หลักการแปลของดิฉันคือถ้าเจอศัพท์หรือไวยากรณ์ที่ไม่รู้จะไม่เดา ต้องตรวจเช็กทันที ดูทั้งพจนานุกรม คลังศัพท์ และถามผู้รู้ ตอนที่ทำงานแปล แฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็ได้บทเรียนมามากทีเดียวค่ะ

เด็กที่โตมาช่วงทศวรรษ 1990 มักบอกว่าตัวเองโตมากับ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ในฐานะนักแปลที่ใกล้ชิดกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ส่งผลอย่างไรต่อชีวิตของคุณ

          ได้อาศัยเกาะหางไม้กวาดของแฮร์รี่ทะยานขึ้นฟ้าด้วยน่ะสิคะ ดิฉันเขียนหนังสือเด็กมานานแต่เพิ่งจะโด่งดังก็เพราะได้แปล แฮร์รี่ พอตเตอร์ นี่แหละค่ะ ทำให้ดิฉันเป็นที่รู้จักในแวดวงวรรณกรรมเด็กและเยาวชน ดิฉันยินดีมากกับกระแสความนิยม และ แฮร์รี่ ก็ทำให้อาชีพนักแปลเป็นอาชีพที่น่าสนใจขึ้นมาด้วย

          ที่ดิฉันชื่นใจมากคือได้มีโอกาสทำงานกับบรรณาธิการเก่งๆ และได้พบปะกับแฟนๆ ชาวไทยของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้เห็นความสามารถของเด็กรุ่นที่โตมากับแฮร์รี่ ในการจัดตั้งเว็บไซต์ จัดงานกิจกรรมต่างๆ ที่ต่อยอดมาจากวรรณกรรม พวกเขาเป็นแฟนพันธุ์แท้ของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ จริงๆ

สุมาลี บำรุงสุข: นักแปลผู้แนะนำ ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ ให้นักอ่านชาวไทยได้รู้จัก
Photo: สุมาลี บำรุงสุข

ก่อนหน้าจะมี แฮร์รี่ พอตเตอร์ แวดวงวรรณกรรมเยาวชนทั้งในไทยและอังกฤษเป็นอย่างไร

          ก่อน แฮร์รี่ พอตเตอร์ จะโด่งดัง วงการวรรณกรรมเยาวชนของอังกฤษก็คึกคักพอสมควร มีหนังสือสำหรับเยาวชนออกมาไม่น้อยเพราะเขาสนับสนุนการอ่าน มีห้องสมุดสาธารณะเป็นจำนวนมากที่เป็นลูกค้าประจำของหนังสือเยาวชน แต่จำนวนขายก็ไม่ได้มากมายเหมือน แฮร์รี่ พอตเตอร์ กลุ่มลูกค้าที่อ่านส่วนมากก็เป็นเด็กและเยาวชนเท่านั้น ผู้ใหญ่ไม่ค่อยสนใจอ่าน ไม่เหมือนหนังสือชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่อ่านกันได้ทั้งครอบครัว

          ส่วนในไทย เท่าที่รู้คือช่วงนั้นวรรณกรรมเยาวชนยังมีไม่มาก จำนวนจำหน่ายก็ไม่สูง และงานวรรณกรรมเยาวชนส่วนใหญ่เป็นงานแปล งานเขียนที่โด่งดังมากในยุคนั้นคือ จ้อนกับแดง ของ ก.ศยามานนท์, โลกของหนูแหวน ของ อนุช อาภาภิรม, เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก ของ ทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, แก้วจอมแก่น แก้วจอมซน ของ แว่นแก้ว, เรื่องของม่าเหมี่ยว ของดิฉันเอง และ ความสุขของกะทิ ของ งามพรรณ เวชชาชีวะ ส่วนใหญ่แล้วเป็นหนังสือสำหรับเด็กประเภทนิทานภาพ และเยาวชนส่วนมากก็อาศัยอ่านหนังสือสำหรับผู้ใหญ่กันมากกว่า

          ตอนนั้นแวดวงวรรณกรรมเยาวชนในไทยยังไม่คึกคักเท่าไร เพราะตอนดิฉันเขียนจดหมายมาบอกคุณสุวดี จงสถิตย์วัฒนา ผู้ก่อตั้งนานมีบุ๊คส์ให้ซื้อลิขสิทธิ์หนังสือชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ ดิฉันยังรับประกันกับเธอว่าอย่างน้อยต้องขายได้เป็นหมื่นเล่ม ซึ่งเวลานั้นหนังสือขายดีก็จะขายได้ราวๆ 5,000 เล่มค่ะ

ความพิเศษของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่จับใจคุณจนอยากหยิบมาแปลให้เด็กไทยอ่านคืออะไร

          ความสนุกน่ะสิคะ อ่านแล้ววางไม่ลงเลย ไม่ใช่สนุกแบบอ่านเพลินๆ แต่อ่านแล้วต้องขบคิดตามไปด้วย เพราะมีปมปัญหาให้ลับสมองและ เจ.เค. โรว์ลิง ก็มีจินตนาการที่ล้ำลึกในการสร้างโลกมหัศจรรย์ให้คนอ่านได้ท่องเที่ยวตามไปด้วยได้ พอดิฉันอ่านจบเล่ม 1 แล้วต้องรีบไปหาเล่ม 2 มาอ่านต่อทันทีด้วยความอยากรู้เรื่องต่อ สนุกแบบนี้ก็ต้องอยากให้เด็กไทยได้อ่านด้วยแน่นอน

          นอกจากความสนุก หนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ยังสอนคติธรรมดีๆ ให้กับผู้อ่านด้วยค่ะ เป็นคุณธรรมที่ดิฉันเห็นด้วย นั่นคือการรักเพื่อน ช่วยเหลือกัน ไม่รังแกกลั่นแกล้งกัน ไหนจะสอดแทรกเรื่องความกล้าหาญ การกล้าตั้งคำถาม กล้าที่จะแตกต่างจากผู้อื่นด้วย

แฮร์รี่ พอตเตอร์ แตกต่างกับวรรณกรรมเยาวชนเรื่องอื่นๆ ในตลาดอย่างไร

          ในเวลานั้นไม่มีงานเขียนในลักษณะเดียวกับ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เลยค่ะ นักเขียนวรรณกรรมเยาวชนที่มีชื่อเสียงในช่วงนั้นก็มี แจ็กเกอลีน วิลสัน (Jacqueline Wilson, The Story of Tracy Beaker) ซึ่งแต่งเรื่องชีวิตเด็กสมัยปัจจุบัน วิเคราะห์ปัญหาในครอบครัวเก่งมาก แต่ไม่ใช่เรื่องลึกลับซับซ้อน หรืออย่าง โรอัลด์ ดาห์ล (Roald Dahl, The Witches, Matilda) เป็นนักแต่งเรื่องชั้นเยี่ยมแต่เรื่องก็ไม่ใช่แฟนตาซีลึกลับ พล็อตซับซ้อนแบบ แฮร์รี่

          แฮร์รี่ พอตเตอร์ กลายเป็นตำนานได้ เพราะ เจ.เค. โรว์ลิงเก่งมากในการประสานนวนิยายหลายๆ แบบเข้าด้วยกัน ให้ถูกใจผู้อ่านกับรสชาติอันหลากหลาย แฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นนิยายแฟนตาซีพาฝัน นำเสนอเรื่องโลกพ่อมดแม่มด เวทมนตร์ แต่ยังเล่าเรื่องชีวิตโรงเรียนประจำของอังกฤษ เรื่องของเด็กกำพร้าที่ได้ดี เรื่องลึกลับสืบสวนซ่อนเงื่อน เรื่องของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แถมมีเรื่องขำๆ และโรแมนติกน้อยๆ รวมอยู่ด้วย เรียกว่าคนอ่านชอบเรื่องทำนองไหนก็เจอได้ใน แฮร์รี่ พอตเตอร์ หมด

อะไรทำให้คุณมั่นใจว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์ จะถูกใจนักอ่านคนไทย

          ดิฉันเห็นกระแสนิยมของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ จากห้องสมุดสาธารณะในอังกฤษ มีคนเข้าคิวจองอ่านหนังสือกันยาวเลยทีเดียว และคนที่รอคิวไม่ไหวก็ต้องควักกระเป๋าซื้อมาอ่าน เวลานั้นเป็นช่วงโลกาภิวัตน์แล้ว ประเทศไทยเองเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกกว้างขวางผ่านสื่อภาพยนตร์ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต วรรณกรรมตะวันตกไม่ใช่สิ่งแปลกแยกแตกต่างจากวัฒนธรรมไทย ดิฉันจึงมั่นใจว่าหนังสือที่นิยมกันมากในอังกฤษก็น่าจะเป็นที่นิยมของนักอ่านเยาวชนไทยด้วย

สุมาลี บำรุงสุข: นักแปลผู้แนะนำ ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ ให้นักอ่านชาวไทยได้รู้จัก

ความท้าทายของการแปล แฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่แตกต่างจากงานแปลหนังสือเล่มอื่นคืออะไร

          เนื่องจากเป็นหนังสือชุด ผู้แปลและบรรณาธิการจึงต้องมีบัญชีชื่อตัวละคร ชื่อคาถา คำสาป ชื่อสัตว์ ต่างๆ เพื่อตรวจสอบความสม่ำเสมอในการใช้คำ ที่สำคัญคือมีบางคำที่ต้องแปลอย่างระมัดระวัง เพราะผู้แต่งซ่อนเงื่อนงำไว้ในเรื่อง ยกตัวอย่างจดหมายที่ ร.อ.บ. เขียนถึงจอมมารที่อยู่ในล็อกเกต จากเล่ม เจ้าชายเลือดผสม ในต้นฉบับภาษาอังกฤษเขียนว่า I ในภาษาไทยเราต้องเลือกใช้คำสรรพนามที่เหมาะสมระหว่างฐานะของผู้เขียนกับจอมมารด้วย ผู้แปลกับ บ.ก. จึงได้พยายามติดต่อถาม เจ.เค. โรว์ลิง ผ่านตัวแทนของเธอว่าผู้เขียนจดหมายเป็นเพศใด แต่เธอไม่ตอบ เราก็ต้องเลือกใช้คำว่า ข้า ซึ่งย่อจากข้าพเจ้าแทน เพราะไม่รู้สถานภาพของผู้เขียนกับจอมมารและไม่รู้เพศของเขา

          ความสนุกของการแปล แฮร์รี่ พอตเตอร์ คือ เจ.เค. โรว์ลิง  คิดคำศัพท์ใหม่ๆ ขึ้นมา ทางผู้แปลก็ต้องคิดคำที่เหมาะสมมาใช้ เช่น Howler แปลว่า จดหมายกัมปนาท, Polyjuice แปลว่า น้ำยาสรรพรส เป็นต้น

นอกจากการแปลเพื่อให้คนใช้อีกภาษาอ่านรู้เรื่อง หลายคนมองว่าการแปลเป็น political act ในความหมายว่าเป็นการแปลชุดความคิดจากภาษาหนึ่งไปสู่อีกวัฒนธรรม คุณมองเรื่องนี้อย่างไร และมีแนวคิดไหนใน แฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่คุณคิดว่าถูกส่งต่อให้นักอ่านชาวไทยบ้าง

          เป็นคำถามที่ต้องตรึกตรองมากเลยค่ะ เห็นด้วยว่าการแปลงานภาษาต่างชาติย่อมเป็นการนำความคิดจากวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามาสู่วัฒนธรรมของเราด้วย เห็นได้ชัดจากการแปลวรรณกรรม รามายณะ ของอินเดีย และ สามก๊ก ของจีนที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมไทยอย่างลึกล้น

          สำหรับเรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์ ดิฉันคิดว่าวัฒนธรรมที่เรารับมาจากเรื่องนี้คือเรื่องของการยอมรับว่าเด็กสามารถท้าทายอำนาจของผู้ใหญ่ได้ แฮร์รี่และเพื่อนสนิท มีเหตุผลที่สมเหตุสมผลที่จะสงสัย ไม่ยอมรับอำนาจของอาจารย์บางคนหรือสถาบันการเมืองซึ่งก็คือกระทรวงเวทมนตร์ หนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ นี้สอนเด็กให้มีสัมมาคารวะ ในขณะเดียวกันให้กล้าที่จะถามเหตุผลจากผู้ใหญ่ ไม่ใช่การยอมรับเชื่อฟังโดยไม่มีข้อโต้แย้ง เจ.เค. โรว์ลิง สะท้อนความเห็นของคนอังกฤษส่วนใหญ่ในเวลานั้นที่ไม่เชื่อใจนักการเมืองและผู้มีอำนาจอย่างเต็มที่ แต่ขณะเดียวกัน เจ.เค. โรว์ลิง ยังสนับสนุนศีลธรรม ความเชื่อทางศาสนา และให้ความหวังกับเยาวชนคนอ่านว่า ด้วยความกล้าหาญและปัญญา สามารถแก้ไขสถานการณ์เลวร้ายให้ดีขึ้นได้

          ตอบแบบนี้แล้วก็นึกห่วงอยู่บ้าง หวังว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์ จะไม่กลายเป็นหนังสือต้องห้ามนะคะ เพราะสอนให้เด็กหัดตั้งคำถามและแสวงหาเหตุผล ไม่ใช่เชื่อฟังผู้ใหญ่ทุกคำพูด ดิฉันเองก็ไม่เห็นด้วยกับการจัดทำรายการหนังสือต้องห้ามหรือการเผาหนังสือทิ้งเลยค่ะ คิดว่าสังคมเราควรสอนผู้อ่านให้ใช้สติปัญญาไตร่ตรองในการอ่าน ไม่ใช่เชื่อทุกอย่างที่อ่าน ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับความเห็นที่แตกต่างออกไปด้วย การปิดกั้นความหลากหลายทางความคิดก็เท่ากับการสกัดกั้นการเติบโตงอกงามทางปัญญา

หลังจากได้วางขาย หนังสือชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ ส่งผลต่อวงการวรรณกรรมอย่างไรบ้าง

          วรรณกรรมเยาวชนเบิกบาน มีงานวรรณกรรมเยาวชนเพิ่มมากขึ้นทั้งในอังกฤษ สหรัฐ และไทย ช่วงที่ แฮร์รี่ พอตเตอร์ โด่งดังหรือช่วงที่เล่มใหม่ออก เวลาดิฉันเดินทางไปไหนก็จะเห็นทั้งเด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ นั่งอ่าน แฮร์รี่ พอตเตอร์ ทำให้การอ่านหนังสือไม่ใช่เรื่องของคนเชยๆ แต่ต้องอ่านเพื่อจะได้ทันสมัย คุยกับเพื่อนรู้เรื่อง

          ดิฉันคิดว่าปัจจัยของความสำเร็จของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ มี 3 ประการด้วยกัน หนึ่ง-หนังสือชุดนี้ดีมาก สนุกสนาน สนองต่อความต้องการของผู้อ่านต่างวัฒนธรรม สอง-บริษัทนานมีบุ๊คส์เองมีวิธีการโฆษณาและประชาสัมพันธ์หนังสือชุดนี้อย่างเยี่ยมยอด ทั้งจัดงานต่างๆ ที่ให้ความรู้และความสนุกสนานกับผู้อ่าน ทำให้ผู้ปกครองและเยาวชนตื่นตัวและสนใจตามกระแสต่างประเทศด้วย สาม-หนังสือชุดนี้พิมพ์ออกมาจำหน่ายในยุคที่ไทยเข้าสู่โลกาภิวัตน์พอดี ผู้อ่านไทยพร้อมรับพร้อมเข้าใจเนื้อหาและความหมายต่างๆ ที่อยู่ในหนังสือชุดนี้ได้ดี หนังสือเปิดโลกกว้างให้พวกเขา แต่ไม่ใช่โลกใหม่ที่แตกต่างจนยากจะเข้าใจได้

ความสำเร็จของหนังสือชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ ในไทยเกินความคาดหมายของคุณไหม

          เกินความคาดหมายของดิฉันแน่นอนค่ะ ดังที่บอกไว้ในตอนต้นว่าเมื่อส่งข่าวเรื่องหนังสือเล่มนี้ถึงคุณสุวดี ดิฉันรับประกันว่าหนังสือต้องขายดีอย่างน้อยหมื่นเล่ม แต่ในที่สุดหนังสือชุดนี้ขายดีมาก รวมทั้งหมดแล้วน่าจะเกินแสนเล่ม

          ดิฉันอยู่ในต่างประเทศจึงไม่ได้ใกล้ชิดกับผู้อ่านไทยมากนัก แต่เท่าที่ได้เจอแฟนๆ ในงานเปิดตัวหนังสือนั้น เด็กๆ ที่ได้เจอกันมักจะบอกว่าเป็นแฟนแฮร์รี่ แฮร์รี่ทำให้กล้าอ่านหนังสือเล่มอื่นที่ไม่ใช่การ์ตูนแล้ว ทำนองนี้ ซึ่งเด็กเหล่านี้ก็เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่คนทำงานที่รับผิดชอบและมีความคิดสร้างสรรค์ด้วยค่ะ

วันนี้ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับภาษาไทยมีอายุมากกว่า 20 ปีแล้ว ปัจจุบันก็มีสื่อบันเทิงรูปแบบใหม่มาดึงความสนใจเด็กๆ จากหนังสือเกิดขึ้นมากมาย คุณคิดว่าในยุคนี้วรรณกรรมยังเป็นสิ่งจำเป็นอยู่ไหม

          จำเป็นตลอดกาลค่ะ เพราะว่าวรรณกรรมทั้งหลายตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ทั้งความสนุกเพลิดเพลิน ความรู้ ประเทืองอารมณ์ เพียงแต่ว่าวรรณกรรมนั้นจะออกมาในรูปแบบใด เป็นหนังสือเล่ม หนังสืออีบุ๊ก หนังสือเสียง งานการ์ตูน กราฟิกบุ๊ก บทภาพยนตร์ บทละครทีวี หรือแม้แต่เกมคอมพิวเตอร์ต่างๆ ก็ต้องใช้บทหรืองานเขียนสคริปต์เป็นพื้นฐาน 

          นิทาน เรื่องเล่า วรรณกรรมเด็กและเยาวชน เป็นการสร้างความเพลิดเพลินและให้คติสอนใจให้ผู้เยาว์ได้สะดวก และไม่มีค่าใช้จ่ายในการจัดทำสูงนัก แถมยังสามารถเข้าถึงคนได้ทุกแห่ง ต้องยอมรับว่าการสอนหรือการกล่อมเกลานิสัยผ่านนิทานและเรื่องเล่าที่ใช้ภาษาเหมาะกับวัยของผู้อ่านนั้นมีผลดีและฝังรากลึกในจิตใจของผู้เยาว์จริงๆ เหมือนสุภาษิตของชาติสโลวักที่บอกว่า ‘Tell me what you read and I will tell you who you are. บอกฉันสิว่าเธออ่านหนังสืออะไร แล้วฉันจะบอกเธอได้ว่าเธอเป็นคนอย่างไร’

สุมาลี บำรุงสุข: นักแปลผู้แนะนำ ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ ให้นักอ่านชาวไทยได้รู้จัก
Photo: สุมาลี บำรุงสุข

ถ้ามีคนที่อยากเป็นนักเขียนหรือนักแปลรุ่นใหม่มาขอคำแนะนำเรื่องการทำงานสายอาชีพนี้ คุณจะแนะนำเขาว่าอย่างไร

          เขียนและแปลเรื่องที่ตนสนใจ พอใจ ศึกษาค้นคว้าให้ละเอียดถี่ถ้วน และต้องติดตามความก้าวหน้าข่าวสารอย่างใกล้ชิด ให้ทันสมัย อย่าดูถูกคนอ่าน ขยันทำงานสม่ำเสมอค่ะ ยิ่งเขียนยิ่งแปลมากเท่าไรก็จะยิ่งฝึกปรือฝีมือให้เก่งขึ้นมากเท่านั้น

          ดิฉันสังเกตว่าคนที่เป็นนักเขียนเก่งๆ และมีคนชื่นชอบมาก ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีมุมมองกว้างไกล เห็นแง่มุมความคิดที่แตกต่างหลากหลายได้ดี มีความเข้าใจมนุษย์สูง สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความนึกคิดของคนต่างๆ ได้ชัดเจน ฝึกเป็นคนมองกว้างไว้นะคะ

คุณอยากเห็นอนาคตของวงการหนังสือเป็นอย่างไร

          แน่นอนว่าอยากให้คนไทยรักการอ่าน เพราะการอ่านช่วยเปิดโลกกว้างในราคาย่อมเยา อยากให้มีการจัดพิมพ์จัดทำหนังสือหลากหลาย ทั้งสารคดี วิชาการ และบันเทิง ทำเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หนังสือเสียงก็ได้ ไม่เกี่ยง และอยากให้มีห้องสมุดสาธารณะดีๆ ให้บริการในทุกหมู่บ้านในประเทศไทย มีทั้งหนังสือ อีบุ๊ก หนัง เพลง เกม ให้คนยืมได้ ให้ห้องสมุดมีมุมสำหรับเด็กเล็กมาใช้บริการด้วย ฟังนิทาน ร้องเพลง ทำกิจกรรม ปลูกฝัง
ให้เด็กเข้าห้องสมุดเป็นประจำ

          ดิฉันมองว่าห้องสมุดสาธารณะคือลูกค้ารายใหญ่ของสำนักพิมพ์ ถ้าทั้งสองสถาบันสามารถช่วยเหลือกันก็คงจะทำให้การอ่านเจริญได้

สุมาลี บำรุงสุข: นักแปลผู้แนะนำ ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ ให้นักอ่านชาวไทยได้รู้จัก
Photo: สุมาลี บำรุงสุข


เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ‘Readtopia ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศการอ่านของไทย’ (2566)


ที่มา

Cover Photo: สุมาลี บำรุงสุข

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก