ส. ศิวรักษ์ เป็นนามปากกาของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ผู้มีชื่อเสียงทั้งในและนอกประเทศ เขาเกิดเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2476 ซึ่งในปีนี้จะมีอายุครบ 91 ปี
หลายคนบอกว่า เขาคือนักคิด นักเขียน คือปัญญาชนสยามที่ยังมีชีวิตอยู่ คือผู้อุทิศตนเพื่อความยุติธรรมในสังคม ผ่านผลงานเขียนหลายร้อยเล่มที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ การเมือง และศาสนา ทุกวันนี้สุลักษณ์ก็ยังคงมีหนังสือเล่มใหม่ออกมาอย่างสม่ำเสมอ แม้กระทั่งร้านหนังสือ เคล็ดไทย ร้านหนังสือ ศึกษิตสยาม จนถึงสำนักพิมพ์ เคล็ดไทย ก็ล้วนเกิดขึ้นมาจากเจตนารมณ์ของเขา
ก่อนการสนทนาจะเริ่มต้นขึ้นในแต่ละครั้ง เขามักจะขอชื่อและเบอร์ติดต่อของผู้มาสัมภาษณ์ราวกับเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ บทสนทนานี้เริ่มต้นในช่วงสายของวันเดียวกัน เป็นบทสนทนาที่ว่าด้วยการอ่าน หนังสือ สำนักพิมพ์ และประวัติศาสตร์
เห็นคุณอ่านหนังสือมามาก อยากทราบว่าคุณเริ่มอ่านมาตั้งแต่ตอนไหน
ผมเริ่มอ่านหนังสือตั้งแต่ตอนบวชเณร อายุประมาณ 12-13 ก่อนนั้นผมไม่ชอบอ่านหนังสือ โดยเฉพาะโรงเรียนบังคับให้อ่าน ผมเบื่อ ก็เลยไม่ชอบ พี่น้องผมเขาชอบอ่าน พล นิกร กิมหงวน (สามเกลอ) ของ ป. อินทรปาลิต (ปรีชา อินทรปาลิต) ซึ่งผมไม่ชอบเลย
ขณะไปบวชเณรโดยบังเอิญ ได้อ่านเรื่อง ไทยรบพม่า ของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผมเลยติดใจ ก็เลยเป็นแฟนท่านเรื่อยมาจนบัดนี้ ท่านมีอิทธิพลกับผมมาก ผมอ่านงานของท่านเกือบจะทุกเล่มแล้วมั้ง ผมเคยไปทำปริญญาเรื่อง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ด้วยซ้ำไป
หนังสือแนวชีวประวัติบุคคล คุณได้อะไรจากการอ่านหนังสือประเภทนี้
ประวัติบุคคลที่ฝรั่งเขียนเขาให้แทบจะทุกแง่มุม แต่ประวัติบุคคลที่คนไทยเขียน มันจะเชียร์อยู่ท่าเดียว โดยเฉพาะหนังสืองานศพ คนตายเกือบไม่มีอะไรบกพร่อง แต่ฝรั่งเขาดีมาก เขาขุดคุ้ยได้หมดแม้แต่ทายาทเขาก็ยินดีเปิดเผย เช่น เขานอกใจเมียยังไง เขามีชู้ยังไง เขานอนกับใครที่ไหนบ้าง ผมได้ประโยชน์จากการอ่านหนังสือประวัติ โดยเฉพาะที่ฝรั่งเขียนดีๆ นะ ที่เขียนไม่ดีก็ไม่ได้เรื่องเหมือนกัน
ทราบมาว่าสมัยเด็กๆ คุณเคยทำนิตยสารยุววิทยา อยากให้เล่าประวัติความเป็นมาสักหน่อย
ตอนนั้นผมเบื่อไง อยู่โรงเรียนอัสสัมชัญ ครูสอนน่าเบื่อ และสิ่งที่เขาสอนก็น่าเบื่อ ผมก็เลยหาเรื่องสนุกๆ ด้วยการเขียนหนังสือ สมัยก่อนนี่พิมพ์ดีดมันหายากนะ ก็ต้องหาเพื่อนที่ลายมือสวยๆ มาเขียนด้วยลายมือ แล้วก็ให้ไปอ่านกันนอกบ้าน ไม่ให้อ่านในโรงเรียน แต่ทีนี้บางคนดันเสือกเอาไปอ่านในโรงเรียนแล้วถูกจับได้ สรุปว่าออกมาแค่ 5 ฉบับก็ถูกปิด
นิตยสารยุววิทยา เป็นนิตยสารแนวไหน
ตอนนั้นเริ่มมีหอสมุดของพวกยูซิส (USIS: United States Information Service หรือ สำนักข่าวสารสหรัฐอเมริกา-ผู้เขียน) มาเปิดอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียน ตอนนั้นที่โรงเรียนไม่มีห้องสมุด ครูก็เลยสอนให้ท่องจำอย่างเดียว ด้วยความที่ผมเป็นคนแปลกแหวกแนว ที่เขาสอนมันไม่ได้เรื่อง ผมก็เสนอ เช่น ควรเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เช่น ตู้ไทยลายกนกต่างๆ แล้วเราก็จะได้ความรู้ ผมก็เสนอให้เรียนรู้จากพวกนี้ เสนอเป็นบทความ ส่วนใครอยากเขียนนวนิยายก็เขียนนวนิยาย ใครอยากเขียนเรื่องสั้นก็เขียนเรื่องสั้น ใครอยากเขียนบทความก็เขียนบทความ ผมเองก็เขียนบทความด่าครูไป 2 ครั้ง มันก็เลยเกิดเรื่องขึ้น
นิตยสารเล่มนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
เปลี่ยนแปลงสำคัญเลย เพราะถือเป็นครั้งแรกที่ผมถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ตอนนั้นผมอยู่ ม.6 ครูบอกว่าถ้าไม่เอาผมออกจากโรงเรียน เขาจะลาออก เรื่องไปถึงอธิการฯ ซึ่งเป็นครูฝ่ายปกครอง ท่านก็เรียกไปให้อ่านให้ฟัง พอผมอ่านเสร็จก็บอกว่า โห พวกเอ็งนี่ทรมานคนแก่ แต่ท่านก็ชมว่ามีอะไรดีๆ หลายอย่างที่แหวกแนวไปจากสมัยนั้น
ผมก็บอกว่าที่ผมด่านี่เป็นความจริง ครูคนนี้เลวร้ายจริงๆ ท่านก็บอกว่า ไอ้ความจริงบางอย่างเนี่ย มันพูดไม่ได้นะ ต้องหัดเอาไว้ถ้าเป็นนักเขียนต่อไปข้างหน้า ท่านก็แนะนำดี ท่านเทศน์ผมนาน สุดท้ายก็ไม่ให้ออกจากโรงเรียน ส่วนครูคนนั้นก็ไม่ได้ลาออกเหมือนกัน
วันเวลาผ่านไป คำว่า ความจริงบางอย่างมันพูดไม่ได้ คุณว่าท่านอธิการฯ เขาพูดถูกไหม
เป็นคำเตือนสติที่ดีนะ แต่ผมไม่เชื่อท่านจนบัดนี้ เพราะผมเป็นคนที่ติดคุกหลายหนไง ถ้าผมเชื่อท่านคงไม่ติดคุกหรอก (หัวเราะ) คือผมพูดในสิ่งที่คนเขาไม่กล้าพูดกัน ก็เป็นมาตลอดตั้งแต่เด็กจนเดี๋ยวนี้แก่เต็มทีก็ยังไม่เลิกนิสัยนี้
เห็นอะไรในการเล่าเรื่องที่คนไม่กล้าพูดกัน ทำไมคุณถึงกล้าออกมาพูด กล้าออกมาเขียน
พระมหากษัตริย์นี่เป็นเรื่องสำคัญเลย คนเขาไม่ค่อยกล้าพูด หรือแม้แต่เรื่องศาสนาก็เหมือนกัน คนส่วนมากในตอนนั้นมีความรู้น้อย ผมก็พยายามจะอธิบายเรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ผ่านการพูด การเขียน
เห็นว่าบทความแรกที่คุณเขียนเกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนา
ตอนนั้นมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย* เขาออกวารสารชื่อ พุทธจักร แข่งกับฝ่ายมหามกุฏราชวิทยาลัย** ซึ่งออกหนังสือชื่อ ธรรมจักษุ ผมเห็นมีหนังสือออกใหม่ ก็เลยอ่านแล้วเขียนไปให้เขาพิมพ์ ซึ่งเขาก็พิมพ์ให้ ตอนนั้นอยู่ ม.5 เองนะ บทความชิ้นแรกที่ผมเขียน
คุณมีวิธีหาประเด็นทางวิชาการจากไหนเพื่อเอามาเขียน
เรารู้แค่ไหนก็เขียนเท่านั้น ไม่เขียนเกินความรู้ อย่างงานเขียนชิ้นแรกของผมต้องย้อนกลับไปตอนที่วงการสงฆ์ออกวารสารชื่อพุทธจักร มีฆราวาสคนหนึ่งชื่อ คุณฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ที่ตอนหลังเขามีชื่อเสียงมาก เขาเป็นโหร ออกหนังสือรายปักษ์ชื่อ ปาริชาต เป็นหนังสือของพวกฝ่ายขวา ขณะที่คุณสุภา ศิริมานนท์ ออกหนังสือฝ่ายซ้ายชื่อ อักษรสาส์น
ตอนนั้นผมไม่ได้อ่านฝ่ายซ้าย อ่านแต่ฝ่ายขวา คุณสุกิจ นิมมานเหมินท์ ซึ่งตอนนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เขาหมั่นไส้ว่าไอ้หนังสือปาริชาต นี่มันชอบเขียนเอาเรื่องคนโบราณ บางครั้งเขาก็เขียนมาเล่นงานปาริชาต ว่าเก็บเศษคนโบราณ เชี่ยวชาญการเอาตำรามาด่าพวกที่ยกย่องคนโบราณ เขาบอกว่าพวกนี้หลับหูหลับตายกย่องกรมสมเด็จพระยาดำรงฯ ที่บอกว่าศรีวิชัยอยู่ที่นครปฐม แต่จริงๆ มันไม่ใช่ ศรีวิชัยมันอยู่สุมาตรา ผมเป็นแฟน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ก็เลยยัวะ ตอนนั้นกำลังขึ้น ม.6 ผมก็เขียนโต้ตอบบ้าง
บรรณาธิการพุทธจักร ได้อ่านบทความที่ผมเขียนขึ้นมาแต่ยังไม่เคยเผยเเพร่ที่ไหน เขาตื่นเต้นมาก เชียร์มากเลย สุดท้ายบทความผมก็ได้ลงครั้งแรกที่วารสารพุทธจักร ในชื่อเรื่อง ภายในดินแดนพุทธจักร ส่วนในปีต่อมาก็นำบทความที่เคยเขียนลงในปาริชาต เป็นบทความชื่อ เก็บอิฐสมัยใหม่เข้าใจเกินตำรา เป็นการเขียนตอบโต้ที่บรรณาธิการพุทธจักร เคยอ่านปาริชาต นี่ก็เป็นหนังสือที่เขาถือว่าคนมีความรู้มาเขียน จิตร ภูมิศักดิ์ เขาก็เขียนนะ ตอนนั้นเขายังไม่ได้เป็นฝ่ายซ้าย
ตอนนั้นที่คุณเขียนเรื่องศาสนา เกิดผลกระทบอะไรตามมาบ้าง
ก็ไม่มีอะไรมากหรอก เพราะว่ามันทะเลาะกันเล็กๆ น้อยๆ ไม่ใช่เรื่องการบ้านการเมือง แต่ทะเลาะกันเรื่องวิชาความรู้ ผมเป็นเด็กมันก็เลยดัง แต่สำหรับผู้ใหญ่เขาก็คงอ่านแล้วก็ เออ ไอ้นี่ก็เข้าทีดี เท่านั้นเอง ไม่มีอะไรพิเศษพิสดารหรอก
อยากให้เล่าถึงวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ว่ามีความเป็นมาอย่างไร
สังคมศาสตร์ปริทัศน์ มันเกิดขึ้นเพราะเหตุว่า อเมริกันเข้ามามีอิทธิพลในเมืองไทยมาก เพราะว่าไทยเป็นประเทศที่ด้อยพัฒนาและเป็นบริวารของอเมริกัน อเมริกันเขามาค้าขายทำกำไร กำไรนั้นเขาก็คืนให้ประเทศนั้นไป แต่เขาคืนเท่าไรเราก็ไม่รู้นะ เขาเรียกว่า public law ที่อเมริกาเอาดอลลาร์คืนให้เมืองไทยนี่ก็คืนให้ปีละหลายล้าน ส่วนมากก็ให้ทหารไทย เพราะอเมริกันมันเล่นกับทหารไทยอยู่
พอปี 2500 ไม่แน่ใจว่า สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะขึ้น หรือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะลง อเมริกามันก็เลยเอาเงินมาให้สมาคมทางวิชาการ มันบอกว่าเมืองไทยไม่มีสมาคมทางวิชาการเลย จะมีก็แห่งเดียวคือ ‘สยามสมาคม’ ซึ่งส่วนมากเป็นของพวกเจ้า ของพวกฝรั่ง มันก็จะนำเงินมาให้สยามสมาคม ซึ่งตอนนั้นพระองค์วรรณฯ (พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์-ผู้เขียน) ท่านเป็นรองนายกฯ ก็ไม่ได้รับเงินอเมริกัน ท่านเลยเสนอให้ตั้งสมาคมใหม่คือ ‘สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย’ เพราะเห็นว่าทางวิชาการนี่เราจะต้องเน้นวิทยาศาสตร์ เน้นสังคมศาสตร์ ซึ่งเป็นของใหม่ในเวลานั้น สมาคมนี้ก็ไปเชิญพระองค์วรรณฯ มาเป็นนายกสมาคม โดยมี เกษม อุทยานิน เป็นอุปนายกสมาคม
เกษมเขาก็ดึงเอาสมาคมสังคมศาสตร์ฯ มาตั้งที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ พวกไอ้กันมันบอกสมาคมนี้จะต้องพลิกตำราเรียนเมืองไทย สมัยนั้นไม่มีตำราเรียนเลยแม้กระทั่งมหาวิทยาลัย อาจารย์ก็แค่บอกคำให้นักเรียนจดเท่านั้น ไอ้กันมันอยากให้มีนักเรียนแบบอเมริกันว่างั้นเถอะ ทีนี้ก็หาคนมาเป็นผู้อำนวยการสำนักพิมพ์นี้ เขาหาใครไม่ได้ เขาก็มาหาผมเพราะผมเพิ่งกลับจากเมืองนอก สมัยนั้นคนส่วนใหญ่เขาอยากเป็นข้าราชการเพราะมันมั่นคง ไม่ถูกไล่ออก แถมได้บำนาญด้วย แต่ไอ้งานตำแหน่งนี้มันเป็นลูกจ้างเขานี่ เขาจะไล่ออกเมื่อไรก็ได้ เงินเดือนอาจจะแพงหน่อย สุดท้ายผมก็รับเป็นผู้อำนวยการสำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย
ทีนี้ก็มีคณะบรรณาธิการ ซึ่งมี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธาน มีเจ้าคุณอนุมานราชธน, คุณหญิงอัมพร มีศุข, คุณธนิต อยู่โพธิ์ ผมก็เสนอว่า ไอ้การเปิดตำราเมืองไทยไม่เคยทำกัน ที่อเมริกาถ้าคุณไม่เปิดตำราก็ไม่สามารถอยู่ได้ เขาเรียกไม่ได้ตำแหน่งประจำ ที่เมืองไทยเขากลัวติดคุกกัน ที่อื่นหากทำเเบบนี้เขาไม่ติดคุกกัน ผมก็เสนอว่าควรจะออกวารสารเพื่อให้พวกอาจารย์หัดเขียนเรื่องสั้นๆ แปลเรื่องสั้นๆ ลงแล้วค่อยทำเป็นเล่มทีหลัง
ตอนนั้นออกนิตยสารอะไรไม่ได้เลยนะ ตั้งแต่ปี 2501 ที่ จอมพล สฤษดิ์ มีอำนาจมา หนังสือพิมพ์ก็ออกใหม่ไม่ได้ ทีนี้สมาคมสังคมศาสตร์ฯ พระองค์วรรณฯ ท่านเป็นรองนายกรัฐมนตรี ผมก็เห็นว่าท่านเป็นคนชอบตั้งชื่อ ก็เลยขอให้ท่านตั้งชื่อหนังสือด้วย ท่านก็ให้ชื่อว่า สังคมศาสตร์ปริทัศน์ พอจดทะเบียนเรียบร้อยก็เอาเข้าที่ประชุม คุณหญิงอัมพรก็เล่นงานผมเลย ท่านบอกว่าคณะกรรมการเขาให้ไปขอให้ท่านช่วยออกหนังสือให้ ไม่ได้ขอชื่อ ผมก็อธิบายว่าท่านโปรดการตั้งชื่อก็เลยเอาพระทัยท่าน คุณหญิงท่านว่าผมทำเกินอำนาจ งั้นผมจะเอาชื่อไปคืนท่าน ท่านผู้หญิงก็บอกว่า ไม่ได้ มันก็เลยเกิดชื่อ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ขึ้นมา ผมกะว่าจะให้พวกอาจารย์มหาวิทยาลัยอ่าน จะได้กระตุ้นให้เขาเขียน แต่ปรากฏว่าพวกนักศึกษามันอ่านกันเป็นแถวผมเลยดังระเบิดขึ้นมาโดยไม่จำเป็น
แล้วร้านหนังสือศึกษิตสยาม มีประวัติความเป็นมายังไง
ย้อนกลับไปสมัยผมทำสมาคมสังคมศาสตร์ฯ เวลาพิมพ์หนังสือมันต้องขาย แต่เราไม่มีร้านขายหนังสือ ก็ต้องไปฝากเขาขาย ตอนแรกผมฝากไว้กับร้านหนังสือชื่อ ก้าวหน้า ที่เขาเช่ากับผม ผมขอให้เขาช่วยวางขาย ก็คิด 50-60 เปอร์เซ็นต์ กว่าจะเก็บตังค์ได้ก็ยาก ผมก็เสนอคณะกรรมการให้มีร้านขายหนังสือ แรกๆ เขาก็ไม่ยอม ทีหลังทนผมตื๊อไม่ได้ เขาก็สร้างเป็นเพิงเล็กๆ ขึ้นมาเพื่อขายหนังสือ บริเวณหน้าสำนักงานซึ่งอยู่ตรงข้ามโรงเรียนอุเทนถวาย ต่อมามีตึกแถวห้องหนึ่งอยู่ตรงข้ามกับวัดหัวลำโพง พวกคนจีนเขากลัวผี ไม่กล้าซื้อห้องนี้ ผมเลยซื้อมาได้ครึ่งราคา สุดท้ายก็ตั้งเป็นร้านศึกษิตสยาม ขายหนังสืออยู่ตรงนั้น ขายมา 20 ปี ที่นั่นก็เลยเป็นที่ชุมนุมคนหัวก้าวหน้าอะไรต่างๆ
ตอนผมมาจัดปริทัศน์เสวนาของสังคมศาสตร์ปริทัศน์ เด็กเขาเขียนหนังสือแล้วก็อยากพบกัน มันก็เลยเป็นที่มั่วสุมแห่งหนึ่ง วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ใบปลิวก็ออกไปจากที่ร้านนี้นี่แหละ ตอนนั้นเราเสนอกันว่าเด็กอยากจะเรียนรู้ประชาธิปไตยให้มาเรียนที่สมาคมนักข่าว (สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย-ผู้เขียน) ทางนั้นเขากลัวก็เลยไม่ให้เรียน ผมก็เอามาเรียนที่ศึกษิตสยาม เพราะฉะนั้นไอ้ 14 ตุลาฯ นี่มันเกิดขึ้นมาจากที่ตรงนี้เอง ส่วนตอนเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 หนังสือของเราก็ถูกยึดไปจนเกือบจะเรียกว่าล้มละลายก็ได้ เคราะห์ดีผมไม่อยู่ ถ้าผมอยู่ก็คงถูกฆ่าไปแล้ว
ในวงเสวนาของสังคมศาสตร์พูดคุยกันเรื่องอะไรบ้าง
แล้วแต่เลย อยากรู้เรื่องอะไรก็ได้ เราเปิดฟรี พวกเด็กๆ ในเวลานั้นที่มีชื่อเสียงในทุกวันนี้ที่มาร่วมด้วย ก็เช่น วิชัย โชควิวัฒน, พิภพ ธงไชย, อุทัย ดุลยเกษม, รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ตอนนั้นสิ่งที่เขาเรียนในมหาวิทยาลัยมันน่าเบื่อไง แต่ที่นี่คุณอยากรู้อะไร เราจัดให้ได้หมด
เผอิญผมได้เปรียบ ผมเป็นนักเรียนอังกฤษ เขาอยากพบ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ตอนนั้นท่านเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผมก็ไปเอามาได้ เขาอยากพบ อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งตอนนั้นเป็นประธานศาลฎีกา ผมก็ไปเอามาได้ อีกนัยหนึ่งมันก็เป็นสถานที่ที่คนรุ่นใหม่อยากจะรู้อะไรก็แสวงหาได้ อยากจะพูดอะไรก็พูดได้เต็มที่ มันเริ่มจาก 5 คน 10 คนเท่านั้นเองนะ
ในเวลาต่อมาที่อื่นก็เอาอย่างเรา เช่น ที่เกษตรศาสตร์ เขาก็ไปตั้งสภากาแฟ ที่ธรรมศาสตร์ เขาก็ตั้งสภาหน้าโดม เอาตัวอย่างไปจากเรานี่แหละ กระบวนการทั้งหมดมันเริ่มจากจุดนั้น
ตอนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ทำให้หนังสือของคุณโดนเผาไปด้วย
ตอนนั้นมันขวาจัดนี่นะ คุณธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรี เห็นว่าจะต้องกำราบปราบซ้ายให้หมด เพราะตั้งแต่หลัง 14 ตุลา 2516 พรรคคอมมิวนิสต์มีอำนาจมากขึ้น ตอนนั้นเรายังไม่รับรองประเทศจีน จีนก็เข้ามาเคลื่อนไหวในนี้ มันก็เลยมีพวกคอมมิวนิสต์ พวกอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้นคุณธานินทร์เขาก็ต้องการปราบคอมมิวนิสต์ให้หมด อะไรที่มีทีท่าเป็นคอมมิวนิสต์ เขาก็จับหมด หนังสือของเรา เช่น กวีนิพนธ์ของ อังคาร กัลยาณพงศ์ ก็ถูกเผา ทั้งที่อังคารแกขวามาก แต่เขาไม่สนใจหรอก หนังสือของผมถูกเผาไปไม่ใช่น้อย
คุณทำอะไรบ้าง หลังจากหนังสือถูกเผา ถูกสั่งห้ามเขียน
ผมก็เขียนจดหมาย องค์การยูเนสโกเขาแนะนำว่าเขียนจดหมายถึงกระทรวงศึกษาธิการว่าควรจะชดใช้คืนผม กระทรวงศึกษาก็ไม่ตอบจดหมาย มันเก็บเข้าแฟ้มเงียบไปเลย ผมพูดอย่างไม่เกรงใจว่าผมถูกรัฐบาลไทยรังแกมาตลอด จนเดี๋ยวนี้ค่อยเบาบางลงไปหน่อย
ในฐานะนักอ่าน คุณคิดว่าการอ่านหนังสือประวัติศาสตร์มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง
ประวัติศาสตร์หรืออะไรก็ตามนะครับ คุณอ่านคุณต้องตีประเด็นให้แตก อย่าเชื่อที่พระพุทธเจ้าท่านสอน กาลามสูตรบอกว่าอย่าเชื่อ ผมถูกจับครั้งล่าสุดตอนไปพูดที่ธรรมศาสตร์เรื่องประวัติศาสตร์ ก็เพราะเราไม่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นในอดีต อย่างพระนเรศวรผ่านมา 500 ปีแล้ว พระราชพงศาวดารบอกว่าท่านทำยุทธหัตถี แต่ในพงศาวดารของทางเพื่อนบ้านกลับบอกว่าโดนพระแสงปืนต้นยิงตาย
ทำไมถึงก่อตั้งร้านเคล็ดไทยขึ้นมา ทั้งที่มีร้านศึกษิตสยามอยู่
อย่างที่ผมบอก เมื่อก่อนเวลาพิมพ์หนังสือออกมา เราก็ไปฝากเขาขาย พอเราตั้งร้านหนังสือเอง เราก็ขายของเราเอง เมื่อเรามีมากขึ้นๆ ก็เลยตั้ง เคล็ดไทย ขึ้นมาเป็นที่วางจำหน่ายหนังสือ ไม่ใช่วางเฉพาะของเรา แต่รับหนังสือจากที่อื่นมาวางขายด้วยแล้วคิดเปอร์เซ็นต์จากเขา นอกจากนี้เราก็มีรถส่งหนังสือไปตามร้านต่างจังหวัด สำนักพิมพ์ที่เขาไว้ใจเรา เขาก็ให้เราจัดการให้ เคล็ดไทยมีหน้าที่ส่งหนังสือไปวางขาย ศึกษิตฯ มีหน้าที่จัดพิมพ์ มันไปด้วยกัน แต่เป็นคนละบริษัท
คุณมีหลายบทบาทที่ต่างกันไป ทั้งเป็นนักเขียน เป็นบรรณาธิการ เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ แต่ละบทบาทมีหน้าที่ต่างกันอย่างไร
นักเขียน เราแสดงเอง แต่บรรณาธิการ เราต้องหาคนอื่นมาแสดงร่วมกับเรา แล้วเราควรจะลดบทบาทให้น้อยลง เพื่อให้คนอื่นแสดงมากขึ้นบรรณาธิการมีหน้าที่รวบรวมเพื่อนำเสนอออกไป ก็ต้องหาทางขายให้ได้ มันต้องไปด้วยกันหมด จากเขียนแล้วก็มาทำ หาคนอื่นมาร่วมเขียน แล้วก็หาทางตีพิมพ์ออกมา เมื่อพิมพ์เสร็จก็ต้องหาทางจำหน่ายให้ได้ ทุกๆ ขั้นตอนมันต้องไปแบบนี้
คุณเห็นอะไรในหนังสือนอกกระแสหลัก
ผมเห็นว่าหนังสือมันควรจะมีทุกอย่างที่คนอยากอ่าน ยิ่งได้เสรีภาพมากเท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้น อย่างสมัยก่อนที่อังกฤษ ถ้าคุณจะเขียนเรื่องเซ็กซ์นี่ไม่ได้เลย กฎหมายอังกฤษเพิ่งมาอนุญาตเมื่อ ค.ศ. 1962 หรือบางเรื่องอย่าง Lady Chatterley’s Lover อังกฤษก็ไม่ให้พิมพ์ ต้องไปพิมพ์ที่ฝรั่งเศส ก็ต้องต่อสู้เรื่อยมาจนเดี๋ยวนี้อังกฤษก็ได้เสรีภาพเต็มที่
แต่สำหรับเมืองไทยนั้นยิ่งกว่าอังกฤษ ฉีกกฎทุกอย่าง แต่ก่อนพูดเรื่องเจ้าก็ไม่ได้ เรื่องพระก็ไม่ได้ ผมก็ต้องขยับไปเรื่อยๆ ยอมติดคุกติดตะรางหลายหน ผมว่าเสรีภาพเราก็ดีขึ้นเรื่อยๆ นะ แต่ก็ยังไม่ดีนัก
นอกจากหนังสือแนวประวัติศาสตร์ ชีวประวัติ เห็นว่าคุณก็นิยมแปลหนังสือแนวปรัชญา ศาสนวิทยา ยกตัวอย่างเช่น แนวความคิดของ ทะไลลามะ คุณเห็นอะไรในหนังสือประเภทนี้
ถ้าจะพูดให้หมั่นไส้ก็คือ ผมจะนำเอาอะไรที่เมืองไทยไม่มีมาให้ ยกตัวอย่างเราเรียนเรื่องตะวันตกกันเยอะ แต่กลับไม่ลงลึกไปที่รากเหง้าของตะวันตก ผมเป็นคนแรกที่นำปรัชญากรีกมาสอน มาแปล มาพิมพ์ขาย อย่างหนังสือชื่อ โสกราตีส นี่พิมพ์ตั้งสิบกว่าหน ก็น่าดีใจอยู่ พระองค์วรรณฯ ซึ่งท่านเป็นนักเรียนอังกฤษมาก่อน ท่านก็เขียนยกย่องมาก อันนี้พยายามอธิบายรากเหง้าตะวันตก
ขณะที่ทางตะวันออกของเรา รากเหง้าที่เราควรจะต้องรู้จักคือ จีนกับอินเดีย ซึ่งสองกระแสนี้มีอิทธิพลกับเรามาก อย่างจีนผมก็แปลประวัติศาสตร์จีน อินเดียผมก็แปลหลายเรื่อง เขียนหลายเรื่อง ยกตัวอย่างพุทธศาสนา เราก็รู้จักเฉพาะบ้านเราอย่างเดียวคือ เถรวาท ทะไลลามะท่านเป็นวัชรยาน พวกนั้นไม่รู้จักกัน เผอิญผมรู้จักท่านก็เลยขอเรื่องท่านมาแปล ตั้งแต่นั้นมาหนังสือเรื่องวัชรยานก็มีคนสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ หรือมหายาน ผมชอบพอ ท่านติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh) ซึ่งเป็นพระนักเขียนทางด้านมหายาน เผอิญท่านชอบผม ผมก็เลยขอผลงานของท่านมาพิมพ์ ต่อมาคนรุ่นใหม่ก็แปลงานของท่านเยอะแยะ จนเกือบจะเรียกได้ว่างานของท่านติช นัท ฮันห์ ทุกชิ้นต้องมีแปลเป็นภาษาไทย
พูดให้หมั่นไส้ ผมเป็นคนแนะนำสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ แบบนี้เข้ามาในเมืองไทย การศึกษานอกกระแส หลักศาสนาพุทธนอกกระแสหลัก โดยเฉพาะศาสนาพุทธเพื่อสังคม เพราะคนส่วนมากนับถือพุทธ เข้าวัดแล้วก็ไม่ทำอะไร ผมมองว่าการเข้าวัดก็เป็นของดี แต่เมื่อจิตสงบแล้วก็ต้องเข้ามารับใช้สังคม ปรับปรุงสังคมให้ดีขึ้นด้วย
การที่เรารู้ที่มาของแนวคิดทั้งตะวันตกและตะวันออก มันมีข้อดีอย่างไรบ้าง
ผมเห็นว่ามันมีประโยชน์นะ โดยเฉพาะคนไทยตอนหลังนี่เราเดินตามตะวันตกอย่างเดียว ผมก็ติฉินว่าเดินตามตะวันตกก็เดินอย่างผิวเผิน ไม่ลึกซึ้ง ผมถึงบอกคุณว่าต้องกลับไปหาราก กลับไปยังวัฒนธรรมกรีกเลยทีเดียว หรือแม้แต่ศาสนาคริสต์ ถ้าเราไม่เข้าใจก็ผิด แม้เราไม่ได้นับถือ แต่ศาสนาคริสต์ก็เป็นสิ่งสำคัญของตะวันตกมาตลอด เพิ่งจะหมดความสำคัญเมื่อ 100 ปีนี่เอง เพราะฉะนั้นเราควรจะรู้จักศาสนาคริสต์ทั้งในแง่บวกแง่ลบ ผมก็พยายามเสนอแนะเรื่องพวกนี้มาตลอด
ทุกวันนี้มีสื่อออนไลน์ออกมาเยอะมาก คุณเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
ผมเห็นว่าเป็นของดีครับ สื่อมีมาก เป็นของดี แต่มากเกินไปก็อาจจะเลอะเทอะกลายเป็นของธรรมดา แต่อันนี้เราไปขีดเส้นมันไม่ได้หรอกว่ามากเกินไปหรือไม่มากเกินไป แต่ผมเห็นว่าเสรีภาพเป็นของสำคัญ แม้คนเขาจะพูดเลอะเทอะไปบ้าง ผมก็บอกดีออก ให้เขาระบาย ผมเองก็มีหลายสื่อโจมตีผม ด่าผม ผมก็ไม่ว่าอะไรเพราะว่าเขาจะได้ระบายออกมาบ้าง ถ้าเขาด่าคนอื่นเขาอาจจะถูกจับ แต่ด่าผมไม่เป็นไรหรอก ผมไม่ว่า
เพราะฉะนั้นผมเห็นว่าการระบาย การแสดงออกเป็นสัญลักษณ์ที่ดีของสังคมที่จะเจริญงอกงาม ถ้าสังคมไม่มีเสรีภาพในการพูด ในการเขียนก็จะเป็นสังคมที่ตายแม้จะร่ำรวย เช่น สิงคโปร์ เป็นเมืองที่รวยที่สุดในเอเชียอาคเนย์ แต่คนสิงคโปร์นี่ผมเรียกว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจนะ เพราะเขาไม่กล้าแสดงความเห็นทางการเมืองเลย
พอมีสื่อออนไลน์มากขึ้น หนังสือยังจำเป็นอยู่ไหม
หนังสือจำเป็นครับ เพราะว่าสื่อออนไลน์มันมาแล้วก็ไป หนังสือยังอยู่กับเรา จะเปิดเมื่อไรก็ได้ แต่คนส่วนใหญ่จะไม่มีเวลาให้หนังสือ เพราะคนสมัยนี้ต้องการความรวดเร็ว ผมเห็นว่าความรวดเร็วก็เป็นคุณและเป็นโทษ บางอย่างเราควรจะช้าๆ บ้าง
ผมมีเพื่อนที่ญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเขาเป็นประเทศที่รวดเร็วมาก รถไฟเขาก็เร็วที่สุดในโลก คนญี่ปุ่นกินอาหารก็กินเร็วที่สุด เพื่อนญี่ปุ่นเขาตั้งสมาคมชื่อ ‘Slow is Beautiful’ ผมมีเพื่อนชาวพุทธที่เขียนหนังสือพุทธที่ดีที่สุด เป็นเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ เขาเขียนว่า ‘Small is Beautiful’ ยิ่งใหญ่เป็นของดี แต่เล็กๆ เป็นของงามกว่า บางคนบอกเร่งๆ เป็นของดี แต่ช้าๆ ก็น่าจะดีกว่า ใช่ไหม อย่างนิทานอีสปไง เต่ายังชนะกระต่ายเลย
อยากให้เล่าถึงหนังสือลอกคราบสังคมไทย ได้ยินมาว่าเป็นหนังสือเล่มแรกที่ทำให้คุณถูกจับ
ลอกคราบสังคมไทย เป็นหนังสือเล่มแรกที่ทำให้ผมถูกจับ โดย พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก จริงๆ เขาหาเรื่องจับผม ทั้งที่หนังสือยังไม่ออกจากโรงพิมพ์เลย อาทิตย์เขาเป็นทั้งผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เขาอยากเป็นนายกฯ และตอนนั้นคุณเปรมยังเป็นนายกฯ อยู่ เผอิญตอนนั้นคุณเปรมกำลังป่วยด้วย อำนาจทางทหารก็น้อยลง ทีนี้เขาเลยจับผม นักศึกษาก็ออกมาเดินขบวนประท้วง ผมก็เลยถือโอกาสบอกว่าอย่าไปเดินขบวนเลยนะ ให้บ้านเมืองเรียบร้อยก่อน ก็เลยถูกจับครั้งแรก เคราะห์ดีพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงพระมหากรุณา พอขึ้นศาลทหารแล้ว ท่านก็สั่งให้ยุติคดี
เห็นคุณเคยบอกว่า หนังสือที่ภูมิใจมากที่สุดก็คือ บันทึกเรื่องราวความรู้ต่างๆ ที่เป็นจดหมายโต้ตอบระหว่าง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กับ พระยาอนุมานราชธน คุณเห็นอะไรในการโต้ตอบของสองคน
ข้อแรก สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ท่านเป็นคนชั้นสูง รอบรู้เรื่องโบราณ รู้เรื่องทุกอย่างในทางศิลปวัฒนธรรม เรื่องดนตรีท่านก็เก่ง แล้วก็ไม่เคยมีใครบันทึกไว้เลยว่าท่านมีความรู้ความวิเศษอะไรบ้าง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ก็เลยเขียนจดหมายไปถาม สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ท่านก็อธิบาย แล้วเอาไปเขียนลงจดหมาย (ภายหลังรวบรวมการโต้ตอบของทั้งสองพระองค์เป็นหนังสือชื่อ สาส์นสมเด็จ เนื้อหาในจดหมายสะท้อนเกร็ดความรู้ในด้านต่างๆ ทั้งด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี พิพิธภัณฑสถาน วรรณกรรม ศิลปกรรม ดนตรีและนาฏศิลป์-ผู้เขียน)
ทีนี้เจ้าคุณอนุมานราชธน ท่านเป็นคนมีความรู้แบบตะวันตก จบแค่ชั้น ม.4 โรงเรียนอัสสัมชัญ เจ้าคุณอนุมานราชธน นี่ท่านดีนะ เวลาท่านไม่รู้ ท่านก็แสวงหาความรู้เรื่อยมา ทีนี้พออยากรู้อะไรก็เขียนไปถามสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ท่านก็ตอบ เรื่องสมัยใหม่ท่านก็ถามเจ้าคุณอนุมานฯ ส่วนเรื่องสมัยเก่า เจ้าคุณอนุมานก็ถามสมเด็จกรมพระยานริศฯ ซึ่งมันประเสริฐมาก คนสองวัย สองชนชั้น สองกระแส มาเรียนรู้จากกันและกัน
ผมว่าถ้าอยากจะรู้ความเป็นมาของพวกเรา ก็ควรอ่านหนังสือเล่มนี้ และผมภูมิใจมากที่สามารถเอามาตีพิมพ์ได้ทันวันประสูติ 100 ปี สมเด็จกรมพระยานริศฯ ซึ่งไม่ใช่ของง่ายกว่าจะทำได้ เพราะเจ้าของท่านหวงต้นฉบับมาก สมัยก่อนถ่ายเอกสารก็ไม่มี ผมต้องมาคัดลอก มาแก้ไข เสียเวลามากเหลือเกิน แต่ผมก็ดีใจมาก ว่าผมได้ทำเต็มที่ ตายไปก็ไม่เสียทีเกิด
เคยได้ยินว่าเวลาคุณอ่านหนังสือจบจะไม่ค่อยชอบเก็บสะสมหนังสือไว้ แต่จะให้คนอื่น ไม่ก็ไปบริจาคไว้ที่ห้องสมุด
มันก็ไม่ควรจะเห็นแก่ตัว ไม่ควรจะเอาไว้คนเดียว มีอะไรดีก็ต้องแจกจ่ายกัน อะไรที่ผมเห็นดีเห็นงามก็ลงทุนแปลบ้าง ให้คนอื่นช่วยแปลบ้าง ความรู้มันก็จะได้กระจายออกไป
คุณเห็นคุณค่าอะไรในหนังสือ
ผมเห็นหนังสือเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของเรานะ เพื่อนมนุษย์ที่มาคุยกับเรา เดี๋ยวเขาก็ไปแล้ว แต่หนังสือจะอยู่กับเรา เราจะหยิบอ่านเมื่อไรก็ได้
คิดว่าหนังสือของคุณส่งผลอย่างไรต่อสังคม อ่านหนังสือของคุณแล้ว ผู้อ่านจะได้อะไรบ้าง
หวังว่าคงจะมีการเปลี่ยนแปลงบ้างนะ แต่ว่าชัวร์ขนาดไหนก็ต้องให้คนอื่นเขาพูด ผมพูดเองไม่ได้หรอก เพราะว่าพูดเองแล้วมันจะอวดโม้ไป ผมเห็นว่ามันก็อาจจะมีประโยชน์บ้าง อาจจะไม่มากนัก เพราะแวดวงของผมมันแคบ ไม่ได้กว้างขวาง
ถ้าแนะนำหนังสือให้กับคนรุ่นใหม่ได้ อยากให้คนรุ่นใหม่อ่านเล่มไหน
เขาต้องไปหาเอง เอาแน่ไม่ได้หรอกหนังสือเนี่ย มันอยู่ที่คนอ่าน (ยิ้ม)
ผมเคยแนะนำหนังสือของผมที่ชื่อ ชวนอ่านและวิจารณ์หนังสือต่างๆ ปรากฏว่า พระไพศาล วิสาโล ท่านเห็นว่าเป็นหนังสือประเสริฐมาก ท่านบอกว่าเปลี่ยนชีวิตท่านเลย เราไม่รู้นี่ก็เขียนไปเท่านั้นเอง แต่เผอิญท่านชอบ เหมือนอย่างผมไปอ่านเรื่อง ไทยรบพม่า ของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ อาจไม่ใช่งานดีที่สุดของท่าน แต่มันก็มีอิทธิพลกับผม
* มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
** มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย