“ที่บ้านเธอร์ก็มีหนังตะลุงด้วยนะ”
น้องอาเธอร์ หนูน้อยวัย 4 ขวบ แฟนพันธุ์แท้หนังตะลุงที่เดินทางมาไกลจากอำเภอหาดใหญ่เอ่ยขึ้นด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ ขณะที่กำลังเดินชมคอลเลกชันหนังตะลุงในเรือนไม้ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองนครศรีธรรมราช คุณพ่อคุณแม่ของน้องบอกว่า อาเธอร์โปรดปรานหนังตะลุงมากๆ เมื่อผู้ใหญ่ที่เดินอยู่ใกล้ๆ ลองชี้ชวนซักถามว่าหนังตะลุงตัวไหนมีชื่อว่าอะไร เด็กน้อยก็สามารถตอบได้ทุกครั้งไป
วาที ทรัพย์สิน ทายาทคนโตของ สุชาติ ทรัพย์สิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงพื้นบ้าน หัวเราะเบาๆ แล้วเอ่ยกับทีมงาน The KOMMON “อย่างนี้โตขึ้นมาต้องเป็นนายหนังตะลุงแล้ว” ก่อนที่จะเล่าประสบการณ์ให้ฟัง “หลายคนชอบหนังตะลุงตั้งแต่ตอนเด็กๆ พอโตขึ้นมาก็ห่างๆ ออกไป บางคนก็ยิงยาว ยึดถือเป็นอาชีพเลยก็มี”
การถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องหนังตะลุงให้กับผู้มาเยี่ยมเยือน คือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำที่ ‘พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านหนังตะลุง สุชาติ ทรัพย์สิน’ พิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงรูปหนังตะลุงภาคใต้ที่มีอายุกว่า 100 ปี รวมถึงรูปหนังตะลุงจากภูมิภาคอื่นๆ ของไทยด้วย จะว่าไปแล้ว…ควรจะเรียกสถานที่แห่งนี้ว่าแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิตเสียมากกว่า เพราะนอกจากชิ้นงานที่มากคุณค่าทางวัฒนธรรม ที่นี่ยังมีกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับหนังตะลุงที่หลากหลาย ทั้งส่วนที่ผลิตและจำหน่ายหนังตะลุงและหนังใหญ่ เวิร์กชอป คลาสเรียนหนังตะลุง และพื้นที่แสดงหนังตะลุง คุณภาพของการนำเสนอการันตีโดยรางวัลกินรี หรือ Thailand Tourism Awards ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้คว้ามาได้ถึง 2 ครั้ง ในปี 2538 และปี 2553
“ตั้งแต่ปี 2538 ที่ได้รางวัล Thailand Tourism Awards ก็รู้สึกว่ามีคนเข้ามามากขึ้น ถ้าแค่มาดูรูปหนังเก่าๆ แล้วกลับไป มันก็คงจะไม่พอแล้ว เลยทำเป็นแหล่งเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์ ทำเป็นฐาน สอนคนเล่นหนัง สอนคนตอกหนัง มีความรู้ทางวิชาการด้วย”
หลักในการจัดการพิพิธภัณฑ์ของอาจารย์วาที สะท้อนให้เห็นว่า หัวใจของแหล่งเรียนรู้พื้นบ้านควรประกอบไปด้วยอะไรบ้าง “หนึ่ง – ถ้าอยากทำพิพิธภัณฑ์ คุณต้องสะสมของ ยิ่งมีมากยิ่งดี สอง – คุณต้องมีความรู้ในของเหล่านั้น และ สาม – คุณต้องมีสถานที่จัดแสดง แค่นี้ก็เป็นพิพิธภัณฑ์ได้แล้ว แต่จะยั่งยืน และมีชีวิตหรือไม่ ก็อยู่ที่ว่าคุณจะเป็นมัคคุเทศก์นำชมได้ไหม ถ้าคุณมีเวลานำชม มันก็เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต”
อาจารย์วาที ให้ความสำคัญกับการสื่อสารองค์ความรู้เป็นอย่างยิ่ง ข้อมูลที่ให้กับผู้มาเยือนพิพิธภัณฑ์ต้องถูกต้องแม่นยำ ชำระให้ตรงกัน “ใครมาที่นี่จะได้เรียนรู้ว่าหนังตะลุงมาจากไหน ข้อมูลต้องถูกต้องตรงกัน ไม่ใช่เล่าไปตามที่ได้ยินมา ว่าหนังตะลุงมาจาก ชวา อินโดนีเซีย มาเลเซีย พัทลุง หลายที่ไปหมด…ที่มาของหนังตะลุงคือมาจากอินเดีย ไม่ใช่พัทลุง เพราะเปิดเรื่องด้วยฤๅษี ตามมาด้วยพระอิศวร แล้วก็เล่นเรื่องรามเกียรติ์”
อีกปัจจัยที่สำคัญในการสื่อสารความรู้คือ ต้องผูกโยงเรื่องราวเล่าเรื่องจากวัตถุให้น่าสนใจ ซึ่งคนที่ ‘รู้จริง’ ก็จะสามารถเล่าออกมาได้จากจิตวิญญาณอย่างเป็นธรรมชาติ ดังที่อาจารย์วาทีได้แสดงให้เห็นเมื่อเราได้ไปเยี่ยมเยือน ของทุกชิ้นที่เดินผ่าน ทายาทนายหนังตะลุงมือหนึ่งสามารถบอกเล่าที่มาและเบื้องหลังได้ทุกชิ้น
“หนังวัวดีกว่าหนังควาย เพราะหนังวัวเปรียบเหมือนสาวผิวเนียน หนังควายนี่หยาบ เราอยู่กับหนังมาตั้งแต่เด็กๆ แค่เห็นก็รู้เลยว่าหนังตัวนี้ตายฤดูร้อน ขนจะสั้นเกรียน หนังตัวนี้ตายฤดูหนาว ขนจะยาว
“ชิ้นนี้อายุกว่า 300 ปีแล้ว เหตุที่อยู่ได้นานขนาดนี้คือมีการเก็บรูปหนังเอาไว้ในแผงหนัง ถ้าผมเป็นลูกศิษย์ รักและเคารพอาจารย์มากๆ ผมก็จะเอารูปหนังไปไว้ในแผงเป็นสิริมงคลหนึ่งตัว อาจารย์ทวดส่งให้อาจารย์ปู่ อาจารย์ปู่ส่งต่ออาจารย์พ่อ อาจารย์พ่อส่งต่อลูกศิษย์ 3 รุ่น ก็ 150 ปี เข้าไปแล้ว รูปหนังตะลุงเลยอยู่ได้เป็นร้อยๆ ปี เพราะเป็นการเก็บรักษาไว้ด้วยความเคารพศรัทธา สิ่งที่จะทำให้หนังตะลุงหายไปจากสังคม…ก็คือไม่มีลูกหลานสืบทอด”
ที่บ้านหนังตะลุงแห่งนี้ อาจารย์วาทียืนยันว่า คนในครอบครัว เพื่อนฝูง อีกทั้งลูกศิษย์ สามารถนำชมได้หมด เพราะมีกระบวนการถ่ายทอดความรู้ที่ดี ด้วยความที่งานประจำคืออาจารย์มหาวิทยาลัยในสาขาการจัดการวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช จึงมีโอกาสฝึกมัคคุเทศก์นำชมจากนักศึกษาฝึกงานและลูกศิษย์
อีกเคล็ดลับในการจัดการพิพิธภัณฑ์ของอาจารย์วาทีคือ “เราต้องมีลักษณะของความเป็นผู้นำ กล้าที่จะแตกต่าง มีพิพิธภัณฑ์หลายที่ เราก็ทำตามสไตล์ของเราตามที่อยากให้เป็น เราไปดูของคนอื่น คนอื่นก็มาดูของเรา แต่ว่าเราก็ไม่ได้ไปลอกเขา” นั่นทำให้อาจารย์วาทีกล้าที่จะทดลองทำสิ่งใหม่ๆ อย่างการทำหนังตะลุงเป็นรูปของ ตูน บอดี้สแลม (อาทิวราห์ คงมาลัย) แล้วเปิดประมูล เมื่อครั้งที่เขาวิ่งผ่านจังหวัดนครศรีธรรมราชในโครงการ ‘ก้าวคนละก้าว’
และสิ่งที่อาจารย์วาทีไม่เคยลืม ก็คือ “ผลประโยชน์ต้องแบ่งปัน” ที่นี่ให้ความรู้ แต่ไม่ขายเครื่องดื่มและอาหาร เมื่อมีคณะศึกษาดูงานใหญ่ๆ เข้ามา อาจารย์วาทีจะรีบยกโทรศัพท์ติดต่อพ่อค้าแม่ขายในพื้นที่ทันที “ใครเข้ามาปุ๊บ ผมยกหูบอกเลยว่าเดี๋ยวจะมีเด็กเข้ามา 200 คน 4 รถบัสนะ รถเข็น รถซาเล้งก็มาเต็มเลย มาขายของให้เด็ก”
“นี่คือคำตอบของคำถามที่ว่าพิพิธภัณฑ์ทำอะไรให้กับสังคมและชุมชน เวลานักท่องเที่ยวหลงทางชาวบ้านก็ชี้ทางให้ หรือว่าพามาส่งก็มี เราได้มิตรภาพจากคนเหล่านี้ ถ้าเราทำเองทุกอย่าง เรารวย แต่ไม่ได้มิตรภาพ ผมว่าทุกอย่างต้องแบ่งปันนะครับ”