สุชาติ สวัสดิ์ศรี บนรอยต่อของเวลา

554 views
6 mins
October 15, 2024

          ‘พึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้ เป็นของราษฎร’ คือ ข้อความแรกจาก สุชาติ สวัสดิ์ศรี ที่สื่อสารกับผมมันปรากฏบนเสื้อยืดสีดำที่เขาสวมใส่ในวันที่เรานัดสัมภาษณ์ที่บ้านท้ายซอยริมรางรถไฟ

          “หาบ้านยากไหม” เขาถาม ก่อนที่จะนั่งเก้าอี้ด้านหลังของเขามีอีกหนึ่งข้อความอยู่บนป้ายโลหะ แขวนบนชั้นหนังสือ ‘I’M WORRIED THAT I’M NOT POLITICAL ENOUGH HA! HA!’ 

          ข้อความทั้งสองต่างบอกกล่าวถึงตัวตนของสุชาติข้อความแรกบอกจุดยืนทางการเมืองขณะที่ข้อความหลังเผยให้เห็นอารมณ์ขันซึ่งเป็นคุณสมบัติพิเศษที่บรรณาธิการพึงมี

สุชาติ สวัสดิ์ศรี บนรอยต่อของเวลา

ผู้สร้างทางลัดของเวลา

          ผมเคยมาที่บ้านท้ายซอยริมรางรถไฟแห่งนี้ในปี 2554 ยุคนั้นรถไฟฟ้าสายสีแดงยังอยู่ในจินตนาการที่ผู้คนในเขตปริมณฑลแห่งนี้นึกไม่ออกในตอนนั้นผมยังมองไม่ออกเช่นกันว่าตนเป็นหนึ่งในประจักษ์พยานฉากที่เผยให้เห็นมรดกทางปัญญาของชาติได้เปื่อยยุ่ยไปกับน้ำ

          ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนท่วมหนังสือเก่าและเอกสารชั้นต้นที่สุชาติเก็บรักษาไว้ในบ้านจะว่าไปแล้วเอกสารเหล่านั้นมีสถานะไม่ต่างจากสมบัติของชาติหากมีใครเห็นคุณค่าแต่มันก็อาจจะเป็นเพียงกระดาษเปื้อนหมึกพิมพ์ได้เช่นกันพวกเราช่วยกันขนย้ายหนังสือเก่าและเอกสารต่างๆ แต่ไม่สามารถปกป้องกรุทางปัญญาจำนวนมากให้รอดพ้นจากการชำรุดเสียหาย หลังจากเสร็จสิ้นงานเฉพาะกิจหลายคนเปิดเบียร์ดื่มคลายเหนื่อย สุชาติ สวัสดิ์ศรี มอบหนังสือ ‘วรรณมาลัย (Anthology)’ ชุด เพื่อนพ้องแห่งวันวาร เรื่องสั้น สุภาพบุรุษ ซึ่งอยู่ในสภาพเปียกชื้นไปกว่าครึ่งเล่มตอบแทนน้ำใจให้แก่กลุ่มคนที่มาช่วยกันขนย้ายหนังสือหนีน้ำ รวมถึงผมด้วย

          หนึ่งในความเสียหายซึ่งถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมการอ่านของชาติคือ สุภาพบุรุษรายปักษ์ จำนวนหนึ่งเป็นเอกสารชั้นต้นในการทำหนังสือวรรณมาลัยชุดเพื่อนพ้องแห่งวันวาร เรื่องสั้น สุภาพบุรุษ 

          “หนังสือชุดนี้ (สุภาพบุรุษรายปักษ์) ผมยืมมาจากคุณวิทย์ สุทธิเกษียณ แต่มันหายไปกับน้ำตอนน้ำท่วมปี 54 เสียดายมากๆ เลย” แต่อย่างน้อยที่สุด การหายไปของสุภาพบุรุษรายปักษ์จำนวนนั้นได้ก่อให้เกิดหนังสือวรรณมาลัยชุด เพื่อนพ้องแห่งวันวาร เรื่องสั้น สุภาพบุรุษ

          ปกหลังของหนังสือเล่มนี้ระบุว่า

          “วรรณมาลัย [Antology] เล่มนี้เป็นการนำเอาตัวบทเรื่องสั้นจากเอกสารชั้นต้นในหนังสือ สุภาพบุรุษรายปักษ์ ที่จัดพิมพ์จำหน่ายเมื่อปี พ.ศ.2472-2473 เท่าที่ค้นหาได้เป็นบางส่วนมารวมไว้เพื่อย้อนมองประวัติศาสตร์สังคมของสยามเมื่อ 80 ปีก่อนและเพื่อบ่งบอกสถานะบางอย่างของประวัติวรรณกรรมสยามสมัยใหม่…

          คำว่า ‘คณะสุภาพบุรุษ’ ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และเพื่อนพ้อง ถือเป็นเพียงหมุดหมายเดียวของสายธารอักษรอันกว้างใหญ่เท่านั้น เพราะประวัติวรรณกรรมสมัยใหม่รุ่นบุกเบิกของเรายังมีสิ่งพิมพ์เก่าของคณะอื่นๆ ที่เป็นเอกสารชั้นต้นอีกนับไม่ถ้วน แต่ทว่าในปัจจุบันหมุดหมายดังกล่าวเหล่านั้นได้กลายเป็นเหมือน ‘ข้อต่อที่หายไป’ [missing link] มากขึ้นเรื่อยๆ”

สุชาติ สวัสดิ์ศรี บนรอยต่อของเวลา

          “สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของวรรณมาลัยคือ คุณจะต้องอ้างอิงที่มาให้ได้” สุชาติย้ำถึงหัวใจสำคัญของการเก็บรักษาเอกสารชั้นต้น ซึ่งเป็นต้นน้ำของงานวรรณมาลัย เพราะหนังสือประเภท Anthology คือการรวบรวมอดีตที่กระจัดกระจายไว้อย่างเป็นระบบเพื่อส่งต่อให้คนในปัจจุบันและคนในอนาคตได้สืบค้นและสืบสานต่อเป็นหนังสือเล่มใหม่

          “คุณต้องทำให้พวกเขาสามารถอ้างอิงกลับไปในอดีตได้ มันจะเป็นประโยชน์กับงานวิชาการในสาขาต่างๆ เป็นประโยชน์กับคนศึกษาวรรณกรรมที่ต้องการเขียนประวัติวรรณกรรม” บรรณาธิการผู้จัดทำหนังสือวรรณมาลัยเล่มสำคัญนี้บอก

          ในมุมมองของสุชาติ ประเทศที่มีวัฒนธรรมการอ่านเข้มแข็ง การผลิตหนังสือในประเทศนั้น จะแสดงให้เห็นจากความหลากหลายของหนังสือ 2 ประเภท ประเภทแรกมาจากหนังสือจำพวกพจนานุกรม สารานุกรม ปทานุกรม หรือที่เรียกกันว่า Encyclopedia และประเภทที่สอง คือหนังสือจำพวกวรรณมาลัยต่างๆ หรือที่เรียกกันว่า Anthology

          “ผมให้เครดิต ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา แห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เสนอคำนี้เป็นภาษาไทยเมื่อประมาณ 2 ทศวรรษก่อนว่าวรรณมาลัย” สุชาติบอกว่าลักษณะการทำงานประเภท Anthology ใช้พื้นฐานของงานบรรณาธิการ

          “ส่วนการจัดความหมายของคนทำงานเหล่านี้ที่มีลักษณะเฉพาะตัวมากขึ้น เขาจะเรียกกันว่า Anthologist มากกว่า Editor นักทำวรรณมาลัย ทั้งหลายถือเป็นบุคคลที่จะก่อให้เกิดพลังของหนังสือในรูปแบบหนังสือสานต่อหนังสือ สังคมใดมีการผลิตหนังสือประเภทนี้มาก วัฒนธรรมการอ่านของผู้คนในสังคมนั้นๆ ก็จะมีความเข้มแข็งและเติบโตไปพร้อมกับวัฒนธรรมการพิมพ์” 

          สุชาติอธิบายถึงสายโซ่ทางปัญญาที่เชื่อมร้อยอดีต อนาคต และปัจจุบัน เข้าไว้ด้วยกัน การทำงานวรรณมาลัยในหัวข้อต่างๆ จึงเป็นเหมือนการสานต่อ ก่อเกิด และช่วย ‘ลัดเวลา’ ให้คนรุ่นปัจจุบันได้ ทำความเข้าใจสังคมและผู้คนในอดีตอย่างมีรายละเอียดต่อมุมมองต่างๆ มากขึ้น 

          “สังคมเราให้ความสำคัญกับนักเขียนคณะสุภาพบุรุษ แม้ว่าเราจะมีนักเขียนคณะอื่นๆ มากมาย เช่น สยามยุพดี นิตยสารกึ่งหนังสือพิมพ์ที่มีผู้หญิงเป็น บ.ก. ผู้หญิงเป็นคนเขียน ซึ่งเกิดก่อนคณะสุภาพบุรุษ แต่ไม่รู้ว่ามีเอกสารชั้นต้นในหอสมุดแห่งชาติหรือเปล่านะ นี่คือนักเขียนหญิงที่วิพากษ์วิจารณ์การบ้านการเมือง เป็นเฟมินิสต์ยุคแรก มาก่อนคณะสุภาพบุรุษ แต่ตอนนั้นกำลังจะครบรอบวาระ 100 ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์ ผมจึงเสนอว่าควรมีสิ่งนี้เกิดขึ้น แต่เอกสารชั้นต้นที่เรียกว่า สุภาพบุรุษรายปักษ์ หาแทบไม่ได้เลย ผมพยายามเพียรหาตั้งแต่สมัยที่ทำ โลกหนังสือ แต่ไม่มีหอสมุดแห่งชาติก็ไม่มี แต่โชคดีผมไปเจอสุภาพบุรุษรายปักษ์ที่บ้าน คุณวิทย์ สุทธิเกษียณ ตอนที่ไปสัมภาษณ์แกมาลงในโลกหนังสือ

สุชาติ สวัสดิ์ศรี บนรอยต่อของเวลา
สุชาติ สวัสดิ์ศรี บนรอยต่อของเวลา

          “สำหรับบ้านเรา ประวัติวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ล้มเหลวนะ งานประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทยไม่มีความหลากหลาย แต่ประวัติศาสตร์นิพนธ์ค่อนข้างหลากหลายครับ ฉะนั้นการทำวรรณมาลัยจะทำให้ข้อต่อที่หายไปได้กลับคืนมาเป็นตัวเชื่อมข้อต่อที่หายไป วัฒนธรรมหนังสือที่งอกงามจะต้องมีวรรณมาลัยที่แพร่หลาย”

          ประเด็นที่เป็นเนื้อหาต่างๆ ในงาน Anthology นั้นก็มีอยู่มากมายหลายแบบ มีตั้งแต่การศึกษาและชำระต้นฉบับในลักษณะ Annotation (การทำหมายเหตุประกอบ) 

          “คนที่ชำระต้นฉบับให้ผมคือ คุณศรีดาวเรือง (วรรณา สวัสดิ์ศรี) กรณีที่คุณนำเอาเรื่องสั้นในยุคสมัยหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ภาษา เช่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม คุณจะต้องคงความออริจินัลไว้ ถ้าอยากให้ปัจจุบันเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นกับอดีต เพราะในตอนนั้นนักเขียนต้องเขียนตามภาษาที่รัฐกำหนด มันมีลักษณะอำนาจนิยมทางภาษา ก็พอเข้าใจได้ว่า จอมพล ป. ต้องการศิวิไลซ์ภาษาไทยให้เป็นเหมือนฟอร์มของภาษาอังกฤษ ไม่มีชนชั้นในภาษา แต่มองอีกมุมหนึ่ง ภาษาไทย มีความหลากหลาย ชนชั้นมันขึ้นอยู่กับ state of mind ของคุณต่างหาก” สุชาติบอก

          สถานะของงานวรรณมาลัยในต่างประเทศมีความหลากหลาย จนแตกตัวก่อให้เกิดสิ่งที่สุชาติ เรียกว่า ‘หนังสือสานต่อหนังสือ’ ได้อย่างไม่สิ้นสุด เป็นการสร้างคุณภาพทางการอ่านให้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ ในบางประเทศอย่าง สวีเดน ญี่ปุ่น และมาเลเซีย มีรางวัลวรรณมาลัยประจำปี เพื่อมอบให้แก่นักวรรณมาลัยที่สร้างระบบหนังสือประเภทนี้ขึ้นมาอย่างยอดเยี่ยม

          “งานวรรณมาลัยจะเกิดได้เราต้องมีสถาบันหนังสือที่เก็บรวบรวมเอกสารชั้นต้นที่หลากหลาย ครบถ้วน สมบูรณ์ แต่เอกสารชั้นต้นของบ้านเราหายไปหมด กระจัดกระจาย ขณะที่เอกสารชั้นต้นยุคเมจิของญี่ปุ่นสามารถค้นคว้าได้ในระบบออนไลน์ แต่เขาเก็บเอกสารชั้นต้นตัวจริงในห้องเก็บอุณหภูมิ ผมมี Anthology ที่อยากทำเป็น 100 หัวข้อเลย เก็บใส่แฟ้มไว้ แต่ทำไม่สำเร็จ เพราะค้นหาเอกสารชั้นต้นไม่ได้”

          เรื่องสั้นตามใจชอบ คือ งานวรรณมาลัยที่สุชาติทำเผยแพร่ใน WAY คืองานของนักประวัติศาสตร์ที่ทำงานหนักบนความขาดแคลนของพยานหลักฐานและความไม่สมบูรณ์แบบของความทรงจำ แต่ภาระของนักวรรณมาลัยคือ การสร้างทางลัดของเวลาให้คนในปัจจุบันเชื่อมต่อกับอดีต เพื่อส่งมอบมวลมรดกทางปัญญาไปยังอนาคต

          “ผมอยากรวมเรื่องสั้นที่ตัวเองชอบ 100 เรื่อง ตั้งชื่อไว้แล้วว่า ‘100 เรื่องสั้นที่ฉันชอบ’ แต่บางเรื่องมันหาเอกสารชั้นต้นไม่ได้ แต่เรื่องสั้นตามใจชอบ ที่ทำให้ WAY ผมอาจไม่ได้ชอบตัวบทเรื่องสั้นตามรสนิยมของผม แต่มัน ‘ตามใจชอบ’ เพราะผมสามารถหาเอกสารชั้นต้นได้ สามารถระบุได้ว่ามีที่มาจากหนังสือเล่มไหน วาระการเผยแพร่คือเมื่อไร ฉะนั้น ตามใจชอบ ก็คือผมสามารถเข้าถึงหลักฐานที่อ้างอิงได้ แต่ไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพของตัวบท แต่ถ้าจะทำ ‘100 เรื่องสั้นที่ฉันชอบ’ เรื่องสั้นที่คัดเลือกต้องได้ทั้งคุณภาพของตัวบทและสามารถเข้าถึงเอกสารชั้นต้นได้” สุชาติอธิบายถึงงานวรรณมาลัยชุด เรื่องสั้นตามใจชอบ

สุชาติ สวัสดิ์ศรี บนรอยต่อของเวลา

บรรณาธิการเครางาม

          คนละแวกบ้านท้ายซอยริมรางรถไฟหลังนี้ ต่างเรียกเขาว่า ‘อาจารย์’ ผมไม่แน่ใจว่าวินมอเตอร์ไซค์ผู้รับสายโทรศัพท์จากศรีดาวเรือง ให้เข้ามารับที่ ‘บ้านอาจารย์’ หรือแม้แต่เพื่อนบ้านหลังคาติดกัน จะรับรู้ถึงบทบาทของอาจารย์เคราขาวยาวเฟื้อยผู้นี้อย่างไร 

          ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้เขียน และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ เคยกล่าวว่า หนังสือ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ส่งผลสำคัญต่อการก่อรูปทางความคิดและขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 

          สุชาติ เข้ามารับหน้าที่บรรณาธิการ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ต่อจาก สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ส. ศิวรักษ์) ในตอนนั้นเขามีอายุ 25 ปี เขาเล่าให้ฟังว่าเป็นช่วงที่ทำงานไปด้วย ‘หนาวไปด้วย’ เพราะสุลักษณ์ปล่อยให้เขาทำงานบรรณาธิการเพียงลำพัง ช่วงแรกสุชาติอาศัยเครือข่ายปัญญาชนที่สุลักษณ์สร้างไว้ในการติดต่อขอต้นฉบับมาตีพิมพ์ ก่อนจะผนวกกับ ‘เครือข่ายนักเรียนใน’ ซึ่งมาจาก
สายสัมพันธ์ของสุชาติ กับเพื่อนนักเขียนและกวี 

          “ช่วงกลางวันก็พบปัญญาชน ตกค่ำก็ไปกินเหล้ากับเพื่อนศิลปิน การทำสังคมศาสตร์ปริทัศน์ของผมค่อยๆ เขยิบห่างจากอาจารย์สุลักษณ์ ผมเริ่มให้ความสำคัญกับงานสร้างสรรค์ ช่วงที่ผมเป็นบรรณาธิการ อายุ 25 รับผิดชอบสิ่งที่อาจารย์สุลักษณ์ทำมา 6 ปี ผมรู้สึกต้องแบกสิ่งที่ ส. ศิวรักษ์ ทำไว้แต่ในเมื่ออาจารย์ให้เสรีภาพกับผมแล้ว ผมก็พยายามทุ่มเทด้วยการเป็นตัวของตัวเอง” สุชาติเล่าย้อนถึงความรู้สึกในวัยหนุ่มของตนเอง

          ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ การเปลี่ยนจากนิตยสารราย 3 เดือน เป็นรายเดือนเมื่อปี 2515 ทำให้เนื้อหาของสังคมศาสตร์ปริทัศน์ มีลักษณะเป็นประเด็นสถานการณ์เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ปัจจุบันมากขึ้น ในยุคนี้มีการตีพิมพ์ผลงานของนักศึกษามากขึ้น รวมทั้งปัญญาชนนักเรียนนอกหลายคนก็มีบทบาท อาทิ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ชัยอนันต์ สมุทวณิช, ยงยุทธ ยุทธวงศ์, สุรพงษ์ ชัยนาม, ไมตรี อึ๊งภากรณ์ และ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ปัญญาชนเหล่านี้นำแนวคิดซ้ายใหม่ หรือ สังคมนิยมประชาธิปไตย มานำเสนอต่อสังคมไทย

          “อาจารย์สุลักษณ์ให้เสรีภาพกับผม” นอกจากเครือข่ายปัญญาชนและนักวิชาการ เสรีภาพคือ มรดกที่บรรณาธิการคนแรกของสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ส่งมอบให้กับคนหนุ่มเครางามวัย 25 ผู้ซึ่งในเวลาต่อมาจะกลายเป็นบรรณาธิการคนสำคัญของสังคมการอ่านการเขียนของไทย และในเวลาต่อมาจะเป็นศิลปินแห่งชาติ และในเวลาต่อมาจะถูกถอดถอนจากตำแหน่งดังกล่าว

          “ผมพยายามเอาสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ลงมาจากหอคอย เปลี่ยนจากลักษณะที่เป็น journal มาเป็น magazine เพื่อให้มีลักษณะ down to earth ผมปรับจากราย 3 เดือนให้เป็นรายเดือน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้ผมทำงานวรรณมาลัยในเวลาต่อมา”

สุชาติ สวัสดิ์ศรี บนรอยต่อของเวลา

          ระหว่างทำสังคมศาสตร์ปริทัศน์ สุชาติทำหนังสือวรรณมาลัยชุด แล้งเข็ญ เหมือนอย่างไม่เคย ถนนสายที่นำไปสู่ความตาย และ คำขานรับ ให้สำนักพิมพ์ ดวงกมล เมื่อปี 2518

          “งานชุดนี้มี 4 เล่ม เป็นการคัดและรวบรวมเรื่องสั้นตาม issue ที่ผมกำหนด เล่มแรก (แล้งเข็ญ) ผมกำหนด issue ให้ว่าด้วยช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบท เล่มที่สอง (เหมือนอย่างไม่เคย) ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับครู เด็กกับโรงเรียน เพราะการศึกษาเป็นหัวใจหลักของสังคม เล่มที่สาม (ถนนสายที่นำไปสู่ความตาย) รวมเรื่องที่มีลักษณะโมเดิร์นนิสต์แสดงความแปลกเเยกของคนในเมืองใหญ่ เล่มที่สี่ (คำขานรับ) เล่มนี้มีลักษณะที่เรียกในสมัยนั้นว่า เพื่อชีวิต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่มาพร้อมกับการต่อสู้ มาพร้อมกับการ uprising ของนิสิต นักศึกษา ประชาชน ในช่วงก่อนและหลัง 14 ตุลาฯ”

          สุชาติหยุดเรื่องที่กำลังเล่า ก่อนจะบอกว่า “จริงๆ มีเล่มที่ห้า ที่ตั้งใจจะทำคือเล่ม ‘ไอ้ลูกขบถ’ คอนเซปต์คือ การต่อสู้เพื่อโค่นล้มสังคมทราม” แต่ไอ้ลูกขบถไม่ได้เกิด เพราะถูกทำให้ตายไปอย่างไร้เมตตาในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519

          สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ยุติลงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ สุชาติใช้คำว่า ถูกถีบ ออกมาจาก สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ใช้ชีวิตระเหเร่ร่อน หลบซ่อนอยู่ใต้ขนตาศัตรูตามสำนวนที่เขามักบอกที่มาว่า “เป็นสำนวนของสามก๊ก” 

          ไม่นานจากนั้น เขาเริ่มต้นพีเรียดใหม่ของชีวิตด้วยการเป็นบรรณาธิการนิตยสารโลกหนังสือ ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการสร้างวัฒนธรรมวรรณกรรมวิจารณ์ ก่อนจะก่อตั้งและควบตำแหน่งบรรณาธิการ ช่อการะเกด นิตยสารรวมเรื่องสั้นราย 3 เดือน

          นิตยสารที่เป็นเหมือนสำนักงานทะเบียนราษฎรที่นักเขียนต้องส่งผลงานมา ‘ผ่านเกิด’* และผ่านสายตาบรรณาธิการท่านนี้

          “การเป็นบรรณาธิการ ช่อการะเกด ก็ถือว่าเป็นงานวรรณมาลัย เราคัดเลือกเรื่องที่มีคุณภาพจากนักเขียน นี่คือลักษณะการทำ Anthology เหมือนกัน ผมเปิดให้นักเขียนเขียนเรื่องแนวไหนมาส่งก็ได้ เขียนผิดศีลธรรมก็ได้ แหกขนบก็ได้ ไม่ต้องเอาใจผม แต่ต้องสามารถบอกเหตุปัจจัยที่อธิบายถึงความซับซ้อนของจิตใจ ผมอยากอ่านเรื่องประเภทประพฤติชั่วร้ายแรงอย่างยิ่งเลย ผมก็ให้ในสิ่งเดียวกับที่อาจารย์สุลักษณ์ให้ผม ผมให้เสรีภาพในการสร้างสรรค์แก่นักเขียนที่เขียนเรื่องสั้นส่งเข้ามาให้พิจารณา”

          ผมถามว่า “คุณสุชาติมองหาอะไรในสิ่งผิดศีลธรรมที่จะปรากฏในเรื่องสั้นครับ” 

          เขาบอกว่า “ชีวิตมันเป็นแบบนั้นใช่ไหม ผู้ที่ได้ชื่อว่าประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เขาคงมีดีเทลอะไรที่ทำให้กระทำเยี่ยงนั้น อาจจะมีมุมมองที่เรียกว่า ‘ราโชมอนเอฟเฟกต์ (Rashomon effect)’** มองกันคนละมุม เข้าใจกันไปคนละแบบ ซึ่งราโชมอนเยี่ยมยอดมาก originality มากๆ มันเผยให้เห็นใบหน้าที่หลากหลายของมนุษย์ คนทำงานศิลปะที่จะขุดค้นตรงนี้ได้ต้องมีหลายปัจจัย แต่สิ่งหนึ่งที่เขาต้องมีก่อนคือ ‘เสรีภาพ’ ถ้าคุณบอกว่า ไม่ได้! มีกองเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม อย่าเล่น Facebook เกรียนนัก เพราะจะถูกปลดนะ อันนี้ก็จบละ” สุชาติบอก

          เชื่อหรือยัง-อารมณ์ขันคือคุณสมบัติพิเศษของบรรณาธิการ

          ผมขออนุญาตบรรณาธิการเครางามท่านนี้ขึ้นไปชมงานศิลปะส่วนตัวที่เก็บไว้ยังชั้นสองของบ้าน บนนั้นคือ อาณาจักรส่วนตัวเป็นห้องทดลองทางศิลปะของชายชราวัยผู้นี้ “พวกของเวียง (วชิระ บัวสนธ์) กำลังหาสถานที่จัดแสดงงานให้ผม ผมยังสนุกกับโลกของศิลปะ” สุชาติบอกพลางรื้อค้นแฟ้มเก็บงานศิลปะของเขาให้แขกชม

          ภายในห้องเก็บหนังสือไว้มากมาย หนังสือเล่มหนึ่งวางอยู่บนชั้นอย่างโดดเด่น ผมจำมันได้ในทันที เป็นหนังสือเล่มที่เขาเคยมอบให้ผมเมื่อปี 2554 แต่เพราะความชื้นจากน้ำทำให้รากินกระดาษ เพื่อสุขอนามัยจึงต้องทิ้งมันไป

          “คุณมีเล่มนี้หรือยัง” สุชาติถาม เขาหมายถึงหนังสือวรรณมาลัยชุด เพื่อนพ้องแห่งวันวาร เรื่องสั้นสุภาพบุรุษ ผมตอบทันทีแม้ไม่ตรงคำถาม “ผมอยากอ่านมากครับ”

          เขาก้มหน้าลงบนกระดาษ องศาของใบหน้าและสีของหนวดเครา ทำให้ผมนึกถึงภาพถ่ายในมุมคล้ายกันของ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) สุชาติมอบหนังสือเล่มนี้ให้ผมเป็นครั้งที่สอง เขาระบุชื่อของผู้รับลงไปบนเนื้อกระดาษในแผ่นแรก ก่อนจะลงท้ายชื่อ ‘สุชาติ สวัสดิ์ศรี’

สุชาติ สวัสดิ์ศรี บนรอยต่อของเวลา


* หนึ่งในหลักเกณฑ์การพิจารณาต้นฉบับ เพื่อตีพิมพ์ลงนิตยสารช่อการะเกดแต่ละเล่ม สุชาติจะแบ่งต้นฉบับออกเป็น 3 กอง คือ 1. ผ่านเกิด หมายถึง ต้นฉบับได้ตีพิมพ์ในเล่มนี้ 2. ผ่านรอ หมายถึง ต้นฉบับยังไม่ได้ตีพิมพ์ แต่นำไปรอพิจารณาร่วมกับต้นฉบับอื่นที่นักเขียนจะส่งมาในเล่มถัดไป 3. ไม่ผ่าน

** ปรากฏการณ์ที่ผู้คนเผชิญเหตุการณ์เดียวกัน แต่กลับตีความเหตุการณ์ที่เจอแตกต่างกัน ซึ่งมีจุดกำเนิดมาจากภาพยนตร์เรื่อง Rashomon


เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ‘Readtopia 2 ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศการอ่านของไทย’ (2567)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก