‘สวนเงินมีมา’ สรรค์สร้างพื้นที่ ‘จิตวิญญาณใหม่’ เปลี่ยนโลกเก่าใบเดิมให้น่าอยู่

2,068 views
7 mins
December 23, 2022

          กว่า 2 ทศวรรษแล้ว ที่ ‘สวนเงินมีมา’ ทำ ‘กิจการ’ พิมพ์และจำหน่ายหนังสือ ควบคู่ไปกับ ทำ ‘กิจกรรม’ เพื่อขับเคลื่อนให้คนไทยมีสุขภาพทางกาย ปัญญา และใจที่สมบูรณ์แข็งแรง แม้บางคนจะรู้สึกว่าเนื้อหาในหนังสือมักเป็นเรื่องลึกซึ้งและเข้าใจได้ยาก แต่กาลเวลาก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ยิ่งโลกแห่งวัตถุวิวัฒน์ไปไกล การพัฒนามิติด้านในของมนุษย์ก็ยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

          วันนี้ สวนเงินมีมาได้ขยายขอบข่ายการทำงานในรูปแบบชุมชนและพื้นที่การเรียนรู้ ที่เรียกว่า ‘จิตวิญญาณใหม่ : New Spirit’ ด้วยความเชื่อมั่นว่าทุกคนสามารถช่วยกันเปลี่ยนแปลงโลกใบเดิมให้น่าอยู่กว่านี้ได้ สารพัดกิจกรรมสำหรับนักอ่านถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ร้านหนังสือบริเวณหลังวัดราชบพิธฯ และนอกสถานที่ นี่อาจจะเป็นประตูอีกบานหนึ่งที่นำพาลูกค้าหน้าใหม่ ให้เข้ามารู้จักกับเรื่องราวนอกกระแสที่อาจไม่เคยสนใจมาก่อน

          The KOMMON ชวนมาคุยกับ มิ วรนุช ชูเรืองสุข บรรณาธิการสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา และ เกียว นงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ อดีตนักข่าวและลูกค้าร้านหนังสือสวนเงินมีมาที่ผันตัวมาเป็นหนึ่งในทีมงาน เพื่อหาคำตอบถึงรูปแบบการเรียนรู้ที่จะช่วยสนับสนุนให้ทุกคนเติบโตงอกงามอย่างเป็นองค์รวม และความเห็นที่มีต่อระบบนิเวศหนังสือในประเทศไทย

‘สวนเงินมีมา’ ร้านหนังสือกลางย่านเก่า ชวนผู้คนค้นหา ‘จิตวิญญาณใหม่’

ทำไมเรื่องการพัฒนามิติด้านในของมนุษย์และการอยู่กับตัวเอง จึงเป็นสิ่งที่สวนเงินมีมาให้ความสำคัญมาโดยตลอด

          มิ : เดี๋ยวนี้โลกเรามีอะไรเต็มไปหมด ทั้งโลกจริง โลกเสมือน ข้อมูลต่างๆ พร้อมจะไหลผ่านหน้าจอมาหาเรา ถ้าเราไม่มีเครื่องมือที่จะจัดการหรือวิเคราะห์ สุดท้ายเราก็จะหลงทาง การมีความเข้าใจในตัวเอง รู้ว่าเราคือใครและอยากจะทำอะไรในชีวิตนี้ จะช่วยสร้างจุดยืนในการก้าวไปข้างหน้า ทั้งการทำงาน การใช้ชีวิต และการรับมือกับสิ่งรอบข้าง สิ่งที่สวนเงินมีมาพยายามทำคือ เราอยากจะให้คนกลับมาอยู่กับตัวเองผ่านกระบวนการศึกษาเรียนรู้ ทำความเข้าใจตัวเราข้างในและทำความเข้าใจโลก

การสร้างชุมชน ‘จิตวิญญาณใหม่’ เป็นการต่อยอดจุดยืนนี้ให้ชัดเจนและเข้มข้นขึ้นอย่างไรบ้าง

          เกียว : จิตวิญญาณใหม่ คือชุมชน พื้นที่ และกระบวนการ ที่ทำให้ผู้คนกลับมาอยู่กับตัวเองได้มั่นคงขึ้น เราคิดว่าตรงนี้เป็นคีย์เวิร์ดและน่าจะเป็นความต้องการของยุคสมัย เราจะอยู่กับความไม่มั่นคงได้แค่ไหน นี่คือข้อท้าทายที่ใหญ่หลวงที่สุดของมนุษย์ทุกเพศวัย ทุกสถานะชนชั้น ซึ่งเอาจริงๆ ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันสิ่งนี้กลายเป็นเรื่องยากมาก

          พวกเราสนใจประเด็นการศึกษา การเรียนรู้ การพัฒนาตนเอง ซึ่งสุดท้ายแล้วทั้งหมดก็อยู่ภายใต้ร่มเดียวกัน คือทำยังไงให้ชีวิตของเราทุกคนได้ตระหนักรู้คุณค่าบางอย่างที่สังคมกระแสหลักอาจจะหลงลืมไป เราตั้งใจให้ตรงนี้เป็นพื้นที่เรียนรู้ (Learning Space) โดยนำประเด็นหรือเนื้อหาสาระจากหนังสือมาขยายผลต่อด้วยการทำกิจกรรม เช่น Book Club วงสนทนา หรือเวิร์กชอปต่างๆ

‘สวนเงินมีมา’ ร้านหนังสือกลางย่านเก่า ชวนผู้คนค้นหา ‘จิตวิญญาณใหม่’
มิ – วรนุช ชูเรืองสุข

บางคนมองว่าหนังสือของสวนเงินมีมามีเนื้อหาที่เข้าใจยาก คุณคิดเห็นอย่างไรกับประเด็นนี้

          มิ : จริงๆ ความยากของหนังสือมีหลายแบบ บางทียากเพราะสำบัดสำนวน บางทียากเพราะความลึกซึ้งของสาระ หรืออาจเป็นเพราะภาษาที่เราใช้ไม่สามารถสื่อสารเรื่องราวออกมาได้หมด พอคนได้ยินว่าหนังสือสวนเงินมีมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตวิญญาณก็อาจจะกลัว หรือบางคนเข้าใจว่าเราทำหนังสือพระ แต่จริงๆ พวกเราไม่รู้เรื่องพระเลย (หัวเราะ)

          หนังสือแต่ละเล่มมีระดับความยากไม่เหมือนกัน บางคนไปหยิบเล่มที่ลึกซึ้งมากๆ ในช่วงวัยที่ยังไม่มีประสบการณ์ก็อาจจะอ่านแล้วไม่ชอบ แต่พอโตขึ้นแล้วกลับมาอ่านเราจะค่อยๆ เข้าใจมากขึ้น หนังสือมีเนื้อหาเท่าเดิมแต่กลับสัมผัสความงามที่ลึกขึ้น มันเป็นพลวัตหรือความเติบโตทางความคิด ซึ่งมีความท้าทายตัวเองเหมือนกัน

          เกียว : การเลือกหนังสือไม่ว่าจะสำหรับเด็กหรือผู้ใหญ่ต้องเลือกเนื้อหาในระดับความยากที่เหมาะสมกับประสบการณ์ชีวิตในแต่ละช่วงเวลาของเรา เพราะถ้าเราอ่านหนังสือที่มันยากเกินไป ก็อาจจะท้อและไม่ชอบ แต่ถ้าเราอ่านหนังสือที่ตรงกับเรา ไม่ง่ายเกินหรือยากเกินไป เราก็จะสนุกกับมัน ค่อยๆ ขยับไป เหมือนการจ่ายยาให้ตรงอาการ

‘สวนเงินมีมา’ ร้านหนังสือกลางย่านเก่า ชวนผู้คนค้นหา ‘จิตวิญญาณใหม่’
เกียว – นงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ

ที่ผ่านมา ‘จิตวิญญาณใหม่’ มีกิจกรรมอะไรบ้าง และกิจกรรมเหล่านั้นช่วยให้คนกลับมาอยู่กับตัวเองได้อย่างไร

          มิ : เราจัดเวิร์กชอปและวงเสวนาโดยใช้ไอเดียจากหนังสือ เช่น ขอบใจวัยชรา มีพี่ แหม่ม-วีรพร นิติประภา มาเป็นวิทยากร หลายคนอาจจะกลัวเมื่อกำลังเข้าสู่วัยชรา เราจึงเปิดพื้นที่ให้ทุกคนกล้าเผยความรู้สึกของตัวเอง มีกระบวนการทำความเข้าใจว่าเรามองความแก่ได้หลายแง่มุม อาจจะมองไปที่ความมั่นคงและแข็งแกร่งทางปัญญา หรือประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตก็ได้

‘สวนเงินมีมา’ ร้านหนังสือกลางย่านเก่า ชวนผู้คนค้นหา ‘จิตวิญญาณใหม่’
หนังสือขอบใจวัยชรา
Photo : สวนเงินมีมา
‘สวนเงินมีมา’ ร้านหนังสือกลางย่านเก่า ชวนผู้คนค้นหา ‘จิตวิญญาณใหม่’
วงเสวนาโดยใช้ไอเดียจากหนังสือขอบใจวัยชรา
Photo : จิตวิญญาณใหม่ : New Spirit

          เกียว : อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นหนังสือเล่มที่ทรงพลังมาก คือ ฝันร้ายในร่างกาย ซึ่งมีคุณ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ ที่ทำเรื่อง Body Movement มาเป็นวิทยากร แนวคิดหลักของกิจกรรมครั้งนั้นคือ เรามักหลงลืมศักยภาพของร่างกาย เขาพูดคุยกับเราตลอดเวลาแต่เราไม่เคยฟัง ความป่วยไข้ทางจิตใจก็เลยไปแสดงออกที่ร่างกาย หนังสือและกิจกรรมนี้ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องของบาดแผลทางใจ (Trauma) และสภาวะจิตใจที่ได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์เลวร้าย (PTSD)

‘สวนเงินมีมา’ ร้านหนังสือกลางย่านเก่า ชวนผู้คนค้นหา ‘จิตวิญญาณใหม่’
หนังสือฝันร้ายในร่างกาย
Photo : สวนเงินมีมา

          นอกจากนี้ เราก็จัด ‘Book Club in the Garden’ ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเริ่มมาจากหนังสือ ฤดูใบไม้ผลิอันเงียบงัน ซึ่งพูดถึงปัญหาทางสิ่งแวดล้อมและผลกระทบที่มาจากสารเคมีทางการเกษตร จนกระทั่งผึ้งหาย แมลงตาย เสียงนกเสียงกาหายไปหมด สิ่งเหล่านี้คือเสียงการฟ้องร้องของธรรมชาติ เรามีความรู้สึกว่าบรรยากาศการเรียนรู้สำคัญพอๆ กับความรู้ ก็เลยพากันคุยถึงหนังสือเล่มนี้ในสวน

‘สวนเงินมีมา’ ร้านหนังสือกลางย่านเก่า ชวนผู้คนค้นหา ‘จิตวิญญาณใหม่’
หนังสือฤดูใบไม้ผลิอันเงียบงัน
‘สวนเงินมีมา’ ร้านหนังสือกลางย่านเก่า ชวนผู้คนค้นหา ‘จิตวิญญาณใหม่’
กิจกรรม Book Club in the Garden
Photo : สวนเงินมีมา

ทราบมาว่า ล่าสุดเพิ่งมีการจัดกิจกรรม ‘Book Club Trip’ เหตุใดจึงอยากพาผู้อ่านไปเยี่ยมชมร้านหนังสือ อิสระแห่งอื่นๆ ในย่านพระนคร

          มิ: ร้านหนังสือสแตนด์อโลนคือ รากเหง้าทางวัฒนธรรม ร้านเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของย่านเมืองเก่าที่เป็นแหล่งรวมความเจริญของยุคสมัย และเคยหล่อหลอมให้เกิดนักคิดนักเขียนมากมาย

          เกียว : หลายคนบอกว่าร้านหนังสืออิสระกำลังถูก Disrupt เราจึงอยากจะสื่อถึงคุณค่าของร้านหนังสือ ซึ่งบางร้านไม่มีใครเคยเหลียวแล ก็เลยคุยกับคุณ เวฟ-สหัสวรรษ ธนสุขสวัสดิ์ จากเพจ JUST READ ชวนมาทำเส้นทางไปดูร้านหนังสือเก่าและร้านหนังสืออิสระในละแวกใกล้กัน

          ร้านหนังสือก็มีคนหน้าใหม่ไปเยี่ยมเยียน ขณะเดียวกันเด็กหลายคนก็ขยายความสนใจไปเรื่องของเมือง เรื่องสถาปัตยกรรม มาเดินดูอาคารเก่าโดยที่ใช้เส้นทางนี้ และเกิดการสื่อสารระหว่างคนรุ่นใหม่กับรุ่นเก่า เชื่อมวัฒนธรรมและทำให้ช่องว่างระหว่างวัยขยับใกล้กันขึ้น

อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ร้านหนังสือขนาดเล็กอย่างสวนเงินมีมา มีพลังและทรัพยากรในการจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

          เกียว : เราไม่ได้ใช้เงินแต่เราลงแรง เรามีสถานที่ มีหนังสือ มันเป็นการสร้างสรรค์งานจากคนของเราเองซึ่งมีคุณค่าและยังคงจะทำต่อไป แต่อีกด้านหนึ่งเราก็เปิดกว้างและยินดีให้ใครก็ได้ที่มองเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ในลักษณะนี้ ให้เขามาร่วมคิดโปรเจกต์ด้วยกัน ในวันนี้การทำงานเพื่อขับเคลื่อนสังคม ไม่ใช่การทำอะไรเพื่อ ‘การอยู่รอด’ แต่คือการทำอะไรเพื่อ ‘การอยู่ร่วม’ เราต้อง X กันและต้องหาคู่ X ของเราให้เจอว่าอยู่ตรงไหนซึ่งจะเกิดเป็นประโยชน์สูงสุด

          ขอยกตัวอย่างกิจกรรมที่เราไปร่วมกับงานสถาปนิก’ 65 โดยใช้ธีมหนังสือ สถานพำนักจิตวิญญาณ ด้วยแนวคิดหลักคือ ชวนให้คนหันกลับมาให้ความสำคัญของการสร้างบทสนทนาระหว่างตัวเรากับสถานที่ และคืนศักยภาพของความเป็นมนุษย์ กิจกรรมนี้เป็นโมเดลที่วิน-วินทั้งคู่ คืองานสถาปนิกก็ได้ไอเดียเกี่ยวกับการออกแบบ ว่าพื้นที่เชื่อมโยงกับชีวิตจิตใจของคนอย่างไร ขณะเดียวกันหนังสือก็ได้มีเวทีให้ได้สื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย ถ้าเราไม่ไปทำงานนี้ ไม่ไปสื่อสาร เขาก็อาจจะไม่รู้จักเรา

‘สวนเงินมีมา’ ร้านหนังสือกลางย่านเก่า ชวนผู้คนค้นหา ‘จิตวิญญาณใหม่’
หนังสือสถานพำนักจิตวิญญาณ ที่ใช้เป็นธีมกิจกรรมร่วมกับงานสถาปนิก’ 65
‘สวนเงินมีมา’ ร้านหนังสือกลางย่านเก่า ชวนผู้คนค้นหา ‘จิตวิญญาณใหม่’
งานเสวนาหนังสือ Places of the Soul โดยสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา
Photo: จิตวิญญาณใหม่ : New Spirit
‘สวนเงินมีมา’ ร้านหนังสือกลางย่านเก่า ชวนผู้คนค้นหา ‘จิตวิญญาณใหม่’
กิจกรรมมินิเวิร์กชอปทดลองออกแบบพื้นที่ Places of the Soul
Photo: จิตวิญญาณใหม่ : New Spirit

การจัดกิจกรรมเกี่ยวกับหนังสือ ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง ทั้งในด้านการกระตุ้นยอดขาย ผู้อ่าน และผู้ทำหนังสือ

          เกียว : ผลประโยชน์ที่กลับมามันไม่ใช่แค่เงิน เราบอกทีมงานที่ร้านไว้เลยว่า ไม่ใช่มีคนมาร่วมกิจกรรมแล้วคุณจะต้องทำยอดขายได้ จริงๆ แค่เขาเข้ามาที่ร้านก็พอแล้ว นี่คือเราขายแล้วนะ เขาได้มีประสบการณ์ที่ดีกับร้านแล้ว เราอาจจะไม่ได้เม็ดเงินกลับมาทันที แต่เขารู้แล้วว่าเราอยู่ตรงนี้ วันหนึ่งในภายภาคหน้าเขาอาจจะกลับมา

          หนังสือจะไม่มีประโยชน์เลยถ้าไม่ได้เปิดอ่าน มันก็จะเป็นแค่กระดาษปึกหนึ่งที่เย็บรวมกัน ความสำคัญของหนังสืออยู่ที่เนื้อหาซึ่งกำลังสร้างบทสนทนากับคุณต่างหาก หนังสือเป็นประตูในการเรียนรู้แต่บางทีการอ่านอาจจะดูโดดเดี่ยวนะ และยิ่งถ้าไปเจอจุดที่เป็น Pain Point แต่เราไม่มีคนให้ร่วมสื่อสาร ณ วันนี้ คนเสพข้อมูลผ่านสื่อค่อนข้างเยอะ สิ่งหนึ่งที่ขาดไปคือการมอบประสบการณ์การเรียนรู้ให้กันและกัน เราจึงพยายามสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่คุณจะไม่รู้โดดเดี่ยว คุณมีเพื่อน เกิดวงปฏิสัมพันธ์ที่มี Empathy ซึ่งหาซื้อไม่ได้ตามท้องตลาดทั่วไป เป็นกระบวนการที่อยากจะช่วยคนให้ทำความเข้าใจตัวตนและทำความเข้าใจโลก

          กิจกรรมที่จัดขึ้นยังเป็นพลังสะท้อนกลับมาหล่อเลี้ยงคนทำงาน นับจากวันที่เราทุ่มเทผลิตหนังสือหนึ่งเล่ม แล้ววางจำหน่ายไปถึงมือคนอ่าน จนกระทั่งถึงวันที่เขามาล้อมวงคุยกับเรา ทำให้เห็นว่าหนังสือเล่มนั้นไปทำงานอะไรกับผู้อ่าน หรือเนื้อหาในหนังสือเล่มนั้นช่วยสร้างประสบการณ์เรียนรู้อะไรแก่คนที่มาร่วมกิจกรรม

อยากให้ช่วยทิ้งท้ายในฐานะที่สวนเงินมีมาทำทั้งสำนักพิมพ์และร้านหนังสือ คุณมองว่าการพัฒนาระบบนิเวศหนังสือของไทยควรเป็นไปอย่างไร

          มิ : ธุรกิจหนังสือเป็นกิจการที่ไม่เหมือนธุรกิจอื่น คนทำหนังสือน่ะขายยังไงก็ไม่รวย (หัวเราะ) แต่ทำเพราะมีความรัก ความผูกพัน คนที่ทำงานด้านนี้คือกลไกหนึ่งที่จะมาส่งเสริมเรื่องการเรียนรู้ให้แก่คนในสังคม เขาควรได้รับการสนับสนุนเพราะเขากำลังทำหน้าที่แทนรัฐในสิ่งที่รัฐทำไม่ได้ รัฐไม่ต้องมาทุ่มเงินงบประมาณมากมายแต่ควรสร้างมาตรการต่างๆ เช่น การควบคุมภาษีกระดาษ การสนับสนุนเรื่องค่าเช่าสถานที่ การส่งเสริมการแปลหนังสือ หรือการจัดสรรว่าหนังสือซึ่งพิมพ์ออกมาแต่ละปกควรมีการซื้อเข้าห้องสมุดรัฐกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะต้นทุนที่สูงขึ้นคือภาระที่คนทำงานต้องแบก ซึ่งก็กระทบกับราคาหนังสือและผู้อ่านต่อกันเป็นลูกโซ่

          เกียว : สิ่งที่ควรจะเป็นคือทุกคนต้องได้อ่านหนังสือที่มีคุณภาพในราคาที่เข้าถึงได้ ขณะเดียวกันธุรกิจและคนทำงานวิชาชีพหนังสือก็ต้องอยู่รอด ไม่ว่าจะเป็นโรงพิมพ์ สายการผลิต คนแปล คนพิสูจน์อักษร ฯลฯ คุณสนับสนุนให้มีนักคิดนักเขียน แต่เขาจะมาเขียนได้ ชีวิตเขาควรต้องรอดพ้นก่อน ต้องมีข้าวกิน มีเงินจ่ายค่าผ่อนบ้าน

          ถ้าพูดถึงงบประมาณ รัฐทำโครงการเมืองหนังสือโลกแต่ทุ่มงบไปกับฮาร์ดแวร์หมด สร้างห้องสมุดเมืองแต่ไม่มีเงินซื้อหนังสือเข้าห้องสมุด ห้องสมุดก็กลายเป็นแค่โกดังเก็บหนังสือเก่าที่ไม่มีความเย้ายวนในการอ่าน แบบนี้เป็นการฆาตกรรมในวงการหนังสือที่ทำให้คนยิ่งไม่อยากอ่านหนังสือ ไม่อยากเข้าห้องสมุด หนังสือไม่ควรถูกปฏิบัติเหมือนกับสินค้าอื่นๆ แต่ควรจะเป็นสินค้าพิเศษ ถ้าอยากสนับสนุนให้คนมีการพัฒนาทางความคิดก็ต้องสนับสนุนการผลิตและการอ่านหนังสือ ในฐานะซอฟต์พาวเวอร์รูปแบบหนึ่ง

‘สวนเงินมีมา’ ร้านหนังสือกลางย่านเก่า ชวนผู้คนค้นหา ‘จิตวิญญาณใหม่’
‘สวนเงินมีมา’ ร้านหนังสือกลางย่านเก่า ชวนผู้คนค้นหา ‘จิตวิญญาณใหม่’

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก