ห้องสมุดมหาวิทยาลัย จะมีผู้ใช้บริการหลักๆ ประกอบไปด้วย อาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา โดยลูกค้ากลุ่มใหญ่ของห้องสมุดจะเป็นกลุ่มนักศึกษา เคยมั้ยคะที่ไม่ว่าจะประชาสัมพันธ์กิจกรรมหรือบริการอะไรยังไง ก็เข้าไม่ถึงนักศึกษา นักศึกษาส่วนใหญ่ไม่รับรู้ ไม่รับทราบ
ไม่แน่ใจว่าปัญหานั้นอาจเกิดเฉพาะที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เนื่องจากมหาวิทยาลัยของเราไม่มีหลักสูตรทางด้านการใช้ห้องสมุดหรือการสืบค้นเบื้องต้นเหมือนมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทักษะเหล่านี้จะได้รับการสอดแทรกอยู่ในรายวิชาบางรายวิชาในหลักสูตรเท่านั้น สำนักวิทยบริการ จึงพยายามหาวิธีเจาะเข้าถึงกลุ่มของผู้ใช้บริการประเภทนักศึกษามาหลายช่องทางแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ผลตามที่ต้องการ จนมาถึงช่องทางล่าสุดที่เราค้นพบ…
ลองมาดูกันค่ะ ว่าเราใช้ช่องทางใดบ้าง
ช่องทางแรก เราพยายามเข้าทางอาจารย์ผู้สอน โดยในการบริหารสำนักวิทยบริการ เราจะมีคณะกรรมการอยู่ชุดหนึ่งที่เรียกว่า ‘คณะกรรมการประจำสำนัก’ กรรมการชุดนี้จะมีหน้าที่ดูแลนโยบายการบริหารจัดการสำนักวิทยบริการของเราอีกที โดยคณะกรรมการจะมาจากตัวแทนของทุกคณะ มีอธิการบดีเป็นประธานคณะกรรมการ มีผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการเป็นเลขานุการ เพื่อที่จะได้มีการนำนโยบายจากสำนักวิทยบริการถ่ายทอดลงสู่นักศึกษา บุคลากร และอาจารย์ของคณะ ได้จากตัวแทนที่เข้ามาร่วมเป็นกรรมการในชุดนี้
นอกจากคณะกรรมการชุดนี้แล้ว เรายังอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวที่เรามีต่ออาจารย์หลายๆ ท่าน เพื่อให้ช่วยสื่อสารไปยังนักศึกษาเกี่ยวกับการเข้าใช้บริการหรือเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่สำนักวิทยบริการจัดขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของกิจกรรมการรู้สารสนเทศ ซึ่งเราจัดขึ้นเพื่อทดแทนหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องการใช้ห้องสมุดหรือการค้นคว้าเบื้องต้น เพราะหากรอให้นักศึกษาให้ความสนใจเอง คงไม่มีโอกาสได้จัดอบรม เนื่องจากเด็กๆ อาจยังไม่เห็นถึงความสำคัญของการสืบค้น เราจึงต้องให้อาจารย์ช่วยนัดเด็ก หรือขอชั่วโมงอาจารย์ในการเข้าอบรม ซึ่งอาจารย์บางท่านก็ให้ความร่วมมือ แต่บางท่านก็มีข้อจำกัด เนื่องจากแต่ละท่านก็มีภาระงานที่ค่อนข้างแน่น ทั้งการสอน การทำวิจัย บางท่านมีงานบริหาร รวมทั้งอาจารย์ที่มีแผนการสอนของตัวเองที่ค่อนข้างแน่นอยู่แล้ว บางครั้งจึงไม่อาจให้ความร่วมมือในส่วนนี้ได้
ในระยะหนึ่งเราได้เรียนรู้ว่าการเข้าทางอาจารย์ อาจทำให้ได้จำนวนเด็กเข้าร่วมกิจกรรม/โครงการ/การใช้บริการตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ก็จริง แต่เราไม่สามารถขอความร่วมมือได้ในระยะยาวหรือบ่อยๆ เนื่องจากข้อจำกัดที่ได้กล่าวไว้แล้วในเบื้องต้น เราจึงพยายามหาช่องทางใหม่ในการเจาะเข้าถึงกลุ่มนักศึกษา แล้วเราก็พบช่องทางใหม่ที่เราคิดว่าน่าจะเหมาะสมกว่า นั่นคือการเข้าทาง ‘ห้องสมุดคณะ’
อันที่จริงแล้วในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ไม่มีการจัดตั้งห้องสมุดคณะ แต่ห้องสมุดเหล่านี้พัฒนามาจากห้องค้นคว้าหรือมุมอ่านหนังสือภายในคณะ แล้วค่อยๆ พัฒนามาเรียกเป็นชื่อเล่นกันในนามห้องสมุดคณะ แต่ละคณะจะมีผู้ดูแลห้องสมุดจากหลากหลายสาขาอาชีพ มีทั้งที่เป็นบรรณารักษ์หรือนักเอกสารสนเทศสายตรง บางคณะเป็นนักวิชาการเงิน บางคณะเป็นเจ้าหน้าที่บริหารทั่วไป บางคณะเป็นนักวิชาการศึกษา ที่สำคัญคือการบริหารงานห้องสมุดคณะเหล่านี้ ไม่ได้ขึ้นตรงกับสำนักวิทยบริการที่เป็นหอสมุดกลางของมหาวิทยาลัย
จากความหลากหลายเหล่านี้ ทำให้เกิดความเข้าใจในการดำเนินการทางด้านห้องสมุดต่างกัน แต่เราก็สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนางานร่วมกันได้ ข้อดีของการใช้บรรณารักษ์ห้องสมุดคณะเป็นช่องทางคือ เราสามารถเข้าถึงได้ทั้งผู้ใช้บริการประเภทนักศึกษา อาจารย์และบุคลากร เราจึงได้จัดกิจกรรมสำนักวิทยบริการพบปะบรรณารักษ์ห้องสมุดคณะ เพื่อให้มีโอกาสพูดคุย ประชาสัมพันธ์ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้การให้บริการระหว่างหอสมุดกลางและห้องสมุดคณะ
เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง เราก็ได้เรียนรู้ว่าบางครั้งผู้ดูแลห้องสมุดคณะก็มีภาระหน้าที่ที่หลากหลายภายในคณะ ไม่ได้มีภาระงานด้านห้องสมุดเพียงอย่างเดียว อีกทั้งยังมีช่องว่างระหว่างการเป็นนักศึกษากับบุคลากรที่ทำให้ยังไม่สามารถเข้าถึงนักศึกษาได้อย่างเนียนกริบเท่าที่ควรจะเป็น
อย่างไรก็ดี จากการที่เราได้ติดตามข่าวการรับน้อง การจัดกิจกรรมในห้องเชียร์ และประสบการณ์ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยของเจ้าหน้าที่และบุคลากรของสำนักวิทยบริการเอง ทำให้เราได้พบช่องทางใหม่ นั่นคือการเข้าถึงนักศึกษาด้วยตัวนักศึกษาเอง การจะทำให้เกิด impact ในวงกว้างเราจำเป็นต้องใช้คนนักศึกษาส่วนใหญ่ให้ความเชื่อถือ เราจึงมุ่งไปที่กลุ่ม ‘ผู้นำนักศึกษา’ ซึ่งมีอยู่ 2 ระดับด้วยกัน นั่นคือระดับสภานักศึกษา และระดับสโมสรนักศึกษาคณะ
เราเริ่มจากการติดตามข่าวการลงคะแนนเลือกตั้งสภานักศึกษาในช่วงปลายปีการศึกษา เพื่อให้ทราบว่าใครจะได้เป็นผู้นำนักศึกษา ซึ่งก็คือประธานสภาและนายกสโมสรนักศึกษาในปีการศึกษาต่อไป และขอช่องทางในการติดต่อไว้ เมื่อถึงเวลาก็เชิญสมาชิกสภานักศึกษามหาวิทยาลัย และทีมสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัย เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อวางแผนกลยุทธ์กับสำนักวิทยบริการ
ไม่น่าเชื่อว่าในครั้งแรกที่เราเชิญตัวแทนนักศึกษาเข้ามา เราได้รับข้อเสนอแนะที่ดีมากอย่างที่เราคาดไม่ถึง ทำให้เราสามารถวางแผนกลยุทธ์ได้อย่างครอบคลุมมากขึ้นกว่าเดิม เป็นที่พึงพอใจของคณะกรรมการบริหารและกรรมการประจำสำนักเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนั้นแล้ว สำนักวิทยบริการ ยังหาโอกาสส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมกับสภานักศึกษาในโอกาสอันควร ไม่บ่อยมากจนทำให้ที่ประชุมเข้าใจว่ามหาวิทยาลัยส่งหน่วยงานเข้ามาแทรกแซงการบริหารงานของสภานักศึกษา แต่ละครั้งที่เราเข้าร่วมประชุมกับสภา จะเป็นหัวข้อในการประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือในการจัดหรือเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ กับทางสำนักวิทยบริการ ซึ่งแต่ละกิจกรรม แต่ละงาน ก็ได้รับความร่วมมือและสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี กรรมการบริหารสำนักบางท่านยังชื่นชมว่าเรามาถูกทางแล้วที่ลองใช้ช่องทางนี้ เพราะเด็กนักศึกษาทุกวันนี้ บางทีมันกลัวรุ่นพี่มากกว่าครูบาอาจารย์เสียอีก
ประโยชน์ที่ได้จากการร่วมงานกับองค์การนักศึกษา คือเราสามารถประหยัดงบประมาณและกำลังคนในการให้บริการได้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในกิจกรรมการเปิดให้บริการห้องสมุด 24 ชั่วโมง เราได้ข่าวว่าช่วงหาเสียงเลือกตั้งสภานักศึกษาและนายกสโมสรนักศึกษามหาวิยาลัย ทุกพรรคต่างชูประเด็น “การผลักดันให้ห้องสมุดเปิด 24 ชั่วโมง” เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของพรรค โดยไม่ถามปัญหาสุขภาพกับทางสำนักวิทยบริการสักคำ… เนื่องด้วยสภาพของบุคลากรห้องสมุดที่ร้อยละ 90 อยู่ในกลุ่มผู้สูงวัย (40+ กันแล้วค่ะ) การที่ต้องมาปฏิบัติงานหามรุ่งหามค่ำ แม้จะมีค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ แต่ด้วยกำลังที่มี ย่อมไม่สามารถซ่อมหรือประกอบร่างของตนเองให้เสร็จสมบูรณ์ทันการนำกลับมาใช้งานใหม่ในวันต่อมาได้อย่างแน่นอน อีกทั้งค่าตอบแทนที่ได้มา ไม่ทราบว่าจะเพียงพอต่อการซ่อมแซมในแต่ละครั้งด้วยหรือไม่ (รุ่นนี้อะไหล่แพงมากค่ะ)
ด้วยเหตุที่ว่ามา สำนักวิทยบริการจึงมีแผนขอความร่วมมือจากองค์การนักศึกษาในการเข้าร่วมบริหารจัดการกิจกรรมห้องสมุด 24 ชั่วโมงในครั้งนี้ โดยขอความร่วมมือให้สภานักศึกษาจัดเวรผลัดเปลี่ยนกันมาช่วยดูแลความเรียบร้อยในการเปิดพื้นที่บริการ ซึ่งทางองค์การนักศึกษาก็ตอบรับมาด้วยเหตุผลที่วิน-วินกันทั้งสองฝ่าย สำนักวิทยบริการได้ผู้ดูแลความเรียบร้อยในการให้บริการพื้นที่ 24 ชั่วโมง นักศึกษาที่เป็นเวรดูแลความเรียบร้อยเองก็ได้มีพื้นที่ในการอ่านหนังสือที่เหมาะสมด้วย โดยงานที่ต้องปฏิบัติก็ไม่ได้หนักหนาอะไร เพียงแค่ดูแลความเรียบร้อยในการใช้บริการ ไม่ให้ผู้ใช้บริการส่งเสียงดังอันเป็นการรบกวนซึ่งกันและกัน ดูแลเติมน้ำในกระติกน้ำร้อนที่เรามีไว้ให้บริการเครื่องดื่มแก่ผู้ใช้บริการยามดึก ทั้งนี้ทางสำนักได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยช่วยดูแลสถานการณ์ด้วยอีกชั้นหนึ่ง
อีกงานหนึ่งที่ทางองค์กรนักศึกษาสามารถช่วยงานเราได้เป็นอย่างดี คือการหากลุ่มตัวอย่างในการทำแบบสำรวจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความพึงพอใจการใช้บริการ การสำรวจความต้องการและความคาดหวังในการให้บริการ อยากได้จำนวนกลุ่มตัวอย่างจำนวนเท่าไหร่ ขอให้บอกมา นายกสโมฯ จัดให้
ในส่วนของการบริการการรู้สารสนเทศ เราใช้โครงการ “ผู้นำนักศึกษายุคใหม่ ใส่ใจการรู้สารสนเทศ” จัดการอบรมการรู้สารสนเทศให้กลุ่มผู้นำนักศึกษา เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญและสามารถนำไปแนะนำนักศึกษาในคณะได้ ทั้งในการสืบค้นฐานข้อมูลออนไลน์ และแนะนำคอร์สการอบรมให้นักศึกษาในคณะเพื่อเข้ารับการอบรม โดยเฉพาะเมื่อกลุ่มผู้นำนักศึกษาเห็นความสำคัญของการรู้สารสนเทศแล้ว การถ่ายทอดสู่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักศึกษาจึงมิใช่เรื่องยาก สิ่งสำคัญคือเด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เราสามารถติดต่อสื่อสานได้บ่อยๆ โดยไม่ต้องเกรงใจเหมือนการขอความช่วยเหลือกับอาจารย์ค่ะ
เห็นมั้ยคะว่าการใช้นักศึกษาเข้าถึงนักศึกษาเป็นวิธีการที่ได้ผลดีที่สุด การใช้บริการองค์การนักศึกษาทำให้เราได้ทั้งแรงงานและความคิดสร้างสรรค์ในการบริหารจัดการจากเด็กๆ ทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับคนในหลายๆ ระดับ อันจะเป็นประโยชน์กับตัวน้องๆ เองในอนาคตด้วย
เข้าถึงพวกเค้าให้ได้ค่ะ แล้วจะรุ่ง เดี๊ยนรับรอง.