เริ่มต้นอย่างนี้แล้วกัน ผมไม่เห็นด้วยกับ ROLF DOBELLI ว่าเราควรหยุดอ่านข่าวโดยสิ้นเชิง
ไม่ใช่เพราะขาของผมย่ำเดินอยู่ในวิชาชีพสื่อสารมวลชนอะไรหรอก ที่ทำให้ผมต้องปกป้องผลผลิตของมัน วงการนี้มีความฟอนเฟะทั้งในระดับตัวบุคคลและสถาบันเช่นเดียวกับวิชาชีพอื่นๆ หาได้สูงส่งกว่า หรือต่ำต้อยกว่า และไม่ใช่เพราะข่าวที่ผลิตกันออกมาทุกวันนี้คุณภาพเต็มล้นควรค่าแก่การเสพรับ
ROLF DOBELLI เป็นชาวสวิตเซอร์แลนด์ จบปริญญาเอกด้านปรัชญา และเจ้าของหนังสือขายดี ‘The Art of Thinking Clearly’ เล่ม 1 และ 2 ทั้งสองเล่มได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้ว หนังสือดังกล่าวอธิบายอคติ และกับดักความคิดที่ทำให้มนุษย์ตกหลุมพรางตัวเอง ไม่สามารถพินิจพิจารณาสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างมีเหตุผลเต็มที่
มนุษย์สามารถมีเหตุผลอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ในทุกการตัดสินใจได้หรือ?
ส่วน ‘STOP READING THE NEWS’ ในชื่อภาษาไทยว่า ‘มืดบอดเพราะอ่านข่าว’ เป็นผลงานของเขาที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2019 หัวใจของหนังสือเล่มนี้มีเพียงประการเดียวคือโน้มน้าวให้ผู้อ่านหยุดเสพข่าว พร้อมทั้งยกเหตุผลจำนวนมากมาสนับสนุน
ROLF DOBELLI เริ่มด้วยการเล่าประสบการณ์ของเขาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น เขาอ่านข่าวเพื่อรับรู้ความเป็นไปของโลกอย่างกระหายใคร่รู้ ด้วยความเชื่อว่าสักวันเขาจะเป็นชายหนุ่มผู้เฉลียวฉลาดและรอบรู้ (ผมก็เคยเป็น) อาการเสพติดข่าวหนักหนาขึ้นตามอายุและเทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาขึ้น เขาสมัครบริการข่าวนับไม่ถ้วน อ่านหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ เว็บไซต์ จดหมายข่าว สารพัดจะมี โชคดีที่เขารู้ตัวก่อน เขาสังเกตเห็นว่าเขาไม่มีสมาธิมากพอจะอ่านเนื้อหายาวๆ สมาธิแตกซ่าน ถ้าปล่อยปละละเลย มันอาจลุกลามเกินกว่าจะยอมรับได้ แล้วเขาก็ค่อยๆ อ่านข่าวน้อยลงๆ กระทั่งหยุดอ่านข่าวไปเลยในปี 2010
ขนาดว่าชีวิตวัยหนุ่มของ ROLF DOBELLI เติบโตในช่วงที่อินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดียยังไม่มีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันเท่าปัจจุบัน ยังทำให้เขาอาการหนักเพียงนั้น มิพักต้องพูดถึงยุคนี้ที่อาการโฟโมหรือ FOMO-Fear Of Missing Out หรืออาการกลัวตกกระแส กลัวพลาดเรื่องราว กลัวตกข่าว กลัวตกเทรนด์ กลายเป็นปัญหาสุขภาพจิต
ROLF DOBELLI ให้คำจำกัดความข่าวว่า “ข้อมูลสั้นๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้” สำหรับคนในแวดวงวิชาชีพสื่อสารมวลชนย่อมไม่ใช่ความหมายที่ครอบคลุมเพียงพอ ถึงกระนั้น มิได้หมายความว่าข้อสังเกตของเขาผิด หลายเรื่องถูกต้องและจี้ลงไปที่แกนกลางปัญหาของวิชาชีพสื่อมวลชน
ลองดูพาดหัวข่าวที่ผมยกมา
“บุญกุศลยิ่งใหญ่! แม่เปิดใจลูกชายบริจาคอวัยวะช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ได้ 7 คน”
“อวสานไส้กรอกอีสาน สาวเจอแมลงวันตัวเบิ้ม”
ถ้าว่ากันตามเหตุผลของ ROLF DOBELLI ต้องยอมรับว่าข่าวเหล่านี้เราไม่จำเป็นต้องรู้เลย บางชิ้นไม่มีคุณค่าพอเป็นข่าวด้วยซ้ำ บางชิ้นแม้ว่ามีนัย แต่ก็ไม่ได้สลักสำคัญสักเท่าไหร่ ขณะที่บางชิ้นก็ซ่อนซุกการกล่อมเกลามายาคติทางศีลธรรมชนิดเปิดเผย
หรือข่าวประเภทสัตว์เลี้ยงสุดโปรดของดาราตาย เมียทิ้งผัวหลังถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 ลูกหลานเศรษฐีใช้ชีวิตเรียบง่าย (แบบเศรษฐี) การเปลี่ยนผู้ต้องสงสัยคดีฆาตกรรมเป็นเซเลบฯ การสร้าง Influencer จากความสวยหล่อ พฤติกรรม ความร่ำรวย ชาติตระกูล โดยที่ไม่มี Content อะไรเลย แต่ความไม่มี Content นั่นแหละกลายเป็น Content ฯลฯ
ROLF DOBELLI เรียกว่า ‘ข่าวก่อให้เกิดชื่อเสียงกำมะลอ’ แทนที่จะใส่ใจกับเนื้อหาสาระ การทำงาน หรือคุณค่าที่แท้จริงของคน
ผมขอยกตัวอย่างข้อเสียของการอ่านข่าวอีกสักหน่อย
‘ข่าวส่งเสริมอคติจากการรู้ผลลัพธ์อยู่แล้ว’ ในข่าวชิ้นหนึ่งไม่ว่าจะเป็นข่าวอุบัติเหตุธรรมดาหรือวิกฤตการเมืองระดับประเทศ มีเหตุปัจจัยซับซ้อนท่วมท้น ข่าวมีหน้าที่ให้หรือสร้างคำอธิบาย มันทำให้เรารู้สึกว่าสาเหตุช่างกระจ่างชัดเสียเหลือเกิน เราสามารถสาธยายได้เป็นฉากๆ ชนิดที่ว่าถ้าย้อนกลับไปแก้ไขสาเหตุเหล่านั้น ก็แก้ไขเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ อารมณ์เดียวกับอาการฉลาดหลังเหตุการณ์
ความเป็นจริงคือ ข่าวไม่มีทางเสนอสาเหตุของเหตุการณ์หนึ่งๆ ได้ครบถ้วน ต่อให้ยืมปากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญก็ตาม ROLF DOBELLI บอกว่าข่าวเพียงแค่ให้คำอธิบายที่เรียบง่ายที่สุดหนึ่งหรือสองสาเหตุท่ามกลางปัจจัยเป็นหมื่นเป็นพัน แต่เพราะผู้อ่านชอบความเรียบง่ายจึงส่งผลให้การตัดสินใจจากข้อมูลที่ถูกย่อยจนง่ายดายมักผิดพลาด
นำมาสู่ ‘ข่าวทำให้พายุแห่งความคิดเห็นก่อตัวขึ้นมาทันใด’ เราเห็นชัดในโลกโซเชียลมีเดีย ที่แค่อ่านพาดหัว ทุกคนก็ดูจะกลายเป็นผู้รู้ขึ้นมาทันที แสดงความคิดเห็น พิพากษา ตัดสินเหตุการณ์หรือบุคคลในข่าวโดยไม่ต้องคำนึงถึงบริบทความซับซ้อนใดๆ เป็นอาการมือลั่นที่พบได้บ่อย หลายครั้งลุกลามเป็นความขัดแย้งที่ไม่ควรต้องเกิด ผมเองก็เคยเป็น
การพาดหัวข่าวจัดเป็นเทคนิคสำคัญของสำนักข่าวในการเพิ่มยอดคลิก เพิ่มยอดความคิดเห็น อย่างที่เรียกว่า คลิกเบต หรือการพาดหัวข่าวให้สอดคล้องกับวาระหรืออคติของสำนักข่าวที่แม้จะเป็นเหตุการณ์เดียวกัน แค่บิดผันการใช้ถ้อยคำเล็กน้อยจากเรื่องดีก็เป็นร้าย เรื่องร้ายก็เป็นดีได้ ลักษณะนี้จะเห็นบ่อยในข่าวการเมือง
ROLF DOBELLI จึงสนับสนุนให้ หยุดอ่านข่าว เพราะมันไม่มีประโยชน์อะไรกับชีวิต ซ้ำร้ายยังสร้างผลเสีย แต่เขาไม่ได้บอกให้ หยุดอ่าน นะครับ เขาเสนอให้เราหันไปอ่านหนังสือ ข่าวสืบสวนสอบสวน หรืองานเขียนเชิงอธิบายในประเด็นที่เราสนใจผ่านการค้นคว้าศึกษาข้อมูลมาเป็นอย่างดี
น่าเศร้าว่าสำนักข่าวส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญกับงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน เพราะมันใช้ทรัพยากรสูงและไม่ตอบโจทย์ทางธุรกิจสื่อที่เน้นความเร็ว ความฉาบฉวย ความฉูดฉาด และยอดไลก์
อย่างไรก็ตาม ผมมีความเชื่อว่าอาชีพสื่อจะมากหรือน้อยย่อมผูกพันกับเสรีภาพในการแสดงออกและการตรวจสอบอำนาจรัฐในระบอบประชาธิปไตย ทว่า ROLF DOBELLI เสนอว่าข่าวไม่มีความสำคัญใดๆ ต่อประชาธิปไตยและบางครั้งยังบ่อนทำลาย
“ทุกคนต่างก็รู้ดีว่าคุณภาพของวาทกรรมทางการเมืองตกต่ำลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับช่วงขาขึ้นของแวดวงข่าว…” ดูเหมือนว่า ROLF DOBELLI จะติดกับดักการสร้างคำอธิบายให้ง่ายเกินไป
(ส่วนตัวผมกลับเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะเราไม่สามารถอธิบายเหตุการณ์ใดๆ ได้ครอบคลุมทุกมิติหรอก)
ผมมีมุมมองที่ประนีประนอมกว่า ROLF DOBELLI เราไม่จำเป็นต้องอ่านข่าวมากมาย ผมเองอ่านข่าวน้อยมาก (ถือเป็นบาปของคนในอาชีพนี้) ส่วนใหญ่อ่านเฉพาะพาดหัวเหมือนคนอื่นๆ แต่จะไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ เลือกอ่านเนื้อข่าวเฉพาะประเด็นที่สนใจจริงๆ หรือต้องทำงานต่อในประเด็นนั้นซึ่งผมใช้วิธีค้นหาและอ่านภายหลัง
ต่อให้เป็นประเด็นร้อนแรงแค่ไหนผมก็ไม่สนใจ ตัวกรองง่ายๆ คือถ้าไม่จำเป็นต้องรู้ก็ไม่จำเป็นต้องอ่าน ซึ่งตัวกรองชนิดนี้แตกต่างกันไปในแต่ละคน
โลกปัจจุบันเราตัดตัวเองออกจากข่าวสารได้ยากมาก เว้นเสียแต่คุณจะตัดตัวเองออกจากเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด เนื่องจากปัจจุบันข่าวไม่ได้มาในรูปของรายงานโดยสื่อเพียงอย่างเดียว แต่ยังมาในรูปของโพสต์ที่ทำให้ทุกคนกลายเป็นสื่อ ไหนยังจะต้องห้ามคนรอบตัวไม่ให้พูดถึงข่าวด้วย
ดังนั้น ประเด็นที่คนในแวดวงสื่อและนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนใส่ใจไม่ใช่การเสนอให้หยุดอ่านข่าว แต่คือการสร้างการรู้เท่าทันสื่อหรือ Media Literacy สามารถวิเคราะห์ แยกแยะข้อเท็จจริงออกจากความเห็น อคติหรือวาระที่สื่อต้องการเสนอ การตรวจสอบข้อมูล ฯลฯ และยังต้องรู้เท่าทันอคติหรือจุดยืนของตนด้วยเพราะมนุษย์เรามักเลือกเสพสื่อที่สอดคล้องกับความเชื่อ เพื่อตอกย้ำความเชื่อ และยืนยันว่าความเชื่อของตนถูกต้องสัมบูรณ์
มีประเด็นหนึ่งที่ผมอยากชี้ให้เห็น ต่อให้ข่าวไร้สาระเพียงใด หากครุ่นคิดให้ลึกลงไป มันมักเผยเรื่องราวหรือปัญหาที่ใหญ่โตกว่าเสมอ เช่น เราเห็นอิทธิพลความเชื่อทางศาสนาพุทธจากข่าว “บุญกุศลยิ่งใหญ่! แม่เปิดใจลูกชายบริจาคอวัยวะช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ได้ 7 คน” หลายครั้งที่ความเชื่อทางศาสนาทั้งมีประโยชน์และบิดผันคุณค่าอื่นที่ควรเป็น หรือ “อวสานไส้กรอกอีสาน สาวเจอแมลงวันตัวเบิ้ม” ก็กำลังบอกมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร ความหละหลวมด้านการกำกับดูแลของรัฐ และอีกมากมายหลายข่าวที่เปิดเปลือยประเด็นความเหลื่อมล้ำแสนอัปลักษณ์ในสังคม
ข่าวไร้สาระกำลังบ่งบอกความไร้สาระร่วมกันบางประการของสังคม
ถึงที่สุดแล้ว ความไร้สาระร่วมกันบางอย่างของสังคมโดยตัวมันเอง คือเนื้อหาสาระที่ควรแก่การพิจารณา…มิใช่หรือ?