เมื่อต้นศตวรรษที่ 20 กุนนาร์ อัสพลุนด์ (Gunnar Asplund) สถาปนิกและเพื่อนร่วมงานถูกส่งไปดูงานที่สหรัฐอเมริกา เพื่อศึกษาเตรียมการออกแบบสถาปัตยกรรมและก่อสร้างห้องสมุดประชาชนซึ่งประเทศสวีเดนยังไม่เคยมีมาก่อน พวกเขาได้ข้อสรุปว่าห้องสมุดแห่งใหม่จะต้องเป็นเครื่องมือที่ทำให้ผู้คนสามารถศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง ตอบสนองสังคมประชาธิปไตย และเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
แนวคิดสำคัญคือ สาธารณชนต้องสามารถค้นหาหนังสือด้วยตัวเองได้อย่างอิสระ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเจ้าหน้าที่ห้องสมุด การออกแบบผังควรมีความเรียบง่ายชัดเจน พื้นที่สำหรับเด็กควรออกแบบโดยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับโรงเรียน ครูและโรงเรียนเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนรักการอ่านและแสวงหาความรู้
ห้องสมุดเมืองสต็อกโฮล์ม (Stockholm City Library) เปิดให้บริการเมื่อปี 1928 ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นห้องสมุดที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สะท้อนเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมที่สง่างามตามแบบสวีเดน และยังได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบห้องสมุดประชาชนแห่งแรกของประเทศ
ในต้นศตวรรษที่ 21 ห้องสมุดมีโครงการจะปรับปรุงอาคารห้องสมุดใหม่ให้มีความทันสมัยมากขึ้น จึงเปิดให้มีการประกวดแบบ ภายใต้เงื่อนไขให้อนุรักษ์เอกลักษณ์ของอาคารเดิม ผลปรากฏว่าผู้ชนะการประกวดออกแบบจากทั้งหมดกว่า 1,700 ชิ้นงาน ตกเป็นของสถาปนิกชาวเยอรมัน แต่ผลงานชิ้นนี้กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง จนในที่สุดเมืองสต็อกโฮล์มต้องระงับโครงการก่อสร้างปรับปรุงตามการออกแบบใหม่ที่ชนะเลิศ เนื่องจากเห็นว่าอาจสร้างผลกระทบทางสังคมได้ไม่เทียบเท่ากับงานดั้งเดิมที่อัสพลุนด์ได้ออกแบบไว้ เหตุการณ์นี้เป็นบทเรียนสำคัญถึงความรอบคอบในการปรับโฉมห้องสมุดที่เก่าแก่และมีความละเอียดอ่อนในมิติทางประวัติศาสตร์
แนวคิดการปรับปรุงห้องสมุดเมืองยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ทุกฝ่ายต่างระมัดระวังที่จะเปลี่ยนแปลงโฉมอาคารเดิม และหันไปปรับภูมิทัศน์ภายนอกอาคารโดยออกแบบให้มีการเชื่อมโยงทางกายภาพมาสู่ตัวอาคารเก่า หนึ่งในไอเดียที่น่าสนใจเช่นการพัฒนาพื้นที่ด้านหน้าระหว่างถนนหลักกับทางเข้าห้องสมุด ปรับปรุงให้เป็นทางเดินลาดยกระดับ มีลักษณะเปิดโล่งเป็นพื้นที่สาธารณะ มีสวนหย่อมรายทาง ในขณะที่พื้นที่ใต้ทางเดินซึ่งยกระดับขึ้นมา ออกแบบให้มีการขุดลงใต้ดินอีกชั้นหนึ่ง กลายเป็นพื้นที่ส่วนต่อขยายของห้องสมุด ทำให้ห้องสมุดมีพื้นที่ให้บริการกว้างขวางขึ้น นับเป็นการออกแบบที่พยายามสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอาคารเก่าดั้งเดิมกับแนวคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ให้กลายเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยไม่แตะต้องตัวอาคารและพื้นที่ใช้งานเดิมที่มีคุณค่าและประโยชน์ใช้สอยดีอยู่แล้ว
ปัจจุบัน สถาปัตยกรรมอาคารทั้งภายในและภายนอกของห้องสมุดเมืองสต็อกโฮล์มยังคล้ายกับของเดิมเมื่อเกือบร้อยปีก่อน ห้องอ่านหนังสือเต็มไปด้วยโต๊ะและที่นั่งซึ่งสามารถจุผู้ใช้บริการจำนวนมาก ตามแนวผนังมีชั้นหนังสือเรียงรายบรรจุหนังสือกว่า 2 ล้านเล่ม เทปเสียง 2.4 ล้านรายการ ที่นี่เปรียบเสมือนห้องสมุดนานาชาติ เพราะมีหนังสือภาษาต่างประเทศจำนวนมากถึงกว่า 100 ภาษาทั่วโลก และเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวหลั่งไหลกันเข้ามาเยี่ยมชมไม่ขาดสาย
ที่มา
บทความ “Stockholm Public Library” จาก en.wikiarquitectura.com (Online)
บทความ “AD Classics: Stockholm Public Library / Gunnar Asplund” จาก archdaily.com (Online)
บทความ “Stockholm City Library” จาก carusostjohn.com (Online)