“ทุกอย่างเริ่มต้นจากการอ่าน”
นี่คือหลักการที่มูลนิธิการอ่านเยอรมนี (Stiftung Lesen) ยึดถือเป็นแนวทางในการทำงาน เพราะทักษะการอ่านและทักษะภาษาที่ดี จะทำให้ชีวิตของคนคนหนึ่งแตกต่างไปจากเดิม ทั้งโอกาสในหน้าที่การงาน การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และการเป็น Active Citizen หรือ ประชาชนที่ตื่นรู้
ไมนทซ์ (Mainz) เมืองหลวงและเมืองใหญ่ที่สุดของรัฐไรน์ลันท์-ฟัลทซ์ (Rheinland-Pfalz) ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไรน์ คือที่ตั้งของมูลนิธิการอ่านแห่งนี้ ที่มีภารกิจสำคัญในการทำให้ชาวเยอรมนีอ่านออกเขียนได้ บทบาทหน้าที่ของมูลนิธิฯ จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในเมืองนี้เท่านั้น ทุกๆ ปี มูลนิธิฯ จัดแคมเปญพิเศษและกิจกรรมส่งเสริมการอ่านร่วมกับพันธมิตรทั่วทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการแจกหนังสือสำหรับเด็กเล็ก บุ๊กคลับ การส่งเสริมการอ่านออกเสียง ไปจนถึงแคมเปญใหญ่ๆ ร่วมกับพาร์ตเนอร์อย่างการแจกหนังสือให้กับเด็กๆ ในชุดแฮปปี้มีลของแมคโดนัลด์
ความมุ่งมั่นตั้งใจให้เยอรมนีไปสู่สังคมแห่งการอ่าน
มูลนิธิการอ่านเยอรมนี มีหน่วยวิจัยชื่อว่า สถาบันวิจัยด้านการอ่านและสื่อ (Institute for Reading and Media Research) ทำหน้าที่ศึกษาวิจัยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการอ่าน เก็บข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่มอย่างละเอียด เพื่อนำข้อมูลพวกนี้ไปใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาพฤติกรรมของเด็กก่อนและหลังอ่านออกเขียนได้ ทักษะการอ่านการเขียนที่จำเป็น ด้วยการตั้งโจทย์ที่ท้าทายว่า
- การอ่านสำคัญต่อผู้คนและสังคมอย่างไร?
- ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถในการอ่านของเด็กคืออะไร?
- ถ้าอ่านไม่ได้ อ่านไม่เก่ง ชีวิตของคนคนหนึ่งจะเป็นอย่างไร?
- ประชากรกลุ่มไหนต้องการการสนับสนุนเป็นพิเศษ?
- กลวิธีส่งเสริมการอ่านของมูลนิธิฯ มีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่?
นักวิจัยพยายามค้นหาคำตอบของคำถามเหล่านี้อยู่ทุกๆ วัน เพื่อนำผลการศึกษาทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพมาใช้ออกแบบโครงการและกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ฝึกอบรมทีมงาน ส่งต่อความรู้ให้กับเครือข่ายและพันธมิตร บางส่วนถูกนำมาเผยแพร่ในการอบรมและสัมมนา เพื่อกระจายความรู้สู่สาธารณะ
งานวิจัยและการศึกษาเหล่านั้น ถูกวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายศาสตร์ ทั้งด้านจิตวิทยา การสื่อสารมวลชน ศึกษาศาสตร์ และรัฐศาสตร์ มีทั้งองค์ความรูซึ่งเกี่ยวข้องกับการอ่านออกเสียง การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน พฤติกรรมของเด็กๆ ในการอ่าน ทั้งหมดได้รับการเผยแพร่ ผ่านเว็บไซต์ของมูลนิธิฯ ข้อมูลและสถิติเหล่านั้นกลายมาเป็นแนวคิดเพื่อการดำเนินงานที่มูลนิธิฯ ยึดถือเป็นหลักดังนี้
ส่งเสริมการอ่านออกเสียงให้เด็กฟัง
ข้อมูลของมูลนิธิฯ บ่งชี้ว่า ผู้ปกครองกว่า 1 ใน 3 แทบไม่เคยอ่านออกเสียงให้เด็กๆ ฟังเลย ซึ่งส่งผลกระทบต่อทักษะการอ่านของเด็ก เนื่องจากการอ่านออกเสียงเป็นกิจกรรมสำคัญต่อการพัฒนาทักษะทางภาษาและการเรียนรู้ เป็นกิจกรรม ‘ทรงพลัง’ และมากไปด้วยประโยชน์
มูลนิธิฯ จึงให้ความสำคัญกับการอ่านออกเสียงเป็นอย่างมาก และออกแบบกิจกรรมให้หมุนรอบแนวคิดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการแจกกล่องหนังสือหรือกิจกรรมบุ๊กคลับ
การอ่านออกเสียงช่วยเสริมความใกล้ชิดระหว่างผู้อ่านและผู้ฟัง สมาชิกในครอบครัวได้ใช้เวลาด้วยกัน มีโอกาสถาม-ตอบ สร้างปฏิสัมพันธ์ ช่วยให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตผ่านเรื่องราวในหนังสือ ได้ฝึกเรียนรู้ที่จะเข้าใจอารมณ์ เกิดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ และยังช่วยให้ผู้ปกครองได้สังเกตพฤติกรรมและพัฒนาการของเด็กด้วย นอกจากนี้ยังทำให้เด็กได้พัฒนาทักษะภาษา ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ ฝึกการออกเสียง การพูด เรียนรู้โครงสร้างประโยค รวมถึงการทำให้เด็กรู้จักความแตกต่างของภาษาพูดและภาษาเขียน เรียกได้ว่าเป็นกิจกรรมที่ถึงพร้อมด้วยประโยชน์หลายประการ
ส่งเสริมการอ่านในเด็กเล็กก่อนเข้าโรงเรียน
ช่วงเวลาก่อนเข้าโรงเรียน คือช่วงสำคัญที่เด็กจะเรียนรู้วิธีการอ่าน ผู้ปกครองคือครูคนแรกที่จะช่วยวางพื้นฐานสำหรับเด็ก แต่ผู้ปกครองโดยส่วนมากมักไม่รู้ว่าต้องสอนให้เด็กอ่านหนังสืออย่างไร มูลนิธิการอ่านจึงได้ถ่ายทอดแนวคิดออกมาดังนี้
1. เด็กแต่ละคนใช้เวลาในการเรียนรู้ไม่เท่ากัน บางคนอาจจะอ่านหนังสือได้ในเวลาอันสั้น และสามารถอ่านประโยคยาวๆ ได้อย่างรวดเร็ว แต่บางคนอาจจะต้องการเวลามากกว่าเพื่อน
2. อ่านให้สนุก โดยใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ในครัวเรือนมาช่วยสร้างสรรค์กิจกรรม เช่น นำไม้จิ้มฟันมาเรียงเป็นคำศัพท์ใหม่ ชี้ชวนให้เด็กๆ ตามหาคำศัพท์ที่คุ้นเคยในป้ายโฆษณาหรือเล่นเกมทายคำศัพท์ เป็นต้น
3. ใช้ ‘ซูเปอร์ฮีโร่’ ช่วยดึงดูดความสนใจในการอ่าน เด็กแต่ละคนย่อมมีฮีโร่ในใจอยู่แล้ว อาจจะเป็น เจ้าหญิงเอลซ่า แบทแมน หรือนินจาก็ได้ ผู้ปกครองหรือผู้สอนสามารถนำเรื่องราวของตัวละครเหล่านี้มาชักชวนเด็กๆ ให้อ่านอย่างเพลิดเพลิน
4. ใช้สื่อให้หลากหลาย อย่าจำกัดการอ่านไว้ที่หนังสือเล่ม เพราะสื่อต่างๆ ซึ่งรายล้อมรอบตัวเด็กมีทั้งหนังสือเสียง แอปพลิเคชัน หนังสือการ์ตูน นิตยสาร วิดีโอคลิป
5. อ่านออกเสียงกับเด็กอย่างต่อเนื่อง อ่านเป็นเพื่อนเด็กไปเรื่อยๆ จนกระทั่งพวกเขาสามารถอ่านด้วยตัวเองได้

อ่านหนังสือกับเพื่อนสี่ขา
มูลนิธิฯ ส่งเสริมการจัดกิจกรรมอ่านหนังสือกับสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสุนัข เพราะเมื่อเด็กเริ่มเติบโตขึ้น การแก้ไขคำที่อ่านผิดโดยครูในห้องเรียน หรือโดยผู้ปกครองที่บ้าน จะทำให้การอ่านไม่ใช่เรื่องสนุกสำหรับพวกเขาอีกต่อไป นานวันเข้าการอ่านอาจจะกลายเป็นภารกิจที่เด็กจำใจทำมากกว่าเป็นงานอดิเรก ในขณะที่ ‘เพื่อนสี่ขา’ มักเป็นผู้ฟังที่ดี และไม่เคยตัดสิน หรือสั่งให้หยุดอ่านกลางคันและคอยแก้ไขคำที่เด็กๆ อ่านผิด การลูบขนสุนัขไปมายังช่วยให้ร่างกายหลั่งออกซิโตซินฮอร์โมนแห่งความสุขด้วย
แต่การอ่านหนังสือกับสุนัข ต้องการความเชี่ยวชาญพิเศษ ทั้งสุนัขที่จะมาเป็นผู้ฟัง และผู้ดูแลการอ่านต้องผ่านการฝึกอบรมมาแล้วเป็นอย่างดี สุนัขที่สามารถเป็นผู้ฟังที่ดีได้ ต้องมีความเป็นมิตรและสามารถแสดงท่าทีตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้ดี ทุกวันนี้องค์กรต่างๆ ในเยอรมนี เช่น ห้องสมุด ให้บริการอ่านหนังสือกับสุนัขมากขึ้นเรื่อยๆ


ส่งเสริมการอ่านนิตยสาร
เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ที่มูลนิธิฯ สนับสนุนให้เด็กอ่านนิตยสารเพื่อพัฒนาทักษะการอ่าน เพราะเป็นแหล่งข้อมูลที่เข้าถึงง่าย มีความหลากหลายในแง่ของมุมมอง บทความ รูปภาพ และเกมปริศนา ทั้งยังเป็นแหล่งข้อมูลที่ทันเหตุการณ์ และสะท้อนสังคมปัจจุบัน ชี้ให้เห็นแนวโน้มต่างๆ ของประเทศ จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเด็กๆ โดยเฉพาะผู้ที่ย้ายถิ่นฐานมาจากประเทศอื่น นอกจากนี้ก็เหมาะสมกับคนที่ยังอ่านหนังสือได้ไม่คล่องนัก เพราะมีทั้งรูปภาพและข้อความขนาดสั้น นับว่าเป็นทางเลือกที่ดีของการส่งเสริมการอ่าน
แปลงแนวคิดสู่หลากหลายกิจกรรมและแคมเปญส่งเสริมการอ่าน
กิจกรรมและแคมเปญต่างๆ ของมูลนิธิฯ ถูกออกแบบมาให้สอดคล้องกับแนวคิดที่ยึดถือ คือเน้นการอ่านอย่างสนุกสนาน ฝึกให้เด็กเล็กอ่านหนังสือได้ และใช้การอ่านออกเสียงเป็นสื่อการเรียนรู้ อาทิ
Lesestart 1-2-3 (Reading Start 1-2-3)
โครงการนี้ มอบหนังสือ 3 ชุด ให้กับครอบครัว เมื่อเด็กมีอายุ 0-3 ปี ครอบครัวสามารถรับหนังสือชุดที่ 1 และ 2 ได้จากคลินิกของกุมารแพทย์ เมื่อพาไปตรวจสุขภาพตามกำหนด ส่วนชุดที่ 3 รับได้จากห้องสมุด หนังสือทั้ง 3 ชุด ประกอบด้วยหนังสือนิทานภาพ ข้อมูลสำหรับผู้ปกครองว่าจะอ่านออกเสียงและเล่านิทานให้เด็กฟังอย่างไร หลังจากเริ่มโครงการเมื่อปี 2019 กุมารแพทย์ได้กระจายชุดของขวัญไปแล้วกว่า 500,000 ชุด

World Book Day: แจกหนังสือให้เด็กประถมทุกปี
วันที่ 23 เมษายน ของทุกปี มูลนิธิฯ จะร่วมเฉลิมฉลองวันหนังสือแห่งชาติ โดยร่วมมือกับพันธมิตรแจกหนังสือให้เด็กๆ กว่า 1.1 ล้านคน โดยเฉพาะเด็กในชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และ 5 รวมถึงเด็กในโปรแกรมการศึกษาสำหรับผู้มีความต้องการพิเศษ และยังมีกิจกรรมอีกมากมายทั้งในรูปแบบพื้นที่และออนไลน์ โดยโรงเรียนต่างๆ สามารถลงทะเบียนเพื่อรับหนังสือ หรือคู่มือกิจกรรมไปจัดให้กับเด็กๆ ในพื้นที่ของตัวเองได้


National Reading Aloud Day
งานนี้ถือเป็นเทศกาลการอ่านที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมนี โดยในปี 2024 มีผู้เข้าร่วมกว่า 1.2 ล้านคน จัดขึ้นในวันศุกร์ที่สามของเดือนพฤศจิกายน ผู้คนจากหลากหลายกลุ่มอายุจะมารวมตัวกันเพื่ออ่านออกเสียงให้กันและกันฟัง โดยเฉพาะในสถานที่ต่างๆ เช่น โรงเรียน ห้องสมุด และศูนย์ดูแลเด็ก ไปจนถึงห้างสรรพสินค้าและพิพิธภัณฑ์
ผู้ที่มาร่วมกิจกรรมมีทั้งนักเขียน นักแสดง และบุคคลสำคัญจากหลากหลายแวดวง ตบเท้าเข้าร่วมเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการอ่าน และเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนเห็นว่าการอ่านออกเสียงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทักษะการอ่านและการสื่อสารของเด็ก


Reading Box
การจัดเตรียม ‘กล่องหนังสือ’ สำหรับเป็นชุดของขวัญ แต่ละกล่องมีหนังสือที่คัดเลือกมาแล้ว 20 เล่ม มูลค่ารวม 250 ยูโร รวมถึงคู่มือการอ่านออกเสียงและการใช้งานหนังสือ ใครอยากสนับสนุนโรงเรียนหรือศูนย์เลี้ยงเด็ก สามารถสั่งซื้อกล่องหนังสือเพื่อมอบเป็นของขวัญพิเศษให้กับสถานที่เหล่านั้นได้

ช่องทางส่งเสริมการอ่าน
มูลนิธิฯ มีแพลตฟอร์ม แอปพลิเคชัน และสื่อซึ่งช่วยฝึกอ่านสำหรับครูและผู้ปกครอง เช่น KITA Portal ที่มีเคล็ดลับการอ่านออกเสียงและการเล่านิทาน ให้เหมาะสำหรับบริบทต่างๆ ทั้งการอ่านในชีวิตประจำวัน และอ่านในโรงเรียนหรือสถานเลี้ยงเด็ก มีบทความเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านการอ่านในปัจจุบัน รวมถึงมีคอร์สออนไลน์สำหรับผู้สนใจ
สำหรับคุณครูในโรงเรียน Schul Portal เป็นแหล่งรวบรวมสื่อและวิธีการสอน ให้นักเรียนสามารถอ่านออกเขียนได้ รวมถึงมีรายการกิจกรรมต่างๆ ที่โรงเรียนสามารถเข้าร่วมได้ในช่วง World Reading Day นอกจากนี้มูลนิธิฯ ยังมีช่องทางติดต่อสำหรับผู้สนใจทำงานอาสาสมัครด้วย

จับมือกับพันธมิตร พิชิตความไม่รู้หนังสือ และร่วมสร้างสังคมแห่งการอ่าน
พันธมิตรของมูลนิธิการอ่าน มีทั้งหน่วยงานภาครัฐ มูลนิธิ สถาบัน บริษัทเอกชน หรือแม้กระทั่งบุคคลทั่วไป ที่ผ่านมาโครงการความร่วมมือต่างๆ มีจำนวนมากถึง 140 โครงการ พันธมิตรหลายๆ แห่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่และมีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจในเยอรมนี เช่น
หนังสือเด็กในชุดแฮปปี้มีลของ McDonald’s: ความร่วมมือที่มีมานานกว่า 14 ปี
ในทุกๆ ชุดแฮปปี้มีล เด็กจะได้รับหนังสือ 1 เล่ม โดยทุกเดือน จะมีหนังสือเล่มใหม่เข้าร่วมในคอลเลกชัน ให้เด็กได้ร่วมลุ้นว่าเดือนนี้จะมีหนังสือใหม่เรื่องใดบ้าง หนังสือแจกมีหลากหลายประเภท ทั้ง non-fiction ให้ความรู้ การ์ตูนแสนสนุก นิยายระทึกขวัญ นอกจากนี้รายได้ส่วนหนึ่งของแฮปปี้มีลยังถูกนำไปใช้เพื่อการกุศลอีกด้วย

ชวนเด็กๆ มาเข้าบุ๊กคลับร่วมกับ Porsche
บริษัทรถยนต์รายใหญ่อย่าง Porsche ก็เป็นอีกหนึ่งพันธมิตรสำคัญ ที่ร่วมสนับสนุนโครงการด้านการศึกษาและการอ่านในโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง อย่างการจัดบุ๊กคลับให้เด็กที่อาศัยอยู่ในเมืองซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตรถยนต์ Porsche กิจกรรมนี้เกิดขึ้นมาแล้วกว่า 29 ครั้ง บริษัทจะจัดหาหนังสือและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการจัดกิจกรรม บางครั้งยังส่งแบรนด์แอมบาสซาเดอร์มาร่วมกิจกรรมอ่านออกเสียงกับเด็กๆ ด้วย นอกจากนี้ Porsche ยังจัดหาสื่อที่ส่งเสริมการอ่านให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนอยู่เสมอ

AlphaDekade
AlphaDekade (Alpha Decade) เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายทางสังคมและการเมือง มีเป้าหมายเพื่อยกระดับทักษะการรู้หนังสือและการศึกษาขั้นพื้นฐานของผู้ใหญ่ซึ่งครอบคลุมไม่เพียงแต่การอ่าน การเขียน และการคำนวณเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทักษะทางสังคม ทักษะการแก้ปัญหา การรู้เท่าทันสื่อ และทักษะการสื่อสารด้วย เนื่องจากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในทุกด้านของชีวิต การรู้หนังสือและการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการดำรงชีวิตอย่างมีความเป็นอิสระและมีส่วนร่วมในสังคม
โปรเจกต์ที่มูลนิธิฯ ร่วมมือกับ AlphaDekade มีหลากหลายโปรเจกต์ เช่น REACH โครงการศึกษาสาเหตุที่วัยรุ่นและวัยทำงานตอนต้น (อายุ 16-35 ปี) เข้าไม่ถึงการอ่าน และค้นหาวิธีที่จะกระตุ้นให้คนกลุ่มนี้พัฒนาทักษะการอ่าน การเขียน หรือ MOVE โครงการนี้ศึกษาพฤติกรรมผู้ที่มีความสามารถด้านการอ่านและการเขียนต่ำ โดยค้นหาสาเหตุและวิธีแก้ไข เพื่อบรรเทาปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อคนกลุ่มนี้กลายมาเป็นผู้ปกครอง และต้องสอนเยาวชนในครอบครัวให้อ่านหนังสือต่อไป
ที่มา
เว็บไซต์ Stiftung Lesen (Online)
Cover Photo: © Stiftung Lesen/Jonathan Kaiser