“ขอต้อนรับเข้าสู่สวนสัตว์ออสเตรเลียครับ! แม่กับพ่อของผมสร้างที่แห่งนี้ขึ้นมาตั้งแต่มันยังเป็นอุทยานสัตว์เลื้อยคลานขนาดจิ๋ว จนกลายมาเป็นสวนสัตว์แบบทุกวันนี้ เยี่ยมมากเลยใช่ไหมล่ะ!”
โรเบิร์ต เออร์วิน (Robert Irwin) เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ออสเตรเลีย และลูกชายของนักล่าจระเข้ในตำนาน สตีฟ เออร์วิน (Steve Irwin) เอ่ยไว้ในคลิปพาทัวร์แบบ Virtual ของสวนสัตว์ออสเตรเลีย จากนั้นเขาก็กล่าวแนะนำนกแก้วมาคอว์ โคอาลา งูหลามพม่า และสัตว์ตัวโปรด ซึ่งเป็นแอลลิเกเตอร์นามว่า อังเดร
โรเบิร์ตอุ้มอังเดรออกมาจากอ้อมแขนของเจ้าหน้าที่และบอกว่า “ที่สวนสัตว์ออสเตรเลีย คุณจับสัตว์ได้ทุกตัว!”
แล้วเขาก็พาทัวร์ไปตามโซนต่างๆ สัมผัสลูกเสือที่งดงามที่สุดในโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ป้อนแครอทยีราฟด้วยปาก (แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือน้ำลายหนืดเต็มหน้า) เล่นกับเมียร์แคท เป็นผู้นำโชว์จระเข้หวาดเสียว และสุดท้ายก็แนะนำโรงพยาบาลสัตว์ (ที่เจ้าตัวอ้างว่า)วุ่นวายที่สุดของโลก
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1980 อุทยานสัตว์ป่าของสตีฟมีเจ้าหน้าที่ประจำเพียง 2 คนถ้วน มีชื่อว่าอุทยานสัตว์เลื้อยคลานควีนส์แลนด์และสวนน้ำ (Queensland Reptile and Fauna Park) ในช่วงนั้น สตีฟได้รับมอบหมายจากรัฐบาลควีนส์แลนด์ให้ดูแลจระเข้ในโครงการ
เขาพบรักกับภรรยา เทอร์ริ เรนส์ (Terri Raines) ในปี 1991 และหลังจากนั้น 1 ปี แทนที่จะไปฮันนีมูนชูชื่นตามประสาคนทั่วไป ทั้งสองกลับออกเดินทางไปถ่ายทำภารกิจช่วยจระเข้และตั้งชื่อมันว่า ‘The Crocodile Hunter’ หรือสารคดีอนุรักษ์และถ่ายทอดชีวิตสัตว์ป่าที่เป็นตัวสร้างชื่อให้กับเขา จนกลายมาเป็นสวนสัตว์ออสเตรเลียในปัจจุบัน
สวนสัตว์ออสเตรเลียทุกวันนี้ มีพื้นที่กว้างขวางถึง 700 เอเคอร์ มีเจ้าหน้าที่กว่า 500 คน สานต่อแนวคิดและคุณค่าในการทำงานอนุรักษ์สัตว์ป่าของ สตีฟ เออร์วิน ผ่านการศึกษาเรียนรู้ที่น่าตื่นเต้น และมีเป้าหมายในการเป็นพื้นที่พิทักษ์จระเข้ อนุรักษ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อมระดับโลก
แม้ประวัติศาสตร์ของสวนสัตว์จะไม่ค่อยสวยงาม เพราะเริ่มต้นจากการเป็นกรงขังสัตว์ของเศรษฐีที่มีไว้เพื่อแสดงอำนาจเหนือผู้อื่น แต่หลังจากยุคเรืองปัญญาในศตวรรษที่ 18 เมื่อมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และหลักเหตุผล การออกแบบสวนสัตว์ก็เปลี่ยนไป เริ่มมีการศึกษาวิจัยกายวิภาคและพฤติกรรมของสัตว์มากขึ้น สวนสัตว์ยุคใหม่ (ตั้งแต่ปี 1793) จึงเน้นการสร้างที่อยู่เสมือนธรรมชาติให้สัตว์ได้วิ่งเล่น มีลักษณะคล้ายพิพิธภัณฑ์จัดแสดงสัตว์ในพื้นที่ขนาดเล็ก แต่เต็มไปด้วยสัตว์หลายสายพันธุ์ และมีจุดประสงค์เพื่ออนุรักษ์สัตว์ ให้ความบันเทิงและเป็นหนึ่งในสถานศึกษาสำหรับผู้มาเยี่ยมชม
สวนสัตว์ทั่วโลกพัฒนาไปในทิศทางที่หลากหลาย สวนสัตว์ออสเตรเลียเองก็โดดเด่นเรื่องความครบวงจร การทำวิจัยช่วยจระเข้ โรงพยาบาลรักษาสัตว์ และบริการที่พัก ซึ่งถือว่าไปไกลกว่านิยามความเป็นสวนสัตว์ที่เราคุ้นชินกัน
ตามคำโฆษณาของโรเบิร์ต ที่นี่มีทุกอย่าง ลองเป็นเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ 1 วันเต็มก็ทำได้ เช่นกันกับการเรียนรู้ Behind the scene ของโรงพยาบาลสัตว์ จับโคอาลา หรือสิ่งที่หวือหวาอย่างแพ็กเกจขอแต่งงานในสวนสัตว์โดยมียีราฟเป็นสักขีพยาน
คลั่งรักสัตว์โลกมันดียังไง สวนสัตว์ออสเตรเลียมีคำตอบให้
สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้สตีฟคลั่งรักสัตว์โลกคือ พ่อกับแม่ของเขาก็เป็นคนคลั่งรักสัตว์เลื้อยคลานเช่นกัน พวกเขาเปิดอุทยานสัตว์เลื้อยคลานเบียวาห์ในปี 1979 โดยที่ ลิน แม่ของสตีฟเป็นผู้อนุบาลสัตว์ป่าฝีมือดีที่ดูแลสัตว์เจ็บป่วยและกำพร้าอยู่เสมอก่อนที่จะปล่อยมันออกสู่ป่า
สตีฟในวัย 6 ขวบได้จับงูพิษสีน้ำตาลเป็นครั้งแรก เขาไปโรงเรียนสายเสมอเพราะมักจะให้ขอให้พ่อแม่จอดรถเพื่อช่วยเหลือตัวเงินตัวทองออกจากถนน พอเขาอายุได้ 9 ขวบ ก็มุทะลุยิ่งขึ้นไปอีกเพราะเขากระโดดลงน้ำไปปล้ำกับจระเข้ที่ต้องการความช่วยเหลือแล้วช่วยมันขึ้นมาบนเรือเล็ก
ผู้ชมที่เคยดูรายการ The Crocodile Hunter ทางช่อง Animal Planet คงคุ้นเคยกับภาพการปล้ำจระเข้ของสตีฟ เออร์วิน จระเข้ฟาดหางไปมา แต่เขากลับยิ้มแย้มสดใสผ่อนคลาย ความรักจระเข้ของสตีฟท่วมท้น แม้ว่าเขาจะเสียชีวิตไปแล้ว ครอบครัวก็ยังสานต่อภารกิจพิทักษ์จระเข้ของสตีฟอยู่เสมอ หนึ่งในไฮไลต์ของสวนสัตว์ออสเตรเลียจึงเป็นโชว์ความยิ่งใหญ่ของจระเข้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
‘CROCOSEUM’ มีที่มาจากการที่สตีฟอยากแสดงให้โลกเห็นความสวยงามของจระเข้น้ำเค็มจำนวนมากแบบที่เขาเห็น โดยแสดงพฤติกรรมและลักษณะการอยู่อาศัยของมันผ่านโชว์จระเข้น่าหวาดเสียวที่เรียกเสียงฮือฮาได้เสมอ
จระเข้เจ้าสำนักของสวนสัตว์ออสเตรเลียมีอยู่ 4 ตัว นั่นคือ กราแฮม ชาร์ลี เมอร์เรย์ และมอนตี้ โรเบิร์ตเล่าขำๆ ถึงคาแรกเตอร์แต่ละตัว กราแฮมมักจะเป็นตัวแสบที่เล่นงานเจ้าหน้าที่จนหัวหมุนได้อยู่บ้าง เคยกัดมือพ่อจนได้แผลมาแล้ว ชาร์ลี จระเข้ที่เกือบได้กลายร่างเป็นกระเป๋าหนังถ้าพ่อและแม่ของเขาไม่ช่วยมันออกมาจากฟาร์มเสียก่อน เมอร์เรย์ จระเข้สุดคูลที่ทำงานหนักเสมอ กระโดดงับเหยื่อสูงกว่าคนเสียอีก เป็นดาวเด่นที่ขยับได้ปราดเปรียวว่องไวราวกับนักกีฬา หรือมอนตี้ จระเข้ตัวโปรดของโรเบิร์ต
“เขาโชว์ความสามารถในการย่องตามคุณ เขาดูใจดีและเคลื่อนที่ช้า เขาจะโผล่พ้นน้ำขึ้นมา ดวงตาเล็กๆ คั่นระหว่างผิวน้ำ แล้วจะกระโดดขึ้นงับอย่างเร็วจากด้านข้าง” โรเบิร์ตพูดด้วยน้ำเสียงภูมิใจ และทิ้งท้ายว่าให้เขาเล่าเรื่องจระเข้ที่นี่ทั้งวันก็ยังได้
ในส่วนของการวิจัยพิทักษ์จระเข้ สวนสัตว์ออสเตรเลียทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ (University of Queensland) มานานกว่า 10 ปีเพื่อศึกษาความลับของสายพันธุ์จระเข้ ทั้งการติดจีพีเอสติดตามจระเข้น้ำเค็มในแม่น้ำกว่า 241 ตัวเพื่อศึกษาพฤติกรรมการสื่อสารระหว่างจระเข้ด้วยกัน วิถีชีวิตของมัน และความสำคัญที่มีต่อระบบนิเวศ หรือวิจัยเลือดเพื่อดูลักษณะของการอาหารในสิ่งแวดล้อม เพื่อควบคุมประชากรจระเข้ไม่ให้สูญพันธุ์
ที่สำคัญที่สุดคือศึกษาพฤติกรรมของมันเพื่อปกป้องมนุษย์ไม่ให้เป็นอันตราย สนับสนุนให้ผู้คนเข้าใจความดุร้ายของจระเข้อย่างถูกต้องและอยู่ร่วมกับมันได้
ไฮไลต์อื่นๆ ของที่นี่จะเน้นการมีประสบการณ์ร่วมกับสัตว์ให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการป้อนอาหารจิงโจ้ อุ้มและถ่ายรูปกับโคอาลาตัวนุ่มนิ่ม เข้าไปดูสัตว์ในบ้านต้นไม้ที่โซนป่าไม้เขตร้อน หรือยกระดับความพิเศษในการแอบดูเสือโคร่งสุมาตราที่ปัจจุบันมีจำนวนน้อยกว่า 350 ตัว อยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์กำลังว่ายน้ำเล่น ผู้ชมสามารถแอบดูมันจากใต้น้ำได้
หลายคนอาจจะตั้งข้อสงสัยว่าโรเบิร์ต เออร์วินจะเจริญรอยตามพ่อทุกย่างก้าวเลยหรือไม่ เพราะหน้าตาและความรักที่มีให้กับสัตว์โลกช่างเหมือนกันอย่างกับแกะ
เขามักจะอธิบายถึงสัตว์เลื้อยคลานที่ดูน่ากลัวด้วยแววตาเปี่ยมรักและน้ำเสียงตื่นเต้นว่า งูพิษตัวนี้สีสวยมากบ้าง ขนาดยาวแบบเหลือเชื่อบ้าง แมงป่องตัวนี้อัธยาศัยดีมาก เต่าตัวนี้อยู่มาร้อยปีแล้ว มีฟันแหลมคม ถ้าโดนกัดคงเจ็บแสบเข้ากระดูกดำ สัตว์ทุกตัวน่าเอ็นดูและเป็นพระเอกนางเอกของสวนสัตว์อยู่เสมอ โรเบิร์ตเล่นกับพวกมันเหมือนเป็นเพื่อนพี่น้อง โดยเฉพาะพวกสัตว์เลื้อยคลาน
ทุกคนรู้ดีว่าเขาเป็นลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น แต่ความสนใจของโรเบิร์ตที่แตกต่างออกไปคือเขาชอบถ่ายภาพสัตว์ป่ามาก จนชนะการประกวดถ่ายภาพสัตว์ป่าระดับโลกหลายที่ เช่น ได้รางวัล People’s Choice Award จาก Wildlife Photographer of The Year ปี 2020 หรือ Australian Geographic Nature Photographer of Year ปี 2016 และ 2020 และได้จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายในแกลเลอรีทั่วโลกด้วยเช่นกัน ผลงานของเขาถูกจัดแสดงถาวรไว้ที่สวนสัตว์ออสเตรเลีย ทีมงานหลักของนิตยสาร Crikey นิตยสารประจำสวนสัตว์ เผยแพร่เบื้องหลังการดูแลสัตว์และการทำงาน แถมยังมีการจัดประกวดภาพถ่ายสัตว์ป่าทุกปีเพื่อรณรงค์การพิทักษ์สัตว์ป่า
บ่อยครั้งที่เขาขายรูปภาพเพื่อระดมทุนช่วยสัตว์ป่า โรเบิร์ตกล่าวไว้ว่าเราอยู่ในโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว สัตว์ป่าและถิ่นที่อยู่ของมันลดลงอย่างน่าตกใจ ดังนั้นการประกวดภาพถ่ายสัตว์ป่านี้จึงมีภารกิจในการแสดงให้โลกเห็นว่าอาณาจักรของสัตว์ป่ายิ่งใหญ่และเป็นที่รักแค่ไหน และสนับสนุนให้ผู้คนช่วยรักษามันไว้
ในวันเกิดครบรอบ 19 ปี โรเบิร์ตกล่าวว่าเขารู้สึกได้รับอภิสิทธิ์ ที่ได้สืบทอดคุณค่าที่พ่อของเขายึดถือตลอดหลายปีที่ผ่านมา เดินรอบสวนสัตว์เมื่อไหร่ก็จะเห็นภาพของพ่ออยู่เสมอเพราะพ่ออุทิศตัวให้กับการอนุรักษ์สัตว์ป่าอย่างแท้จริง และโรเบิร์ตก็ทิ้งท้ายไว้ว่าเขาจะสานต่อเจตนารมณ์ของสตีฟในวิถีทางของเขาเอง
การเรียนรู้จะพาให้คนรักสัตว์และอยากพิทักษ์มัน
กิจกรรมสวนสัตว์ออสเตรเลียคือความสนุกสนานแบบ edutainment สตีฟ เออร์วินย้ำเสมอว่า ถ้าสามารถทำให้คนรักสัตว์เหล่านี้ พวกเขาก็จะช่วยอนุรักษ์มัน ดังนั้น อีกหมุดหมายสำคัญของสวนสัตว์ออสเตรเลียคือ โปรแกรมการเรียนรู้ หลักสูตรด้านสิ่งแวดล้อม การเพาะพันธุ์สัตว์ การทำวิจัย แคมเปญสื่อเพื่อระดมทุนช่วยเหลือสัตว์ ทำงานร่วมกับรัฐเพื่อแก้ไขเชิงนโยบาย (เช่น บินดี้ทำงานเพื่อเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายว่าจระเข้สามารถวางไข่ได้) ฯลฯ
‘Conservation through Exciting Education’ หรือการอนุรักษ์ผ่านการเรียนรู้ที่น่าตื่นเต้น คือภารกิจหลักของสวนสัตว์ออสเตรเลียที่มีโปรแกรมพิทักษ์สัตว์มากกว่า 20 สายพันธุ์
“ผมเชื่อว่าการเรียนรู้จะทำให้เรารู้สึกตื่นเต้น มองเห็นแรงขับเคลื่อนและแรงกระตุ้นที่จะเผยแพร่เนื้อหาการเรียนออกไป” สตีฟ เออร์วินกล่าว
โปรแกรมการเรียนรู้ของที่นี่ครอบคลุมทุกระดับ ทั้งเด็กเล็ก ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อุดมศึกษา เปิดรับกรุ๊ปทัวร์ในช่วงวันหยุด หรือโปรแกรมทดลองเป็นเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ได้ 1 วันเต็ม
สวนสัตว์มีโปรแกรมชวนเด็กเล็กพูดคุยเรื่องสิ่งแวดล้อมและปัจจัยสำคัญของสิ่งมีชีวิต ฟังนิทานสัตว์ป่า และยังมีเวิร์กชอปเก็บข้อมูลสัตว์ทั้งหลาย ส่วนเด็กประถมศึกษาอาจลงลึกได้มากกว่านั้น เช่น เรื่องวงจรชีวิตสัตว์ การปรับตัว หรือสัตว์ที่มีความเสี่ยงในการสูญพันธุ์
สวนสัตว์ออสเตรเลียมั่นใจในคุณภาพหลักสูตรการเรียนการสอนของตัวเอง เพราะหากพูดกันในเชิงธุรกิจ ที่นี่ได้รับรางวัลด้านธุรกิจแบบสหวิชาชีพ (multi-disciplinary business) มาแล้ว จึงสามารถออกแบบหลักสูตรที่มีความหลากหลายและตรงกับมาตรฐานของหลักสูตรการศึกษาออสเตรเลีย เน้นการลงพื้นที่จริงและสอนทฤษฎีแบบนำไปใช้ได้ เพราะเจ้าหน้าที่มีความเชี่ยวชาญในหลายสาขา เช่น การดูแลสัตว์ ไอที การตลาด หรือธุรกิจการบริการ หัวข้อของหลักสูตรจึงมีความเป็นทางการขึ้นมาอีกขั้น เช่น เรื่องความยั่งยืน การออกแบบถิ่นที่อยู่ ธุรกิจ และการตลาด
รัฐบาลควีนส์แลนด์ มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ โรงพยาบาลเด็กควีนส์แลนด์ ฟูจิฟิล์ม คณะประสานเสียงเยาวชนวาโตโต (Watoto Children’s Choir) สโมสรโรตารี และองค์กรอีกมากมายเข้าร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ของสวนสัตว์ สวนสัตว์ออสเตรเลียจึงสามารถทำงานรณรงค์ในระดับนี้ต่อไปได้ และมีองค์กรพิทักษ์สัตว์แยกย่อยออกมามากมาย
โครงการ Wildlife Warrior ที่สตีฟก่อตั้งดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้ ในโครงการมีทั้ง หน่วยผู้หญิงนักพิทักษ์ หน่วยวิจัยปลากระเบน ฉลามวาฬ เสือชีตาห์ โคอาลา หรือการออกมาเรียกร้องต่อต้านการล่าสัตว์ในออสเตรเลีย ทั้งยังจัดงานเพื่อระดมทุนช่วยสัตว์อยู่เสมอ เช่น เปิดตลาดสวนสัตว์ เทศกาลในวันพ่อ-วันแม่
ปี 2004 ในช่วงเวลาของการขยับขยายสวนสัตว์ สตีฟตั้งโรงพยาบาลสัตว์ออสเตรเลียเพื่ออุทิศให้กับแม่ที่เสียชีวิตไป และอย่างที่โรเบิร์ตโฆษณาไว้ มันกลายเป็นสถานที่อำนวยความสะดวกในการดูแลรักษาสัตว์ป่าระดับโลกที่ช่วยเหลือและฟื้นฟูร่างกายของสัตว์พื้นถิ่นของออสเตรเลียกว่า 7,000 สายพันธุ์ในทุกๆ ปี
แล้วเราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ในโลกที่เราต่างเป็นเจ้าของ
สตีฟ เออร์วินเสียชีวิตในปี 2006 เพราะอุบัติเหตุ เขาโดนปลากระเบนหางสั้นใช้เงี่ยงแทงเข้าที่หัวใจในขณะที่กำลังถ่ายทำสารคดี ครอบครัวของเขาไม่ได้ซัดสาดความโกรธแค้นไปที่สัตว์แต่อย่างใด แต่กลับหาทางรักษาสัตว์ที่ได้รับบาดเจ็บอยู่เสมอ
โรงพยาบาลสัตว์ออสเตรเลียคงจะเป็นโรงพยาบาลที่วุ่นวายที่สุด เพราะรับผู้ป่วยมาแล้วถึง 120,000 ตัว ในทุกๆ ปีจะมีสัตว์เข้ารับการรักษาราว 9,000-10,000 ตัว สตีฟสานต่อความฝันของแม่โดยการเปลี่ยนสถานที่ดูแลสัตว์จากโรงไม้อาโวคาโดเล็กๆ ที่รองรับสัตว์ได้แค่ 60 ตัว ให้เป็นโรงพยาบาลอย่างดี (เทอร์ริ ภรรยาของเขาก็เคยทำงานด้านการดูแลสัตว์มาก่อนเช่นกัน)
“ดูเจ้าก้อนขนนี่สิ! นี่คือแดชครับ เขาเป็นหงส์จิ๋ว”
“ไง เจ้าเป็ดวู้ด เป็นไงบ้างเพื่อน”
“ผมอยู่ที่นี่ได้ทั้งวันเลย”
โรเบิร์ตอธิบายอาการของสัตว์บาดเจ็บหรือต้องการการรักษาแต่ละตัวพร้อมชมพวกมันไม่ขาดปากว่าน่ารัก ไม่ว่าจิงโจ้จะโดนรถชน โคอาลากำพร้าแม่ หรือเต่าทะเลป่วยเพราะกินพลาสติกจนเกินขนาด ที่นี่รับรักษาและปล่อยพวกเขาออกสู่โลกธรรมชาติได้ดังเดิมเพราะมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพร้อม ยังไม่นับโปรแกรมรับนักศึกษาสัตวแพทย์ฝึกงานหรือทัวร์โรงพยาบาล
ถ้าผู้ชมทางบ้านอยากจะเข้าร่วมโปรแกรมบริจาคเพื่อรับสัตว์บุญธรรม (โดยไม่ต้องรับไปเลี้ยงที่บ้านจริงๆ) ที่สวนสัตว์มีวิลเลียม (ชีตาร์) ลูคัส (ม้าลาย) เนลสัน (สิงโตสุมาตรา) ดีเจ (แรด) มอลลี (เมียร์แคท) โคยา (โคอาลา) ฟอร์เรส (ยีราฟ) และสารพันสัตว์ให้คุณเลือก โครงการดำเนินไปได้ด้วยงบประมาณสนับสนุนจากรัฐ ซึ่งโปรแกรมการรับสัตว์บุญธรรมจะช่วยสนับสนุนการเพาะพันธุ์สัตว์ที่กำลังจะสูญพันธุ์ ฟื้นฟูร่างกาย แหล่งอาหาร และที่อยู่อาศัยที่สวนสัตว์ต้องเป็นฝ่ายจัดการ หากคุณอยากเป็นพ่อหรือแม่ของกราแฮม (จระเข้) ดาราแห่งสวนสัตว์ออสเตรเลียก็ย่อมได้
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องยอมให้กับสวนสัตว์ออสเตรเลีย คือพวกเขามีจุดมุ่งหมายในการสานสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ที่แข็งแกร่งและสนุกสนาน มีความคิดสร้างสรรค์ในการจัดแพ็กเกจเที่ยวสวนสัตว์เชิงสร้างสรรค์
ที่นี่มีกิจกรรมจัดงานแต่งงานในหลายพื้นที่ในสวนสัตว์ บ่าวสาวจะเลือกให้มีจิงโจ้กระโดดมาระหว่างเข้าพิธี หรือซื้อแพ็กเกจขอแต่งงานโดยมียีราฟเป็นสักขีพยานก็ได้
สำหรับเด็กๆ กิจกรรม Cake smash photoshoot ก็น่ารักสุดๆ เพราะเด็กเล็กๆ มีโอกาสเป่าเค้กข้างๆ เต่าหรือเจ้าก้อนกลม ตัวกินมดหนาม กิจกรรมเหล่านี้เป็นธุรกิจของสวนสัตว์และออกแบบมาบนพื้นฐานที่ว่ามนุษย์กับสัตว์สามารถเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันได้ ครอบครัวมีช่วงเวลาดีๆ ร่วมกัน ชุมชนได้รับรู้ว่าสัตว์ก็คือเพื่อนของพวกเขา
สัตว์ที่เป็นผู้ล่าอย่างจระเข้หรือเสือสายพันธุ์ต่างๆ มีบทบาทที่สำคัญต่อระบบนิเวศ ความเข้าใจผิดของผู้คนที่คิดว่ามันเป็นภัยต่อมนุษย์ทำให้สัตว์เหล่านี้เสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ หนึ่งในวิธีที่จะผดุงมันไว้คือการสนับสนุนการเรียนรู้ที่จะทำให้เกิดความเข้าใจว่าสัตว์มีบทบาทที่สำคัญต่อโลกใบนี้ อาจจะยิ่งกว่าเราเสียอีก
ครอบครัวเออร์วินจึงจัดทริปสำรวจสัตว์ป่าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พวกเขามีพื้นที่ที่ดูแลอยู่หลายแห่งบางแห่งก็กว้างเท่ากับขนาดของเมืองนิวยอร์กเลยก็ว่าได้ รวมถึงเข้าไปให้ความรู้กับเด็กๆ ตามโรงเรียนท้องถิ่นว่าเราจะอยู่อาศัยอย่างสันติร่วมกับจระเข้ได้อย่างไร ถ้าเรียนรู้พฤติกรรมของมันก็อาจจะเข้าใจ และไม่โดนมันทำร้ายเข้า!
“เราไม่ได้เป็นเจ้าของโลกใบนี้ เราอาศัยโลกอยู่ และเราควรที่จะต้องแบ่งปันกันกับสัตว์ป่า” สตีฟ เออร์วินกล่าว
“เราอยากมั่นใจว่างานที่พ่อทุ่มเทอย่างหนักจะได้รับการสานต่อในอนาคต แล้วฉันก็เชื่อว่าเขายังอยู่กับเราและอยู่ในใจเราตลอดไป” บินดี้ เออร์วิน (Bindi Irwin) ลูกสาวผู้ที่ถูกตั้งชื่อตามจระเข้ตัวโปรดของพ่อกล่าว
ติดตามคลิปสัตว์สนุกๆ จากสวนสัตว์ออสเตรเลียได้ที่ https://www.youtube.com/@australiazoo/videos
*เนื่องจากสวนสัตว์ออสเตรเลียมีเงื่อนไขในการใช้รูปครอบครัวเออร์วิน ผู้อ่านสามารถตามไปดูรูปภาพเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://www.australiazoo.com.au/
ที่มา
บทความ “How Steve Irwin’s Son Robert Irwin Is Different From His Dad” (Online)
บทความ “Zoo” (Online)
เว็บไซต์ Australia Zoo (Online)
เว็บไซต์ Robert Irwin Photos (Online)
เว็บไซต์ Wildlife Warriors (Online)