‘Staff-less Library’ ลองดูซิ! ถ้าวันนี้ห้องสมุดไม่มีบรรณารักษ์

1,851 views
8 mins
September 14, 2022

          ในปัจจุบัน เทคโนโลยี Staff-less หรือเทคโนโลยีที่ผู้ใช้งานให้บริการตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาพนักงาน เริ่มกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีผู้บริโภคมากขึ้น ตัวอย่างของร้านในลักษณะนี้มีในหลายประเทศ เช่น  Amazon Go ร้านค้าในเครือ Amazon ร้านค้าออนไลน์รายใหญ่ในสหรัฐอเมริกา และร้านค้าของ Alibaba ในประเทศจีน ร้านค้าในลักษณะใช้เทคโนโลยี Image Recognition, Biometric Recognition และ AI เพื่อออกแบบการให้บริการที่ไร้รอยต่อ (Seamless) ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าได้ทางแอปพลิเคชัน แล้วเลือกรับของจากร้านค้าสาขาใดสาขาหนึ่งที่ให้บริการแบบ Self-service นับว่าตอบโจทย์วิถีชีวิตชาวเมืองใหญ่ที่รีบเร่ง ประหยัดเวลาที่ใช้ในการเดินเลือกซื้อของและต่อคิวชำระเงินที่แคชเชียร์

          แม้ว่าพื้นฐานพฤติกรรมการใช้งานห้องสมุดจะแตกต่างจากพฤติกรรมการซื้อข้าวของเครื่องใช้ แต่แนวคิดการให้บริการแบบ Staff-less ก็ได้แทรกซึมเข้ามาในวงการห้องสมุดที่ผู้ใช้บริการมักจะใช้เวลาในการค้นคว้า อ่านหนังสือ และค่อยๆ ซึมซับข้อมูลอย่างลึกซึ้งด้วยเช่นกัน ในวงวิชาการและการประชุมนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับห้องสมุดได้มีการกล่าวถึงการให้บริการแบบ Staff-less Library หรือห้องสมุดที่เปิดให้บริการในบางช่วงเวลาโดยไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่บ่อยครั้ง ทางฝั่งยุโรป ออสเตรเลีย และอเมริกาได้ทดลองให้บริการแล้วหลายแห่ง ทางฝั่งเอเชียก็มีตัวอย่างอยู่ไม่ใช่น้อย ทั้งในไต้หวัน สิงคโปร์ และมาเลเซีย

          การนำรูปแบบการให้บริการแบบ Staff-less Library มาใช้นั้น เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมานับทศวรรษ แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี และวิถีปฏิบัติที่ยึดถือมายาวนาน ย่อมนำมาซึ่งทั้งเสียงชื่นชมและข้อโต้แย้งคละกันไป ภาพจำของห้องสมุดคือ ภาพที่นักอ่านและบรรณารักษ์มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันมากกว่าระบบการยืมคืนหนังสือ หลายท่านคงนึกภาพไม่ออกว่าบรรยากาศของห้องสมุดที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ที่เป็นมนุษย์คอยให้บริการหรือคำแนะนำจะเป็นอย่างไร ผู้ใช้งานแต่ละคนหยิบยืมหนังสือที่ต้องการ ก้มหน้าก้มตาอ่าน และยืมคืนหนังสือผ่านอุปกรณ์อัตโนมัติเท่านั้นหรือ หรือนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับชีวิตของมนุษย์มากขึ้น นั่นคือปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและกันลดน้อยลงไป ปล่อยให้มนุษย์จมหายลงไปกับเทคโนโลยีและโลกส่วนตัว

Staff-less Library เมื่อเทคโนโลยีอาจทำให้ห้องสมุดนี้…ไม่มีบรรณารักษ์

จะเป็นอย่างไร เมื่อห้องสมุดไร้เจ้าหน้าที่

          คำว่า Staff-less อาจจะเป็นคำที่ทำให้ภาพในจินตนาการดูอ้างว้างเกินความเป็นจริง แท้จริงแล้ววัตถุประสงค์แรกเริ่มของ Staff-less Library คือ การขยายเวลาให้บริการให้ยาวนานขึ้นผ่านเทคโนโลยีที่จะทำหน้าที่แทนบรรณารักษ์นอกเวลาทำการปกติ บางแห่งตั้งเป้าหมายเอาไว้ที่เปิดให้บริการนักอ่านตลอด 24 ชั่วโมง การเข้ามาของเทคโนโลยี Staff-less ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะเปลี่ยนห้องสมุดให้เป็นสถานที่ไร้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ หรือ ‘Human Interaction’ แต่ประการใด

          ห้องสมุดหลายแห่งในหลายประเทศ มีการนำระบบการจัดการนี้มาใช้และเก็บข้อมูลประเมินความพึงพอใจจากผู้ใช้งานไปเรียบร้อยแล้ว เช่น ในแถบสแกนดิเนเวียมีห้องสมุดนับร้อยแห่งที่มีช่วงเวลาเปิดให้บริการที่ต้องดูแลตัวเองแบบไม่มีเจ้าหน้าที่ นอกจากคำว่า Staff-less Library แล้ว คำว่า Open Library หรือ Automated Library ก็ถูกนำมาใช้เทียบแทนกันในบางกรณี เพราะคำเหล่านี้สื่อถึงวัตถุประสงค์ของการเปิดให้บริการแบบไร้พนักงานคอยดูแลได้มากกว่า นั่นก็คือการ ‘เปิด’ พื้นที่ห้องสมุดให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ แม้ไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาทำการนั่นเอง

          การเปิดให้บริการแบบนี้ ห้องสมุดจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ที่เอื้อต่อการให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นประตูที่ผู้ใช้งานต้องกรอกรหัสถึงจะเข้าไปได้ จุดค้นหาข้อมูลหนังสือ เครื่องให้บริการยืมคืนอัตโนมัติ และกล้อง CCTV ที่คอยบันทึกภาพและสอดส่องดูแลห้องสมุดนอกเวลาทำการ รวมถึงการประมวลผลข้อมูลการกระจายตัวของผู้ใช้งานห้องสมุดแบบเรียลไทม์ Bibliotheca คือ บริษัทสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ที่ออกแบบและรับติดตั้งระบบที่เรียกว่า Open+ สำหรับการให้บริการใน Staff-less Library ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในโซนยุโรป ทั้งสแกนดิเนเวีย และสหราชอาณาจักร นอกจาก Open+ แล้ว Bibliotheca ยังพัฒนาเทคโนโลยีอื่นๆ สำหรับห้องสมุด ไม่ว่าจะเป็นระบบ Cloud Library สำหรับจัดการข้อมูลออนไลน์ Smart Shelf สำหรับการจัดการระบบคืนหนังสือ ระบบ Streaming เพื่อถ่ายทอดกิจกรรมที่ห้องสมุดจัดขึ้น และอีกหลากหลายระบบที่ห้องสมุดแต่ละแห่งสามารถออกแบบหรือ ‘Customize’ ให้เหมาะสมกับบริบทและความต้องการของตนเองได้

          ทั้งนี้ เทคโนโลยีเหล่านี้จะถูกเปิดใช้งานเมื่ออยู่ในช่วงนอกเวลาทำการของเจ้าหน้าที่ ในช่วงเวลากลางวันนั้น ยังมีบรรณารักษ์คอยให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการ ‘Human Touch’ ดังเดิม ผู้อำนวยการห้องสมุดหลายแห่งที่ตัดสินใจทดลองนโยบาย Staff-less จึงยืนยันว่าระบบการจัดการแบบนี้คือการเติมเต็มมากกว่าที่จะด้อยค่าบรรณารักษ์ และเจ้าหน้าที่ห้องสมุด

แนวคิด Staff-less กับพัฒนาการผ่านยุคสมัย

          การให้บริการแบบ Staff-less จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีพื้นฐานเทคโนโลยีที่รองรับพฤติกรรมการใช้งานห้องสมุดตั้งแต่การเดินเข้ามาในพื้นที่ การค้นหาหนังสือ และการยืมคืนหนังสือ เทคโนโลยีพื้นฐานของ Open+ ครอบคลุมพฤติกรรมผู้ใช้งาน คือ ตั้งแต่การรักษาความปลอดภัยที่ประตูทางเข้า การบันทึกข้อมูลคนเข้าออกแบบเรียลไทม์ การเก็บข้อมูลการกระจายตัวของผู้ใช้งาน รวมถึงระบบการค้นหา ยืม คืน หนังสือแบบ Self-service ซึ่งโดยส่วนมากเป็นระบบ RFID (Radio Frequency Identification) เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถให้บริการตนเองได้นอกเวลาทำการของเจ้าหน้าที่

          ในอีกหลายกรณี ระบบ Staff-less Library ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อขยายเวลาการให้บริการของห้องสมุดเท่านั้น แต่ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้อ่านเข้าถึงหนังสือได้ง่ายขึ้น ห้องสมุดประชาชนหลายแห่งแตกสาขาย่อยที่ให้บริการแบบ Self-service ในตัวเมือง ห้องสมุดเล็กๆ เหล่านี้ เป็นจุดที่ช่วยกระจายหนังสือให้ถึงมือผู้ใช้งานได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น

          ทางฟากฝั่งเอเชียเองก็มีแนวคิดที่จะทดลองให้บริการแบบนี้มานานแล้ว ในช่วงปี ค.ศ. 1990s รูปแบบการจัดการแบบ Staff-less Library ถูกนำมาทดลองใช้ในโตเกียว โดยเครื่องยืมหนังสืออัตโนมัติถูกติดตั้งไว้ที่สถานีรถไฟต่างๆ แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ เพราะหนังสือจำนวนมากเมื่อถูกยืมไปแล้วกลับไม่ได้ถูกนำมาคืน ต่อมาจึงได้มีการทดลองโมเดลนี้ที่สิงคโปร์ ในปี ค.ศ. 2002 โดยใช้เครื่องยืมคืนหนังสือในระบบ RFID และต่อมาในปี 2004 ที่เดนมาร์กจึงมีการทดลองระบบที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในยุโรปปัจจุบันนี้

          ห้องสมุดในไต้หวันเริ่มทดลองใช้ระบบ Staff-less เพื่อกระจายการเข้าถึงหนังสือของประชาชนมาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 2004-2005 จนกระทั่งในปี 2014 หอสมุดประชาชนไทเปมีห้องสมุดสาขาเล็กๆ ที่ไม่มีพนักงานประจำตั้งอยู่หลายจุด เช่น Taipei Public Library East Metro Mall Intelligent Library ที่ตั้งอยู่ในสถานีเมโทรที่ให้บริการยืมคืนหนังสือได้แบบไร้พนักงาน และยังมีสาขาอื่นในห้างสรรพสินค้า สนามบิน สวนสาธารณะ และโรงเรียน โดยห้องสมุดเหล่านี้ถูกเรียกว่า ‘Intelligent Library’ การให้บริการพื้นฐาน คือ มีห้องมิดชิดที่มีระบบรักษาความปลอดภัย สัญญาณจะร้องเตือนทันทีที่ผู้ยืมหนังสือไม่ได้ดำเนินการยืมตามขั้นตอนที่ถูกต้องกับเครื่องยืมอัตโนมัติในระบบ RFID

          เมื่อต้นปี 2022 ที่ผ่านมา ระบบยืมหนังสือแบบ Self-service นอกเวลาทำการ ก็เกิดขึ้นที่ห้องสมุดคาร์มาร์เทนเชียร์ (Carmarthenshire) ในเวลส์ สหราชอาณาจักร โดยผู้อำนวยการห้องสมุดกล่าวว่า ระบบนี้เป็นระบบให้บริการแบบ Automated แห่งแรกในเวลส์ นักอ่านสามารถเลือกหนังสือในห้องสมุดที่สนใจจะยืมผ่าน Online Catalog และเครื่องให้บริการในห้องสมุด โดยผู้ยืมต้องระบุช่วงเวลาที่สะดวกในการรับหนังสือ และจะได้รับการแจ้งเตือนทางข้อความโทรศัพท์มือถือเพื่อให้มารับหนังสือได้ที่ Collection Locker แม้ว่าจะเป็นในช่วงเวลาที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ห้องสมุดดูแล

          สำหรับในประเทศไทยนั้น ห้องสมุดที่มีความใกล้เคียงกับ Staff-less Library คือ The Cultivation Library ที่ AIS เปิดให้บริการกับพนักงานที่ต้องการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง โดยในห้องสมุดนั้นไม่มีชั้นวางหนังสือเลย แต่มีหน้าจอดิจิทัลเรียงรายนำเสนอรายการหนังสือที่ผู้ใช้งานสามารถเลือกอ่านได้ หากถูกใจหนังสือเล่มไหนก็กดยืมหนังสือได้จากหน้าจอในห้องสมุด หรือจากแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ เพียงเท่านี้หนังสือจะถูกจัดส่งให้ถึงโต๊ะทำงาน หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับหนังสือ หรือการยืมคืน ก็สามารถติดต่อกับบรรณารักษ์ได้ผ่านทางอินเทอร์คอมที่อยู่ในห้องสมุด บรรณารักษ์จะคอยรับสายเพื่อตอบข้อสงสัยจากผู้ใช้บริการได้ทุกที่ ทุกเวลา แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในห้องสมุดด้วย

          ยิ่งเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และฐานข้อมูลพัฒนามากขึ้นเท่าไร ผู้พัฒนาระบบห้องสมุดก็ยิ่งจุดประกายความคิดที่จะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและชาญฉลาด มาใช้งานกับระบบ Staff-less เช่น การนำ Facial Recognition มาใช้กับการรับหนังสือตามจุดยืมคืน การใช้ AI เพื่อประมวลข้อมูลเพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับประโยชน์และความสะดวกมากที่สุด รวมถึงการพัฒนาระบบที่เชื่อมกับแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้การให้บริการนั้นไร้รอยต่อ ตอบสนองความต้องการผู้ใช้งานให้มากที่สุด เมื่อเข้าสู่ปลายทศวรรษที่ 2 ของศตวรรษที่ 21 วัตถุประสงค์ของการพัฒนาระบบ Staff-less จึงไม่ใช่แค่เพียงการขยายเวลาเปิดทำการให้ยาวนานขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการนึกถึง ‘User Experience’ มากขึ้นอีกด้วย

          ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ มีการนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่จะต่อยอดการให้บริการแบบ Staff-less มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในบทความวิชาการ และในที่ประชุมระดับโลก ในงานประชุมของ IFLA (International Federation of Library Associations and Institutions) ปี 2018 ตัวแทนจากไต้หวันได้นำเสนอแนวคิดพัฒนารูปแบบการให้บริการใน ‘Intelligent library’ ที่มีอยู่แล้วในกรุงไทเป ด้วยการปรับการให้บริการทั้งระบบให้เป็นแบบอัตโนมัติ และผนวกเทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบเข้าด้วยกัน เพื่อช่วยให้การกระจายและการรับหนังสือเป็นไปโดยสะดวกมากขึ้น เริ่มตั้งแต่การใช้แอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือเพื่อระบุหนังสือเล่มที่ต้องการจะยืม จากนั้นกระบวนการต่อมาจะเป็นกระบวนการหลังบ้านของห้องสมุดที่ควบรวมหลายเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน ได้แก่ การจัดเก็บหนังสือแบบอัตโนมัติ (Automated Storage) การใช้ Robotic Arm เพื่อการค้นหาหนังสืออย่างรวดเร็ว ปิดท้ายด้วย Facial Recognition ที่ผู้ยืมสามารถไปรับหนังสือที่จุด Vending Machine ที่กระจายอยู่ทั่วไปตามจุดต่างๆ ของเมืองได้ โดยตลอดทั้งกระบวนการเป็นการทำงานตามระบบแบบอัตโนมัติที่ถูกเรียกรวมๆ ว่า QuickGET ที่ผู้ใช้งานจะได้รับความสะดวกสูงสุด คล้ายคลึงกับการใช้บริการซื้อของกับร้านค้าแบบ Staff-less 

          ห้องสมุดมหาวิทยาลัย APU (Asia Pacific University of Technology and Innovation Technology Park Malaysia) ในประเทศมาเลเซียกำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะประยุกต์เทคโนโลยี Mobile Application และ AI รวมกับระบบอัตโนมัติต่างๆ เพื่อให้สามารถครอบคลุมบริการตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง นำไปสู่การจัดการแบบ Staff-less นอกเวลาทำการปกติ ทั้งในเรื่องการยืมคืนหนังสือ การระบุที่เก็บหนังสือ การจองห้องทำงาน การจัดการค่าปรับและมัดจำ และการยืมหนังสือจากห้องสมุดในเครือข่าย สนองตอบพฤติกรรมของผู้ใช้งานห้องสมุดมหาวิทยาลัย หรือ Academic Library ที่ผู้ใช้งานมักจะต้องการพื้นที่ทำงานในยามดึกในการค้นคว้าวิจัย

          การเชื่อมการบริการห้องสมุดกับแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ทำให้การทำงานของห้องสมุดลดทอนจำนวนเจ้าหน้าที่ลงได้มาก APU ได้ศึกษาห้องสมุดหลายแห่งที่ใช้แอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือมาช่วยให้บริการที่ครอบคลุม เช่น NLB Mobile (นำเสนอโดยคณะกรรมการหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์), Sydney Uni Library และ Universiti Teknologi MARA (ประเทศอินโดนีเซีย) ที่ให้บริการหลากหลายรูปแบบผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ทั้งคอนเทนต์ออนไลน์ ฐานข้อมูลดิจิทัล การค้นหาหนังสือ และการบริการยืมคืน แบบจบครบทุกฟังก์ชันในแอปพลิเคชันเดียว สามารถให้บริการตนเองแบบ self-service ได้ง่ายๆ

เมื่อผู้ใช้งานมองผ่านคนละมุม

          เมื่อห้องสมุดหลายแห่งได้ทดลองเปิดพื้นที่นอกเวลาทำการโดยการพึ่งพิงเทคโนโลยี ก็เริ่มมีเสียงสะท้อนจากผู้ใช้งานกลับมาบางส่วนว่า การพัฒนาห้องสมุดไปสู่สภาวะไร้เจ้าหน้าที่อาจจะทำให้กลุ่มผู้ใช้งานที่จัดว่าเป็นกลุ่ม ‘Technophobia’ หรือกลุ่มที่ไม่ค่อยถนัดในการใช้เทคโนโลยีรู้สึกไม่สะดวกใจที่จะเข้าไปใช้บริการ บ้างก็ตั้งคำถามเกี่ยวกับเสถียรภาพของระบบ ผู้ใช้งานจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่มีเหตุอาชญากรรม หรือการละเมิดทรัพย์สินเกิดขึ้นในช่วงที่ไม่มีเจ้าหน้าที่คอยสอดส่องดูแล เพราะเทคโนโลยีคงช่วยได้เพียงจับตามอง แต่คงไม่มีใครสามารถเข้าไปแก้ไข หรือสกัดเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นได้ทันเวลา

          อีกข้อโต้แย้งที่น่าสนใจก็คือ สถิติที่ห้องสมุดได้บันทึกไว้ระหว่างทดลองให้บริการแบบ Staff-less นอกเวลาทำงาน ชี้ให้เห็นว่ามีผู้ใช้งานเป็นชายเสียเป็นส่วนใหญ่ ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มผู้หญิงที่น่าจะถนัดด้านเทคโนโลยีน้อยกว่า อาจมีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการของห้องสมุดที่เริ่มย้ายจากโลกออฟไลน์ไปสู่โลกดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ บางเสียงคัดค้านก็พาให้คิดไปไกลถึงวันที่ห้องสมุดจะไม่มีบรรณารักษ์หรือเจ้าหน้าที่อีกต่อไป เพราะสักวันหนึ่งหน่วยงานที่จัดสรรงบประมาณก็จะต้องเริ่มสังเกตเห็นว่างบประมาณในการจัดการแบบ Staff-less อาจน้อยกว่าการจ้างงานบรรณารักษ์หรือเจ้าหน้าที่ห้องสมุด หากเป็นแบบนั้นอาจนำมาซึ่งความเสียหายกับการจ้างงานในภาพรวม และยิ่งดูน่าหวาดหวั่นเมื่อสถิติการเข้าใช้งานห้องสมุดลดลงทุกวันจนสักวันหนึ่งงบประมาณสำหรับห้องสมุดจะถูกตัดทอนจนไม่อาจจ้างงานเจ้าหน้าที่ได้อีกต่อไป ซึ่งกลุ่มบรรณารักษ์ห้องสมุดบางกลุ่มก็ได้ออกมายืนยันว่า ขอบเขตงานบรรณารักษ์ในปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่แค่การให้บริการยืมคืนหนังสือ แต่ยังขยายขอบเขตไปถึงการจัดการองค์ความรู้ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และการจัดการข้อมูลข่าวสารออนไลน์อีกมากมาย ซึ่งงานที่ต้องใช้ความสร้างสรรค์แบบนี้ เทคโนโลยีที่ใช้กันอยู่ก็ยังไม่อาจแทนที่มนุษย์ได้

          ทั้งนี้ กลุ่มที่เห็นด้วยกับการให้บริการแบบ Staff-less ก็ยังมีอยู่ไม่ใช่น้อย โดยกลุ่มนี้เล็งเห็นว่า การลงทุนกับเทคโนโลยีในครั้งแรกจะทำให้เกิดความคุ้มค่าในระยะยาว เพราะจากสถิติที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าการเปิดให้บริการแบบ Staff-less เพื่อขยายเวลาให้บริการนั้น ช่วยให้มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้น เจาะกลุ่มตลาดใหม่ผู้ใช้งานวัยรุ่นและวัยทำงานตอนต้นที่มีพฤติกรรมทำงานในช่วงดึก เพราะตั้งแต่เช้าจรดหัวค่ำผู้ใช้งานในวัยนี้ยังต้องฝังชีวิตเอาไว้กับที่ทำงาน เมื่อพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของการนำรูปแบบการจัดการแบบนี้มาใช้แล้ว คงไม่ได้ทำให้บทบาทของบรรณารักษ์ หรือเจ้าหน้าที่ห้องสมุดด้อยค่าลงแต่อย่างใด แต่กลับเป็นการส่งเสริมให้ห้องสมุดเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้าง และเป็นของชุมชนอย่างแท้จริง

          ทุกวันนี้ ผู้ใช้งานหลายกลุ่มคงคุ้นเคยกับเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการให้บริการตนเองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า โรงแรม ท่าอากาศยาน แต่ทุกแห่งที่มีการให้บริการแบบ Self-service ก็มักจะมีการให้บริการแบบที่มนุษย์สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ได้ควบคู่กันไป เมื่อย้อนกลับมามองวงการห้องสมุด Staff-less Library ก็ยังเป็นรูปแบบการจัดการที่ช่วยเอื้ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานตามพฤติกรรม และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปมากกว่าที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงหรือ ‘Disrupt’ ระบบการจัดการเดิม เพราะความต้องการของผู้ใช้งานย่อมแตกต่างหลากหลายไปตามช่วงวัย และประสบการณ์

          ห้องสมุดหลายแห่งได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ให้ผู้ใช้งานมากขึ้น เช่น ห้องสมุดอิทราในประเทศซาอุดิอาระเบีย มีเครื่องให้ข้อมูลที่ทำหน้าที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับเนื้อหาของหนังสือ และระบุชั้นที่จัดเก็บหนังสือได้ราวกับจำลองบรรณารักษ์มาไว้ในรูปแบบตู้ Kiosk แต่นโยบายของห้องสมุดอิทรา ก็ยังคงเป็นการกระตุ้นให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่สำหรับการปฏิสัมพันธ์ พบปะ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม การเข้ามาของเทคโนโลยีไม่จำเป็นต้องทำลายปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เสมอไป

          คำตอบของคำถามที่ว่าการให้บริการแบบ Staff-less Library หรือหากเรียกให้ตรงประเด็นมากขึ้นคือ Open Library นั้นเหมาะสมหรือไม่ ห้องสมุดที่ไม่มีบรรณารักษ์หรือเจ้าหน้าที่จะยังทำหน้าที่ในฐานะห้องสมุดได้หรือไม่ พฤติกรรมผู้ใช้งานเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด ผู้ใช้งานห้องสมุดคงเป็นผู้ให้คำตอบได้ดีที่สุด

Staff-less Library เมื่อเทคโนโลยีอาจทำให้ห้องสมุดนี้…ไม่มีบรรณารักษ์
Photo : Ithra

ที่มา

บทความ “Autonomous Integrated Library” จาก researchgate.net (Online)

บทความ “Backlash grows against unstaffed libraries” จาก theguardian.com (Online)

บทความ “List of Staffless / “Open Plus” Libraries in the United Kingdom and beyond” จาก publiclibrariesnews.com (Online )

บทความ “New Paradigm for Taiwan’s Public Libraries and National Library in Digital Era” จาก tkforum2014.tkpark.or.th (Online)

บทความ “Open+ Libraries: Need of the hour for Tech savvy India!!!!!” จาก researchgate.net (Online)

บทความ “QuickGET Intelligent Library System: The Innovative Ideas for the Staff-less Libraries” จาก library.ifla.org (Online)

เว็บไซต์ bibliotheca.com (Online)

Cover Photo : Ithra

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก