‘วาดหวังหนังสือ’ วาดความหลากหลายให้หนังสือเด็ก ชวนเจ้าตัวเล็กหวังถึงพรุ่งนี้ที่ดีกว่า

521 views
7 mins
April 2, 2024

          หนังสือเด็กมีมากมาย ยิ่งหนังสือเด็กที่ปลูกฝังให้นักอ่านตัวน้อยเป็นเด็กดี เชื่อฟังพ่อแม่ เคารพครูบาอาจารย์ ยิ่งมีเกลื่อนกลาด สะท้อนความคิดความเชื่อว่าผู้ใหญ่บ้านนี้เมืองนี้อยากได้เด็กแบบไหน

          อันที่จริง หนังสือเด็กที่สอนทักษะการใช้ชีวิตและให้ความรู้ก็พอมี และมีเยอะเลยที่มาจากปลายปากกาของ สองขา หรือ หมอน-ศรีสมร โซเฟร นักเขียนที่โลดแล่นอยู่ในวงการวรรณกรรมเด็กมากว่า 10 ปี และก่อนหน้านั้นมีประสบการณ์เป็นครูเกือบ 20 ปีทั้งในไทย สหรัฐอเมริกา และอิสราเอล ประเทศสุดท้ายคือที่พำนักปัจจุบันของเธอ

          ต่อให้คุณไม่มีลูก ไม่อยู่ในวิสัยที่จะซื้อหนังสือเด็ก ก็อาจเคยได้ยินข่าวคราวและเสียงชื่นชมที่พ่อแม่มีต่อหนังสือของหมอนผ่านหูมาบ้าง โดยเฉพาะ หนังสือชุดป๋องแป๋ง หนึ่งในผลงานสร้างชื่อของเธอซึ่งประกอบด้วยหนังสือ 72 เล่ม (และอาจมีเพิ่มอีก!) แต่ละเล่มตัวละครหลักอย่าง ‘ป๋องแป๋ง’ จะพานักอ่านตัวน้อยไปเรียนรู้เรื่องราวและทักษะใหม่ๆ ในชีวิต เล่มที่โดดเด่นเป็นพิเศษคือ ป๋องแป๋งอยากรู้ ซึ่งช่วยให้เด็กทำความเข้าใจเรื่องอวัยวะเพศ และ ป๋องแป๋งถูกลืมในรถ ช่วยให้เด็กรู้ว่าต้องทำอย่างไรหากติดอยู่ในรถคนเดียว

          แน่นอนว่าคนที่เป็นทั้งแม่ของลูกและยายของหลาน รวมทั้งเคยเป็นครูที่อ่านหนังสือให้เด็กๆ ในชั้นเรียนฟังทุกวันอย่างหมอนภูมิใจในผลงานของตนอย่างยิ่ง แต่เธอยังคงมองเห็นช่องว่างบางอย่างในแวดวงหนังสือเด็กของไทย และเชื่อมั่นว่าหนังสือเด็กยังเป็นได้มากกว่านั้น

          หนังสือเด็กต้อง ‘วาดหวัง’ ให้เด็กๆ ได้

‘วาดหวังหนังสือ’ วาดความหลากหลายให้หนังสือเด็ก ชวนเจ้าตัวเล็กหวังถึงพรุ่งนี้ที่ดีกว่า
Photo: Srisamorn Soffer

หนังสือเด็กที่ไม่ถูกตีพิมพ์

          ตลอด 10 ปีที่เป็นนักเขียนหนังสือเด็ก หมอนมีผลงานตีพิมพ์ออกมากว่า 170 เล่ม เฉลี่ยปีละ 17 เล่ม 

          นับเป็นตัวเลขที่สูงทีเดียว–เราตั้งข้อสังเกต

          “แต่เรื่องที่ไม่ผ่านมีเยอะกว่านั้นอีก” หมอนเอ่ย พร้อมให้อินไซต์ว่า ส่วนมากมักเป็นเรื่องที่สังคมไทยไม่คุ้นเคย หรือมีความเชื่อว่าไม่ควรให้เด็กรับรู้ เช่น เรื่องเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เรื่องเด็กที่มีภาวะพิการแบบต่างๆ ไปจนถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศ

          กระนั้นหมอนเองก็พยายามพูดคุยกับสำนักพิมพ์ที่ทำงานร่วมกันบ่อยๆ “หลายสำนักพิมพ์ที่ส่งไป เราจะคุยกับเขากว้างๆ ว่า สมมติออกหนังสือ 10 เล่ม มีเล่มที่พ่อแม่อยากอ่านและขายได้สัก 6 เรื่องให้สำนักพิมพ์อยู่ได้ก็โอเคแล้ว อีก 2 เรื่องอาจจะขายดีมากหรือได้รางวัล อีก 2 เรื่องยังไม่รู้ว่าขายได้หรือไม่ได้ แต่ก็เป็นหนังสือที่ต้องมี” 

          เธอยกตัวอย่าง ‘หนังสือต้องมี’ เล่มหนึ่งที่ได้รับการตีพิมพ์ นั่นคือ หัวใจแปลงร่าง เล่าเรื่องเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่มีพี่ชายเป็นเด็กออทิสติก ช่วยให้หนอนหนังสือตัวจ้อยทำความเข้าใจเด็กพิเศษ ไม่ล้อเลียน และให้พื้นที่ในสังคม 

          หัวใจแปลงร่าง ได้รับคำชื่นชมสรรเสริญไม่น้อย ทั้งได้รับรางวัลดีเด่น ‘รักลูกอวอร์ด’ (2554) และได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน ‘100 หนังสือดีเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย’ (2555) ‘โครงการ 108 หนังสือดี เปิดหน้าต่างแห่งโอกาสสำหรับเด็กวัย 6-9 ปี’ (2556) ‘โครงการหนังสือเด็ก EF’ (2559) ตลอดจน ‘หนังสือดีสำหรับเด็กและเยาวชน’ (2560)

          “ได้รางวัลและคำชื่นชมเยอะมาก แต่ขายไม่ค่อยได้ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2554 จนตอนนี้ยังขายไม่หมดเลย” หมอนเล่าด้วยน้ำเสียงธรรมดา ไม่ได้เจือความน้อยใจ หากจะเจืออะไรก็คงจะเจือความเข้าใจ เข้าใจทั้งสำนักพิมพ์ เข้าใจทั้งพ่อแม่

          “เราถามสำนักพิมพ์ ถามเพื่อนว่าทำไมคนไม่ซื้อ เขาก็บอกว่าจากที่คุยกับหลายคน คนที่มีลูกเป็นเด็กออทิสติกไม่อยากซื้อเพราะเดี๋ยวคนรู้ว่าลูกเขาเป็น ส่วนคนที่ลูกไม่เป็นก็ไม่อยากซื้อเพราะเดี๋ยวคนคิดว่าลูกเขาเป็นเหมือนกัน”

          กำแพงสูงใหญ่ สำนักพิมพ์ไม่ค่อยอยากพิมพ์เพราะขายไม่ออก พ่อแม่ไม่ค่อยอยากซื้อให้ลูกอ่านเพราะความกลัวนานัปการ ความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่กว้างไกลกว่าการเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่และทักษะชีวิตส่งไปไม่ถึงเด็กๆ คำถามสำคัญคือผู้ที่มองเห็นปัญหานี้จะทำอย่างไร

           หมอนให้คำตอบว่า ก็ลุกขึ้นมาทำเองสิ!

หนังสือเด็กที่หลากหลาย

          แม้เห็นช่องว่างในตลาดหนังสือเด็กมาเนิ่นนาน และพยายามผลักดันให้ ‘หนังสือต้องมี’ ได้รับเลือกให้ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ใหม่ๆ หรือกระทั่งคิดค้นโปรเจกต์พิเศษต่างๆ เช่นกรณีของเรื่อง บ้านเลี้ยงเดี่ยว หนังสือว่าด้วยลูกสาวที่เติบโตมากับแม่เลี้ยงเดี่ยว ซึ่งถูกตีพิมพ์ด้วยโมเดลระดมทุนจากผู้อ่าน (crowdfunding) แต่แรงผลักดันสำคัญที่ทำให้หมอนตัดสินใจลุกขึ้นมาปลุกปั้น ‘วาดหวังหนังสือ’ ด้วยสองขาของตัวเอง คือความบิดเบี้ยวของสังคมไทยในปัจจุบัน 

          “ปกติเราเป็นคนลั้นลา แต่หลายปีมานี้รู้สึกเครียด คงเหมือนกับหลายๆ คนที่ทนไม่ได้กับสภาพบ้านเมือง เรารู้สึกว่าน่าจะทำอะไรได้ แต่จะเป็นแค่ท่อน้ำเลี้ยงเหรอ แค่ส่งตังค์เหรอ เท่าไหร่ถึงจะพอ เราเลยคิดว่าทำสิ่งที่ตัวเองถนัดเถอะ คือทำหนังสือ ทำในเนื้อหาที่ยังไม่มี เราอยากเห็นความหลากหลายในหนังสือเด็กของไทย อยากให้หนังสือเป็นสะพานสื่อไปถึงหลายๆ เรื่อง”

          ‘เนื้อหาที่ยังไม่มี’ ที่หมอนพูดถึงคือเนื้อหาว่าด้วยการเคารพความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ ประวัติศาสตร์กระแสรอง สังคมการเมืองฉบับย่อยง่าย รวมทั้งเนื้อหาที่กระตุ้นให้เด็กกล้าตั้งคำถาม และที่สำคัญ–กล้าวาดหวังและฝันใฝ่ถึงชีวิตที่พวกเขาต้องการ

          นั่นเป็นที่มาของหนังสือวาดหวัง 3 ชุด ‘ต้นกล้า ฟ้าใหม่’ ‘หลากหลายรื่นรมย์’ และ ‘ตุลาประชาชน’

          ชุดปฐมฤกษ์ที่ปล่อยออกมาเมื่อปี 2564 อย่าง ‘ต้นกล้า ฟ้าใหม่’ ประกอบไปด้วยหนังสือ 8 เล่ม ได้แก่ เป็ดน้อย, 10 ราษฎร Comic, ตัวไหนไม่มีหัว, เสียงร้องของผองนก, เด็กๆ มีความฝัน, จ จิตร, แม่หมิมไปไหน? และ แค็ก! แค็ก! มังกรไฟ

          ส่วนชุดที่ 2 ‘หลากหลายรื่นรมย์’ ซึ่งปล่อยออกมาในเดือนมิถุนายน 2565 นั้นทำร่วมกับโครงการอ่านสร้างชาติของมูลนิธิกระจกเงา ประกอบด้วย แม่จ๋า ดูคนนั้นสิ, ใช่มีแค่ปลา, เด็กๆ กับวันพิเศษ, อี่ อี๊ เอ้ก เมี้ยว!, แพะเมืองผี, เต่าทองสองสี, โรงเรียนใหม่ และ จำจากจรไกล

          และชุดล่าสุดอย่าง ‘ตุลาประชาชน’ ประกอบด้วย ชีวิตเล็กๆ เด็กชายวาฤทธิ์ สมน้อย, แล้วพบกันใหม่, ยายลี มีหมา แมว มด ลิง และขุนทอง, ดาวเก้าอี้, เราล้วนคือคน, อ อากง, พี่หนูอยู่ที่ไหน และ ว วาดหวัง

          จากทั้ง 3 ชุด หมอนเป็นผู้เขียนเองเกินครึ่ง นอกเหนือจากนั้นเป็นคนที่เธอชักชวนมาเขียน เช่น สมบัติ บุญงามอนงค์, อินทิรา เจริญปุระ, อ อุ๊ และ อ ไอดา, ตง, Jinglebell, สุวิชา ฯลฯ ส่วนนักวาดภาพประกอบนั้นมีหลากหลาย ทั้ง 24 เล่มแทบไม่ซ้ำกันเลย (“นักวาดไทยเก่งมาก” หมอนย้ำตลอดบทสนทนา) 

          “จุดหนึ่งที่น่าสนใจ ตอนทำ วาดหวังชุด 1 เราชวนคนที่มีพลังดีๆ และเป็นที่รู้จักไป 20 กว่าคน หลายคนไม่ถนัดเรื่องเด็ก มองไม่ออกว่าจะเขียนอย่างไร และอีกไม่น้อยก็มีกรอบว่า จะเขียนหนังสือเด็กต้องเขียนเรื่องดีงามสดใส ไม่ไปแต้มสีบนผ้าขาว เพราะเมืองไทยไม่มีภาพหนังสือเด็กอย่างอื่น ทั้งที่ทุกคนหัวก้าวหน้า หลายคนมีลูก หลายคนเคยเรียนต่างประเทศ ก็ยังมองว่าหนังสือเด็กน่าจะเป็นอย่างชีวิตสัตว์โลก จิงโจ้เลี้ยงลูกในกระเป๋าหน้าท้อง อะไรอย่างนี้ ซึ่งอันนั้นเราเคยทำแล้ว เราอยากทำอะไรใหม่ๆ ในแนวอื่นบ้าง

          “อย่างชุด ‘ตุลาประชาชน’ แม้กระทั่งทีมงานเราบางคนก็ไม่เห็นด้วยในตอนแรก เขาบอก ‘ไม่แรงไปเหรอ’ เราก็บอก ‘เดี๋ยวลองดู มันมีมุมที่พูดได้อยู่’ เพราะถ้าเราไปดูหนังสือเด็กในประเทศอื่นๆ อย่างอเมริกาเขามีหนังสือเด็กเรื่องทาสคนดำ หรืออิสราเอลที่เราอยู่ก็คุยเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (holocaust) กับเด็ก เพราะมันเป็นความจริง และมันมีวิธีเล่าอยู่” 

          ทั้งหมดทั้งมวลหมอนไม่ได้ติดใจที่คนอื่นไม่เข้าใจหนังสือเด็กแบบที่เธออยากทำ เพียงแต่เข้าใจว่าต้องค่อยๆ สื่อสาร ค่อยๆ เปิดพื้นที่ ทั้งคนเขียนและคนวาดจะได้จินตนาการถึงหนังสือเด็กแบบใหม่ๆ ได้กว้างไกลและหลากหลายกว่าเดิม 

          “คนไทยมีศักยภาพ มีคนทำอะไรดีๆ ในมุมเล็กๆ อยู่เยอะ แต่ว่าพื้นที่ออกมาสู่สาธารณะมีไม่มาก เราจึงขอเป็นหนึ่งในพื้นที่เล็กๆ ตรงนั้น มีคนถามว่าอยากทำถึงเท่าไหร่ หมอนตอบว่าคิดไปไกลถึง 14 ชุดแล้ว” เธอเล่ากลั้วหัวเราะ

          “บางคนบอกว่า ‘กลุ่มวาดหวังทำอะไรตั้ง 24 เล่มในปีหนึ่ง จะรีบไปไหน งานชุ่ยไหม’ เราก็บอก ‘อยากขอร้องให้ช่วยมาซื้อแล้วไปดูว่า นิทานวาดหวังชุ่ยไหม’ ทุกคนตั้งใจกันเต็มที่อย่างสุดกำลัง เราไม่ใช่คนชุ่ยโดยเฉพาะในเรื่องงาน เพราะถ้าทำชุ่ยแปลว่าเราไม่เคารพทั้งหนังสือ ไม่เคารพทั้งคนอ่าน ไม่เคารพทั้งคนเขียน คนวาด และทีมงาน แล้วมันจะทำให้แวดวงหนังสือมันแย่ด้วย”

‘วาดหวังหนังสือ’ วาดความหลากหลายให้หนังสือเด็ก ชวนเจ้าตัวเล็กหวังถึงพรุ่งนี้ที่ดีกว่า
Photo: Srisamorn Soffer

หนังสือเด็กที่รัฐปราบปราม (ไม่สำเร็จ)

          อย่างที่รู้กัน แค่ปล่อยชุดแรกออกมา ‘วาดหวังหนังสือ’ ก็โด่งดังยิ่งกว่าพลุแตก

          คนทำงานย่อมอยากให้ผลงานเป็นที่รู้จัก แต่หมอนและทีมงานไม่ได้คาดคิดว่าจะสร้างชื่อจากการได้รับหมายเรียกให้ไปรายงานตัวที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อชี้แจงว่า การขายหนังสือผ่านเพจเฟซบุ๊กนั้นฝ่าฝืนพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 หรือไม่

          อีกทั้ง คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ยังตั้งทีมงานตรวจสอบด้วยว่าเนื้อหาหนังสือวาดหวังเข้าข่ายบิดเบือนหรือเปล่า

          ไหนจะชาวเน็ตหลายคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่านิทานวาดหวังจะเปลี่ยนให้อนาคตของชาติกลายเป็น ‘ซอมบี้สามกีบ’ ตั้งแต่ยังเด็กยังเล็ก

          “มันมีการไล่บี้ของรัฐทำให้คนไม่กล้าออกมาทำ มาไล่บี้อะไรกับนิทาน แล้วที่โดนข้อหาขายตรงคือเขาหาเรื่องเรา นี่ขนาดเราทำไม่เอากำไรนะ เงินที่ได้มากลุ่มวาดหวังมอบให้หลากหลายกลุ่มกิจกรรมที่ทำเพื่อสังคม สิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย ช่วยผู้ลี้ภัยไทยในประเทศเพื่อนบ้าน และนำไปทำฟอนต์ลายมือ จิตร ภูมิศักดิ์ กลุ่มวาดหวังขอแค่ทุนคืนเพื่อที่จะได้ทำชุดใหม่ต่อไป” หมอนย้อนความ แววเจ็บใจยังแฝงอยู่

          แต่ในวิกฤตยังมีโอกาส ความพยายามในการปราบปรามโดยรัฐส่องสปอตไลต์ให้ ‘วาดหวังหนังสือ’ ไปโดยปริยาย ต้นกล้า ฟ้าใหม่ ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกจำนวน 18,000 เล่ม ขายหมดเกลี้ยงภายในเวลาไม่กี่วัน บางคนไม่มีลูกก็ซื้อมาอ่านเองเพื่อให้รู้ว่าหนังสือเด็กมีแบบนี้ได้ด้วย หรือบางคนซื้อบริจาคให้ห้องสมุดก็มีเช่นกัน

          ยินดียิ่งกว่าขายหมด คือการได้ยินเสียงตอบรับที่ดีจากนักอ่านทั้งรุ่นเยาว์และรุ่นใหญ่

          “พ่อแม่ให้กำลังใจเยอะมาก มีคนส่งคลิปลูกๆ 2-3 ขวบมาให้ดูเยอะมาก เห็นแล้วชื่นใจ และรู้สึกขอบคุณทุกการสนับสนุน อุ่นใจมากๆ ค่ะ” หมอนเล่าเสียงใส

          แน่นอนว่ามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์และการตั้งคำถามจากผู้อ่านบ้าง แต่ก็เป็นธรรมดาและเป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยที่ผู้บริโภคมีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็น 

          อันที่จริง–ดีเสียอีกที่ ‘วาดหวังหนังสือ’ จุดประกายบทสนทนาในสังคมที่คนโดยทั่วไปไม่กล้าพูดคุยและตั้งคำถาม ในโมงยามนั้นหัวข้อที่หลายคนอาจไม่เคยนึกถึงมาก่อนกลายเป็นประเด็นถกเถียงที่สังคมติดตาม เป็นต้นว่าเด็กๆ รับรู้เรื่องการเมืองได้แล้วหรือ การบอกเล่าเรื่องความตายนั้นโหดร้ายเกินไปสำหรับเด็กหรือเปล่า ช่วงวัยที่เหมาะสมมีจริงหรือเป็นเพียงวาทกรรม และอื่นๆ อีกมากมาย

          คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่า ‘วาดหวังหนังสือ’ ขยายความคิดความอ่านให้ทุกคน ไม่ใช่แค่นักอ่านตัวน้อย แต่ยังรวมถึงคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในกรอบของสังคมที่เต็มไปด้วยข้อห้ามและความกลัว

หนังสือเด็กที่บอกให้ผู้ใหญ่กล้าหาญ

          ถามจริงๆ ตอนได้รับหมายเรียก ความกลัวแวบเข้ามาไหม–เราหย่อนคำถาม

          “กลัวมากค่ะ” หมอนตอบทันที

          “ตัวเราไม่ได้อยู่ไทย แล้วเพื่อนซึ่งคอยเป็นธุระจัดการสิ่งต่างๆ ให้ก็ต้องขับรถพานิทานหนี เพราะกลัวว่าเจ้าหน้าที่จะมายึด แล้วอยู่ๆ ติดต่อเขาไม่ได้เลย 3 ชั่วโมง เราทักไปหาเพื่อนในทีมทุกคนเลยว่าโทรหาให้หน่อย กลัวว่าถ้าเขาขับออกไปแล้วรถชนจะทำอย่างไร แล้วบ้านป่าเมืองเถื่อนนี้มันมีคนถูกอุ้มหาย ถ้าเกิดอะไรขึ้นเพื่อนเราจะเป็นอย่างไร ลูกเขาจะทำอย่างไร แล้วนักเขียนนักวาดคนอื่นๆ อีก บางคนต้องพาลูกไปต่างจังหวัด บางคนภรรยาซึ่งไม่เกี่ยวข้องเลยถูกบริษัทเรียกไปคุย  

          “เราเลยต้องออกหน้าว่ามีอะไรให้มาคุยกับเรา ทุนทำหนังสือเป็นทุนของเราเอง เพราะเราไม่อยู่ไทย เราปลอดภัย ตอนแรกก็คิดว่าจะกลับเมืองไทยไปเคลียร์ แต่ทุกคนบอกว่าอย่ากลับ โดนจับที่สนามบินแน่นอน เราเลยออกหน้ามาตลอด แต่จริงๆ มีทีมอีก 5 คนเป็นกลุ่มวาดหวังด้วยกัน เป็นเพื่อนๆ ในเฟซบุ๊กที่เราชวนมาเป็นที่ปรึกษา เขามีงานประจำกัน ที่มาช่วยกันทำและมีชื่อเป็นที่ปรึกษาในเล่ม เราก็ขอบคุณมากๆ แล้ว นี่ขนาดทำหนังสือดีๆ นะ วาดหวังตั้งใจทำ คุณภาพดีทั้งเนื้อหาและรูปแบบ ไม่ค้ากำไร คนยังกลัวกันขนาดนี้ เพราะเราอยู่ใต้สังคมแห่งความกลัว”

          ความกลัวก็มี แล้วทำไมถึงยังยืนหยัด–เราถามต่อ

          “หลายครั้งเราก็คิดว่า พอเหอะ อยากเลี้ยงหลาน แล้วก็มีเรื่องอยากเขียนอีกเยอะ แต่จะหยุดก็เสียดาย ยังคิดเลยว่าถ้าเราปิดไป อีกหน่อยจะมีใครกล้าออกมาทำอะไรแบบนี้อีกไหมนะ เราเลยยังต้องทำต่อ บางคนก็บอกว่า ‘ถ้าไม่ไหวอย่าฝืน’ เราบอก ‘ไหวสิ ดูคนเขียนคนวาดเขายังไหวเลย’ เราคิดว่าเราไม่หยุด เราจะทำต่อ ถ้าเพื่อนเรายังทำต่อ ถ้ายังมีคนสนใจ ถ้ายังมีคนอ่าน คนซื้อ คนสนับสนุน ช่วยให้เด็กๆ ได้ผลิบาน” 

หนังสือเด็กที่สนับสนุนให้เด็กฝัน

          ช่วงหนึ่งของบทสนทนา เราถามหมอนว่า หนังสือเด็กที่ดีในมุมมองของเธอต้องเป็นอย่างไร

          นี่คือคำตอบที่เราได้

          1-อ่านสนุก 

          2-เปิดโลกกว้าง

          3-ให้อิสระเสรีกับเด็ก

          “เปิดให้หัวมันบาน หัวมันฟู อ่านแล้วรู้สึกว่าโลกมันสนุก ชีวิตมันดี มีอะไรให้อยากเรียนรู้ต่อไป เพราะเราเชื่อว่าเด็กต้องรู้สึกเป็นสุขที่สงสัย ต้องมีคนคอยตอบคำถามเขา มีหนทางให้เด็กได้รู้ ได้หาคำตอบ เพราะมันเป็นธรรมชาติของเด็ก เด็กไทยหรือผู้ใหญ่ไทยจะถูกบอกให้เงียบ อย่าพูด อย่าเถียง นั่งฟัง นั่งตัวตรง ซึ่งมันไม่ใช่”

           ‘วาดหวังหนังสือ’ จึงเป็นเช่นนั้น อ่านสนุก เปิดโลกกว้าง และให้อิสระเสรีกับเด็ก

          หมอนบอกด้วยว่า ทุกอย่างที่เธอวาดหวังให้กับลูกๆ หลานๆ รวมถึงเด็กๆ ทุกคนอยู่ในหนังสือ เด็กๆ มีความฝัน หมดแล้ว ดังเช่นช่วงหนึ่งที่เขียนไว้ว่า

‘วาดหวังหนังสือ’ วาดความหลากหลายให้หนังสือเด็ก ชวนเจ้าตัวเล็กหวังถึงพรุ่งนี้ที่ดีกว่า
Photo: Srisamorn Soffer

เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ‘Readtopia ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศการอ่านของไทย’ (2566)


ที่มา

Cover Photo: Srisamorn Soffer, Mimininii

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

PDPA Icon

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก