‘เปเรย์รายืนยัน’ ว่าเขาตายและเกิดใหม่อีกครั้ง

901 views
November 15, 2022

          ถึงจะเป็นคาทอลิก แต่เปเรย์รายืนยันว่าเขาเชื่อเรื่องการคืนชีพของดวงจิต แต่ไม่อาจทำใจเชื่อเรื่องการคืนชีพของร่างกายได้ เขาคิดว่าร่างกายที่อุดมไปด้วยไขมัน อ้วนเทอะทะ เหงื่อเหนอะหนะ เป็นโรคหัวใจ น่ายินดีตรงไหนถ้าต้องฟื้นจากความตายขึ้นมาในสภาพไม่ชวนมอง

          ว่าแต่เปเรย์ราเป็นใคร?

          เปเรย์ราเป็นนักหนังสือพิมพ์รุ่นเก่า เคยทำข่าวอาชญากรรมมา 3 ทศวรรษ ก่อนมารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการหน้าวัฒนธรรมของหนังสือพิมพ์ลีชโบอาในวัยใกล้เกษียณ สำนักข่าวแห่งนี้ปักหลักที่กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส บรรณาธิการบริหารของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ให้เปเรย์รารับผิดชอบดูแลได้เต็มที่ เปเรย์รายืนยันเช่นนั้น

          นักหนังสือพิมพ์อย่างเขาเป็นไม้ใกล้ฝั่งเต็มที ที่ผ่านมาเขาทำหน้าที่โดยไม่มีข้อให้ติเตียนอะไรนัก (แต่เราก็รู้อะไรไม่มาก เพราะเขาไม่ต้องการพูดถึงอดีตของตน) ความหลังเดียวที่เปเรย์ราสลัดไม่หลุดคือภรรยาสุดที่รัก ผู้คอยส่งยิ้มอันไกลโพ้นออกมาจากรูปที่เขาเล่าเรื่องราวในแต่ละวันให้เธอฟังเป็นประจำ ความบังเอิญอันโหดร้ายอย่างเดียวคงอยู่ที่เขาแก่ในยุคของอังตอนียู ดึ ออลีไวรา ซาลาซาร์ (António de Oliveira Salazar) เผด็จการฟาสซิสต์ที่ปกครองโปรตุเกสยาวนานถึง 36 ปี ตั้งแต่ปี 1932-1968

          หน้าวัฒนธรรมของลีชโบอานำเสนอวรรณกรรมหลากหลายที่เปเรย์ราแปลโดยไม่ลงชื่อ รวมถึงข่าวคราววันครบรอบหรือวันมรณกรรมของนักเขียน วันหนึ่งเขาอ่านเจอบทความในนิตยสารที่นำมาจากวิทยานิพนธ์ปรัชญาของนักศึกษาหนุ่มคนหนึ่ง เขาจดมันเอาไว้

          “ความสัมพันธ์ที่ให้ความหมายแห่งการมีอยู่ของคนเราได้ครอบคลุมและลึกซึ้งที่สุด คือความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตและความตาย ด้วยเหตุว่าขอบเขตจำกัดของชีวิตซึ่งความตายเป็นผู้กำหนดนั้น สำคัญอย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจและการประเมินค่าชีวิต”

          เปเรย์ราตัดสินใจติดต่อฟรันเซชคู มงเตย์รู โรสซี เจ้าของวิทยานิพนธ์มาเป็นนักเขียนให้หน้าวัฒนธรรม มอบหมายให้โรสซีรับผิดชอบบทความมรณกรรมของนักเขียน เขาเน้นนักเน้นหนากับชายหนุ่มว่า หนังสือพิมพ์ลีชโบอาและหน้าวัฒนธรรมของเขาเป็นหนังสือพิมพ์ อิสระ ที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

          ชีวิตของเปเรย์ราแต่ละวันค่อนข้างซ้ำซาก เข้าออฟฟิศ เตรียมต้นฉบับ มักกินมื้อกลางวันที่ร้านอาหารออร์คีเดีย แล้วถามบริกรนามมานูแอลว่าวันนี้มีข่าวอะไรน่าสนใจบ้าง หรือไม่ก็ถามกับคุณพ่ออันตอตีโอที่โบสถ์จนบางครั้งถึงกับถูกต่อว่า

          “อะไรกัน นี่คุณไม่รู้เรื่องหรอกหรือ ตำรวจฆ่าโหดชาวอเล็นเตญูตายคาเกวียน มีคนเดินขบวนประท้วงกันอยู่ในเมืองและที่อื่นๆ ด้วย นี่คุณมีชีวิตอยู่บนโลกใบไหนของคุณ เปเรย์รา ทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์เสียเปล่า คุณไปตามข่าวให้ทันหน่อยไป”

          เปเรย์รายืนยันว่าเขารู้สึกหน้าชาและสับสนหรือเขาได้ตายไปแล้ว มีชีวิตอย่างซังกะตาย คิดถึงแต่เรื่องความตาย…

          งานทุกชิ้นที่มงเตย์รู โรสซี ส่งให้เปเรย์ราไม่เคยได้รับการตีพิมพ์ พวกมันถูกเก็บเข้าลิ้นชัก แถมทำให้เปเรย์ราหงุดหงิดเพราะเจ้าพ่อหนุ่มถ้าไม่เขียนต่อว่านักเขียนฝักใฝ่เผด็จการก็ต้องเขียนชื่นชมนักเขียนต่อต้านเผด็จการ ซึ่งเป็นสิ่งที่เปเรย์ราย้ำนักหนาว่าหน้าวัฒนธรรมของลีชโบอาเป็น อิสระ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

          หนักหนากว่านั้น มงเตย์รู โรสซีพาตัวเองเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกลุ่มสาธารณรัฐในสเปนที่ต่อต้านนายพลฟรังโก เผด็จการฟาสซิสต์อีกคนหนึ่ง เผด็จการย่อมเป็นมิตรกับเผด็จการ และ ณ ห้วงยามที่ยุโรปกำลังร้อนระอุของเค้าลางสงครามโลกครั้งที่ 2 ไหนเลยซาลาซาร์จะอยากเห็นความกระด้างกระเดื่องแม้เพียงเล็กน้อย ต่อให้มันเป็นแค่ตัวหนังสือไม่กี่บรรทัดก็เถอะ

          “คุณมงเตย์รู โรสซีครับ ผมขอพูดกับคุณอย่างตรงไปตรงมานะครับ บทความของคุณพิมพ์เผยแพร่ไม่ได้ ไม่ได้จริงๆ ผมลงบทความฉบับนี้ในหนังสือพิมพ์ของผมไม่ได้ ไม่ว่าหนังสือพิมพ์โปรตุเกสฉบับไหนๆ ก็ลงไม่ได้ทั้งนั้น…มีข้อสันนิษฐานอยู่สองข้อ คือหนึ่งคุณทำไปโดยไม่คิด หรือสองคุณมีเจตนาปลุกปั่น อาชีพนักหนังสือพิมพ์ที่เราทำกันอยู่ทุกวันนี้ในประเทศโปรตุเกสไม่รับพิจารณาทั้งคนที่ทำไปโดยไม่คิดและคนที่มีเจตนาปลุกปั่น”

          มงเตย์รู โรสซีตอบว่า “เรื่องของเรื่องคือผมทำตามที่หัวใจผมบอกน่ะครับ อาจเป็นสิ่งที่ไม่ควร ไม่ควรอย่างยิ่ง แต่ผมบังคับใจตัวเองไม่ได้ ผมสาบานว่าผมมีความสามารถจะเขียนคำไว้อาลัยแด่การ์เซีย ลอร์กาโดยใช้สมองคิด แต่ผมบังคับใจตัวเองไม่ได้ครับ”

          “ปัญหาคือคุณไม่ควรจะไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหาที่ใหญ่เกินตัว ปัญหาคือโลกมีปัญหา และไม่ใช่เราแน่ๆ ที่จะเป็นผู้แก้ไข” เปเรย์ราคิดจะพูดแบบนี้ แต่เขาไม่ได้พูดออกไป

          มงเตย์รู โรสซีเสมือนจุดเริ่มต้นที่นำพาเรื่องราวอีกมากมายสู่ชีวิตอันแสนปกติของเปเรย์รา โชคชะตาอันแสนมหัศจรรย์ดึงดูดผู้คนและเหตุการณ์ต่างๆ เข้ามา ภายหลังเปเรย์ราได้พบกับหมอหนุ่มมากความสามารถชื่อคาร์โดโซที่แสนจะถูกชะตา แต่พบว่าหมอคาร์โดโซกำลังจะย้ายไปอยู่ฝรั่งเศส เปเรย์รายืนยันว่าเขาอ้อนวอนไม่ให้ไป

          “อย่าทิ้งเราไปเลยครับดอกเตอร์คาร์โดโซ อย่าทิ้งประชาชนของเราไปเลย บ้านเมืองนี้ต้องการคนอย่างคุณครับ”

          “น่าเสียดายว่ามันไม่อย่างนั้นครับ บ้านเมืองนี้ไม่ต้องการคนอย่างผม หรืออย่างน้อยผมก็ไม่ต้องการบ้านเมืองนี้ คิดว่าไปอยู่ฝรั่งเศสดีกว่าครับ ก่อนที่หายนะจะมาเยือน”

          เราเกิดใหม่ได้จริงหรือ? เราเกิดใหม่ได้อย่างไร? หากการเกิดดำรงคู่กับความตาย การเกิดใหม่อาจจำเป็นต้องอาศัยความตายเป็นสารตั้งต้น ทว่า บางครั้งการตายเพื่อเกิดใหม่กลับไม่ง่ายอย่างที่คิด

          เปเรย์ราใช้เวลาอยู่นานกว่าซากเดนเก่าๆ จะค่อยๆ ผุพัง ย่อยสลาย เปเรย์ราคนเก่าตายลงอย่างช้าๆ ผ่านการพูดคุยกับผู้คนรอบข้าง ผ่านสถานการณ์แวดล้อม ผ่านสามัญสำนึกของนักหนังสือพิมพ์ที่หลับใหลอยู่ในจิตใจ แม้กระทั่งความตายของคนอื่นๆ ที่เขาเข้าไปสัมผัส

          มงเตย์รู โรสซี เป็นภาพแทนของเปเรย์ราหรือไม่ก็ลูกชายที่เขาไม่เคยมี เขาจึงไม่สามารถไล่เด็กหนุ่มออกได้ แม้ว่าจะทำผิดพลาดบ่อยแค่ไหน คอยตักเตือนว่าอย่าหาเรื่องใส่ตัว ถึงกระนั้นก็ไม่หยุดให้ความช่วยเหลือ อุ้มชู ปกป้อง และสนับสนุน คล้ายกับว่าถึงตัวเขาเองจะแก่ชราเกินสู้รบปรบมือหรือออกไปยืนแถวหน้า แต่เขาก็พร้อมสนับสนุนอนาคตของโปรตุเกสเท่าที่เรี่ยวแรงของตนมี

‘เปเรย์รายืนยัน’ ว่าเขาตายและเกิดใหม่อีกครั้ง
เปเรย์รายืนยัน / Sostiene Pereira

          ผู้อ่านอาจหงุดหงิดกับความเชื่องช้าเมื่อจุดแตกหักของเรื่องมาไม่ถึงเสียที อันตอนิโอ ตาบุคคี (Antonio Tabucchi) ผู้เขียนนวนิยาย ‘เปเรย์รายืนยัน’ ใช้กลวิธีถ่ายทอดการเกิดใหม่ทางจิตใจของเปเรย์ราทีละน้อย ทีละนิด ค่อยๆ ขมวดเรื่องราวแบบเดี๋ยวเร่ง เดี๋ยวผ่อน แต่เป็นการผ่อนที่อัตราเร่งยังคงเดินไปข้างหน้า หลอกล่อผู้อ่านอย่างแนบเนียนแยบยลให้ติดตามเขาไปว่า ณ จุดไหนที่เปเรย์ราคนเก่าจะตาย เปเรย์ราคนใหม่จะเกิด

          การพูดคุยกับหญิงชาวยิวบนรถไฟที่กำลังจะทิ้งยุโรป การพูดคุยกับหมอคาร์โดโซที่ต้องการทิ้งบ้านเกิด คำต่อว่าของบรรณาธิการบริหารให้เปเรย์รารู้จักเซ็นเซอร์ตัวเอง ต้องรักชาติ เพียงเพราะประโยคสั้นๆ ประโยคเดียวในเรื่องสั้นฝรั่งเศสยุคศตวรรษที่ 19 ที่เขาแปล

          มันคือความตายในรูปลักษณ์ต่างๆ ความตายของความหวัง ความตายของเสรีภาพ ที่ช่วยให้ชายชราพินิจถึงชีวิต ความตาย และการเกิดของตน

          และเหตุการณ์ในค่ำคืนนั้น…นักหนังสือพิมพ์นามเปเรย์ราจึงเกิดใหม่อีกครั้ง

          เปเรย์ราลงมือทำบางสิ่งที่เขาไม่คาดคิดว่าตนเองจะกล้า เพราะถ้าไม่ทำเขาคงไม่กล้ามองหน้าตนเองในกระจกได้อีกและไม่รู้ว่าเขาจะได้ทำมันอีกหรือไม่

          มันอาจเป็นครั้งสุดท้าย แต่อย่างน้อยๆ เปเรย์ราก็ได้ยืดเหยียดกระดูกสันหลังให้ตั้งฉากกับพื้นโลก หลังจากที่เขาศิโรราบมานาน…นานเกินไป เปเรย์รายืนยัน

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก