ย้อนกลับไปเมื่อปี 2548 หนังสือเล่มหนึ่งเปิดตัวบนแผงอย่างสง่างามและจำหน่ายหมดเกลี้ยงภายในเวลาสั้นๆ หนังสือเล่มนั้นมีชื่อว่า ถั่วงอกและหัวไฟในความบ้าคลั่งอันมิรู้สิ้นสุด (หรือ ถั่วงอกหัวไฟ)
แม้จะถูกนิยามด้วยถ้อยคำที่อาจแปลกหูสำหรับนักอ่านสมัยนั้นว่า ‘กราฟิกโนเวล’ แต่ผู้ที่ได้หยิบจับ พลิกอ่าน และตัดสินใจพาหนังสือเล่มนั้นกลับบ้าน ล้วนไม่มีปัญหาในการดำดิ่งไปกับ ‘ภาพ’ และ ‘ข้อความ’ ที่ประกอบกันเป็นเรื่องเล่าของสองเด็กกำพร้าและหนึ่งสุนัข
ส่วนนักเขียน-นักวาดผู้รังสรรค์ผลงานที่ประทับคำว่า ‘กราฟิกโนเวล’ ไว้ในแวดวงหนังสือไทยอย่างหนักแน่น จะเป็นใครไปได้นอกจาก ทรงศีล ทิวสมบุญ
ว่ากันตามตรง นักเขียน-นักวาดไม่ใช่อาชีพในฝันของเขา ทรงศีลใฝ่ฝันอยากเป็นนักดนตรี ฝันเป็นจริงอยู่พักใหญ่ ก่อนจะสลายหายไปด้วยหลากหลายเหตุปัจจัย หนึ่งในนั้นคือความขัดแย้งกับรูปแบบการใช้ชีวิต การเล่นดนตรีตอนกลางคืนและพบปะผู้คนมากหน้าหลายตาไม่ตรงกับธรรมชาติของศิลปินอินโทรเวิร์ตเท่าไรนัก
กระนั้นการเป็นนักเขียน-นักวาดก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ทรงศีล ค้นพบพรสวรรค์ด้านการวาดรูปตั้งแต่สมัยเรียนศิลปะในโรงเรียนอาชีวะ รวมทั้งบ่มเพาะฝีมือมาอย่างเข้มข้นระหว่างร่ำเรียนในรั้วคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
แม้การเป็นนักเขียน-นักวาดจะเป็นอาชีพรองๆ ลงมาที่ทรงศีลค้นพบหลังจากเลิกเป็นนักดนตรี แต่นับจากวันนั้น เขาสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่องมามากกว่าสิบปี มีหนังสือตีพิมพ์ในชื่อของเขาอีกหลายเล่มที่หากพูดชื่อไปรับรองว่าคุ้นหู อย่างเช่น Stories of Bobby Swingers กราฟิกโนเวลเกี่ยวกับนักดนตรีพร้อมซีดีเพลงที่เขาลงมือสร้างสรรค์เอง Nine Lives ว่าด้วยเรื่องแมวหลากหลายชีวิตที่ได้รับรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด รวมทั้งได้รับการตีพิมพ์ในญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน และเวียดนาม หรือ รอยสนธยา นวนิยายเล่มแรกในชีวิตที่ไปไกลถึงรอบ Shortlist รางวัลซีไรต์ปี 2564
นี่ขนาดยังไม่นับ หนังสือที่ทรงศีลเป็นบรรณาธิการ นิทรรศการใหญ่ที่เขาเพิ่งจัดเมื่อปี 2565 และ Songsinthings สำนักพิมพ์ที่ขายทั้งหนังสือและโปรดักต์จากคาแรกเตอร์ในเรื่องเล่าของเขา
การเป็นผู้บุกเบิก การยืนระยะ ความหลากหลายในตัวตนและผลงาน ตลอดจนการเป็นศิลปินที่ซื่อสัตย์กับตนเอง เรานั่งลงคุยกับทรงศีล เพื่อทำความเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดนี้ผ่านสายตาของเขา
ตอนเด็กๆ คุณเสพสื่อแบบไหนมาบ้าง
เราได้อิทธิพลจากครอบครัว คุณพ่อเสพสื่อศิลปะเยอะพอสมควร เพราะแกชอบศิลปะ ถ้าด้านภาพก็จะได้เสพงานจากหนังสือรวมภาพประกอบแนวเหนือจริง หรือ surrealism อย่างงานของ ซัลวาดอร์ ดาลี (Salvador Dali) ศิลปินชาวสเปนที่มีอิทธิพลกับเราในแง่ศิลปะค่อนข้างมาก เราทลายกรอบลงไปได้เยอะตั้งแต่เด็กเลย เพราะว่าเสพงานแนวเหนือจริงมาตั้งแต่ตอนนั้น
สิ่งที่ได้จากคุณพ่ออีกส่วนคือภาพยนตร์ ทุกสัปดาห์เราดูหนังหลายเรื่องเป็นกิจวัตร ซึ่งตรงนี้พอโตมาถึงรู้ว่า มันมีความหมายมากในแง่ของการเรียบเรียงเรื่องราว ทำให้เรากลายเป็นคนที่คิดเป็นภาพเคลื่อนไหวในหัวก่อนจะเขียนหนังสือ เราไม่ได้คิดเป็นถ้อยคำ แต่จะเห็นเหมือนเป็นหนังฉายอยู่ในหัวแล้วพยายามถ่ายทอดออกมา
หนังสือก็ได้มาจากที่บ้านเยอะ เราอาจจะอ่านหนังสือได้มากกว่าเด็กทั่วไปนิดหนึ่ง เพราะที่บ้านมีให้อ่านเยอะ ทั้งนิยายไทย นิยายจีน นิยายแปลของฝรั่ง ที่เราคุ้นเคยมากๆ ก็คือ สตีเฟน คิง (Stephen King) เราอ่านตั้งแต่เด็กๆ แล้วก็เป็นขวัญใจมาจนถึงทุกวันนี้
เพราะเสพสื่อทั้งภาพและตัวอักษรมา ตอนทำงานเลยอยากทำทั้งวาดทั้งเขียนหรือเปล่า
จริงๆ ตอนเริ่มทำงาน เราไม่ได้คิดว่าจะสื่อสารกับคนด้วยรูปแบบไหน ไม่ได้คิดเลยว่าต้องเป็นการ์ตูน เป็นนิยาย เป็นแอนิเมชัน เรามีความรู้สึกว่า นี่คือเรื่องที่เราอยากเล่า แล้วภาพมันจะหน้าตาประมาณนี้ อย่างเรื่องถั่วงอกหัวไฟ ก็วาดๆ เขียนๆ เก็บไว้นานแล้ว อันที่จริงมันกลายมาเป็นหนังสือได้ก็เพราะจังหวะชีวิตช่วงนั้นด้วยนะครับจังหวะชีวิตช่วงนั้นคือ
ช่วงที่วาดภาพประกอบหนังสือหรือคอลัมน์ต่างๆ ให้นักเขียนท่านอื่น เราขลุกอยู่กับคนทำหนังสือ แล้วก็มีข้อเสนอมาว่าเราลองเขียนดูได้นะ ตีพิมพ์ในยอดพิมพ์ที่ไม่ต้องเยอะมาก ลองดูก่อนสักพันเล่ม ซึ่งมันกลับสำเร็จมากชนิดที่เราเองก็ไม่ได้คิดไว้
นักวาดภาพประกอบส่วนใหญ่มักวาดอย่างเดียว ทำไมคุณถึงอยากเขียนด้วย
หลังจากทำภาพประกอบได้ประมาณปีกว่า ก็รู้สึกว่ามันมีคอนเทนต์ที่เราอยากวาดเป็นภาพมากกว่านั้น แล้วก็ยังไม่มีโจทย์ที่ตรงกับสิ่งที่เราอยากวาดเข้ามา ส่วนหนึ่งมันเริ่มจากตรงนั้น
เราเริ่มเข้าใจอาชีพนักวาดภาพประกอบแบบเป็นรูปธรรมในตอนนั้น บางอาชีพเราไม่เข้าใจจนกว่าจะได้ลองทำอยู่ตรงนั้นจริงๆ ไปรับรู้ความรู้สึกจริงๆ ก่อนหน้านี้เราก็อยากเป็นนักวาดภาพประกอบ แต่มาค้นพบว่าเนื้อหาที่ตรงกับความต้องการของเราก็สำคัญมากเหมือนกัน มันจะทำให้เรามีความสุข ทำงานนี้ได้ ยืนระยะได้นาน
แสดงว่าก่อนหน้านั้นคุณก็ไม่ได้รู้จักหมวดกราฟิกโนเวลมาก่อน แต่มันมาจากการไปคลุกคลีกับคนทำหนังสือ บวกกับมีเรื่องที่อยากเล่า
ผมไม่ค่อยได้แยกแยะสื่อที่เสพเท่าไรนะ อย่างตอนเด็กๆ เราดูงานจิตรกรรมของ ซัลวาดอร์ ดาลี แล้วอีกครึ่งชั่วโมงถัดมาเราก็หยิบการ์ตูน JOJO ล่าข้ามศตวรรษ ขึ้นมาอ่าน โดยที่ไม่ได้รู้สึกว่ามันต่างกันอย่างไร เรามองมันเป็นสิ่งที่เราชอบทั้งหมด หนังสือสตีเฟน คิง กับการ์ตูนสักเล่ม หรือหนังสักเรื่อง เรารู้สึกว่ามีค่าเท่ากันสำหรับเรา มันเป็นความชอบเหมือนกัน
ตอนที่ถั่วงอกหัวไฟวางแผง มีคนงงเรื่องรูปแบบไหม
เท่าที่เห็นตอนแรกผมก็รู้สึกว่าแบ่งหมวดหมู่ไม่ค่อยได้นะครับ ซึ่งก็เข้าใจได้ พอมานึกดูแล้วตอนที่ทำ เราเองก็ไม่ได้แบ่งหมวดหมู่ให้มัน เรียกได้ว่าพยายามใช้ความสามารถทั้งหมดที่มี เล่าเรื่องราวกับภาพในหัวออกมาให้ดีที่สุด แล้วสื่อที่อยู่ในมือตอนนั้นก็คือหนังสือที่เป็นตัวกลางในการถ่ายทอด
ตอนนั้นทั้งคนอ่าน สำนักพิมพ์ สื่อ ก็จะพยายามหาคำจำกัดความ เพื่อที่จะบอกต่อได้ว่ามันเป็นหนังสือแนวไหน เริ่มจากสำนักพิมพ์ที่หาคำจำกัดความบนปกหลังเพื่อบอกหมวดหมู่ เขาใช้คำว่า ‘วรรณกรรมทันสมัย’ เพราะไม่รู้จะใช้คำว่าอะไร ในขณะที่สื่อส่วนหนึ่งก็จะบอกว่าแบบนี้คือการ์ตูน เขียนคอลัมน์ถึงถั่วงอกหัวไฟ ก็จะบอกว่าสำหรับเขาถือว่าเป็นการ์ตูน ในขณะที่คนอ่านจำนวนมากบอกว่า มันทำให้คนที่ไม่ค่อยอ่านหนังสือแบบเขารู้สึกว่าการอ่านหนังสือมันไม่ยาก แล้วยังสามารถติดการอ่านหนังสือได้ด้วย
คนอ่านไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่เป็นเรื่องการจะเรียกอย่างไรเวลาสื่อสารมากกว่า
ใช่ เพราะเวลาเราจะบอกต่อเพื่อน หรือจะเขียนรีวิว บางทีก็อยากจะบอกว่า อันนี้คืออะไร แนวไหน ประมาณไหน ซึ่งถั่วงอกหัวไฟไม่ได้เสนอตัวว่าเป็นแนวไหนที่มีอยู่ แต่มันเสนอตัวของมันเองที่ชัดเจน ถ้าเปรียบเป็นคนคนหนึ่ง ถั่วงอกหัวไฟเป็นคนที่ไม่รู้จะเดินไปเข้ากลุ่มไหนกับใครในตอนนั้น ก็เลยต้องยืนอยู่โดดๆ
คาแรกเตอร์ก็จะคล้ายถั่วงอกหัวไฟหน่อยๆ เหมือนเป็น outcast
ใช่ครับ แต่พออยู่มานานๆ ผมว่าตรงนี้กลับน่าสนใจนะครับ ทุกวันนี้เวลาผมคิดอะไรขึ้นมาแล้วรู้สึกว่ามันไม่ได้เป็นหมวดหมู่ไหน ผมก็จะให้โอกาสมันพอสมควร แม้ว่าช่วงแรกๆ มันจะยากนิดหนึ่ง และอาจมีความไม่มั่นใจจากผู้ร่วมงาน เพราะว่าบางครั้งมันอาจเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากด้วยเหมือนกัน
คุณดูค่อนข้างสบายใจกับความคลุมเครือ
สำหรับศิลปิน ถ้าเราชัดเจนในตัวเองและผลงานอยู่แล้ว แม้โลกจะรู้สึกว่ามันคลุมเครือหรือเข้าใจได้ยาก แต่เราอาจจะกำลังสร้างอะไรที่น่าสนใจ หรือค้นพบอะไรใหม่ๆ ก็ได้
ตอนที่หนังสือวางแผง นอกจากประเด็นที่ว่า หนังสือนี่มันหมวดหมู่อะไรกัน อีกเสียงตอบรับคือ ลายเส้นและเนื้อหาสไตล์นี้มันแปลกใหม่มาก
เป็นแบบนั้นด้วยเหมือนกันครับ ผมคิดว่าในโลกนี้คงไม่มีอะไรใหม่โดยสิ้นเชิงแล้วนะครับ หลังจากที่มนุษย์วิวัฒนาการกันมานานขนาดนี้ แต่บ้านเราในตอนนั้นก็คงจะยังมีน้อยอยู่
แล้วด้วยเนื้อหาบางอย่างที่เล่า จริงๆ คือมันเป็นหนังสือที่ไม่มีพล็อต ตอนนั้นผมตั้งใจไว้ว่า พล็อตก็จะเหมือนกับชีวิตคน คือเราอาจจะใช้ชีวิตไปทุกวันโดยที่เดาไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าวันนี้จะเกิดอะไรขึ้น ถั่วงอกหัวไฟก็เป็นแบบนั้นครับ ผมเชื่อมั่นมากว่า ถ้าเราเข้าใจตัวละครอย่างแท้จริง ต่อให้เราไม่รู้เรื่องราวล่วงหน้าทั้งหมดก็ไม่เป็นไร
ในแง่หนึ่งทั้งเราและคนอ่านได้ใช้ชีวิตไปพร้อมกับตัวละครด้วย
ใช่ครับ เพราะเมื่อย้อนกลับไปดูแต่ละเล่ม ผมจะพบว่าช่วงชีวิตต่างๆ ในตอนนั้นที่ทำให้เราเขียนเรื่องราวออกมาเป็นแบบนั้น เป็นวัยรุ่นก็จะประมาณหนึ่ง แต่งงานแล้วก็จะมีความคิดอะไรเข้ามา ช่วงที่ต้องต่อสู้กับโลกก็จะมีความคิดอะไรเข้ามาอยู่ในหนังสือด้วยในแบบที่แปลงเป็นเรื่องราว
เรามองว่าคุณเป็นผู้บุกเบิกหมวดกราฟิกโนเวลในไทย คุณมองตัวเองอย่างนั้นไหม
เพิ่งรู้ตอนที่เขาบอกว่ามันใหม่ มันมีทั้งสองด้านนะครับ ตัวผมเองไม่ได้รู้สึกว่าเรื่องนี้จะเป็นบวกหรือเป็นลบ เรารู้สึกว่าทำงานออกมาได้อย่างที่พอใจ เราก็มีความสุขแล้ว
แต่ผมก็มีความรู้สึกกับเรื่องนี้เหมือนกัน คือในแง่หนึ่ง มันเป็นคำชมว่าเราเป็นผู้บุกเบิกและสร้างอะไรใหม่ๆ แต่ในขณะเดียวกัน พอคนพูดถึงอย่างนั้น ก็จะมีอีกด้านหนึ่งที่เขาไม่ค่อยแฮปปี้ เพราะคิดว่าเราเป็นคนเคลมคำนี้เอง เคยมีตอนสัมภาษณ์บนเวที เขาพูดว่า “มันก็มีอยู่แล้วใช่ไหมพี่” ผมรับแรงปะทะแบบนี้อยู่พอสมควร ซึ่งมันก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรมากหรอก แต่ความเข้าใจผิดตรงนี้ ถ้าจะพูดถึงมันได้ เราทำงานอย่างที่เราชอบมาก แล้วโลกก็พยายามตีความว่ามันคืออะไร
แต่แรงปะทะนั้นก็ไม่ได้กระทบแนวทางการทำงานของคุณ
ตัวผมเองเวลาทำงาน โลกภายนอกจะเปลี่ยนอะไรไม่ค่อยได้ (หัวเราะ) เป็นทั้งข้อดีและข้อไม่ดีนะครับ แต่ว่าเวลาอยู่ที่โต๊ะทำงาน เขียนเรื่องราวหรือว่าวาดรูป ที่สุดแล้วก็ต้องยอมรับว่า เรายึดตัวเองเป็นหลัก เรียกว่าเราเป็นคนเอาใจไม่เก่ง ถ้าเราเขียนอย่างที่โลกพูดกันว่ามันควรจะเป็นอย่างไร เราต้องไม่ชอบงานตัวเองแน่ๆ เลย สู้เราเป็นตัวเองและซื่อสัตย์กับงาน แล้วปล่อยมันออกไปดีกว่า ถ้าชอบก็จะได้อยู่ด้วยกันอย่างที่เราเป็นตัวเอง เราก็ไม่ต้องเปลี่ยนตัวเองเพื่อเขา ก็น่าจะยั่งยืนกว่า
คุณอยู่ในแวดวงมานาน ปล่อยงานมากกว่าปีละเล่ม ทำอย่างไรถึงยืนระยะมาได้นานและสร้างผลงานได้อย่างสม่ำเสมอ
ต้องกลับไปที่เราบอกไว้ก่อนหน้านี้ คือเราทำอย่างเป็นตัวเองจริงๆ ตัวเองในที่นี้คือ เราไม่ได้พยายามจะดื้อเพื่อยึดถือมันไว้ เพราะถ้าย้อนดูผลงานที่ผ่านมาก็มีคนทักเหมือนกันว่า ผลงานบางช่วงเหมือนคนละคนเขียน คือผมจะมีซีรีส์ที่เป็นเรื่องยาวอยู่ 3-4 เรื่อง อย่าง Nine Lives กับ ถั่วงอกหัวไฟ หลายคนรู้สึกว่ามันต่างกันมาก ที่เราพยายามจะอธิบายตรงนี้คือ ความเป็นตัวเองมันไม่ได้จำกัดความหลากหลายในการทำงาน แต่มันทำให้เราไม่หวั่นไหวกับโลกที่เปลี่ยนไป จนสูญเสียวิธีคิดของตัวเองไป
นี่คือสาเหตุที่คุณทำงานได้หลากหลาย
ใช่ครับ ถ้าโตขึ้นแล้วพบว่าตัวเองเปลี่ยนไป หรือมีแง่มุมที่หลากหลายขึ้น ผมก็จะไม่จำกัดมัน ผมเข้าใจอีกมุมเหมือนกันนะ เคยมีคนตั้งคำถามว่า ถ้าพี่วาดเรื่องเดียว ย้ำตัวละครให้เห็นบ่อยๆ จะดีกว่าไหม บางคนก็บอกว่า พอเขียนหลายเรื่องมันก็ไม่ต่อเนื่อง บางเรื่องคนอ่านอาจต้องรอ 2-3 ปีเลยที่จะอ่านเล่มต่อไป ผมเข้าใจนะ แต่การวาดหลายเรื่องมันทำให้เราเติบโตขึ้น และทำงานทั้งหมดได้ดีขึ้น เช่นว่า ถ้าเขียนถั่วงอกหัวไฟเรื่องเดียว เทคนิคในการเขียนและวาดอาจจะไม่พัฒนาเท่าที่เป็นอยู่ เพราะว่าการไปเขียนเรื่องอื่นมันก็ได้เรียนรู้ เรียนรู้เทคนิคในการเขียน เรียนรู้เทคนิคในการวาด เราก็เติบโตขึ้น ถ้าเราเขียนอยู่เรื่องเดียว เราก็จะไม่ได้เจอเทคนิคใหม่ๆ บางอย่าง
เท่ากับว่าความหลากหลายก็เป็นสาเหตุที่ยืนระยะมาได้ยาวด้วยใช่ไหม
ความหลากหลายในแง่นี้ ผมคิดว่ามันช่วยสร้างกลุ่มผู้อ่านที่กว้างขึ้นด้วยนะครับ อย่างสมมติ ผมพอจะทราบคร่าวๆ ว่าผู้อ่านเล่มไหนจะเป็นโทนไหน ซึ่งจริงๆ แล้วต่างกันอยู่ครับ
เช่นว่า ถ้าเป็นนักดนตรีก็จะชอบ Nine Lives กับ Stories of Bobby Swingers เยอะหน่อยส่วนผู้ชายก็อาจจะอินไปทางถั่วงอกหัวไฟมากกว่า
นอกจากความหลากหลายแล้ว สิ่งที่น่าจะสำคัญสำหรับศิลปินคือ วินัย คุณสามารถสร้างวินัยให้ตัวเองออกผลงานสม่ำเสมอได้อย่างไร
ผมไม่แน่ใจว่าผมมีวินัยหรือเปล่านะครับ จริงๆ แล้วผมรู้สึกว่า โดยค่าตั้งต้น ผมไม่ได้เป็นคนมีระเบียบวินัยขนาดนั้นโดยธรรมชาติ แต่สิ่งที่ทำให้ภาพมันออกมาดูเหมือนมีวินัยได้ ผมคิดว่าน่าจะเป็นความปรารถนาที่อยากจะทำงานมากๆ
อย่างที่เขียนถั่วงอกหัวไฟได้ต่อเนื่องขนาดนี้ จริงๆ มันมีช่วงที่ไม่อยากเขียนด้วยนะครับ เมื่อเราทำงานไปนานๆ ทำงานซ้ำๆ เราชินกับมันแล้วเบื่อก็มีครับ ณ เวลานี้ยังไม่อยากเขียน แต่ว่าเรามีความปรารถนาที่อยากจะรู้เรื่องต่อไปเหมือนกัน หรือมีความรู้สึกเสียดายที่จะไม่เล่าเรื่องที่เรารู้ว่ามันดีมากๆ เราจะไม่เล่าเรื่องนี้ให้ใครฟังเลยเหรอ มันจะมีความปรารถนาเหล่านี้อยู่
ซึ่งเรามีสิ่งเหล่านี้ค่อนข้างมาก มีภาพที่อยากให้คนเห็น มีเรื่องที่อยากให้คนรับรู้ มีเพลงที่อยากให้คนฟัง เรานั่งลงทำงานด้วยเหตุนี้ แล้วพอเป็นแบบนั้นบ่อยๆ เข้า มันดูเหมือนคนมีวินัย (หัวเราะ) ไม่แน่ใจว่าถ้าเราไม่ได้รักหรือมีความปรารถนามากขนาดนี้ เราจะมีวินัยแบบนี้หรือเปล่า เพราะก่อนหน้านี้ตอนทำอาชีพที่ไม่ตรงกับธรรมชาติของเรา ภาพที่เหมือนวินัยนี้ก็จะไม่ค่อยออกมาให้เห็น
เท่ากับว่ามันมีความปรารถนาในการเล่าเรื่องเป็นแรงขับหลักๆ
ผมคิดว่า นอกจากความปรารถนาแล้ว เรามีตัวตนด้านหนึ่งที่ไม่อยากเป็นอย่างอื่นจริงๆ ผมไม่รู้เรื่องนี้เป็นแรงขับแค่ไหน แต่รู้สึกว่ามันมีอยู่เมื่อโตขึ้น เคยได้ยินเรื่องของ ฮายาโอะ มิยาซากิ (Hayao Miyazaki) ไหมครับ ฮายาโอะเขามีปมเรื่องการเกิดที่ทำให้เขารู้สึกผิดกับคุณแม่อยู่นิดหนึ่ง ดังนั้นเขาจะรู้สึกว่าเขาต้องให้ความสุขกับโลก การมีอยู่ของเขาถึงจะคุ้มค่า
ผมเองก็มีเรื่องแบบนั้นเหมือนกัน เดิมทีคุณแม่เป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วตั้งแต่กำเนิด ซึ่งโดยธรรมชาติควรหยุดมีลูกตั้งแต่มีพี่ชายผมเพื่อรักษาสุขภาพไว้ เขาก็เลยไปคุมกำเนิดไว้ แต่ปรากฏว่าผมเกิดมาได้ทั้งที่เขาคุมกำเนิดแล้ว โอกาสมันหนึ่งในล้านครับ แล้วส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับตามความเป็นจริงว่า มันทำให้สุขภาพของคุณแม่ทรุดลงเหมือนกัน
เรื่องนี้ตอนเด็กๆ ที่บ้านเราไม่ได้ทำให้เรารู้สึกไม่ดีเลย แต่พอโตขึ้นเรารู้สึกว่ามันมีแรงขับเคลื่อนนี้อยู่ลึกๆ เรารู้สึกว่าเราจะต้องทำอะไรที่สำคัญ หรือมีความหมายมากพอให้คุ้มค่ากับที่เราต้องเกิดมาเหมือนการทำงานกลายเป็นการหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ในรูปแบบหนึ่ง
อืม อาจจะโดยไม่รู้ตัว คือบางเรื่องเรามองการขับเคลื่อนของตัวเองมาเป็นสิบๆ ปีโดยไม่รู้ตัวเลย จนวันหนึ่งเรารู้ตัวขึ้นมา เราเรียนสิ่งนี้จากตอนเขียนรอยสนธยา เราใส่ตัวเองเข้าไปในตัวละครหลักในเรื่อง ทำให้เราต้องเขียนถึงตัวเองแบบที่ไม่เคยเขียนมาก่อน รวมถึงเรื่องการเกิดนี้ด้วย พอเขียนไปถึงตรงนั้น มันเหมือนเราถอดวิญญาณไปนั่งมองตัวเองผ่านสายตาคนอื่นและพิจารณาตัวเองอย่างจริงจัง แล้วเรารู้สึกว่า ใช่ มีแรงขับเคลื่อนนี้อยู่จริงๆ
เท่ากับว่าการทำงานไม่ว่าจะวาดจะเขียนช่วยให้เราทำความเข้าใจตัวเองได้มากขึ้นด้วย
ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งพิเศษสำหรับอาชีพศิลปินเลยนะครับ แล้วความเข้าใจตัวเองที่เราพบตรงนั้น มันส่งต่อให้คนอื่นโดยธรรมชาติของตัวงานด้วย เราบันทึกมันไว้เป็นผลงานของเรา ใครที่ได้มาอ่าน ถึงไม่ได้คำตอบ ก็อาจจะได้การตั้งคำถาม
แล้วสิ่งนี้ย้อนกลับมาให้คุณค่าและความหมายในเนื้องานและตัวเราด้วยใช่ไหม
เป็นอย่างนั้นครับ ผมคิดว่าถ้าไม่มีงานที่ทำอยู่ ผมคงเป็นคนที่ไม่ค่อยมีอะไรน่าสนใจนะครับ โดยชีวิตส่วนตัวแล้วเนี่ย คงจะธรรมดามาก ถ้าไม่มีเพลงที่น่าฟัง มีดนตรี มีงานเขียน มีภาพวาด ผมคงไม่รู้จะคุยเรื่องอะไรเลยล่ะครับ
ก่อนหน้านี้คุณเมนชันเรื่องงานที่ตรงกับธรรมชาติของชีวิต อธิบายได้ไหมว่าตรงอย่างไร
ธรรมชาติของเราที่เป็นก็คือ เราชอบสร้างครับ แล้วก็มีความสุขกับสิ่งที่สร้างขึ้นมา อย่างเช่น ถ้าเราฟังเพลง เราจะเริ่มรู้สึกว่าเราอยากมีเพลงของเราบ้าง บางคนเขาอาจจะแฮปปี้กับการฟังเพลงก็เพียงพอแล้ว แต่สำหรับเราไม่ว่าเราจะเสพสื่ออะไรที่เป็นงานศิลปะ เราจะรู้สึกว่าเราอยากทำบ้าง เฉพาะงานศิลปะนะครับ เวลาเห็นคนอื่นทำกับข้าวก็ไม่ได้รู้สึกอยากทำบ้าง (หัวเราะ)
แต่ว่ามันจะมีธรรมชาติในการใช้ชีวิตอีกมิติหนึ่งที่ทำให้เราทำบางอย่างไม่ได้ เช่น เราชอบดนตรี ชอบทำเพลง แต่พอไปเป็นนักดนตรี เราใช้ชีวิตแบบนักดนตรีแล้วไม่ถนัดเลย แต่ในขณะที่วาดรูปกับเขียนหนังสือเนี่ย อาจจะชอบเท่าๆ กันเลย แต่ว่าใช้ชีวิตเป็นนักเขียน รูปแบบการใช้ชีวิต การนอน การตื่นมันสบายตัวกว่า และผมอาจมีความเป็นอินโทรเวิร์ตตามธรรมชาติที่ศิลปินส่วนหนึ่งมักเป็น เผชิญหน้าคนเยอะๆ บ่อยๆ ก็ไม่ใช่แนวทางที่จะทำได้ดี
นอกจากปล่อยผลงานออกมาในรูปแบบหนังสือ เราคิดว่าคุณเป็นนักวาดนักเขียนคนแรกๆ ที่ลุกมาทำ merchandise ขายด้วย เล่าที่มาที่ไปให้ฟังหน่อย
เราชอบของพวกนี้อยู่แล้ว อย่างที่เกริ่นเมื่อกี้ว่าเวลาชอบอะไรก็จะอยากทำ ซึ่งโปรดักต์ชิ้นแรกๆ ที่เราทำก็คือปิ๊กกีตาร์ ก่อนหน้านั้นเรามักจะซื้อปิ๊กกีตาร์ เช่น ปิ๊กกีตาร์วง The Beatles ที่เราชอบ ซื้อด้วยความที่รู้สึกว่า นอกเหนือจากการใช้งานไม่มีฟังก์ชันอะไรหรอก จะเอามาดีดก็กลัวสีจะถลอกเปล่าๆ แต่ก็จะซื้อเอาไว้ด้วยคุณค่าทางใจเป็นหลักเลยครับ เห็นแล้วมีความสุข เห็นแล้วรู้สึกมีพลัง ก็เลยมองว่าของพวกนี้เป็นมากกว่าความสวยงามครับ มันมีพลังในแบบของมัน แล้วก็มีคุณค่าไม่ต่างจากสารอาหารประเภทหนึ่ง แต่เป็นสารอาหารทางจิตใจ ถ้า merchandise นั้นๆ ไม่ได้มีฟังก์ชันอะไรจริงจัง บางคนอาจมองการซื้อมันเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ได้เหมือนกันนะ แต่ถ้ามองในแง่ที่ว่า มันให้อาหารกับจิตวิญญาณและจิตใจเรา โอ้โห ผมว่ามันมีคุณค่ามหาศาล
คุณอยากให้คนที่ติดตามคุณได้รับสารอาหารแบบนั้นบ้างใช่ไหม
ใช่ ตอนทำผมทำด้วยความคิดที่ว่า ทำไมถึงไม่ค่อยมีนะ รู้สึกว่ามันน่าจะมีมากกว่านี้ มันควรจะเป็นเรื่องที่เป็นธรรมชาติมากๆ สำหรับศิลปินที่ทำงานประมาณเรา ที่มีคาแรกเตอร์ มีภาพวาดแล้วด้วยความที่ผมก้าวเข้ามาทำหนังสือด้วยความรู้สึกที่ไม่ได้มองมันเป็นหนังสือ แต่มองว่ามันเป็นพื้นที่ในการเล่าเรื่อง ผมก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องเดียวกันหมดครับ มองมันเป็นจักรวาล เหมือนกับว่าในจักรวาลของเรามันมีแค่หนังสือเองเนอะ แต่อย่างอื่นยังไม่มีเลย ผมไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็น merchandise ด้วยซ้ำ รู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่คนละแบบกับหนังสือในการถ่ายทอดโลกที่อยู่ข้างในตัวเรา ถ้าเรารู้สึกมันเป็นโลกใบหนึ่ง มันก็มีทั้งภาพและเสียงในโลกที่เราอยู่ มีภาพ มีเสียง มีอาหาร มีสิ่งของ มีผู้คน แล้วตอนนี้ในโลกของผมที่ถ่ายทอดให้คนอื่นได้รับรู้ มันก็ยังมีอะไรได้อีกเยอะการถ่ายทอดโลกผ่านหลากหลายสื่อแบบนี้ช่วยเรื่องเศรษฐกิจด้วยไหม
ถ้าบอกตามความจริงคือ ผมไม่ได้เริ่มมาทำเพราะอยากได้เงินเพิ่มนะครับ เพราะหนังสือมันขายดี มันทำให้เราอยู่ได้ จริงๆ แล้วถ้าให้สบายตัว ทำงานไม่เยอะมาก ก็เขียนหนังสืออย่างเดียวได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่า พอลองขยายจักรวาลมาทำ merchandise แล้วมันก็ทำได้ดีในแง่เศรษฐกิจของศิลปินเหมือนกัน
จริงๆ ตอนแรกที่เราเริ่มทำ เราก็ไม่รู้หรอกว่าจะมีกำไรไหม เพราะเราเน้นไปที่คุณภาพเลยครับ เพราะว่าถ้าคุณภาพมันไม่ถึง ตัวเราเองจะไม่ชอบ ก็เลยค่อนข้างจะลงทุนเยอะกับการผลิต จนเราไม่แน่ใจว่ามันจะทำกำไรหรือเปล่า แต่เบื้องต้นเราคิดว่า โอเค ให้มันมีก่อน ขอแค่ไม่ขาดทุนและเราได้อาหารทางใจก็แล้วกัน แต่ปรากฏว่ามันไปได้ดีมาก จนเรารู้สึกว่าการทำ merchandise ก็ทำให้เรามีความมั่นคงมากขึ้นด้วย
สำหรับศิลปินหน้าใหม่ การเขียนหนังสือไปด้วย ทำ merchandise ไปด้วย เป็นโมเดลที่ดีสำหรับการอยู่รอดไหม
จะให้ฟันธงก็คงยาก เพราะผมเองทำมาเป็นสิบปีก็มีชิ้นที่ไม่ได้ขายดีมากเหมือนกันนะครับ ถ้ามองเป็นการทดลองมันก็ช่วยได้ แต่ถ้าจะยึดมันเป็นเรื่องเป็นราวเนี่ย ผมคิดว่ามันต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่างประกอบกัน อย่างที่ผมทำอยู่จะเห็นเลยว่า ถ้าเป็นตัวละครที่คนชอบ คนก็จะซื้อมากหน่อยเป็นธรรมดา ตรงนี้เราเรียกกันเล่นๆ ว่ามีความ Sanrio อยู่ คือเราซื้อเพราะเราชอบตัวละครนั้นๆ แต่ถ้าเกิดว่า จู่ๆ เราวาดอะไรขึ้นมาแล้วเอาไปขาย ก็อาจจะวัดกันที่คุณภาพหรือปัจจัยอื่นๆ
ถ้าคุณมีโอกาสให้คำแนะนำนักเขียน นักวาด ศิลปินที่เพิ่งเริ่มต้น คุณอยากแนะนำว่าอะไร
ข้อแรกคือให้มี Plan B ไว้ เพราะเราตอบไม่ได้จริงๆ ว่าการเป็นศิลปิน ซึ่งเป็นอาชีพอิสระ ไม่ได้มีเงินเดือนตายตัว มันจะไปได้ดีแค่ไหน ช่วงที่ทำงานใหม่ๆ ผมก็มี Plan B ไว้เหมือนกัน คือคิดว่าจะเป็นอาจารย์สอนศิลปะ ก็เลยไปเรียนปริญญาโทไว้ เพราะมันเป็นขั้นตอนหนึ่ง แต่ในขณะที่เราเตรียม Plan B นั้น Plan A ก็ต้องเต็มที่นะ ผมก็เรียกได้ว่าทุ่มสุดตัวอยู่แล้ว จนถึงจุดหนึ่งที่เลิกเรียนปริญญาโทกลางคัน เพราะรู้สึกว่าจังหวะนี้แหละที่ต้องเขียนหนังสือให้ต่อเนื่อง
คุณรู้ได้อย่างไรว่าถึงเวลาทิ้ง Plan B แล้ว
ความอยู่รอดก็เป็นเรื่องจริงนะครับ เพราะบ้านผมก็ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย ปานกลางธรรมดา ผมก็ดูว่าตอนนั้นรายรับจากหนังสือพอจะเป็นอาชีพได้ และถ้าเกิดเราอยากให้งานของเรามีคุณภาพ เราก็ต้องทำเต็มเวลามีคำแนะนำอื่นๆ อีกไหม
ข้อถัดไปก็คงจะเป็น ไม่ถูกชี้นำด้วยความเปลี่ยนแปลงของโลกมากจนเกินไป บางคนโกรธที่ผมแนะนำแบบนี้ เราเข้าใจว่าหลายคนมองว่าการปรับตัวเป็นเรื่องสำคัญ เราก็ปรับตัวมาตลอด แต่มันมีเส้นบางๆ ในการปรับตัวของศิลปินว่าเราจะเปลี่ยนตามโลกแค่ไหน เช่น ช่วงหนึ่งมีคนแนะนำว่า พี่น่าจะเขียนการ์ตูนออนไลน์ลงเป็นประจำ เพราะว่าช่วงนั้นมันได้รับความนิยม แทนที่จะออกหนังสือปีละเล่ม นานๆ เจอกันที เดี๋ยวมันจะเสื่อมความนิยมไหม แต่เราคิดว่า ถ้าทำแบบนั้น มันเสียหลายอย่าง ทั้งสมาธิในการทำงาน คุณภาพในการทำงาน
เรื่องนี้ละเอียดอ่อนแต่สำคัญ คือถ้าเราเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทำนู้นที ทำนี้ที งานก็ไม่แข็งแรงสักที สำคัญที่สุดคือ เราน่าจะมีแก่นหลักๆ ของเราอยู่ เป็นแก่นหลักๆ ที่ไม่ว่าเราจะปรับตัวเข้ากับสื่อไหน ยุคสมัยไหน แก่นอันนี้จะยังคงอยู่ ซึ่งอันนี้มันต้องหาแก่นเฉพาะของแต่ละคนให้เจอว่ามันอยู่ตรงไหน
แล้วแก่นของคุณคืออะไร
ข้อแรกคือคุณภาพครับ ถ้าเกิดว่ามีงานเข้ามา เราก็ต้องถามลักษณะงานก่อนว่า เราทำสิ่งนี้ได้มีคุณภาพใช่ไหม ถ้าทำได้ ต่อให้มันเป็นสื่อใหม่หรือแปลกสำหรับเราแค่ไหน เราก็ทำได้ และผมคิดว่าบุคลิกของงาน สิ่งที่เราจะพูด มันจะยังคงอยู่ ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นจุดสำคัญ มันถึงขนาดมีบางคนต้องปรับบุคลิกตัวเองให้แมสขึ้น เขามาปรึกษาเราว่าต้องพูดอย่างไร ทำตัวอย่างไร แต่งตัวอย่างไร ผมคิดว่าถึงมันจะรู้สึกแปลกไปสักนิดหนึ่งที่เป็นตัวเอง แต่บางทีมันก็มีเสน่ห์นะครับ
ถึงขั้นมีคนมาปรึกษาเรื่องการวางตัวเลยทีเดียว
มีครับ เรื่องพวกนี้ผมเข้าใจนะ มันเกิดขึ้นตลอดเลย บางคนก็น้อยใจที่ไม่ค่อยมีใครไปสัมภาษณ์เขา เพียงเพราะว่าเขาพูดไม่เก่ง แต่ไม่พูดเลยก็อาจจะเป็นเสน่ห์เหมือนกันนะ (หัวเราะ)
หรือเคยมีคนแนะนำว่าต้องไปปาร์ตี้เยอะๆ ก็มี ซึ่งหลายอย่างในนี้เราก็ไม่ได้ทำนะ จริงๆ ถ้าทำก็อาจสำเร็จกว่านี้ก็ได้นะครับ แต่คิดว่าตัวตนอาจจะไม่แฮปปี้เท่าที่ควร และถ้าไม่แฮปปี้ก็คงทำงานได้ไม่ดีคุณเคยต้องจัดการเรื่องพวกนี้ไหม
เป็นเรื่องที่ต้องคิดนะครับ เพราะพออยู่ๆ ไปก็จะมีคนเสนอสิ่งต่างๆ เข้ามา จากผู้ร่วมงานบ้าง จากผู้หวังดีที่อยากให้เราไปได้ไกลขึ้นบ้าง เป็นเรื่องที่คิดว่าควรจะทำอย่างไร ซึ่งที่สุดแล้ว สิ่งที่เราเลือกทำคือ ทำที่ตัวงานมากกว่าทำที่ตัวเรา
ให้งานเป็นตัวพิสูจน์แล้วกัน
ใช่ครับ ผมมักจะนึกถึงคนวาด SpongeBob น้อยคนมากเลยนะที่รู้ว่าคนวาด SpongeBob หน้าตาเป็นอย่างไร ยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า แต่ว่า SpongeBob ก็ประสบความสำเร็จมาก ผมเลยรู้สึกว่า เราก็อาจจะเป็นแบบนั้นก็ได้ หรืออาจจะก้ำกึ่งก็ได้ ตัวตนกี่เปอร์เซ็นต์ งานกี่เปอร์เซ็นต์
ถ้าจะตอบแบบยาวหน่อยคือ ผมเคยคุยกับหมอคนหนึ่งที่ศึกษาเรื่อง DNA มนุษย์ เขาบอกว่าจริงๆ แล้วความเป็นมนุษย์มันจำแนกได้ออกเป็นล้านๆ แบบเลย แต่ละคนมีรายละเอียดที่จะต่างกันได้มากๆ เพราะฉะนั้นการวินิจฉัยโรคทุกวันนี้จริงๆ จึงถือว่ายังแคบไปสำหรับคุณหมอท่านนี้ ซึ่งในแง่นั้นผมก็คิดถึงการเป็นศิลปินด้วยนะครับว่าจริงๆ แล้วศิลปินมีได้เป็นล้านๆ แบบเลย