ฤดูร้อนปี 1990 ไม่กี่เดือนให้หลังจากวันที่กำแพงเบอร์ลินล่มสลาย ‘มาเรีย’ เด็กสาววัย 16 ปลายกำลังจะก้าวพ้นสู่วัยผู้ใหญ่ มาเรียนั้นยังเรียนหนังสืออยู่ ทว่าเมื่อ ‘โยฮันเนส’ แฟนหนุ่มของเธอเอ่ยปากบอกว่า “วันนี้จะไม่พาเธอกลับบ้านนะ พ่อแม่อยากรู้จักเธอแหละ” มาเรียก็ตกลงปลงใจอยู่อาศัยในชายคาเดียวกับโยฮันเนสนับตั้งแต่นั้น
ห่างไกลจากบ้านเกิดที่หากจะกลับไปก็ต้องใช้เวลาเดินเท้ากว่าสี่สิบนาที แล้วไม่เพียงแต่ชีวิตของเด็กสาวจะต้องอยู่กับความจริงที่ว่า นอกจากพ่อแม่จะหย่าร้างกันแล้ว พ่อของมาเรียซึ่งหายตัวไปจากบ้านเพื่อเดินทางไปสหภาพโซเวียต อยู่ๆ ก็จะกลับมาพร้อมกับแฟนสาวคนใหม่ที่อายุไล่เลี่ยกับเธอ แม่บอกกับมาเรียว่า เขาคงไปทำให้เด็กสาวนั่นท้อง แต่มาเรียไม่สนใจหรอก เพราะชีวิตของเธอช่างว่างเปล่าเสียยิ่งกว่าจะรู้สึกอะไรด้วยซ้ำ อยู่กินกับฝันกลางวันของแฟนหนุ่มที่อยากจะเป็นช่างภาพที่ยิ่งใหญ่ให้ได้สักวัน ในขณะที่ฝั่งมาเรียนั้นกลับไม่อยากจะทำอะไรสักอย่างนอกเสียจากนั่งอ่านพี่น้องคารามาซอฟให้จบไป
“ฉันสงสารเห็นใจแม่ ฉันอยากจะตอบกลับไป ฉันอยากจะเสนอทางออกให้ ฉันถึงกับรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบ ต้องมีแผนอนาคต แต่ท้ายที่สุดฉันก็ออกจากบ้านมาแล้ว ด้วยอายุสิบหกนี่แหละ ปกติคนเราไม่ออกจากบ้านกันตอนอายุสิบหกหรอกนะ ถ้าไม่มีแผนว่าจะทำอะไรน่ะ แต่ตัวฉันไม่มีแผนการอะไรกับอนาคตเลย ฉันรู้สึกว่างเปล่าที่สุด” (หน้า 45)
กระทั่งอยู่มาวันหนึ่ง เด็กสาวก็ได้พบกับ ‘ลุงเฮนเนอร์’ หนุ่มใหญ่ที่แม้จะขี้เมา หากใบหน้าก็หล่อเหลาและร่างกายก็กำยำล่ำสัน เป็นการพบพานสานสัมพันธ์กันระหว่างเด็กสาววัยกำดัดกับชายวัยกลางคนนี่เองที่ได้สั่นสะเทือนมาเรียเข้าอย่างจัง คล้ายว่าอยู่ๆ เธอก็รับรู้ความต้องการของตัวเองอีกครั้ง
คล้ายว่าฉับพลัน ความว่างเปล่าในชีวิตประจำวันก็พลันสลายหายไป
ศีลธรรมแห่งความปรารถนา มนุษย์มิอาจหยุดยั้ง
สักวันเราจะเล่าทุกอย่างสู่กันฟัง (Someday We’ll Tell Each Other Everything) คืองานเขียนเล่มแรกของดานีเอลา ครีน (Daniela Krien) ผู้เคยฝากผลงานให้นักอ่านชาวไทยได้รู้จักผ่าน เพราะความรักมิอาจเร่งร้อน หนังสือเล่มที่สองซึ่งถูกแปลเป็นภาษาไทยก่อนหน้านี้ โดยใน เพราะความรักมิอาจเร่งร้อน นั้น ครีนเลือกจะบอกเล่าผ่าน 5 ตัวละครหญิงที่แตกต่างกัน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความรัก เพียงแต่เรื่องราวความรักของแต่ละคนก็เริ่มต้น คลี่คลาย และสิ้นสุดอย่างแตกต่างกันไป
หากใครที่เคยได้อ่านหนังสือเล่มนั้นมาก่อนคงจะสัมผัสได้ถึงหนึ่งในเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของครีน นั่นคือความละเมียดละไมที่ไม่เพียงจะปรากฏในส่วนของภาษา จังหวะ และลมหายใจระหว่างตัวอักษรเท่านั้น (ซึ่งในจุดนี้ก็ต้องชื่นชมไปถึงปิยะกัลย์ สินประเสริฐ ผู้แปลหนังสือทั้งสองเล่มของครีนจากต้นฉบับภาษาเยอรมัน ซึ่งสามารถทำให้ผู้อ่านรับรู้ได้ถึงสไตล์การเขียนของครีน) แต่ยังรวมถึงอารมณ์และความรู้สึกของตัวละคร ที่ครีนถ่ายทอดออกมาได้อย่างเป็นปกติสามัญ และแสนจะละเอียดลออ
เพียงแต่จุดที่ทำให้หนังสือทั้งสองเล่มแตกต่างกันคือ ในขณะที่หนังสือเล่มหนึ่งเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของ 5 ชีวิตที่แตกต่างกันไป สักวันเราจะเล่าทุกอย่างสู่กันฟัง กลับโฟกัสไปที่เส้นเรื่องของตัวละครเดียวซึ่งทำให้หนังสือเล่มนี้มีลักษณะของนวนิยายที่ไม่แตกกระจายไปยังหลายชีวิตเหมือนเล่มก่อนหน้า ซึ่งจุดนี้เองที่สะท้อนให้เห็นความเก่งกาจของผู้เขียน ที่ไม่ว่าจะบอกเล่าเรื่องราวในสไตล์เรื่องสั้นหรือเรื่องยาว ครีนก็สามารถที่จะคว้าจับคนอ่านได้อย่างอยู่หมัด ชนิดที่ว่า แม้ชีวิตของมาเรียจะดูเป็นเรื่องราวของเด็กสาวในอดีตธรรมดาๆ ทว่าครีนก็เก่งกาจพอที่จะชักจูงให้เราพลิกหน้ากระดาษไปเรื่อยๆ ด้วยความสงสัยใคร่รู้ว่า ชีวิตของเธอจะเป็นอย่างไรต่อไป
แน่นอนว่า เรื่องย่อของ สักวันเราจะเล่าทุกอย่างสู่กันฟัง อาจชวนให้รู้สึกน้ำเน่าอยู่บ้าง (ซึ่งในความเป็นจริงจะเรียกอย่างนั้นก็ได้) เพราะผู้เขียนเองก็ไม่ปฏิเสธว่า มาเรียเองก็เป็นเด็กสาวที่ถูกเขียนขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของวัยรุ่นที่ว้าวุ่น ลนลาน และใช้อารมณ์เป็นเครื่องชี้นำจิตใจ
ทว่าผ่านความเรื่อยมาและเรื่อยไปของชีวิตเด็กสาวที่วันๆ จับเจ่าอยู่แต่กับห้องนอน ห้องครัว และร้านค้าเล็กๆ ของครอบครัวแฟนหนุ่มนี่เอง ที่ครีนก็ได้ค่อยๆ เปิดเผยให้เห็นแรงขับของมาเรียที่ถูกกดทับอยู่ภายใน แรงขับ–ที่เมื่ออยู่มาวันหนึ่งโดนลุงเฮนเนอร์สะกิดไวๆ ระเบิดที่มาเรียฝังกลบเอาไว้ก็ถึงขั้นปะทุขึ้นมา
ใช่ การปะทุที่ว่าคือสัมพันธ์ลับๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างมาเรียกับลุงเฮนเนอร์
เย็นวันหนึ่ง ที่แม้ว่ามาเรียจะรู้อยู่แก่ใจว่ามันเป็นสิ่งไม่ควรเลย ทว่าเธอก็ไม่สามารถห้ามปรามความปรารถนาทางเรือนกายได้ไหว แต่ละวันมาเรียจะพยายามหาข้ออ้างที่จะไปยังบ้านของลุงเฮนเนอร์ซึ่งอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล หลับนอนกับหนุ่มใหญ่ ก่อนจะแอบกลับมาบ้านอย่างระแวดระวังเพื่อไม่ให้โยฮันเนส แฟนหนุ่มผู้เอาแต่พร่ำเพ้อว่าอยากจะเป็นช่างภาพ อยากจะเรียนศิลปะ และอยากจะพามาเรียออกไปจากบ้านนอกแห่งนี้ในสักวันจับได้ว่า ความรู้สึกที่เด็กสาวมีต่อเขานั้นกำลังเสื่อมสลายหายไป
“โยฮันเนสจับมือฉันแล้วจูงออกมาที่โถงทางเดินแล้วขึ้นบันไดไป เขาดูคิดอะไรอยู่ในหัว เขามีแผนการ เขาอยากไปไลป์ซิกเพื่อไปเยี่ยมชมวิทยาลัยศิลปะ แม้ตอนนี้จะเป็นช่วงปิดภาคเรียน แต่ก็น่าจะมีคนอยู่บ้างแหละ เขาว่า ฉันอยากจะไปกับเขาด้วยไหม เขาไม่ได้ถาม นั่นคือหนทางของเขา ส่วนหนทางของฉัน เท่าที่ฉันจะบอกได้นั้น ไปอีกทิศทางหนึ่ง มันยังเร็วไปที่จะบอกได้ว่าจะไปที่ไหน ฉันล่องลอยจากสภาพความคิดหนึ่งไปสู่อีกความคิดหนึ่ง มีชีวิตอยู่วันต่อวัน อย่างปัจจุบันขณะที่สุด มีเพียงตอนนี้และตอนนี้คือลุงเฮนเนอร์ โยฮันเนส อนาคตเป็นเรื่องไม่แน่นอน” หน้า 98
ชีวิตที่ไม่อาจก้าวพ้นอยู่ร่ำไป
แน่นอนว่า ความสัมพันธ์ต้องห้ามคือแก่นแกนสำคัญของ สักวันเราจะเล่าทุกอย่างสู่กันฟัง ทว่าอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ‘บริบท’ (Context) ที่หลบซ่อนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งน่าสนใจไม่แพ้กับเรื่องราวของตัวละคร
อย่างที่ได้กล่าวไปว่า ฉากหลังของหนังสือเล่มนี้อยู่ในช่วงที่กำแพงเบอร์ลินเพิ่งจะล่มสลายไปไม่นาน โดยที่หมู่บ้านซึ่งมาเรียและโยฮันเนสก็อยู่ในฝั่งเยอรมนีตะวันออก ซึ่งก่อนหน้าที่เยอรมนีทั้งสองฝั่งจะรวมประเทศเป็นหนึ่งเดียวนั้น พื้นที่ของฝั่งนี้เคยอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียตนั่นเอง
ไม่แปลกที่ระหว่างที่อ่านไปเราจะสัมผัสได้ถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมโซเวียตที่ผู้เขียนหยอดลงไปอย่างแนบเนียน โดยเฉพาะเรื่องของวรรณกรรมที่หนังสืออย่างพี่น้องคารามาซอฟ หรืออันนา คาเรนินา จะโดนอ้างถึงอยู่เรื่อยๆ ทว่าอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือการปะทะกันระหว่างคุณค่าแบบเยอรมนีตะวันตก และตะวันออก ที่ผู้เขียนสะท้อนให้เห็นอย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะในฉากหนึ่งซึ่งเล่าถึงทริปสั้นๆ ที่มาเรียและโยฮันเนสเดินทางไปฝั่งเยอรมนีตะวันตกด้วยกัน มาเรียก็ถึงกับรับรู้ได้อย่างจังว่า สังคมในอีกฝั่งของกำแพงนั้นช่างแตกต่างไปจากชีวิตประจำวันที่รายล้อมไปด้วยทุ่งหญ้าและปศุสัตว์เสียเหลือเกิน
“เขาปล่อยให้ฉันรอในร้านกาแฟริมถนนร้านหนึ่งตอนที่เขา ‘ไปจัดการอะไรสักหน่อย’ ทว่าก่อนหน้านั้นโยฮันเนสได้สั่งอาหารด้วยน้ำเสียงมั่นใจผิดปกติ ฉันสงสัยว่าเขามีอะไรให้จัดการที่นี่ แต่ที่จริงฉันก็ไม่ได้สนใจอะไรนัก ได้นั่งตรงนี้ ได้มองดูอะไร ได้ดื่มกาแฟนม และยังได้กินเค้กรสเลิศก็ดีเกินกว่าที่ฉันจะรับไหวแล้ว ฉันจ้องมองดูผู้คน ที่นี่ช่างแตกต่าง ช่างมั่นใจในตัวเอง ช่างมีเป้าหมายชัดเจน ช่างบรรยายไม่ถูก ฉันดื่มกาแฟหมดแล้ว ฉันสั่งกาแฟอีกถ้วยทันทีพร้อมกับไวน์แก้วหนึ่ง ในมือฉันถือสมุดบันทึกเล่มเล็ก ฉันตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะจดบันทึกทุกอย่างลงไป ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ฉันได้เห็นและยังไม่รู้จัก ที่ฉันโหยหาอยู่ในบางครั้ง และตอนนี้ที่ฉันได้เห็น ฉันไม่รู้จักอะไรสักอย่าง ฉันต้องบันทึกทุกอย่างลงไป คว้าเก็บเอากลิ่นจากร้านรวงไปจนถึงความสะอาดของท้องถนน หน้าอาคารที่สว่างไสวและแฟชั่นของเด็กสาว และกาแฟชั้นยอด ไปจนถึงความงามของพวกผู้หญิง หน้าแข้งและรักแร้ที่โกนขนไว้ ผมเรียบร้อยของพวกหล่อน สายตาเจ้าชู้ของพวกผู้ชาย แม่น้ำอิซาร์สีฟ้าเขียว ความสบายๆ และที่ซ้ำไปซ้ำมาคือสีพวกนี้! ฉันไม่ได้เขียนอะไรเลย และจู่ๆ ฉันก็หมดอารมณ์ขึ้นมาเสียอย่างนั้น โยฮันเนสน่าจะมาตอนนี้ มารับฉัน พาฉันกลับบ้าน เดี๋ยวนี้เลย ความตื่นตาตื่นใจของฉันกลับกลายเป็นความสับสนที่แท้จริงอย่างรวดเร็วในเสี้ยววินาที ฉันรู้สึกว่ายากจน น่าเกลียด ตัวคนเดียว ฉันก็ใส่ชุดกระโปรงที่สวยอยู่ แต่มันมีบางอย่างในตัวฉันและฉันก็ไม่รู้ว่าคืออะไร แต่มันต่างจากคนอื่น ฉันไม่สามารถอธิบายได้มากกว่านี้ ฉันไม่เพลิดเพลินกับอะไรอีกต่อไป ฉันคอยโยฮันเนสอย่างตัวสั่นกระสับกระส่าย จู่ๆ ฉันก็คิดขึ้นมาว่า เขาจะไม่กลับมาหา เขาจะหาฉันไม่เจอ แล้วฉันจะทำยังไงดี ฉันกระซิบกับตัวเองว่า “มา มา มาเสียที โยฮันเนส มาได้แล้ว ขอร้อง…” คู่รักโต๊ะข้างๆ ยิ้มและมองมาที่ฉัน ฉันมองหาใบหน้าหนึ่งในกระแสธารของผู้คนที่ผ่านไปมา ฉันรีบกระเดือกเครื่องดื่มจากแก้วทรงกลม ไวน์แดงหยดลงบนชุดกระโปรงสีอ่อนของฉัน ฉันอับอายกับทุกสิ่ง” หน้า 37- 38
ว่ากันตรงๆ มาเรียรู้สึกว่าตัวเองก็ไม่ต่างอะไรกับเด็กสาวจากบ้านนอก ที่อยู่ๆ ก็ต้องมาเผชิญหน้ากับความแปลกแยกของเมืองใหญ่ มันจึงไม่แปลกที่ต่อให้โยฮันเนสจะพยายามคะยั้นคะยอให้แฟนสาวหลบหนีจากแผ่นดินเกิดไปอยู่ในฝั่งตะวันตกกับเขาสักเพียงใด มาเรียกลับยิ่งจะรู้สึกว่า เธอมองไม่เห็นตัวเองในแผ่นดินฝั่งตรงข้ามนั้นเลย
อาจกล่าวได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของเด็กสาวที่กำลังจะก้าวพ้นสู่วัยผู้ใหญ่ ความสัมพันธ์ต้องห้ามที่คล้ายจะหมิ่นเหม่ศีลธรรมอยู่ร่ำไป หรือสภาวะแปลกแยกที่เกิดขึ้นในช่วงที่เยอรมนีตะวันตกและเยอรมนีตะวันออกกำลังผสานรวมกัน เหล่านี้เองคือหัวใจสำคัญที่ สักวันเราจะเล่าทุกอย่างสู่กันฟัง อยากจะบอกเล่ากับผู้อื่น มันคือเรื่องราวของการเปลี่ยนผ่าน คือเส้นบางๆ ที่ขีดกั้นอยู่ระหว่างความถูก-ผิด วัยรุ่น-ผู้ใหญ่ และตะวันตก-ตะวันออก ซึ่งถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่ครีนพยายามจะบอกกับเราอาจคือ ‘ความกลืนไม่เข้าคายไม่ออก’ ‘การเลือกไม่ได้’ และ ‘การเหยียบย่ำระหว่างเส้นแบ่ง’ อยู่ร่ำไป
มาเรียไม่มีอนาคต และต่อให้ถึงจุดหนึ่งเธอจะรู้สึกว่ามองเห็นอนาคต แต่ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่คอยฉุดรั้งเธออยู่คือความไม่แน่ใจ พร่าเลือนอยู่ระหว่างความจริงกับจินตนาการ งุนงงอยู่ระหว่างความเพ้อฝันที่คนอื่นวาดไว้ กับความปรารถนาทางเรือนกายที่จับต้องสัมผัสได้ หากสุดท้ายก็ไม่แน่ใจว่า มันคือสิ่งที่ถูกควรแล้วหรือ
หรือหากจะกล่าวให้ถึงที่สุด สักวันเราจะเล่าทุกอย่างสู่กันฟัง คือเรื่องราวของเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง เด็กผู้หญิงที่อาจมีความฝันเป็นรูปธรรมอย่างใครเขาก็เป็นได้ เพียงแต่เรื่องคือ มันมีอะไรหลายๆ อย่างคอยแต่จะเลือนพร่าอนาคตที่เด็กสาวพยายามจะจ้องมองไป การเมือง ศีลธรรม และค่านิยมทางสังคม เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นอะไรที่ใหญ่โตเกินกว่าที่หญิงสาวเพียงคนเดียวจะรับมือได้ไหว
หรือสุดท้ายกระแสลมของความเปลี่ยนแปลงที่พัดผ่านไปก็มีแต่จะนำพาความชัดเจนมาสู่ชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เท่านั้น