เกาหลีใต้ : ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ด้วยเมืองแห่งการเรียนรู้ ก้าวสู่มหาอำนาจด้าน Soft Power

5,435 views
9 mins
May 19, 2022

          ภาพในอดีตเมื่อ 50 กว่าปีก่อนอาจทำให้หลายคนไม่เชื่อสายตาว่า ‘เกาหลีใต้’ จะกลายเป็นประเทศที่ใครๆ ต่างรู้จักและหยิบยกมาเป็นตัวอย่างของชาติที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะการส่งออก Soft Power ที่ไปได้ไกลทั่วโลก

          เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยโชคหรือปาฏิหาริย์เลยแม้แต่น้อย ทว่าเป็นความจริงจังในการเปลี่ยนประเทศด้วยการใช้อาวุธสำคัญอย่างความรู้ ผ่านยุทธศาสตร์ชาติที่ตั้งใจสร้างเกาหลีใต้เป็น ‘สังคมฐานความรู้’ (Knowledge base society) ต่างหาก

          เพื่อให้เห็นภาพยิ่งขึ้นว่าประเทศเกาหลีใต้จริงจังกับเรื่องนี้แค่ไหน ต้องเล่าย้อนไปถึงเป้าหมายการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) ของ UNESCO เพื่อพัฒนาพลเมืองในประเทศต่างๆ ผ่านแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) ที่เชื่อว่าการเรียนรู้ไม่ควรจำกัดช่วงวัย ยิ่งในวันที่ทักษะต่างๆ อาจหมดอายุไปอย่างรวดเร็ว ทุกคนจึงควรมีพื้นที่ให้ได้เรียนรู้เพื่อสร้างทักษะใหม่ๆ ตลอดเวลา 

          ซึ่งโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้นี้ มีการรับสมัครสมาชิกใหม่อย่างสม่ำเสมอ และเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีเมืองเข้าร่วมเป็นสมาชิกมากที่สุดก็ว่าได้ โดยมีจำนวนกว่า 50 เมืองทั่วประเทศที่ได้เป็นสมาชิกกับยูเนสโกแล้ว และอีกกว่า 100 เมืองที่กำลังพัฒนาให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้อย่างแข็งขัน

          อย่างที่ The KOMMON เคยเขียนถึงไปอย่างเมืองโอซัน ที่เพิ่งได้รับรางวัล UNESCO Learning Cities Award ในปี ค.ศ. 2021 ด้วยเป้าหมายการเป็น ‘เมืองแห่งการเรียนรู้ 100 ปี’ ที่ยิ่งตอกย้ำว่าพวกเขาจริงจังมากแค่ไหน

          คงต้องบอกว่า กว่าที่เกาหลีใต้จะมาถึงขั้นนี้ได้เป็นเพราะความร่วมมือกันของทั้งภาครัฐและเอกชนที่ร่วมกันผลักดันจนได้ผลลัพธ์จับต้องได้ และกลายเป็นประเทศที่น่าจับตาในทุกวันนี้  

          พวกเขาเริ่มต้นสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้กันตั้งแต่เมื่อไหร่ สร้างกันอย่างไร แล้วเมืองแห่งการเรียนรู้เกี่ยวอะไรกับ Soft Power ของเกาหลีใต้ บทความนี้จะพาไปสำรวจกัน

สร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ฉบับเกาหลีใต้ เริ่มไว้ตั้งแต่ 2 ทศวรรษก่อน

          เราอาจเคยทราบกันว่าในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งนั้น นอกจากประเทศไทยที่วิกฤตหนักแล้ว ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกต่างก็เต็มไปด้วยบาดแผล เกาหลีใต้เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบสาหัส และความยากในการกู้วิกฤตของเกาหลีใต้คือสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมหนักเลย ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ยังพอมีพื้นที่และทรัพยากรให้พยุงตัวได้  คิม แด จุง ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในเวลานั้นจึงคิดถึงการส่งออกวัฒนธรรม หรือ Soft Power เพื่อให้พวกเขาเอาชนะวิกฤตนี้ไปให้รอด

          แต่การจะสร้าง Soft Power ได้นั้น ไม่ใช่การหยิบจับภาพลักษณ์ฉาบฉวยไปโชว์ แต่ต้องพัฒนาคนให้พร้อมใช้ความคิดสร้างสรรค์ จึงเป็นแผนการสร้าง ‘สังคมฐานความรู้’ (Knowledge base society) โดยค่อยๆ พัฒนาการศึกษา จนกระทั่งหันมาทำ Learning City อย่างจริงจัง เพื่อการกระจายพื้นที่การเรียรู้ออกไปสู่ผู้คน

          ค.ศ. 1999 เมืองกวังมยอง (Gwangmyeong) ประกาศตัวว่าเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ‘แห่งแรก’ ในเกาหลีใต้ ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งรัฐ เอกชน และคนในพื้นที่ ที่ต่างเห็นปัญหาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่สังคมสูงวัย เศรษฐกิจของเมืองที่ไม่แข็งแรง และการเข้าไม่ถึงความรู้ของคนในบางพื้นที่ พวกเขาจึงตัดสินใจลุกขึ้นมาจัดการและสร้างพื้นที่การเรียนรู้ของตัวเอง ผ่านโปรแกรมการเรียนรู้ที่อยู่บนเป้าหมาย ‘เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีความสุข ไม่ว่าจะที่ไหน เมื่อไหร่ หรือเป็นใครก็สามารถเรียนได้’ ทำให้เมืองค่อยๆ พัฒนามากขึ้น เพราะผู้คนได้ทักษะสำหรับประกอบอาชีพหรือเข้าถึงความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ

          จากจุดเริ่มต้นนั้น ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงตามมาอย่างต่อเนื่อง ใน ค.ศ. 2001 รัฐบาลส่วนกลางของเกาหลีใต้เริ่มจริงจังกับการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ และตั้งเป้าเปลี่ยนให้ทุกเมืองในเกาหลีใต้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ผ่านการทำวิจัย ออกแบบพื้นที่ วางโครงสร้างพื้นฐาน และให้งบสนับสนุนแต่ละเมืองในการออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ของตัวเอง โดยมีแนวคิดหลัก คือการทำให้พื้นที่การเรียนรู้อยู่ใกล้บ้านทุกคนมากที่สุด ซึ่งใกล้ในระดับที่ว่าเดินเท้าเพียง 10 นาทีก็ไปถึงพื้นที่การเรียนรู้ระดับชุมชนได้! 

          และไม่ใช่แค่เพียงนโยบายในกระดาษ พวกเขาจริงจังและพร้อมทำให้เกิดขึ้นจริง ใน ค.ศ. 2008 รัฐได้ก่อตั้งสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งชาติ หรือ The National Institute for Lifelong Education (NILE) เพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้ ซึ่งหากว่ากันในเชิงปริมาณ ปัจจุบันเกาหลีใต้มีเมืองแห่งการเรียนรู้ไปแล้วกว่า 169 แห่ง และแต่ละแห่งก็มีอิสระในการออกแบบเมืองด้วยตัวเอง ไม่ใช่การจัดการแบบที่ส่วนกลางลงไปจัดตั้งแล้วจับวางอย่างไม่เข้าใจบริบท

ซูวอน เมืองแห่งการเรียนรู้ที่จะทำอะไรก็ได้ ใครอยากสอนก็ได้

          ซูวอน (Suwon) เป็นเมืองทางตอนใต้ของกรุงโซล ตั้งอยู่ในจังหวัดคย็องกี (Gyeonggi) และได้รับเลือกให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ใน ค.ศ. 2005 จากกระทรวงศึกษาธิการของเกาหลีใต้           

          ประชากรส่วนใหญ่ของซูวอนเป็นเด็กและผู้สูงวัย พวกเขาจึงออกแบบเมืองแห่งการเรียนรู้ที่เน้นไปยังคนสองกลุ่มนี้เป็นหลัก โดยมีพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้หลักคือ ‘Suwon Lifelong Learning Center’ ทำหน้าที่วางแผน ออกแบบหลักสูตรและกิจกรรมที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ในเมือง ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ออกแบบโดยคำนึงถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชน เช่น เกษตรกรรม หัตถกรรม รวมไปถึงการศึกษาวรรณกรรมด้วย โดยรัฐส่วนกลางจะคอยสนับสนุนทุกๆ อย่างตามที่ร้องขอ ทั้งการเตรียมพื้นที่ การจัดหาอุปกรณ์ หรือทุนในการสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้

          อย่างที่เล่าให้ฟังว่ารัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องการเข้าถึงพื้นที่การเรียนรู้ให้ง่ายที่สุด ตัวอย่างที่ชัดเจนและทรงพลังคือเมืองซูวอนแห่งนี้ มีสถานที่สำหรับการเรียนรู้กว่า 600 แห่ง ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน 42 แห่ง ศูนย์การเรียนรู้ของเด็กและวัยรุ่น 73 แห่ง ศูนย์แสดงงานศิลปะและวัฒนธรรม 20 แห่ง และห้องสมุดอีกกว่า 118 แห่ง ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ภายใน 10 นาทีจากบ้าน เรียกว่าเดินไปได้สบายๆ ตามที่รัฐตั้งเป้าไว้ นอกจากนี้ เมืองซูวอนยังเน้นการสร้างพื้นที่ตรงกลางให้คนออกมาถกเถียงกันได้อย่างสันติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ยังไม่รวมไปถึงการมีพื้นที่โล่งกว้างให้เด็กๆ มาวิ่งเล่นได้ตามช่วงวัย 

          หากจะให้ตัวอย่างสถานที่ที่น่าสนใจและสะท้อนความเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ได้ดี ต้องยกให้ โรงเรียนมวอลโด (Mwolado School) คำว่า ‘มวอลโด’ ในภาษาเกาหลี แปลว่า ‘อะไรก็ได้’ ด้วยความที่โรงเรียนแห่งนี้สร้างขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนเรียนอะไรก็ได้ โดยเฉพาะคนสูงวัยที่มีเวลาว่าง ไม่อยากนอนเบื่อๆ และอยากลองเรียนรู้อะไรใหม่ๆ  ไม่ว่าจะวาดรูป เต้น เล่นคอมพิวเตอร์ พวกเขาก็พร้อมเปิดคลาสเรียนวัยเก๋าให้สมใจอยาก

          อีกแห่งคือ โรงเรียนนานูกา (Nunuga School) ซึ่งคำว่า ‘นานูกา’ หมายถึง ‘ใครก็ได้’ โรงเรียนนี้จึงเป็นพื้นที่ให้คนที่มีองค์ความรู้มาสร้างกระบวนการสอน หรือออกแบบหลักสูตรเพื่อส่งต่อให้คนในชุมชน โดยไม่ต้องกลัวว่า หากไม่มีใบปริญญาหรือวุฒิการศึกษาแล้วจะมาสอนไม่ได้ เพราะที่นี่เปิดให้ทุกคนมาส่งต่อความรู้ที่ตัวเองถนัด ไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ก็ถูกให้ความสำคัญ ตั้งแต่เย็บปักถักร้อย เรียนภาษา ไปจนถึงสอนใช้โซเชียลมีเดีย แถมพื้นที่เหล่านี้ไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะเป็นพื้นที่สาธารณะที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้อย่างเท่าเทียมกันแบบฟรีๆ

            คีย์เวิร์ด ‘อะไรก็ได้’ และ ‘ใครก็ได้’ ของเมืองซูวอน จึงกลายเป็นส่วนช่วยสำคัญให้ผู้คนสามารถลองสร้างจินตนาการ และเปิดกว้างให้กับความคิดสร้างสรรค์ที่หลากหลาย กลายเป็นอีกวิธีที่ช่วยสนับสนุนให้คนได้มีพลังความคิดสร้างสรรค์ดีๆ และสามารถพัฒนาต่อเป็น Soft Power พร้อมส่งออกได้ไม่ยาก

นัมยังจู เมืองที่ออกแบบการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้ด้วยหลัก 1-2-3

          นัมยังจู (Namyangju) เป็นเมืองที่อยู่ติดกับเมืองหลวงโซลและมีประชากรมากที่สุด ทำให้การออกแบบโครงสร้างเมืองเพื่อการเรียนรู้เป็นเรื่องจำเป็นมากๆ เพราะจากปัญหาของการมีประชากรจำนวนมาก บวกกับพื้นที่การเรียนรู้ที่กระจุกตัว ทำให้นัมยังจูสร้างโครงการ Namyangju’s 1-2-3 Lifelong Learning Infrastructure ที่เน้นการพัฒนาให้ทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียมกันผ่านโครงสร้างหลัก โดยมีโมเดล 1-2-3 ซึ่งความหมายคือ

          1 – ทุกคนสามารถ ‘เดิน’ ไปพื้นที่การเรียนรู้ระดับชุมชน ที่เรียกว่า ‘Learning Lighthouse’ ได้ในเวลาไม่เกิน 10 นาที

          2 – ทุกคนสามารถเดินไปยังศูนย์กลางชุมชนขนาดใหญ่ ในเวลาไม่เกิน 20 นาที

          3 – ทุกคนสามารถเดินถึงห้องสมุดในเวลาไม่เกิน 30 นาที

          ลำดับเลขง่ายๆ นี้ สะท้อนการออกแบบโดยคำนึงถึงว่าทุกคนต้องเข้าถึงพื้นที่การเรียนรู้ได้ และต้องเข้าถึงแบบสะดวกสบายด้วย เพื่อสร้างให้การเรียนรู้นั้นเป็นมิตรกับผู้คนนั่นเอง 

          จุดเด่นของเมืองนัมยังจู คือการสร้าง  ‘Learning Lighthouse’ ที่เปลี่ยนพื้นที่ว่างเปล่ามาเป็นศูนย์การเรียนรู้ระดับชุมชน โดยเน้นการเลือกพื้นที่ที่คิดถึงชุมชนไว้ก่อนด้วยการกำหนดพื้นที่การเรียนรู้ที่ทุกคนจะเข้าถึงได้ง่ายที่สุด โดยมีภาครัฐและภาคเอกชนที่มาช่วยสนับสนุนการให้ความรู้ทั้งจากพิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี ศูนย์สวัสดิการสังคม และภาคส่วนต่างๆ ที่มองเห็นว่าทักษะใดที่ชุมชนน่าจะต้องการ 

          นี่คือการออกแบบที่มีหัวใจสำคัญคือ ‘คนเมืองทุกคน’ สามารถเข้าถึงพื้นที่การเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียมและสะดวกสบาย เพื่อสร้างให้การเรียนรู้เป็นมิตรกับผู้คน ทั้งยังช่วยส่งเสริมให้คนในพื้นที่ได้แสดงศักยภาพของพวกเขาและนำไปต่อยอดได้อีกมากมาย

โซแดมุน เมืองที่สนับสนุนทุก ‘คลับ’ การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่

          เมืองสุดท้ายที่อยากพูดถึงในครั้งนี้คือเมือง โซแดมุน (Seodaemun) ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ในโซล และได้รับรางวัลเมืองแห่งการเรียนรู้จากยูเนสโกประจำปี ค.ศ.2019 

          ความน่าสนใจของเมืองโซแดมุนคือความช่วยเหลือและสนับสนุน ‘คลับ’ หรือชุมนุมสำหรับการเรียนรู้ โดยมีชื่อเรียก ว่า เซ-โร-กอล-ม็อก (Se-Ro-Gol-Mok) ที่ให้คนซึ่งอาศัยในอพาร์ตเมนต์หรือตึกเดียวกันรวมตัวกันสร้างคลับการเรียนรู้ของตัวเองในที่อยู่อาศัย ทำให้พวกเขาไม่ต้องสร้างอาคารใหม่ๆ เพื่อใช้เป็นพื้นที่รวมตัวผู้คนอีกต่อไป และมีเพียง ‘ศูนย์การเรียนรู้โซแดมุนกู’ ไว้เป็นพื้นที่ตรงกลางให้ทุกคนมาใช้งานค้นคว้า หรือนั่งพูดคุย รวมไปถึงให้คำปรึกษาในการก่อตั้งคลับแห่งการเรียนรู้ ซึ่งจะสอนทั้งภาวะผู้นำ ทักษะการคิดวิเคราะห์ การจัดการต่างๆ 

          โดยทุกคนสามารถเข้าร่วมกับ เซ-โร-กอล-ม็อก ได้ ไม่ว่าจะเป็นคนก่อตั้งคลับ เป็นคนสังเกตการณ์ หรือจะเป็นคนสอนประจำคลับ โดยลงทะเบียนที่เว็บไซต์ของศูนย์การเรียนรู้และทำข้อตกลงต่างๆ เช่น จะรวมตัวกันสัปดาห์ละกี่วัน เลือกพื้นที่ที่รวมตัวกัน และสิ่งที่อยากเรียนรู้ เพื่อรับการสนับสนุนไม่ว่าจะพื้นที่ คนช่วยสอน หรืองบประมาณ ซึ่งที่ผ่านมาก็เกิดคลับต่างๆ เช่น คลับเต้นเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี คลับดริปกาแฟ คลับเล่นสนุกกับคนสูงวัย คลับอ่านหนังสือนิทานโดยเหล่าคุณแม่ คลับวาดรูปเพื่อทำนายดวงชะตา และอีกมากมายนับไม่ถ้วน (ซึ่งคลับต่างๆ ก็สะท้อนว่าเขาให้คุณค่ากับการเรียนรู้ในหลากหลายรูปแบบ ไม่กำหนดกรอบอยู่แค่ทักษะวิชาชีพ วัฒนธรรมพื้นบ้าน หรือกระทั่งศิลปะสูงส่ง)

กิจกรรมการเรียนรู้ภายในคลับ
Photo : SEODAEMUN-GU Office
กิจกรรมการเรียนรู้ภายในคลับ
Photo : SEODAEMUN-GU Office

          นอกจากนี้ก็ยังมีหลักสูตรคอยเสริมทัพให้กลุ่มที่รวมตัวกันเรียนรู้ได้มาลองเลือกนำไปใช้ต่อได้ เช่น หลักสูตร Human-centered program ที่ชวนเข้าใจวัฒนธรรมของมนุษย์ หลักสูตร Relationship-centered program ที่ชวนสร้างความสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัว 

          ด้วยความเป็นเมืองมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ถึง 9 แห่ง ทำให้โซแดมุนจับมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อสอนหลักสูตรแบบเข้มข้น ทั้งเรื่องประชาธิปไตยและพลเมือง เรื่องภาวะผู้นำของผู้หญิง หรือสุขภาพของคนเมือง โดยมอบประกาศนียบัตรสำหรับผู้ที่ต้องการนำไปต่อยอดได้อีกด้วย

          อาจบอกได้ว่าเมืองแห่งนี้ให้เสรีภาพกับประชาชนในการเรียนรู้สิ่งที่ตัวเองต้องการอย่างเต็มที่ โดยมีรัฐบาลเป็นคนคอยซัพพอร์ตอยู่ข้างหลัง ในวันที่เราจะเรียนรู้อะไรก็ได้ ความสร้างสรรค์ก็เกิดได้จากสิ่งนี้ และนำไปสู่การคิดและดีไซน์วัฒนธรรมใหม่ๆ ที่ชวนให้เกาหลีมีเครื่องมือส่งออก Soft Power ได้อีกไกล

          ผลลัพธ์จากความจริงจังในการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ของเกาหลีที่มีพื้นที่การเรียนรู้ทุกหนทุกแห่ง ทำให้เด็กๆ หรือคนในชุมชนรับรู้ถึง ‘ความเป็นพลเมือง’ ที่นำไปสู่การเข้าใจสิทธิของประชาชน การมีเสรีภาพในความคิดที่นำไปสู่ความสร้างสรรค์ และมองการเรียนรู้เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ใครๆ ก็เรียนได้ และการเรียนรู้ไม่ใช่เรื่องของคนวัยใดวัยหนึ่ง เช่นเมืองนัมยังจู ที่ในช่วงปี ค.ศ. 2011 มีผู้เข้าร่วมโปรแกรมการเรียนรู้เพียง 835 คน แต่เวลาแค่ 3 ปี ก็มีผู้เข้าร่วมกว่า 10,402 คน หรือจากสถิติของเมืองซูวอน พบว่าระหว่าง ค.ศ. 2011 – 2015 จำนวนผู้เข้าร่วมโปรแกรมเพื่อการเรียนรู้เพิ่มขึ้นจาก 376,000 คน เป็น 791,000 คน ทำให้เห็นว่าการกระจายตัวของพื้นที่การเรียนรู้ช่วยดึงให้คนในชุมชนได้เข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          ส่วนคนสูงวัย หรือคนที่ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้มีโอกาสในการเข้าถึงความรู้ เช่นในเมืองโซแดมุนมีรายงานยืนยันว่า โปรเจกต์ Learning City ทำให้คนสูงวัยในพื้นที่ที่ขาดโอกาสทางการศึกษาสามารถอ่านออกเขียนได้จริง 

          นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการผลักดันให้ชุมชนได้เติบโตผ่านการมีส่วนร่วมด้วยการออกแบบสิ่งที่อยากสอน และยังช่วยสร้างโอกาสทางอาชีพ และการจ้างงาน อย่างเช่น เมืองซูวอนที่นักเรียนมหาวิทยาลัยเลือกออกมาทำกิจกรรมสอนในโรงโรงเรียนนานูกา ด้วยวิชาที่ได้เรียนในรั้วมหาวิทยาลัย รวมไปถึงสาขาอาชีพอื่นๆ ที่มีพื้นที่เพื่อการเรียนรู้เป็นโอกาสทางอาชีพได้ด้วย 

          ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เกาหลีใต้ให้ความสำคัญเพื่อพัฒนาประเทศไปข้างหน้า การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ และสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่เข้าใจชุมชน เข้าใจผู้คน และให้อิสระกับประชาชนในการเรียนและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ โดยไม่มีการกีดกันว่าต้องเรียนแต่ทักษะทางอาชีพ (Hard Skills) แต่ ทักษะทางสังคม (Soft Skills) ก็แทรกอยู่ในทุกอณูพื้นที่การเรียนรู้เช่นกัน

          และนี่คือการทำให้ไอเดียดีๆ และ Soft Power ที่แข็งแรงไม่มีวันจางหายในประเทศที่พื้นที่การเรียนรู้แบ่งบานพร้อมๆ กับความสร้างสรรค์


ที่มา

เว็บไซต์ Unesco Institute for Lifelong Learning (Online)

เว็บไซต์ Seodaemun-gu Global Learning City in Seoul (Online)         

สไลด์บรรยาย Open Governance for inclusive lifelong learning policies -Seodaemun’s Experience (Online)

บทความ เมื่อ Smart City คือเมืองที่เต็มไปด้วยคนสมาร์ต เมืองซูวอนผลักดันให้คนเข้าถึงการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลาอย่างไร จาก The Urbanis (Online)

บทความ Case Study : Lifelong Learning on Korea จาก OECD (Online)

บทความ UNESCO: The learning city of Namyangju จาก Mission Impact จาก Mission Impact (Online)

บทความ South Korea projects soft power worldwide จาก Bangkok Post (Online)

บทความ บทเรียนจากความสำเร็จของกระแสนิยมวัฒนธรรมเกาหลี จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Online)

บทความ เบื้องหลัง “Soft Power” กอบกู้เศษซาก สู่มหาอำนาจวัฒนธรรมเกาหลีใต้ จาก ไทยรัฐออนไลน์ (Online)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก