‘สดใส ขันติวรพงศ์’ ลูกสาวเฮสเส และเลขาของธรรมชาติ

1,324 views
7 mins
May 7, 2024

          “ไม่เคยคิดเลยว่าเป็นอะไร ใครจะเรียกว่าอะไร แต่เราคิดอยู่เรื่อยๆ ว่าเราเป็นเลขาของธรรมชาติ เป็นตัวกลางสื่อสารความหมายบางอย่าง”

          สตรีตรงหน้าแหงนหน้ามองฝ้า ก่อนตอบออกมาด้วยแววตาและน้ำเสียงสดใส สตรีผู้ให้กำเนิดงานแปลภาษาไทยของวรรณกรรมระดับโลก สตรีที่ถูกขนานนามตามผลงานของเธอ สตรีที่บอกกับเราว่าการงานของเธอทำให้ชีวิตของเธอสะอาด สว่าง สดใส ดั่งนามอันแท้จริงของเธอเอง   

          สดใส ขันติวรพงศ์ หรือที่รู้จักกันในนาม ‘ลูกสาวเฮสเส’ ตอบคำถามพลางชื่นชมความงามผ่านกาลเวลาของ ‘ห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย’ ห้องสมุดประจำเมืองริมทะเลสาบสงขลาที่ถูกบูรณะมาจากโกดังข้าว หนังสือเก่ารายล้อม ลมพัดอ่อนๆ เคล้าเสียงคลื่น ดูจะทำให้ความหมายของบทสนทนาปรากฏ

          บทสนทนาที่เริ่มต้นด้วยการอ่านและการแปล 

          แต่ลงเอยด้วยความงาม 

          ตามด้วยความจริง

‘สดใส ขันติวรพงศ์’ ลูกสาวเฮสเส และเลขาของธรรมชาติ

โน้มหาความงาม เดินตามความจริง

          “เราเติบโตมากับบรรยากาศแบบนี้ หน้าบ้านคือทะเล กลางวันเงยหน้าเจอท้องฟ้า กลางคืนเงยหน้ามาก็เห็นดาว” 

          สดใสบรรยายถึงฉากในวัยเด็ก เธอเกิดและโตที่ชุมชนแหลมสัก จังหวัดกระบี่ ชุมชนริมฝั่งอันดามันที่รู้จักกันในนาม ‘ชุมชนสามวัฒนธรรม’ ที่มีทั้งชาวไทยพุทธ ไทยมุสลิม และไทยเชื้อสายจีน (บาบ๋าย่าหยา) อยู่ร่วมกันมายาวนาน บรรยากาศในช่วงปฐมวัยที่หล่อหลอมให้เธอหลงใหล สนใจทั้งในธรรมชาติและความหลากหลายตามที่เธอเติบโตมา

          ธรรมชาติเผยให้เธอพบความงามในวัยเยาว์ วรรณกรรมพาให้เธอพบความงามในวัยพรหมจารี เมื่อเธอได้เป็นนิสิตอักษรศาสตร์ ในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เปิดประตูให้เธอเข้าไปสู่โลกวรรณกรรมระดับโลก ที่เธอบอกว่าเพลิดเพลินเสียจนเหมือนพักผ่อนมากกว่าเรียนเพื่อเพียรสอบ เธออ่านวรรณกรรมเหล่านั้นเรื่อยมาทั้งในและนอกเวลาการศึกษา จนกระทั่งวันหนึ่ง ‘น้อย มะลิวัลย์’ เพื่อนของเธอมอบวรรณกรรมภาษาเยอรมันชื่อว่า The Prodigy ให้เธอลองอ่าน แม้เธอจะไม่เคยอ่านงานของนักเขียนเยอรมันมาก่อน เธอกลับพบตนเองรู้สึกเห็นใจ สะเทือนใจไปกับชะตากรรมของ ฮันส์ กีเบนราธ ตัวละครหลักในเรื่อง เธอรู้สึกผูกพันกับตัวละคร และหลงรักฉากตอนต่างๆ ของหนังสือเล่มนี้เสียจนลงมือแปลเองจนจบ โดยหารู้ไม่ว่าหนังสือเล่มนี้จะเปลี่ยนชะตาของเธอไปตลอดกาล แม้ต้นฉบับแปลนั้นจะถูกทิ้งร้างอยู่ในลิ้นชักหลายปีในช่วงหลัง 6 ตุลาฯ นักศึกษาหนีเข้าป่าก็ตาม

          “ภาษา และเนื้อหามันสวยเสียจนเราต้องแปล แปลโดยไม่รู้ว่าจะได้พิมพ์หรือไม่ แปลเสร็จลองส่งให้สำนักพิมพ์ ในปี พ.ศ. 2519 ก็เกิดการปราบใหญ่พอดี ตอนนั้นมีการทำลายหนังสือ สำนักพิมพ์ถูกรื้อกระจุยกระจาย หนังสือถูกเผา ถูกกวาดเก็บไปเป็นคันรถ เราก็คิดว่าคงไม่ได้พิมพ์เสียแล้ว แต่พอเพื่อนออกจากป่ามาแล้วเห็นต้นฉบับที่ยังอยู่ในลิ้นชักเขาก็พิมพ์เลย พิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2524 ตอนที่เราเริ่มสอนหนังสือแล้ว ยังคิดเลยว่ามันคงถูกกำหนดไว้แล้ว ถ้าเราคิดเยอะว่าจะแปลไปทำไม จะได้พิมพ์ไหม คงไม่มีอะไรเกิดขึ้น หรือถ้าหนังสือถูกเผา เราก็คงไม่มานั่งคุยเรื่องนี้กันตอนนี้”

          และหนังสือเล่มนั้นก็เปลี่ยนเธอไปตลอดกาล ไม่ใช่เพียงหน้าที่การงานในฐานะนักแปล ที่เธอยังคงแปลงานต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยเฉพาะงานของ เฮอร์มานน์ เฮสเส (Hermann Hesse) จนเป็นที่มาของสมญานาม ‘ลูกสาวเฮสเส’ และรับงานแปลปีละเล่มต่อเนื่อง

          จนนับแต่การพิมพ์ครั้งที่หนึ่งในวันนั้นจนถึงวันนี้ สิริรวมเวลาร่วมครึ่งศตวรรษ เธอผลิตผลงานมากว่า 30 เล่ม แต่นอกจากจำนวนผลงานที่นับจำนวนเล่มได้ สดใสกล่าวว่าคุณค่าของเนื้อหาเหล่านั้นที่แล่นผ่านการงานของเธอได้ส่งผลต่อชีวิต และ ‘จิตวิญญาณ’ ของเธออย่างประเมินค่าไม่ได้

‘สดใส ขันติวรพงศ์’ ลูกสาวเฮสเส และเลขาของธรรมชาติ

          เฮอร์มานน์ เฮสเส นักเขียนชาวเยอรมัน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปี 1946 ผู้ประกาศจุดยืนไม่เห็นด้วยกับสงคราม ต่อต้านลัทธิชาตินิยมตั้งแต่แรกเริ่มผ่านผลงานการเขียนหลากหลายรูปแบบ แม้จะถูกกระแสโจมตีในบ้านเกิด จนส่งผลต่อชีวิตส่วนตัวและปัญหาสุขภาพจิต และทำให้เขาสนใจศาสตร์ตะวันตกด้านจิตวิทยา และปรัชญาตะวันออก ซึ่งปรากฏชัดในวรรณกรรม กวี ภาพวาดของเขาที่ถ่ายทอดความคิดเชิงนามธรรมให้เป็นรูปธรรมได้อย่างงดงามและเป็นสากล จนผลงานได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จวบจนปัจจุบัน

          ผลงานบางส่วนของสดใส ได้แก่ วรรณกรรมของเฮอร์มานน์ เฮสเส จำนวน 13 เล่ม, พี่น้องคารามาซอฟ, ความรักของเจน แอร์, ความเรียบง่ายไร้กาลเวลา, สำรวจจิตไปกับองค์ทะไลลามะ, ภควัทคีตา ฯลฯ และกวีนิพนธ์ ฉันคือร้อยสิ่งดีดีในชีวิต

          “คนจะตีความจิตวิญญาณว่าอย่างไรพี่ไม่รู้นะ สำหรับพี่ พี่เริ่มต้นแปลเพราะความรู้สึก คนถามว่าทำไมพี่ชอบงานของเฮสเส พี่ตอบไปว่าเพราะมันสวย อ่านแล้วมันสวย (ลากเสียงยาว) มันสวยทั้งฉาก ทั้งอารมณ์ตัวละคร มันทำให้เรารู้สึก

          “จากนั้นก็มีคนเสนอให้แปลเรื่อยๆ เพื่อนได้อ่านก็บอกว่าเราน่าจะแปลงานของเฮสเสต่อ แต่ก็มีงานของนักเขียนคนอื่น จากต้นฉบับภาษาอื่นๆ เหมือนกัน อย่างเช่น พี่น้องคารามาซอฟ ที่พี่น้องที่ทำงานด้านสังคมเขาอยากให้เราแปล เขาว่าคนทำงานสังคมเครียดกันมาก เขาอยากให้ได้สัมผัสแง่มุมทางจิตวิญญาณบ้าง ให้เห็นว่าในธรรมชาติของความมืดมันยังมีความสว่าง

          “เวลาเรารู้สึกร่วมกับอะไร อ่านอะไร เห็นอะไรแล้วน้ำตาไหล พี่ว่าเพราะเรามีสิ่งนั้นอยู่แล้วข้างใน แต่ว่าท่าน ขอใช้คำว่าท่านเลยนะ (หัวเราะ) คุณพ่อก็ได้ พ่อเฮสเสเขาทำให้สิ่งที่อยู่ข้างในปรากฏออกมา เขาขยายความหมายของคำว่างาม ปกติเราจะมองความงามเชิงกายภาพ งามเชิงผัสสะ แต่ความงามที่เขาทำให้รู้สึกเป็นความงามตามธรรมชาติอย่างแท้จริง เป็นความงามที่มีอยู่แล้ว ไม่ต้องประดิษฐ์ เป็นอิสระจากรูป ข้ามพ้นภาษาวัฒนธรรม ศาสนา”

          ความงาม หนึ่งในสามคุณธรรมตามปรัชญากรีกที่สดใสกล่าวว่า เธอยกให้ความงามเป็นประตูบานแรก ด้วยสิ่งใดงดงามสิ่งนั้นย่อมเป็นจริง และสิ่งใดงดงามสิ่งนั้นย่อมดี ในความหมายที่ว่าจริงตามสภาวะธรรมชาติ และดีในการมีอยู่ของสิ่งนั้นท่ามกลางสรรพสิ่งอื่นๆ ความงามที่นำพาชีวิตของเธอไปเรื่อยๆ หลงใหลในสิ่งใด รู้สึกรู้สาต่อสิ่งใด สัมพันธ์ต่อสิ่งนั้น ความงามที่ทำให้เธอน้อมรับบทบาท ‘เลขาธรรมชาติ’ เป็นคนกลางสื่อความงาม ความจริง ความดี ผ่านผลงานสร้างสรรค์ต่างๆ ที่แล่นผ่านใจของเธอ  

จิตวิญญาณแก่นกลางความเป็นสากล 

          สดใสเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ริเริ่มแปลงานของ เฮอร์มานน์ เฮสเส และเป็นนักแปลหลักของนักเขียนระดับโลกท่านนี้ หากตลอดระยะหลายสิบปี สดใสก็ได้แปลงานชิ้นอื่นๆ ที่สำคัญของนักเขียน ครู นักปราชญ์ ระดับโลก อย่าง ภควัทคีตา คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดู ผลงานเล่มสำคัญของ ‘ปรมหังสา โยคานันทะ’ ที่สดใสกล่าวพร้อมดวงตายิ้มปลื้มปีติว่า  เป็นหนังสือที่ให้คำตอบต่อการดำเนินชีวิตทั้งทางโลกภายในและโลกภายนอก 

          “ตอนได้รับเสนอให้แปล ภควัทคีตา ตอนแรกไม่แน่ใจ มองว่าเราเป็นพุทธ จะแปลคัมภีร์ของศาสนาอื่นได้อย่างไร แต่ ‘จัน ชัยธาวุฒิ’ ผู้ศึกษาคำสอนนี้ที่มีความศรัทธามากบอกว่า สวรรค์เปิดประตูแล้ว เราจะไม่ลองดูหน่อยหรือ เราก็ตามประตูไปแบบนี้ เป็นเลขาของธรรมชาติ เป็นคนกลางให้ข้อความต่างๆ แล่นผ่านการทำงานของเราไปแบบนี้ เป็นเล่มที่ยากมาก (เสียงสูง) แต่เหมือนว่าพอเราถวายตัวจะทำงานรับใช้สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเราเอง ทุกอย่างก็เปิดทางให้เราหมด ไปขอให้อาจารย์ประมวลเป็นบรรณาธิการภาษาสันสกฤตให้ อาจารย์ก็ตอบรับ บอกว่าเป็นความตั้งใจของแกที่จะตอบแทนแม่อินเดียเหมือนกัน เหมือนทุกอย่างถูกจัดสรรไว้แล้ว เราย้อนกลับไปอ่านงานชิ้นนี้ ก็เหลือเชื่อเหมือนกันว่าเราไปได้ภาษาพวกนั้นมาจากไหน ก็เชื่อจริงๆ ว่าส่วนหนึ่งพระเจ้าให้แรงมา อีกส่วนก็คือความงามของธรรมชาติที่มันสะสมอยู่ในเนื้อในตัว พอถึงเวลาปล่อย พลังมันก็พร้อมระเบิดออกมาหมด”

ถ้อยคำภายนอกบอกเรื่องราวภายใน

          อีกบทบาทหนึ่งของสดใส คืออาจารย์มหาวิทยาลัย ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิทยาลัยครูสงขลา เมื่อขอให้ ‘อาจารย์’ พูดถึงระเบียบวิธีการทำงานแปล สดใสกลับส่ายหัวแล้วตอบว่า 

          “เราไม่ได้มีทฤษฎีอะไร แน่นอนว่าพื้นฐานคือการไม่ปรับเปลี่ยนเนื้อหาต้นฉบับ แต่นอกจากนั้นเราไม่อยากตั้งกฎเกณฑ์อะไร เคยอ่านเจอว่า ‘If it’s difficult, it’s intellect. If it’s simple, it’s spirit. It’s soul.’ (สิ่งใดยาก สิ่งนั้นคือความคิด สิ่งใดเรียบง่าย สิ่งนั้นคือจิตวิญญาณ) ก็กลับมาเรื่องความงาม และความจริงอีกนั่นแหละ ถ้าเรามองตัวเองเป็นสื่อกลาง เราลื่นไหลไปกับมัน ให้คำที่เราอ่านมากระทบกับคลังคำที่มีอยู่ในตัวเราและปล่อยมันออกมา คำที่ฟังแล้วใจรู้สึก คำนั้นนั่นแหละใช่ 

          “เหมือนเฮสเสที่เติบโตมาในห้องสมุดของคุณตาที่เคยเป็นมิชชันนารีในอินเดียใต้ ทำพจนานุกรมภาษามาลายารัม ห้องสมุดของคุณตาเขาก็จะมีปรัชญาความรู้ทางตะวันออกอยู่มาก หรือประสบการณ์ทำงานขายหนังสือในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ปัญหาครอบครัว ชีวิตส่วนตัวที่ทำให้เขาได้พบกับ คาร์ล ยุง ได้ออกเดินทางไกลไปอินโดนีเซียและศรีลังกา ประสบการณ์ทั้งหมดพวกนี้มันผสมผสาน ปรากฏออกมาผ่านงานของเขาหมดเลย ฉะนั้นอะไรที่เราสะสมไว้ข้างใน สักวันมันจะเผยออกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง”

          วิชาอารยธรรม คือหนึ่งในวิชาที่สดใสสอน เธอมองว่าทุกสิ่งที่เธอสอนเป็นภาพสะท้อนประสบการณ์ การงาน และการอ่านที่เธอซึมซับมาทั้งนั้น

          “เวลาเราสอนว่าลัทธิเต๋าหมายถึงธรรมชาติ เราไม่ได้พูดในเชิงนิยามความหมายตามตำรา แต่เราเห็นแล้วว่าเรา ชีวิต และธรรมชาติทั้งหมดคือเต๋าจริงๆ พอเราเข้าใจแท้จริงแล้วไม่ไปขัดขืนมัน ชีวิตมันจะลื่นไหล แต่เมื่อก่อนเราไม่เข้าใจ เราคิดว่าต้องปลีกวิเวกไปอยู่กับธรรมชาติอะไรแบบนั้น ไม่เลย มันคือการอยู่กับชีวิตตามความเป็นจริงนั่นแหละ เปิดรับ เปิดกว้างต่อสิ่งต่างๆ แล้วเส้นทางมันจะเผยเอง”

‘สดใส ขันติวรพงศ์’ ลูกสาวเฮสเส และเลขาของธรรมชาติ

          ดั่งเช่นผลงานแปล กวี การสอนของเธอที่เธอมองว่าไม่มีนิยามใดมากไปกว่า การปล่อยให้ตนเองเป็นคนกลางให้ธรรมชาติรังสรรค์ รังสรรค์ผ่านการรับสารแห่งความงาม ความจริง และปล่อยให้โลกภายนอกทำปฏิกิริยากับโลกภายใน สร้างสรรค์ผลงานที่เป็นความงาม และความจริงต่อไป 

          “การอยู่กับธรรมชาติ ทำงานสร้างสรรค์ อยู่กับสิ่งที่เป็นความงาม ไม่ได้แปลว่าเราโลกสวย ไม่ได้แปลว่าเราไม่สัมพันธ์กับโลก ตรงกันข้ามเลย นี่คือการทำงานทางโลกอย่างถึงที่สุด การทำให้ลมหายใจเราสะอาด และสิ่งที่สะอาด ไม่เป็นมลพิษต่อไป เราบอกไม่ได้หรอกว่าการงานของเราเปลี่ยนโลกหรือไม่ เราไม่โอ้อวดความยิ่งใหญ่เช่นนั้น แต่เราต้องมีความหวัง ความหวังว่าการงาน การใช้ชีวิตของเราส่งผลต่อโลก ถ้ายังไม่ใช่โลกภายนอก อย่างน้อยก็ต่อโลกภายในของเราในตอนนี้ ทำงานกับจิตวิญญาณของตัวเอง เรื่องนี้เป็นสากลมากเลย งานของนักเขียนระดับโลกทั้งหลายถึงเข้าถึงผู้คนได้ทุกภาษา ทุกวัฒนธรรม และยังเป็นที่นิยมจนถึงวันนี้ ดูอย่างอะไรนะ ‘อาร์มี่’ ใช่ไหมที่เขาอ่านตามนักร้องกัน (หัวเราะ) คนอาจคิดว่าเป็นกระแสนะ แต่พี่ว่าคนรุ่นใหม่สับสน เราก็ผ่านช่วงเวลาสับสนมากันหมดแหละ ช่วงที่ใจเราบอกให้ไปทางนั้น แต่ผู้ใหญ่ก็บอกให้ไปทางนี้ มันเป็นชะตากรรมเดียวกับตัวละครในเรื่อง เห็นไหมมันสากลมากเลย”

          เราส่งท้ายด้วยการคุยกันถึงกระแสชาว ‘อาร์มี่’ แฟนคลับนัมจุน นักร้องดังจากวง BTS ประเทศเกาหลีใต้ ที่อ่าน เดเมียน (Demian) จนทำให้หนังสือแทบขาดตลาด และคนรุ่นใหม่หันมาตามอ่านวรรณกรรมของ เฮอร์มานน์ เฮสเส

          สดใสยิ้ม เกิดความเงียบระหว่างเรา จนได้ยินเสียงลมริมทะเลสาบพัดผ่าน แสงจากฟ้าทะลุผ่านฟ้าร้านหนังสืออิสระในจังหวัดสงขลา เราหันไปมองสดใสทอดสายตาไปข้างหน้า รอยยิ้ม แววตาเธอสดใส งดงาม สมดั่งนามอันแท้จริงของเธอ และผลงานที่เธอเปรยตลอดการพูดคุยว่า ขอบคุณชีวิตเหลือเกินที่ให้เธอเป็นสะพานถ่ายทอดความงามข้ามภาษา และกาลเวลา

‘สดใส ขันติวรพงศ์’ ลูกสาวเฮสเส และเลขาของธรรมชาติ


เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ‘Readtopia ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศการอ่านของไทย’ (2566)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก