Social-emotional Learning การเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะทางสังคมและความเข้าใจตนเอง

4,239 views
9 mins
February 2, 2023

          ช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ความสามารถที่ก้าวกระโดดของโปรแกรม AI ทำให้เกิดเสียงฮือฮาขึ้นบนโลกออนไลน์ คำถามหนึ่งที่มาจากรอบทิศคือ หาก AI สามารถสร้างผลงานอันต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และสุนทรียภาพได้แบบนี้ ในอนาคตจะยังมีพื้นที่สำหรับมนุษย์ในโลกการทำงานอีกหรือไม่ หรือภัยจากการยึดครองโลกโดยสมองกลอัจฉริยะจะมีโอกาสเกิดขึ้นจริง ดังภาพยนตร์หลายเรื่องเสียแล้ว

          เมื่อหันกลับมาพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับตลาดแรงงานให้ดี แรงงานมนุษย์ยังมีพื้นที่ในตลาดแรงงานอยู่แน่นอน เพียงแต่เราต้องมีทักษะที่เอื้อให้ทำงานได้ในทุกสภาพ ไม่ว่าจะต้องพบเจอกับเทคโนโลยีใหม่ หรือสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมในแบบที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน

          ความจริงแล้ว คำว่า Soft Skills ซึ่งหมายถึงลักษณะนิสัยและสมรรถนะที่ช่วยให้ทำงานและสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกกล่าวถึงในแวดวงการศึกษามาแล้วระยะหนึ่ง เมื่อตลาดแรงงานต้องการทักษะทางสังคม สถาบันศึกษาก็ต้องปรับตัวตาม ในช่วงเวลาแห่งความผันผวนเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ความต้องการทักษะทางสังคมเหล่านั้นยิ่งเพิ่มสูงมากขึ้นไปอีก เพราะธุรกิจต่างๆ เล็งเห็นว่านั่นคือคุณสมบัติที่ช่วยให้มนุษย์สามารถแก้ไขปัญหา และความท้าทาย สนองตอบการเปลี่ยนแปลงแบบไม่คาดคิดมาก่อนได้เป็นอย่างดี

          ทักษะทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพและลักษณะนิสัย เริ่มกลายมาเป็นสิ่งที่ผู้ว่าจ้างมองหา และถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ ‘คงทน’ (Durable Skill) อยู่ติดตัวเราไป ไม่ว่าจะเปลี่ยนงานสักกี่งาน ทักษะตรงนี้ก็มีแต่จะแหลมคมขึ้นตามประสบการณ์ โจทย์สำคัญของสถาบันศึกษาทุกระดับ โดยเฉพาะตลาดแรงงานประเทศสหรัฐอเมริกา คือ

          ทำอย่างไรมนุษย์ถึงจะพัฒนาทักษะเหล่านี้ได้…

          SEL หรือ Social Emotional Learning คือคำตอบนั้น

Durable Human Skills: ทักษะที่ทำให้มนุษย์ทำงานได้ แม้ในสภาวะผันผวน

          นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2020 เป็นต้นมา สภาวะทางสังคมและการพัฒนาของเทคโนโลยีทำให้รูปแบบการทำงานเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด เช่น การทำงานจากระยะไกลโดยติดต่อสื่อสารกันทางออนไลน์กลายเป็นเรื่องปกติสามัญ สถานประกอบการใช้ระบบอัตโนมัติต่างๆ เพื่อควบคุมเครื่องจักรในสายการผลิตมากขึ้น ในส่วนการให้บริการระบบไร้สัมผัส (Contactless) ก็เข้ามามีบทบาทอยู่ไม่น้อย ระบบ AI เข้ามามีอิทธิพลต่อการจัดการทั้งหลังบ้านและหน้าบ้าน แนวโน้มเทคโนโลยีเหล่านี้ทำให้เกิดการพยากรณ์ว่า เรากำลังเดินทางเข้าสู่จุดเริ่มต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เป็นแน่

          การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 ในศตวรรษที่ 18 มนุษย์ริเริ่มใช้งานเครื่องจักรไอน้ำ

          การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2  ในศตวรรษที่ 19 มนุษย์เริ่มใช้พลังงานจากไฟฟ้า มีการผลิตแบบอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง และมีการแบ่งหมวดหมู่แรงงานเพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลงในการผลิต

          การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3  ในศตวรรษที่ 20 มนุษย์เริ่มใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบอัตโนมัติต่างๆ ในกระบวนการผลิต  

          การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ตามที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ไว้คือ การทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์ กับเทคโนโลยีอัจฉริยะ และเทคโนโลยีชีวภาพอย่างสอดคล้องลงตัว เป็นระบบที่เรียกว่า Cyber-physical System

          แนวโน้มที่โลกของเรากำลังจะเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ทำให้สถาบันศึกษาเริ่มใคร่ครวญว่าจะเตรียมความพร้อมให้กับผู้เรียนอย่างไร เพื่อรองรับความผันผวนของสถานการณ์ในอนาคต แน่นอนว่าการสอนทักษะวิชาชีพ (Technical Skill) ให้กับผู้เรียน เช่น การเขียนโค้ดดิง ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล หรือระบบปัญญาประดิษฐ์ อาจเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการกำลังต้องการและมองหาอีกประการหนึ่ง คือศักยภาพในการปรับตัวเข้ากับสิ่งที่ไม่แน่นอน ดังที่ Jaime Casap ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาซึ่งเคยทำงานกับ Google ได้กล่าวไว้

           “เรากำลังเตรียมความพร้อมนักเรียนนักศึกษาสำหรับอาชีพที่ยังไม่มีในตอนนี้ เพื่อให้เขาสามารถใช้เทคโนโลยีที่ยังไม่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมา และแก้ปัญหาที่ในตอนนี้เรายังไม่รู้เลยด้วยซ้ำ ว่าจะกลายเป็นปัญหาในอนาคต”

          การปรับตัวเข้ากับสิ่งที่ไม่แน่นอนจำเป็นต้องใช้ทักษะทางสังคมและอารมณ์ หรือ Durable Human Skills ซึ่งแตกต่างจากทักษะวิชาชีพหรือองค์ความรู้ในสายงาน ที่สักวันหนึ่งเทคโนโลยี และองค์ความรู้ใหม่ก็จะเข้ามาแทนที่

          America Succeeds องค์กรไม่หวังผลกำไรด้านการศึกษา วิเคราะห์ตำแหน่งงาน 80 ล้านตำแหน่งในปี 2020-2021 และพบว่า 7 ใน 10 ของคุณลักษณะที่ผู้ว่าจ้างมองหา คือ Durable Skills ซึ่งเป็นที่ต้องการมากกว่าความรู้ทางวิชาชีพถึงเกือบ 4 เท่า โดยทักษะเหล่านั้น อาจจะถูกแบ่งกว้างๆ ได้เป็น 10 สมรรถนะ ได้แก่ ความคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking), ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity), การสื่อสาร (Communication), การทำงานร่วมกัน (Collaboration), บุคลิกลักษณะ (Character), ความใส่ใจในตนเองและผู้อื่น (Mindfulness), ความเข้าใจในความคิดของตัวเอง (Metacognition), ความเป็นผู้นำ (Leadership), กรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) และความอดทน (Fortitude)

SEL เตรียมความพร้อมทักษะสำหรับงานในโลกอนาคต
Durable Skills
Photo : America Succeeds

          แนวโน้มนี้เกิดขึ้นมาสักพักใหญ่แล้ว กว่าสิบปีก่อนหน้า Project Oxygen ของ Google ในปี 2008 เคยระบุว่าทักษะสำคัญที่ต้องการคือ การสื่อสาร (Communication), การทำงานเป็นกลุ่ม (Collaboration), การจัดการตนเอง (Self-management) และการส่งเสริมสนับสนุน (Encouragement) อีกทศวรรษต่อมา ในปี 2018 คุณลักษณะ 10 อันดับแรกที่ Google ต้องการจากคนทำงาน เป็นทักษะเชิงเทคนิคแค่เพียง 1 ข้อ อีก 9 ข้อที่เหลือเป็นทักษะทางสังคมและอารมณ์ทั้งสิ้น

          Durable Skills เป็นทักษะที่เป็นคุณลักษณะเฉพาะตัว แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะบ่มเพาะในระบบการศึกษาไม่ได้ การเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ (SEL: Social Emotional Learning) จึงกลายเป็นสิ่งที่สถาบันศึกษาหลายระดับในสหรัฐอเมริกาให้ความสนใจ ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงมัธยม หรือที่เรียกว่าระดับ K12 นั่นเอง

SEL เตรียมความพร้อมทักษะสำหรับงานในโลกอนาคต

การเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ (Social Emotional Learning)

          หากถามว่า SEL คืออะไร คู่มือและบทความหลายชิ้นให้คำตอบว่า เป็นการเรียนรู้ที่ทำให้เรามีความเป็น ‘มนุษย์’ อย่างสมบูรณ์ สามารถคิดวิเคราะห์ เข้าอกเข้าใจผู้อื่น จัดการอารมณ์และสร้างสมดุลในการเข้าสังคม ตลอดจนสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ

          เครือข่าย CASEL (The Collaborative for Academic, Social, and Emotional Learning) เครือข่ายที่มีเป้าหมายส่งเสริมให้ SEL กลายมาเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเรียนการสอน ได้แบ่งทักษะทางสังคมและอารมณ์ออกเป็น 5 ด้านหลักๆ คือ

  1. การเข้าใจตนเอง (Self-awareness) เข้าใจตนเองในหลายระดับ ตั้งแต่อารมณ์ ความคิด สิ่งที่ประกอบสร้างตัวตน ทราบข้อจำกัดและสิ่งที่จะช่วยพัฒนาตนเอง
  2. การจัดการตนเอง (Self-management) การจัดการอารมณ์ และพฤติกรรมของตนเองให้สอดคล้องกับบริบททางสังคม
  3. การตัดสินใจที่แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคม (Responsible Decision-making) ความสามารถในด้านการทำงานได้ตามหน้าที่ สามารถแก้ไขปัญหาที่เผชิญหน้าได้
  4. ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Relationship Skills) มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง และมีทักษะในการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
  5. ความเข้าใจสังคม (Social Awareness) เข้าใจหน้าที่บทบาทของตนเองและผู้อื่นในสังคม
SEL เตรียมความพร้อมทักษะสำหรับงานในโลกอนาคต
ทักษะทางสังคมและอารมณ์ ทั้ง 5 ด้าน
Photo : CASEL

          ในอดีต SEL ถูกนำมาใช้กับการศึกษาระดับปฐมวัย แต่ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ก็เริ่มได้รับความสำคัญในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในด้านการจัดการสุขภาวะทางอารมณ์ และ ‘การเตรียมความพร้อมวิชาชีพ’ ประเทศสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับการแทรก SEL ลงไปในหลักสูตร ในปี 2022 ที่ผ่านมา สถาบันศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสหรัฐอเมริกาหลายแห่ง อุทิศงบประมาณและทรัพยากรเพื่อนำแนวคิดที่อาจจะดูเป็นคอนเซปต์กว้างๆ มาแตกออกเป็นเป้าหมายย่อยและตัวอย่างกิจกรรม เพื่อให้นำไปใช้ต่อได้โดยสะดวก

          ยกตัวอย่างเช่น รัฐเพนซิลเวเนีย ได้จัดทำโปรแกรม Career-Ready Skills ซึ่งประกอบด้วยชุดความรู้ และเครื่องมือ ตัวอย่างกิจกรรม บทเรียน และวิธีการสอนในชั้นเรียนอย่างละเอียด สำหรับหลักสูตรตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมปลาย เพื่อพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคมอย่างต่อเนื่อง ก่อเกิดเป็นสมรรถนะที่จำเป็นต่อการทำงาน รัฐแคนซัส เป็นอีกรัฐหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับ SEL โดยส่งเสริมให้นักเรียนระดับชั้นเกรด 8-12 ได้ลองนำความรู้ทางวิชาการ และทักษะทางสังคมมาทดลองใช้กับสถานการณ์จริงเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการประกอบอาชีพในอนาคต

          อีกหนึ่งตัวอย่างการขับเคลื่อนให้สถาบันศึกษานำ SEL ไปใช้ในหลักสูตร คือ การผลักดันของ Project Wayfinder สตาร์ทอัปเลือดใหม่ที่ออกแบบการเรียนการสอนเพื่อช่วยให้นักเรียนมัธยมค้นพบตัวตน เป้าหมายในชีวิต และพัฒนาทักษะทางสังคมที่จำเป็นต่อการประกอบวิชาชีพในอนาคต โดยอยู่ภายใต้การดูแลของ K12 Lab ที่ Stanford d.school

          Wayfinder ได้ออกแบบหลักสูตรและกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาทักษะทางสังคมและอารมณ์ทั้งในระดับเด็กเล็ก เด็กโต รวมถึงระดับผู้ใหญ่ โดยทำงานร่วมกับสถานศึกษาที่เล็งเห็นความสำคัญของ SEL เช่น โรงเรียน San Domenico ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเริ่มต้นกระบวนการตั้งแต่ส่งอาจารย์ผู้สอนเข้ารับการอบรมในปี 2018 ต่อมาได้นำหลักสูตรและเครื่องมือไปใช้กับนักเรียนชั้นเกรด 9 ในปี 2019 และในปี 2021 ก็ขยายผลนำหลักสูตรไปใช้กับนักเรียนในระดับชั้นเกรด 10 ด้วย

          อารัน ลีวาสเซอร์ (Aran Levasseur) หัวหน้าฝ่ายนวัตกรรม และมนุษยศาสตร์ของโรงเรียน San Domenico ได้ให้ความเห็นว่า การเพิ่ม SEL เข้าไปในหลักสูตรมัธยมปลายนั้น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริง และทำให้เด็กนักเรียนเข้าใจความต้องการของตนเอง ไม่ได้เรียนรู้ไปวันๆ ตามระบบ เพราะถูกบังคับด้วยกฎระเบียบหรือถูกหลอกล่อด้วยรางวัลจูงใจ

          นอกจากโรงเรียน San Domenico แล้ว โรงเรียนอื่นๆ ได้ทดลองนำโปรแกรม SEL ในระดับมัธยมปลายของ Wayfinder ไปใช้ด้วยเช่นกัน และพบว่า นักเรียนเข้าใจตนเองมากขึ้นจนเกิดการขยายผลเพิ่มเติม เช่น โรงเรียนมัธยม Maria Carillo ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ทดลองใช้หลักสูตรกับเด็กนักเรียนมัธยมปลายแล้วตัดสินใจนำมาใช้กับนักเรียนใหม่ทุกคน รวมถึงตั้งโครงการความร่วมมือกับผู้ประกอบการ เพื่อจัดกิจกรรมที่นำมาสู่การเรียนรู้เป้าหมายในชีวิตของตัวเอง และพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ

          สิ่งที่น่าสนใจ คือ เสียงสะท้อนจากผู้บริหารโรงเรียนเหล่านี้มักจะมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน หลักสูตรที่มีกระบวนการ SEL ทำให้นักเรียนเข้าใจ the ‘WHY’ ของตนเอง หรือสรุปง่ายๆ คือ เข้าใจเหตุผลในการเรียนรู้ เข้าใจความคิด อารมณ์ ความต้องการ ซึ่งนั่นก็เป็นเสาหลักแรกของ SEL (Self-awareness) ที่จะนำไปสู่เสาหลักอื่นๆ ต่อไปนั่นเอง

การนำ SEL ไปใช้ในระดับ Highschool

          ในประเทศไทยเองก็มีการกล่าวถึง SEL อยู่บ้าง ศาสตราจารย์โอลิเวอร์ จอห์น (Oliver John) ผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดประเมินผลทักษะอารมณ์และสังคม จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอเนียร์ เบิร์กลีย์ เคยเดินทางมาเยือนประเทศไทย เพื่อเป็นวิทยากรการอบรมเชิงปฏิบัติการ Social and Emotional Skills Workshop จัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับธนาคารโลก (World Bank) และคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แพลตฟอร์มไทยที่รวบรวมเทคนิคการสอนสำหรับคุณครูอย่าง Inskru ก็มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการเพิ่มทักษะทางสังคมและอารมณ์ในคลาสเรียนอยู่ไม่น้อย  แต่หากเปรียบเทียบกับการเรียนการสอนแบบอื่นๆ แล้ว โอลิเวอร์ จอห์น กล่าวว่า SEL ก็ยังถือว่าเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่สำหรับสังคมไทย  

SEL กับการเรียนการสอน

          หากยังนึกภาพไม่ออกว่า ทักษะทางสังคมและอารมณ์เหล่านั้นจะถูกบ่มเพาะได้อย่างไร การให้ความสำคัญกับขั้นตอนเหล่านี้ในคลาสเรียน คือตัวอย่างที่จะช่วยพาผู้เรียนให้รู้จักตัวเอง สังคม และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  1. การทักทาย (Check-in) ชั้นเรียนขนาดใหญ่ มักจะทำให้การสื่อสารเป็นไปในทิศทางเดียว กล่าวคือผู้สอนทำหน้าที่ส่งสาร และผู้เรียนทำหน้าที่รับสาร การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ ‘Self Check-in’ หรือมีการสื่อสารแบบหนึ่งต่อหนึ่งกับผู้สอนด้วยการถามตอบ จะทำให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกันในระดับลึกกว่าการทักทายทั่วไป เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็นและตัวตนมากขึ้น นำไปสู่โอกาสในการสนทนากลุ่ม และการเข้าสังคม กิจกรรมนี้จะนำไปสู่ทักษะ Self-awareness ที่เอื้อให้ผู้เรียนสำรวจอารมณ์ตนเองได้
  2. กิจกรรม และการสนทนากลุ่ม จะช่วยสร้างความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวในกลุ่มผู้เรียน ที่ทำให้เกิดการสื่อสาร ทักษะการเป็นผู้นำ และการทำงานร่วมกัน เมื่อการทำงานกลุ่มเกิดปัญหา การฝึกแก้ไขปัญหาและข้อขัดแย้งในกลุ่มเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด ก็ทำให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะในการแก้ปัญหา การทำงานร่วมกัน รวมถึงการเข้าใจตนเองและผู้อื่นด้วย เรียกได้ว่าขั้นตอนนี้จะนำไปสู่การจัดการตนเอง (Self-Management) การตัดสินใจที่เหมาะสม (Responsible Decision-making) ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Relationship Skills) และความเข้าใจในสังคม (Social Awareness)
  3. การทบทวนก่อนเลิกคลาส (Check-out) การทบทวนก่อนเลิกคลาสหรือ Reflection นั้น ถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งของการเรียนการสอน SEL เพราะเป็นขั้นตอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ทบทวนเกี่ยวกับอารมณ์ตนเอง ทบทวนประสบการณ์ในการเรียนรู้ ตกผลึกเพื่อการพัฒนาตนเองต่อไป รูปแบบกิจกรรมอาจจะเป็นในลักษณะของการพูด การเขียน หรือการวาดรูปก็ได้

          กิจกรรมที่เกิดขึ้นในทั้ง 3 ช่วงนั้น อาจทำได้ในหลายรูปแบบ ประยุกต์หลายๆ เครื่องมือ ทั้งเทคโนโลยีทันสมัย หรือแม้กระทั่งกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีใดๆ แต่สนับสนุนให้เกิดการแสดงความคิดเห็น และประเมินตนเอง เช่น การชมคลิปวิดีโอ เล่นเกม การเขียนบันทึก การใช้แอปพลิเคชัน หรือแม้แต่การล้อมวงพูดคุยธรรมดาๆ ก็พาให้เข้าใจตนเองและสังคมได้ ทั้งนี้ผู้สอนที่รู้จักผู้เรียนย่อมสามารถประเมินได้ ว่าใช้วิธีไหนจะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่วางไว้มากที่สุด

SEL เตรียมความพร้อมทักษะสำหรับงานในโลกอนาคต

มองตัวเอง…มองอนาคต

          ตอนนี้ สถาบันศึกษาในสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ ไม่ใช่แค่เพียงในระดับเด็กเล็ก แต่ยังนำแนวคิดและกระบวนการมาใช้กับการเตรียมความพร้อมด้านวิชาชีพในอนาคตด้วย หลักสูตรของสถาบันศึกษาหลายแห่งพิจารณาสอดแทรก SEL ลงไปเพื่อเสริมกำลังทักษะวิชาชีพ หลายแห่งร่วมเป็นเครือข่ายกับองค์กร หรือหน่วยงานที่ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนารูปแบบการสอน ซึ่งหากสรุปให้เข้าใจง่าย ก็คือเริ่มจากเข้าใจความต้องการของตนเอง เข้าใจความต้องการและบริบทของสังคม และนำความเข้าอกเข้าใจนั้นมาประเมินสถานการณ์เพื่อตัดสินใจ หากมีคุณลักษณะพื้นฐานที่แข็งแรงพอ ไม่ว่าในอนาคตเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปแค่ไหน เกิดภาวะวิกฤตอีกมากเท่าไร เราก็ยังสามารถฝ่าฟันและแก้ไขปัญหาไปได้ ด้วยการตัดสินใจเลือกวิธีการแก้ปัญหาที่สมเหตุสมผล

          เมื่อย้อนกลับมามองหลักสูตรการศึกษาประเทศไทย ที่นโยบายหลักในตอนนี้คือมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ก็ชวนให้ตั้งคำถามต่อว่า ระบบการศึกษาของไทยสนใจจะเริ่มแทรกทักษะทางสังคมเหล่านี้ลงไปแบบเป็นรูปธรรมหรือไม่ หรือจะเปิดกว้างไว้ตาม วิจารณญาณของสถาบันศึกษา อนาคตระบบการศึกษาไทยจะเป็นอย่างไร เรามีแผนเตรียมความพร้อมผู้เรียนเพื่ออนาคตอันผันผวนบ้างไหม ทุกวันนี้นักเรียนไทยเข้าใจตนเอง และเหตุผลการเรียนรู้ในแต่ละช่วงวัยหรือไม่ ในอนาคตเราถึงพร้อมด้วยทักษะวิชาชีพและทักษะทางสังคมมากพอที่จะเผชิญความผันผวนหรือยัง

          บางทีเราควรจะเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามเหล่านี้ เพื่อสร้างความเข้าใจ และนำไปสู่การจัดการการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์โลกอนาคตให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่


ที่มา

บทความ “Defining Durable Skills” จาก americasucceeds.org (Online)

บทความ “High Demand for Durable Skills” จาก americasucceeds.org (Online)

บทความ “New Report On School, Work, And Durable Human Skills” จาก forbes.com (Online)

บทความ “Putting SEL to work” จาก assets.website-files.com (Online)

บทความ “Role of Social-Emotional Learning in 2022” จาก kitaboo.com (Online)

บทความ “A Guide To Social-Emotional Learning” จาก everydayspeech.com (Online)

บทความ “Soft Skills Are Now Durable and in Demand” จาก toastmasters.org (Online)

บทความ “The High Demand for Durable Skills” จาก americasucceeds.org (Online)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก