Smart Urban Farming เทคโนโลยีล้ำสมัย สร้างพื้นที่ปลูกผักปลูกใจให้คนฮ่องกง

1,377 views
7 mins
May 29, 2023

        การทำเกษตรกรรมบนตึกสูงกลางเมือง (Urban agriculture, Vertical farming หรือ Urban farming) อาจจะเป็นอนาคตของการทำเกษตรกรรม เมื่อประชากรโลกกว่า 70 % อาศัยอยู่ในเมืองมากกว่าชนบท คอมมูนิตี้ปลูกผักของชาวคอนโด หรือ สตาร์ตอัปที่ปลูกผักบนตึกสูงโดยการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการเกษตรมาปรับใช้ เพื่อส่งผลผลิตทางการเกษตรให้กับร้านอาหารและร้านค้าในละแวกใกล้เคียงโดยเฉพาะจึงเพิ่มมากขึ้น

        ฮ่องกง หนึ่งในพื้นที่ธุรกิจซิวิไลซ์ เกาะป่าคอนกรีตที่รายล้อมไปด้วยมหาสมุทร มีจำนวนตึกระฟ้ามากที่สุดในโลก เป็นอีกหนึ่งประเทศที่นำคอนเซปต์นี้ไปพัฒนา เพราะโครงสร้างภายในของประเทศนั้นมีพื้นที่สีเขียวสำหรับทำการเกษตรแบบดั้งเดิมแสนน้อยนิด มิหนำซ้ำความต้องการบริโภคพืชผักสีเขียวยังสวนทางกัน

        เทรนด์การรับประทานอาหารแบบ Farm-to-Table (ปลูกผักด้วยใจ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ไร้สารพิษ) กำลังเป็นที่นิยมในฮ่องกง ผักผลไม้ที่ถูกปลูกในคอนเซปต์นี้จึงเป็นที่ต้องการมากขึ้นตามไปด้วย สำหรับชาวฮ่องกง ฟาร์มปลูกผักไม่ใช่เพียงสถานที่ผลิตอาหารเพื่อการบริโภคเท่านั้น พื้นที่ปลูกพืชสีเขียวบนตึกสูงหลายแห่ง นำมาซึ่งการเรียนรู้และสร้างความตระหนักในหลายประเด็น ทั้งด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมโลก เช่น วิธีปลูกผักไร้สารพิษที่มีคุณภาพสูง หนทางที่จะทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์มากที่สุด รวมถึงเป็นพื้นที่สร้างความร่วมมือ ผนึกกำลัง สร้างสรรค์โปรเจกต์ใหม่ๆ

        Farm66 บริษัทเอกชนที่ผู้ก่อตั้งมีพลังเพื่อการปลูกผักในฮ่องกง และ K-Farm สวน (ผัก) สาธารณะเปิด 24 ชั่วโมงให้ผู้คนมาใช้งานและเรียนรู้ เน้นการเพาะปลูกในร่มที่ต้องใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ส่งออกทั้งสินค้าและความรู้ไปยังผู้บริโภค ที่หมายถึง นักเรียน คุณครู บริษัท และประชาชน จึงเป็นตัวอย่างฟาร์มบนตึกสูงกลางเมือง ไม่ใช่เพียงแค่แหล่งผลิตอาหาร แต่เป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างชุมชนคนสีเขียวที่รักโลก และรักตัวเองได้เป็นอย่างดี

Farm 66: สตาร์ตอัป Agritech ที่หยิบเทคโนโลยีสุดล้ำมาแก้ปัญหาเรื่องอาหาร

        กอร์ดอน ทัมนั่งอยู่ในแฟลต ภายในมีบ่อน้ำที่มีพืชเติบโตอยู่ เขาสังเกตเห็นว่าต้นไม้ดูแข็งแรงดี มีมูลกบและปลาทำหน้าที่เป็นปุ๋ย จึงเริ่มสนใจระบบการปลูกพืชแบบอควาโปนิกส์ (Aquaponics) ระบบการให้อาหารผักโดยใช้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน (Hydroponics) ในระบบหมุนเวียนน้ำแบบปิด

        แม้จะไม่ยิ่งใหญ่เท่าแอปเปิลของนิวตันที่นำมาสู่การค้นพบแรงโน้มถ่วง แต่ความสงสัยของเขานำมาสู่การก่อตั้ง  Farm66 สถานที่ปลูกผักในห้องแล็บบนตึกสูงใจกลางฮ่องกง ใช้วิธีทำการเกษตรแบบแนวตั้ง (Vertical Farming) และเทคโนโลยีทันสมัย เช่น การปลูกผักไร้ดิน (Soilless Hydroponics Farming:  SHF) และระบบเกษตรแบบปิด เพื่อวัตถุประสงค์ที่ท้าทายแต่เรียบง่าย นั่นคือ คนฮ่องกงต้องได้กินผักคุณภาพดีและปลอดสารเคมี

        ด้วยความที่เติบโตมาในครอบครัวที่เป็นเจ้าของแผงอาหารในย่านมงกก (Mong Kok) กอร์ดอน ทัมจึงรู้ว่าอาหารมีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง เขาเองก็มีปัญหาผิวหนังจากการบริโภคผักปนเปื้อนสาร และคนฮ่องกงยุคก่อนก็พบเจอกับอาการผื่น ผิวหนังอักเสบกันถ้วนหน้า อีกปัญหาหนึ่งที่เด่นชัดคือ ฮ่องกงนำเข้าอาหารจากต่างประเทศมากเกินไป มีผักแค่ 5% เท่านั้นที่ผลิตในท้องถิ่น นั่นหมายความว่า ฮ่องกงมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับปัญหาความมั่นคงทางอาหาร

        ในปัจจุบัน ผักทั้งหมดของ Farm 66 ถูกปลูกในห้องแล็บ โดยผู้ดูแลมีทั้งเกษตรกร นักวิเคราะห์ข้อมูล นักวิทยาศาสตร์ทางอาหาร และวิศวกรเครื่องกล เพียง 15 คนเท่านั้น แต่สามารถปลูกผักส่งออกไปขายทั่วเกาะฮ่องกงมากถึง 7 ตัน/ปี ปรัชญาของการทำงานของ Farm66 คือ เพิ่มคุณภาพของผักในทุกด้าน และ สร้างสภาพแวดล้อมปลอดสารเคมีร้อยเปอร์เซ็นต์ ป้องกันโรคและศัตรูพืชทั้งหลายจากระบบที่แม่นยำ ใช้น้ำน้อยกว่า 90% ใช้พลังงานน้อยกว่า 70% และปล่อยคาร์บอนน้อยกว่า 60%

        “เราเป็นบริษัทแรกที่นำเทคโนโลยีแสง (LED Light) และความยาวของคลื่นพลังงาน (Wavelength Technology) มาใช้กับการปลูกผัก เราพบว่าคลื่นสีต่างๆ ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของพืช ตัวอย่างเช่น แสงไฟ LED สีแดงทำให้ลำต้นโตเร็วขึ้น หรือแสงไฟ LED สีน้ำเงินกระตุ้นให้ใบของพืชมีขนาดใหญ่ขึ้น” กอร์ดอนให้สัมภาษณ์กับ Forbes

        Farm66 ใช้หุ่นยนต์คอมพิวเตอร์ในการเพาะเมล็ดและขนย้ายพืช ช่วยประหยัดเวลา ประหยัดแรงงาน พื้นที่ในการเพาะปลูก และลดความเสี่ยงจากความผิดพลาดของมนุษย์ ทำให้มนุษย์มีสมาธิกับการวิจัยและพัฒนาต่างๆ ได้เต็มที่ นอกจากนี้เขายังบอกว่าเทคโนโลยีทั้งหมดเป็นเทคโนโลยีของฮ่องกงอีกด้วย

        นอกจากการวิจัยที่ขับเคลื่อน Farm66 ให้ทำธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ กอร์ดอนยังเน้นเรื่อง ‘การให้ความรู้’ เพื่อให้เกษตรกรรมท้องถิ่นของฮ่องกงกลับมามีชีวิตชีวาและยืนได้ด้วยตนเองอีกครั้ง รวมถึงทำงานเป็นเมนเทอร์กับหน่วยงานการศึกษาตั้งแต่ปี 2014 (ทั้งโรงเรียนและบริษัทเอกชน) เพื่อจัดอบรมด้าน Urban Farming ความปลอดภัยทางอาหาร วิกฤตอาหาร และปัญหาเรื่องการใช้พื้นที่กับโรงเรียนประถมและมัธยมทั่วฮ่องกง

        ตั้งแต่ปี 2014 Farm66 บริการออกแบบการเรียนการสอนแบบข้ามศาสตร์ STEM x Aquaponics เพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการให้กับเด็กๆ โดยมีผู้เชี่ยวชาญคอยกำกับการสอนอย่างเข้มข้น นักเรียนจะได้ทดลองออกแบบและสร้างระบบอควาโปนิกส์ทั้งนอกและในร่ม เริ่มตั้งแต่ระบบการปลูกพืชผักขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงการเข้าห้องแล็บทดลองเป็นเกษตรกรวัยรุ่น

        Farm66 มีการจัด Green Workshop หรือหลักสูตรสอนเด็กให้มีทักษะในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เมื่อลงมือเพาะปลูกแล้วเจอปัญหา วิเคราะห์ปัญหาพร้อมกับเมนเทอร์ผู้เชี่ยวชาญ รวมไปถึงเสริมความรู้ด้านอื่นๆ เพื่อต่อยอดความคิดเชิงนวัตกรรม เช่น มีการจัดสัมมนาการเกษตรยุคใหม่ ที่หัวข้อของการสัมมนานั้นก็มอบหมายให้เด็กๆ เป็นคนตั้งเอง

        Farm66 มีพาร์ทเนอร์ที่น่าสนใจ เช่น Hong Kong Science and Technology Parks Corporation (HKSTP) หน่วยงานที่สนับสนุนงานวิจัย พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ของฮ่องกง และศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล (Cyberport) ซึ่งทั้งสองบริษัทถือเป็นหน่วยงานที่รัฐบาลถือหุ้นทั้งหมด นักเรียนจึงจะได้โอกาสไปเยี่ยมชมและสำรวจแล็บปลูกผักในร่มที่ล้ำสมัยของหน่วยงานเหล่านี้ด้วย

        ในระดับโลก Farm66 ยังเป็นที่ปรึกษาด้านการเกษตรแนวตั้งที่ให้บริการ Know-how และการแก้ไขเรื่องการปลูกพืชผักในร่ม ซึ่งมีลูกค้าที่สนใจจากดูไบ และจีนเข้ามาเป็นจำนวนมาก เพราะประเทศเหล่านี้ประสบปัญหาเรื่องสภาพอากาศแปรปรวน ทำสวนยาก จึงมองหาหนทางการทำสวนในพื้นที่ปิด

        Farm 66 มองเห็นปัญหานี้อย่างชัดเจน แผนก R&D จึงพยายามหาข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาผักและสินค้าให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคระดับโลกมากขึ้น การทำงานในระดับโลกของ Farm66 เป็นการนำปัญหาความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ความปลอดภัยของอาหาร (Food Safety) และการกลายสภาพเป็นทะเลทราย (Land Desertification) มาออกแบบภายใต้การทำงานเรื่องการปลูกผักในร่ม และต่อยอดไปสู่การพยายามสร้างเครือข่ายของลูกค้าเพื่อให้ธุรกิจยังอยู่ได้และยั่งยืน

         “รัฐบาลท้องถิ่นจีนปรึกษาเราเรื่องการทำสวนในที่ร่มในพื้นที่ 90,000 ตารางฟุต มีตลาดขนาดใหญ่เปิดอยู่ที่จีน และการเพาะปลูกสมุนไพรทางการแพทย์ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ทำกำไรในระบบการปลูกแบบนี้ในอนาคตอันใกล้” กอร์ดอนกล่าว

K-Farm : Public Space ฟาร์มปลูกผักกลางเมืองที่เปิดต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง 

        K-Farm เต็มไปด้วยแปลงผักหน้าตาล้ำสมัยเพื่อให้สามารถทำฟาร์มได้ตลอด 365 วันภายใต้ทุกเงื่อนไขสภาพอากาศ มีทั้งการปลูกพืชแบบอควาโปนิกส์เพื่อศึกษาการใช้ชีวิตของสัตว์น้ำและการปลูกพืชไปพร้อมๆ กัน หรือการทำการเกษตรแบบผสมผสาน หลากหลายสายพันธุ์ และรักษาระบบนิเวศของชุมชน ได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก Development Bureau ที่ดูแลเรื่องการพัฒนาผังเมือง การจัดการที่ดิน การพัฒนาโครงสร้าง ฯลฯ ของรัฐบาลฮ่องกง

        อาจจะฟังดูคล้ายกับคอนเซปต์ของ Farm 66 แต่เป้าประสงค์ของ K-Farm คือเป็นพื้นที่สาธารณะควบคู่ไปด้วย ไม่ได้ปลูกผักในระบบปิดเพียงอย่างเดียว ประชาชนชาวฮ่องกงสามารถเข้าไปใช้บริการได้ฟรี (ยกเว้นโซนคาเฟ่)

        ที่นี่ใช้แนวทางเกษตรอินทรีย์ทุกแปลง เปลี่ยนให้พืชและดอกไม้นานาชนิดกลายเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของเหล่านก มีการออกแบบแหล่งกักเก็บน้ำฝน เทคโนโลยีระบบแสง UV เพื่อลดความร้อนของแสงอาทิตย์ที่อาจมากเกินไปสำหรับพืชในเรือนกระจก และติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อกักเก็บพลังงานไฟฟ้าสำหรับพื้นที่สำนักงานทั้งหมด 

        ที่แห่งนี้ไม่ได้ประกาศว่า ‘ฉันคือฟาร์มกลางกรุง’ จนทำให้คนที่ไม่ได้รักในการปลูกผักต้องรู้สึกอึดอัดใจไม่อยากเข้ามาใช้บริการ แม้เป้าหมายของ K-Farm คือการทดลองและเก็บข้อมูลการทำฟาร์มภายใต้สภาพอากาศกลางเมืองหลวง เพื่อเป็นแม่แบบสำหรับ Urban Farming ให้เมืองอื่นๆ ในเอเชีย แต่การทำให้เด็กๆ ชาวฮ่องกงหันมาสนใจการปลูกผักหรือการเป็นเกษตรกรอีกครั้ง ภายใต้แนวคิดการรักษาระบบนิเวศและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนก็เป็นเรื่องที่ K-Farm เห็นว่าสำคัญไม่แพ้กัน

         “ที่แห่งนี้ยังสามารถทำกิจกรรมได้หลากหลายและเป็นประโยชน์แก่ชุมชนอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นห้องเรียนระหว่างเลิกงานหรือห้องเรียนหลังเลิกงาน อาหารและเครื่องดื่มออร์แกนิกจากครัวสีเขียว และฟาร์มสีเขียวที่วัตถุดิบทั้งหมดมาจาก K-Farm เอง เราเชื่อว่า K-Farm จะสร้างความทรงจำที่มีค่าให้กับหลายๆ ครอบครัว และที่สำคัญ การออกแบบ K-Farm แห่งนี้ก็เพื่อไกด์ให้เด็กๆ ได้มองเห็นอนาคตข้างหน้าว่า อาชีพเกษตรกรเป็นเรื่องที่จริงจังและเท่เหมือนกันนะ!” Avoid Obvious Architects (AOA) บริษัทสถาปัตยกรรม เปิดเผยวิสัยทัศน์ของการออกแบบพื้นที่แห่งนี้

        การเชื่อมโยงกิจกรรมประจำวันของคนฮ่องกงให้เข้ามาใช้พื้นที่ ด้วยวิธีการที่เป็นรูปธรรม อย่างการเปิดให้เป็นพื้นที่สาธารณะ มีร้านอาหารบริการ มีฟาร์มผักหน้าตาแปลกประหลาดล้ำสมัยมาให้เลือกชม หรือการเปิดคลาสสอนสำหรับผู้ที่สนใจเรื่องความยั่งยืน จึงถือเป็นปรากฏการณ์ที่เราเริ่มเห็นในฮ่องกงและทั่วโลกมากขึ้น

        K-Farm ประกาศว่า เราเป็น ‘Farm to Care’ หรือฟาร์มที่ใส่ใจ ทั้ง (1) ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม สร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะที่เป็นมิตรต่อทั้งคน และสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่ยังต้องพึ่งพิงต้นไม้ใบใหญ่ (2) ใส่ใจต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตชาวฮ่องกง ที่ต้องการพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ ในวันที่เหนื่อยล้าหลังเลิกงาน หรือวันที่ต้องการใช้เวลากับเพื่อน ครอบครัว และคนที่รัก และ (3) ใส่ใจต่อคนพิการ โดยคนพิการสามารถเข้าถึงการใช้พื้นที่ได้ทั้งหมด

         “วิสัยทัศน์ของเราคือการสร้างชุมชนที่ยั่งยืนและเอื้ออาทรโดยการส่งเสริมสุขภาพกาย ใจ และการอยู่ร่วมกันทางสังคม ผ่านกิจกรรมการทำฟาร์มในเขตต่างๆ และเพื่อให้พื้นที่เปิดโล่งสำหรับการพักผ่อนและผ่อนคลาย” นี่คือข้อความจากหน้าเว็บไซต์ของ K-Farm 

        และดูเหมือนว่า K-Farm จะทำสำเร็จ เพราะปัจจุบันที่นี่ได้แปลงตัวเป็น Hub ที่เปิดสอน Green Program หลักสูตรชั้นเรียนการทำฟาร์ม สอนทำอาหารเพื่อสุขภาพ และห้องเรียนสีเขียว ให้กับบริษัทเอกชน โรงเรียน และองค์กรต่างๆ จึงทำให้พื้นที่ที่ดูเหมือนจะเป็นสวนสาธารณะที่ปลูกผักเยอะแห่งนี้  กลายเป็นสถานที่เรียนรู้ และเป็นห้องเรียนอย่างไม่ได้ตั้งใจให้เด็กๆ ชาวฮ่องกง ค่อยๆ เปิดใจให้ทีละนิดๆ 

        เมื่อ 10 หรือ 20 ปีที่แล้ว เราอาจจะไม่คุ้นเคยกับภาพผักที่ปลูกในพื้นที่คล้ายอวกาศ แถวผักเรียงรายในแสงสีม่วง และสวนผักสูงใหญ่ที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง แต่ในตอนนี้ Urban Farming เป็นสิ่งที่เข้ากับความเป็นดินแดนตึกสูงเสียดฟ้าแบบฮ่องกง การมีพื้นที่จำกัดนำไปสู่ชุมชนการวิจัยข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ การผลิตอาหาร และการพัฒนาอาชีพ

         “เรากำลังหาไอเดียใหม่ๆ เรื่องการทำสวนในอวกาศ เราเริ่มค้นคว้าเรื่องอนาคตของการทำสวนแล้ว เช่น การปลูกพืชในสภาพไร้แรงโน้มถ่วง” กอร์ดอนแห่ง Farm66 โยนไอเดียไว้เมื่อปี 2022 

        ไม่มีใครสรุปได้ว่าอนาคตของ Urban Farming ในฮ่องกงจะเป็นอย่างไร เพราะปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหารและวิกฤตสิ่งแวดล้อม ต้องอาศัยการแก้ไขเชิงนโยบายและการปรับใช้ในแต่ละพื้นที่ แต่อย่างน้อย Farm66 และ K-Farm ก็เป็นตัวอย่างของการปรับตัวเพื่อแก้ไขปัญหาในชุมชน


ที่มา

บทความ “​FUTURE OF FARMING IS VERTICAL – GROWING FAST AND FRESH” จาก hkstp.org (Online)

บทความ “​Meet The High-Tech Urban Farmer Growing Vegetables Inside Hong Kong’s Skyscrapers” จาก forbes.com (Online)

บทความ “Farm66​” จาก farm66.com (Online)

บทความ “Farm66: A Green Future” จาก hivelife.com (Online)

บทความ “Green eating: the Farm-to-Table movement in Hong Kong​” จาก jll.co.th (Online)

บทความ “How green is my balcony!” จาก chinadailyhk.com (Online)

บทความ “How Urban Farming Can Change the World” จาก rooftoprepublic.com (Online)

บทความ “K-Farm / Avoid Obvious Architects” จาก archdaily.com (Online)

บทความ “K-Farm: Smart Urban Farming” จาก archdaily.com (Online)

เว็บไซต์ K-Farm (Online)

Cover Photo: K-Farm 堅農圃

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก