ศิวกานท์ ปทุมสูติ การเรียนรู้กับการศึกษาทางเลือก – “เราต่างเป็นครูของกันและกัน”

1,467 views
6 mins
April 8, 2023

          “เจ้ารู้ว่ากวีนิพนธ์เป็นมากกว่าหนึ่งสิ่ง และอะไรก็ตามที่เปลี่ยนผ่านจากการไม่มีอยู่มาสู่การมีอยู่ ล้วนมีเหตุมาจากการรังสรรค์หรือกวีนิพนธ์ ดังนั้นผลิตผลทั้งหมดของศิลปะก็คือรูปแบบหนึ่งของกวีนิพนธ์ และช่างฝีมือเหล่านี้ถือว่าเป็นกวีดุจเดียวกัน”

          ความเป็นกวีบนบรรทัดข้างต้นถูกกล่าวไว้ใน ซิมโพเซียม: ปรัชญาวิวาทะว่าด้วยความรัก บทสนทนาชิ้นสำคัญของ เพลโต กรอบคิดแบบตะวันตกที่สืบทอดมาจากกรีกและโรมัน มองว่า กวีสัมพันธ์กับการเป็น ‘ผู้สร้าง’ หรือ ‘ผู้ที่ทำให้บางสิ่งที่อาจไม่มีอยู่หรือมีอยู่แต่ไม่ปรากฏ ได้ปรากฏขึ้นมา’

          คำว่า กวี หรือ Kavi ในภาษาสันสกฤต หมายความถึง ‘ผู้รู้’ หรือ ‘ปราชญ์’ ผู้เป็น ‘กวี’ จึงสัมพันธ์กับการเรียนรู้ และการรังสรรค์สิ่งที่ไม่ปรากฎให้ปรากฎ นั่นคือ ความรู้

          ศิวกานท์ ปทุมสูติ นิยามว่าตนเป็นเด็กเลี้ยงควาย ชาวไร่ชาวนา นักเชียร์รำวง นักเพลงพื้นบ้าน เด็กวัด นักเดินทางเพื่อการศึกษาทางเลือก ช่างตัดผม และ ฯลฯ

          “จนกระทั่งไปเป็นบุรุษไปรษณีย์ย่านบางรัก ไปเป็นเซลล์แมน เรียนครูภาคค่ำ ผมไม่ได้เรียนในระบบ แต่เป็นผู้เรียนรู้นอกเวลาด้วยระบบการศึกษานอกระบบ เพราะพลังในการใฝ่รู้ ผมชอบลินคอล์น อับราฮัม ลินคอล์น ก็เป็นเช่นนี้ เขามีพลังในการเรียนรู้ สุนทรภู่ก็ด้วย”

          หลังเรียนจบวิชาครูจากวิทยาลัยครูสวนสุนันทา ศิวกานท์บรรจุเป็นครูครั้งแรกที่ราชบุรี ก่อนจะย้ายมาที่สุพรรณบุรีอีกสามโรงเรียน และโอนย้ายไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ถึง พ.ศ. 2547 และลาออกจากราชการขณะดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ระดับ 8 รวมช่วงชีวิตที่รับราชการครู 27 ปี มากพอที่จะทำให้มองเห็นปัญหาของระบบการศึกษาไทย

          หลังจากพาชีวิตออกนอกระบบ ศิวกานท์ได้ก่อตั้ง ‘ทุ่งสักอาศรม’ เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อการอ่านเขียนเรียนชีวิต และจัดทำโครงการโรงเรียนกวี เป็นวิทยาทานการศึกษาสืบเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2549 ถึงปัจจุบัน ดำเนินการโดยใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวจากการจำหน่ายหนังสือที่ตนเขียนสะสมเป็นกองทุนทุ่งสักอาศรม รวมถึงเป็นแหล่งงบประมาณโครงการโรงเรียนกวีและโครงการวิทยาทานการศึกษาอื่นๆ ที่เป็นไปเพื่อการใช้ชีวิตอย่างมีศานติดุลยธรรม

          ในบทบาทของกวี ศิวกานท์มีผลงานกวีนิพนธ์ผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์จำนวน 5 เล่ม เริ่มฝึกเขียนหนังสือราวปี 2519 ในยุคที่นิตยสารยังเฟื่องฟู อาทิ ฟ้าเมืองไทย สตรีสาร และวิทยาสาร งานเขียนส่วนมากเป็นบทกวี และมีผลงานพิมพ์รวมเล่มประมาณ 40 เล่ม

          ทุกวันนี้ก็ยังเขียนบทกวีอย่างต่อเนื่อง

          “ยังเขียนอยู่ ไม่อาจเลิกเขียน เราทำจนกระทั่งมันเป็นเช่นนั้น มันเดินทางไปกับเราตลอดเวลา เป็นหนึ่งเดียวกับชีวิต ถ้อยคำทุกถ้อยคำที่ทิ้งไว้เป็นรอยของตัวเอง เราได้กลับมาเรียนรู้ เห็นความหมายที่ใช่และไม่ใช่ ทำให้เราได้ก้าวไปในทางที่เราเชื่อว่าถูกต้อง”

          การเขียนบทกวีเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ แต่ความผิดพลาดก็เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ด้วยเช่นกัน ดังสุภาษิตที่ว่า ‘ผิดเป็นครู’ เมื่อพบครูแล้วก็น้อมรับความเปลี่ยนแปลงของความคิดที่จะเกิดขึ้นทุกเมื่อ

          “เราเคยเชื่อว่าสิ่งนี้ถูก สิ่งนี้ดีที่สุด ผมเคยเขียนบทกวีบทหนึ่งว่า ‘ไล่ลูกออกไปเล่นเย็นก็กลับ แต่ไล่ลูกออกไปรับการศึกษา มันไปแล้วไปลับไม่กลับมา เสียน้ำตาเพราะรักไล่จากเรือน’ หมายความว่าขณะนั้นผมมองว่าการศึกษาทำให้ลูกทิ้งพ่อแม่ทิ้งปู่ย่าตายายไปอยู่ไหนก็ไม่รู้เพื่อทำงานตามที่ตัวเองได้เรียนศึกษา เราเศร้าเมื่อมองผู้เฒ่าผู้แก่ถูกทอดทิ้ง บางคนบินไปกับฝูงนกอพยพ ใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ไม่กลับมาเหลียวแลผู้เฒ่าผู้แก่ มันก็ไปศึกษาชีวิตไปหากินเพื่อตัวเอง เรามองมุมหนึ่งเท่านั้น

          “แต่วันหนึ่งพอเรามามองใหม่ว่า ผู้ให้คือผู้เปิดประตูให้ชีวิตก้าวผ่านก็ใยเล่าจะมัวไปยึดครอง ใยเล่าจะมัวไปฟูมฟายกับการถูกทอดทิ้ง เขาไปจากเรา มันก็เกิดบทกวีบทใหม่ เมื่อกาลเวลาเปลี่ยน บทใหม่ว่า ‘ไปจากต้นกิ่งใบไปเถิดลูก ให้นกกาพาไปปลูกที่ปลายป่า เจ้าต้องมีชีวิตอิสรา มีดินฟ้าแดดฝนของตนเอง’ ไม้ย่อมจะอยู่ภายใต้ร่มของไม้ใหญ่ไม่ได้ เพราะมันจะไม่ได้รับแดดฝนที่เพียงพอ ก็จะไม่เจริญเติบโต ก็เป็นอีกมุมหนึ่งใช่ไหมล่ะ”

          หลังจากปี 2547 ศิวกานท์เดินทางไปพบปะครูและนักเรียนในโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศไทย เพื่อมุ่งหาทางออกของปัญหาการศึกษา ในการเดินทางครั้งนั้น ศิวกานท์ค้นพบว่า การศึกษาไม่ได้ไปเปิดประตูให้นักเรียนและนักศึกษาของประเทศของเราได้ค้นพบตัวเอง

          อำนาจที่กดทับลงมาเป็นช่วงชั้นทำให้นักเรียนไม่กล้าตั้งคำถามกับตนเองและสิ่งรอบตัว แต่เลิกเลยไหม ไม่จำเป็นต้องมีลำดับชั้นสูงต่ำเลยได้ไหม ในมุมมองของกวีผู้ทำงานการศึกษาผู้นี้มองว่า การนำและการตามยังจำเป็นในสังคม แต่นำแล้วเปิดประตูให้ผู้ตามได้ก้าวออกไปจากห้องหับอันคับแคบหรือไม่

          “ผู้นำตามหน้าที่มีภารกิจในเชิงบวก เพราะฉะนั้นพ่อจำเป็นต้องมี เจ้าอาวาสจำเป็นต้องมี นายกรัฐมนตรีก็จำเป็นต้องมี แต่ต้องมีในความหมายที่เปิดประตูให้ทุกคนเดินทาง ถ้าครูสอนให้เด็กเขาเดินได้เอง อ่านได้เอง คิดได้เอง ครูมีหน้าที่เปิดประตู หน้าที่ของครูคือเปิดประตูแล้วก็ชวนกันทำ ชวนกันไปด้วยกัน ชวนกันฝึกทักษะ

          “แต่ถ้าโดยระบบ คือการที่สั่งการจากบนลงล่างจนเป็นนิสัย เป็นวัฒนธรรม จนกระทั่งเป็นเรื่องที่ดูเหมือนทำกันมาเช่นนั้นเนิ่นนาน จากรัฐมนตรีถึงเลขา สพฐ. ลงมาถึงผู้อำนวยการเขต ผู้อำนวยการโรงเรียน กระทั่งถึงครูประจำห้องเรียนแทบไม่ต้องคิดเลยนะ แค่ทำตาม

          “มันก็เลยกลายเป็นว่าขอให้ได้ทำตามที่เขาสั่งก็ปลอดภัย เด็กเมื่อปฏิบัติการกับครูที่คิดไม่เป็นก็คงไม่ต้องหวังว่าเขาจะคิดเป็น มหาวิทยาลัยก็ทำลายครูด้วย คณะครุศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ ต้องกลับไปถามตัวเองว่า คุณสร้างครูในความหมายที่เป็นครูแท้ๆ หรือไม่ ให้เขาเป็นผู้คิดเป็น สร้างสรรค์เป็น ออกแบบเป็น เปิดพื้นที่ให้กับผู้เรียนพร้อมจะเติบโตด้วยวิถีของเขา เป็นครูที่มีจิตวิญญาณ ที่พร้อมจะเป็นต้นแบบของชีวิต คุณได้สร้างหรือยัง”

          ในมุมมองของศิวกานท์ หัวใจของการศึกษามีอยู่ 4 ข้อ

          1. ทักษะด้านภาษา

          2. ความสุขในการเรียนรู้

          3. อิสระในการเลือกเรียนรู้

          4. วิชาชีพที่สร้างสันติให้โลก

          “มนุษย์เรียนรู้จากภาษา เพราะภาษาเป็นเครื่องมือสื่อความหมาย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเรียนภาษาเป็นทักษะชีวิต ภาษาเดียวที่คุณมีอยู่ในชาติไม่เพียงพอ คุณอาจต้องเรียนภาษาอื่นที่สื่อสารกับโลกภายนอกได้ด้วย นั่นก็คืออย่างน้อยต้อง 2 ภาษา คุณต้องมีทักษะภาษาที่แข็งแรง ดังนั้นข้อ 1 เรื่องของทักษะภาษา คือมีเครื่องมือภาษาที่จะใช้ในการเรียนรู้

          “ข้อ 2 ต้องมีพลังในการใฝ่เรียนใฝ่รู้ มีความสุขในการเรียนรู้ รักการอ่าน กระหายใคร่รู้ แม้ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย ก็อาจจะมีความรู้มากกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยได้ถ้าเขามีความกระหายที่จะเรียนรู้ ถ้าเราทำให้เด็กมีความสุขในการเรียนรู้ มีพลังในการใฝ่เรียนใฝ่รู้ รักอ่านรักคิดรักที่จะก้าวไปเรื่อยๆ งอกงามไปเรื่อยๆ

          “เราต้องให้อิสระในการเลือกที่จะเรียนรู้ เมื่อเขามีพลังแล้ว เขาควรได้สิทธิเลือก เลือกเพื่อเป็นเป้าหมายของทักษะชีวิตเฉพาะตน แล้วในที่สุดต้องนำไปสู่การออกแบบชีวิต ทางเลือกต้องนำไปสู่ชีวิตที่เขาจะออกแบบได้ว่าอีก 5 ปีเขาคือใคร แล้วเขาจะไปอย่างไร เขาต้องเตรียมอะไรถ้าเขาจะไปทางนั้น ไม่จำเป็นว่าเขาจะไม่ต้องไปเตรียมเหมือนเพื่อน หรือเป็นอย่างที่เพื่อนเป็น ขอเพียงให้เขาตระหนักรู้ในตัวเองและออกแบบชีวิตให้พร้อมที่จะมีอาชีพอยู่กับโลกใบนี้ และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้สังคมมนุษยชาติได้อยู่อย่างสันติสุข นั่นก็พอแล้ว หัวใจหลักแค่ 4 ข้อสำหรับการศึกษา”

           ‘โรงเรียนกวี’ เป็นรูปธรรมที่เขาทดลองสร้างสรรค์ขึ้นให้เป็นการศึกษาทางเลือก และถือเป็นเกียรติยศของการเรียนรู้ นั่นคือการที่ครูและศิษย์ร่วมกันเรียนรู้ไปด้วยกัน เพื่อค้นพบเส้นทางของตัวเอง

          จะเป็นอะไรก็ได้ ไม่ต้องเป็นกวีก็ได้

          “เราเรียกว่าเป็นการใช้เวลาในชีวิตเพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน เช่น การเขียนบทกวี ครูอาจารย์ในมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนมักจะสอนว่า กลอนแปดมีแผนผังอย่างนี้นะ แล้วก็เอาตัวอย่างมาให้ดู ชี้ให้เห็นแล้วก็เขียนตาม ฝึก หัดประสบการณ์ เราก็เคยคิดว่านั่นก็น่าจะดีใช่ไหม มันก็ไม่ได้เลวหรอก แต่ว่า… มันมีสิ่งที่ดีกว่า

          “โรงเรียนคือชีวิต กวีเป็นแค่เครื่องมือ บางคนเขียนบทกวีไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร เพราะผมไม่ได้ต้องการให้คุณเป็นกวี แต่ผมต้องการให้คุณสัมผัสภาวะกวี ภาวะกวีที่ละเอียดอ่อนในจิตวิญญาณ มนุษย์มีอยู่ทุกคน คุณก็มีเพียงแต่คุณหลงลืมที่จะหยิบมันมา หรือคุณอาจจะเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ยังรอวันฝนหยาด ดินชุ่ม อากาศอบอุ่น”

          ในหนังสือเล่มหนึ่งของศิวกานท์ชื่อ ทางจักรา (2559) เล่าเรื่องราวการเดินทางด้วยจักรยานของครูกับศิษย์ ซึ่งน่าจะเป็นทางสองสายที่มาบรรจบพบกันในตัวตนของศิวกานท์…ความเป็นครูและกวี

          ศิวกานท์เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมคิดว่าการส่งไม้แห่งอิสระปัญญาต่อให้ใครสักคนหนึ่ง เขาจะต้องมีตัวตนที่งอกงามจากการเรียนรู้ของเขาเองด้วย ครูไม่ควรเป็นผู้สอนที่ล่องลอยอยู่ในอากาศธาตุ หากแต่ควรเป็นผู้เรียนรู้และเติบตื่นไปพร้อมกับศิษย์”

          ในระหว่างบรรทัดบทกวี ครูในเรื่องตื่นขึ้นจากคำพูดและการกระทำของศิษย์ “นั่นก็ยืนยันว่า พื้นที่เกียรติยศของการเรียนรู้ เราต่างเป็นครูของกันและกันได้ตลอดเวลา” ศิวกานท์ บอก

          ไม่ว่าจะเขียนบทกวีบนหน้ากระดาษส่วนตัว ไม่ว่าจะเขียนบนกระดานดำหน้าชั้นเรียน ไม่ว่าจะเขียนชีวิตให้ตนเองใช้ชีวิต ศิวกานท์เปรียบเปรยว่า ‘ผมชอบเป็นเหมือนก้อนหินกับสายน้ำ’

          “ก้อนหินที่กลมมนในลำธาร ต้องพร้อมขัดเกลาตนเองอยู่กับสายน้ำที่ไหลผ่านวันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่านับร้อยนับพันปี กว่าหินก้อนหนึ่งจะกลม มันคือการขัดเกลาตัวเอง นิ่งอยู่ก้นกระแสธาร สายน้ำที่อ่อนโยนเท่านั้นแหละที่จะขัดเกลาก้อนหินได้แท้จริง แต่ต้องใช้เวลา ผมเป็นทั้งสายน้ำเป็นทั้งก้อนหิน ที่เรียนรู้อยู่ตลอดเวลาว่ามันยังกลมได้อีก มันยังกลมได้อีก มันยังงามได้อีก ซึ่งแน่นอนต้องใช้เวลา”


บทความนี้ปรับปรุงจากการสัมภาษณ์ในรายการ Coming to Talk เผยแพร่ครั้งแรกทาง TK Podcast เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2561 ฟังบทสัมภาษณ์เต็มได้ที่ https://www.thekommon.co/comingtotalk-ep12/

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก