‘สุพจน์ คุณานุคุณ’ ภาพศิลป์ ธุลีดิน และความสงบภายใน

2,017 views
5 mins
November 9, 2021

          จะมีมนุษย์คนไหนบ้าง ที่รู้สึกเสียดาย หากต้องโยนก้อนดินสักก้อนทิ้ง แม้จะมีขนาดเล็กเท่านิ้วโป้ง

          จะมีมนุษย์คนไหนบ้าง ที่ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ใด สายตาก็สอดส่ายมองแต่ดิน และพกถุงติดตัวพร้อมจะเก็บดินกลับบ้านด้วย

          จะมีมนุษย์คนไหนบ้าง ที่รู้สึกอิ่มเอมหัวใจ เมื่อดินถูกเทลงผสมเข้ากับน้ำ คล้ายกลิ่นหอมยามฝนตกใหม่ๆ

          หากจะมีมนุษย์แปลกๆ แบบนั้นอยู่ในโลก เขาคือ ครูสิตฐ์ – สุพจน์ คุณานุคุณ ศิลปินผู้ใช้ดินเป็นวัตถุดิบในการทำสี ผสมผสานกับภูมิปัญญาของครูช่างด้านจิตรกรรมฝาผนังที่ตกทอดมาหลายร้อยปี จนกระทั่งเกิดเป็นผลงานที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง สร้างความสุขใจ และเกิดการเติบโตของมิติภายใน

          กว่าจะหลงใหลมนต์เสน่ห์ของดินและค้นพบเส้นทางการทำงานศิลปะที่ชัดเจน มีหลายเรื่องราวเกิดขึ้นคล้ายเป็นความบังเอิญ ทว่าสุดท้ายทุกสิ่งกลับปะติดปะต่อกันลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อ

          สุพจน์ สั่งสมทักษะจิตรกรรมไทยจากรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร ใช้ชีวิตช่วงหนึ่งเป็นครูศิลปะอยู่ที่โรงเรียนรุ่งอรุณ ได้เรียนรู้ศาสตร์การสอนที่คำนึงถึงความรู้สึกนึกคิดและจิตวิญญาณของมนุษย์ จากนั้นจึงก้าวสู่การเป็นศิลปินอิสระ ได้ทำงานตกแต่งผนังพระราชวังรัฐตรังกานู มาเลเซีย และมีโอกาสเดินทางไปทำงานศิลปะที่ดูไบนานนับปี

          ปัจจุบัน สุพจน์เปิดสตูดิโอศิลปะ ‘Earth Tone Studio’ อยู่ภายในศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก โดยไม่เคยทิ้งงานสอน ราวกับว่ามันฝังลึกอยู่ในดีเอ็นเอของเขาไปเสียแล้ว

วันวานอันน่าเบื่อหน่ายในดูไบ

          เมื่อ 5-6 ปี ที่แล้ว สุพจน์ ตัดสินใจรับทำงานศิลปะที่ดูไบ แม้จะเป็นงานด้านที่ตัวเองไม่ถนัดหรือไม่มีทักษะมาก่อน เช่น งานปั้นปูน หรืองานแกะสลักโฟม ด้วยความตั้งใจจะเก็บหอมรอมริบเงินสักก้อนหนึ่ง ความเบื่อหน่ายจากการทำงานในช่วงเวลา 13 เดือน ทำให้เมื่อใดก็ตามที่มีเวลาว่าง ทั้งหลังเลิกงานและในวันหยุด เขาจะสะพายเป้ออกเดินทางคนเดียว ขึ้นรถ ลงเรือ ขึ้นรถไฟ พเนจรไปจนครบ 7 รัฐ ทั้งสถานที่ที่มีความเจริญล้ำสมัยเกินกว่าจะพบเจอได้ในเมืองไทย สถานที่อโคจรทั้งหลาย รวมถึง ‘เมืองใต้พรม’ หรือสลัมที่เต็มไปด้วยคนยากจน

          “ไปเที่ยวจนถึงจุดที่รู้สึกว่าตัวเองไปมาหมดแล้ว ทั้งออกไปสเก็ตช์ภาพและถ่ายภาพ มันอิ่มจนไม่อยากทำอะไร วันหนึ่งเลยไปหยิบผืนผ้าที่ทารองพื้นด้วยกาวเม็ดมะขามดินสอพอง ตอนนั้นอยากวาดภาพด้วยสีจากธรรมชาติ แต่ที่ดูไบมองไปทางไหนก็มีแต่ทะเลทราย ดินเป็นของที่หายากมาก ก็เลยใช้กาแฟสำเร็จรูปที่ชงกินนั่นแหละเอามาวาดรูป จังหวะที่ได้เอาพู่กันละเลง สีมันดูดใจเราเข้าไป ทำให้ใจอิ่มนิ่ง ทั้งวันก็เลยอยู่แต่ตรงนั้น การวาดภาพกลายเป็น ‘เครื่องอยู่’ ให้กับตัวเอง โดยไม่ต้องออกไปเสาะแสวงหาที่เที่ยวที่ไหนก็ได้”

          ภาพรองเท้าเก่าๆ และชุดทำงานที่สร้างสรรค์ขึ้นจากกาแฟซองเล็กๆ ช่วยบันทึกความทรงจำเมื่อครั้งที่ต้องจากบ้านจากเมืองไปทำงานในแดนไกล

          และแล้วภารกิจที่ดูไบก็เสร็จสิ้น พร้อมจุดเริ่มต้นของพรมแดนใหม่ในการทำงานศิลปะ

แรงบันดาลใจจากผู้เป็น ‘ภูมิพลังของแผ่นดิน’

          แม้สุพจน์จะร่ำเรียนมาทางจิตรกรรมโดยตรง แต่เขากลับไม่ถนัดการวาดงานประเภทบุคคล (portrait) เท่าใดนัก การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจอยากวาดรูปพระองค์ขึ้นมา โดยใช้เทคนิคที่พบโดยบังเอิญจากดูไบ คือการใช้สีจากกาแฟสำเร็จรูป วาดลงบนผืนผ้าที่ทารองพื้นด้วยกาวเม็ดมะขามดินสอพอง

          “ตอนนั้นไม่อยากคิดอะไรให้ซับซ้อน เลยตัดเรื่องสีออกไป เหลือแค่สีเอกรงค์คือใช้สีเพียงสีเดียว ไม่ต้องผสม ไม่ต้องไปนั่งคิดทฤษฎีเรื่องสี แล้วปล่อยให้ใจมันลงไปกับรายละเอียดอย่างเต็มที่ ใช้พู่กันเบอร์ศูนย์พิเศษค่อยๆ เกลี่ยบนพระพักตร์ เส้นเกศาก็ไม่ได้ใช้สีขาว แต่ใช้วิธีเว้นพื้นเพื่อสร้างแสง ชิ้นนี้เกิดความเพียรเต็มที่ และได้ทะลุผ่านความกลัว กลัวไม่เหมือน กลัวไม่สวย กลัวไม่ดี คราวนี้เหลือแต่ความสุขใจ มั่นใจที่จะทำชิ้นต่อๆ ไป”

          สุพจน์ ตั้งใจจะวาดภาพรัชกาลที่ 9 ด้วยสีดินจำนวน 9 ภาพ เขาเดินทางไปยังเขื่อนภูมิพลเพื่อเก็บดินจากที่นั่นมาเป็นมวลสารตั้งต้น โดยไม่ได้คำนึงว่าดินที่ได้จะมีโทนสีเช่นใดบ้าง แต่อย่างน้อยก็เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงผู้ที่เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ศิลปะจากสีดินให้กับตนเอง

สุพจน์ คุณานุคุณ

เม็ดมะขาม-ดินสอพอง-กาวกระถิน มรดกจากครูช่างโบราณ

          สุพจน์ บอกเล่าถึงเทคนิคการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังในสมัยโบราณให้ฟังว่า มีการใช้สีจากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น ดิน หิน หรือพืช ทว่าให้สีสันที่สวยงามและคงทน แม้จะมีการหลุดลอกไปบ้างเมื่อผ่านกาลเวลานับร้อยปี แต่ยังหลงเหลือร่องรอยให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้และชื่นชม มรดกความงามของจิตรกรรมฝาผนังวัดเก่าๆ ในสมัยอยุธยา และวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน เป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจ ทำให้เขาอยากสืบสานและต่อยอดผ่านงานศิลปะ

          เคล็ดลับของจิตรกรรมชั้นครู มีตั้งแต่การเตรียมปูนขาวสำหรับฉาบผนัง โดยต้องหมักไว้นานราว 3 เดือน หมั่นถ่ายน้ำเพื่อลดความเค็ม นำไปผสมกาวจากธรรมชาติ แล้วจึงฉาบผนังจนเรียบเนียน จากนั้นชโลมด้วยน้ำต้มใบขี้เหล็กเพื่อลดความเป็นด่าง หากใช้เหง้าขมิ้นขีดลงไปบนผนังแล้วสีเหลืองเปลี่ยนเป็นสีแดง แสดงว่าผนังยังมีความเป็นด่าง ต้องชะล้างด้วยน้ำต้มใบขี้เหล็กต่อไปอีก และก่อนจะจรดพู่กันลงไป ต้องทาสีรองพื้นที่มีส่วนผสมหลัก 3 อย่าง คือ เม็ดมะขามเปรี้ยวซึ่งเมื่อต้มแล้วจะคายความเหนียวเหมือนกาว ดินสอพองซึ่งให้เนื้อสีขาว และกาวจากต้นกระถินซึ่งมีคุณสมบัติเป็นตัวยึดเกาะ

          “ใครๆ ก็มักจะถามว่า ภาพที่วาดด้วยสีดิน มันจะอยู่ได้นานรึเปล่า ก็ต้องอธิบายถึงเรื่องภูมิปัญญาโบราณ เราเลือกใช้เทคนิคแบบอยุธยา ซึ่งเนื้อสีไม่ได้เกาะอยู่แค่บนผิวผนัง แต่แทรกซึมเข้าไปอยู่ในเนื้อผนังเลย ยิ่งเดี๋ยวนี้มีนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น น้ำยาเคลือบที่ไม่มันวาวและซึมลงไปในเนื้อสี ช่วยให้ texture ของภาพวาดไม่เปลี่ยน ยิ่งทำให้เก็บภาพได้ยาวนานขึ้น”

          สุพจน์ เล่าติดตลกว่า บางครั้งเขาไม่รู้จะไปหาเม็ดมะขามเปรี้ยวจากที่ไหนมาตุนไว้ให้มากพอ จึงต้องซื้อฝักมะขามมานั่งแกะเอง จนต้องแอบรำพึงถึงครูบาอาจารย์ว่า หากอยากให้ตนสืบทอดต่อก็ขอให้ช่วยพาไปพบแหล่งวัตถุดิบ

          แล้ววันหนึ่งญาติของเขาซึ่งเดินทางไปยังลำพูนก็ได้พบขุมทรัพย์โดยบังเอิญ ละแวกนั้นชาวบ้านนิยมทำ ‘รั้วมะขาม’ โดยใช้เม็ดมะขามเปรี้ยวจำนวนมากฝังกลบถี่ๆ ตามแนวที่ขึงไว้ เพื่อให้งอกกลายเป็นพุ่มรั้วจากธรรมชาติ

          “ทุกวันนี้ทำรองพื้นอยู่สองสูตร เหมือนพิซซ่าเลย (หัวเราะ) มีสูตรหน้านุ่ม เวลาลงสีแล้วภาพจะดูซอฟท์ๆ หน่อย เพราะสีถูกดูดซึมเยอะ กับสูตรหน้าแข็ง สามารถขยี้ ปาด หรือขูดขีดสีได้มากขึ้น เวลากวนสีรองพื้นนี่ไม่เคยชั่งตวงอะไรเลยนะ ใช้แค่ความรู้สึกและการสัมผัส ถ้าข้นไปก็เติมน้ำ ถ้าใสไปก็เติมดินสอพอง ถ้าเอานิ้วถูไม้พายที่แห้งแล้วแต่ยังมีดินสอพองติดนิ้ว แปลว่ากาวกระถินน้อยไป การทำกาวกระถินต้องเอาไปต้มเท่านั้น เคยลองเอาน้ำร้อนมาละลาย ปรากฏว่าเหม็นเปรี้ยวเลย เพราะมันไม่ถึงจุดเดือด แต่พอต้มแล้วก็แช่ตู้เย็นเก็บไว้ใช้ได้นานหลายเดือน”

ของขวัญจากผืนดิน

          ภาพวาดสีดินชิ้นแรกๆ ของสุพจน์ ใช้ดินที่หาได้ง่ายในจังหวัดเชียงใหม่ คือดินเหลืองหางดงซึ่งนิยมนำมาใช้ในการทำตุ๊กตาแต่งสวน ก้อนดินขนาดเพียงหนึ่งกำมือสามารถนำมาทำสีสำหรับวาดภาพขนาดใหญ่ถึง 2 เมตร ต่อมาเขาจึงเริ่มมองหาและเก็บสะสมดินสีใหม่ๆ จากแหล่งต่างๆ บางครั้งก็ได้รับความอนุเคราะห์จากผู้ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เช่น เจ้าของบริษัทดินสำหรับทำเซรามิกในจังหวัดลำปาง ซึ่งให้ดินจำนวนมากจากหลายแหล่งทั้งในไทยและต่างประเทศ ปัจจุบันภายในบ้านของเขามีดินเก็บสะสมไว้ไม่น้อยกว่า 40 แหล่ง

          การทำสีดินไม่มีอะไรซับซ้อน ทว่าต้องใช้เวลาในการตระเตรียมอยู่ไม่น้อย ดินบางก้อนมีขนาดใหญ่และแข็ง ต้องทุบด้วยค้อนปอนด์จนป่นกลายเป็นผง จากนั้นร่อนเศษทรายเศษหญ้าออก เติมน้ำและกาวกระถินลงไปเล็กน้อย ก็จะได้สีที่เหมาะสำหรับการวาดภาพ ในบ้านของเขายังเต็มไปด้วยถังบรรจุดินที่แช่น้ำ เมื่อนำดินมากรองด้วยตะแกรงหรือผ้าขาวบางแล้วก็สามารถนำมาใช้ได้เลย เหมาะสำหรับการลงสีที่เน้นการจุ่มสะบัดแปรง ส่วนภาพลายเส้นที่ต้องการความละเอียดสูง จะนำผงดินมาบดในโกร่งจนละเอียดเสียก่อน

          “เดี๋ยวนี้เวลาเดินทางไปไหนมาไหน จะเริ่มสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัวมากขึ้น สนุกกับการมองหาดิน บางทีตอนขับรถขาไป เราเห็นอยู่แล้ว ขากลับก็แวะเลย หลังรถจะมีเสียมน้อยกับถุงซิปล็อคเตรียมไว้ แม้แต่การเดินทางไปภาวนาที่อีสาน หรือไปถ้ำอชันตา ที่อินเดีย เราจะเก็บดินใส่ถุงกลับมาด้วย สักนิดก็ยังดี แต่ต้องวางตังค์ทิ้งไว้หน่อยนึงนะ บาทสองบาท ถือว่าเราขอซื้อ จะได้ไม่มีใครมาทวงคืน (หัวเราะ) ภาพวาดทุกชิ้นจะระบุแหล่งดินที่ไปเก็บมา เป็นการแสดงความกตัญญูต่อผืนดิน”

ออกจากกรอบของความสมบูรณ์

          ผลงานชุดล่าสุดของ สุพจน์ ดูแปลกตาไปจากงานชิ้นอื่นๆ ที่ผ่านมา มิใช่แค่เพียงการหยิบจับสีจากต้นครามเอามาใส่ไว้ในภาพด้วยเท่านั้น แต่เป็นการปรับเปลี่ยนวิธีคิดและกระบวนการทำงานไปอีกก้าวหนึ่ง

          “ทุกเช้าจะตื่นมาฟังรายการของ ‘นิ้วกลม’ มีอยู่ครั้งหนึ่งเขาพูดถึงปรัชญาวะบิ-ซะบิ กับอิคิไก พอฟังแล้วมันทำให้รู้สึกว่า ความไม่สมบูรณ์แบบโดยแท้จริงแล้วมันคือความสมบูรณ์พร้อมในช่วงเวลานั้น และเกิดการตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมเราต้องคาดหวังต่อตัวเอง เพื่อที่จะทำงานแล้วให้คนอื่นมองว่าสวย พอสลัดตรงนั้นออกไปได้ เราไม่ต้องวาดให้สวยก็ได้นี่หว่า ก็เกิดความยอมรับในสิ่งที่เป็น ใช้สมองน้อยลง แต่ใช้หัวใจมากขึ้น”

          “งานเซ็ทนี้ เกิดจากการวางชิ้นงานไว้ล้อมรอบแล้วสาด สะบัด ปาด หรือหยอดสีเล่น โดยอยู่กับปัจจุบันขณะ ไม่ต้องคิดวางแผนอะไรล่วงหน้า ไม่ต้องมองว่างานชิ้นนี้จะออกมาเป็นอะไร พอจบแล้วค่อยเอางานแต่ละชิ้นมาตั้งดู นั่งสนทนากับงานเลยว่าเรารู้สึกยังไง เห็นอะไร แล้วค่อยเติมแต่งจากช่วงเวลานั้น ช่วงไหนคิดไม่ออกก็ไม่ต้องบีบบังคับให้ต้องคิดออก ความเครียดในการทำงานก็หมดไป”

สงบเย็น เป็นสุข

          สีจากดินมิได้ให้ความรู้สึกร้อนแรงฉูดฉาดเหมือนกับสีอะคริลิค แต่ให้ความรู้สึกที่ใกล้ชิดและอบอุ่น ยิ่งสำหรับคนกรุงเทพฯ หรือคนเมืองด้วยแล้ว สีดินอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างสายใยเชื่อมโยงมนุษย์ให้เข้าใกล้ธรรมชาติ

          สำหรับสุพจน์ ในฐานะผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ดินได้มอบความสุขแก่เขาอย่างน่าอัศจรรย์ และทำให้เขามองเห็นคุณค่าของสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ได้ง่ายขึ้น 

          “มันกลายเป็นเรื่องสนุกและมีความสุข แทนที่จะไปวิ่งหาอะไรมากมายให้ตัวเอง ก็มองแต่ดิน มองแต่หิน เรามีความสุขแม้กระทั่งตอนเทน้ำลงไปในดิน โอ้โห กลิ่นมันหอมขึ้นมาเหมือนเวลาฝนตกใหม่ๆ หรือเวลาต้มกาวเม็ดมะขาม แต่ก่อนตอนไม่อินนี่ขี้เกียจต้มมากเลย แต่ตอนนี้พอห้องมันอบอวลไปด้วยกลิ่นดินสอพอง มันกลับมีความสุข เพราะเจอจุดยืนของตัวเองและสิ่งที่ทำแล้วเกิดความสุข”

          “ช่วงนี้ทำงานปั้นด้วย ทุกเช้า 2 ชั่วโมงจะปั้นพระ เป็นการภาวนาตัวเองให้อยู่กับปัจจุบัน ถ้าเป็นเมื่อก่อน มีเศษดินที่เหลือจากการปั้น จะกวาดทิ้ง แต่ตอนนี้เก็บหมดเลย เพราะเราเห็นแล้วว่าดินเพียงนิดเดียว ขนาดแค่ก้อนลูกแก้ว สามารถเอามาเขียนรูปได้หนึ่งชิ้น ก็จะเก็บเท่าที่เก็บได้ มีถุงนึงที่เป็นเศษดินจากการปั้นพระโดยเฉพาะ ตั้งใจว่าจะเอาดินตรงนี้ไปวาดรูปเกี่ยวกับพระต่อ เพื่อให้เป็นงานเซ็ทเดียวกัน เป็นดินจากงานปั้นสู่งานวาด”

ศิลปะเพื่อการพัฒนามิติด้านใน

          เมื่อถามถึงความคาดหวังในอนาคตที่มีต่อการทำงานศิลปะ สุพจน์กล่าวว่าเขาไม่ได้กะเกณฑ์อะไรไว้ตายตัว เพราะที่ผ่านมาได้เห็นร่องรอยการเดินทางทางความคิดของตัวเองที่ไม่หยุดนิ่ง ตั้งแต่การวาดภาพเหมือน เช่น บ้าน โบราณสถาน และโบราณวัตถุ การวาดภาพบุคคล และปัจจุบันสนใจวาดภาพเชิงนามธรรม แต่สองสิ่งที่จะไม่มีวันเลิกแน่นอน คือการใช้สีดินและการเป็นครู

          “บางทีเราไม่จำเป็นต้องเลือกที่จะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง เหตุผลที่ออกมาจากการเป็นครูประจำ เพราะอยากลับคมความรู้ ตอนเป็นครู โอกาสที่จะได้อยู่กับตัวเองแล้วทำนู่นทำนี่มันไม่ค่อยมี แต่ตอนนี้เราสามารถทำงานศิลปะไปด้วย แล้วก็เป็นวิทยากรถ่ายทอดสิ่งที่รู้และเข้าใจไปพร้อมกัน”

          “ต่อไปเนื้อหาที่จัดเวิร์กชอป คงไม่เน้นเรื่องเทคนิควิธีการ หรือการวาดให้เหมือน ให้สวย มันข้ามผ่านตรงนั้นไปแล้ว สีจากธรรมชาติมันให้ทั้งการรับรู้ทางสายตาและให้ทั้งกลิ่น เราจะใช้ศิลปะเป็นสื่อพาผู้เรียนเข้าไปสำรวจมิติภายใน หรือที่เรียกว่าศิลปะบำบัด เป็นการเรียนรู้ในการโอบกอดธรรมชาติแบบง่ายๆ ด้วยการเข้าไปสัมผัส แล้วถ่ายทอดออกมาโดยอยู่กับปัจจุบันขณะ ส่วนเรื่องสี เรื่องเทคนิค เป็นเพียงสื่อที่ประคองพาเราไป”

          เมื่อการสอนศิลปะกลายเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เริ่มต้นจากมิติภายใน ผู้เป็นครูจึงต้องเปลี่ยนบทบาทของตัวเอง จากที่เคยชี้แนะ หรือบอกว่าผู้เรียนควรทำอะไร กลายเป็นผู้ที่เปิดกว้างคอยรับฟัง ส่งเสียงสะท้อน (reflection) และตั้งคำถาม เพื่อให้ผู้เรียนได้ทบทวนความรู้สึก ความนึกคิด ความปรารถนา ที่แฝงเร้นอยู่ในงานศิลปะ

          ด้วยกระบวนการเช่นนี้ ศิลปะจึงไม่ใช่สิ่งที่ถูกนำมาเปรียบเทียบกันว่าของใครดีกว่า ของใครงามกว่า ทว่าเป็นสิ่งที่แสดงถึงความพิเศษของมนุษย์แต่ละคน

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก