เซอร์ เคน โรบินสัน : เขย่าระบบการศึกษา ด้วยคำถามสะเทือนวิธีคิด

434 views
4 mins
December 4, 2023

          การบรรยายในงาน TED 2006 หัวข้อ โรงเรียนทำลายความคิดสร้างสรรค์จริงหรือ? (Do Schools Kill Creativity?) โดย เซอร์ เคน โรบินสัน (Sir Ken Robinson) นักการศึกษา นักคิด นักเขียน และผู้นำความคิด มีจำนวนผู้ฟังมากที่สุดตลอดกาล คือกว่า 72 ล้านครั้งจาก 380 ล้านคนทั่วโลก

          เขาหวนคืนเวที TED อีกครั้งในปี 2010 ด้วยหัวข้อ มาปฏิวัติการศึกษากัน! (Bring on the Learning Revolution!) และปี 2013 วิธีหลบหนีจากหุบเขาแห่งความตายของการศึกษา (How to Escape Education’s Death Valley) โรบินสันยืนหยัดสื่อสารแนวความคิดว่า ระบบการศึกษาจำเป็นต้องมีการปฏิรูป หรือถ้าจะให้ถอดความตรงกับคำที่เขาใช้คือ ‘ปฏิวัติ’ เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบให้สอดรับกับศักยภาพของมนุษย์ที่แตกต่างหลากหลาย

          เขาเชื่อว่าระบบการศึกษาเกิดขึ้นในยุคที่มุ่งตอบสนองฐานการผลิตในอุตสาหกรรมซึ่งต้องการแรงงานมนุษย์เป็นจำนวนมาก แม้สังคมเปลี่ยนไปแต่ระบบการศึกษากลับไม่ได้ปรับเปลี่ยนตาม ความสงสัยใคร่รู้ และความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ จึงถูกบั่นทอนให้หายไปอย่างน่าเสียดาย

          จุดเริ่มต้นที่ทำให้โรบินสันเริ่มตั้งคำถามกับการเรียนการสอนในโรงเรียน เกิดขึ้นเมื่อเขาเข้าศึกษาในระดับซิกส์ฟอร์ม (เทียบเท่ามัธยมปลายในประเทศไทย) ซึ่งต้องเลือกเรียนวิชาเฉพาะทาง โรบินสันเลือกวิชาภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และละติน โดยไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วตนเองอยากทำอะไรกันแน่ จนเขาและเพื่อนๆ นึกขึ้นมาได้ว่า หากลองนำบทละครคลาสสิกที่ต้องอ่านในคลาสเรียนมาแสดงเป็นละครเวทีคงจะสนุกดีมิใช่น้อย

          “ทำไมหลักสูตรในโรงเรียนถึงต้องการแค่ให้เด็กๆ อ่านบทละคร แต่ไม่สอนการแสดงหรือกำกับเวทีด้วย แบบนี้ก็ไม่ต่างจากการสอนดนตรีด้วยวิธีอ่านตัวโน้ตจากกระดาษ ไม่มีโอกาสได้แตะต้องเครื่องดนตรีของจริง” เขาเล่าให้ฟังในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง

          “โรงเรียนควรช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนให้ครอบคลุมรอบด้านกว่าที่เป็นอยู่”

          ประสบการณ์ในฐานะผู้กำกับละครโรงเรียน ทำให้เขาตัดสินใจเลือกศึกษาต่อในสาขาภาษาอังกฤษและการละครจนถึงระดับปริญญาเอก จากคำถามแรกในวันนั้นสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาที่สามารถวิเคราะห์สภาพการณ์อย่างแหลมคมในช่วงเวลาต่อมา โรบินสันเชื่อว่ามรดกสังคมอุตสาหกรรมในระบบการศึกษาหล่อหลอมให้ผู้เรียนคิดเหมือนกัน เชื่อคล้ายกัน และให้คุณค่ากับความสำเร็จทางวิชาการมากกว่าจะเคารพในศักยภาพที่แตกต่างหลากหลายของมนุษย์ ดังนั้นจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิด ‘ลำดับชั้น’ ขึ้นในระบบการศึกษา คือการให้ความสำคัญกับบางสาขาวิชามากกว่า เช่น วิชาในสาย STEM

          การเรียนการสอนในสาขาศิลปะที่โรบินสันถนัด มักจะเป็นสาขาที่รั้งท้ายตารางอยู่เสมอ แต่เขากลับเห็นต่าง และเชื่อว่าเด็กที่อ่อนด้อยทางวิชาการ แต่มีความสามารถด้านดนตรี ศิลปะ หรือแม้แต่พลศึกษา ไม่ได้แปลว่าไม่เก่ง โรงเรียนไม่ควรจำกัดเส้นทาง ลิดรอนจินตนาการ และโอกาสในการแสดงความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชน เพราะนั่นจะทำให้คนที่มีความสามารถเลือนหายไปจากระบบอย่างน่าเสียดาย

          “ระบบการศึกษาที่ไม่เคารพความหลากหลาย ก็ไม่ต่างอะไรจากการผลิตอาหารแบบฟาสต์ฟู้ด หรือสินค้าในโรงงาน” โรบินสันกล่าวย้ำในงาน TED ปี 2010

          “หากต้องการเปลี่ยนแปลง เราต้องละทิ้งแนวคิด ‘ระบบอุตสาหกรรม’ แล้วหันมาเปิดรับแนวคิด ‘ระบบเกษตรกรรม’ แทน นั่นคือการรดน้ำ ใส่ปุ๋ย ปรับสภาพแวดล้อมให้กับพืชพันธุ์ แล้วปล่อยให้มันเติบโตด้วยตนเอง”

เซอร์ เคน โรบินสัน เขย่าระบบการศึกษา ด้วยคำถามสะเทือนวิธีคิด
เซอร์ เคน โรบินสัน
Photo: Sebastiaan ter BurgCC BY-SA 2.0, via Flickr

          เสียงปรบมือดังกึกก้องในงาน TED ทั้ง 3 ครั้ง บ่งบอกว่าโรบินสันสามารถทำให้เรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่าย เมื่อสอดแทรกด้วยอารมณ์ขันที่ลงตัวและตัวอย่างที่เข้าถึงได้ การบรรยายจึงสะดุดใจผู้ฟัง และดึงดูดวงการการศึกษาให้หันมาสนใจ ทบทวน และคิดใหม่ นักการศึกษาหลายประเทศออกมาพูดถึงทอล์กของเขา มีทั้งเห็นพ้อง เห็นต่าง ถกประเด็น บ้างก็เสนอแนะแนวทางแก้ไขเพื่อปฏิรูประบบการศึกษาให้ดีขึ้น

          โรบินสันไม่ได้เพิ่งเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงหลังจากประสบความสำเร็จในงาน TED เท่านั้น เขาใช้ทั้งชีวิตเพื่อขับเคลื่อนแนวคิดที่ว่าการเรียนรู้ศิลปะคือเครื่องมือที่จะนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ ผ่านการทำงานในหลายตำแหน่ง เช่น ผู้อำนวยการโครงการ ‘Arts in Schools’  บรรณาธิการร่วมนิตยสาร ‘Arts Express’ และผู้ก่อตั้งองค์กรศิลปะสำหรับเยาวชน ‘Artswork

          ในปี 1999 ‘All Our Futures: Creativity, Culture and Education’ รายงานที่นำทีมศึกษาโดยโรบินสัน เป็นเอกสารชิ้นสำคัญที่ถูกอ้างถึงในวงกว้าง และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ในระบบการศึกษาในเวลาต่อมา บทบาทของเขาในโครงการส่งเสริมศิลปะเพื่อสันติภาพระหว่างอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือ ก็นำมาสู่ Unlocking Creativity เอกสารที่เป็นต้นแบบนโยบายพรรคการเมือง และแผนธุรกิจของผู้ประกอบการหลายราย นอกจากนี้เขายังเป็น 1 ใน 4 ที่ปรึกษาต่างประเทศ ในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อผลักดันให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางด้านความคิดสร้างสรรค์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

          นอกจากงานประจำและงานที่ปรึกษาแล้ว งานเขียนของโรบินสันยังมุ่งถ่ายทอดแนวคิดที่จำเป็นต่อระบบการศึกษา  หนังสือของเขาหลายเล่มขึ้นหิ้งเป็นเบสต์เซลเลอร์ของนิวยอร์กไทมส์ เช่น ‘The Element: How Finding Your Passion Changes Everything’ ที่ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า 23 ภาษาทั่วโลก ส่วนหนังสือ ‘Creative Schools: The Grassroots Revolution that’s Transforming Education’ ที่นำเสนอแนวคิดและวิธีการปฏิรูปประบบการศึกษาด้วยความคิดสร้างสรรค์ ก็ได้รับความนิยมและถูกแปลไปกว่า 15 ภาษา เช่นเดียวกัน

เซอร์ เคน โรบินสัน เขย่าระบบการศึกษา ด้วยคำถามสะเทือนวิธีคิด
หนังสือ The Element: How Finding Your Passion Changes Everything
Photo: Penguin Books

เซอร์ เคน โรบินสัน เขย่าระบบการศึกษา ด้วยคำถามสะเทือนวิธีคิด
หนังสือ Creative Schools: The Grassroots Revolution that’s Transforming Education
Photo: Penguin Books

          แม้ว่าเซอร์ เคน โรบินสัน จะจากไปในปี 2020 แต่ผลงานของเขายังคงเป็นแรงบันดาลใจให้กับวงการการศึกษา ในแต่ละวันมีคนเข้ามาฟังคลิปบรรยายงาน TED 2006 โดยเฉลี่ยประมาณ 17,000 ครั้ง เคท โรบินสัน ลูกสาวของเขา หนึ่งในผู้ก่อตั้ง HundrED บริษัทที่ปรึกษาด้านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมการเรียนรู้ ยังคงสานต่อความฝันของพ่อและตัวเธอเอง และหวังว่าสักวันหนึ่งสิ่งที่พ่อของเธอได้ริเริ่มขึ้นจะเติบโตงอกงาม

          ‘Imagine if… Creating a Future for Us All’ คือหนังสือเล่มสุดท้ายของโรบินสัน ที่รวบรวมแนวคิด ปรัชญา และเจตจำนงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา แม้ว่าเขาจะเขียนหนังสือเล่มนี้ไม่จบ แต่เคทก็ดำเนินการเขียนต่อจนจบ เธอยังคงเชื่อเสมอว่าความพยายามของเซอร์ เคน โรบินสัน จะคงอยู่ในความทรงจำ และจุดประกายนักการศึกษาต่อไปไม่หยุดยั้ง

เซอร์ เคน โรบินสัน เขย่าระบบการศึกษา ด้วยคำถามสะเทือนวิธีคิด
หนังสือ Imagine if… Creating a Future for Us All
Photo: Penguin Books


ที่มา

บทความ “A beginner’s guide to the late Sir Ken Robinson” จาก edcentral.uk (Online)

บทความ “A Conversation with Ken Robinson’s Daughter about Their New Book on Transforming Education จาก betterhuman.pub (Online)

บทความ “REPLAY: An Interview with Sir Ken Robinson” จาก theartof education.edu (Online)

บทความ “Sir Ken Robinson” จาก sirkenrobinson.com (Online)  

บทความ “Sir Kenneth Robinson Student at Bretton Hall English and Drama” จาก Bretton-hall.com (Online)

บทความ “Sir Ken Robinson: a revolution in education” จาก suitable-education.uk (Online)


บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ Lifelong Learning Focus issue 03 (2566)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก