พื้นที่ 14,300 ตารางเมตรของห้องสมุดสถาบันศิลปกรรมเสฉวน (Sichuan Fine Arts Institute Library, Haxi Campus) นับว่าค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับขนาดของมหาวิทยาลัย แต่ก็รองรับผู้ใช้บริการได้ถึง 1,200 ที่นั่ง และมีหนังสือกว่า 1 ล้านเล่ม
อาคารออกแบบโดยยึดภูมิปัญญาของสถาปัตยกรรมท้องถิ่น รูปลักษณ์เรียบง่าย มีความยืดหยุ่นสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความจำเป็น บรรยากาศภายในเหมาะสำหรับอ่านและค้นคว้า มีความผ่อนคลายและอบอวลด้วยสุนทรียศิลป์
ลักษณะอาคารเป็นแนวยาว หนังสือถูกจัดเรียงไปตามแนวอาคารโดยมีบันไดเชื่อมขึ้นไปชั้นบน หลังคาทรงจั่วกรุด้วยกระจกช่วยให้แสงจากธรรมชาติส่องเข้ามายังภายในได้อย่างเต็มที่
สถาปนิกเลือกใช้วัสดุภายนอกที่ให้ความรู้สึก ‘หนักแน่น แข็ง และเคร่งขรึม’ แต่ใช้วัสดุภายในที่ให้อารมณ์ ‘อ่อนโยน ละเอียดอ่อน และสว่าง’ สะท้อนถึงสังคมที่มีรากทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็งภายใต้บรรยากาศการเรียนรู้ร่วมสมัยที่มีความยืดหยุ่น
อย่างไรก็ตาม สถาปัตยกรรมซึ่งมุ่งเน้นบรรยากาศที่เงียบสงบ ก็พบกับความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ห้องสมุดผ่อนคลายกฎระเบียบโดยอนุญาตให้นักศึกษาพูดคุยใช้เสียงหรือทำงานกันเป็นกลุ่มได้ และสามารถนำอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ได้ แต่ด้วยลักษณะพื้นที่ซึ่งเปิดโล่งและการจัดพื้นที่อ่านหนังสือขนานไปตามความยาวของอาคาร ผู้ที่ประสงค์จะอ่านหนังสือแบบเงียบๆ จึงอาจถูกรบกวนด้วยเสียงและความเคลื่อนไหวจากกิจกรรมโดยรอบ
ในสังคมตะวันตก ป้าย ‘โปรดเงียบ’ ให้ความรู้สึกคุกคามน่าขยาด ส่วนในสังคมจีนการปลูกฝังทัศนคติให้เคารพต่อการเรียนรู้และพื้นที่ส่วนตัวของผู้ที่กำลังศึกษาเรียนรู้นั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ห้องสมุดจึงเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ห้องสมุดแห่งนี้กำลังเผชิญ เพราะไม่เพียงแต่ ‘เสียงดัง’ (ใหม่ เสรี ก้าวหน้า) จะปะทะกับ ‘ความเงียบ’ (ดั้งเดิม อนุรักษ์ ล้าหลัง) เท่านั้น แต่ในความเงียบของผู้ใช้บริการบางรายอาจเป็นเพราะการจดจ่อจ่อมจมอยู่กับโซเชียลมีเดียมากกว่าการนั่งครุ่นคิดในสิ่งที่ลึกซึ้งก็เป็นได้
ห้องสมุดสถาบันศิลปกรรมเสฉวน พยายามอย่างยิ่งที่จะสร้างความสมดุลระหว่างพลังหยิน-หยาง โดยหาจุดที่ลงตัวของความสงบกับความมีชีวิตชีวา ซึ่งทั้งสองลักษณะต่างก็เป็นรูปแบบการแสวงหาความรู้ของโลกยุคปัจจุบัน
ที่มา
Hugh Anderson, China Projects and Trends (Chapter 3, p.44-46), Better Library and Learning Space, Facet Publishing, 2013.