ยุโรปมีดีอะไร – ประวัติศาสตร์ยุโรปฉบับสุดสั้น

4,510 views
6 mins
March 30, 2023

          หากได้ยินคำว่า ‘ประวัติศาสตร์ยุโรป’ คุณนึกถึงอะไร?

          บางคนอาจคิดถึงโสเครตีส โฮเมอร์และตำนานปกรณัมจากอารยธรรมกรีกโบราณ แต่บางคนอาจบอกว่าเป็นจิตรกรรมและประติมากรรมของเหล่าศิลปินยุคเรอเนซองส์อย่างลีโอนาโด ดาวินชี และมีเกลันเจโลต่างหากที่วาบเข้ามาในหัวทันที ขณะที่บางคนก็อาจเห็นภาพของสงคราม ไม่ว่าจะเป็นสงครามครูเสด สงครามร้อยปี หรือสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสอง 

          ประวัติศาสตร์ยุโรป แน่นอนว่าคำนี้เป็นคำใหญ่ มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหากคำนี้จะทำให้เรานึกถึงพื้นที่ ยุคสมัย หรือเหตุการณ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งก็ด้วยความใหญ่โตของมันนี่เองส่งผลให้ภารกิจในการบอกเล่าประวัติศาสตร์ยุโรปอย่างครบเครื่อง ครอบคลุม และกระชับ เป็นความท้าทายเสมอมา

          จอห์น เฮิร์สท์ นักประวัติศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยลาโทรบ เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ดูจะตระหนักถึงความไม่ง่ายในการถ่ายทอดเรื่องราวของประวัติศาสตร์ยุโรปเป็นอย่างดี เขาแสดงให้เห็นผ่าน หนังสือเล่มเล็กๆ อย่าง ‘ประวัติศาสตร์ยุโรปฉบับสุดสั้น’ เล่มนี้ว่า หากคุณจับกลุ่มประเด็นต่างๆ เข้าด้วยกัน แล้วค่อยๆ ร้อยเรียงมันไปตามลำดับเวลาอย่างใจเย็น ภารกิจในการบอกเล่าประวัติศาสตร์ยุโรปอย่างครบเครื่อง ครอบคลุม และกระชับ ก็อาจไม่ใช่อะไรที่ยากเย็นจนเกินไป

ประวัติศาสตร์ทีละประเด็น

          ในบทนำของหนังสือเล่มเล็กๆ นี้ เฮิร์สท์ได้อธิบายโครงสร้างงานเขียนของเขาไว้ว่า

          “เนื้อหาสองบทแรกให้ภาพร่างของประวัติศาสตร์ยุโรปทั้งหมด ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์แบบสั้นที่สุดอย่างแท้จริง อีกหกบทถัดมาจึงกล่าวถึงหัวข้อเฉพาะ มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้าใจอันลึกซึ้งขึ้นด้วยการย้อนกลับมาสำรวจเรื่องสั้นๆ อย่างละเอียดกว่าเดิม”

          ซึ่งหากคุณลองเปิดอ่านหน้าสารบัญ คุณจะพบว่า หนังสือเล่มนี้ได้จัดวางเนื้อหาเป็นสามช่วงด้วยกัน นั่นคือ ประวัติศาสตร์แบบสั้นสุด ประวัติศาสตร์แบบยาวขึ้น และพลังทำลายล้าง โดยแต่ละช่วงประกอบด้วยบทย่อยต่างๆ ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาที่แตกต่างออกไป 

          ถามว่า การเลือกจัดวางเนื้อหาของหนังสือลักษณะนี้ น่าสนใจอย่างไร ผมคิดว่าอย่างชัดเจนที่สุดคือมันสะท้อนให้เห็นว่า เฮิร์สท์เองไม่ได้ต้องการจะถ่ายทอดประวัติศาสตร์ยุโรปไปเรื่อยๆ จากจุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบันอย่างที่เราคุ้นเคยกัน ทว่าเขาเลือกจะจับเรื่องราวต่างๆ มาเขย่าเสียใหม่เพื่อรับใช้โครงสร้างของหนังสือเล่มนี้

          ยกตัวอย่างให้ชัดเจนขึ้นสักหน่อย เช่นใน ‘ประวัติศาสตร์แบบสั้นสุด’ ซึ่งเป็นช่วงแรกของหนังสือนั้น เฮิร์สท์เริ่มต้นด้วยเรื่องราวที่คุ้นเคย ด้วยอารยธรรมกรีก-โรมัน ต่อจุดมาเรื่อยๆ จนถึงช่วงกำเนิดคริสต์ศาสนา การล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน ยุคกลางที่ศาสนจักรเรืองอำนาจ กระทั่งยุคปฏิวัติวิทยาศาสตร์ ที่ค้นพบความจริงว่าโลกไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาลอย่างที่เข้าใจเพราะโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ต่างหาก ได้ย้อนกลับมาคัดง้างกับสถานะของศาสนจักรที่อยู่เหนือทุกสิ่ง เมื่อเรื่องราวดำเนินมาถึงตรงนี้ เฮิร์สท์ก็เลือกที่จะสิ้นสุดช่วง ‘ประวัติศาสตร์แบบสั้นสุด’ ลง ก่อนเปลี่ยนผ่านไปสู่ช่วงใหม่

          ภายใต้ความยาวเพียง 63 หน้าของช่วง ‘ประวัติศาสตร์แบบสั้นสุด’ เฮิร์สท์ได้ปูทางให้ผู้อ่านตระหนักถึงองค์ประกอบพื้นฐานที่ก่อร่างสร้างอารยธรรมยุโรป ได้แก่ วัฒนธรรมกรีก-โรมันโบราณ คริสต์ศาสนา และเหล่านักรบเยอรมันที่บุกเข้ามาโจมตีกรุงโรม ซึ่งเมื่อเชื่อมโยงเข้าด้วยกันจะแสดงให้เห็นว่า โครงสร้างของประวัติศาสตร์ยุโรปนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันล้วนเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบทั้งสามนี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

          เมื่อเฮิร์สท์ได้ปูพื้นฐานคร่าวๆ ให้ผู้อ่านเข้าใจจุดร่วมของประวัติศาสตร์ยุโรปจนแล้วเสร็จ ในช่วง ‘ประวัติศาสตร์แบบยาวขึ้น’ แทนที่เขาจะสานต่อเรื่องราวหลังจากการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ เฮิร์สท์กลับพาผู้อ่านย้อนสู่อดีตอีกครั้ง ผ่านการจัดแบ่งหมวดหมู่ของแต่ละบทเป็นประเด็นที่เฉพาะเจาะจงกันไป เช่น การรุกรานและการยึดครอง ที่เริ่มต้นตั้งแต่การรุกรานจักรวรรดิโรมันของกลุ่มชนเยอรมัน (Germanic Peoples) การขยายอิทธิพลเข้ามาในยุโรปของชาวมุสลิม และการบุกรุกเข้ามาทางน่านน้ำของไวกิ้ง หรือในบท รูปแบบการปกครอง เฮิร์สท์ก็พาย้อนไปทบทวนแนวคิดประชาธิปไตยในยุคกรีกโบราณ สาธารณรัฐโรมัน มาจนถึงระบบฟิวดัลในยุคกลาง จะเห็นได้ว่าแต่ละบทที่ดำเนินไป เฮิร์สท์จะกลับมายังจุดแรกเริ่มของประเด็นนั้นๆ เสมอ 

          แม้ว่าในแง่หนึ่ง การทวนเข็มนาฬิกากลับไปสู่อดีตอยู่เสมอ จะชวนให้รู้สึก ‘เดจาวู’ อยู่บ้าง ประหนึ่งว่า เราเคยอ่านผ่านเหตุการณ์บางอย่างของยุคสมัยนั้นๆ มาแล้ว แต่ผมกลับรู้สึกว่า นี่แหละคือจุดแข็งของหนังสือเล่มนี้ นั่นคือการที่เฮิร์สท์เลือกหยิบจับเหตุการณ์ต่างๆ ที่กระจัดกระจายมาเรียงร้อยต่อกัน ซึ่งช่วยให้ผู้อ่านมองเห็นถึงความต่อเนื่องและเชื่อมโยงกันของประเด็นต่างๆ ในประวัติศาสตร์ยุโรปได้ชัดเจนยิ่งขึ้นนั่นเอง

          สำหรับผม คำว่า ‘สุดสั้น’ ที่ปรากฏอยู่บนชื่อของหนังสือเล่มนี้จึงอาจไม่ได้หมายถึงความสั้นกระชับของจำนวนหน้ากระดาษเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงการที่เฮิร์สท์เลือกแบ่งประวัติศาสตร์ยุโรปเป็นประเด็นๆ โดยไล่เรียงเรื่องราวตั้งแต่จุดเริ่มใหม่ทุกครั้ง ความน่าสนใจคือการจัดวางเนื้อหาในลักษณะที่อนุญาตให้ผู้อ่าน ‘เลือก’ อ่านจากประเด็นที่สนใจได้ทันที ในแง่นี้มันจะช่วยให้การทำความเข้าใจแต่ละประเด็นของประวัติศาสตร์ยุโรป ‘สุดสั้น’ ได้นั่นเอง

ยุโรปมีดีอะไร - ประวัติศาสตร์ยุโรปฉบับสุดสั้น

ยุโรปมีดีอะไร?

          แน่นอนว่า ผมคงไม่สามารถสรุปเนื้อหาทั้งหมดของหนังสือเล่มนี้ผ่านพื้นที่อันจำกัดได้ ถึงอย่างนั้นก็ตาม คำถามหนึ่งของเฮิร์สท์ที่ฟังเผินๆ อาจดูพื้นๆ แต่ผมคิดว่าน่าสนใจ และนำไปสู่หัวใจของหนังสือเล่มนี้ได้เป็นอย่างดีคือ ยุโรปมีดีอะไร?

           “อารยธรรมจีนก้าวหน้ากว่าอารยธรรมยุโรปมาช้านาน ยุโรปปรับเทคนิคการพิมพ์ การทำกระดาษ การทำแผนที่ การผลิตดินปืน และการสร้างประตูระบายน้ำมาจากจีน ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม แต่เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมีเสถียรภาพเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในยุโรปและยังเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมตามมาอีกด้วย การปกครองด้วยรัฐบาลแบบตัวแทนและสิทธิของปัจเจกบุคคล ซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งสภาวะสมัยใหม่ ก็พัฒนาขึ้นครั้งแรกในยุโรปเช่นกัน ถ้าอย่างนั้น ยุโรปมีดีอะไร?”

          ผ่านการเปรียบเทียบเงื่อนไขต่างๆ ที่ทำให้จีนและยุโรปเป็นสองอารยธรรมที่เก่าแก่และแผ่ขยายอิทธิพลไปอย่างกว้างขวาง เฮิร์สท์ได้ชี้ให้เห็นว่า หนึ่งในข้อแตกต่างสำคัญระหว่างอารยธรรมทั้งสองคือ ในขณะที่จักรพรรดิจีนสามารถรวมศูนย์อำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด อำนาจของกษัตริย์ยุโรปกลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม นั่นคือไม่สามารถรวบอำนาจให้อยู่ในกำมือของตัวเองได้ 

          เฮิร์สท์ชี้ให้เห็นว่า นับตั้งแต่กลุ่มชนเยอรมันเข้าโจมตีจักรวรรดิโรมันจนแตกพ่าย ดินแดนต่างๆ ที่กระจัดกระจายก็ไม่อาจกลับมาอยู่ในการปกครองของกษัตริย์องค์ใดอย่างในอดีตอีกเลย หรืออย่างในยุคกลาง อำนาจกษัตริย์ในยุโรปก็มักจะถูกท้าทายจากกลุ่มขุนนางเจ้าที่ดินอยู่เรื่อยๆ ความอ่อนแอของกษัตริย์ยุโรปส่งผลให้เกิดหลักการ ‘กษัตริย์ไม่ได้เป็นเจ้าของทุกสรรพสิ่ง’ ซึ่งเฮิร์สท์มองว่าหลักการนี้เป็นรากฐานให้กับเสรีภาพและความเจริญรุ่งเรืองของยุโรปในเวลาต่อมา

          “ในยุโรป อำนาจมีลักษณะกระจัดกระจาย อีกทั้งวัฒนธรรมชั้นสูงก็มีองค์ประกอบหลากหลายและไม่ได้ผูกโยงแน่นหนากับการปกครองเชิงโลกวิสัย ชาวจีนนั้นมีความหลักแหลมยิ่ง แต่ความหลักแหลมของพวกเขาไม่มีวันอยู่นอกเหนือการควบคุม ประดิษฐกรรมต่างๆ จึงไม่เคยสามารถสั่นคลอนรากฐานได้เลย ขณะที่ลักษณะเปิดของสังคมยุโรปมีความเป็นมาที่สืบย้อนไปได้ไกล พลวัตด้านเศรษฐกิจและการหักล้างฟาดฟันทางภูมิปัญญาของยุโรปในยุคสมัยใหม่นั้น มีที่มาจากการไม่เคยมีศูนย์อำนาจเดี่ยวที่กุมอำนาจได้เบ็ดเสร็จและก่อรูปสังคมขึ้นโดยลำพังไม่ว่าจะทางดีหรือทางแย่ มรดกอันหลากหลายของยุโรปได้รับการสำรวจและขยายขอบเขตออกไปได้อย่างเต็มที่ ความศรัทธาในคณิตศาสตร์ของชาวกรีกถูกนำมาสานต่อจนเกิดดอกผลในช่วงปฏิวัติวิทยาศาสตร์ และสร้างพื้นฐานใหม่ให้แก่ประดิษฐกรรมด้านเทคโนโลยี”

          สำหรับเฮิร์สท์ เหตุผลสำคัญที่ทำให้ยุโรปกลายเป็นต้นกำเนิดของอะไรหลายๆ อย่างคือ ภูมิภาคแห่งนี้ไม่ได้ถูกล่ามโซ่อยู่ภายใต้การควบคุมของอำนาจหนึ่งใด การล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน กษัตริย์ที่อ่อนแอจนไม่สามารถจะรวมแผ่นดินให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ และการเสื่อมอำนาจลงของศาสนาจักร เหล่านี้แม้ว่าในทางหนึ่งอาจฟังดูราวกับว่ายุโรปช่างไร้ประสิทธิภาพเสียเหลือเกิน ทว่ามันก็เป็นความไร้ประสิทธิภาพนี่เองที่ได้อนุญาตให้ยุโรปสามารถคิดค้นและผลิตสร้างประดิษฐกรรม ศิลปกรรม และเทคโนโลยีต่างๆ ได้โดดเด่นและรวดเร็วกว่าอารยธรรมใดๆ

           “ในปี 1480 จักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิงของจีนได้มีบัญชาสั่งห้ามดำเนินการสำรวจและทำการค้าโพ้นทะเล พ่อค้าที่ไม่ยอมหยุดค้าขายถูกประกาศให้เป็นผู้ลักลอบขนของเถื่อนและจักรพรรดิจะส่งกองทัพไปทำลายบ้านเรือนและเผาเรือของพวกเขา ขณะที่ไม่มีกษัตริย์ยุโรปคนใดเคยอ้างอำนาจหรือใช้อำนาจในลักษณะนี้ และคงไม่มีกษัตริย์คนไหนอาจหาญประกาศบทบัญญัติที่เป็นการบ่อนทำลายอำนาจตนเองเช่นนี้ ในยุโรปนั้น กษัตริย์บริหารปกครองท่ามกลางเครือข่ายของรัฐที่เป็นคู่แข่งกัน แต่จักรพรรดิจีนมีข้อได้เปรียบ (หรืออาจเป็นกับดักก็ได้) ตรงที่ไม่มีคู่แข่งซึ่งมีอำนาจเทียบเท่าตนเอง การแข่งขันระหว่างรัฐต่างๆ ในยุโรปผลักดันให้รัฐเหล่านี้หาทางขยายอำนาจออกไปโพ้นทะเล”

          พูดอีกอย่างได้ว่า แม้ยุโรปจะเผชิญความฉิบหายไม่ต่างอะไรกับอารยธรรมอื่นๆ ทว่าอย่างน้อยความฉิบหายที่ยุโรปเผชิญก็ไม่ได้ส่งผลกระทบทั่วถึงทั้งภูมิภาคจนทำให้หยุดชะงัก อย่างเช่นจีนที่คำสั่งของจักรพรรดิสามารถระงับทั้งแผ่นดินได้ทันที ขณะเดียวกัน การที่รัฐต่างๆ กระเสือกกระสนอยู่ร่วมกันในภูมิภาคนี้ก็ช่วยกระตุ้นให้การแข่งขันในสมรภูมิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสงคราม การค้า และอำนาจยิ่งจะขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้นกว่าอารยธรรมที่รวมศูนย์รัฐเดี่ยวเป็นไหนๆ กล่าวโดยสรุปได้ว่า เป็นคุณลักษณะของรัฐที่แตกกระจาย และไม่อาจรวมกันเป็นหนึ่งได้ ที่เป็นแรงผลักดันให้ยุโรปพัฒนาไปข้างหน้าอยู่เรื่อยๆ จนรู้ตัวอีกที ภูมิภาคแห่งนี้ก็กลายเป็นมหาอำนาจในการส่งออกความคิด ความเชื่อ ประดิษฐกรรม และวัฒนธรรมให้กับภูมิภาคอื่นๆ ในระดับที่ไม่มีอารยธรรมใดจะทัดเทียมได้อีกแล้ว

ประวัติศาสตร์ที่แตกกระจาย

          ช่วงหนึ่งของบทนำในหนังสือเล่มนี้ เฮิร์สท์เขียนไว้ว่า

          “เนื้อเรื่องทั้งหมดมีโครงเรื่องแบ่งเป็นตอนเริ่มต้น ตอนกลาง และตอนจบ อารยธรรมไม่ได้ดำเนินไปตามโครงเรื่องลักษณะนี้ แต่เรื่องราวจะตรึงใจกว่าหากเราคิดว่าอารยธรรมจะต้องมีจุดรุ่งเรืองและตกต่ำ แม้ว่าอย่างไรเสียมันย่อมพบจุดจบก็ตามที จุดประสงค์ของผมในที่นี้คือการเน้นให้เห็นองค์ประกอบที่เป็นหัวใจสำคัญของอารยธรรมตะวันตกและดูว่าองค์ประกอบเหล่านี้เปลี่ยนรูปโฉมไปเช่นไรบ้างในช่วงเวลาต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าสิ่งใหม่เกิดขึ้นจากสิ่งเก่าอย่างไร และสิ่งเก่ายังคงดำรงอยู่และหวนคืนมาอย่างไรบ้าง”

          ประวัติศาสตร์ยุโรปฉบับสุดสั้น คือเรื่องเล่าผ่านกาลเวลา ซึ่งกาลเวลาที่ว่านี้บ้างก็จ้ำพรวดๆ ไปข้างหน้า บ้างก็หยุดนิ่ง และบ้างก็ก้าวถอยหลัง อย่างสำคัญที่สุด ผมคิดว่า เฮิร์สท์ประสบความสำเร็จในการแสดงให้เห็นว่า ภูมิภาคยุโรปนั้น ไม่ว่าจะย้อนกลับไปในอดีตกาลอันยาวไกล หรือคืบคลานเข้ามาในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย หากลองพิจารณาดีๆ เราอาจพบจุดร่วมบางอย่างที่เชื่อมโยงเหตุการณ์ซึ่งอาจอยู่คนละยุคสมัย แต่มีอะไรบางอย่างละม้ายคล้ายหรือพอที่จะสืบสาวถึงกัน 

          ผ่านความลุ่มๆ ดอนๆ ความแตกสลายของจักรวรรดิ การก่อร่างสร้างขึ้นใหม่ และการรบพุ่งนับพันๆ ครั้ง ผ่านศาสนาคริสต์ที่ถือกำเนิดขึ้นมา เพียงเพื่อจะต้องเผชิญหน้ากับการตั้งคำถามที่นำพามนุษยชาติไปสู่วิชาความรู้ใหม่ๆ แล้วก็ผ่านการไล่ล่าอาณานิคม มหาสงคราม และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประวัติศาสตร์ยุโรปช่างเต็มไปด้วยเหตุการณ์ที่อลหม่าน บ้าคลั่ง และแตกกระจาย อย่างไรก็ตาม มันกลับเป็นความแตกกระจายเดียวกันนี้เองที่ได้กลายเป็นคุณลักษณะอันโดดเด่นซึ่งส่งให้ยุโรปเป็นยุโรปอย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้

          ผมคงไม่อาจบอกได้ว่า หนังสือประวัติศาสตร์ยุโรปฉบับสุดสั้นเล่มนี้เหมาะกับใคร ทว่า ต่อให้คุณพอจะคุ้นเคยหรือได้อ่านเรื่องราวของยุโรปมาบ้าง เชื่อเถอะว่า หนังสือเล่มนี้จะหยิบยื่นแว่นตาใหม่ๆ ในการพินิจประวัติศาสตร์ยุโรปให้กับคุณเป็นแน่ อย่างที่ผมเองก็เสมือนได้ตัดแว่นใหม่หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบ

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก