เซี่ยงไฮ้ มหานครการค้าและอุตสาหกรรมที่เจริญรุ่งเรือง เป็นศูนย์รวมความทันสมัยของจีนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เมื่อปี 2010 เมืองนี้ได้เข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการที่ส่งเสริมการเรียนรู้ใหม่ๆ ทางศิลปวัฒนธรรมมากมาย การขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของเมืองและยังช่วยให้ศิลปินรุ่นใหม่มีเวทีสำหรับแสดงฝีมือทางศิลปะ
หนึ่งในโครงการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ที่เกิดขึ้นคือ พิพิธภัณฑ์แก้วแห่งเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Museum of Glass) ซึ่งเปิดให้บริการในปี 2011 โรงงานแก้วโบราณที่ไม่ได้ใช้งานแล้วได้รับการบูรณะให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับการสร้างสรรค์งานศิลปะ และบันทึกประวัติศาสตร์ของแก้วที่มีมายาวนาน เว็บไซต์ CNN ได้จัดอันดับให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นหนึ่งในสามพิพิธภัณฑ์ห้ามพลาดในประเทศจีน
พิพิธภัณฑ์แก้วเน้นการเล่าเรื่องราววัสดุที่แสนธรรมดาด้วยจินตนาการที่แตกต่างออกไปและไร้ข้อจำกัด เช่น นิทรรศการ เรื่อง ‘Fusion’ ที่อยู่บริเวณเตาหลอมแก้ว มีการผสมผสานเทคโนโลยีแบบอินเทอร์แอคทีฟ โดยติดตั้งอุปกรณ์จับความเคลื่อนไหวของผู้เข้าชมแล้วแปลผลเป็นศิลปะบนหน้าจอ ภาพเหล่านี้สื่อถึงการผสมผสานของสสาร อากาศ ไฟ ความร้อน แสง เสมือนการหลอมและขึ้นรูปของเครื่องแก้ว
พิพิธภัณฑ์โดยทั่วไปมักมีลักษณะ ‘ดูแต่ตา มืออย่าต้อง’ แต่ในโซนพิพิธภัณฑ์แก้วสำหรับเด็ก (Kids Museum of Glass 2.0) ไม่ได้เป็นเช่นนั้น บริษัท Coordination Asia ได้ออกแบบพื้นที่และนิทรรศการโดยคำนึงถึงพฤติกรรมของเด็ก ซึ่งเป็นวัยที่ตื่นเต้นกับการสัมผัสสิ่งต่างๆ รอบตัว ผู้ปกครองหมดห่วงเรื่องความปลอดภัยไปได้เพราะวัสดุทำจากกระจกนิรภัยที่ทนทาน สามารถรองรับการเล่นและความโลดโผนของวัยซน
เมื่อเข้ามาที่โซนนี้ เด็กๆ จะได้รับแผนที่ล่าขุมทรัพย์ในธีม A-Z ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการมีส่วนร่วมในนิทรรศการทั้ง 26 หัวข้อ เช่น ประเภทและคุณสมบัติพื้นฐานของแก้ว ตะลุยเขาวงกต และการใช้แก้วเป็นวัสดุก่อสร้าง ซึ่งพวกเขาสามารถดู สัมผัส และเรียนรู้ทุกอย่างด้วยความใกล้ชิดและสนุกสนาน
ที่ห้องเด็กเล่นมีพื้นที่กว้างขวางจุเด็กได้ 100 คน เหมาะสำหรับการเล่นบาสเกตบอล ฟุตบอล และระบายสีบนกระจกอย่างอิสระ ส่วนโซน DIY มีเตาเผาและเครื่องมือขนาดย่อส่วน เปิดโอกาสให้เด็กๆ มีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบและผลิตแก้วแบบต่างๆ ด้วยตนเอง นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์ยังมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น แคมป์เรียนรู้ยามค่ำในพิพิธภัณฑ์
“บางครั้งเราอาจดูถูกดูแคลนว่าเด็กจะมีศักยภาพในการชื่นชมศิลปะและวัฒนธรรมได้มากน้อยเพียงใด… และมักคิดว่าศิลปะร่วมสมัยมีไว้สำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น แต่เราต้องการแสดงให้เห็นว่าพิพิธภัณฑ์สำหรับเด็กเป็นเรื่องที่เจ๋ง มีสุนทรียะ และเป็นมิตรกับเด็ก ได้ในเวลาเดียวกัน” ทิลมัน ทูเมอร์ (Tilman Thürmer) ภัณฑารักษ์และผู้อำนวยการการออกแบบของพิพิธภัณฑ์แก้วแห่งเซี่ยงไฮ้ กล่าว
ที่นี่เป็นตัวอย่างของการนำภูมิทัศน์และเรื่องราวเก่าที่หลงเหลืออยู่ มาเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ภายใต้แนวคิดพิพิธภัณฑ์มีชีวิต โดยนำเสนอเรื่องราวของแก้วจากมุมมองต่างๆ ทั้งมิติทางกายภาพและจิตวิญญาณ ในวันนี้ พิพิธภัณฑ์แก้วแห่งเซี่ยงไฮ้ได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางวัฒนธรรมที่มีความสำคัญระดับโลก และยังช่วยกำหนดมาตรฐานใหม่ให้กับพิพิธภัณฑ์ในประเทศจีน ซึ่งนับวันจะมีคุณภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ

ที่มา
บทความ “An enchanting journey at Shanghai Museum of Glass – ADF Web Magazine” จาก adfwebmagazine.jp (Online)
บทความ “The Interactive Design Behind China’s First Thematic Children’s Museum” จาก jingculturecrypto.com (Online)
บทความ “儿童玻璃博物馆 KMOG – 上海玻璃博物馆 Shanghai Museum of Glass” จาก shmog.org (Online)
เว็บไซต์ 上海玻璃博物馆 Shanghai Museum of Glass (Online)
เฟซบุ๊ก Shanghai Museum of Glass Park (Online)