จากสภาวะปัจจุบันที่เทคโนโลยีและโลกดิจิทัลพัฒนาอย่างก้าวกระโดด การนิ่งเฉยหรือไม่มีแผนรองรับที่ดีพอ อาจทำให้บางประเทศตกขบวนรถไฟความเร็วสูงที่กำลังมุ่งหน้าสู่ความท้าทายใหม่ๆ
สิงคโปร์ คือหนึ่งในประเทศที่วางแผนรับมือความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไว้แต่เนิ่นๆ โดยมีนโยบายผลักดันประเทศสู่การเป็น ‘Smart Nation’ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและการส่งเสริมเทคโนโลยีอย่างรอบด้าน กระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชากร
ในปี 2016 รัฐบาลสิงคโปร์ได้เปิดตัว Infocomm Media Development Authority (IMDA) องค์กรที่รับผิดชอบด้านการพัฒนาและกำกับดูแลสื่อสารสนเทศต่างๆ ภายในประเทศสิงคโปร์ เป้าหมายคือการส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการค้า เพิ่มโอกาสและผลักดันธุรกิจท้องถิ่น สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การพัฒนาระบบเซ็นเซอร์หุ่นยนต์ ไปจนถึงระบบประมวลผลอัตโนมัติหรือสมองกล (Artificial Intelligence: AI) ทั้งหมดนี้เพื่อเตรียมความพร้อมและนำพาสิงคโปร์สู่การเป็นสังคมดิจิทัล ตามยุทธศาสตร์ Smart Nation ของประเทศ
ขับเคลื่อนสังคมดิจิทัล ด้วยพลเมืองดิจิทัล
การดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์นำพาสิงคโปร์สู่สังคมดิจิทัล ให้ความสำคัญกับการพัฒนาในทุกระดับของสังคม ตั้งแต่ภาครัฐ ภาคเอกชน จนถึงประชการทุกเพศทุกวัย รัฐบาลมีโครงการ SkillsFuture Study Award มอบทุนมูลค่า 5,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ แก่คนวัยทำงานที่ต้องการเพิ่มพูนทักษะงานในสายอาชีพที่ทำอยู่ให้เชี่ยวชาญยิ่งขึ้น รวมถึงโครงการ SkillFuture Singapore (SSG) ที่มอบ SkillFuture Credit เป็นจำนวนเงิน 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อปี (ราว 12,500 บาท) สามารถสะสมไว้ใช้ได้ 5 ปี แก่ประชากรทุกคนที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป เพื่อนำไปใช้เรียนในหลักสูตรพัฒนาความรู้และทักษะต่างๆ ที่รัฐสนับสนุน รวมถึงมีทุนการศึกษาแก่นักเรียนนักศึกษาในระดับต่างๆ
ในส่วนของภาคธุรกิจและองค์กรต่างๆ รัฐบาลมีทุนสนับสนุนองค์กรเพื่อการฝึกอบรมทักษะใหม่ๆ แก่พนักงาน มีโครงการและนโยบายต่างๆ ที่ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรม นำเทคโนโลยีมาเป็นส่วนหนึ่งในเครื่องมือพัฒนาธุรกิจ เช่น สนับสนุนการใช้งาน 5G สนับสนุนเงินทุนในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในองค์กร มีการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมนวัตกรรม ลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการดำเนินงานนิทรรศการ ถ่ายทำภาพยนตร์ เป็นต้น
นอกจากนี้ รัฐบาลยังสนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการซื้อขายสินค้า เช่น ช่วยให้ผู้ค้าหาบเร่ได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยี ด้วยการเปิดตัว ‘Singapore Together Alliance for Action’ ระบบการสั่งซื้อออนไลน์สำหรับร้านค้าหาบเร่ มีแคมเปญร่วมสนุกชิงเงินรางวัล เพื่อจูงใจให้มีการการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
‘Seniors Go Digital’ สูงวัยอย่างรอบรู้
สิงคโปร์ถือเป็นประเทศที่มีความตื่นตัวกับสังคมสูงวัย เนื่องจากมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะที่อัตราการเกิดลดลง คาดการณ์ว่าภายในปี 2030 ประชากร 1 ใน 5 จะมีอายุมากกว่า 65 ปี ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงต้องมีมาตรการและนโยบายที่ออกมาเพื่อรองรับสังคมสูงวัยโดยเฉพาะ
‘Seniors Go Digital’ คือโครงการภายใต้ IMDA ที่ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุในการเรียนรู้ดิจิทัล แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่
ระดับที่ 1 : พัฒนาทักษะการสื่อสาร เรียนรู้การใช้เครื่องมือสื่อสารพื้นฐาน การส่งข้อความ ส่งไฟล์ การโทรศัพท์และวิดีโอคอล
ระดับที่ 2 : เรียนรู้การเข้าถึงและใช้งานบริการดิจิทัลของรัฐบาล
ระดับที่ 3 : เรียนรู้การใช้เครื่องมือ e-Payment แอปพลิเคชันธนาคารและการทำธุรกรรมออนไลน์ รวมถึงการให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์
ผู้สูงอายุที่สนใจสามารถเข้าถึงโปรแกรมนี้ได้หลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นที่ SG Digital community Hub ศูนย์ให้ข้อมูลและความช่วยเหลือด้านดิจิทัล ซึ่งกระจายอยู่ตามศูนย์บริการชุมชนและห้องสมุดประชาชนใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการ โดยแต่ละแห่งจะมีเจ้าที่หน้าที่ ‘Digital Ambassador’ คอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด มีคอร์สเรียนหลากหลายทั้งแบบตัวต่อตัวและเป็นกลุ่ม ผู้เรียนสามารถเรียนได้แบบ on-site และ online มีรายวิชาต่างๆ ให้เลือกเรียนมากมาย เช่น เรียนรู้เทคโนโลยีที่ช่วยในการเดินทาง การชำระค่าบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ การซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต ฯลฯ
นอกจากนี้ รัฐบาลยังส่งเสริมการเข้าถึงสารสนเทศและบริการของห้องสมุดประชาชน ผ่านโครงการที่ชื่อว่า ‘Library Learning Journey’ ซึ่งจัดขึ้นในห้องสมุดประชาชน 25 แห่ง โดยในแต่ละเดือนจะมีคอร์สต่างๆ ให้เลือกเรียน เช่น วิธีเข้าถึงหนังสือพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์, การใช้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตไร้สาย Wireless@SGx, การใช้รหัสคิวอาร์โค้ด และการใช้แอปพลิเคชัน NLB ของสำนักหอสมุดแห่งชาติ
ซิม แอน (Sim Ann) รัฐมนตรีด้านการสื่อสารและสารสนเทศ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า บทบาทของห้องสมุดนั้นมีวิวัฒนาการไปพร้อมๆ กับระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น ปัจจุบันห้องสมุดถูกมองว่าเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่ผู้คนสามารถมาเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ได้ “ฉันคิดว่าผู้สูงอายุหลายคน ตระหนักดีว่าระบบดิจิทัลจะต้องอยู่ต่อไป อย่างไรก็ตาม ฉันคิดว่าบางครั้งพวกเขายังต้องการกำลังใจและความช่วยเหลืออีกเล็กน้อย เพื่อให้มีความมั่นใจที่จะฝึกฝนทักษะใหม่ๆ ดังนั้นการมีสถานที่ที่พวกเขาสามารถกลับไปทบทวนทักษะดิจิทัลต่างๆ จึงสำคัญมาก”
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ห้องสมุดประชาชนในสิงคโปร์จำเป็นต้องปิดให้บริการชั่วคราว คงเหลือไว้เพียงบริการออนไลน์และแอปพลิเคชั่นบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ ด้วยเหตุนี้ สำนักหอสมุดแห่งชาติ (NLB) จึงได้เปิดตัวแอปพลิเคชั่น NLB Moblie เวอร์ชั่นใหม่ ที่มีการปรับปรุงให้ครอบคลุมบริการต่างๆ ของห้องสมุดมากขึ้น
เชอริล เตียง (Cheryl Tiong) วัย 59 ปี หนึ่งในผู้เข้าร่วมคอร์สที่สอนวิธีใช้แอปพลิเคชัน NLB เพื่อเข้าถึงอีบุ๊ค กล่าวว่า ในช่วงแรกๆ เธอรู้สึกกลัวเล็กน้อยกับการใช้อินเทอร์เน็ต รวมถึงแอปพลิเคชันต่างๆ ที่เธอไม่คุ้นเคย แต่ความกังวลเหล่านั้นลดน้อยลงเมื่อเธอสามารถใช้ทักษะดิจิทัลบางอย่างได้ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 “ฉันคิดว่าบริการอีบุ๊คนั้นสะดวกมาก เพราะฉันยุ่งและไม่มีเวลาไปยืมหนังสือด้วยตัวเอง นอกจากนี้ฉันยังอยากรู้ด้วยว่าห้องสมุดมีหนังสือหรือบริการอะไรใหม่ๆ ที่ฉันยังไม่รู้อีกหรือไม่”
นอกจากโปรแกรมการเรียนรู้ในเรื่องพื้นฐาน ซึ่งสามารถลงเรียนได้ฟรี โครงการดังกล่าวยังมีคอร์สที่มุ่งส่งเสริมดิจิทัลอื่นๆ สำหรับผู้สูงอายุที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น การถ่ายภาพดิจิทัลให้สวยงามด้วยโทรศัพท์สมาร์ทโฟน การสร้างภาพยนตร์ด้วยตนเอง การออกแบบริงโทนจากเพลงโปรด การเขียนโค้ดแบบง่ายๆ การเขียนอีบุ๊คเพื่อเผยแพร่บนโลกออนไลน์ ฯลฯ คอร์สประเภทนี้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ก็สามารถนำ SkillFuture Credit ที่สะสมไว้มาใช้ได้เช่นกัน
ไม่เพียงเท่านั้น ผู้สูงอายุที่สนใจศึกษาต่อเพื่อเพิ่มทักษะในระดับที่สูงขึ้น และเมื่อเรียนจบจะได้ใบรับรอง สามารถเลือกเรียนในหลักสูตรของ PA Senior Academy หลักสูตรที่เป็นมิตรต่อผู้สูงวัยและราคาไม่แพง ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นสังคมดิจิทัลอย่างเต็มตัว โดยมีหลักสูตรที่น่าสนใจ เช่น การบังคับโดรน การสร้างภาพนำเสนอด้วยโฮโลแกรม 3 มิติ เป็นต้น
‘Digital for Life’ เมื่อดิจิทัลกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
ในโลกยุคใหม่ แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะใช้ชีวิตโดยไม่ของเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล ด้วยเหตุนี้เมื่อต้นปี 2021 สิงค์โปร์จึงเปิดตัวโครงการและกองทุน ‘Digital for Life’ เพื่อขับเคลื่อนสิงคโปร์ให้เป็นสังคมดิจิทัลอย่างแท้จริง
จุดประสงค์ของโครงการนี้ คือสนับสนุนและส่งเสริมการใช้เครื่องมือและบริการทางดิจิทัล ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันสำหรับทุกคน โดยมุ่งเน้นที่ 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1) Digital Technology and Inclusion คือการสร้างความยืดหยุ่นทางดิจิทัล และกระตุ้นความตระหนักรู้แก่ภาคส่วนต่างๆ ว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ สามารถเพิ่มคุณค่าให้กับชีวิตประจำวันได้อย่างไร และ 2) Digital Literacy and Wellness คือการส่งเสริมพฤติกรรมการใช้สื่อดิจิทัลที่ดี รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ และการรู้เท่าทันสื่อ
โครงการนี้เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรต่างๆ ผลิดอกออกผลเป็นหลายโครงการย่อย เช่น องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Engineering Good ร่วมมือกับ 3Pumpkins และ Project DIP เปิดสอนทักษะคอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐานแก่นักเรียน ฝึกทักษะการซ่อมแล็ปท็อปและการแก้ปัญหาในการใช้เครื่องมือไอทีแก่เยาวชน เพื่อให้พวกเขาสามารถทำหน้าที่เป็น ‘ทูตไอที’ สำหรับชุมชนของตนได้
อีกโครงการที่น่าสนใจ คือความร่วมมือระหว่างยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีอย่าง Google กับ Media Literacy Council เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย ผ่านเกมฟรีที่ชื่อว่า ‘Interland’ ซึ่งมีแผนจะดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ให้นักศึกษาอาสาสมัครนำ Interland ไปแนะนำกับเด็กและเยาวชน ทั้งยังร่วมบริจาคเงิน 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ในโครงการสอนการเขียนโค้ดคอมพิวเตอร์แก่เด็กด้อยโอกาสด้วย
สำหรับแหล่งเงินทุนในการพัฒนาและขับเคลื่อนโครงการต่างๆ รัฐบาลเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ รวมถึงประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมผ่านการบริจาคสมทบทุน ด้วยเงินทุนเริ่มต้น 2.5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ จาก President’s Challenge กองทุนที่จัดตั้งขึ้นโดย IMDA ร่วมกับเงินทุนจากภาคเอกชนอย่าง Standard Chartered Bank และ Keppel Corporation ซึ่งบริจาคเงินสมทบจำนวน 1.3 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ นอกจากนี้ยังมีเงินรัฐบาลสมทบอีก 3.8 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ทำให้จำนวนเงินทั้งหมดเป็น 7.6 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยกองทุนตั้งเป้าระดมทุนไว้ที่ 10 ล้านดอลลาร์ ในอีกสามปีข้างหน้า
ก้าวไปข้างหน้าอย่างเท่าเทียม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
จากการวัดผลดัชนี World Digital Competitiveness โดยสถาบัน International Institute for Management Development (IMD) ในปี 2020 สิงคโปร์ได้อันดับที่ 2 จาก 63 ประเทศ ขณะที่ทักษะดิจิทัลของประชากรวัยทำงาน จากดัชนี Global Competitiveness Index โดย World Economic Forum สิงคโปร์อยู่ในลำดับที่ 5 จากทั้งหมด 141 ประเทศ
เป้าหมายระยะยาวของสิงคโปร์ในการผลักดันโครงการต่างๆ ที่ว่ามา คือการมุ่งสู่สังคมที่เทคโนโลยีถูกใช้เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังเพื่อประชาชนทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีข้อจำกัด ทั้งผู้สูงอายุ ผู้มีรายได้น้อย และผู้พิการ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ผ่านหลายโครงการ เช่น โครงการ Digital Access สนับสนุนให้ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย นักเรียน และคนพิการ มีเครื่องมือดิจิทัลที่จำเป็น, โครงการ Home Access และ NEU PC Plus ช่วยจัดหาอุปกรณ์ไอทีและติดตั้งบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตให้ครอบครัวที่มีรายได้น้อย, โครงการ Mobile Access for Seniors ให้เงินอุดหนุนในการซื้อสมาร์ทโฟน พร้อมแพคเกจการใช้งานเครือข่ายแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นพลเมืองสิงคโปร์อายุ 60 ปีขึ้นไป และต้องเข้าร่วมโปรแกรมเสริมทักษะดิจิทัลในโครงการ อย่างน้อย 1 ทักษะ
ทั้งหมดนี้คือความพยายามของสิงคโปร์ ในการผลักดันประเทศสู่การเป็น Smart Nation อย่างเต็มรูปแบบ จะเห็นได้ว่าแต่ละโครงการนั้นผ่านการคิดและวางแผนมาอย่างดี มีการประสานความร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสร้างพันธมิตรและเครือข่ายเพื่อต่อยอดในระยะยาว สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ เอส. อิสวารัน (S. Iswaran) รัฐมนตรีกระทรวงการสื่อสารและข้อมูลของสิงคโปร์ ที่กล่าวไว้ว่า “เราต้องการให้สมาชิกทุกคนในเศรษฐกิจและสังคมของเรา มีความสามารถและพร้อมที่จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางดิจิทัล โดยไม่คำนึงถึงจุดเริ่มต้นของพวกเขา เพื่อช่วยให้ชาวสิงคโปร์ทุกคนมีเครื่องมือ ทักษะ และความสามารถใช้ดิจิทัลที่จำเป็นในการประสบความสำเร็จในอนาคต”
ที่มา
IMDA. Digital for Life. [Online]
People’s Association. PA Senior Academy Launches Advanced Certificate in Senior Wellness Programme. [Online]
SG: Digital Office. [Online]
SG: Digital. Mobile Plans for Seniors. [Online]
Smart Cities World. Singapore’s president launches national Digital for Life movement. [Online]
The Straitstimes. Digital for Life funding hits $7.6m for community projects to plug digital gap, impart tech skills. [Online]