‘สีดิน’ พื้นที่ทางศิลปะ กับการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ให้เมืองนครศรีธรรมราช

178 views
7 mins
September 6, 2024

          บรรยากาศรถติดบนถนนหลายต่อหลายสายในอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช สร้างความสงสัยให้กับเราอยู่ไม่น้อย ทั้งๆ ที่วันนั้นเป็นวันธรรมดาวันหนึ่ง และที่สำคัญคือ เป็นวันปิดเทอมของเด็กๆ

          “รถของพ่อแม่ผู้ปกครองน่ะครับ เขาไปส่งเด็กๆ เรียนพิเศษ”

          เราร้อง ฮะ ก่อนจะพูดทวนคำว่า ‘เรียนพิเศษ’ สายตามองไปยังขบวนรถที่ต่อแถวเป็นแนวยาวตามเส้นถนน โดยปราศจากบริบท หรือคำถามอื่นใด คุณลุงท่านเดิมขยายความต่อราวกับอ่านใจเราได้

          “เด็กๆ ที่นี่เรียนพิเศษเยอะมากครับ กว่าจะเลิกก็ค่ำ แล้วเรียนกันตั้งแต่เล็กๆ เลย”

          หลังจากจบประโยคดังกล่าว มีคำถามเกิดขึ้นมากมายในใจเรา เด็กๆ จะเครียดกันไหม เขาจะเหนื่อยเกินไปหรือเปล่า ได้เล่นสนุก ใช้จินตนาการในแบบที่ช่วงวัยของตัวเองเรียกร้องหรือไม่

          เช่นเดียวกับ นิ่ม-แก้วตระการ จุลบล หญิงสาวชาวนครศรีธรรมราชโดยกำเนิด หลังจากเรียนจบคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร และใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ก็ตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเกิด เธอตั้งคำถามเหล่านั้นอยู่ในใจ จนได้ร่วมกับ เจมส์-วิสิทธิ์ เตชสิริโกศล คู่ชีวิต ก่อตั้งพื้นที่ทางศิลปะชื่อ ‘สีดิน’ ขึ้นมาเพื่อเปิดถนนความเป็นไปได้อีกเส้นทาง และ ‘ทำให้เห็น’ เป็นที่ประจักษ์กับคนในจังหวัด

อยากให้เล่าถึงความเป็นมาของสีดิน ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร

          สีดิน มี 2 ที่ค่ะ ที่พรหมคีรีเป็นสตูดิโอทำงานศิลปะของนิ่มกับพี่เจมส์ เป็นบ้านเกิดของนิ่มเอง เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว เราได้มีโอกาสเข้าไปดูพื้นที่ตรงบ้านของคุณหมอบัญชา (นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช) เป็นบริเวณที่เรารู้สึกว่ามันน่าจะทำอะไรเกี่ยวกับศิลปะที่เราอยากจะทำ คุณหมอก็เลยบอกว่าถ้าอยากจะมาทำในเมือง ก็ทำที่นี่ได้ นิ่มเลยไปเปิดสีดินอีกที่หนึ่งที่ท่าวัง (ท่าวัง-ท่ามอญ) ใกล้ๆ กับตึกยาวของคุณหมอ มีการสอนศิลปะเด็ก จัดตลาดเด็ก (Kids Craft Market) เบื้องต้นจะเน้นเด็กเป็นหลัก เพราะว่าตัวนิ่มเองก็มีลูก

          ก่อนหน้านี้เรากลับมาได้สักประมาณ 9 ปี แล้ว คือมันไม่ใช่กรุงเทพฯ ที่วันเสาร์-อาทิตย์ ผู้ปกครองก็ต้องการให้ลูกออกต่างจังหวัด ให้เด็กๆ ทำกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งมันก็เดินทางง่าย ผู้ปกครองอยากออกอยู่แล้ว แต่พอเป็นโซนต่างจังหวัด การเดินทางออกไปต่างอำเภอผู้ปกครองอาจจะไม่มีเวลา เราก็เลยคิดว่า ถ้ามี สีดิน อีกที่หนึ่งในเมือง คนก็น่าจะเข้ามาได้มากกว่านี้ ในเมืองมันตอบโจทย์เรื่องการเข้าถึงได้มากขึ้น เราจะนำสิ่งที่ทำอยู่แล้วที่พรหมคีรี ไปทำในเมืองแทนให้เด็ก ให้ผู้ปกครองเข้าถึงได้ง่าย

          แล้วอีกอย่างหนึ่งคือ นิ่มเอง กับทีม Creative Nakhon ตั้งแต่กลับมา เราได้ทำเศรษฐกิจสร้างสรรค์เกี่ยวกับนครศรีธรรมราช มาหลายปี เลยรู้สึกว่าที่นครฯ เนี่ยก็ยังมีความเป็นศิลปะกึ่ง traditional ซึ่งเราไม่ได้บอกว่าแปลกแยกหรืออะไร เพราะมันคือส่วนหนึ่งของเมืองอยู่แล้ว โอเค เราไปเรียนศิลปากรจบมาแล้ว เรารู้สึกว่า บางอย่างที่เราได้เห็นมันมากกว่าสิ่งที่ในพื้นที่มี เราคิดว่าถ้าทีมงานของเรามีศักยภาพที่จะนำพาให้มันเกิดขึ้นได้ เราก็ควรจะทำให้มากขึ้น ควรจะรวมกลุ่มกันทำอะไรสักอย่างเพื่อให้เห็นความต่าง หรือว่ามีความใหม่ในพื้นที่ของตัวเอง เพื่อให้ลูกของเราได้เสพสิ่งนั้นๆ ด้วย แล้วก็กระจายไปให้กับผู้อื่นในจังหวัด

          กลุ่ม Creative Nakhon มีทั้ง นักออกแบบ ศิลปิน สถาปนิก หลายๆ คนที่รวมตัวกัน และก็มีพื้นที่ของตัวนิ่มเองที่อยู่ในเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่เผยแพร่งานศิลปะให้กับเด็กกับคนที่สนใจ แม่ๆ แนวเดียวกันที่สามารถจูนกันในเรื่องนี้ได้ คือแม่ๆ สายกิจกรรมสักหน่อยที่สามารถพาลูกร่วมทำกิจกรรมโน่นนี่นั่นได้

‘สีดิน’ พื้นที่ทางศิลปะ กับการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ให้เมืองนครศรีธรรมราช
บรรยากาศสตูดิโอ สีดิน ที่ พรหมคีรี
Photo: สีดิน See-Din Nature And Creative Space : พรหมคีรี
‘สีดิน’ พื้นที่ทางศิลปะ กับการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ให้เมืองนครศรีธรรมราช
ผู้เยี่ยมชมงานศิลปะ ที่ สีดิน พรหมคีรี
Photo: สีดิน See-Din Nature And Creative Space : พรหมคีรี

‘สีดิน’ พื้นที่ทางศิลปะ กับการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ให้เมืองนครศรีธรรมราช
การเรียนศิลปะของเด็กๆ และผู้ปกครอง ที่ สิดิน ท่าวัง
Photo: สีดิน See-Din Old Town : Art Gallery ท่าวัง-ท่ามอญ

กิจกรรมที่เด็กๆ หรือที่แม่ๆ พามาทำ เด็กเขาสมัครใจที่จะมา หรือแม่บังคับมา

          เอาจริงๆ แล้วมันก็มีทั้ง 2 อย่าง แต่ที่เห็นหลักๆ เลย ก็มีที่เด็กอยากจะทำ แล้วก็มีที่แม่พามา  เพราะว่ากิจกรรมของนิ่มเองไม่ได้เป็นกิจกรรมที่ตายตัวว่าจะต้องวาดรูป ระบายสี หรือทำปั้นตามปกติ แต่ว่าเราก็อยากจะมีกิจกรรมที่แตกต่างออกไป อย่างเช่น การให้ทำงานประดิษฐ์ หรือว่าการทำเกี่ยวกับสีธรรมชาติ ทำผ้าบาติกบ้าง ทำยางพาราบ้าง ก็เลยเป็นกิจกรรมที่ไม่ได้มีอย่างที่เราเห็นโดยทั่วไป เด็กกับผู้ปกครองเลยเกิดความสนใจในระดับหนึ่ง เพราะเขาก็อยากให้ลูกมาทดลองในสิ่งใหม่ๆ

แล้วสีดินนิยามตัวเองว่าอะไร

          เอาจริงๆ แล้ว ตอนนี้บริบทสีดิน มันเปลี่ยนไปตามช่วงอายุของลูกเราเหมือนกันนะคะ ตอนที่ สีดิน เริ่มขึ้นใหม่ๆ นิ่มรู้สึกว่า เออ เราเป็นพื้นที่การเรียนรู้ แล้วก็พื้นที่สาธารณะที่ต้องการให้คนอื่นๆ เข้ามาเรียนรู้ความเป็นศิลปะและเพื่อให้ลูกหากิจกรรมทำภายในจังหวัด นิ่มว่ามันก็เป็นพื้นที่สาธารณะ แต่พอบริบทลูกเราเริ่มโตขึ้น โอเค เราก็มีกิจกรรมให้ลูกที่มันต่างออกไป ก็จะเป็นเรื่องของสถานที่ เป็นสตูดิโอเพื่อเอาไว้ให้คนที่จะเข้ามา เข้าใจในสิ่งที่เราเป็น ในอีกมุมมองหนึ่งที่ก็ไม่ได้เผยแพร่สำหรับทุกคนละ แต่ก็จะเป็นเฉพาะกลุ่มมากๆ คนที่สนใจก็จะเข้ามา แต่ก็ไม่ได้นิยามตัวเองว่าจะเป็นพื้นที่ปิดหรือเปิด

‘สีดิน’ พื้นที่ทางศิลปะ กับการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ให้เมืองนครศรีธรรมราช
Photo: สีดิน See-Din Nature And Creative Space : พรหมคีรี

มันต้องมีแรงขับอะไรสิ ที่ทำให้คุณนิ่มอยากลุกขึ้นมาเปิดพื้นที่ศิลปะเพื่อให้ลูกของตัวเองและลูกๆ ของคนอื่นในจังหวัด

          โดยเบื้องต้นแล้ว เหมือนตอนที่อยู่กรุงเทพฯ พอเรียนจบมาแล้วก็ไปเปิดร้านอาหาร เปิดอะไรอย่างอื่นซึ่งเราไม่ได้ทำศิลปะอย่างจริงจัง แต่เราเป็นผู้จัด มีพื้นที่ให้ศิลปินชายขอบ ศิลปินที่ไม่ได้ถูกเลือก เพราะปกติก่อนหน้านี้ ใครจะมานิยามศิลปินก็คงจะต้องเป็นคนที่ได้รับการประกวดได้โน่นนี่นั่น ซึ่งความจริงแล้วนักเรียนศิลปะที่จบมาเนี่ย มันมีเยอะมาก แล้วคนที่ไม่ได้ถูกเลือกก็ล้มหายตายจากไป คนที่ถูกเลือกก็ถูกเลือกซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่มีที่สิ้นสุด

          ซึ่งเราเองรู้สึกว่าถ้าเราอยากกลับมาบ้านแล้วต้องการจะทำพื้นที่ของตัวเอง เราจะทำยังไงที่จะเริ่มจากการเป็นตัวเอง เรามาทำศิลปะในแบบที่อยากจะทำจริงๆ แล้วเราจะให้อาชีพนี้เลี้ยงดูเราไปตลอด เราเองอยากกลับบ้าน เรารู้สึกว่าบ้านก็เป็นพื้นที่ที่เราสามารถจะทำงานได้อย่างสงบและมีแรงบันดาลใจเกี่ยวกับธรรมชาติ เพราะว่าเราอยู่กรุงเทพฯ มาเกือบสิบปี ถ้าสมมติเรามีครอบครัว เราก็อยากให้ลูกได้อยู่ในที่ที่มีธรรมชาติ พอเติบโตแล้วค่อยกระจายออกก็ได้ หรือว่าค่อยไปกรุงเทพฯ หรือเติบโตที่อื่นก็ได้

          แต่ว่าเบื้องต้นเราก็อยากจะให้เขาอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มันดีที่สุด ณ ตอนนั้นนะคะ ทีนี้ก็เลยกลับบ้านมาอยู่นครศรีธรรมราช มาทำสีดินเพื่อที่จะให้ตัวเองมีพื้นที่ทำงาน ตัวเองสามารถที่จะอยู่ดูแลครอบครัวได้เพราะว่าครอบครัวนิ่มก็อยู่ที่นครฯ แล้วเราก็ได้เลี้ยงลูกไปด้วย ฉะนั้นการที่มาอยู่ในพื้นที่นี้เราก็แสดงศักยภาพของตัวเองว่าเรายืนยันจะทำงานศิลปะควบคู่ไปด้วย และประจวบเหมาะว่าภายในพื้นที่เองก็มีบุคคลที่เป็นนักออกแบบ เป็นสถาปนิก เป็นนักเขียนที่คิดแบบเดียวกัน และต้องการที่จะขับเคลื่อนเมืองไปด้วยกัน โดยมวลหลักของประเด็นที่เราตั้งขึ้นมาเนี่ย เรามีแก่นหลักอย่างหนึ่งก็คือ เราอยากเห็นนครฯ ที่ต่างไปจากเดิม เราก็เลยทำสิ่งนี้มาเรื่อยๆ มันก็เหมือนห่วงโซ่กระจาย แตกแขนงของความเป็นไปได้มาเรื่อยๆ ทั้งของนิ่มเองและของคนในทีมเอง ซึ่งมันทำให้รู้สึกว่าเราไม่โดดเดี่ยวสำหรับพื้นที่ที่เราห่างไปนาน เรายังมีคนพูดภาษาเดียวกัน

          ภายในจังหวัดเรื่องศิลปะ งานออกแบบ มันไม่สามารถคุยกับทุกคนได้แบบเข้าใจ แบบลงลึก ทีนี้เราจะทำยังไง เราเป็นอาร์ตติสท์ พี่ชัย (ศุภชัย แกล้วทนงค์ ประธานกลุ่ม Creative Nakhon) เป็นดีไซเนอร์ เรามาหาคนคุย แล้วเข้าใจเราในแบบที่เป็น แบบที่ถนัด พื้นที่เราเป็นแบบนี้ เราถนัดการนำเสนอในรูปแบบของงานครีเอทีฟแบบนี้ ทำแล้วก็แสดงมันออกไป ส่วนผลที่ว่าจะมีเด็กๆ ผู้ปกครอง หรือผู้ที่สนใจเข้ามา นิ่มว่ามันกลายเป็นผลพลอยได้ แต่เราก็ไม่ทิ้งผลพลอยได้นั้น เพราะมันจะเป็นโอกาสที่เราได้เผยแพร่ได้ สร้างอาชีพให้กับเราได้

นครศรีธรรมราชมีพื้นที่สาธารณะน้อย

          เอาจริงๆ แล้ว ถ้าแนวประมาณนี้มันก็น้อยอยู่นะ หมายถึงว่า ถ้าตัวพื้นที่เอง นครฯ เป็นจังหวัดใหญ่และมีปริมาณประชากรเยอะอยู่ แต่มีพื้นที่ประมาณนี้น้อยถ้าเทียบกับจังหวัดอื่นๆ อย่างเช่น สุราษฎร์ธานีหรือว่า พัทลุง ที่เขาทำทีหลัง แต่ว่าตอนนี้เขาเริ่มมีมากขึ้น คนเริ่มเปลี่ยนผ่าน เปลี่ยนถ่ายจากกรุงเทพฯ แล้วกลับลงมาเห็นพื้นที่ของตัวเอง เห็นศักยภาพของตัวเองมากขึ้น นิ่มถือว่านครฯ ยังน้อยอยู่ แต่ไม่ใช่ว่าไม่มี มันก็เริ่มมีแต่ว่าด้วยความที่นครฯ มีวัฒนธรรมที่แบบจะเป็นอยู่อย่างนั้น สิ่งใหม่มันอาจจะเข้าไปถึงได้ยากกว่า

ศิลปะของคุณนิ่มถือว่าเป็นแบบไหนในการรับรู้ของคนในพื้นที่

          ถือว่าเป็นแบบใหม่ค่ะ (หัวเราะ) แบบ contemporary art ถ้าสมมติจะพูดถึงเรื่องปฏิบัติงาน ณ ตอนนี้ คืองานของนิ่มมันเป็นงาน installation art ซึ่งมันก็จะเข้าใจยากกว่างานที่เป็นวิจิตรศิลป์ หรืองานที่เป็นจิตรกรรม การจัดวางพื้นที่มันเป็นการวางวัสดุเข้ากับบริบทของเมือง ของคอนเซปต์ที่ได้รับ เราก็ไม่ได้บอกว่าเราใหม่มากหรอก แต่เรารู้สึกว่ามันก็แอบยากในระดับหนึ่ง กับพื้นที่ กับผู้คน ที่เราเอางานนี้มาตั้งแล้วมันจะอธิบายในตัวเองได้เลย เราต้องเป็นผู้อธิบายซึ่งมันต้องใช้พลังมากอยู่เหมือนกัน

ใช้พลังอย่างมากคือยังไง อธิบายให้ฟังได้ไหม

          มันจะไม่ใช่อย่างงานของลุงเหลิม (เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์) หรือลุงหวัน (ถวัลย์ ดัชนี) ที่เห็นปุ๊บแล้วสวยงามเลย หรือเรื่องราวมันออกมาได้เลย งานศิลปะที่นิ่มทำ นิ่มจะนำวัสดุยางพารามาทำงานศิลปะซึ่งก็เป็นเรื่องที่คนเข้าใจได้ยากแหละ แต่ว่าการทำงานศิลปะมันแล้วยังไง มันจะออกมาเป็นรูปแบบไหน เพราะว่ามันยังไม่ค่อยมีใครมาทำ หรือมาหยิบจับ ก็จะต้องใช้การอธิบาย หรือเล่าคอนเซปต์ที่มันเชื่อมโยงกับพื้นที่ วัฒนธรรม และวัสดุที่นำมาสร้างสรรค์ มันจะต้องมีเวลานั่งคุยกันนิดหนึ่ง จะต้องมีเวลายืนคุย ยืนฟังกันอยู่สักพักหนึ่งว่า มันจะเชื่อมโยงกับบริบทพื้นที่ตามแนวคิดอย่างไร

มีคนในพื้นที่เดินเข้ามาถามไหม

          นิ่มคิดว่า ทุกคนตั้งคำถาม แต่พอเราได้อธิบายในเบื้องต้น หรือว่าด้วยกายภาพที่มันออกมา คนก็เข้าใจโดยง่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เราเลยตั้งคำถามว่า จริงๆ แล้ว คนต้องการที่จะเข้าใจมัน แต่มันแค่ไม่มีหรือเปล่า หมายถึงว่า ตลาดเป็นตลาดแมส สิ่งที่เป็นแมสคนจะเข้าใจ แต่พอมันแตกต่างเนี่ย ไม่ใช่ว่าคนไม่เข้าใจ แต่ในจังหวัดมันไม่ค่อยมี เหมือนเปิดโลกให้เขาใหม่ ทั้งๆ ที่ถ้ามีให้เขาเยอะๆ เขาอาจจะเข้าใจมันได้ง่ายขึ้น เพราะว่ามันมีน้อย มันเลยเพิ่มศักยภาพคนที่เรียนรู้ได้น้อย ถ้ามันมีเยอะมากขึ้นเขาก็เรียนรู้มากขึ้น เข้าใจได้อย่างง่ายดาย

          ถ้ามีคนกลับมาทำเยอะๆ แสดงศักยภาพเยอะๆ นิ่มว่ามันก็จะเป็นแบบกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ได้เหมือนกัน มันอาจจะเป็นสิ่งแปลกใหม่ แต่นิ่มว่าเขาก็ไม่ได้ปิดกั้นแค่นั้นเอง มันเหมือนเป็นช่วงเริ่มต้น แต่ว่าคนบุกเบิกคลังความคิดต้องเป็นคนที่โดนไม่เข้าใจมาก่อน ซึ่งมันก็ไม่ผิด แต่ก็จะค่อยๆ ซึมเข้าไปเรื่อยๆ ไง ว่า อ๋อ…อันนี้มันก็เป็นงานศิลปะนะ อันนี้มันก็สามารถทำได้นะ ถ้าสมมติเราไม่เคยทำมาก่อนแล้วยังไม่ทำต่อไป เขาก็คงจะยังไม่รู้ต่อ

‘สีดิน’ พื้นที่ทางศิลปะ กับการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ให้เมืองนครศรีธรรมราช
นิ่ม-แก้วตระการ จุลบล
Photo: สีดิน See-Din Nature And Creative Space : พรหมคีรี

‘สีดิน’ พื้นที่ทางศิลปะ กับการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ให้เมืองนครศรีธรรมราช
เจมส์-วิสิทธิ์ เตชสิริโกศล
Photo: สีดิน See-Din Nature And Creative Space : พรหมคีรี

กลับไปที่ตัวสีดิน ขยายความให้ฟังหน่อยค่ะ ว่าทั้ง 2 ที่แตกต่างกันยังไง

          ตอนนี้ พรหมคีรีเป็นสตูดิโอทำงานศิลปะที่จะนำส่งไปตามที่ต่างๆ เหมือนเป็นโรงงานผลิต แต่ถ้าใครอยากจะมาก็ได้ ต้องบุ๊กตามวัน เวลาที่กำหนด แต่ถ้าเป็นสีดินในเมืองจะทำคอร์สศิลปะสำหรับเด็กและบุคคลทั่วไป จัดบรรยากาศให้เป็นอาร์ตแอนด์แกลเลอรีมากขึ้น มีการจัดบรรยากาศให้เขาเห็นว่ามันเป็นไปได้ หรือสิ่งใหม่ที่เขาจะได้รับในมิวเซียมต่างประเทศ แล้วย่อลงมาเป็นแกลเลอรีเล็กๆ ในจังหวัดของตัวเอง

          งานศิลปะจะมีทั้งของนิ่ม ของพี่เจมส์ แล้วก็ของศิลปินทั่วๆ ไปด้วย อยากให้เป็นพื้นที่สำหรับรวมศิลปินมาทำกิจกรรมร่วมกัน มีร้านขายของเล็กๆ ที่มีใครมาฝากขายก็หักเปอร์เซ็นต์ไป อาจจะเป็นวันเดย์เวิร์กชอป หรือช่วงเวลาที่ตัวเองว่าง หรือมาเที่ยว เป็นพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย

สอนเด็กแบบไหน

          นิ่มเคยเป็นอาจารย์พิเศษ นิ่มก็จะเข้าใจว่าจริงๆ แล้วการเป็นครูสอนศิลปะ มันยากในระดับหนึ่ง ซึ่งตัวเราเอง เราไม่ได้เรียนมาเป็นครู เราเรียนมาเป็นอาร์ตติสต์ ซึ่งก็ต้องแยกด้วยว่า ครู กับ อาร์ตติสต์สอนไม่เหมือนกัน เพราะว่าครูจะสอนในแบบทฤษฎี เราก็ไม่ได้บอกว่าสิ่งนั้นคือ การตีกรอบ เพราะมันมีทฤษฎีที่เด็กต้องเข้าใจเรื่องสี รูปทรง หลังจากนั้นเด็กจะทำอะไรก็เป็นเรื่องของจินตนาการเขาแล้วแหละ

          แต่ถ้าสอนแบบอาร์ตติสต์เนี่ย เป็นการสอนที่เราต้องรู้จักตัวตนของบุคคลนั้นด้วย เด็กบางคนเขาอาจจะไม่ได้ชอบวาดรูป แต่เขาชอบลงสี ซึ่งเราที่เป็นผู้สอนและเป็นอาร์ตติสต์ เราก็ต้องรู้ด้วยว่า ทำไมเด็กคนนี้ถึงชอบลงสี เพราะเขาอยากใช้สีที่ผสมกันแล้วอยากได้อย่างนั้นอย่างนี้ หรือบางคนเห็นว่าการลงสีมันได้จินตนาการมากกว่าการวาด ซึ่งนิ่มคิดว่าเราต้องลงลึก ถ้าเราบอกว่าเราต้องการให้อิสระเด็ก แต่เราไปตีกรอบเด็กนั้นคงไม่ใช่ศิลปะที่แท้จริง มันก็เลยจะมีสองอย่างอยู่ในตัวนิ่ม ซึ่งนิ่มก็ไม่รู้ว่าคนอื่นเป็นเหมือนกันหรือเปล่านะ ก็คือให้เรียนรู้ในเรื่องของกระบวนการ แต่ถ้าเรื่องที่คุณอยากจะหยิบขึ้นมาทำ ก็คุยกันแล้วก็นั่งทำด้วยกัน จะไม่ได้บอกว่า วันนี้ต้องวาดยีราฟอย่างนี้ สีนั้นนะ จะต้องวาดสวนสัตว์แบบนี้ ท้องฟ้าทะเลแบบนี้

          มันไม่ใช่สิ่งที่นิ่มต้องการจะสอน มันอาจจะยาก เพราะมันคือการสอนแบบรายบุคคล นิ่มคิดว่าแต่ละคนมีอิสระเป็นของตัวเอง เป็นอาร์ตติสต์ตั้งแต่เด็ก เราไม่อยากจะไปตัดสินว่าอันนี้ทำไม่ได้ มันจะเสียดายมากถ้าแบบลงสีแบบนี้สิ หรือลองวาดแบบนี้ดูไหม จะกลายเป็นว่าความเป็นอิสระถูกตัดออกไป แล้วจะกลายเป็นการควบคุม ต่อไปไม่รู้เด็กเขาจะจดจำในแบบไหน

เห็นว่าในสีดินมี Kids Craft Market ด้วย ช่วยเล่ารายละเอียดให้ฟังหน่อยได้ไหมคะ

          Kids Craft Market เป็นการรวมตัวของพวกแม่ๆ ผู้ปกครอง คือเบื้องต้นตัวเราเองรู้สึกว่า ในจังหวัดมีความเคร่งเครียดของงานวิชาการมากเกินไปแล้วนะ (หัวเราะ) อันนี้คิดในใจ เพราะว่าวิชาของนิ่มเองมันเป็นวิชาที่ผ่อนคลายมากกว่าวิชาอื่นๆ ซึ่งเราก็สงสัยว่ามันเป็นเพราะอะไรนะ เราก็ไปวิเคราะห์กับเพื่อนๆ อาจจะเป็นเพราะว่าเมืองนครฯ เป็นเมืองวิชาการ เมืองที่ทุกคนต้องกวดวิชา ซึ่งมันก็ไม่ผิดหรอก แต่เรื่องแบบนี้มันมีเยอะมากๆ ในจังหวัด เรารู้สึกว่า โอ้โห บางคนเรียนจนถึงสองทุ่ม วิชาการแบบจัดๆ ไปเลย ซึ่งเราก็มามองว่า เอ๊ะ มันเยอะไปหรือเปล่า หรือความจริงแล้วมันควรเป็นแบบนั้นไหม ก็ตั้งคำถามกับเพื่อนที่เป็นแม่ไทป์เดียวกัน

          ก็ได้ความว่า เด็กอาจจะอยากผ่อนคลายเหมือนกันนะ แต่ว่ามันไม่มีพื้นที่ หรืออาจจะเป็นเพราะว่าผู้ปกครองไม่ว่าง ไม่สะดวก อะไรก็แล้วแต่ แต่ Kids Craft Market เกิดจากการที่เราอยากให้ลูกของเราเอง หรือเพื่อนๆ ที่มีไลฟ์สไตล์เดียวกันมาทำกิจกรรมร่วมกัน แล้วก็หาความสนุกให้กับลูกของเรา เด็กๆ ก็ได้ประโยชน์ด้วย ได้มาเจอเพื่อน ได้มีการคิดเงินกัน การตั้งร้านเอง สนุกเล่นๆ อะไรอย่างนี้ มันเป็นการเพิ่มกิจกรรมจากเดิมที่เขาเคยเจอ

ที่คุณนิ่มบอกว่าวิชาของคุณนิ่มเป็นวิชาที่ผ่อนคลายมากกว่าวิชาอื่นๆ คือเรารู้ได้อย่างไร

          เป็นการถามค่ะ มีลูกศิษย์มาเรียนใช่ไหม นิ่มก็ถามว่า วิชาอะไรที่ชอบมากที่สุด วิชาอะไรที่คิดว่าตัวเองมีความสุขที่สุดเวลาไปโรงเรียน เขาก็บอกของเขาเป็นวิชาดนตรี วิชาศิลปะ บางคนภาษาอังกฤษ

          ซึ่งวิชาที่ถามแล้วได้คำตอบมากที่สุดคือ วิชาดนตรี และศิลปะ ผู้ปกครองบางคน หรือที่เขาย้ายมาจากที่อื่นที่ไม่ได้เคร่งกับการเรียนขนาดนี้ เขาก็จะมาคุยกับนิ่มว่า โห เด็กนครฯ เรียนกันดุมากเลย ไม่พักเลย เดี๋ยวก็ต้องไปติว ไปสอบกันแล้ว คนที่มาเรียนกับนิ่มส่วนใหญ่ เสาร์ อาทิตย์ เขาก็จะมาเรียนศิลปะไง คือไปเที่ยวโน่น เที่ยวนี่ ไม่ได้เรียนไง คนที่เรียนก็เรียนไปตั้งแต่เช้ายันเย็น แต่ก็เข้าใจได้เพราะธุรกิจที่เติบโตมากที่สุดในนครฯ คือธุรกิจการศึกษาที่เป็นวิชาการ

แบบนี้ จบ ป.6 แล้ว เขาไปเรียนที่ไหนกัน

          ก็จะมีโรงเรียนประจำจังหวัด มีเบญจมราชูทิศ มีกัลยาณีศรีธรรมราช แต่ถ้าอย่างกรุงเทพฯ เขาเห็นความหลากหลายของอาชีพ สามารถเรียนสาขาอื่นที่เขาชอบ ใครจะหมอก็หมอ ใครจะอาร์ตก็อาร์ต แต่ที่นี่หลักๆ ต้องการให้ลูกไปในสายวิทยาศาสตร์ สายวิศวะ สาย traditional เหมือนเดิม ซึ่งมันไม่ได้หลากหลายมาก นิ่มเป็นบุคคลที่ถ้าเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจศิลปะก็คงไม่ได้เรียน ก็เลยรู้ว่าเราแตกต่างมาตั้งแต่เด็กแล้วแหละ เรากลับมาแล้วเรายังรู้สึกว่ามันก็ยังเป็นเหมือนเดิม เพราะว่าเด็กที่มาต้องการที่จะเรียนสาขาอื่น แต่ไม่มีในจังหวัด ไม่มีคนทำให้เห็นว่ามันเกิดขึ้นจริงได้ สามารถเป็นจริงได้ ศิลปิน นักออกแบบในจังหวัดนี่แทบจะนับคนได้เลย มีตัวเป็นๆ ให้จับต้องให้เขาเห็นน้อยมาก

          ซึ่งแน่นอนว่าเขาไม่เลือกก็ไม่ผิด เพราะมองไม่เห็นเป็นกายภาพ อย่างครูมีเยอะมาก หมอก็มีเยอะมาก ศิลปิน สถาปนิก นักออกแบบในจังหวัดมีน้อย พอน้อยปุ๊บข้อมูลก็น้อย ผู้ปกครองก็ไม่เชื่อมั่น ว่าลูกจะไปได้ มันก็ยังคงเป็นเหมือนเดิม

          เด็กที่มาเรียนกับนิ่มจะมีเด็กโตด้วย ประมาณ ม.3-ม.4 ก็ยังต้องกลับไปตอบคำถามของพ่อกับแม่ว่า เรียนศิลปะแล้วได้อะไร เรียนศิลปะแล้วรอดไหม โอเค สำหรับเขาจริงๆ หรือเปล่า มันไม่แปลกหรอกที่เขาจะตั้งคำถาม แต่สิ่งที่เราได้ยินมาตั้งแต่ 20-30 ปี ที่แล้ว ก็ยังคงเป็นเหมือนเดิม แสดงว่าที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนไป ฉะนั้นที่เราอยากกลับมาทำ เพราะเราก็อยากจะตั้งมายด์เซ็ตแบบนี้ให้คนในจังหวัดเราด้วย ว่างานศิลปะสามารถเป็นไปได้ในระดับดีด้วย เพราะเอาจริงๆ ศิลปินนครฯ โคตรเยอะ แต่ว่าต้องไปอยู่ที่อื่น

          คนที่จะกลับมาทำแบบนี้มีน้อยมากๆ เพราะส่วนใหญ่ก็จะเป็นครู อาจารย์ หรืออาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งก็เป็นไปได้ เพราะว่าเขาอยู่ในพื้นที่ที่เขาได้ทำงานศิลปะ แล้วเขาก็ได้เงินด้วยก็ปกติ แต่ถ้าอาร์ตติสต์ที่ใช้เรื่องพวกนี้เป็นอาชีพ นครฯ อาจจะไม่ตอบโจทย์ก็ได้ เพราะมีคนเสพแต่ไม่มีคนซื้อ อาชีพก็อยู่ไม่ได้ ต้องเป็นแบบภูเก็ต สมุย เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ถึงจะมีโอกาสรอดมากกว่า จึงไม่แปลกหรอกที่ผู้ปกครองจะตั้งคำถาม แล้วทำไมมันถึงไม่มี เราเป็นคนที่กลับมา เรารู้สึกว่า เออทำก็ทำ ทำให้เห็นซะ (หัวเราะ)

สิ่งนี้ก็เลยแทรกซึมอยู่ในทุกๆ สิ่งที่คุณนิ่มทำอย่าง สีดิน, The Rubber PARAdoxii หรือ Creative Nakhon หรือเปล่าคะ

          ใช่ค่ะ เอาจริงๆ ก็ไม่ใช่แค่นครฯ หรอก ก็เป็นสากลแหละ หมายถึงว่า มันก็เป็นภายในประเทศแหละ ความจริงแล้ว คนประเภทนี้ หรือคนทางด้านครีเอทีฟเนี่ย สามารถขับเคลื่อนประเทศไปได้นะ โดยศักยภาพของแต่ละบุคคล ซึ่งรัฐควรเล็งเห็น ควรให้ความสำคัญ ให้โอกาสหรือว่าออกนโยบายอะไรบางอย่างมาซัพพอร์ต เหมือนประเทศอื่นๆ ที่เขาพัฒนาแล้ว ดึงเรื่องนี้เป็นเรื่องหลักของประเทศ เพื่อจะดึงเงินดึงงบประมาณเข้าประเทศได้

          ซึ่งเรื่องนี้ก็เหมือนกัน นิ่มคิดว่าศิลปินประเทศไทย หรือศิลปินนครฯ มีศักยภาพมากพอที่จะสามารถดึงเม็ดเงินเข้ามาได้อีก เรื่องหัตถกรรม เรื่องวัฒนธรรมที่แข็งแรง หรือเรื่องอะไรก็ตามที่เราเป็นมาตั้งแต่แรก มันควรที่จะถูกเห็นคุณค่า แล้วก็ให้คนส่วนใหญ่ในประเทศมองเห็นมากขึ้น เราก็แค่เป็นกลไกหนึ่ง เป็นคนสื่อสารในจุดที่เราอยู่เท่านั้นเอง สมมติว่ามันไปได้ในระดับที่ไกลขึ้น มันจะเป็นไปได้ทุกอย่าง

ในเมื่อนครฯ ก็ดูจะมีงานหัตถกรรมเยอะ แต่ทำไมหาคนที่ทำอะไรอย่างนี้ได้น้อยมากเลย

          ใช่ มันน้อยเพราะว่า เขากลับมาแล้วเขาได้อะไร คือต้องอยู่ได้ด้วยนะ นิ่มกลับมาได้ เพราะมันกึ่งไฟต์บังคับเพราะต้องมาดูแลพ่อ เราเองจะทำยังไงให้เราอยู่ในพื้นที่ที่มันยากพอควร ก่อนหน้านี้ที่เราอยู่กรุงเทพฯ ก็เติบโตได้ง่ายอยู่แล้วแหละ ก็อาจจะต้องสู้กับอะไรบางอย่าง ซึ่งเป็นปกติของมนุษย์ที่ต้องทำในช่วงอายุนี้ แต่พอเรากลับมานครฯ เรารู้สึกว่าครั้งแรกที่กลับมาบางอย่างมันก็ดูเคว้งคว้างเหมือนกัน เพราะว่าเรายังไม่ได้เจอใคร เราก็ทำเท่าที่กำลังเรามี แล้วเรารู้สึกว่าพอได้ร่วมกันทำ Creative Nakhon พอได้มีคุณหมอ หรือคนในจังหวัดที่เห็นศักยภาพของกลุ่มที่เราทำ หรือสิ่งที่เราทำ ก็เป็นสิ่งดีนะ

          แต่ก็ล่วงเลยมาเกือบสิบปี ซึ่งก่อนหน้านี้เราก็รู้สึกว่า โอ้ มันไม่ง่าย จังหวัดนี้มันไม่ง่ายเลย ถ้าเราไม่ใจแข็งพอ เราอาจจะไม่รอดและย้ายไปที่อื่นแล้วก็ได้ เพราะว่ามันต้องใช้ความสามารถอื่น เราต้องทำอย่างอื่นเพื่อที่จะให้ศิลปะเราไปรอด ชีวิตเราไปรอดด้วย ในเมื่อฉันต้องอยู่ที่นี่ ให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ผลิต ฉันจะไปหาเงินจากที่อื่นหรือที่ใดๆ ก็ตาม เพื่อทำให้มันยังคงอยู่ แล้วก็ให้คนอื่นๆ ได้รับรู้

          ถามว่าเป็นการเสียสละไหม ก็ไม่หรอก แต่ว่ามันก็มีแฝงอยู่ ว่าเราอยากจะทำเพื่อคนที่อยู่ที่นี่ มันยากแต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้ ต้องชั่งน้ำหนักด้วยว่า อยู่แล้วยังไงนะ กับบรรยากาศที่เราก็คิดว่าเรามาถูกที่ถูกทางแล้ว ถูกจังหวัดแล้ว เพราะไม่มีคู่แข่ง แต่เอาจริงๆ ไม่ได้ง่ายนะ ก็ยากอยู่

          ต้นไม้พอโตผิดที่ กว่าจะโตก็ 5 ปี 10 ปี เหนื่อยเหมือนกันนะ แต่พอโตได้ปุ๊บ ก็รู้สึกสนุก รู้สึกสะใจอยู่เหมือนกันว่า มันมาแล้ว มันเริ่มโอเคขึ้นแล้วในการก่อหวอดใดๆ ของพวกเรา ไม่ใช่ว่าก่อนหน้านี้ไม่มีนะ ก่อนหน้านี้เขาก็ทำกัน แต่อาจจะล้มหายตายจากไป เขาอาจจะเสียกำลังใจกันไปก่อน เลยตัดใจทิ้งมันไปแล้วก็ได้ แต่พอเรามีกลุ่ม มีคน เพิ่มฐานผู้ชมหรือเพิ่มฐานแฟนคลับของเรามาในระดับ 5-6 ปี ที่ผ่านมานี้ นิ่มว่ามันก็มีกราฟที่ดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้สูงปรู๊ดปร๊าดอะไรขนาดนั้น เท่าที่นิ่มกลับมาเกือบสิบปี นิ่มคิดว่า การรับรู้ทางศิลปะ หรือการรับรู้ทางพื้นที่ทางเลือก เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ

ถือว่าเป็นเมืองที่ปราบเซียนเนาะ

          นิ่มว่าปราบเซียนกว่าเชียงใหม่ ศิลปินนครฯ อยู่ในนครฯ ไม่ได้เพราะไม่มีเงิน ต้องทำอย่างอื่นด้วย คนที่อยู่ได้ก็จะเป็นครูอาจารย์ซึ่งเขาก็มีเงินอยู่แล้ว เขาก็จะทำศิลปะในแบบที่เขาทำซึ่งก็ปกติ เราอาจจะเป็นสิ่งแปลกเองก็ได้ ที่กลับมาในแบบที่มันใหม่เกินไป อาจจะยังไม่ใช่เวลาของเราที่มา แต่มันมาแล้วก็โอเค

‘สีดิน’ พื้นที่ทางศิลปะ กับการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ให้เมืองนครศรีธรรมราช
Photo: สีดิน See-Din Old Town : Art Gallery ท่าวัง-ท่ามอญ


ที่มา

Cover Photo: สีดิน See-Din Old Town : Art Gallery ท่าวัง-ท่ามอญ

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

PDPA Icon

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก