นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย หรือใครต่อใครที่ทำงานในแวดวงวิทยาศาสตร์และแวดวงการศึกษา ล้วนอยากเห็นเยาวชนไทยมีความรู้รอบตัวและความคิดสร้างสรรค์ อยากได้นักคิดหรือนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์ที่จะเติบโตไปเป็นบุคคลที่มีคุณภาพ มีเหตุมีผล มีกระบวนการคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ เชื่อมโยงกระบวนการทางวิทยาศาสตร์กับชีวิตประจำวันได้
เมื่อเห็น ‘เห็ดมือผี’ โผล่ขึ้นมาจากพื้นดินพร้อมกลิ่นเน่า ก็รู้ว่านี่คือเห็ดเขาเหม็น (Stinkhorns) ที่ทำหน้าที่ย่อยสลายอินทรียวัตถุ สามารถพบได้ทั่วไปในป่าไม้ประเทศไทยโดยเฉพาะบริเวณที่มีฮิวมัสทับถมหนาแน่น และมีความชื้นสูง ไม่จำเป็นต้องจุดธูปกราบไหว้หรือขอเลขเด็ด
เมื่อเห็นดวงไฟประหลาดบนท้องฟ้า ก็ไม่รีบด่วนสรุปว่าเป็น UFO (Unidentified Flying Object)หรือที่ปัจจุบันเรียกกันว่า UAP (Unidentified Anomalous Phenomena) แต่อาจเป็นดาวเทียม หรือสถานีอวกาศ ที่เคลื่อนที่ผ่านน่านฟ้าไทยอยู่บ่อยๆ
เมื่อทราบข่าวว่า ปลาหมอคางดำ กำลังแพร่ระบาดในแม่น้ำลำคลอง กินปลาและสัตว์น้ำประเภทอื่นๆ จนแทบหมดลำน้ำ ก็พร้อมศึกษาข้อมูลและระดมความคิดว่าจะทำอย่างไรให้ระบบนิเวศในห้วยหนองคลองบึงของไทยยังคงความสมดุล ไม่เสียอธิปไตยต่อ เอเลียนสปีชีส์ ได้ง่ายๆ
แต่เรามีสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการผลิตประชากรแบบนั้นหรือไม่ และเราควรทำอย่างไรให้วิทยาศาสตร์ค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปในชีวิตประจำวันของทุกคน
นี่คือภารกิจสำคัญของแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์หลายแห่งในประเทศไทย ที่กำลังพยายามเปลี่ยนทัศนคติของคนทั่วไปที่มองว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องยาก และเมื่อเรียนจบมาแล้วก็หางานทำได้ยากยิ่งกว่า ให้กลายเป็นตระหนักรู้และเข้าใจว่าวิทยาศาสตร์คือเรื่องใกล้ตัว อีกทั้งยังช่วยให้เราแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันได้อย่างมีหลักการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายปลายทาง คือประชาชนไทยสามารถนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
สื่อสารวิทยาศาสตร์ให้น่าสนใจ ฝัน+จินตนาการให้ไกล และไปให้ถึง
วงเสวนาในงาน “Empowering Science Communication and Science Museums” ได้กล่าวถึงบุคลากรหลายท่านที่มีบทบาทสำคัญในแวดวงวิทยาศาสตร์ พวกเขาเหล่านี้ล้วนเคยได้รับแรงบันดาลใจจากความน่าค้นหาของวิทยาศาสตร์เมื่อวัยเยาว์
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ได้รับแรงบันดาลใจจากการเที่ยวชมท้องฟ้าจำลองและการดูดาวตั้งแต่ยังเด็ก แม้จะจบการศึกษามาทางด้านเคมีและวัสดุศาสตร์ แต่ก็มี ‘passion’ ด้านดาราศาสตร์ จนสามารถบุกเบิก ร่วมผลักดันให้เกิด NARIT อีกทั้งสร้างสรรค์งานวิจัย และโครงการบริการวิชาการที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์มากมายจนได้รับรางวัล IAU Astronomy Outreach Prize 2024
เติ้ล-ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน บรรณาธิการบริหารของ Spaceth.co มีความหลงใหลในวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับอวกาศ จึงก่อตั้งพื้นที่ที่สามารถถ่ายทอดความรู้ในแบบที่สนุกสนานและฉีกกรอบ เช่น การเล่าเรื่องวิทยาศาสตร์ในเชิงปรัชญา ลดทอนความเป็นวิชาการซึ่งเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงความรู้ของคนทั่วไป เติ้ลเป็นหนึ่งในเด็กไทยไม่กี่คนที่มีโอกาสได้ไปเยือนสถาบันระดับโลกอย่าง NASA หรือ MIT Media Lab ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พบปะแลกเปลี่ยนกับนักวิทยาศาสตร์ระดับหัวกะทิ พร้อมนำประสบการณ์เหล่านั้นมาบอกเล่า สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนไทยคนอื่นๆ
พีพี-พัทน์ ภัทรนุธาพร นักเทคโนโลยี นักวิจัย จาก MIT Media Lab ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Futuristic Research Group หรือ FREAK Lab กลุ่มคนไทยที่มีเป้าหมายพัฒนานวัตกรรมสำหรับโลกอนาคต เมื่อพีพียังเป็นเด็ก ไดโนเสาร์และโดเรมอน คือแรงบันดาลใจที่ทำให้เขากระโดดเข้ามาในโลกวิทยาศาสตร์ ทุกวันนี้ พีพี ร่วมมือนักวิทยาศาสตร์และศิลปิน ใช้เทคโนโลยี AI สร้างสรรค์โปรเจกต์ที่ผสมผสานวิทยาศาสตร์ ศิลปะ และ เทคโนโลยีชีวภาพเข้าด้วยกันหลายโครงการ เช่น Cyber Subin ที่ใช้ AI ถอดรหัสท่วงท่านาฏศิลป์ไทย ต่อยอดการเรียนรู้ให้สนุกยิ่งขึ้น และ Future You ที่ทำให้เรามีโอกาสได้คุยกับร่างจำลองของตัวเราในอนาคต เพื่อทำความเข้าใจกระบวนการคิดและทบทวนตัวเอง
เมื่อได้รับการจุดประกาย และรู้ว่าจะสานต่อความฝันอย่างไร จินตนาการก็กลายเป็นผลงานที่จับต้องได้ การสร้างแรงบันดาลใจและเสริมจินตนาการในวัยเด็กจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การผลิตบุคลากรที่มี ‘Passion’ ในการขับเคลื่อนวงการวิทยาศาสตร์ หน้าที่นี้จึงถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย ทั้งแหล่งเรียนรู้ขนาดใหญ่อย่างพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อควาเรียม หอดูดาว ท้องฟ้าจำลอง สวนพฤกษศาสตร์ อุทยานธรณี หรือแหล่งเรียนรู้ ที่ขนาดย่อมลงมา อาจจะเป็นมุมให้ความรู้ในสถานศึกษา ห้องว่างที่นำมาจัดแสดงนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ชุมชน สวนป่าชุมชน หรืออาจจะเป็นพื้นที่ที่เราคุ้นเคยมาตั้งแต่วัยเยาว์อย่าง สวนสัตว์ แหล่งเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและชีววิทยาแห่งแรกๆ ที่ทำให้เด็กๆ ได้เปิดประสบการณ์ทำความรู้จักสิ่งมีชีวิตจากแดนไกลที่เคยรู้จักผ่านหน้าหนังสือหรือหน้าจอ
แล้วจะทำอย่างไรให้แหล่งเรียนรู้เหล่านี้กระตุ้นความสงสัย สร้างแรงบันดาลใจ และเสริมจินตนาการให้กับผู้มาเยือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ คำตอบที่ได้จากผู้บริหารแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์หลายแห่งคือ ต้องมี ‘การสื่อสารวิทยาศาสตร์’ (Science Communication) ที่ให้ข้อมูลอย่างถูกต้องแม่นยำ มีความยากของเนื้อหาที่พอเหมาะพอดี และมีความดึงดูดใจเพียงพอที่จะทำให้ผู้มาเยือนรู้สึกสนุกที่จะเรียนรู้ อยากค้นคว้าหาคำตอบด้วยตนเองต่อไป
แหล่งเรียนรู้หลายแห่งจึงนำความรู้เชิงวิชาการมาย่อยแล้วสื่อสารให้เข้าใจง่าย ออกแบบกิจกรรมและนิทรรศการให้เปิดมุมมองใหม่ ฝึกทักษะและกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ สร้างประสบการณ์ในการเรียนรู้อย่างสนุกสนาน เกิดทัศนคติที่ดีซึ่งจะนำไปสู่การเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์กับชีวิตประจำวัน การวางแผนด้านการศึกษา และการประกอบอาชีพในอนาคต
ตัวอย่างหนึ่งของความพยายามที่จะทำให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุก คือพิพิธภัณฑ์และบริการของ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ในเวิ้งพิพิธภัณฑ์ย่านรังสิต มีพิพิธภัณฑ์อยู่หลายแห่ง ทั้งพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ตัวอาคารรูปลูกบาศก์คู่โดดเด่นสะดุดตา พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า นอกจากนี้ อพวช. ยังมีจัตุรัสวิทยาศาสตร์ในอีกหลายพื้นที่
จุดเด่นของพื้นที่เรียนรู้เหล่านี้คือมีนิทรรศการแบบสื่อสัมผัส (Hands-on) การนำเสนอเนื้อหาด้วยวิธีต่างๆ ที่น่าจดจำ เช่น การแสดงโชว์และละครวิทยาศาสตร์ (Science show and Science drama) ที่นำวิทยาศาสตร์ใกล้ตัวมาผูกเรื่องราวเป็นการแสดงและละคร อีกทั้งกิจกรรมต่างๆ ตามวาระโอกาสที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้จากการลงมือทำ เกมและของเล่นทางวิทยาศาสตร์ การทดลองที่หยิบโจทย์ปัญหามาจากชีวิตประจำวัน มุมนักประดิษฐ์ และการแนะแนวความรู้ด้านอาชีพในสายงานวิทยาศาสตร์
นอกจากนี้ยังมีบริการนอกพื้นที่แบบคาราวานวิทยาศาสตร์ และ นิทรรศการเคลื่อนที่ ซึ่งออกไปจัดกิจกรรมให้โรงเรียนรวมถึงชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ห่างไกล นอกจากนี้ FUTURIUM หรือ ศูนย์นวัตกรรมแห่งอนาคต ที่กำลังจะเปิดให้บริการในเวลาอันใกล้ กำลังจะเติมเต็มเป้าหมายที่สำคัญ คือการช่วยให้เยาวชนมีโอกาสสำรวจเส้นทางอาชีพในสายงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์อีกกว่า 20 อาชีพ
นอกเหนือจาก ‘คอนเทนต์’ หลัก ซึ่งได้แก่นิทรรศการและกิจกรรม บางครั้งบางคราวแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ก็พยายามนำเสนอเนื้อหาแบบน่าตื่นตาตื่นใจ เพื่อกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น ไม่ว่าจะเป็นการนำศิลปะ หรือความบันเทิงมาผสมผสานกระบวนการถ่ายทอดความรู้ เช่น งาน Night at the Museum ของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เปิดพิพิธภัณฑ์ในความดูแลทั้ง 4 แห่ง ภายใต้ธีม ‘The NOCTURNAL’ หรือ สีสันแห่งธรรมชาติยามค่ำคืน ให้นิสิตมาร่วมนำเสนอความรู้ในภาษาที่เข้าใจง่าย เน้นใช้ความรู้จากการเรียนการสอนมาถ่ายทอดผสมผสานกับหลักการทางศิลปะแบบ ‘Science Meets Art’ เน้นแสงสีที่สวยงาม ทั้งเรื่องของสิ่งมีชีวิตที่หาดูได้ยากจาก พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การจัดแสดงวิวัฒนาการการถ่ายภาพและสารเรืองแสงจาก พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพ สีสันของแร่ธาตุภายใต้สิ่งแวดล้อมต่างๆ จาก พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา รวมถึงดอกไม้เรืองแสงและปรากฏการณ์ทะเลเรืองแสง จากพิพิธภัณฑ์พืช ศาสตราจารย์กสิน สุวตะพันธุ์
ศูนย์พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็เป็นอีกแห่งที่จัดงาน Night at the Museum อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นงาน ราตรีเรืองแสง (Museum Glow Night) ที่ชวนมาดูแสงไฟ ฟังดนตรีสด เล่นเกมงานวัด พร้อมอาหารอร่อยๆ หรือกิจกรรม ‘บ้านผีสิง’ ที่จัดติดต่อกันมาแล้วหลายปี ในแต่ละปีธีมงานสุดจะสร้างสรรค์และไม่เคยซ้ำ เช่น ‘หมู่บ้านผีไทย’ หรือ ‘7 ป่าช้าอาถรรพ์’ ที่เสริมบรรยากาศสยองขวัญให้กับห้องนิทรรศการวิทยาศาสตร์ มองเผินๆ อาจรู้สึกว่ากิจกรรมเหล่านี้เหมือนจะไม่มีเนื้อหาที่หนักแน่นด้วยสาระวิชาการ แต่ ผศ.ดร. ไชยพงษ์ เรืองสุวรรณ รองผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ ได้กล่าวเอาไว้ในงานเสวนาหัวข้อ ‘แหล่งเรียนรู้สู่แรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม’ ว่า การลดทอนเนื้อหาให้ง่ายลงในงานเทศกาลเหล่านั้น ไม่ได้ลดทอนคุณค่าของพิพิธภัณฑ์ในด้านการเป็นแหล่งเรียนรู้แต่อย่างใด หากกลับกระตุ้นให้ผู้มาเยือนแสดงความสนใจกับสถานที่ และอยากเข้ามาเรียนรู้จากพิพิธภัณฑ์ในโอกาสปกติมากยิ่งขึ้น
สร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม สร้างเครือข่าย กระจายความรู้สู่ชุมชน
นอกจากบทบาทในการเสริมสร้างจินตนาการที่เป็นรากฐานแห่งการวางแผนอนาคตของแต่ละบุคคล แหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ยังช่วยขับเคลื่อนสังคมในด้านอื่นๆ ได้ด้วย เช่น การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือการกระจายความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สู่ชุมชน แหล่งเรียนรู้หลายแห่งมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมโลกอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของการกำเนิดโลก ทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำกัด ความสมดุลของระบบนิเวศ สิ่งมีชีวิตประเภทต่างๆ ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญอยู่ และภาวะโลกร้อน เป็นต้น เมื่อรวมกับกิจกรรมที่จัดขึ้นตามวาระโอกาส บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ แหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์เหล่านี้จึงมีศักยภาพในการสื่อสารประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมพร้อมตัวอย่างที่ชัดเจน จับต้องได้
สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นหนึ่งในแหล่งเรียนรู้ที่ยึดหลัก ‘Conservation through Research and Education’ บ่อยครั้งที่จัดกิจกรรมสื่อสารประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ อย่างเรื่อง Carbon Footprint หรือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติใกล้ตัว เพื่อให้ผู้รับสารเข้าใจและตีความได้อย่างเหมาะสม เช่น เมื่อเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี หรือแพลงก์ตอนบูม เราควรจะทำอย่างไร ลงเล่นน้ำได้หรือไม่ อีกหลายครั้งที่ทำกิจกรรมค่ายเยาวชนร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เกิดเป็นเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ จัดทำเส้นทางเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์เชื่อมโยงกับแหล่งเรียนรู้ใกล้เคียงในจังหวัดชลบุรีอย่างสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จัดกิจกรรมตลาดนัดจำหน่ายสินค้าชุมชน หรือร่วมมือกับกลุ่มที่รณรงค์ในเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างกลุ่ม Trash Hero ที่ชวนกันมาเก็บขยะบนชายหาด
แหล่งเรียนรู้อาจจับมือกับชุมชนนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาต่อยอดพัฒนาท้องถิ่น คือ อุทยานธรณีสตูล (Satun Geopark) ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานธรณีโลกโดยองค์การยูเนสโก อุทยานธรณีมีพื้นที่กว้างใหญ่ครอบคลุม 4 อำเภอ และมีความโดดเด่นในฐานะแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่มีอายุกว่า 400 ล้านปี บวกกับลักษณะทางธรณีวิทยาที่สวยงาม ทั้งเทือกเขาหินปูน ถ้ำโบราณ หลุมยุบที่มีป่าดึกดำบรรพ์ เกาะแก่งต่างๆ เมื่อรวมกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้ว อุทยานธรณีจึงร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ส่งเสริมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรในพื้นที่ ทั้งการอบรมมัคคุเทศก์ท้องถิ่น พัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นที่ส่งเสริมให้คนในพื้นที่มีความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรในพื้นที่มากยิ่งขึ้น เรียกได้ว่าใช้ความรู้ทางธรณีวิทยาเป็นสื่อในการกระตุ้นให้ชุมชนตระหนักในความสำคัญของทรัพยากร และนำทรัพยากรเหล่านี้มาใช้ในกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้
แม้ว่าเรื่องของสัตว์โลกล้านปีอาจจะดูเป็นชุดความรู้ที่อยู่ในอดีตอันไกลโพ้น ไม่รู้ว่าจะเชื่อมโยงกับปากท้องหรือชีวิตในปัจจุบันได้อย่างไร แต่การใช้เทคนิคง่ายๆ อย่างการตั้งชื่อเมนูอาหารด้วยชื่อของฟอสซิลที่พบได้ในพื้นที่ก็ช่วยให้คนในชุมชนเกิดความคุ้นเคยและเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว
‘นอติลอยด์ผัดฉ่า’ คือชื่อของเมนู ‘ปลาหมึกผัดฉ่า’ นอติลอยด์ (Nautiloid) เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะเป็นแท่งกรวย อายุประมาณ 470 ล้านปีก่อน ถือว่าเป็นบรรพบุรุษของเซฟาโลพอด จัดอยู่ในชั้นเดียวกับหมึกและหมึกยักษ์ เป็นหนึ่งในซากดึกดำบรรพ์ที่พบได้ที่อุทยานธรณีสตูล
‘ยำไข่ไตรโลไบต์’ แท้จริงแล้วคือ ‘ยำไข่แมงดาทะเล’ ไตรโลไบต์ (Trilobite) เป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ ที่มีลักษณะคล้ายกับแมงดาทะเล มีหลากหลายสายพันธุ์ และทยอยสูญพันธุ์ไปตั้งแต่ช่วงการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิตบนโลก เรื่อยมาจนถึง 250 ล้านปีก่อน
นอกจากนี้ยังมีการร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่สะท้อนอัตลักษณ์ของอุทยานธรณี อย่างการทำผ้าบาติกลวดลายฟอสซิล และย้อมสีดิน Terra rossa ที่เกิดจากการกร่อนสลายของชั้นหินปูน กลายเป็นสินค้าที่มีเรื่องราวน่าสนใจและมีความเชื่อมโยงกับท้องถิ่น
อาจฟังดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เยาวชนหลายคนที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมเหล่านี้ก็เกิดความรู้สึกประทับใจจนเลือกสานต่อความสนใจในสายงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์หรือการท่องเที่ยว ส่วนครูอาจารย์ในพื้นที่ก็หยิบยกเอาทรัพยากรใกล้ตัวมาเป็นกรณีศึกษา สร้างเสริมความภาคภูมิใจให้กับผู้เรียนว่าในจังหวัดของตนเองก็มีอุทยานธรณีแห่งแรกของประเทศ และมีซากดึกดำบรรพ์ที่สำคัญมากมาย
ร่วมสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์
ปฏิเสธไม่ได้ว่าแหล่งเรียนรู้เหล่านี้มีความสำคัญ และมีผลต่อการสร้างทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ บ่มเพาะการคิดเชิงวิพากษ์ และการคิดที่เป็นเหตุเป็นผล และก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นเดียวกันว่ามีทั้งข้อจำกัดและความท้าทายหลายประการเกี่ยวกับแหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในประเทศไทย
ประการแรก แหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยที่มีกำลังในการจัดกิจกรรม และนิทรรศการที่กระตุ้นให้เกิดความสนใจโดยส่วนมากได้รับงบประมาณในการบริหารจัดการจากรัฐบาลจากภาครัฐ รวมถึงแหล่งเรียนรู้ที่กล่าวถึงไปในบทความนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานภาครัฐ หรือสถาบันการศึกษา ยังมีแหล่งเรียนรู้อีกหลายแห่งที่ขาดทั้งงบประมาณ กำลังคน และความรู้ในการบริหารจัดการ เมื่อเทียบทรัพยากรที่มีอยู่ในมือกับภาพของแหล่งเรียนรู้ในอุดมคติ บางครั้งก็ต้องยอมรับว่าสองสิ่งนี้ดูจะสวนทางกัน
ประการที่สอง ต่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ได้รับงบประมาณจากภาครัฐ แต่ก็ใช่ว่างบประมาณนั้นจะได้รับแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย แหล่งเรียนรู้บางประเภทที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิต เช่น สวนสัตว์ อควาเรียม มีค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์และดูแลสถานที่ค่อนข้างสูง หลายแห่งต้องหาช่องทางสร้างรายได้เพิ่มเติม บางแห่งมีกำลังคนจำกัด เจ้าหน้าที่แต่ละคนต้องทำงานหลายหน้าที่ หลายแห่งต้องระดมสมองจัดกิจกรรมให้ตรงกับนโยบายของต้นสังกัด เพื่อให้ได้รับงบประมาณมาจัดกิจกรรมเสริม
ประการที่สาม เสียงสะท้อนจากผู้ดูแลแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในส่วนภูมิภาคได้สะท้อนว่า สังคมในต่างจังหวัดหลายแห่ง ยังผูกติดกับความเชื่อดั้งเดิมมากกว่าแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ เป้าหมายสำคัญของการดำเนินชีวิตคือเพื่อปากท้องและวิถีความเป็นอยู่ วิทยาศาสตร์ดูจะเป็นเรื่องไกลตัวจนทำให้เป็นสิ่งที่แปลกแยกจากชีวิตประจำวัน ผู้ที่ทำหน้าที่สื่อสารวิทยาศาสตร์จึงต้องพยายามค้นหากระบวนการถ่ายทอดความรู้ที่สอดคล้องกับสภาพสังคมแต่ละแห่ง
ประการที่สี่ สิ่งที่ประเทศไทยขาดไป คือการให้ความรู้เกี่ยวกับเส้นทางอาชีพที่จับต้องได้ และมีประโยชน์ต่อเยาวชน น้อยนักที่จะทราบข้อมูลว่าเรียนด้านวิทยาศาสตร์แล้วสามารถประกอบอาชีพอะไรได้อีกบ้าง นอกจากอาชีพในสายสุขภาพ วิศวกรรม และนักวิจัย
ประการที่ห้า ดังนั้น การเติมเงินลงไปในระบบจึงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการสร้างสังคมวิทยาศาสตร์ การอัดฉีดงบประมาณให้กับพื้นที่เรียนรู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์จะทำให้เกิดกิจกรรมที่วูบวาบเหมือนการจุดพลุบนท้องฟ้า พอหมดทุนกิจกรรมก็ห่างหาย หากจะทำให้วิทยาศาสตร์กลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ถ่ายทอดและสื่อสารได้โดยคนทำงานที่สามารถพลิกแพลงแบบมีความคิดสร้างสรรค์ อาจจะต้องมีการสนับสนุนที่มากกว่านั้น บุคลากรในสายวิทยาศาสตร์ที่มีโอกาสได้เดินทางไปร่วมงานเทศกาลหรือกิจกรรมส่งเสริมวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สิ่งที่ประเทศไทยขาดไปน่าจะเป็นการส่งเสริมให้เกิด ‘ระบบนิเวศการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์’ ที่แหล่งเรียนรู้ คน และฝ่ายนโยบาย จะได้พบปะเพื่อสร้างความร่วมมือ แลกเปลี่ยนทรัพยากร อัปเดตข้อมูลข่าวสารในแวดวง และผลักดันให้ฐานรากของการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของไทยเข้มแข็งกว่าที่เป็นอยู่
ในต่างประเทศ หลายพื้นที่มีกิจกรรมประเภท Science หรือ STEAM Festival ที่รวมพลบุคคลที่มีอิทธิพลและผู้นำความคิดในสายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม การศึกษา หรือแม้กระทั่งสายศิลปะ มาจัดกิจกรรมร่วมกันเป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยทั่วไปงานเทศกาลวิทยาศาสตร์จะมีทั้งนิทรรศการ เกม ซุ้มการทดลอง เวทีทอล์กสร้างแรงบันดาลใจ เปิดตัวหนังสือใหม่ ตัวอย่างงานเทศกาลชั้นนำในยุโรป เช่น เทศกาลวิทยาศาสตร์เมืองเชลท์แนม (Cheltenham Science Festival) สหราชอาณาจักร ที่หยิบยกเอาทุกเรื่องราวของวิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวันมานำเสนอตั้งแต่เรื่องอาหารการกิน สุขภาพ เทคนิคของมิจฉาชีพ ไปจนถึงเรื่องการเลือกตั้ง หรือเทศกาลวิทยาศาสตร์เมืองโกเทนเบิร์ก (Gothenburg International Science Festival) เทศกาลวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในสวีเดน ที่เปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหญ่พบกับนักเรียน นักศึกษา ผู้ประกอบการ และประชาชน กระตุ้นให้เกิดความร่วมมือในด้านต่างๆ ทั้งการเรียนการสอนในทุกระดับ การวิจัย หรือการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รวมถึงเส้นทางอาชีพในสายวิทยาศาสตร์ด้วย ในอีกหลายเมืองในยุโรป เครือข่ายห้องสมุดประจำเมืองก็จับมือกับหน่วยงานอื่นๆ จัดเทศกาลการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ประจำเมือง เช่น เครือข่ายห้องสมุดประชาชนเมืองโคโลญจน์ เยอรมนี และเครือข่ายห้องสมุดประชาชนเมืองบาร์เซโลนา สเปน
นัยสำคัญของการมีงานเทศกาลประเภทนี้ ไม่ใช่แค่การมีกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่ สามารถดึงดูดเยาวชน นักวิทยาศาสตร์ดาวรุ่ง นักเขียนชื่อดัง หรือแม้กระทั่งนักท่องเที่ยวให้มาร่วมงาน แต่การจัดงานได้สำเร็จต่อเนื่องทุกปี จนงานเทศกาลเหล่านี้มีผลกระทบเชิงบวกต่อประชาชนในพื้นที่ นำไปสู่การร่วมมือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ บ่งบอกถึงการมีเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ การศึกษา เยาวชน ทั้งภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น เรียกได้ว่าครบองค์ประกอบของระบบนิเวศการเรียนรู้ ที่ต้องมีทั้ง
คน (นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย นักคิด นักสื่อสาร คอนเทนต์ครีเอเตอร์)
เนื้อหา (การเรียนการสอนในห้องเรียน แหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์นอกห้องเรียน กิจกรรมต่างๆ)
ข้อมูล (ความต้องการในการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์)
เทคโนโลยี (ช่องทางในการนำเสนอความรู้ หรือแพลตฟอร์มที่จะช่วยให้คนเข้าถึงการเรียนรู้) และ
การกำกับดูแล (ผู้ดูแลด้านนโยบาย งบประมาณ การบริหารจัดการ)
เสียงสะท้อนจากวงเสวนาในงาน “Empowering Science Communication and Science Museums” บ่งบอกชัดเจนว่า บุคลากรในสายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการศึกษา ของไทยต่างมีทรัพยากรที่แตกต่างกัน บ้างมีไอเดียแต่ไม่มีงบประมาณ บ้างมีงบประมาณแต่ไม่มีกำลังคน ความร่วมมือระหว่างแหล่งเรียนรู้อาจทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทรัพยากร แหล่งเรียนรู้ใหญ่ๆ ที่มีทั้งกำลังคน และฝ่ายสร้างสรรค์พัฒนาองค์ความรู้ ก็อาจจะทำหน้าที่แบ่งปันประสบการณ์ให้กับแหล่งเรียนรู้อื่นๆ นิทรรศการบางอย่างจัดแสดงในพื้นที่ของตัวเองบ่อยครั้งแล้ว แต่อาจจะเป็นของใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับพื้นที่อื่น การสร้างความร่วมมือกับสื่อออนไลน์ อินฟลูเอนเซอร์ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ หรือแม้กระทั่งภาคการท่องเที่ยว ก็อาจจะนำมาซึ่งการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในมุมมองที่ต่างออกไป การร่วมมือกับภาคเอกชนก็อาจจะนำมาซึ่งโอกาสใหม่ๆ ได้อีกเช่นกัน หากมีระบบนิเวศอย่างนี้…สังคมไทยคงเป็นสังคมที่มีรากฐานการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เข้มแข็งได้ไม่ไกลเกินฝัน
ที่มา
การเสวนาหัวข้อ “ทิศทาง และโอกาสของการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในสังคมไทย” ในงาน “Empowering Science Communication and Science Museums” วันที่ 27 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (Online)
การเสวนาหัวข้อ “แหล่งเรียนรู้สู่แรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม” ในงาน “Empowering Science Communication and Science Museums” วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (Online)
บทความ “Cheltenham Science Festival” จาก visitcheltenham.com (Online)
บทความ “สร้างระบบนิเวศการเรียนรู้…สู่การพัฒนาผู้เรียนเป็น Lifelong Learner” จาก educathai.com (Online)
บทความ “นักสื่อสารวิทยาศาสตร์: อาชีพสำคัญที่ภาครัฐมองข้าม” จาก waymagazine.org (Online)
บทความ “สำรวจอุทยานธรณีโลกสตูล สร้างองค์ความรู้สู่ ‘นวนุรักษ์แพลตฟอร์ม’” จาก nstda.or.th (Online)
Cover Photo: องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ