‘มายาคติ’ อย่างหนึ่งของสังคมทุนนิยมไทย (และที่อื่นๆ เช่นกัน) คือความคิดที่ว่าการศึกษาจะช่วยทำให้เราหลุดพ้นจากความยากจน อย่างน้อยเมื่อหนึ่งครอบครัวคิดหรือเห็นด้วยกับแนวคิดเช่นนี้ ก็อาจทำให้อีกหลายครอบครัวมีข้อสรุปไปทางเดียวกัน จนกลายเป็นว่าการศึกษาจะช่วยเราแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมภาพใหญ่ได้
ทำไมการศึกษาถึงถูกมองว่าเป็นกุญแจสำคัญแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคม หรืออย่างน้อยๆ คือการเปิดประตูจากชนชั้นหนึ่งไปสู่อีกชนชั้นหนึ่ง?
หนังสือ ‘The Melancholia of Class’ (แปลเป็นภาษาไทยน่าจะได้ว่า ‘ความซึมโศกของชนชั้น’) โดยผู้เขียน Cynthia Cruz ได้บอกเล่าความขมขื่นจากความย้อนแย้งของตัวตนของเธอ เมื่ออาจารย์ที่ปรึกษาสมัยเรียนตั้งคำถามกับเธอว่า “เธอก็เป็นคนจนเหมือนกันหรือ ทำไมดูไม่เหมือนเลย?”
คำถามนี้ทำให้ Cruz ตั้งคำถามกับตัวตนของตัวเองมาตลอด เธอมาจากครอบครัวคนยากจน-ชนชั้นแรงงานในสหรัฐอเมริกา เป็นคนที่สนใจในดนตรี การเขียนกวี และแฟชั่น ส่วนหนึ่งเป็นวัฒนธรรม ‘ขบถ’ ต่อสิ่งที่สังคมบังคับให้ยอมรับนับถือ ทั้งเสียงดนตรีที่ดูจะคล้ายคลึงกันหมดของดนตรีกระแสหลัก มิหนำซ้ำยังไม่ได้พูดเรื่องชีวิตหรือวิพากษ์สังคมแม้แต่น้อย
ทำไมเธอถึงถูกถามอย่างนั้น รูป-รส-กลิ่น-เสียง ของเธอไม่เหมือนคนจนใช่ไหม? อาจจะใช่ เพราะหากมองจากภายนอก เธอเป็นผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งกล่าวได้ว่า ‘แต่งตัวดี’ (สำหรับเธอคือการนำความรู้สึกข้างในออกมา และเยียวยาผ่านการแต่งตัวภายนอก) เช่นเดียวกับที่เธอสามารถเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ พูดง่ายๆ คือมีการศึกษาในแบบที่ชนชั้นกลางพึงมี แต่เหตุใดเธอถึงไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นชนชั้นกลางเลยแม่แต่น้อย
เธอบอกเล่าผ่านตัวอักษรว่าเธอมักจะรู้สึกหรือมีภาพจำรากเหง้า-พื้นเพความเป็นคนจนอยู่เสมอ หรือในทางกลับกัน ชีวิตเธอที่เป็นวันนี้อยู่ได้ เพราะชีวิตตอนเด็กของเธอยากลำบาก มันทำให้รู้สึกแปลกแยก เป็นอื่น ถ้าใครเคยสัมผัสบรรยากาศในโรงเรียนที่สอนตามหลักสูตรและระบบการศึกษาแบบไทยๆ ก็คงพอสัมผัสได้ว่าคนที่มักจะได้รับ ‘แสง’ เฉิดฉายอยู่เสมอมาจากชนชั้นไหน และชนชั้นไหนที่อับแสงในโรงเรียน
Cruz บรรยายความรู้สึกในวัยเรียนไว้ในทำนองเดียวกัน เพราะเธอก็รู้สึกแปลกแยกจากเพื่อนชนชั้นกลางส่วนใหญ่
เรื่องราวเกี่ยวกับระบบการศึกษา ชีวิตในโรงเรียน การถูกบูลลี่ รวมไปถึงการถูกกดทับทางสังคม เหล่านี้เห็นได้อย่างชัดเจนใน ‘School Town King- แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน’ เจ้าของรางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 29 สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม (Best Documentary) ว่าด้วยชีวิตของบุ๊ค-ธนายุทธ ณ อยุธยา และนนท์-นนทวัฒน์ โตมา สองวัยรุ่นจากชุมชนคลองเตยที่มีความใฝ่ฝันว่าอยากเป็นแร็ปเปอร์
ผลงานจากผู้กำกับ วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย แห่ง Eyedropper Fill เรื่องนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นภาคต่อจากภาพยนตร์สารคดีเรื่องก่อนของเขาในชื่อ ‘My Echo, My Shadow and Me’ ที่บันทึกความคิด ชีวิต และความฝันของเยาวชนจากคลองเตย 3 คน ผ่านบทสนทนาเรียบๆ แต่เนื้อในกลับเต็มไปด้วยความหนักหน่วงเกินต้าน
ทว่า ‘School Town King’ เปลี่ยนจากเมโลดี้โฟล์คกีตาร์ของ ‘My Echo, My Shadow and Me’ ให้กลายเป็นท่วงทำนองแสบสัน ภาพยนตร์เดินเรื่องโดยวางศูนย์กลางอยู่ที่สองเยาวชนผู้มีความฝันอยากหาเลี้ยงชีพตัวเองด้วยการเป็น ‘แร็ปเปอร์’ พาเสาะสำรวจชีวิตของพวกเขาและปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัว เผชิญอุปสรรคจากการฝืนบรรทัดฐานของสังคมที่บอกให้พวกเขาต้องเป็นคนปกติธรรมดา
ในภาพยนตร์ ฉายภาพให้เห็นว่าความหวังของทั้งสองครอบครัว ในการจะหลุดพ้นออกจากความยากจนได้ก็คือ ‘การศึกษา’ ของลูกๆ ชีวิตการศึกษาของบุ๊คในช่วงแรกนั้นไปได้สวย ทำเกรดได้ดีในช่วงมัธยมต้น เป็นนักเรียนดีเด่น แต่เมื่อเขาได้รู้จักกับทำนองเพลงแร็ปช่วงรอยต่อขึ้นม.ปลาย เขาพยายามฝึกฝน ใช้เวลาไปกับมัน นั่นทำให้เวลาที่จะใช้ไปกับการเรียนลดน้อยลง สะท้อนผ่านผลการเรียนที่ค่อยๆ ย่ำแย่
แต่อีกแง่หนึ่ง ชีวิตแร็ปเปอร์ของบุ๊คและนนท์ กลับส่องประกายแห่งความหวัง มีทั้งได้ขึ้นแสดงงานที่โรงเรียน อีเวนต์ต่างๆ ตามที่คนชวนไป หรือจัดงานแร็ปขึ้นเองเพื่อหาทุนก็มี พวกเขาร้องเพลงแร็ประบายขีวิตของ ‘คนคลองเตย’ ให้สังคมในวงกว้างได้รับรู้
ชีวิตขาขึ้นของทั้งสองคนเกิดขึ้นเมื่อยอดวิวในยูทูบเพลงแรกที่ปล่อยออกไปคือ ‘Flow Slum’ แตะถึงหลักล้าน ได้ออกรายการข่าวชื่อดัง สังคมให้ความสนใจในตัวพวกเขามากขึ้น นนท์ได้รับการช่วยเหลือจากนักการเมืองท้องถิ่นเป็นทั้งเสื้อผ้า ของใช้ใหม่เอี่ยม และเงินสด
เมื่อเวลาผ่านไป ดูเหมือนว่าโลกของการศึกษาในระบบกับโลกของเพลงแร็ป กลับไปด้วยกันไม่ค่อยได้ อย่างแรกถูกมองจากสังคมและครอบครัวว่าเป็นสิ่งที่ปูทางไปสู่การมีรายได้ดี ไม่ต้องยากจนข้นแค้นเหมือนคนรุ่นพ่อ-แม่ ส่วนโลกของเพลงแร็ปเหมือนการเต้นกินรำกินไปวันๆ ไม่มีอนาคตอันแน่นอนรออยู่ ความขัดแย้งระหว่างทัั้งสองโลกนี้จึงเป็นตัวกำหนดว่าบุ๊คและนนท์จะเลือกทางไหน
จุดเปลี่ยนที่ภาพยนตร์ได้บันทึกไว้ เกิดขึ้นเมื่อนนท์และครอบครัวต้องย้ายบ้านชั่วคราวออกจากคลองเตย เพราะบ้านเก่าในชุมชนจะถูกทุบทำลายและสร้างใหม่ ทำให้ที่บ้านต้องหาเงินจ่ายค่าเช่าเดิมที่ค้างอยู่ ขนย้ายของออกจากบ้าน และหาที่อยู่ใหม่ชั่วคราวรอวันย้ายเข้าบ้านใหม่
เหตุการณ์ช่วงนี้ส่งผลกับจิตใจของนนท์อย่างชัดเจน วันหนึ่งเขาและบุ๊คได้ไปบรรยายให้นักเรียนมัธยมโรงเรียนหนึ่งเกี่ยวกับเพลงแร็ป แต่นนท์กลับไม่มีกระจิตกระใจอยู่กับเพลงแร็ปอีกต่อไป เขานึกถึงครอบครัว นึกถึงความยากลำบากที่กำลังประสบอยู่
เมื่อเผชิญหน้ากับความเปราะบางและความยากลำบากของชีวิต สิ่งที่พอจะทำเพื่อรักษาสภาพจิตใจและปากท้องครอบครัวให้พออยู่ได้ คือการหันกลับไปหา comfort zone ของสังคม จากเดิมที่ขบถต่อสิ่งที่คนอื่นบอกให้ทำ และยึดมั่นกับสิ่งที่ตนเองเชื่ออย่างเต็มที่ สุดท้ายก็ต้องกลับไปประนีประนอม หรืออย่างมากที่สุด คือหันหลังให้ความฝันอย่างไม่มีวันหวนกลับ
ทำไมการศึกษาถึงถูกมองว่าเป็นหนทางหนึ่งของการหลุดพ้นจากความเหลื่อมล้ำ?
หากย้อนดูภาพรวมของระบบการผลิตแบบทุนนิยมในช่วงศตวรรษที่ 20 ช่วงสงครามโลกทั้งสองครั้ง จะมีสิ่งที่เรียกว่าระบบการผลิตแบบฟอร์ด (Fordism) เริ่มต้นจากบริษัทผลิตรถยนต์ฟอร์ดเป็นที่แรก ลักษณะของการผลิตแบบนี้คือการทำงานอย่างเต็มที่ แลกมากับค่าแรงสูงและสวัสดิการสังคมที่เพียงพอกับการดำรงชีวิต ความเป็นจริงของระบบทุนนิยมคือการต่อสู้ระหว่างชนชั้น-ผู้กุมปัจจัยการผลิต และ ผู้ใช้แรงงาน (ที่ไม่มีกรรมสิทธิ์อื่นใดนอกจากแรงงานและเวลา) ข้อดีของระบบการผลิตเช่นนี้ ส่วนหนึ่งทำให้เกิดความเข้มแข็งของผู้ใช้แรงงาน รวมตัวกันเป็นสหภาพและต่อรอง แต่ไม่เป็นผลดีกับตัวทุนที่เติบโตเพราะการสั่งสมทุนจากส่วนเกินของการใช้แรงงานนัก
ความพยายามโต้กลับของทุนจึงปรากฏขึ้นในช่วงปลายศตวรรษ เมื่อเกิดรัฐประหารที่ชิลีโดยนายพลออกุสโต ปิโนเชต์ ด้วยการสนับสนุนจากสหรัฐ เพื่อโค่นล้มรัฐบาลฝ่ายซ้ายในวันที่ 11 กันยายน 1973 (นี่จึงถูกเรียกว่าเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ 9/11 ก่อนสหรัฐอเมริกา) และดำเนินโปรเจกต์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เรียกว่า ‘เสรีนิยมใหม่’ (Neoliberalism)
อาจยังไม่ต้องพูดถึงรากหรือความหมายอย่างเคร่งครัดของคำ แต่โดยภาพรวมคือกระแสที่ทุนพยายามตัดขาดความรับผิดชอบของการกดขี่แรงงานมากขึ้น เปลี่ยนรูปแบบการผลิตเป็นแบบ หลังฟอร์ด (Post-Fordism) ลดสวัสดิการทางสังคม และลดการสนับสนุนโดยภาครัฐต่อแรงงาน ย้ายไปที่การขยายการเติบโตของทุนมากขึ้น
หมุดหมายที่ชัดเจนอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น คือคำพูดของมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ (Margaret Thatcher) นายกรัฐมนตรีของอังกฤษในช่วงปี 1979-1990 ที่บอกว่า ‘ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสังคม’ (There’s no such thing as society) ที่มาพร้อมกับนโยบายแปรรูปอุตสาหกรรมของอังกฤษให้เป็นเอกชน หรือ Privatization (ภาษาอย่างสวยหรูคงบอกว่า ให้กลไกตลาดทำงานอย่างเต็มที่) เพื่อให้เอกชนเข้ามาดำเนินการและเกิด ‘การแข่งขัน’
สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐบาลเข้าดำเนินกิจการต่างๆ ของสังคมน้อยลง และย้ายการบริหารจัดการไปสู่มือเอกชนมากขึ้น อาจมาในรูปแบบจ่ายผลกำไรเข้ารัฐหรือสัมปทาน ผลที่ตามมาคือเอกชนหรือภาคธุรกิจ ซึ่งมีพื้นฐานคือการแสวงหาผลกำไร มีการขูดรีดจากแรงงาน ลดสวัสดิการ หรือหากพูดในบริบทศตวรรษที่ 21 คือมีการ ‘จ้างงานแบบยืดหยุ่น’ ไม่มีสัญญาจ้างชัดเจน นำไปต่อยอดเป็นคดีความไม่ได้หากถูกละเมิด เป็นต้น
กระแสนี้เข้ามาในประเทศไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 1997-1998 หลังข้อผูกมัดจากการกู้เงินจากกองทุนการเงินโลกหรือ IMF คือ ‘การปรับโครงสร้างขนานใหญ่’ จากการดูแลของรัฐให้เข้าสู่อ้อมอกของเอกชน หรือการเป็นรัฐวิสาหกิจ เช่น ระบบโครงสร้างพื้นฐาน ไฟฟ้า การประปา แม้แต่ระบบการศึกษา
การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตเช่นนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไร้ซึ่งการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงความคิดคน สื่อกระแสหลักโอบกอดแนวคิด ‘มนุษย์ที่ไม่มีสังคม’ มนุษย์ที่ปัญหาทุกอย่างเกิดขึ้นและจบลงที่จิตใจข้างใน มนุษย์ที่มุ่งหาความสุขจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันแม้โลกภายนอกจะลุกเป็นไฟมากขนาดไหน เกิดกระแสวรรณกรรมค้นหาตัวตน เช่นเดียวกับแวดวงวิชาการที่หลุดพ้นจากข้อถกเถียงถึงโจทย์การเมืองเศรษฐกิจภาพใหญ่ กลายเป็นความพยายามค้นหาว่าควรจะบริหารจัดการโลกแบบนี้ให้คงอยู่ต่อไปอย่างไรแทน
อย่างที่บอกว่าเมื่อเราไม่มีสังคม การใช้ชีวิตประจำวันจึงเหมือนการเอาชีวิตรอด ชีวิตทุกวันจึงเหมือนการลงทุนกับตัวเองทั้งระยะสั้นและระยะยาว และการลงทุนระยะยาวอย่างหนึ่งนอกเหนือจากหุ้นกู้หรือพันธบัตร ก็คือระบบการศึกษานี่เอง
ปริญญาแต่ละใบในสังคมเปรียบเหมือนใบเบิกทางไปสู่สลิปเงินเดือนที่มากขึ้น แม้แต่ข้อมูลว่าฉันจบจากสถาบันไหน อันดับที่เท่าไหร่ของโลก ก็ยังเป็นส่วนสำคัญของการลงทุนได้ คนที่จบจากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เตรียมอุดมฯ หรือโรงเรียนภูมิภาคชั้นนำ ย่อมต่างจากคนที่จบจากโรงเรียนระดับตำบลหรือโรงเรียนวัด เช่นเดียวกับคนที่จบจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหรือธรรมศาสตร์ ย่อมต่างจากมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐอย่างเพียงพอ
นี่ไม่ใช่การเหยียดสถาบันการศึกษา หรือเหยียดชนชั้น แต่คือความเป็นจริงที่ต้องยกขึ้นมาพูดอย่างจริงจัง การบอกว่า ‘จบจากที่ไหนก็ไม่สำคัญ’ ดูเหมือนเป็นคำปลอบใจลมๆ แล้งๆ ทั้งที่ใครก็รู้ว่ามันแตกต่างกันราวฟ้ากับหุบเหว
School Town King เปิดให้เราเห็นอีกหนทางหนึ่ง นอกเหนือจากการใช้ระบบการศึกษาเป็นเหมือนการลงทุน คือการที่บุ๊คตัดสินใจลาออกจากโรงเรียน เพื่อมุ่งมั่นสู่การเป็นแร็ปเปอร์อย่างจริงจัง เขาคิดว่าการให้เวลากับมันอย่างเต็มที่จะช่วยให้เขาประสบความสำเร็จและหาเลี้ยงชีพได้ ส่วนคนที่คิดว่าระบบการศึกษายังเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าอย่างนนท์ ก็ยังเดินบนเส้นทางนั้นต่อไป เช่นเดียวกับ วิว-มุกริน ทิมดี ประธานนักเรียนผู้ตั้งใจสอบเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง และไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในหนัง คือในเวลาต่อมา วิวเป็นคนหนึ่งที่หลุดจากระบบการศึกษาในช่วงโควิด-19 ความเป็นจริงของสังคมที่วาทกรรมกระแสหลักเชิดชูนักหนาว่าไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสังคมอีกแล้ว กลับสาดซัดคนจนอย่างไม่ปราณี
สารคดีชวนให้เราย้อนกลับมาคิดว่า ถ้าระบบการศึกษาดีกว่านี้ ชีวิตของนักเรียนจะเป็นอย่างไร บุ๊คตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าคิดว่า ถ้าลดเวลาเรียนวิชาบังคับที่ทุกคนอาจไม่ได้สนใจหรือถนัดเหมือนกัน แล้วเพิ่มวิชาอื่นๆ ให้เลือกเรียนได้อย่างเสรีมากขึ้น มันจะดีแค่ไหน
แน่นอน การแก้ไขปัญหาในระบบการศึกษาควรเป็นประเด็นใหญ่ในสังคม และปัญหานี้ย่อมไม่ได้จบแค่นักเรียน แต่เชื่อมโยงไปถึงตัวครู นโยบายการจัดการศึกษา งบประมาณ การให้อิสระกำหนดหลักสูตร ฯลฯ ทว่าสิ่งที่น่าขบคิดต่อนอกเหนือจากระบบการศึกษา คือระบบสังคมภาพใหญ่ ตั้งแต่รัฐสวัสดิการ สิทธิการเข้าถึงการรักษาพยาบาล สิทธิในที่อยู่อาศัย ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของสังคมที่จะช่วยให้ทุกคนได้มีชีวิตอย่างเต็มภาคภูมิ โดยไม่ต้องคิดว่าแต่ละวันจะซุกหัวนอนที่ไหน จะหาอะไรมาประทังท้องให้อิ่ม
เพราะถึงที่สุดแล้ว การตั้งความหวังว่าปัญหาความยากจน (ในระดับปัจเจก) จะถูกแก้ได้ด้วยการศึกษา คือวิธีคิดที่สะท้อนว่าปัญหาสังคมต้องเริ่มต้นและจบลงด้วยตัวของปัจเจกเอง
ที่มา
Cover Photo : School Town King