หากพูดถึง Edupreneur หรือกลุ่มนักขับเคลื่อนการศึกษาด้วยนวัตกรรมที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย เชื่อว่าหลายคนคงจะนึกถึง Saturday School Foundation หรือมูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์ ขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ องค์กรด้านการศึกษาแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 โดย ยีราฟ – สรวิศ ไพบูลย์รัตนากร ซึ่งจบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ และทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ตามสายงานที่เรียนมาอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนจะเริ่มตั้งคำถามกับตนเองว่าสิ่งที่เขาอยากทำจริงๆ คืออะไรกันแน่ และค้นพบคำตอบว่าเขาอยากทำงานที่ได้ช่วยแก้ปัญหาสังคม โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาที่ถือว่าเป็นรากฐานของทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
เมื่อคิดได้ดังนั้นยีราฟจึงไปสมัครเป็นครูอาสาในโครงการของ Teach for Thailand องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มีเป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาในประเทศไทย การตัดสินใจครั้งนั้นทำให้เขามีโอกาสได้ทำงานเป็นครูสอนคณิตศาสตร์ในโรงเรียนขยายโอกาสแห่งหนึ่งย่านบางนาเป็นเวลา 2 ปี เมื่อได้คลุกคลีกับนักเรียนซึ่งส่วนใหญ่มาจากครอบครัวยากจน สภาพแวดล้อมทางบ้านไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่เท่าไรนัก ยีราฟจึงเกิดไอเดียในการจัดกิจกรรมนอกห้องเรียนเพื่อเสริมสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ด้วยความตั้งใจอยากให้อนาคตของชาติได้ค้นพบศักยภาพสูงสุดของตนเองผ่านการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง
เขาเริ่มจากการจัดฐานกิจกรรมในวันวิทยาศาสตร์ ต่อยอดไปสู่การพานักเรียนออกไปทัศนศึกษานอกห้องเรียน และชักชวนเพื่อนๆ ที่มีความรู้ความสามารถหลากหลายมาร่วมกันเป็นครูอาสาทุกวันเสาร์ เพื่อสอนวิชาที่แตกต่างจากวิชาหลักในห้องเรียน โดยเป็นวิชาที่เด็กๆ เลือกสรรมาแล้วว่าพวกเขาอยากเรียนรู้สิ่งนี้จริงๆ จาก 1 วิชานอกห้องเรียนใน 1 โรงเรียนเมื่อปี 2557 มาถึงวันนี้ Saturday School กำลังเดินทางเข้าสู่ปีที่ 10 โดยขยายผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง จนมีอาสาสมัครกว่า 4,000 คน และมีจำนวนนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการนับหมื่นคน
Edupreneur ฟันเฟืองในการขับเคลื่อนการเรียนรู้แห่งอนาคต
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจเมื่อพูดถึงปัญหาด้านการศึกษาไทยคือ เราต้องยอมรับว่าแม้การศึกษาจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ แต่ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายหลายยุคสมัยก็ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นลำดับรอง เมื่อเทียบกับปัญหาด้านอื่นๆ ของประเทศ หากจะแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาอย่างยั่งยืนจึงจำเป็นต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้าง ซึ่งอาจยังไม่สามารถประสบความสำเร็จได้อย่างสมบูรณ์แบบภายในระยะเวลาอันสั้น
แต่การมอบโอกาสทางการเรียนรู้ที่เหมาะสมแก่เด็กและเยาวชนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถรั้งรอได้ เพราะการศึกษาคือต้นทุนชีวิตที่ช่วยปูทางสู่อนาคตได้อย่างเป็นรูปธรรม การเกิดขึ้นของ Edupreneur ที่มีความตั้งใจอยากช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้แก่สังคมไทย จึงถือเป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยยังคงมีความหวัง หากโครงการเล็กๆ เริ่มต้นได้ดีและประสบความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ ย่อมนำไปสู่การต่อยอดขยายผลให้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ขึ้นได้ในอนาคต และ Saturday School ก็นับว่าเป็น Edupreneur องค์กรหนึ่งที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง
แบงค์ – วุฒิพงษ์ วงษ์ชัยวัฒนกุล คนรุ่นใหม่ที่เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมกับ Saturday School ในฐานะอาสาสมัคร และปัจจุบันรับตำแหน่งเป็น Project Manager (Volunteer Projects) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
“โจทย์หลักของ Saturday School คือเราอยากสร้างพื้นที่ให้น้องๆ และผู้ใหญ่ที่เป็นอาสาสมัครได้เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อขยายโอกาสให้น้องๆ ได้เรียนรู้สิ่งที่สนใจนอกเหนือจากวิชาในห้องเรียนปกติ เด็กบางคนมาจากครอบครัวฐานะยากจน หลายครั้งเขามีโอกาสเข้าถึงแหล่งเรียนรู้น้อยกว่าเพื่อนๆ วัยเดียวกัน แต่โครงการนี้ทำให้เขาได้เปิดโลกการเรียนรู้ผ่านครูอาสาที่มีความเชี่ยวชาญหลายสาขาวิชา โดยมีระยะเวลาในการสอนยาวนานต่อเนื่องเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนจริงๆ”
ออกแบบการเรียนรู้โดยเริ่มต้นจากความสนใจของผู้เรียน
วิชาที่เปิดสอนในห้องเรียนวันเสาร์จะคัดเลือกมาจากการสอบถามเด็กๆ ว่าอยากเรียนรู้เรื่องอะไร จากนั้นจึงหาครูอาสาผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์นั้นๆ มาเป็นผู้สอน หลักสูตรจึงมีทั้งวิชาหลักที่ในโรงเรียนมีสอนอยู่แล้ว แต่ครูอาสาจะนำการสอนแบบ Active Learning มาปรับใช้ โดยมีเกมและกิจกรรมสนุกๆ เป็นกระบวนการหลัก เพื่อให้เด็กๆ ได้สัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้อีกรูปแบบนอกเหนือจากการเรียนในตำราตามปกติ
นอกจากนี้ยังมีวิชาเสริมทักษะที่ตอบโจทย์ความต้องการของเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นวิชาที่พวกเขาอยากเรียนรู้และนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างเช่นการทำอาหาร ศิลปะ ดนตรี การเต้น มวยไทย อีสปอร์ต ตัดต่อวิดีโอ เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ออกแบบสติกเกอร์ไลน์ การเงิน การตลาด การลงทุน ถ่ายภาพ ดูดวง การแสดง หรือแม้กระทั่งการเล่าเรื่องบนโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นอาชีพในฝันของเด็กหลายคน แต่โรงเรียนทั่วไปหลายแห่งยังไม่มีหลักสูตรที่สอนในเรื่องเหล่านี้
กุ๊ก – ณาฏฐิพร มลิวรรณ Fundraising and Developing Manager ประจำ Saturday School เล่าเสริมว่า “เราเคยไป school visit ที่โรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่ง ได้ฟังวิสัยทัศน์ของผู้ก่อตั้งซึ่งเขาบอกว่าหลังบ่ายสองจะเน้นให้เด็กๆ ทำกิจกรรมนอกห้องเรียน ไปเล่นกีฬาหรือทำสิ่งต่างๆ ตามความสนใจ และจากการสำรวจความคิดเห็นของเด็กๆ ในโรงเรียน แม้เด็กบางคนจะยังไม่แน่ใจว่าอนาคตอยากทำอาชีพอะไร แต่หลักสูตรของโรงเรียนทำให้เขาได้รู้ว่าแพสชันของตัวเองคืออะไร และเขาดีใจมากๆ ที่โรงเรียนมีพื้นที่ให้นักเรียนได้ทำสิ่งที่สนใจอย่างเต็มที่ ซึ่งกุ๊กคิดว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ควรอยู่แค่ในโรงเรียนนานาชาติ ทำไมน้องๆ อีกหลายแสนคนในประเทศไทยถึงไม่ได้รับโอกาสแบบนี้ Saturday School จึงพยายามขยายโอกาสเพื่อให้น้องๆ ได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่”
เมื่อสอบถามแบงค์ที่มีโอกาสคลุกคลีกับเด็กๆ วัยเรียนมากเป็นพิเศษ ผ่านบทบาทของอาสาสมัครและผู้จัดการโครงการ ว่าเด็กส่วนใหญ่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรในระบบการศึกษาไทย แบงค์ให้ข้อมูลกับเราว่า
“น้องๆ เคยบอกกับเราว่าเขาอยากเห็นการเรียนการสอนที่สนุกขึ้น เราพบว่าน้องบางส่วนมีความกลัววิชาในห้องเรียน กลัวคณิตศาสตร์ กลัวความผิดพลาด กลัวคะแนนสอบออกมาไม่ดี ซึ่งผมคิดว่ากลไกที่กำกับทุกคนในระบบการศึกษาไทย มันเหมือนเป็นโซ่ที่รัดทุกคนไว้ ตั้งแต่นักเรียน ครู ไปจนถึงผู้ใหญ่ที่กำหนดนโยบาย ครูต้องสอนตามหลักสูตรที่กำหนดไว้ กระทรวงมีตัวชี้วัดที่ต้องไปให้ถึง ถ้าอยากให้การเรียนรู้ในห้องเรียนสนุกและตอบโจทย์ความต้องการของเด็กมากขึ้น เราควรคลายโซ่เหล่านี้ที่รัดไว้”
พลังอาสาสมัครคือกลไกสำคัญในการส่งต่อองค์ความรู้
ก่อนหน้านี้กุ๊กก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เคยทำงานอาสาร่วมกับ Saturday School ตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย หลังจากนั้นเมื่อมีความพร้อมมากขึ้น เธอจึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรอย่างเต็มตัว โดยกุ๊กบอกเล่าประสบการณ์ในการเริ่มเข้ามาทำงานอาสาสมัครว่า
“ส่วนตัวเราสนใจปัญหาด้านการศึกษาอยู่แล้ว และรู้สึกว่าสังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำมากเลย ซึ่งสิ่งที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลงคือการส่งเสริมเรื่องการศึกษา เราเลยพยายามหาช่องทางเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานด้านนี้ ช่วงแรกที่เราเข้ามาเป็นอาสาสมัครทาง Saturday School ทำโครงการร่วมกับโรงเรียนทั่วกรุงเทพมหานครประมาณ 10 โรงเรียน แล้วเขาก็ขยายผลออกไปเป็น 50 กว่าโรงเรียน เราเลยมองเห็นโอกาสและอยากเข้ามามีส่วนร่วมในการขยายโครงการให้ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ แต่ยังรวมถึงจังหวัดอื่นๆ ด้วย ซึ่งตอนนี้ก็มีอีก 9 จังหวัดที่ Saturday School ขยายโครงการออกไปนอกกรุงเทพมหานคร”
แบงค์ขยายความเพิ่มเติมว่า “บทบาทสำคัญของ Saturday School คือการออกแบบโครงการให้เกิดการเรียนการสอนได้จริง และคาดหวังว่าสิ่งที่มอบให้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวน้องๆ เราจึงกำหนดระยะเวลาในการสอนแต่ละวิชาไว้ที่ประมาณ 7-10 สัปดาห์ ซึ่งค่อนข้างยาวนานประมาณหนึ่งเมื่อเทียบกับโครงการอาสาอื่นๆ เราจึงต้องการอาสาสมัครที่ตั้งใจจริง ในการเข้าร่วมกิจกรรมตั้งแต่ต้นจนจบโครงการ เมื่อได้ครูอาสามาแล้วเราก็จะมีการจัดอบรมหัวข้อต่างๆ ที่จำเป็นต่อการทำกิจกรรม เช่น ข้อกฎหมายคุ้มครองเด็ก ทักษะการจัดการห้องเรียน เทคนิคการสอน อาสาสมัครของเราทำงานอย่างเข้มข้นและตั้งใจมากในการส่งมอบกิจกรรมที่สร้างผลกระทบเชิงบวก เพื่อให้น้องๆ เข้าถึงวิชาความรู้ใหม่ๆ และมองเห็นความเป็นไปได้ในการประกอบอาชีพที่หลากหลาย ได้เปิดโลกเปิดประสบการณ์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน นอกจากนี้เรายังมีหลักเกณฑ์และกระบวนการวัดผลหลังจบโครงการด้วย”
ความร่วมมือจากพาร์ตเนอร์ช่วยส่งเสริมการศึกษาไทยไปได้ไกลยิ่งขึ้น
เนื่องจากเป็นมูลนิธิไม่แสวงหากำไรที่ระดมทุนด้วยการรับบริจาคจากบุคคลทั่วไปและองค์กรเป็นหลัก การประสานความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์จึงนับเป็นส่วนสำคัญ ในการขยายโครงการของ Saturday School ออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งแนวคิดหลักเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ของมูลนิธิฯ ก็สอดคล้องกับนโยบายของทางกรุงเทพมหานคร ที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาและสร้างเครือข่ายร่วมกับภาคเอกชนในการส่งเสริมคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กไทย จึงเกิดเป็นโครงการ Saturday School Bangkok ที่สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร ประสานความร่วมกับ Saturday School จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายตามความสนใจของผู้เรียน
แบงค์อธิบายรายละเอียดของโครงการนี้ว่า “ล่าสุดเราเปิดสอนหลักสูตรต่างๆ ร่วมกับ 50 โรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งเดิมทีด้วยทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดเราอาจจะขยายกิจกรรมห้องเรียนวันเสาร์ออกไปได้แค่ไม่กี่โรงเรียน เพราะเราไม่ได้เรียกเก็บเงินจากอาสาสมัคร โรงเรียน หรือเด็กๆ เลย การมีภาครัฐเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ข้อดีอย่างแรกที่จับต้องได้คือเราได้รับเงินสนับสนุน ทำให้กิจกรรมอาสาสามารถขยายผลออกไปได้กว้างขวางและสะดวกยิ่งขึ้น”
ไม่ใช่แค่เรื่องเงินทุนเท่านั้น แต่หน่วยงานภาครัฐยังช่วยอำนวยความสะดวกในการประสานงานด้านต่างๆ รวมถึงร่วมแบ่งปันไอเดียซึ่งกันและกัน นำจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาช่วยกันเติมเต็มและสานฝันให้เด็กไทยมีพื้นที่เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มความสามารถ
นอกจากนี้ Saturday School ยังมีพาร์ตเนอร์เป็นองค์กรธุรกิจอีกหลายแห่ง ยกตัวอย่างเช่น การีนา (Garena) ผู้พัฒนาและให้บริการเกมออนไลน์ชั้นนำระดับโลก ซึ่งต่อยอดโครงการ Garena Academy ด้วยการออกแบบ ‘ห้องเรียนอีสปอร์ต’ ร่วมกับมูลนิธิฯ จัดกิจกรรมนำร่องให้กับเด็กๆ จากโรงเรียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะในยุคดิจิทัลให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และตอบโจทย์ความต้องการของเด็กยุคใหม่ที่มีความสนใจอาชีพในวงการเกมและอีสปอร์ตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สนใจ และอยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาไทยให้ดียิ่งขึ้น ทาง Saturday School ก็เปิดโอกาสให้คนจากหลากหลายสาขาอาชีพเข้ามาร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง ด้วยการนำความรู้ความสามารถมาส่งต่อและสร้างประโยชน์แก่สังคมผ่านการเป็นอาสาสมัคร ร่วมสร้างห้องเรียนแห่งการเรียนรู้สุดสร้างสรรค์สำหรับทุกคน หรือหากยังไม่สะดวกเป็นอาสาสมัคร ก็สามารถสนับสนุนการทำงานของ Saturday School ผ่านกิจกรรมระดมทุนต่างๆ โดยติดตามข่าวสารกิจกรรมและข้อมูลการรับสมัครในช่วงเวลาต่างๆ ได้ทางเพจ www.facebook.com/SaturdaySchoolThailand
ที่มา
เฟซบุ๊ก Saturday School (Online)
เว็บไซต์ Saturday School Foundation (Online)
บทความ “’การีนา’ จับมือ ‘Saturday School’ ผนึก 8 โรงเรียน นำร่องห้องเรียนอีสปอร์ต” จาก bangkokbiznews.com (Online)
วิดีโอ “The Change Makers [EP.10 ยีราฟ]: ผู้ก่อตั้ง Saturday School” จาก youtube.com (Online)
Cover Photo: Saturday School