แสงแดดยามบ่ายแรงกล้า แต่ใต้ถุนโรงหนังเก่าใจกลางจังหวัดแพร่กลับไม่ได้ร้อนระอุเท่าที่คิด มีลมโบกโชยอ่อนๆ พัดผ่านพื้นที่เปิดโล่งที่ถูกจัดสรรเป็นหลากหลายโซน ทั้งในส่วนลานจัดแสดง และห้องเรียนต่างๆ
ทีมงาน The KOMMON เดินเตร่ไปมา บ้างก็ยืนชมภาพวาดสีสดที่ถูกแขวนเรียงรายละลานตาราวกับธงทิวในงานมหรสพ ซึ่งน่าจะเป็นผลงานของเด็กนักเรียนจากคลาสศิลปะ บ้างก็เดินไปชมภาพวาดของบุรุษในเครื่องแต่งกายย้อนยุคสีสันฉูดฉาดบนผนังด้านหน้าตัวอาคาร เขาคือตัวละครดังจากหนังไทยในอดีตเรื่องหนึ่ง ที่ทำให้วลีเด็ด ‘เป็นเมียเราต้องอดทน’ ติดหูผู้ชมทั่วประเทศมาแล้วในยุคนั้น
ที่นี่คือ ‘แสนเมือง ครีเอทีฟ สเปซ’ หรือ ‘หอศิลป์แสนเมือง’ ที่รวมกิจกรรมด้านศิลปะ ดนตรี การออกแบบ การแสดง และอีกหลากหลายกิจกรรมเข้าไว้ด้วยกัน หากได้ยินเพียงชื่อ อาจชวนให้คิดว่าที่นี่นำเสนอวัฒนธรรมล้านนาแบบขนบนิยม แต่เมื่อมีโอกาสได้สัมผัสใกล้ชิด กลับพบว่า บรรยากาศยังออกแนว ‘ชิคๆ คูลๆ’ ผสมผสานความร่วมสมัยอยู่ไม่น้อย งานสตรีทอาร์ตเก๋ๆ จากฝีมือของเยาวชนบนกำแพงและผนังเป็นพยาน
เมื่อติ๊ก-ปัญจพล ประสิทธิโศภิณ ผู้อำนวยการหอศิลป์แสนเมืองเดินทางมาถึง พร้อมกับผู้ร่วมอุดมการณ์ ครูโย – จักรัตน์ ครุฑทิน ครูต่อ – ศราวุฒิ จินดา และครูทอป – ภัทรวงศ์ มีทรัพย์ ศิลปินประจำหอศิลป์ เราก็พบว่าการพูดคุยกันในครั้งนี้เผยให้เห็นพลังของ ‘นักลงมือทำ’ ที่วาดหวังจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับแพร่ เมืองที่ใครหลายคนมองว่าเป็นเพียง ‘เมืองผ่าน’
ทุกคนมีเป้าหมายร่วมกัน คือ ‘สร้างพื้นที่ สร้างกิจกรรม และสร้างคน’ ทำให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ของนักสร้างสรรค์ เปิดโอกาสให้คนในพื้นที่มีโอกาสแสดงออกผ่านศิลปะ การออกแบบ และดนตรี เพื่อผลักดันให้แพร่เป็นเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้ได้ในวันหนึ่ง ความมุ่งมั่นที่มองเห็นในแววตา เติมความรู้สึกฮึกเหิมในจิตใจของคนฟังได้เป็นอย่างดี ในวันนี้ทีมงานพร้อมที่จะบอกเล่าให้เราฟังว่าจุดเริ่มต้นของความฝันคืออะไร และพวกเขาพร้อมแค่ไหนที่จะทำให้เกิดขึ้นจริง
แพร่ กับความมั่งคั่งในอดีตกาล อย่าให้เป็นแค่วันวานที่ผ่านเลย
“ในอดีต แพร่เป็นจังหวัดที่ร่ำรวย มีธุรกิจค้าไม้ ค้าใบยาสูบ มีพ่อเลี้ยงหรือคหบดีอยู่เต็มเมือง” ติ๊ก อดีตประธานหอการค้าแพร่ เริ่มเล่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อเป็นการปูพื้นฐานว่า การจุดประกายไอเดีย ‘เมืองสร้างสรรค์’ ที่เป็นมูลเหตุแห่งการฟื้นโรงหนังเก่าเกิดขึ้นได้อย่างไร
หากใครมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตภาคเหนือ และอายุไม่น้อยกว่า 40-50 ปี ก็คงพอจะเคยได้ยินได้ฟังมาบ้าง ว่าธุรกิจค้าไม้สักในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 สร้างความมั่งคั่งให้กับภูมิภาคแค่ไหน บริษัทยุโรปอย่างอีสต์ เอเซียติก (East Asiatic Company) และบอมเบย์เบอร์มา (Bombay Burmah Trading Corporation) ก่อตั้งสาขาขึ้นในเมืองแพร่ รายได้จากการค้าไม้และโรงบ่มใบยาสูบกระตุ้นเศรษฐกิจให้เฟื่องฟู
สัมปทานไม้สักของบริษัทต่างชาติทยอยหมดลงในช่วงปี 2497-2498 แต่การค้าไม้ซุงที่หลงเหลืออยู่ในป่า ก็ยังคงกระตุ้นเศรษฐกิจเมืองแพร่ต่อมาได้อีกหลายปี ตัวชี้วัดที่สำคัญคือ จำนวนสถานบันเทิงต่างๆ ในตัวเมืองที่รองรับให้บริการนักธุรกิจ และผู้ที่เดินทางมาประกอบกิจการในพื้นที่ ทั้งร้านอาหาร โรงแรม คาเฟ่ ไนต์คลับ และโรงหนังที่มีมากถึง 4 แห่ง
การประกาศปิดป่า ทำให้สถานการณ์ของเมืองแพร่พลิกผัน เมื่อบวกกับการผลิตยาสูบและสุราถูกควบคุมโดยภาครัฐ ก็ดูเหมือนว่าระบบเศรษฐกิจของแพร่จะเจอกับปัญหาใหญ่เสียแล้ว แพร่ในวันนี้ กลายเป็นจังหวัดที่แทบไม่มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่พอที่จะสร้างรายได้และความมั่งคั่งให้กับคนในพื้นที่ได้มากเท่าวันวาน
“ในปัจจุบัน เศรษฐกิจของแพร่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ 3 เครื่อง คือ เกษตรกรรม ค้าขาย และการลงทุนจากภาครัฐ โดยเป็นภาคเกษตรกรรมถึงกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ เราแทบไม่มีภาคอุตสาหกรรมเลย โรงงานที่ใหญ่ที่สุดคือโรงงานก๋วยเตี๋ยว”
นั่นคือจุดเริ่มต้นของการวางแผนพัฒนาจังหวัดเพื่อรองรับเส้นทางรถไฟรางคู่ เด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 5 ปีข้างหน้า ในเมื่อมีโอกาสด้านโลจิสติกส์แล้ว โจทย์สำคัญของแพร่คือ จะทำอย่างไรถึงจะผลักดันจังหวัดให้เป็นชุมทางด้านเศรษฐกิจให้ได้เหมือนในอดีต
หนึ่งในแนวคิดสำคัญที่เกิดขึ้นในกลุ่มหอการค้าจังหวัดและเวทีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือการผลักดันให้แพร่เป็น ‘เมืองสร้างสรรค์’ ที่ประชาชนสามารถนำทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่อย่างรุ่มรวยในพื้นที่มาสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อขับเคลื่อน ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ ดึงความคึกคักของภาคธุรกิจให้หวนกลับมา
ติ๊ก ในฐานะตัวแทนภาคเอกชนจึงขันอาสานำร่อง เดินทางไปปรึกษาหน่วยงานภาครัฐที่เชี่ยวชาญ แล้วนำความรู้ที่ตกผลึกได้มาทำให้เห็นเป็นรูปธรรม และนั่นคือที่มาของการก่อตั้ง ‘แสนเมือง ครีเอทีฟ สเปซ’ ที่ครอบครองพื้นที่โรงหนังเก่าซึ่งปิดตัวสงบนิ่งมายาวนานกว่า 25 ปี ด้วยความหวังว่า นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพาจังหวัดแพร่เข้าใกล้ความเป็นเมืองสร้างสรรค์เข้าไปอีกนิด แม้ว่าจะเป็นการเริ่มต้นแบบไม่ต่างจากสตาร์ทอัป คือ เริ่มลงมือทำด้วยทรัพยากรที่มีจำกัด ทั้งด้านงบประมาณและกำลังคน
แสนเมือง ครีเอทีฟ สเปซ เติมไฟสร้างสรรค์ทีละนิด พิชิตความฝัน
“มันยากตรงที่องคาพยพยังไม่ได้ขยับตามที่ได้ริเริ่มเอาไว้…”
ติ๊กเล่าให้ฟังถึงโจทย์สำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ขึ้นในจังหวัดแพร่ ที่นี่อุดมไปด้วยมรดกวัฒนธรรม ทั้งประวัติศาสตร์ ตำนาน วรรณกรรม บุคคลสำคัญ หรือแม้กระทั่งผลิตภัณฑ์พื้นถิ่น เช่น เสื้อม่อฮ่อม และงานแกะสลักไม้ ที่สามารถนำมาต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ได้ แต่ผู้ประกอบการหลายเจ้าก็ยังเดินตามวิถีการผลิตแบบดั้งเดิมๆ ซึ่งติ๊กมองว่าอาจเพราะแพร่ยังขาดการส่งเสริมและให้ความรู้เกี่ยวกับแนวคิดนี้อย่างจริงจัง
“อย่างเฟอร์นิเจอร์ไม้ ค่านิยมท้องถิ่นก็คือยิ่งหนายิ่งเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกความมีฐานะ แต่เดี๋ยวนี้คงไม่ได้แล้ว ต้องเน้นดีไซน์ด้วย”
ดังนั้น เป้าหมายแรกที่ต้องทำคือการปรับจูนความเข้าใจกับภาคส่วนการผลิต แต่ทำอย่างไรถึงจะถอดแนวคิด ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ ออกมาเป็นภาพให้ชัดเจนที่สุด ติ๊กบอกว่าเขาจัดทำสไลด์ภาพของกุ๊บลอน หรือหมวกกันแดดสานที่ถูกออกแบบใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า แล้วนำเสนอในเวทีจังหวัด เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ทำความเข้าใจผ่านตัวอย่างง่ายๆ ในพื้นที่
“กุ๊บลอน คือสินค้าพื้นถิ่นของที่นี่ ขายกันใบละไม่ถึง 120 บาท เราเอามาระบายสี ทำให้ดูสวยงามเป็นงานศิลปะ ขายใบละ 3,000 เป็นอย่างต่ำ…นี่คือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในมุมมองของผม เรามีทุนทางวัฒนธรรม ปรับในเรื่องของการดีไซน์ เปลี่ยน working process ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนในปัจจุบัน ในกรุงเทพฯ คงไม่มีใครซื้อกุ๊บลอนไปเพื่อใส่กันแดดหรอก แต่พอมันเป็นงานศิลปะ ก็สามารถใช้ตกแต่งบ้านได้”
เสียงสะท้อนที่ได้รับ ทำให้เขาเก็บการบ้านกลับมาขบคิดต่อ ว่าหากต้องการความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนอย่างจริงจัง…แค่นี้คงยังไม่พอ การสร้าง ‘พื้นที่’ และ ‘อีเวนต์’ เป็นวิธีแปลงไอเดียให้จับต้องได้มากที่สุดในมุมมองของติ๊กและผู้ร่วมอุดมการณ์
โครงการปลุกปั้น แสนเมือง ครีเอทีฟ สเปซ จึงเริ่มต้นขึ้นที่โรงหนังเก่ากลางเมืองแพร่ในช่วงประมาณปี 2564 นอกจากเหตุผลที่ว่าเจ้าของอาคารคือเครือญาติของติ๊กที่สามารถเจรจาขอใช้งานกันได้แล้ว เขายังคิดว่า การเริ่มต้นตรงพื้นที่แห่งนี้ มีปัจจัยส่งเสริมอื่นอีกหลายประการ โรงหนังแสนเมืองเคยเป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่งเรืองของแพร่ในยุคก่อน เป็นพื้นที่รวมความทรงจำดีๆ ของใครหลายคน ทำเลที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเอื้อต่อการใช้ประโยชน์ในฐานะชุมทางศิลปินและนักสร้างสรรค์ และยังเป็นพื้นที่ว่างเปล่า กว้างขวาง ไม่ได้ถูกใช้งานมานาน เหมาะสมที่จะเข้ามาพัฒนาฟื้นฟู
“โรงหนังแสนเมืองสร้างขึ้นในปี 2523 ปิดตัวลงไปในปี 2539 ปิดให้บริการมานานกว่า 25 ปี ในตอนที่รุ่งเรืองสุดๆ ระบบเสียงเขาทันสมัยพอๆ กับลิโด้เลยล่ะ”
แสนเมือง เคยเป็นสถานพักผ่อนของชาวเมืองแพร่ที่เรียกได้ว่าล้ำสมัย เป็นโรงหนังแห่งแรกที่ติดแอร์และมีที่นั่งเป็นเบาะนุ่ม ในขณะที่อีกหลายโรงยังเป็นที่นั่งไม้
“เราใช้อาสาสมัครกว่า 30 คน ในการขัดล้างทำความสะอาด ผมออกค่าใช้จ่ายในการขนขยะเอง ยังไม่มีน้ำไฟเลยในตอนนั้น” ติ๊กเล่าให้ฟังถึงภาพบรรยากาศในการฟื้นโรงหนังให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์และหอศิลป์
ในช่วงแรกๆ เริ่มมีกลุ่มเยาวชนเข้ามาขอใช้พื้นที่สำหรับฝึกซ้อมเต้น และซ้อมกีฬาเอ็กซ์ตรีม พาพื้นที่ให้คึกคัก มีชีวิตชีวา เมื่อมีความพร้อมในระดับหนึ่งแล้ว ก็ถึงเวลาจัด ‘อีเวนต์’ เพื่อสร้างการรับรู้ว่า แสนเมือง ครีเอทีฟ สเปซ พร้อมให้ชาวแพร่เข้ามาใช้งาน ทีมงานลงมติว่า ดนตรี น่าจะเป็นเครื่องมือทรงประสิทธิภาพที่สามารถเข้าถึงใจผู้คนทุกเพศทุกวัยทุกชนชั้น
ดังนั้น ครูต่อ ครูสอนดนตรีที่มีลูกศิษย์ลูกหาไม่น้อยจึงทำหน้าที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก ติดต่อประสานงานเพื่อนพ้องที่รู้จัก ขอยืมอุปกรณ์ และขอให้รุ่นพี่ที่เป็นนักดนตรีมืออาชีพมาช่วยดูแลวงดนตรีน้องใหม่ แล้วงานแสดงดนตรีก็เกิดขึ้นภายใต้คอนเซปต์ ‘พื้นที่แสดงดนตรีแบบไม่จำกัดรูปแบบ’
งานที่จัดขึ้นเป็นการเริ่มต้นแบบพอดีตัว ไม่ได้ลงเม็ดเงินหรือทรัพยากรมากมาย แต่ทีมงานเล่าความเป็นมาให้เราฟังด้วยรอยยิ้ม ดวงตาของทุกคนยังเปล่งประกายแห่งความชื่นชมยินดีเมื่อพูดถึงงานในวันนั้น
“งานนี้ถือเป็นอีเวนต์เปิดตัว และยังเป็นงานที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของแรงงานอาสาสมัคร ตอนแรกก็กลัวนะ ว่าจะมีคนมาฟังถึง 50 คนหรือเปล่า แต่ปรากฏว่าคนมาเยอะจนรถติดเลย”
ติ๊ก และครูต่อ ผลัดกันบอกเล่าถึงบรรยากาศวันงานด้วยความปลื้มใจ เพราะการแสดงดนตรีในวันนั้นเรียกได้ว่าเป็นอีเวนต์ที่จัดตามงบประมาณที่มี ไม่มีแม้แต่ค่าเดินทางให้กับนักดนตรี มีเพียงอาหารประเภทข้าวหม้อแกงหม้อที่เตรียมไว้ให้ทีมงานและนักแสดง อีกทั้งยังใช้เพียงวิธีบอกต่อแบบปากต่อปาก และการประกาศผ่านสื่อออนไลน์เพื่อชักชวนให้นักดนตรีมาแสดง แต่สุดท้ายงานก็บรรลุเป้าหมายที่วางไว้เป็นอย่างดี
จากที่กลัวว่าจะเงียบเหงา ชาวแพร่กลับมาร่วมงานจนเต็มพื้นที่ และไม่ได้มีเพียงคนดนตรีเท่านั้น แต่ยังมีบุคคลทั่วไป เยาวชน และผู้ปกครอง มาโบกไม้โบกมือให้กำลังใจนักแสดง บางคนถึงกับยกเอาเก้าอี้สนามมานั่งฟัง เมื่อผู้ปกครองได้เห็นก็เกิดเสียงสะท้อนในเชิงบวกว่าเป็นกิจกรรมที่สร้างความคึกคักให้กับย่าน และเป็นกิจกรรมดนตรีเพื่อเยาวชนอย่างแท้จริง
“นอกจากเราจะมีพื้นที่ให้เด็กได้แสดงออกในแบบที่เขาไม่เคยมีแล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่วงดนตรีรุ่นพี่มาเพื่อสอนน้องๆ ด้วย เด็กๆ เขาตั้งใจฟังพี่ๆ นักดนตรีอาชีพที่มาแจมนะ คนในพื้นที่ก็มองเห็นว่ากิจกรรมนี้ทำให้ถนนมีชีวิตชีวา ค้าขายกันสนุก” ติ๊กเอ่ยขึ้นด้วยความภาคภูมิใจ
“เรายังได้เรียนรู้อีกด้วยว่าดนตรีไม่จำกัดชนชั้นอย่างแท้จริง อย่างเพลงแจ๊สหรือคลาสสิกที่คิดกันว่าเข้าถึงยาก ตอนแรกก็นึกว่าจะมีคนที่ฟังแล้วไม่เข้าใจ แต่เด็กๆ กลับให้ความสนใจดนตรีทุกประเภท” ครูต่อกล่าวเสริม
นับว่าเป็นการเปิดตัวที่สร้างกำลังใจให้คนทำงานเป็นอย่างดี แต่ทุกคนก็รู้ว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ยังมีอะไรที่ต้องทำอีกมากมายนักเพื่อให้โรงหนังแสนเมืองทำหน้าที่เป็น ครีเอทีฟ สเปซ นับจากวันนั้นยังมีกิจกรรมดนตรีเกิดขึ้นที่นี่อีกหลายครั้งทั้งในห้องฉายหนังและลานหน้าอาคาร เติมสีสันและความคึกคักให้กับแพร่ได้ตามที่ตั้งใจ
ผนึกกำลัง ทั้งภายในภายนอก
“สำหรับผม เมืองสร้างสรรค์ คือพื้นที่ที่รวมนักคิด นักสร้างสรรค์ นักออกแบบ ศิลปิน เป็นชุมชนที่มีพื้นที่ให้มาแลกเปลี่ยนกัน เริ่มจากจุดเล็กๆ ก่อน ก็แบบนี้เลย”
ติ๊กและทีมงานเล่าว่าที่ผ่านมาเมืองแพร่ก็พอจะมีงานอีเวนต์ด้านศิลปะอยู่บ้าง แต่โดยส่วนมากมักจะเป็นงานเชิงเดี่ยว สิ่งที่ แสนเมือง ครีเอทีฟ สเปซ พยายามทำ คือสร้างแพลตฟอร์มที่รวมศิลปะหลายแขนงและกิจกรรมหลายรูปแบบเข้าด้วยกัน และกระตุ้นให้เกิดการต่อยอดไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ กรอบการทำงานในวันนี้คืองานศิลปะ ดนตรี และการออกแบบ มีทั้งคลาสเรียน เวิร์กชอป และกิจกรรมต่างๆ เพื่อทำให้ชาวแพร่ซึมซับและทำความคุ้นเคยกับแนวคิดนี้
ครูโย คือ จิกซอว์ที่เข้ามาเติมเต็มเป้าหมายด้านงานศิลปะ ด้วยความที่ทำงานในฐานะภัณฑารักษ์ของหอศิลป์เมืองแพร่มานาน อีกทั้งยังมีประสบการณ์ทำงานมาไม่น้อยทั้งในวงการศิลปะและธุรกิจสายออกแบบ เขาเคยปลุกปั้นเยาวชนแพร่ให้เติบโตในวงการงานศิลปะมาหลายรุ่น และยังยึดมั่นในปณิธานอันแรงกล้าที่จะสร้างพื้นที่กิจกรรมให้กับเมืองรอง
“เมืองเล็กๆ มักจะไม่มีพื้นที่กิจกรรมและพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ ถ้าไม่เล่นกีฬา เด็กๆ ก็ไปเดินเล่นในสวนสาธารณะ แล้วคนที่ไม่ได้อยากเอาดีด้านกีฬาล่ะ เขาจะไปที่ไหน ร้านกาแฟ เด็กก็ไม่สามารถจับจ่ายได้ทุกๆ วัน ห้างสรรพสินค้าที่มีก็เป็นห้างขนาดเล็ก เมืองใหญ่ไม่มีปัญหานี้ แต่สำหรับแพร่ตรงนี้จัดว่าเป็นปัญหา”
และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้ ครูโย พยายามที่จะสร้างพื้นที่และงานกิจกรรมมาหลายปี เขาเชื่อมั่นว่าจะสามารถนำประสบการณ์จากการทำงานหอศิลป์และหลากหลายอีเวนต์เมืองแพร่มาใช้กับที่นี่ได้ ในเมื่อมีกำลังคน มีเครือข่าย จะไม่ประสบความสำเร็จได้อย่างไร
“ผมเห็นด้วยกับการปรับพื้นที่ตรงนี้ ให้เหมือนการขยายเฟสออกมาจากหอศิลป์เมืองแพร่ที่มีขนาดเล็ก ที่นั่นมีคนต่างชาติและต่างจังหวัดมาเยี่ยมชมอยู่มาก แต่มีพื้นที่จำกัด ทำกิจกรรมไม่สะดวก อยู่ห่างไปจากแสนเมืองแค่ 500 เมตร”
แล้ว ‘หอศิลป์แสนเมือง’ หรือพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะในโรงหนังเก่าก็เปิดตัวขึ้นในเดือนธันวาคม ปี 2565 ในช่วงหลังทีมงานตกลงใจใช้คำว่า ‘หอศิลป์แสนเมือง’ ในการประชาสัมพันธ์ เพราะคิดว่าประชาชนทั่วไปน่าจะเข้าถึงและเข้าใจรูปแบบกิจกรรมได้ง่ายกว่า
“ตอนแรกๆ ผมก็คิดการเล็ก บอกครูโยว่ามีห้องเล็กๆ ห้องหนึ่งที่ชั้นล่าง ที่อยากจะชวนมาทำแกลเลอรี ตอนแรกจะขายกาแฟด้วย เพราะคิดแบบนักธุรกิจว่าเราต้องทำแบบเลี้ยงตัวเองได้ ถ้าขายเครื่องดื่มไปด้วยก็ใช้คอนเซปต์ จิบกาแฟ แลภาพเขียน” ติ๊กเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้น ว่าตัวเขาเองอยากให้หอศิลป์แสนเมืองค่อยๆ เติบโต แต่ครูโยกลับเห็นต่าง
“ทำทั้งทีก็อยากให้ใหญ่ ให้ปัง ผมกลัวว่าคนจะไม่ให้ความสำคัญกับพื้นที่เล็กๆ คอนเซปต์มันได้ แต่เราต้องกระตุกต่อมว้าว เพราะอยากให้ที่นี่โตไวแบบก้าวกระโดด ผมทำหอศิลป์เมืองแพร่มา รู้ว่ากว่าที่นั่นจะติดตลาดก็ใช้เวลานาน”
เมื่อถกกันด้วยเหตุและผล ชั่งน้ำหนักถึงข้อดีข้อเสีย สุดท้ายห้องฉายหนังชั้น 2 ตลอดจนโถงบันได จึงกลายมาเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการของ หอศิลป์แสนเมือง ให้อารมณ์แปลกใหม่ในการชมงานศิลปะในห้องฉายหนังเก่าที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความทรงจำของชาวเมืองแพร่
“เราทำงานด้วยกัน ใช้ความรู้สึกและรสนิยมที่ตรงกัน ไม่มีอะไรที่ถูกหรือผิด ทุกคนรู้ว่าที่นี่ไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องรายได้ แต่ก็ยอมทำเพราะเป็นสิ่งที่เรารัก คนอาจจะไม่ได้เข้ามาจนล้นหลาม แต่อย่างน้อยก็ตอบโจทย์พื้นที่” ครูโยทิ้งท้ายเอาไว้
ในส่วนของการออกแบบ โปรเจกต์ของแสนเมืองขยายใหญ่ไปถึง ‘การออกแบบและพัฒนาเมือง’ เพราะเล็งเห็นว่าลักษณะทางกายภาพของเมืองแพร่ ไม่ได้สวยงามหรือมีฟังก์ชันใช้งานที่เหมาะสม แต่คนในพื้นที่อาจใช้ชีวิตร่วมกับเมืองมานานจนมองไม่เห็นช่องทางที่จะพัฒนาเพิ่มเติม
จากช่องว่างตรงนี้ ติ๊กจึงติดต่อผู้เชี่ยวชาญภายนอก คืออาจารย์และนิสิตรวม 40 ชีวิต จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมกันออกแบบเมืองเก่าแพร่
“เราอยากเห็นมุมมองที่น้องๆ ปี 4 มองเมืองแพร่ อยากได้มุมมอง outside in เพราะคนในอาจจะมองตัวเองว่า สวย และ ดีไปหมด” ติ๊กพูดถึงที่มาของโปรเจกต์
นิสิตลงพื้นที่ครั้งแรกเพื่อเก็บข้อมูล รับฟังประวัติศาสตร์เมืองแพร่ ก่อนที่จะกลับไปคิดว่าจะออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหาด้านกายภาพของเมืองอย่างไร แล้วกลับมาอีกทีพร้อมข้อเสนอแนะในรูปแบบของนิทรรศการ ‘ออกแบบเมืองเก่าแพร่’ ที่มีการนำเสนอผลงานออกแบบถึง 18 ชิ้น
“ผมว่านิทรรศการเกี่ยวกับการออกแบบเมืองน่าจะดึงดูดคนได้ยาก คนที่มาชมอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว เลยมาร่วมกันคิด ร่วมกันออกแบบเติมสีสันให้งาน ครูต่อเลยจัดแสดงวงดนตรีออเคสตราเพลงล้านนา ส่วนครูโยก็มาวาดรูปในงานโดยอิมโพรไวซ์จากการฟังเพลง เชิญอาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมมาร่วมด้วย”
แล้วการนำเสนอผลงานออกแบบที่ดูเป็นวิชาการ ก็กลายมาเป็นงานอีเวนต์ที่ผสมผสานศาสตร์และศิลป์หลายแขนง เติมความคึกคักให้กับอาคารโรงหนังเก่าให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งสมความตั้งใจของทีมงาน แต่ที่สำคัญกว่าคือประโยชน์ที่พื้นที่ได้จากการจัดกิจกรรมในครั้งนี้
“ในงานนิทรรศการ เรามีสติกเกอร์ให้ผู้ชมเลือกว่าสนใจงานชิ้นไหน ชิ้นงานที่ได้รับการโหวตมากที่สุดจะได้นำเสนอให้กับ ผู้นำชุมชนและนักการเมืองท้องถิ่น ผลงานของน้องๆ จุดไฟ ให้คนในพื้นที่เริ่มคิดถึงการออกแบบเมือง ไม่ว่าจะเป็นโครงการฟื้นฟูป่า หรือโครงการฟื้นฟูคูเมืองของแพร่ มีการตอบรับที่ดีมาก”
มองอนาคตแสนเมือง
จนถึงวันนี้ ทีมงานมีภาพฝันในอนาคตที่อยากเติมเต็มให้กับหอศิลป์แสนเมืองอยู่หลายประเด็น อาจจะดูเหมือนว่าผู้ร่วมอุดมการณ์ทุกคนสามารถประคับประคองหอศิลป์แสนเมืองให้ดำเนินกิจกรรมได้ แต่ติ๊กอยากฝากเอาไว้ว่า แม้จะลงมือทำกันเองและได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ แต่ความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยผลักดันแสนเมือง ครีเอทีฟ สเปซ ให้ไปไกลกว่าเดิม
“ผมเชื่อว่า สร้างพื้นที่ขึ้นมาแล้วก็ต้องดูแลตัวเองให้ได้ และถ้าจะให้ภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุน เราต้องแสดงให้เขาเห็นก่อนว่า ที่นี่จะทำโครงการให้สำเร็จจริง ไม่ทำให้การสนับสนุนนั้นเสียเปล่า”
ที่ผ่านมาหอศิลป์แสนเมืองได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ให้ดำเนินโครงการเพื่อสร้าง ครีเอเตอร์ โดยใช้ผลิตภัณฑ์และทรัพยากรที่มีในพื้นที่
“เราเชิญศิลปินระดับประเทศ ที่สามารถมาแลกเปลี่ยนมุมมอง ถ่ายทอดความคิด เล่าประสบการณ์ แลกเปลี่ยนไอเดียให้กับคนในพื้นที่ได้ เราอยากได้มุมมองที่ไม่ใช่คลาสเรียนหรือสัมมนาแบบทั่วไป อยากให้รุ่นพี่ในวงการศิลปะหรือคนที่มีประสบการณ์ทำงานในเมืองใหญ่ มาทำหน้าที่เป็นโค้ช ให้คำแนะนำ”
นอกจากนี้ ติ๊กยังอยากให้โมเดลของหอศิลป์แสนเมืองเป็นตัวอย่างของการอนุรักษ์ฟื้นฟูอาคารเก่า “ผมอยากให้คนมองเห็นคุณค่าของพื้นที่ว่าง อยากให้เห็นคุณค่าของการฟื้นฟูอาคารเก่า คนในพื้นที่อาจจะยังไม่ตื่นเต้นกับที่นี่ แต่ถ้าคนแพร่ที่อยู่ในกรุงเทพฯ ตื่นเต้น หรือคนที่เดินทางมาไกลๆ รู้สึกตื่นเต้น มองว่ามันเก๋ มันว้าว ผมก็โอเคแล้ว”
และอีกภาพฝันหนึ่งที่กำลังก่อร่าง แต่ทีมงานถือว่าเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งก็คือ ‘การสร้างคน’ ที่ซาบซึ้ง เห็นคุณค่างานศิลปะ และงานสร้างสรรค์ต่างๆ มีทัศนคติและทักษะที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้ยั่งยืนต่อไปในอนาคต ที่นี่จึงเป็นศูนย์รวมคลาสเรียนที่หลากหลาย ทั้ง คลาสศิลปะ ดนตรี การแสดง การเต้น การออกแบบ หรือเวิร์กชอปต่างๆ ที่จัดโดยเหล่าศิลปินและทีมงานที่มาร่วมแรงร่วมใจฟื้นฟูอาคารเก่า แปลงให้เป็นพื้นที่เรียนรู้สร้างสรรค์อย่างแท้จริง
“ผมยังมีแผนการอีกเยอะ…”
ติ๊กทิ้งท้าย ก่อนที่จะค่อยๆ เล่าแผนการที่วางไว้ ทั้งกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ การแสดงละครและดนตรีที่สอดคล้องกับวรรณกรรมเลื่องชื่อ ‘ลิลิตพระลอ’ ที่ตามท้องเรื่องเหตุการณ์เกิดขึ้นในเขตจังหวัดแพร่ การฉายหนังกลางแปลงในห้องฉายหนัง เวิร์กชอปการถ่ายภาพ หรือแม้กระทั่งทำพื้นที่ส่งเสริมการอ่าน
สเปซ แห่งนี้เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ของท้องถิ่นหลายประการ ทั้งการผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การสร้างคน สร้างพื้นที่ชุมนุมแลกเปลี่ยนความคิด และสร้างเวทีให้คนในท้องถิ่นได้แสดงออกและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ
การเดินทางเริ่มต้นขึ้นแล้ว ทีมงานมีเป้าหมายปลายทางที่ชัดเจน เปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์ และพร้อมที่จะลงมือทำ หากใครสนใจจะแวะเวียนมาเยี่ยมชม และลองพูดคุยว่าจะร่วมมือกันพัฒนาโปรเจกต์อะไรได้บ้าง ติ๊กเองก็ยินดี
“เราไม่ได้รอการช่วยเหลือในรูปแบบตัวเงินเท่านั้น แต่เราอยากให้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วยกันคิด ช่วยกันออกไอเดีย และเชื่อมโยงเครือข่าย พวกเราเองพร้อมที่จะสู้อยู่แล้ว”
จากแสงแดดแผดกล้าของยามบ่าย เราใช้เวลาพูดคุยและเดินชมนิทรรศการนานหลายชั่วโมง เมื่อบทสนทนาสุดท้ายจบลง แสงสุดท้ายของวันก็หายลับไปพอดี แสงไฟสีอำพันบริเวณลานด้านหน้าตัวอาคารทำให้โรงหนังแสนเมืองในวันวานดูสวยงามแปลกตา ก็คงไม่ต่างจากไฟแห่ง ‘แพสชัน’ ที่ลุกโชนในใจของทีมงานหอศิลป์แสนเมือง
ที่มา
Cover Photo: แสนเมือง ครีเอทีฟ สเปซ