การเดินทางแสนไกลกับเส้นชัยที่ไม่ไร้เหตุผลของ ‘นิ้วกลม’

791 views
7 mins
August 6, 2024

          มีเหตุผลอะไรที่คนเราจะต้องโพสต์เฟซบุ๊กแทบทุกวัน ก้มหน้าก้มตาเขียนหนังสือจนมีผลงานกว่า 50 เล่มในชีวิต แถมยังคงได้รับความนิยมชมชอบอยู่

          ในบรรดาคนรุ่นราวคราวเดียวกัน ‘เอ๋’ สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ หรือที่รู้จักกันในนามปากกา ‘นิ้วกลม’ คงไม่ต่างอะไรกับอัลตราแมนของสนามนักเขียน นักเล่าเรื่อง ที่วิ่งมาเกินกว่าร้อยกิโลเมตร

          เขายืนระยะสร้างผลงานอย่างต่อเนื่องมายาวนาน นับจากวันที่ตีพิมพ์ โตเกียวไม่มีขา เมื่อ พ.ศ. 2547 ผ่านบทบาทการเป็นทั้งนักเขียน บรรณาธิการสำนักพิมพ์ พิธีกรรายการโทรทัศน์ อัดพอดแคสต์ ทำช่องยูทูบ และอีกหลายช่องทางการเล่าเรื่องที่ชวนคนอยากออกไปสำรวจโลก รวมทั้งกลับมาสำรวจโลกภายในของตัวเอง ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสื่อและยุคสมัย เติบโตไปพร้อมกับผู้เสพที่เปลี่ยนรุ่น

          ทุกวันนี้ เขายังคงวิ่งอยู่ด้วยความสนุก แม้มีบาดเจ็บระหว่างทางบ้างเป็นธรรมดา นิ้วกลมหยิบจับวัตถุดิบเรื่องเล่ามาทดลองไม่ต่างอะไรกับครั้งวัยเยาว์ที่ผลิตหนังสือทำมือไร้กระบวนท่า 

          ต่างกันที่ตัวอักษรและน้ำเสียงของชายหนุ่มวัยสี่สิบกว่าปีผู้นี้ ส่งเข้าไปถึงความคิดคนรายวันได้เป็นหลักหมื่นหรือแสนแล้ว

          แต่ตัวเลขหรือความโด่งดังนั้นมิใช่มาตรวัดความสำเร็จของเขา การได้เล่าเรื่องคือรางวัลสำคัญที่ประคับประคองเขามาตลอดการเดินทางไกลนี้แล้ว

          นี่คือเส้นชัยที่ไม่ไร้เหตุผล

สิ่งสำคัญของชีวิต

          “สำหรับเรา การคุยกับคน อ่าน คิด เขียน เล่าเรื่อง เป็นเหมือนการกินข้าว เป็นอาหารของสมองและจิตใจ ถ้าตัดสิ่งนี้ไปจากชีวิต คงป่วยเหมือนกัน” นิ้วกลมเอ่ยด้วยท่าทีสบายๆ ถึงสาเหตุที่เขาตื่นขึ้นมาทำงานนี้เป็นกิจวัตร

          ไม่ใช่เพียงเพราะอาชีพหรือหน้าที่ แต่เป็นความต้องการพื้นฐานที่เปิดประตูสู่ความเข้าใจโลกใบนี้ใหม่

          “ช่วงแรกๆ เราเล่าเรื่องเพื่ออยากบอกคนว่าเราเป็นใคร คิดอะไร แต่เรายังไม่รู้เหมือนกันว่าเราทำอะไรได้บ้าง เลยทำทุกอย่าง เช่น อิฐ รวมเล่มการเขียนแบบเล่นสนุก ชวนคิดอะไรสร้างสรรค์ จากคอลัมน์ใน a day ถ้าเปรียบเป็นการย้อมผม ก็คงย้อมทุกสีไว้บนหัวแล้ว

          “พอโตขึ้น เราเริ่มมองเห็นคนอื่น คิดว่าสารของเราจะเปลี่ยนสังคมเล็กๆ บางแห่งได้ ส่วนวันนี้ เรามองการเล่าเรื่องเป็นกระบวนการเรียนรู้ของตัวเอง โชคดีที่ผลผลิตนี้ส่งต่อให้คนอื่นได้ด้วย

          “ทุกครั้งเวลาเล่าอะไร เราต้องเรียบเรียง ทบทวนไปด้วยว่าเข้าใจเรื่องนั้นแบบไหน ถึงสื่อสารออกไปถูก กระบวนการนี้ทำให้เราเข้าใจอะไรมากขึ้นเสมอ ไม่แน่ใจว่าทำได้ดีทุกครั้งหรือเปล่า แต่เหนือกว่ารางวัลหรือตำแหน่งใด เราสนุกกับการเรียนรู้ที่สุด”

          นั่นเป็นเหตุผลที่เราเห็นหลากหลายประเด็น จากปลายปากกาและน้ำเสียงของนิ้วกลม ตามเรื่องที่เขาสนใจ เมื่อวานเป็นเรื่องการเดินทาง วันนี้เรามาดูแลรักษาจิตใจกัน พรุ่งนี้เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ นำมาจัดวางเรียงต่อกันแล้ว อาจไม่รู้สึกว่าเป็นความสนใจของคนคนเดียว

          ความกว้างขวางของประเด็นดึงดูดผู้คนหลากหลายช่วงวัยและความสนใจเข้ามาอาศัยใต้ร่มชายคาเดียวกัน ทั้งวัยรุ่นที่ครุ่นคิดชีวิตรัก วัยทำงานที่แสวงหาความสุข และวัยชราที่ฝึกจิตใจให้มั่นคง เมื่อก่อนอาจเดินสวน คุยกันตามงานหนังสือ แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นการแลกเปลี่ยนบทสนทนาบนโลกออนไลน์ที่คึกคัก บนเพจและแชนแนล Roundfinger ด้วย

          “เวลาเราเล่าอะไรสักอย่าง เราจะไม่อยู่อย่างโดดเดี่ยว ถ้าเล่าผ่านหนังสือ แปลว่าเราเขียนให้ใครบางคนอ่านอยู่ ถ้าเล่าผ่านพอดแคสต์ แปลว่าเรากำลังพูดกับใครบางคน มันทำให้เราเชื่อมโยงกับคนอื่น และคิดว่านี่เป็นฟังก์ชันสำคัญของการเล่าเรื่อง”

วินาทีที่เป็นอิสระ

          แต่ถ้าเล่าแล้ว หนังสือไม่ค่อยมีคนอ่าน พอดแคสต์ไม่ค่อยมีคนฟัง เหมือนใบไม้ที่พลิ้วไหวเงียบๆ ในป่าใหญ่ เราจะไม่เปล่าเปลี่ยวหรือ ยิ่งทุกวันนี้ มีเนื้อหาให้เลือกสรรตั้งมากมายบนโลกออนไลน์ ภายใต้เวลาเท่าเดิม อยากเปลี่ยนใจจากเราก็แค่ปลายนิ้ว

          “เราว่าแต่ละคนมีฟังก์ชันของตัวเองในสังคม ไม่ได้แปลว่าฐานเล็กแล้วจะไร้ความหมาย ในบริบทโลกปัจจุบันเราไม่จำเป็นต้องครอบครองอาณาจักรเหมือนสื่อใหญ่แต่ก่อนแล้ว แค่เป็นลำโพงเล็กๆ ในหมู่บ้านที่ถูกต้อง ที่เขาสนใจฟังจริงๆ ก็สร้างประโยชน์ได้มากแล้ว ตอนแรก พระพุทธเจ้ายังทรงแสดงธรรมให้ปัญจวัคคีย์ 5 รูปเลย”

          ถึงอย่างนั้น นิ้วกลมไม่ปฏิเสธว่าตัวเลขย่อมมีผลต่อจิตใจ เพียงเปิดดูเพจเพื่อนก็เห็นประจักษ์ชัดว่าใครทำได้ดีกว่า และอาจทำให้เราวิ่งไล่ตามยอดสุดฤทธิ์

          “แน่นอนว่า engagement มีผลต่อสไตล์และเรื่องที่เราจะเล่ามหาศาล บางทีอยากเขียนอะไรลึกซึ้ง ยาวๆ มีประโยชน์แน่ แต่รู้ว่าเขียนไป คนไม่ค่อยอ่าน เขียนสองสามบรรทัด คนแชร์ยังเยอะกว่า ซึ่งไม่ผิดอะไร บางทีเปลี่ยนวิธีก็ดี แต่คำถามคือเรารู้ตัวหรือเปล่าว่าอยากเล่าเรื่องนี้เพื่ออะไร และต้านทานกับสิ่งเร้าภายนอกนี้ได้แค่ไหน

          “ความท้าทายคือ สิ่งที่ขับเคลื่อนเรามักมาจากภายนอก วันที่คนยังไม่กรี๊ดกร๊าดกับคุณ คุณยังรักสิ่งที่ทำอยู่หรือเปล่า”

          สำหรับนิ้วกลม นอกจากมองรางวัลของการเล่าเรื่องคือ ได้เล่าและเป็นประโยชน์แล้ว เขามองฟังก์ชันของตัวเองตลอดระยะเวลาการทำงานที่ผ่านมาเป็น ‘เพื่อน’ ของผู้รับสาร เวลาเจอเรื่องน่าสนใจอะไร อยากบอกต่อ ชวนคุยว่าเพื่อนคิดเห็นอย่างไร

          เมื่อมองเป็นเพื่อนบ้านที่ทักทายกันด้วยความห่วงใย ส่งต่อประสบการณ์ชีวิต เรื่องราวประจำวัน ความกดดันดูมลายหายไปทันตา กลายเป็นสไตล์ที่คนจดจำ แม้มีหน้าใหม่ปรากฏตัวในวงการที่ลีลาละม้ายคล้ายคลึง เขาก็ไม่หวั่นแต่อย่างใด

           “ดีด้วยซ้ำที่มีพื้นที่ให้คนเก่งๆ เผยแพร่งานดีๆ ให้เราเสพ พอเราอายุสี่สิบกว่า ไม่รู้ว่าจะแข่งกับใครไปทำไมแล้ว ผ่านชีวิตมาพอสมควร มีเรื่องให้ภาคภูมิใจกับตัวเอง วันนี้ทำได้เท่ากับหรือเหนือกว่ามาตรฐานที่เราตั้งไว้ก็โอเคแล้ว”

Live in Peace

          ไม่ใช่ว่าเพื่อนบ้านทุกคนจะน่ารักกับเรา ยิ่งมีเพื่อนรายล้อมหลักล้านคน ใครจะไปรู้หน้ารู้ใจกันได้หมด

          บางทีตั้งใจเขียน เพราะอยากให้คนกลุ่มหนึ่งอ่านเป็นพิเศษ คนอีกกลุ่มอาจบังเอิญเห็นแล้วตีความไปอีกแบบที่คาดไม่ถึง

          “กลัวบ้างอยู่แล้ว ทุกวันนี้เวลาจะลงอะไรต้องเช็กละเอียด ยอมรับว่าบางทีก็หลีกเลี่ยงจะเขียนเรื่องเปราะบางในโซเชียลมีเดีย พอสื่อกลางเป็นพื้นที่สาธารณะขนาดนี้ เราไม่รู้ว่างานจะถูกหยิบจับไปตรงไหนบ้าง

          “หลายคนในวงการก็คิดว่ามันสนุกน้อยลง ถึงเราจะพูดอะไรง่ายขึ้น แต่ผู้คน โดยเฉพาะบุคคลสาธารณะและคนที่มักมีความเห็นต่อเรื่องหนึ่งอยู่ตรงกลาง อาจเลือกยั้งตัวเองมากขึ้น พูดไปก็อาจถูกตีความว่าอยู่ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง อัลกอริทึมผลักให้เราไปอยู่กับคนที่ความคิดสุดขั้ว อาจทำให้เราสูญเสียบางเสียงในสังคมที่เด่นชัดด้วย นึกต่อไปได้ว่าสุดท้ายแล้ว สังคมได้รับสารแบบที่ควรจะเป็นหรือเปล่า”

          คงไม่มีใครตอบได้อย่างแน่ชัดว่าเราควรรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร บ้างบอกว่าคนเสียงดังที่มี
ผู้สนับสนุนผลักดันมากมาย ควรใช้เสียงของตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ไม่เงียบเฉย บ้างก็เข้าอกเข้าใจเป็นอย่างดีว่าทุกการสื่อสารมีราคาที่ต้องจ่ายเสมอ เผลอๆ เจ็บตัวหนักจนไปไม่เป็น

          นิ้วกลมเคยผ่านจุดนั้นมาแล้ว อยู่ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์ และเป็นประเด็นร้อนของสังคม ซึ่งงานที่อยู่กับความคิดตัวเองและผู้อื่นตลอดเวลาแบบนี้ อาจทำให้วกวนสับสน ไม่เข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างครบถ้วน

          ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เขาต้องหาทางเยียวยา เพื่อกลับมาทำงานที่สำคัญต่อ

          “ไม่นานนี้เองที่เราตระหนักว่าเป็นคนบ้าคิด ซึ่งเป็นการค้นพบที่สำคัญมาก

          “งานของเราทำให้หลงคิดว่าความเจ๋งของคนอยู่ที่ความคิด มีปัญหาอะไร คิดเรื่อยๆ เดี๋ยวก็แก้ได้ แต่พอไม่ได้ วนอยู่กับเรื่องเดิมๆ โชคดีหันไปใช้ร่างกาย วิ่ง ปั่นจักรยาน มันหาย เราใช้หัวอย่างเดียวไม่ได้ ชีวิตจะเอียงเกินไป ต้องทำให้ร่างกายเหงื่อออกด้วย”

          ผลผลิตจากช่วงเวลาแห่งการแสวงหาคำตอบคือ หนังสืออย่าง หิมาลัยไม่มีจริง และ Homo
finishers สายพันธุ์เข้าเส้นชัย
ที่ทำให้เขาฟื้นพลังและกลับมาโลดแล่นอีกครั้งด้วยใจที่แข็งแกร่งขึ้น ภายใต้โลกใบเดิมที่ยังต้องค้นหาคำตอบอยู่ว่าเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร

          แต่ที่แน่ๆ มีคนอยากไปพิชิตยอดเขาและออกวิ่งมากขึ้น

ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนมีความหมาย

          กำกับสารคดี แสดงงานนิทรรศการ จัดงานศิลปะ เป็นหนึ่งในวิธีการเล่าเรื่องที่นิ้วกลมอยากลองทำเพิ่มในอนาคต เขามองว่าทุกอย่างหยิบจับมาเป็นวัสดุในการเล่าเรื่องให้เหมาะสมได้หมด

          รวมทั้ง TikTok ด้วย

           “แต่ยังไม่รู้ว่าจะออกมาเป็นแบบไหนนะ” เขารู้ดีว่าคนคงนึกภาพนิ้วกลมอัดวิดีโอสั้นๆ ไม่ค่อยออก ส่วนหนึ่งเป็นไปเพื่อเรียนรู้การสื่อสารและเสพสื่อที่ต่างออกไป สั้น กระชับ ฉับไว แต่อีกด้านหนึ่ง เขายอมรับว่าเพราะกลัวตกขบวน

          “เราไม่รู้ว่าเมื่อไรจะไม่กลัวการตกยุค กลัววันหนึ่งตื่นมาแล้วไม่เข้าใจว่าคนพูดเรื่องอะไรกัน เทคโนโลยีนี้ทำงานอย่างไร ซึ่งตอนนี้ใกล้เป็นแบบนั้นแล้ว

          “แต่คิดว่าไม่ต้องทันโลกทุกอย่าง แค่เลือกสิ่งที่สำคัญและสนใจ ยอมปล่อยบางอย่างบ้าง และเวลาเริ่มอะไรใหม่ ไม่ได้แปลว่าเราต้องทิ้งตัวตนเก่า ถวายชีวิตให้แพลตฟอร์มใหม่ทั้งหมด เราแค่ไปแตะเพื่อเข้าใจก็ได้ โดยไม่ทิ้งสิ่งที่ทำอยู่”

          บางครั้งลองไปทำเพื่อรู้ตัวว่าไม่เหมาะ เช่น พิธีกรรายการที่ต้องอยู่ท่ามกลางความเห็นที่ต่างกันสุดขั้วอย่าง DEBATE ที่นิ้วกลมมองว่าตัวเองไม่สันทัดเท่าไร

          ในขณะเดียวกัน ความขี้เล่น กล้าทดลองพื้นที่ใหม่ๆ ของนิ้วกลม ทำให้ผลงานของเขาบันทึกช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านของสื่อและยุคสมัยไปในตัวด้วย

          “เราเติบโตมากับสื่อที่เปลี่ยนไปมหาศาล เริ่มจากการทำหนังสือทำมือ ต่อมามีเว็บบอร์ด โซเชียล
มีเดีย งานของเราเปลี่ยนไปตามยุคสมัย การเล่าเรื่องจะมีคาแรกเตอร์ตามเวทีที่อยู่ และบอกเล่าด้วยว่าบริบทของยุคนั้นเป็นอย่างไร”

          อย่าง อาจารย์ในร้านคุกกี้ เป็นการรวมบทความจากคอลัมน์ในมติชนสุดสัปดาห์ เป็นหนังสือที่ยืนยันถึงยุคที่สิ่งพิมพ์ยังมีบทบาทสำคัญประจำบ้าน ซึ่งปัจจุบันการรวมเล่มแบบนี้หาได้ยากมากขึ้นแล้ว

          สิ่งที่ค้นพบระหว่างนั่งเฉยเฉย หรือ อุนนุนหมายเลข 1 รวมบทกวีและถ้อยคำสั้นๆ ที่เกิดขึ้นช่วงทวิตเตอร์กำลังเฟื่องฟูและคนทวีตต่อกันเป็นกระแส ซึ่งปัจจุบันเขาเลิกเล่นไปแล้ว

          หรือ หนังสือเกี่ยวกับความสุขในยุคสมัยที่คนตั้งคำถามเรื่องการมีชีวิตที่ดี การใคร่ครวญชีวิตนี้ก็ถูกสะท้อนออกมาผ่านตัวอักษร

          ต้องติดตามต่อไปว่านิ้วกลมจะบันทึกการเปลี่ยนแปลงของสื่อและยุคสมัยต่อไปอย่างไร

ความพยายามเข้าใจชีวิต

          ผ่านชีวิตมานาน เล่าไปเล่ามา เนื้อหาอาจคล้ายคลึงและทับซ้อนกันบ้าง แต่นิ้วกลมมองว่า ความน่าตื่นเต้นของเรื่องเล่าอยู่ที่รายละเอียดและวิธีการ

          “ถ้าเราเล่าเรื่องชีวิต จริงๆ แก่นมีอยู่ไม่กี่เรื่องหรอก แต่เสน่ห์และพลังอยู่ที่ดีเทล

          “ตอนคุยกับคุณมานิต อุดมคุณธรรม เพื่อเขียน สิ่งสำคัญของชีวิต มีตอนที่เขาเป็นสโตรก แล้วลุกมาปั่นจักรยาน วิ่งมาราธอน ถ้าสรุปชีวิตง่ายๆ อาจเป็นเรื่องการดูแลสุขภาพหรือ resilience แต่ในรายละเอียด ภาพของคุณมานิตตอนพยายามออกกำลังกายฝังอยู่ในความคิดเรา จนกระทั่งวันที่เราเจออุบัติเหตุแล้วต้องผ่าเข่า ใส่เฝือก อยากกลับมาวิ่งใหม่ เรานึกถึงภาพของคุณมานิตเลย

          “หรือถ้าพูดถึงเรื่องเมตตากรุณา สองคนที่เรานึกถึงคือ อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ และ อาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา ซึ่งเป็นตัวอย่างของผู้ใหญ่ที่เราอยากเป็นในอนาคต

          “คนแรกเข้าถึงความมั่นคงต่อการเปลี่ยนแปลงได้ผ่านการฝึกทางจิตวิญญาณ สลายความกลัว
ในใจเพื่อมอบความรักให้กับผู้อื่น ส่วนอีกคนรอบรู้สุดๆ และความรู้นั้นทำให้ใจกว้าง ไม่ตัดสินใคร เพราะเข้าใจว่าทุกคน ทุกอย่าง มีที่มาที่ไปและเกิดขึ้นได้ จะเห็นว่าเป็นบทสรุปชีวิตเรื่องเดียวกัน แต่เข้าถึงกันคนละประตู”

          เมื่อใส่ใจในรายละเอียดรอบข้างและผู้คน การเรียนรู้ไม่มีวันจบ และมีพื้นที่ให้เรื่องเล่าใหม่เสมอ

          “เราไม่เคยเบื่อการคุยกับคนเลย ยิ่งเป็นคนที่ต่างกับเรามาก ยิ่งมีเรื่องให้เซอร์ไพรส์ การรู้จักคนหนึ่งเหมือนได้เปิดจักรวาลใหม่”

HOME เดินทางกลับบ้าน

          แม้มีหลายฟอร์แมตให้เลือกหยิบจับใช้งานมากกว่าเดิม แต่หนังสือจะยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญของนิ้วกลม ทุกวันนี้เขายังคงเขียนหนังสือใหม่ปีละราว 3 เล่ม และรายการ Have a Nice Day! ของเขา เลือกหยิบหนังสือมาเล่าในแต่ละวันไม่ซ้ำกัน

          “เรายังเป็นคนยุคเก่าอยู่ เวลาอยากรู้อะไร ไม่ค่อยหาจากโซเชียลมีเดีย เราอ่านหนังสือก่อน ถ้าเล่มนี้ตอบไม่ครบ จะหาเล่มอื่นมาอ่านต่อ

          “สำหรับเรา หนังสือยังคงสำคัญมาก ในยุคที่ทุกอย่างกระจัดกระจาย เร็ว เยอะ เนื้อหามาเป็นก้อนๆ หนังสือเป็นเหมือนบ้าน อาคารที่มั่นคง เข้ามาอยู่แล้วรู้ว่ารั้วรอบขอบชิดอยู่ตรงไหน มันปลอดภัย เราได้ค่อยๆ ทำความเข้าใจลงไปในประเด็นแบบลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ ช่วยจัดระเบียบความคิด ซึ่งสำหรับเรา สื่ออื่นให้ไม่ได้เลย ต้องหนังสือเท่านั้น”

          เขาใช้วิธีคิดเดียวกันนี้ วางแผนการตีพิมพ์หนังสือใหม่ของสำนักพิมพ์ KOOB ที่เขาดูแลร่วมกับ ‘ชิงชิง’ สาธิดา เฮ้งสวัสดิ์

          “ว่ากันตามตรง สำนักพิมพ์เราอาจไม่ได้มีจิตวิญญาณหรืออุดมการณ์อะไรยิ่งใหญ่ แต่เราชอบอ่าน ชอบฟัง พอเห็นอะไรที่คิดว่าน่ารวมเป็นหลักแหล่ง เห็นศักยภาพว่าคนอยากอ่านอย่างต่อเนื่อง อยากรวมให้อยู่ที่เดียว อาศัยการสอดส่ายสายตาหาต้นฉบับจากเพื่อนพี่น้องที่พออ่านงานแล้ว มองเห็นเป็นหนังสือเลย”

          เช่น Leaders’ wisdom : รวมบทสัมภาษณ์ผู้นำแห่งยุคที่คุณไม่ควรพลาด โดย กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร จากเพจ 8 บรรทัดครึ่ง และ ล้ม ลุก เรียนรู้ โดย ธนา เธียรอัจฉริยะ ที่บันทึกประสบการณ์ไว้ในเพจ เขียนไว้ให้เธอ เมื่อนำข้อความที่กระจัดกระจายบนโลกออนไลน์มาจัดเรียง ผู้คนยังคงสนใจอยู่ทุกปี KOOB จะวางแผนการตีพิมพ์หนังสือไว้ว่าตีพิมพ์กี่เล่ม รวมถึงนิ้วกลมด้วยที่ตั้งปณิธานว่าปีหน้า อยากเขียนให้ได้กี่เล่ม ไม่ว่าคำคาดการณ์ของตลาดจะเป็นอย่างไร

          “เราเชื่อว่าคนยังอ่านหนังสืออยู่ เวลาคนบอกว่าตลาดหนังสือซบเซา คนอ่านน้อยลง เรามีเครื่องหมายคำถามตัวโตๆ เลย อาจบอกเป็นตัวเลขไม่ได้ แต่เดินไปดูตามงานหนังสือตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เห็นหนังสือที่น่าสนใจและหลากหลายขึ้นเรื่อยๆ แค่รูปแบบหรือวาระในการอ่านต่างไปจากเดิม แต่เราเห็นว่าหนังสือยังมีความหมายสำหรับชีวิตคน”

เส้นชัย (ไม่) ไร้เหตุผล

          “ไม่อยากฆ่าตัวตายแล้ว” คือเสียงตอบรับจากหนึ่งในผู้อ่านหนังสือของนิ้วกลมที่เขายังจดจำได้ถึงทุกวันนี้

          “โตเกียวไม่มีขา เป็นหนังสือเล่มแรก ใครส่งอะไรมา เราอ่านหมด เจออีเมลหนึ่งส่งมาบอกว่าเขาเผอิญหยิบเล่มนี้มาอ่านในวันที่ตัดสินใจจะจบชีวิตตัวเอง แต่พอเปิดอ่านแล้ว วางไม่ลง ผ่านคืนนั้นไปได้ รุ่งเช้า เขาปิดหนังสือเล่มนี้และมองโลกเปลี่ยนไป ขอบคุณที่เขียนหนังสือเล่มนี้”

          ตลอดการเดินทางเกือบสองทศวรรษ มิตรรักนักอ่านส่งข้อความชื่นชม ขอบคุณนิ้วกลมมาอย่างไม่ขาดสาย ถือเป็นแหล่งพลังงานชั้นดีและเครื่องย้ำเตือนให้ตั้งใจ เพราะงานที่ดีจะมีคนที่ได้รับประโยชน์

          “โลกของสื่ออาจเปลี่ยนไปเยอะ แต่แก่นการเป็นนักเล่าเรื่องคงไม่ต่างจากเดิมเท่าไร คุณอยากเล่าแค่ไหน วันที่ไม่มีคนจ้าง คุณอยากทำอยู่หรือเปล่า และคุณเห็นคนอื่นอยู่ในนั้นไหม ไม่ใช่แค่เล่าแบบที่อยาก แต่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้คนเข้าใจ มีความสุข ตื่นมาดีใจจังที่ได้ฟัง ถ้ามีองค์ประกอบเหล่านี้ ปรุงอย่างไรก็อร่อย

          “อาจเรียกสิ่งนี้ง่ายๆ ว่าความรัก มันจะดูแลเราและนำมาซึ่งทุกอย่างเลย” ประสบการณ์ของเขาคงเป็นเครื่องยืนยันชั้นดี

          บรรทัดหนึ่งของ Ultraman หนังสือเล่มล่าสุดของนิ้วกลม เขียนไว้ว่า เขาทำเรื่องที่ดูไร้เหตุผลอย่างการวิ่งร้อยกิโลเมตร เพราะอยากใช้ชีวิตให้คุ้มที่สุด

          “ถึงตอนนี้ คุ้มแล้ว” เขาตอบทันที เมื่อเราถามถึงเส้นทางการทำงานที่ผ่านมา

          “ปรัชญาการใช้ชีวิตตอนนี้ของเราคือ ได้ก็ดี ไม่ได้ก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร เวลาที่มีอยู่ตอนนี้เหมือนเป็นโบนัสแล้ว”


เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ‘Readtopia ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศการอ่านของไทย’ (2566)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

PDPA Icon

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก