Roots of Empathy หยั่งรากความเห็นอกเห็นใจในห้องเรียน

2,401 views
8 mins
June 24, 2021

          อดัม สมิธ นักปรัชญาศีลธรรมและนักเศรษฐศาสตร์การเมืองได้กล่าวไว้ว่า ในบรรดาคุณสมบัติทั้งปวงของมนุษย์ ‘ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น’ หรือ ‘empathy’ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะเป็นรากฐานที่ทำให้มนุษย์มีศีลธรรม และเป็นสิ่งที่ยึดโยงผู้คนในสังคมเข้าไว้ด้วยกัน

          สำหรับศตวรรษที่ 21 ความเห็นอกเห็นใจเป็นหนึ่งในทักษะกลุ่ม Soft Skill ซึ่ง คริสตัล ลิม-แลงจ์ (Crystal Lim-Lange) ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพอนาคต ยกให้เป็นทักษะขั้นสูงของมนุษย์ (Deep Human Skill) ที่อยู่เหนือกาลเวลาและเป็นที่ต้องการอยู่เสมอในโลกของการทำงาน ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปมากแค่ไหนก็ตาม โดยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ไม่อาจเข้ามาทดแทนได้

          ยิ่งเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 กระจายออกไปทั่วโลกนับตั้งแต่ปี 2020 ดูเหมือนจะซ้ำเติมจิตใจของผู้คนซึ่งมีแนวโน้มแปลกแยกจากผู้อื่นอยู่แล้ว ให้ยิ่งเต็มไปด้วยความเครียด วิตกกังวล และเปลี่ยวเหงา การสร้างความเข้าอกเข้าใจเป็นหนทางที่มนุษยชาติจะสามารถแบ่งปันทุกข์สุข และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน

          ความเห็นอกเห็นใจมาจากไหนและเกิดขึ้นได้อย่างไร  มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่า ไม่ได้เกิดขึ้นจากยีนส์หรือการถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่เป็นกลไกอัตโนมัติที่ไม่สามารถถูกบังคับให้เกิดขึ้น ขณะเดียวกันรายงานทางการแพทย์อีกฉบับระบุอย่างชัดเจนว่า ความเห็นอกเห็นใจเป็นสิ่งที่ ‘สอนไม่ได้’ (unteachable) แต่สามารถสนับสนุน (facilitate) ให้เกิดขึ้นทางอ้อมผ่านการมีประสบการณ์ รวมทั้งเป็นสิ่งที่สามารถถูกแทรกแซงหรือปิดกั้นไม่ให้เกิดขึ้นก็ได้เช่นกัน

          The KOMMON จะพาไปทำความรู้จักหลักสูตรการเรียนรู้ซึ่งริเริ่มโดยนักการศึกษาชาวแคนาดา ที่พยายามทำให้หัวใจของมนุษย์เปิดกว้าง พร้อมที่จะให้ความเห็นอกเห็นใจและความเมตตางอกงามออกมาเองตามธรรมชาติ

เด็กน้อยเปลี่ยนโลก

          ในขวบปีแรกของชีวิตเป็นช่วงเวลาที่ทารกและพ่อแม่มีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่น การเรียนรู้ความสัมพันธ์เชิงบวกและความเอาใจใส่ จะส่งผลระยะยาวต่อเด็กๆ และวิธีที่พวกเขาจะปฏิบัติต่อผู้อื่นในวันข้างหน้า ความเห็นอกเห็นใจเป็นรากฐานที่สามารถเปลี่ยนแปลงให้สังคมน่าอยู่มากขึ้น ทั้งสังคมระดับเล็กๆ ในห้องเรียน โรงเรียน ครอบครัว ชุมชน ประเทศ หรือโลกใบนี้

          บนผ้าสีเขียวที่ปูอยู่บนพื้น เด็กทารกอายุไม่ถึง 1 ขวบ นอนดุกดิกส่งเสียงอ้อแอ้ โดยมีกลุ่มพี่ๆ นั่งห้อมล้อมและจับจ้องด้วยความสนใจ พวกเขาจะพากันมาเยี่ยมเยียนครอบครัวที่มีเด็กอ่อนทุกๆ 3-4 สัปดาห์ ตลอดปีการศึกษา ซึ่งหมายความว่าจะมีโอกาสได้เห็นพัฒนาการของน้องอย่างใกล้ชิดตั้งแต่แบเบาะ จนกระทั่งเริ่มตั้งไข่ หรืออาจจะเดินได้

          การเยี่ยมครอบครัวเป็นหัวใจสำคัญของหลักสูตร Roots of Empathy ครูและพ่อแม่ของทารกซึ่งผ่านการอบรม จะคอยชี้ชวนให้เด็กนักเรียนสังเกต ตั้งคำถาม และอภิปราย เกี่ยวกับพฤติกรรม การส่งเสียง อารมณ์ และการตอบสนองต่างๆ ของทารก แล้วหาคำตอบว่าเด็กน้อยกำลังรู้สึกหรือต้องการอะไร นอกจากนี้ยังมีกระบวนการเรียนรู้ที่สนับสนุนให้เด็กๆ หันกลับมาสะท้อนความรู้สึกของตนเองและความรู้สึกที่มีต่อคนรอบข้าง เพื่อความเข้าใจนี้จะนำไปสู่การลดพฤติกรรมที่ก่อความเจ็บปวดแก่ผู้อื่นทั้งทางกายและทางจิตใจ

          หลักสูตร Roots of Empathy ออกแบบสำหรับเด็กอายุ 5-13 ปี เนื้อหาแบ่งออกเป็น 9 หัวข้อ แต่ละหัวข้อมี 3 คาบ (ก่อนเยี่ยมครอบครัว เยี่ยมครอบครัว และหลังเยี่ยมครอบครัว) รวมทั้งหมด 27 คาบ แต่ละหัวข้อสามารถนำไปแบ่งสอนให้กับนักเรียนช่วงวัยต่างๆ ในระดับประถมและมัธยม และสามารถบูรณาการกับวิชาที่นักเรียนกำลังเรียนอยู่ เช่น ใช้ทักษะคณิตศาสตร์เพื่อคำนวณและทำแผนภูมิน้ำหนักส่วนสูง และใช้ทักษะการอ่านเพื่อค้นคว้าความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับพัฒนาการเด็ก

          สิ่งที่นักเรียนได้เรียนรู้จากหลักสูตรนี้ อาทิ ความสามารถของสมองด้าน​บริหารจัดการ (executive functioning หรือ EF) ทักษะทางอารมณ์ (emotional literacy) การควบคุมอารมณ์ตนเอง ความยืดหยุ่น และเรียนรู้การเผชิญกับความโหดร้ายหรือไม่เป็นธรรม

          ในห้องเรียนที่มีชีวิต ใช่ว่าเด็กน้อยจะยิ้มระรื่นต้อนรับพี่ๆ เสมอไป บางครั้งทารกอาจเกิดความรู้สึกลังเลหรือไม่อยากมีปฏิสัมพันธ์กับใคร ครูและพี่ๆ จะเคารพต่อความต้องการของเขาและเฝ้ามองอย่างระมัดระวัง เช่นกรณีของเด็กชายชั้น ป.5 ที่ไปเยี่ยมครอบครัวเป็นครั้งที่ 6 แต่วันนั้นเด็กน้อยเอาแต่ก้มหน้าก้มตา เขาจึงตัดสินใจขอครูเข้าไปนั่งอยู่กลางผืนผ้าแล้วร้องเพลง ‘All Around the Mulberry Bush’ ให้น้องฟัง ครั้งแรกน้องไม่สนใจ ครั้งที่สองน้องเงยหน้าขึ้นมามองเขา และแล้วความพยายามครั้งที่สามก็สำเร็จ น้องส่งยิ้มและฟังเพลงอย่างติดอกติดใจ           “มันเป็นช่วงขณะที่จับใจที่สุด นับตั้งแต่ฉันได้เข้าร่วมโปรแกรมนี้มา” ดาซี ครูในโครงการ Roots of Empathy กล่าว

'Roots of Empathy' หยั่งรากความเห็นอกเห็นใจในห้องเรียน

กำเนิดหลักสูตร

          หลักสูตร Roots of Empathy พัฒนาขึ้นโดยมารี กอร์ดอน (Mary Gordon) นักการศึกษาและผู้ประกอบการเพื่อสังคมชาวแคนาดา ซึ่งสนใจเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ (emotional intelligence) และปัญหาการข่มเหงรังเเก (bully) ในโรงเรียน

          มารี เป็นครูอนุบาลมาตั้งแต่ปี 1969 เธอเคยลองทดลองจัดกิจกรรม ‘ideas talk’ เป็นการร่วมรับประทานอาหารเย็นกับครอบครัวของนักเรียน และพูดคุยแบ่งปันเรื่องความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น แต่พบว่ามีบรรยากาศที่ไม่ค่อยกลมกลืนกันนักระหว่างบ้านและโรงเรียน ที่เมืองโทรอนโต มารี ทำงานกับครอบครัวเรื่องการแก้ไขปัญหาโดยการเล่น (play-based problem solving)  และได้ก่อตั้งศูนย์ส่งเสริมการอ่านออกเขียนได้สำหรับครอบครัวขึ้นเป็นแห่งแรก

          ต่อมาในปี 1996 เธอได้พัฒนาหลักสูตร Roots of Empathy สำหรับโรงเรียนรัฐบาลในแคนาดา เพื่อพัฒนาทักษะการรับรู้ของนักเรียนที่จะนำไปสู่ความรับผิดชอบทางสังคม เพราะเรื่องความเห็นอกเห็นใจไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการพร่ำสอนของครูหรือการท่องตำรา หลักสูตรนี้จึงมีลักษณะเป็นกิจกรรมห้องเรียนเชิงประจักษ์ (evidence-based classroom program) ซึ่งเน้นการเรียนรู้จากการมีประสบการณ์ โดยมีเด็กทารกเป็น ‘ครู’

          Roots of Empathy ยังถูกนำไปใช้ในอังกฤษและฝรั่งเศส ทั้งในเมือง ชนบท ชุมชนห่างไกล รวมทั้งชุมชนพื้นเมือง นอกจากนี้ยังมีที่นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา ไอร์แลนด์ เวลส์ สก็อตแลนด์ นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ คอสตาริกา เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น โดยมีนักเรียนที่เข้าร่วมหลักสูตรนี้กว่า 1 ล้านคน

ผลิดอกออกผล

          “ในสังคมของเรา เรามักจะวัดสิ่งที่เราเห็นคุณค่า โรงเรียนมักจะวัดความสามารถของนักเรียนในวิชาต่างๆ แต่ Roots of Empathy วัดผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากความรู้ ความเข้าใจ และทัศนคติ” มารี กล่าว

          มีการทำวิจัยผลของหลักสูตร Roots of Empathy อย่างต่อเนื่องตลอดเวลากว่า 20 ปี ข้อค้นพบที่สำคัญได้แก่ นักเรียนมีความสามารถด้านสังคมและอารมณ์เพิ่มขึ้น มีพฤติกรรมเชิงบวกสูงขึ้น เช่น การแบ่งปันและช่วยเหลือผู้อื่น มีพฤติกรรมก้าวร้าว ข่มเหงรังแก และสร้างความเจ็บปวดให้ผู้อื่นน้อยลง บรรยากาศในห้องเรียนเต็มไปด้วยความเอาใจใส่และช่วยเหลือเกื้อกูล ความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนในห้องแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น นอกจากนี้เด็กๆ ยังพัฒนาสำนึกเรื่องการรับรู้ในความสามารถของตัวเอง (self-efficacy) ซึ่งช่วยให้นักเรียนมีแรงใจที่จะยืนหยัดเพื่อตนเองและผู้อื่น

          การศึกษายังเผยถึงข้อสังเกตที่น่าสนใจประการหนึ่งว่า นักเรียนที่มาจากครอบครัวทหารจะมีปัญหาด้านสุขภาพจิตสูงกว่าครอบครัวพลเรือนถึงสองเท่า มีสถิติยืนยันว่าความเครียดของชีวิตการเป็นทหารส่งผลโดยตรงต่อเด็ก ดังนั้นเด็กๆ จากครอบครัวเหล่านี้จึงจำเป็นต้องมีพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขาสามารถนิยามตนเองและแบ่งปันอารมณ์ความรู้สึกกับผู้อื่นได้

          “พ่อของเด็กหลายคนไปเป็นทหารด้วยหลากหลายเหตุผล เมื่อพวกเขาได้เข้าร่วมหลักสูตร Roots of Empathy เขาได้เฝ้าสังเกตพัฒนาการของน้อง และเห็นพลังของความผูกพัน แม้ว่าครอบครัวของพวกเขาเองจะไม่ได้อยู่กันพร้อมหน้า” ครูในโครงการ Roots of Empathy ที่อัลเบอร์ตา กล่าว

          โรมาริโอ หนึ่งในนักเรียนที่ได้เข้าร่วมหลักสูตร Roots of Empathy สะท้อนความรู้สึกในการเสวนาประจำปี 2019 ไว้ว่า “ทุกครั้งที่ถึงคาบ Roots of Empathy ผมรู้สึกอ่อนโยนขึ้น มีความสุขมากขึ้น สงบ และสนุกด้วย ผมมองไปรอบห้อง ทุกๆ คนก็มีความสุข หลักสูตรนี้ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้พวกเรา ความเครียดและความโกรธของพวกเรามลายหายไป พวกเรารู้สึกเหมือนกลับไปเป็นเด็กเล็กอีกครั้งหนึ่ง เราพูดคุยกันเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ไม่มีใครกลัวที่จะแสดงความคิดเห็นและไม่มีใครต้องเก็บซ่อนความรู้สึกเอาไว้

          “การได้เล่นกับ ‘Max’ ช่างแสนวิเศษ เราได้ค้นพบความรู้สึกของผู้อื่นและเข้าใจว่าทำไมพวกเขาถึงแสดงออกมาเช่นนั้น บางคนที่อายุเท่าพวกเราอาจรู้สึกว่าเขาไม่จำเป็นต้องแคร์ใครเลยก็ได้ แต่ Roots of Empathy ช่วยให้พวกเรามีความรัก นั่นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด”

          ส่วนนักเรียนชั้น ป.5 ที่ออนแทรีโอ กล่าวว่า “หนูคิดว่า Roots of Empathy สามารถช่วยโลกได้ เพราะสอนให้นักเรียนใส่ใจและสังเกตความรู้สึกผู้อื่น หนูคิดว่าสิ่งนี้จะช่วยหยุดสงคราม และหนูภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร”

          ปัจจุบันมีการต่อยอดไปสู่โครงการ ‘Seeds of Empathy’ มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กอายุ 3-5 ขวบในศูนย์เด็กเล็กซึ่งจะมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยียนครอบครัวที่มีทารกแรกเกิดเช่นกัน อันเป็นเป้าหมายที่สอดคล้องกันรายงานของ The Royal Foundation ที่ระบุว่า “ประสบการณ์ของเด็กใน 5 ปีแรก จะเป็นสิ่งกำหนดชีวิตของเขาในอีก 50 ปีถัดไป ความเมตตาของเด็กๆ ที่เราปลูกฝังในวันนี้ จะส่งผลต่อความเมตตาของโลกที่เราอยู่ในวันพรุ่งนี้”

          โครงการ Roots of Empathy ทำให้ มารี กอร์ดอน ได้รับรางวัลจากหลายองค์กร ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ เช่น องค์การอนามัยโลก มูลนิธิธนาคารโลก และ OECD รายละเอียดหลักสูตรและบทเรียนความสำเร็จของ Roots of Empathy ได้ถูกเรียบเรียงไว้ในหนังสือ ‘Roots of Empathy: Changing the World Child by Child


ที่มา

Roots of Empathy [online]

Bullies learn from babies [online]

Empathy is not in our genes [online]

34 Roots of Empathy: Changing the World, Child by Child [online]

Building the next generation of responsible citizens [online]

เอกสารสรุปการบรรยาย เรื่อง Deep Human Resilience – the Skills and Mindsets We Need to Succeed in an Era of Change [online]

Cover Photo by Jonas Kakaroto on Unsplash

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก