‘สิ่งพิมพ์ตายแล้ว’ เป็นวลีเด็ดที่ก่อให้เกิดการถกเถียงมากมายนับตั้งแต่โลกอินเทอร์เน็ตและสื่อออนไลน์เข้ามามีส่วนสำคัญในการรับรู้ข่าวสารประจำวัน โดยเฉพาะในช่วงปี 2555-2565 ซึ่งเป็นทศวรรษที่นิตยสารไทยปิดตัวลงมากเป็นประวัติการณ์
บางกอกรายสัปดาห์ นิตยสารที่คอยอัปเดตข่าวสารใหม่ๆ และให้ความบันเทิงกับคนไทยมามากเกือบ 3,000 ฉบับ ตัดสินใจยุติการพิมพ์ลงในปี 2557 ตามมาด้วยนิตยสารสตรีอย่าง สกุลไทย ที่ตีพิมพ์ฉบับสุดท้ายในปี 2559 นิตยสารทั้งสองชื่อนี้ต่างมีอายุการตีพิมพ์ยาวนานกว่า 60 ปี เมื่อยักษ์ใหญ่ตัดสินใจวางมือจากวงการ จึงเกิดแรงกระเพื่อมไปยังนิตยสารเล่มอื่นๆ ด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย
ช่วงเวลานับจากนั้นคือฝันร้ายของแวดวงนิตยสารไทย เพราะนิตยสารชื่อคุ้นหูหลายสำนักต่างตีพิมพ์ฉบับอำลากันถ้วนหน้า นิตยสารขวัญใจแม่บ้าน คนรักอาหารและงานคหกรรมอย่าง Health & Cuisine ครัว และ ขวัญเรือน ปิดตัวลงในปี 2560 กระทั่ง คู่สร้างคู่สม แหล่งความรู้รอบและความบันเทิงราคาย่อมเยา ก็ยังต้องอำลาผู้อ่านไปในปีเดียวกัน ด้วยประสบปัญหาขาดทุนสะสมมานานหลายปี
แผงนิตยสารในประเทศไทยเริ่มโหรงเหรงมากขึ้นเรื่อยๆ Hamburger สุดสัปดาห์ และ Lonely Planet Traveller Thailand ยุติการตีพิมพ์ในปี 2562 เส้นทางเศรษฐี ยุติการตีพิมพ์ในปี 2563 และ Esquire Thailand ตัดสินใจไม่ต่อสัญญากับ Hearst Magazine จึงร่วมลาแผงไปในปีเดียวกัน และในปี 2565 Bioscope ก็ประกาศปิดตัวลงท่ามกลางความเสียดายของนักอ่าน
10 ปีแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้กล่อมเกลาให้เราเชื่อว่านิตยสารซึ่งครั้งหนึ่งเป็นเครื่องมืออัปเดตความรู้ความบันเทิงและมีส่วนกำหนดทิศทางของสังคมอย่างมหาศาล คงกลายเป็นสื่อแห่งโลกยุคเก่าที่ต้องล้มหายตายจากไปในโลกสมัยออนไลน์ และกลายเป็นเครื่องตอกย้ำว่า ‘สิ่งพิมพ์ตายแล้ว’ คือข้อเท็จจริงแห่งยุค
ใครฆ่าสิ่งพิมพ์
หากเราเชื่อกันว่าสิ่งพิมพ์ตายแล้ว นิตยสารตายแล้ว ใครกันล่ะที่เป็นฆาตกรเบื้องหลังความตายเหล่านั้น เราได้พูดคุยกับ ย้วย – นภษร ศรีวิลาศ อดีตคนทำนิตยสาร ที่ยังคงวนเวียนเกี่ยวข้องอยู่กับสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งในฐานะนักเขียน กองบรรณาธิการ และ เจ้าของร้านนิตยสารอิสระ Rock Paper Scissors Store ถึงเรื่องความอยู่ความตายที่ว่า
“หน้าที่ของนิตยสาร ณ ตอนนั้นก็คือการอัปเดตเทรนด์ อัปเดตสิ่งต่างๆ ขึ้นอยู่กับว่ากองบรรณาธิการอยากจะบอกอะไรคนอ่าน เช่น ช่วงนี้สนใจเรื่องนี้กันเถอะ ช่วงนี้มีเรื่องนี้น่าคุยนะ ดังนั้นเมื่อก่อน เวลาเราทำเราก็จะต้องคิดกันให้ล่วงหน้าคนอ่านให้ได้ เพื่อให้เรื่องในนั้นมันยังใหม่อยู่ ร้านใหม่ หนังใหม่ นิตยสารใหม่ เพราะกว่านิตยสารหนึ่งเล่มจะไปถึงมือคนอ่านมันใช้เวลา บางเล่มก็รายสัปดาห์ บางเล่มก็รายเดือน ดังนั้นข้อจำกัดของนิตยสารคือ พอเลยเวลานี้ไปแล้วมันก็จะเก่าไปเลย
“แล้ววันหนึ่งก็มีอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นมา สิ่งที่คนอยากรู้สามารถเสิร์ชในอินเทอร์เน็ตได้ ร้านใหม่ หนังใหม่ เทรนด์ช่วงนี้ ดาราพูดถึงเรื่องอะไร เบื้องหลังของสิ่งนั้นเป็นอย่างไร สิ่งที่มันเคยเล่าในนิตยสารทั่วไป มันหาได้ง่ายๆ ในอินเทอร์เน็ต คนก็ไม่จำเป็นจะต้องอ่าน ไม่จำเป็นต้องซื้อ หรือว่าต้องมาเฝ้ารอว่าเดือนหน้านิตยสารเล่มไหนจะเล่าเรื่องอะไร แล้วคนก็ไม่ได้อยากรอคอยอีกต่อไปแล้วด้วย เพราะฉะนั้นนิตยสารที่เคยทำหน้าที่นั้นมันก็ค่อยๆ หายไป
“ถ้าถามว่าทำไมถึงหายไป ต้องบอกอย่างนี้ว่า นิตยสารกับหนังสือขายไม่เหมือนกัน หนังสือขายเป็นเล่มๆ ได้เงินเป็นเล่มๆ แต่นิตยสารไม่ได้ขายคนอ่าน แม้ว่าคนอ่านจะมีเงินซื้อเล่ม แต่มูลค่าจริงๆ ของนิตยสารมันคือโฆษณาข้างในที่ราคาหลักแสน ขึ้นปกก็อีกราคาหนึ่ง ทำเนื้อหาก็อีกราคาหนึ่ง แล้วพอคนไม่อ่านนิตยสาร ลูกค้าที่เป็นคนซื้อโฆษณาก็ไม่ซื้อ”
ความคิดเห็นจากนภษรคงตรงกับคนทำงานจากแวดวงนิตยสารส่วนใหญ่ ด้วยว่าโครงสร้างรายได้ของนิตยสารทั้งหลาย นับตั้งแต่นิตยสารแฟชั่นไปจนถึงนิตยสารพระเครื่อง ล้วนมาจากการขายโฆษณาทั้งสิ้น สอดคล้องกับผลสำรวจที่ว่า ช่วงที่นิตยสารไทยทยอยปิดตัวลงนั้นตรงกับช่วงที่มูลค่าการซื้อขายโฆษณาในนิตยสารไทยลดลงกว่า 77% จากเดิมปีละ 5,600 ล้านบาท เหลือเพียงปีละ 1,300 ล้านบาท ภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี จาก (ผลสำรวจจากปี 2555-2561)
ช่วงเวลา 10 ปีแห่งความเปลี่ยนแปลงของแวดวงนิตยสาร ประจวบเหมาะกับการเป็นทศวรรษแห่งอินเทอร์เน็ต ที่คนไทยสามารถเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ได้ง่ายขึ้น ทั้งจากคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์อื่นๆ แพ็กเกจอินเทอร์เน็ตลดราคาลงเหลือเพียงหลักร้อยต่อเดือน สัญญาณ Wifi กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ปรากฏตัวในทุกพื้นที่ไม่ต่างกับน้ำประปาหรือระบบไฟฟ้า หน้าที่ในการเป็นแหล่งข้อมูลแสนทันสมัยของนิตยสารจึงถูกโลกออนไลน์แย่งชิงไปแทบทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องปกิณกะในนิตยสารไลฟ์สไตล์ที่เคยมีส่วนกำหนดทิศทางความคิดความอ่านของคนกลุ่มใหญ่
เมื่อคนไม่จำเป็นต้องเฝ้ารออ่านเรื่องปกิณกะรายเดือนในสิ่งพิมพ์อีกต่อไป นิตยสารไลฟ์สไตล์และนิตยสารที่มีเนื้อหาในแนวกว้างจึงเป็นปราการด่านแรกที่ได้รับแรงปะทะ ราคาขายของนิตยสารส่วนใหญ่แทบไม่ครอบคลุมต้นทุนการผลิตต่อเล่ม โดยเฉพาะนิตยสารไลฟ์สไตล์ที่ตีพิมพ์สี่สีแทบทั้งเล่ม ดังนั้นเมื่อมีรายได้จากการโฆษณาน้อยลง แต่ยังมีปริมาณการพิมพ์ต่อฉบับสูงเท่าเดิม ผู้ผลิตนิตยสารไลฟ์สไตล์ก็เริ่มทยอยขาดทุนจนโบกมือลาผู้อ่านกันทั่วหน้า
กระนั้นก็ตาม ใช่ว่านิตยสารเฉพาะทางจะรอดพ้นจากวงจรนี้ เพราะท้ายที่สุดแล้ว เรื่องเฉพาะทางที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสารก็ปรากฏตัวบนโลกออนไลน์เช่นกัน ซ้ำยังรวดเร็วกว่า มีผู้เขียนหลากหลายกว่า และส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นิตยสารเฉพาะทางส่วนใหญ่จึงพ่ายแพ้ให้กับยุคดิจิทัลอยู่ดี
“ที่คนเห็น คือเขาเห็นว่ามันไม่มีคนทำ แต่ถ้าสาวลึกลงไปกว่านั้น ทำไมนิตยสารไม่มีคนทำล่ะ ก็เพราะมันไม่มีคนซื้อ ไม่มีคนจ่ายเงิน ไม่มีคนอยากลงทุน พอธุรกิจนี้มันไม่ได้สร้างกำไร มันก็ไม่เย้ายวนใจ ไม่มีใครอยากลงทุนเปิดสำนักจ้างคนมาเขียน พอมีใครคนหนึ่งหายไป สุดท้ายมันก็ส่งผลต่อกันหมด จริงๆ สุดท้ายคนที่ยืนอยู่ยั่งยืนสุดคือคนอ่านนะ”
เราคงไม่สามารถชี้ขาดได้ว่าใคร สิ่งใด หรือปรากฏการณ์ไหนที่เป็นผู้ต้องสงสัยในการสังหารนิตยสารและสิ่งพิมพ์ เหนือไปกว่านั้นก็คือ แม้จะยืนยันด้วยยอดขายและมูลค่าธุรกิจนิตยสารที่ลดลงอย่างน่าใจหาย เราก็ไม่สามารถพูดได้เต็มปากเสียด้วยซ้ำว่า “นิตยสารตายแล้ว”
เพราะมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่เชื่อประโยคนี้
Print Is Dead. (Long Live Print!)
Print Is Dead. (Long Live Print!) คือชื่อของรายการพอดแคสต์ว่าด้วยนิตยสารและคนที่อยู่ (และเคยอยู่) ในแวดวงการผลิตนิตยสาร อาจดูย้อนแย้งเมื่อนึกถึงว่าคนเหล่านี้กำลังใช้สื่อออนไลน์พูดถึงการเติบโตและเสื่อมถอยของสื่อหน้ากระดาษ ทว่า Print Is Dead. (Long Live Print!) กลับเป็นสิ่งที่นำเสนอว่าสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะนิตยสาร อาจยังไม่ถึงเวลาตายอย่างที่หลายคนคิด
นอกจากนี้ Print Is Dead. (Long Live Print!) ยังเป็นชื่อหนังสือภาพโดย Ruth Jamieson ที่รวบรวมเอาแนวคิดและความงามของนิตยสารอิสระจากทั่วโลกไว้อย่างครบถ้วน ด้วยความเชื่อว่านิตยสารอิสระจะเป็นลมหายใจใหม่ และเป็นก้าวต่อไปของแวดวงสิ่งพิมพ์
สิ่งพิมพ์ตายหรือยัง – เราถาม
“เวลาคนถามแบบนี้ ก็จะกางให้เขาดูเลยว่าที่ร้านมีเพียบ คุณว่ามันมีคนทำอยู่ไหมล่ะ” นภษรตอบพลางอมยิ้ม
“วันดีคืนดีนิตยสารก็ปิดตัวกันหมด คนก็เลยคิดว่านิตยสารหายไปใช่ไหม แต่ว่าจริงๆ มันยังมีนิตยสารอิสระอยู่ นิตยสารอิสระ คือ Indie Magazine (Independent Magazine – ผู้เขียน) คำว่าอิสระในที่นี้แปลว่ามันไม่ได้พึ่งโฆษณา แต่อยู่ได้ด้วยการขายนิตยสารให้กับคนอ่านจริงๆ Indie Magazine เกิดขึ้นใหม่และยังคงอยู่มากมาย เราว่าสาเหตุที่มันอยู่ได้เพราะเขาทำในสิ่งที่อินเทอร์เน็ตทดแทนไม่ได้”
สิ่งพิมพ์เกือบทั้งหมดในร้าน Rock Paper Scissors Store คือ Indie Magazine หรือนิตยสารอิสระที่ว่านั้น นภษรจึงนิยามร้านของเธอว่าเป็น ‘ร้านนิตยสารอิสระ’ ไม่ใช่แค่ร้านนิตยสารภาษาอังกฤษ ร้านหนังสืออิสระ หรือคาเฟ่อย่างที่หลายคนเข้าใจ (แม้ว่ากาแฟในร้านจะดีมากก็ตาม)
นิตยสารอิสระที่ไม่พึ่งพารายได้จากการขายโฆษณาเกิดขึ้นทั่วโลก ที่น่าสนใจคือ ผู้ผลิตส่วนใหญ่เลือกจะตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ มันจึงเพิ่มฐานผู้อ่านจาก 1 ประเทศเป็นทั่วโลกได้ในทันที หากคุณผู้อ่านยังนึกไม่ออก Kinfolk นิตยสารสายสโลว์ไลฟ์ที่เป็นแรงบันดาลใจให้คนค่อนโลกเทิดทูนความแช่มช้าในชีวิต นั่นแหละคือตัวอย่างของนิตยสารอิสระที่น่าจะคุ้นตากันมากที่สุด
แม้ว่าในปัจจุบัน คอนเทนต์ของโลกออนไลน์จะเทิดทูนความแช่มช้าของชีวิตมากขนาดไหน แต่เรากลับนึกภาพไม่ออกเลย ว่าอินเทอร์เน็ตจะสามารถแทนที่การมีอยู่ของ Kinfolk บนชั้นหนังสือได้อย่างไร
เช่นเดียวกันกับนิตยสารอิสระทุกเล่มในร้านนี้ นภษรคัดสรรนิตยสารอิสระจากทั่วทุกมุมโลกมารวมไว้ ด้วยเหตุผลเบื้องหลังว่าเธอหลงรักนิตยสารอิสระเหล่านี้จนต้องสั่งมาจากต่างประเทศทุกเดือน เดือนละหลายฉบับ หลายประเทศ จึงเห็นว่าควรจะเปิดร้านนิตยสารอิสระขึ้นมาเสียที เพื่อให้เพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่คาดว่าคงมีอยู่เข้าถึงนิตยสารอิสระได้ง่ายขึ้น และเพื่อให้เธอไม่ต้องเสียค่าจัดส่งข้ามประเทศที่แพงกว่าค่านิตยสารอีกต่อไป
ในร้าน Rock Paper Scissors Store ไม่มี Kinfolk อันเลื่องลือ เพราะนภษรไม่เห็นประโยชน์ของการขายนิตยสารอิสระที่คนไทยหาซื้อได้ง่ายอยู่แล้ว แต่เธอมีนิตยสารอิสระคัดสรรอื่นๆ สารพัด เช่น Apartamento นิตยสารความหนาราว 1.5 นิ้วว่าด้วยที่อยู่อาศัยของคน ซึ่งเชื่อว่าหัวใจสำคัญของบ้านที่แท้จริงไม่ใช่เฟอร์นิเจอร์ มันไม่ใช่ของตกแต่งบ้าน แต่คือชีวิตคนในนั้น จึงเล่าเรื่องบ้านด้วยสายตาและน้ำเสียงที่ไม่เหมือนกับนิตยสารบ้านเล่มใดในโลก
Science of Secondary นิตยสารอิสระจากสิงคโปร์ซึ่งเล่าเรื่องใดก็ตามที่อยากจะเล่า เล่มละ 1 เรื่อง ด้วยมุมมองและลีลาเฉพาะตัวที่ทำให้เรื่องไม่จำเป็นต้องรู้กลายเป็นเรื่องน่ารู้ขึ้นมาทันที เช่น เมื่อเล่าเรื่องกล้วย Science of Secondary จะเล่าว่า Anatomy ของกล้วยเป็นอย่างไร เมื่อเล่าเรื่องถุงเท้า Science of Secondary จะเล่าว่าคนเราใช้กล้ามเนื้อมัดใดในการขยับตัวใส่ถุงเท้าบ้าง และเมื่อเล่าเรื่องกระดาษทิชชู Science of Secondary จะเล่าว่า เราควรฉีกกระดาษทิชชูแบบไหนจึงจะดีที่สุด
Sindroms นิตยสารอิสระรายครึ่งปีที่เล่าเรื่องสีเล่มละ 1 สีในทุกมิติ ทั้งในเชิงวัฒนธรรม ความเชื่อ พิธีการ ผลต่อจิตใจ การตลาด ความรู้สึก ในขณะที่เรื่องราวของสีเข้มข้นลุ่มลึก แต่ความสวยงามของภาพ การจัดหน้า และรูปเล่มกลับดึงดูดสุดสายตาได้ราวกับว่ามันคือนิตยสารแฟชั่นดีๆ สักเล่ม
Like the Wind นิตยสารอิสระสำหรับนักวิ่งที่คนไม่เคยวิ่งก็อ่านสนุก เพราะในเล่มพูดถึงทุกเรื่องรายล้อมการออกวิ่ง ที่ไม่เกี่ยวกับเทคนิควิ่งไววิ่งทนแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวเบื้องหลังงานวิ่ง พื้นที่วิ่ง จุดเปลี่ยนหลังจากเริ่มออกวิ่ง หรือแม้กระทั่งเรื่องเบื้องหลังรองเท้าวิ่งที่อ่านแล้วอาจทำให้อยากเป็นนักวิ่งฝึกหัดขึ้นมาเสียอย่างนั้น
Anorak นิตยสารอิสระสำหรับเด็กว่าด้วยเรื่องสามัญธรรมดาอย่างไอศกรีม ห้องครัว หรือสัตว์ทะเล แต่มาพร้อมกับภาพประกอบน่ารักจนผู้ใหญ่ต่างพากันซื้อเก็บถ้วนหน้า
นี่เป็นเพียงเสี้ยวส่วนหนึ่งของบรรดานิตยสารอิสระจากทั่วโลกเท่านั้น ในฐานะที่เป็นทั้งคนอ่าน คนซื้อ และคนขาย นภษรมองว่านิตยสารอิสระยังมีช่องทางอีกกว้าง และเป็นเครื่องช่วยยืนยันว่านิตยสารยังไม่ตายแน่ๆ ตราบใดที่มันยังมีอะไรที่อินเทอร์เน็ตให้ไม่ได้
Reader never dies, so does indie magazine.
นิตยสารที่ปิดตัวลงส่วนใหญ่ยังคงมียอดขายหลายพันฉบับ และมีสมาชิกหลายพันคน นิตยสารฉบับอำลาแผงหลายเล่มกลายเป็นของหายากที่ซื้อขายมือสองกันในราคาสูงกว่าปก สิ่งเหล่านี้อาจพอทำให้สรุปได้ว่าคนอ่านไม่เคยหายไปไหน
นักอ่านย้ายจากแพลตฟอร์มหนึ่งไปยังอีกแพลตฟอร์มหนึ่งตามความสะดวก รวดเร็ว และประหยัด หากต้องการจะย้ายผู้อ่านกลับมาหาแพลตฟอร์มสิ่งพิมพ์บ้างเป็นครั้งคราว ทางเดียวที่จะทำได้ก็คือ สร้างสิ่งพิมพ์ที่คุ้มค่า น่าสะสม และแตกต่างจากสิ่งที่มีอยู่แล้วบนโลกอินเทอร์เน็ต นี่คืออนาคตของนิตยสารอิสระที่หลายคนฝากความหวังเอาไว้ รวมถึงนภษร ในนามของนักอ่าน คนซื้อ และเจ้าของธุรกิจร้านนิตยสารอิสระด้วยเช่นกัน
“พอได้เปิดร้านก็เห็นว่า มันมีคนอยากกลับมาทำหนังสือเยอะแยะไปหมดเลย พอเขามาเห็นตัวอย่าง เขาก็ตื่นเต้นมาก ว่ามันก็เล่าแบบนี้ได้นี่ มันก็ทำปกแบบนี้ได้นี่”
“ส่วนฝ่ายคนทำเขาก็รู้สึกว่า นิตยสารอิสระมันขายได้นะ มันมีคนอ่าน แม้ว่ายอดขายในไทยมันอาจจะแค่ 5 เล่ม แต่เขาก็ได้รู้ว่า ในประเทศไทยมีคนอ่านนิตยสารเขา 5 คนแล้ว ถ้า 10 ประเทศก็มีคนอ่าน 50 เล่มแล้วนะ
“จริงๆ แล้วเราก็ได้ทดลองด้วยว่ามันจะมีคนอ่านจริงหรือเปล่า ที่สำคัญคือมันทำให้ตัวเราเองก็กลับไปทำงานสื่อได้ เพราะก่อนหน้านี้เราหมดไฟมาก เราเคยคิดว่าชาตินี้จะไม่ทำมันแล้ว แต่ตอนนี้เรารู้สึกว่าเรายังมีความสามารถอยู่ และคงยังมีคนต้องการเราอยู่ ก็เลยกลับไปทำงานเพื่อเอาเงินมาซื้อนิตยสารอิสระขายต่อ (ยิ้ม) คนทำเขาก็ทำนิตยสารอิสระเป็นงานอดิเรกใช่ไหม ตอนนี้เราก็มีร้านขายหนังสืออิสระเป็นงานอดิเรก ในขณะที่เราเติมไฟให้คนทำนิตยสารอิสระ ลูกค้าเราก็ได้เติมไฟให้เราด้วยเหมือนกัน”
ที่มา
บทความ “10 of the Best Independent Magazines Right Now” จาก printmag.com (Online)
บทความ “Indie magazine sales are proving print is not dead” จาก independent.co.uk (Online)
บทความ “The Magazine Industry Is Not Dead, It Is Evolving” จาก wearejerseyent.com (Online)
บทความ “The Rise of the Indie Magazine” จาก northernart.ac.uk (Online)
บทความ “การปรับตัวของนิตยสารในทศวรรษที่ 2010 – 2020” จาก digital.library.tu.ac.th (Online)
บทความ “การล่มสลายของนิตยสารไทยในยุคดิจิทัล” จาก tci-thaijo.org (Online)
บทความ “เจาะลึกภูมิทัศน์สื่อไทย 2563” จาก infoquest.co.th (Online)