เหลียวหลังแลหน้า ทบทวนงานวิจัยและการสำรวจการอ่านของไทย ในรอบ 20 ปี 

115 views
17 mins
March 26, 2025

         ตลอดระยะเวลา 2 ทศวรรษ มีงานวิจัย การสำรวจ และบทความวิชาการเกี่ยวกับการอ่านในประเทศไทยอยู่ไม่น้อย โดยส่วนมากเป็นการสำรวจในขอบเขตจำกัด เช่น พฤติกรรมการอ่านในพื้นที่ หรือในสถาบันการศึกษา แต่ก็มีบางชิ้นที่ฉายให้เห็นภาพรวมในระดับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการอ่าน หรือการพัฒนาเครื่องมือเพื่อใช้ติดตามการอ่าน แม้แต่ TK Park เองก็เคยสนับสนุนการวิจัยบางชิ้นในปี 2551 และ 2553 

          เป้าหมายของงานวิจัยและการสำรวจเหล่านั้นคือ เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมและสถานการณ์การอ่านอันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายที่เหมาะสม บทความนี้จึงถือโอกาสเชิญชวนผู้อ่านมาทบทวนว่า มีข้อค้นพบอะไรที่น่าหยิบมาขบคิด สิ่งใดเป็นช่องว่างในการศึกษา สิ่งใดขาดหายไปจากนโยบายส่งเสริมการอ่านในประเทศไทย และเราควรจะเดินหน้าต่ออย่างไรเพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการอ่านและการเรียนรู้

การอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน (Reading for Pleasure) ที่หายไป และช่องว่างที่ยังไม่ได้รับการเติมเต็ม   

          เป้าหมายปลายทางของงานวิจัยและการสำรวจ คือนำข้อมูลมาใช้เป็นแนวทางในการวางกลยุทธ์สร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานว่างานวิจัยของไทยนำไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบายมากน้อยแค่ไหน หากเทียบกับกรณีต่างประเทศที่งานวิจัยมักจะเป็นจุดเริ่มต้นของการวางนโยบายและแผนงาน  

          ขอยกตัวอย่างด้วยประเด็นที่ต่างประเทศให้ความสำคัญแต่ถูกกล่าวถึงค่อนข้างน้อยในสังคมไทย นั่นคือ ‘การอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน’ (Reading for Pleasure) หรือการอ่านเล่น ซึ่งเกิดขึ้นโดยความสมัครใจ โดยความสนใจส่วนบุคคล งานวิจัยหลายชิ้นกล่าวว่าการอ่านเพื่อความเพลิดเพลินเป็นรากฐานอันมั่นคงของนิสัยรักการอ่าน และให้ผลลัพธ์เชิงบวกไม่ว่าจะเป็นในระยะสั้น เช่น ผลการเรียนดีขึ้น มีความรู้รอบตัว หรือผลลัพธ์ในระยะยาวอย่างการเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ สามารถตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผล เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต  

          องค์กรส่งเสริมการอ่านขนาดใหญ่ในสหราชอาณาจักร เช่น National Literacy Trust, Book Trust และ The Reading Agency ล้วนให้ความสำคัญกับการอ่านเล่น โดยมีนโยบายและโครงการที่เกิดขึ้นสนองตอบงานวิจัยเหล่านั้นอยู่ไม่น้อย เช่น โครงการ Quick Reads ที่เรียบเรียงผลงานของนักเขียนยอดนิยมให้อ่านง่ายขึ้น สำหรับผู้ใหญ่ที่คิดว่าการอ่านหนังสือเป็นเรื่องยากหรือมีข้อจำกัดด้านภาษา เพื่อให้คนกลุ่มนี้รู้สึกเพลิดเพลินกับการอ่าน, โครงการ Reading Challenge ที่ชักชวนเยาวชนมาอ่านหนังสือในธีมเดียวกันทุกๆ ซัมเมอร์ โดยมีกิจกรรมและของรางวัลเป็นแรงจูงใจ มีห้องสมุดและหน่วยงานที่ทำงานกับเยาวชนมาร่วมสร้างสรรค์โครงการ 

          เมื่อหันกลับมามองประเทศไทย แนวคิด ‘การอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน’ (Reading for Pleasure) และ ‘ความสุขจากการอ่าน’ (Enjoyment from Reading) ปรากฏอยู่เพียงน้อยนิดในเอกสารเชิงนโยบาย แม้ว่าจะมีงานวิจัยที่กล่าวถึงการอ่านเพื่อความบันเทิง การอ่านเล่น การอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน หรือความสุขจากการอ่านหนังสืออยู่จำนวนหนึ่ง  

          งานวิจัยที่จุดประเด็นให้เห็นถึงความสำคัญของการอ่านเล่น คือ ‘โครงการวิจัยทัศนคติและพฤติกรรมการอ่านของคนไทย’1 (2551) โดย TK Park ซึ่งชี้ให้เห็นว่า คนไทยเห็นการอ่านสำคัญต่อชีวิต แต่ไม่เห็นความสำคัญของการอ่านเล่น และไม่มีความสุขในการอ่าน ซึ่งต่างจากประเทศอื่นในเอเชีย อย่างสิงคโปร์ เวียดนาม ญี่ปุ่น และเกาหลี ที่ปัจจัยขับเคลื่อนทัศนคติที่ดีต่อการอ่านหนังสือของประชาชนในประเทศเหล่านั้นคือ ความรู้สึกเพลิดเพลินและมีความสุขขณะอ่านหนังสือ  

          งานวิจัยต่อๆ มา ได้กล่าวถึงความสุขขณะอ่านหนังสืออยู่บ้าง เช่น การสร้างตัวชี้วัดวัฒนธรรมการอ่าน (2558) เก็บข้อมูลตัวชี้วัดผลลัพธ์จากการอ่าน ซึ่ง ‘ความสุข ความเพลิดเพลินในการอ่าน’ นั้น อยู่ในอันดับที่ 4 (จากตัวชี้วัดทั้งหมด 5 อันดับ) รองลงมาจาก ความรอบรู้ ความก้าวหน้าในอาชีพการงาน และการส่งเสริมสภาพจิตใจและอารมณ์ ส่วนผลการสำรวจการอ่านของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2554, 2556, 2558, 2561 ก็ให้ผลไม่ต่างกันนัก กลุ่มตัวอย่างมองการอ่านเป็นกิจกรรมที่ช่วยเสริมเติมความรู้ พัฒนาตนเอง และติดตามข้อมูลข่าวสารมากกว่าเพื่อความเพลิดเพลิน การอ่านเพื่อความบันเทิงเป็นเหตุผลที่ไม่เคยอยู่ในอันดับต้นๆ และยิ่งอายุมากขึ้น จำนวนผู้ที่มองว่าการอ่านเป็น ‘ความบันเทิง’ ยิ่งลดน้อยลง

เหลียวหลังแลหน้า ทบทวนงานวิจัยและการสำรวจการอ่านของไทย ในรอบ 20 ปี 

          การสำรวจและงานวิจัยด้านการอ่านเริ่มขาดช่วงไปตั้งแต่ปี 2562 ในช่วงที่โควิดแพร่ระบาด เมื่อตลาดหนังสือฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง ‘การศึกษาพฤติกรรมการอ่านและการซื้อหนังสือของคนไทย’2 (2567) ได้ค้นพบประเด็นที่น่าสนใจคือ กลุ่มตัวอย่างมีแนวโน้มที่จะ ‘อ่านเพื่อความบันเทิง’ กันมากขึ้น โดยกลุ่มตัวอย่างที่อายุต่ำกว่า 50 ปี อ่านเพื่อความบันเทิงเป็นอันดับ 1 และกลุ่มตัวอย่างที่อายุต่ำกว่า 40 ปี มีค่าเฉลี่ยของการอ่านเพื่อความบันเทิงเกิน 3 จากคะแนนเต็ม 4 ซึ่งถือว่าเป็นคะแนนที่สูง

         ถึงอย่างนั้นก็ดี นับจากงานวิจัยปี 2551 ที่เสนอว่า “หากต้องการสร้างเสริมนิสัยรักการอ่าน ผู้ปกครองและครูต้องเปลี่ยนความคิดด้วยการส่งเสริมอ่านเล่นก่อน” ก็ยังไม่มีการขยายผลทั้งในเชิงนโยบายและการปฏิบัติจากส่วนกลาง แม้กระทั่งสิบกว่าปีให้หลัง งานวิจัยเรื่อง ‘การอ่านเล่นในสังคมไทย’ (2563)3  ก็ยังชี้ให้เห็นว่าไม่พบการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม วัฒนธรรมการอ่านออกเขียนได้ของไทย และนโยบายด้านการอ่านของภาครัฐยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการอ่านเพื่อความเพลิดเพลินเท่าที่ควร ยิ่งไปกว่านั้นภาครัฐยังไม่สามารถสร้างสังคมการอ่านในโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เยาวชนไทยในหลายพื้นที่ยังมีอุปสรรคในการเข้าถึงหนังสือ และขาดการสนับสนุนทางภาษา กิจกรรมใดก็ตามที่เกิดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้คนไทยอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน สนุกสนาน หรือมีความสุขกับการอ่าน จึงเกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจส่วนบุคคล หรือวิสัยทัศน์เฉพาะองค์กร มากกว่าที่จะเกิดขึ้นตามการวางเป้าหมายหรือแผนงานจากรัฐบาล 

ปริมาณการอ่าน (ที่ข้อมูลหนาแน่นทุกปี) VS ความสามารถในการอ่าน (ที่นานทีจะมีคนกล่าวถึง) 

          หากเราพิมพ์คำว่า ‘การอ่านของคนไทย’ ลงไปใน Search Engine ข้อมูลที่ปรากฏขึ้นมาจนเต็มหน้าจอมักจะเป็น ‘ปริมาณการอ่าน’ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนบรรทัด จำนวนหน้า จำนวนเล่ม ระยะเวลาในการอ่าน แม้กระทั่งจำนวนผู้ที่อ่านและไม่อ่าน ต่างจากข้อมูลที่ว่าด้วยเรื่อง ‘เด็กไทยอ่านหนังสือได้คล่องแคล่วแค่ไหน’ หรือ ‘อ่านแล้วเก็บใจความสำคัญและนำไปใช้ได้หรือไม่’ ซึ่งแม้จะมีการตั้งข้อสังเกตถึงปัญหา แต่ก็ยังไม่ค่อยจะมีงานวิจัยที่นำประเด็นไปขยายผลอย่างกว้างขวางนัก ทั้งที่ข้อมูลในส่วนนี้อาจเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญที่จะนำไปสู่ความรักการอ่าน ‘ความสามารถในการอ่าน’ จึงไม่ถึงกับเป็นช่องว่าง แต่ก็นับว่ามีข้อมูลค่อนข้างน้อยหากเทียบกับข้อมูลการอ่านด้านอื่นๆ 

         ประชาชนจำนวนหนึ่งจะบ่มเพาะความรักการอ่าน อ่านอย่างมีความสุข สนุกสนานเพลิดเพลินได้อย่างไร ในเมื่อยังอ่านไม่คล่อง ไม่เข้าใจคำศัพท์ จับใจความไม่ได้ หรือแม้กระทั่งอ่านไม่ออก แต่จะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้อ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น คำถามนี้ต้องการข้อมูลที่ลงรายละเอียดมากพอ 

          หนึ่งในงานวิจัยที่กล่าวถึง ‘ความสามารถในการอ่าน’ คือ ‘การศึกษาสถานการณ์การอ่านและดัชนีการอ่านของไทย ปี 2553’4 ที่เก็บข้อมูลและพัฒนากรอบดัชนีการอ่านเพื่อนำไปใช้ในการวัดพฤติกรรมและผลลัพธ์ รวมถึงเสนอแนะมาตรการที่จะทำให้เกิดวัฒนธรรมการอ่านที่ดี  

          ดัชนีการอ่านจากงานวิจัยนี้ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลักคือ ‘พฤติกรรมการอ่าน’ เช่น อ่านมากน้อยแค่ไหน อ่านหนังสือหลากหลายเพียงพอหรือไม่ ‘ความสามารถในการอ่าน’ เช่น อ่านได้คล่องแคล่วแค่ไหน เข้าใจ และนำไปใช้ได้หรือไม่ และ ‘ผลลัพธ์จากการอ่าน’ ว่าอ่านแล้วได้อะไร นับว่าเป็นงานวิจัยที่ให้ความสำคัญกับความสามารถในการอ่านและผลลัพธ์ที่ได้จากการอ่านโดยมีตัวบ่งชี้ที่หลากหลายและเห็นภาพชัดเจน

องค์ประกอบดัชนีการอ่าน 3 ด้าน
พฤติกรรมการอ่าน (reading behavior) ตัวบ่งชี้ประกอบไปด้วย ความหลากหลายของหนังสือที่อ่าน จำนวนเรื่องที่อ่านในรอบ 1 สัปดาห์ จำนวนวันที่อ่านต่อสัปดาห์ เวลาที่ใช้ในการอ่านเฉลี่ยต่อวัน ร้อย ละของเวลาว่างที่ใช้ในการอ่านต่อวัน ค่าใช้จ่ายในการอ่านต่อเดือน

ความสามารถในการอ่าน (reading abity) ตัวบ่งชี้ประกอบไปด้วย ความคล่องแคล่วในการอ่านความสามารถในการจดจำเรื่องราวที่อ่าน ความเข้าใจในการอ่าน ความสามารถในการนำสาระที่อ่านไปใช้ประโยชน์ ความสามารถในการวิเคราะห์

ผลลัพธ์จากการอ่าน (reading outcomes) ตัวบ่งชี้ประกอบไปด้วย ความสนุกสนานเพลิดเพลินความสำเร็จในการประกอบอาชีพ ความสำเร็จในการศึกษาเรียนรู้ ความสามารถในการดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติสุข และความสามารถในการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม 

          ปี 2563 หัวหน้าทีมวิจัยเดิมได้เก็บข้อมูลและพัฒนาดัชนีการอ่านของคนไทยอีกครั้งเพื่อนำมาเปรียบเทียบกับครั้งแรก เพราะในระยะเวลา 10 ปี มีเทคโนโลยีที่ช่วยสนับสนุนการอ่านมากขึ้น แต่ผลที่ได้กลับกลายเป็นว่าดัชนีการอ่านในภาพรวมกลับลดลง (ดัชนีพฤติกรรรมการอ่านลดลงมาก แม้ดัชนีความสามารถในการอ่านจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย) ผู้วิจัยได้ชี้แจงว่าการศึกษาครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อการอ่านของชาวไทยในภาพรวมก็เป็นได้ 

เหลียวหลังแลหน้า ทบทวนงานวิจัยและการสำรวจการอ่านของไทย ในรอบ 20 ปี

         อีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้เราทราบระดับความสามารถในการอ่านของเยาวชนไทย คือการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล โดย OECD หรือที่เรียกว่า PISA (Programme for International Student Assessment) ซึ่งเน้นประเมินการศึกษาด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่านเชิงวิเคราะห์ ผลการประเมินที่ผ่านมาได้สร้างกระแสตามสื่อต่างๆ ไม่น้อย โดยเฉพาะของปี 2565 ที่คะแนนเด็กไทยต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และต่ำสุดในรอบ 20 ปี นับตั้งแต่เข้าร่วมการทดสอบมา 

          กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการแปลข้อสอบ PISA เป็นภาษาไทย เด็กนักเรียนจะไม่รู้ว่าโจทย์ที่อ่านอยู่เป็นการทดสอบด้านใดเพราะทุกประเด็นถูกรวมเอาไว้ในโจทย์เดียวกัน การทำความเข้าใจโจทย์ที่บางข้อยาวถึง 3 หน้ากระดาษ จำเป็นต้องใช้ทักษะการอ่านจับประเด็นและการวิเคราะห์ ซึ่งเป็นจุดอ่อนของเด็กไทย และทำให้การวัดผลด้านอื่นๆ พลอยมีคะแนนต่ำไปด้วย 

          ‘โครงการวิจัยและพัฒนาความสามารถในการรู้เรื่องการอ่านตามแนวทางการสอบแบบ PISA โดยใช้แนวคิดการอ่านจากต้นแบบของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น’ (2562)5 พบว่านักเรียนโดยส่วนใหญ่ขาดความรู้ความเข้าใจต่อบทเรียน เพราะไม่สามารถจับประเด็นในสิ่งที่อ่านได้ มีปัญหาด้านการอ่านอย่างละเอียดและการตีความ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการเรียนรู้และการนำความรู้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน  

          งานวิจัยจึงตั้งคำถามว่า ควรจะทำอย่างไรให้เยาวชนมีความฉลาดรู้ด้านการอ่าน (Reading literacy) ซึ่งหมายถึง เข้าใจสิ่งที่ได้อ่าน ตีความได้ เข้าใจความขัดแย้งในเรื่อง ลำดับเหตุการณ์สำคัญได้ เข้าใจเจตนารมณ์ผู้เขียน สามารถสะท้อนออกมาเป็นความคิดเห็นของตนเอง และมีความรักความผูกพันกับการอ่าน ผู้วิจัยได้ออกแบบและทดลองใช้การสอนตามแนวทางการประเมิน PISA กับกลุ่มตัวอย่าง ไม่ใช่เพียงเพื่อหวังให้เยาวชนไทยได้คะแนนสูงขึ้นในการสอบที่เกิดขึ้นเพียง 3 ปีครั้ง เท่านั้น แต่เพื่อให้เยาวชนไทยอ่านแล้วเข้าใจเนื้อหาจนสามารถวิเคราะห์ได้ เช่น อธิบายได้ว่าชอบหรือไม่ชอบ ประเมินได้ว่าเนื้อหามีความเหมาะสมหรือไม่โดยใช้หลักการองค์ความรู้ และสามารถนำประโยชน์จากการอ่านมาพัฒนาตนเอง 

ห้องสมุดอยู่ที่ไหนในสมการของการส่งเสริมการอ่าน  

          อีกหนึ่งประเด็นที่ไม่ได้เป็นช่องว่างแต่ก็ปรากฏอยู่ในพื้นที่งานวิจัยอย่างเลือนราง คือบทบาทของห้องสมุดในการส่งเสริมการอ่าน แม้จะมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับห้องสมุดอยู่ไม่น้อย ทั้งเรื่องระบบสารสนเทศ การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ และการพัฒนาบริการในห้องสมุด แต่มีงานที่ช่วยให้มองเห็นภาพใหญ่และนำไปสู่ข้อเสนอแนะด้านนโยบายและแผนจำนวนนับชิ้นได้ 

          หนึ่งในงานวิจัยที่กล่าวถึงบทบาทของห้องสมุดมากพอสมควรเมื่อเทียบกับงานวิจัยชิ้นอื่นๆ คือ โครงการวิจัยทัศนคติและพฤติกรรมการอ่านของคนไทย (2551) ซึ่งมีข้อสังเกตว่ากลุ่มเยาวชนเกือบครึ่งหนึ่ง (46%) ใช้บริการห้องสมุดโดยเฉลี่ยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง เพื่ออ่านหนังสือที่ตนสนใจ ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษา และค้นหาข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ซึ่งถือว่าเป็นพฤติกรรมการใช้บริการห้องสมุดที่สูงมากเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ปกครอง ซึ่ง 56% ‘แทบจะไม่ได้เข้าไปใช้บริการห้องสมุดเลย’ เพราะไม่มีเวลาและเดินทางไม่สะดวก 

          นอกจากนี้งานวิจัยยังนำเอาแนวคิด ‘ห้องสมุดสมัยใหม่’ ซึ่งให้บริการมากกว่าพื้นที่อ่านหนังสือ เช่น มีโรงฉายภาพยนตร์ มีห้องเกม ห้องดนตรี ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ในช่วงต้นทศวรรษ 2550 มาทดสอบการรับรู้ และพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความสนใจใช้บริการ ‘ห้องสมุดที่มีชีวิต’ สูงถึง 95% ในกลุ่มเยาวชน และ 92% ในกลุ่มผู้ปกครอง 

          งานวิจัยอื่นๆ เช่น การสำรวจดัชนีการอ่าน (2553) ได้กล่าวถึงบทบาทของห้องสมุดอยู่บ้างในฐานะสถานที่อ่านหนังสือที่กลุ่มตัวอย่างนิยมรองลงมาจากที่อยู่อาศัย และยังถูกกล่าวถึงในฐานะองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยดำเนินโครงการส่งเสริมการอ่าน การศึกษาวิจัยข้อมูลการอ่านของประชาชนกรุงเทพมหานคร ปี (2556)6 เป็นงานวิจัยอีกชิ้นที่กล่าวถึงห้องสมุดพอสมควร โดยมีบรรณารักษ์เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างด้วย งานวิจัยเสนอแนะว่าห้องสมุดควรมีบทบาทในการจัดสิ่งแวดล้อมให้น่าใช้งาน และร่วมมือกับสถาบันต่างๆ ดึงนักเรียนเข้ามาใช้ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ จัดกิจกรรมหรืองานจิตอาสาที่เปิดโอกาสให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น และเปิดโอกาสให้บรรณารักษ์ได้พัฒนาทักษะใหม่ๆ เสมอ   

          หากลองมองดูกรณีต่างประเทศ ห้องสมุดกับองค์กรส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด มีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งานห้องสมุด ทั้งยังมีการจัดทำรายงานและนำเสนอกรณีศึกษาที่เป็น ‘ตัวอย่างที่ดี’ อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การจัดสรรงบประมาณ กำหนดนโยบาย รวมถึงวางแผนการทำงานร่วมกัน  

          ที่สหราชอาณาจักร องค์กรส่งเสริมการอ่าน The Reading Agency ทำงานอย่างใกล้ชิดกับกับองค์กรห้องสมุด Libraries Connected และสมาคมบรรณารักษ์ the Association of Senior Children’s and Education Librarians (ASCEL) มีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทของห้องสมุดในมิติต่างๆ ทั้งผู้ใช้ห้องสมุด ทัศนคติที่มีต่อห้องสมุด และผลลัพธ์ที่ได้จากห้องสมุด เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญ และมีข้อมูลพื้นฐานสำหรับกำหนดนโยบาย  ส่วนองค์กร National Literacy Trust ก็ร่วมมือกับ Libraries Connected ส่งเสริมกิจกรรมที่ทำให้เกิดการฟื้นฟูทักษะการรู้หนังสือให้กับเยาวชนในสหราชอาณาจักรหลังช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยร่วมกันเผยแพร่รายงานเรื่อง ‘ห้องสมุดประชาชนกับการฟื้นฟูทักษะการรู้หนังสือ’ (Public Libraries and Literacy Recovery) ที่นำเสนอทั้งสถิติ สภาพปัญหา ข้อสังเกต ข้อเสนอแนะ และกรณีศึกษาที่จำเป็นต่อการฟื้นฟูความสามารถในการอ่านและการเรียนรู้ของเยาวชน 

          ดังนั้น จึงพอจะตั้งข้อสังเกตได้ว่า การกล่าวถึง ‘ห้องสมุด’ ในงานวิจัยของไทย เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแบบกว้างๆ บางชิ้นมีข้อมูลที่น่าสนใจแต่ก็ไม่ได้เก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องและลงลึกถึงระดับที่จะนำมาวิเคราะห์และพัฒนาเป็นนโยบาย โครงการ หรือแผนงานกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการรู้หนังสือของห้องสมุดร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ได้

ข้อมูลการอ่าน 20 ปี กับพฤติกรรมการอ่านและซื้อหนังสือที่เปลี่ยนไป  

          นับตั้งแต่ปี 2546 ที่ถูกกำหนดให้เป็นปีแห่งการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ ก็มีงานวิจัยและการสำรวจต่างๆ เกิดขึ้นเพื่อสนองตอบนโยบายภาครัฐด้านการอ่านและการปฏิรูปการศึกษา ข้อมูลพฤติกรรมการอ่านเหล่านี้มีเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มของโลกการอ่านในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาได้ และมีข้อสังเกตที่น่าสนใจหลายประการ 

การเติบโตของตลาดอีบุ๊ก และแพลตฟอร์มต่างๆ  

          เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วงปลายทศวรรษ 2540 จนถึงกลางทศวรรษ 2550 อีบุ๊กยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมในกลุ่มนักอ่านนัก โครงการวิจัยเรื่องทัศนคติและพฤติกรรมการอ่าน (2551) พบว่าเพียง 9% ของกลุ่มเยาวชนอ่านอีบุ๊ก ขณะที่มีเพียง 4% เท่านั้น ในกลุ่มผู้ปกครอง ต่อมาในปี 2558 โครงการศึกษาพฤติกรรมการอ่านและซื้อหนังสือของคนไทย7 พบว่ากลุ่มตัวอย่างเริ่มใช้อีบุ๊กเพิ่มขึ้นเป็น 24% ของกลุ่มตัวอย่าง 

          การเก็บข้อมูลการอ่านในระดับประเทศเริ่มขาดช่วงไป จนกระทั่งงานวิจัยในปี 2567 ได้เผยให้เห็นว่า ประชาชนทุกช่วงวัยอ่านอีบุ๊กเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อโครงการวิจัยให้ผู้ตอบแบบสอบถามลองแบ่งสัดส่วนของรูปแบบหนังสือที่ตนเองอ่าน พบว่าค่าเฉลี่ยของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดอ่านหนังสือเล่ม และอีบุ๊กในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกัน (50% และ 47%) โดยกลุ่มผู้สูงวัยเป็นกลุ่มที่อ่านอีบุ๊กมากที่สุด 

          ปัจจุบัน ตลาดอีบุ๊กของประเทศไทยมีอัตราการเติบโตสูงกว่าตลาดอีบุ๊กโลกในภาพรวม ปี 2561-2565 ตลาดอีบุ๊กไทยมีอัตราการเติบโตสูงถึง 14% ขณะที่ตลาดโลกมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีประมาณ 7.1%8 การเปลี่ยนพฤติกรรมการอ่านจากหนังสือกระดาษไปสู่อีบุ๊กของคนไทยมีสัดส่วนมากถึง 42% ซึ่งนับเป็นอัตราที่สูงมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของนักอ่านทั้งโลกซึ่งอ่านอีบุ๊กกันน้อยกว่า 10%9 นับว่าเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับผู้ให้บริการด้านคอนเทนต์ออนไลน์หลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มสำหรับเผยแพร่งานเขียนนิยาย แพลตฟอร์มร้านหนังสือออนไลน์ หรือแพลตฟอร์มผลงานประเภทการ์ตูน 

          การใช้อีบุ๊กในประเทศไทยยังมีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นอีกด้วยปัจจัยสนับสนุนหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็น ผู้อ่านสามารถใช้สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการอ่านหนังสือได้โดยสะดวก มีเครื่องอ่านอีบุ๊กที่ตอบโจทย์พฤติกรรมการอ่านให้เลือกหลากหลาย และยังมีแอปพลิเคชันเกิดขึ้นมากมาย ผู้อ่านก็มีโอกาสเข้าถึงบริการเนื้อหาดิจิทัลของห้องสมุดหรือองค์กรภาครัฐโดยไม่มีค่าใช้จ่าย นักอ่านที่อ่านหนังสือภาษาอังกฤษ ซึ่งมีจำนวนมากถึง 60% ของกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจปี 2567 ก็สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มอีบุ๊กของต่างประเทศได้โดยสะดวก นับว่าเป็นการขยายโอกาสให้ผู้อ่านสามารถเข้าถึงเนื้อหาได้หลากหลายยิ่งขึ้น  

พฤติกรรมการซื้อหนังสือที่เปลี่ยนไป กับร้านหนังสือที่ทยอยปิดตัว… 

          ปี 2552 – 2561 คือ ทศวรรษแห่งการอ่าน และในขณะเดียวกันก็เป็นทศวรรษที่ร้านหนังสือลดจำนวนลงเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านหนังสืออิสระหรือสาขาย่อยของร้านหนังสือรายใหญ่ (Chain Store) แม้ว่าหลังจากช่วงการแพร่ระบาดของโควิดในปี 2565-2567 ตลาดหนังสือจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง แต่ร้านหนังสือหลายร้านก็ยังทยอยปิดกิจการ นำมาสู่การตั้งคำถามว่านอกจากความผันผวนของตลาดหนังสือ การปิดตัวของร้านหนังสือคือภาพสะท้อนของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อหนังสือของคนไทยด้วยหรือไม่ 

          ผลการสำรวจและงานวิจัยทัศนคติและพฤติกรรมการอ่านในปี 2551 บ่งชี้ว่า ทั้งเยาวชนและวัยทำงานนิยมซื้อหนังสือจากร้านหนังสือขนาดเล็กเป็นอันดับ 1  (68% ในกลุ่มเยาวชน และ 87% ในกลุ่มผู้ปกครอง) การศึกษาพฤติกรรมการอ่านและซื้อหนังสือของคนไทย ในปี 2558 ก็ยังพบว่า 99.1% ของกลุ่มตัวอย่างยังใช้บริการร้านหนังสือเป็นหลัก ส่วนช่องทางอื่นๆ เช่น ซื้อออนไลน์กับร้านหนังสือหรือสำนักพิมพ์ยังเป็นส่วนน้อยมาก และมีเพียงไม่ถึง 5% เท่านั้น 

          ช่วงการแพร่ระบาดของโควิดคือจุดพลิกผันแห่งการซื้อขายหนังสือ เมื่อไม่สามารถออกจากบ้านได้ ประชาชนจึงซื้อหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ผลการสำรวจความพึงพอใจของผู้เข้าชมงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 ปี 2565 ของ PUBAT พบว่าผู้อ่านหันมาเลือกซื้อหนังสือผ่านเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์เพิ่มขึ้นถึง 13% เมื่อเทียบกับสถิติปี 2562  

          แม้กลุ่มตัวอย่างการศึกษาพฤติกรรมการอ่านและการซื้อหนังสือของคนไทยปี 2567 จะอ่านหนังสือเล่มและอีบุ๊กในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน แต่กลับมีสัดส่วนการซื้อหนังสือกระดาษมากกว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ซื้อหนังสือเล่มเป็นหลัก (66%) อาจเพราะอีบุ๊กส่วนหนึ่งสามารถดาวน์โหลดได้จากอินเทอร์เน็ตในขณะที่หนังสือเล่มไม่มีช่องทางในการเข้าถึงแบบไม่มีค่าใช้จ่าย บางคนอาจเลือกซื้อหนังสือเล่มเพื่อเก็บสะสม 

          38% ของกลุ่มตัวอย่างซื้อหนังสือเล่มจากร้านหนังสือ ซึ่งมีจำนวนใกล้เคียงกับการสั่งออนไลน์ ที่มีจำนวน 36% ส่วนอีก 26% ซื้อหนังสือจากงานหนังสือต่างๆ กลุ่มตัวอย่างกว่าครึ่งมีช่องทางออนไลน์ที่ใช้ประจำในการสั่งซื้อหนังสือเล่ม โดยส่วนใหญ่ใช้ช่องทางตลาดออนไลน์ (online market place) รองลงมาเป็นเว็บไซต์ของร้านหนังสือหรือเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ เพราะมีหนังสือให้เลือกเยอะ ใช้งานง่ายไม่สับสน มีวิธีจ่ายเงินที่สะดวกสบาย และมีส่วนลด ข้อมูลอีกอย่างที่น่าสนใจคือเยาวชนอายุ 12-19 และ 20-29 ปี เริ่มมีพฤติกรรมการซื้อหนังสือผ่านร้านค้าหรือผู้ขายบนสื่อสังคมออนไลน์ที่หลากหลาย  

          นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อหนังสือที่น่าสนใจ เช่น ร้านหนังสืออิสระที่ยังอยู่รอดได้ในยุคที่จำนวนร้านหนังสือลดลงจากเดิมเกินครึ่ง จึงเป็นร้านที่ไม่ได้ทำหน้าที่ขายหนังสือเท่านั้น แต่มีฟังก์ชันอื่นร่วมด้วย เช่น คาเฟ่ พื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่จัดกิจกรรมเกี่ยวกับหนังสือและการอ่าน  

หนังสือแพงเกินไปหรือไม่… 

          นี่คือคำถามคลาสสิกที่สามารถพบเจอได้ทุกช่วงเวลา มีบทความในเชิง Investigative Report ที่กล่าวถึงประเด็นนี้หลายบทความ แต่อาจหาข้อสรุปได้ยากสักนิด เพราะการตีความคำว่า ‘แพง’ เป็นเรื่องของปัจเจก ถึงอย่างนั้นก็ตาม บทความเหล่านั้นพยายามจำแนกค่าใช้จ่ายในการทำหนังสือ บ้างก็หาข้อมูลค่าใช้จ่ายอื่นมาอ้างอิงเปรียบเทียบ  

          สื่ออิเล็กทรอนิกส์ Data Storytelling ชุด Look Around the Shelf10 โดย TK Park ได้ประมวลข้อมูลราคาหนังสือเล่มเดี่ยวในไทยจำนวน 86,070 ปก ที่ตีพิมพ์ในปี 2548 ถึง เดือนกรกฎาคม 2566 พบว่า มีค่ากลาง (หรือ ค่ามัธยฐาน) ของราคาหนังสืออยู่ที่ 199 บาท ส่วนหนังสือชุด (Box Set) อยู่ที่ 500 บาท และเมื่อเทียบค่ากลางของราคาหนังสือเล่มเดี่ยว ในช่วงปี 2548-2565 กับค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพมหานคร ค่ากลางของราคาหนังสือในแต่ละปีมีสัดส่วนสูงเกินกว่า ‘ครึ่งหนึ่ง’ ของค่าแรงขั้นต่ำทั้งสิ้น ซึ่งอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า โดยเฉลี่ยแล้วหนังสือมีราคาอยู่ในระดับที่ผู้มีรายได้น้อยในเมืองใหญ่อาจไม่สามารถซื้อได้โดยทันที หรืออาจต้องคิดหนักเพื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในแต่ละวัน 

          ดังนั้น เมื่อถามว่าหนังสือราคาแพงไหม จึงอาจตอบได้ด้วยข้อมูลว่าหนังสือมีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ แต่หากถามต่อว่าราคามีผลต่อการเลือกอ่านหรือไม่อ่านหนังสือหรือไม่ คงต้องสำรวจงานวิจัยเหล่านี้เพื่อหาคำตอบ 

          ในการสำรวจการอ่านของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (ปี 2546-2561) ‘หนังสือแพง’ หรือ ‘ไม่มีเงินซื้อหนังสือ’ ไม่เคยเป็นเหตุผล 5 อันดับแรกที่ทำให้คนไม่อ่านหนังสือ แต่หากอ้างอิงจากโครงการวิจัยทัศนคติและพฤติกรรมการอ่านของคนไทย ปี 2551 ‘ปัจจัยราคา’ เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญในการตัดสินใจซื้อหนังสืออยู่ไม่น้อย โดยมีความสำคัญเป็นอันดับ 3 (60%) ในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเยาวชน และเป็นอันดับ 2 (68%) ในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ปกครอง ส่วนโครงการศึกษาสถานการณ์การอ่านและดัชนีการอ่านของไทย ปี 2553 พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ระบุว่าราคาหนังสือไม่เป็นอุปสรรคต่อการอ่านมีจำนวน 55.1% ส่วนผู้ที่ระบุว่าราคาหนังสือเป็นอุปสรรคต่อการอ่านมีจำนวน 42.1% และล่าสุดการศึกษาพฤติกรรมการอ่านและการซื้อหนังสือของคนไทยปี 2567 ก็ยังแสดงให้เห็นว่านอกจากคุณสมบัติของตัวเล่มหนังสือแล้ว ราคาหนังสือก็เป็นปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อการเลือกซื้อของกลุ่มตัวอย่าง โดย ‘ส่วนลดราคา’ และ ‘ราคาขายของหนังสือ’ ถือเป็นปัจจัยในการเลือกซื้อหนังสือที่กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าสำคัญเป็นอันดับที่ 2 และ 3 ตามลำดับ  

          งานวิจัยที่ทำให้เห็นภาพของตลาดหนังสืออย่างชัดเจน น่าจะเป็นงานวิจัยเรื่องการศึกษาพฤติกรรมการอ่านและซื้อหนังสือของคนไทย (2558) ซึ่งกล่าวว่าผู้ที่อ่านหนังสือบ่อยครั้งมีความคิดเห็นว่า ‘ราคาหนังสือเป็นเท่าไหร่ก็ได้’ ในขณะที่คนที่มีความถี่ในการอ่านน้อยกว่ากลับระบุราคาหนังสือที่ยอมรับได้ในราคาที่ถูกลงไปด้วย กล่าวคือ ผู้บริโภคเหล่านี้มีสองตลาดแยกขาดกันชัดเจน  

          ตลาดหนึ่งคือ ผู้ที่อ่านหนังสือเล่มอยู่บ่อยๆ นับได้ว่าเป็นแฟนของการอ่านหนังสือเล่ม กลุ่มนี้จะยินดีจ่ายราคาหนังสือตามคุณภาพ และตัดสินใจเลือกหนังสือจากคุณภาพ ราคาหนังสือจึงอาจจะไม่ใช่สาเหตุหลักของการไม่อ่านหรือไม่ซื้อหนังสือ ส่วนอีกตลาดหนึ่งคือ กลุ่มของคนที่อ่านหนังสือน้อยหรือไม่บ่อย จะเต็มใจจ่ายในราคาหนังสือที่ต่ำกว่าเท่ากับว่านักอ่านกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะตัดสินใจจากกลยุทธ์ทางด้านราคา

ปลายทางของการสำรวจและงานวิจัย คือกลยุทธ์เพื่อสร้างเสริมนิสัยรักการอ่าน 

          ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อสังเกตบางส่วนที่ได้มาจากการสำรวจทบทวนงานวิจัยด้านการอ่านของคนไทยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ยังมีงานวิจัยในระดับพื้นที่อยู่อีกมาก น่าเสียดายที่การทำ Systematic Review และ Meta-analysis ซึ่งนำงานวิจัยหลายๆ ชิ้น ที่มีโจทย์เดียวกันแต่ใช้กลุ่มตัวอย่างที่แตกต่างกันมาวิเคราะห์รวม ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนอกวงการวิทยาศาสตร์สุขภาพนัก ไม่อย่างนั้นอาจจะมีข้อค้นพบที่น่าสนใจเกิดขึ้นมาจากงานวิจัยสเกลเล็กๆ เหล่านั้นก็เป็นได้ 

          2 ทศวรรษผ่านไป มีการเปลี่ยนแปลงในแวดวงการอ่านมากมาย แต่ปัญหาเกี่ยวกับการอ่านก็ยังไม่หมดไปจากสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นจำนวนคนอ่านหนังสือไม่ออกที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (จากข้อมูลการสำรวจการอ่านของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่จำนวนผู้อ่านหนังสือไม่ออกเพิ่มเป็นกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ในปี 2561) แม้กระทั่งปี 2567 ‘อ่านหนังสือช้า หรืออ่านหนังสือไม่คล่อง’ ก็ยังเป็นอุปสรรคของการอ่านในกลุ่มตัวอย่างที่อายุระหว่าง 30-49 ปี ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) หรือเด็กหลุดออกระบบการศึกษา ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็อาจจะส่งผลต่อความสามารถและทัศนคติในการอ่านของคนกลุ่มนี้ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตด้วยก็เป็นได้  

          นอกจากสภาพปัญหาด้านการอ่านแล้ว แนวคิดในการส่งเสริมการอ่านที่มาจากบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ อย่างการก่อตั้งสถาบันหนังสือแห่งชาติ หรือการก่อตั้งกองทุนพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้แห่งชาติ ซึ่งจะบูรณาการทุกองคาพยพของระบบนิเวศการเรียนรู้ ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ ก็ยังไม่มีโอกาสได้เกิดขึ้นจริงในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ภารกิจในการสร้างสังคมแห่งการอ่านและการเรียนรู้จึงไม่อาจจบสิ้นลงได้โดยง่าย แต่เป็นภารกิจที่ต้องเดินหน้าและร่วมมือกันในหลายภาคส่วน โดยมีข้อมูลจากงานวิจัยและการสำรวจการอ่านเป็นเหมือนเข็มทิศที่จะช่วยกำหนดทิศทางข้างหน้าต่อไป 


ที่มา  

Book Trust (2024) The benefits of reading จาก https://www.booktrust.org.uk/globalassets/ resources/research/booktrusts-benefits-of-reading-june-2024.pdf  

Global Entertainment & Media Outllook 2018-2022 จาก https://www.pwc.com/gx/en/entertainment-media/outlook/perspectives-from-the-global-entertainment-and-media-outlook-2018-2022.pdf  

National Literacy Trust (2022) Public Libraries and Literacy Recovery จาก https://literacytrust.org.uk/ research-services/research-reports/public-libraries-and-literacy-recovery/  

PISA Thailand (n.d.) กรอบการประเมินด้านการอ่าน จาก https://pisathailand.ipst.ac.th/about-pisa/reading_literacy_framework/  

PUBAT (2558) การศึกษาพฤติกรรมการอ่านและซื้อหนังสือของคนไทย, PUBAT: กรุงเทพมหานคร. 

Research Cafe (2563) การรู้การอ่านแบบ PISA จำเป็นแค่ไหน และทำไมเด็กไทยต้องรู้อ่านให้เป็น จาก https://researchcafe.tsri.or.th/why-thai-students-have-to-learn-pisa-reading/  

The Reading Agency (n.d.) Libraries in the UK (data from 2019-20) จาก https://readingagency.org.uk/ our-work/our-research/library-facts/#3a89c4c5-e29d-4752-b7fa-e47543aeb586  

TK Park (2551) โครงการวิจัย ทัศนคติและพฤติกรรมการอ่านของคนไทย, TK Park: กรุงเทพมหานคร. 

TK Park (2553) การศึกษาสถานการณ์การอ่านและดัชนีการอ่านของไทย ปี 2553: การพัฒนาดัชนีการอ่านและการศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อดัชนีการอ่าน, TK Park: กรุงเทพมหานคร. 

TK Park (2567) สื่ออิเล็กทรอนิกส์ Look Around the Shelf มองตลาดหนังสือไทยในมิติความหลากหลาย ราคา และผู้ผลิต จาก https://readyourshelf.tkpark.or.th/    

ชมนาด บุญอารีย์ (2563) “การอ่านเล่นในสังคมไทย”, Journal of Information Science Vol 38: 4 

ทัศนีย์ เศรษฐพงษ์  และวิภาวรรณ เอกวรรณัง (2562) โครงการวิจัยและพัฒนาความสามารถในการรู้เรื่องการอ่านตามแนวทางการสอบแบบ PISA โดยใช้แนวคิดการอ่านจากต้นแบบของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น, มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา: กรุงเทพมหานคร. 

ทิพย์นภา หวนสุริยา และคณะ (2567) รายงานการวิจัยการศึกษาพฤติกรรมการอ่านและการซื้อหนังสือของคนไทย, PUBAT: กรุงเทพมหานคร. 

ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ (2566) งานแถลงข่าวการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 https://www.prachachat.net/marketing/news-1250974 

นิธิพัฒน์ เมฆขจร และคณะ (2556) โครงการศึกษาวิจัยข้อมูลการอ่านของประชาชนกรุงเทพมหานคร, มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช: กรุงเทพมหานคร. 

วรรณี แกมเกตุ และคณะ (2563) การศึกษาสถานการณ์การอ่านและดัชนีการอ่านของไทย ปี 2563 

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (2558) การสร้างตัวชี้วัดวัฒนธรรมการอ่านระยะที่ 1-2, สสส: กรุงเทพมหานคร 

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2546-2561) การสำรวจการอ่านของประชากร, สำนักงานสถิติแห่งชาติ: กรุงเทพมหานคร 

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

PDPA Icon

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก