จะมีหนังสือสักกี่เล่มที่เราอ่านแล้วจำได้ แม้เวลาผ่านไปยี่สิบปี
หนังสือเรื่องเด็กที่ถูกเรียกว่า “มัน”(A Child Called “It”) ไม่ได้เป็นเล่มที่แตกต่างจากบรรดาวรรณกรรมเยาวชนที่อ่านในวัยประถมศึกษามากที่สุด ไม่ใช่แค่เพราะประเภทของหนังสือเล่มนี้ที่เป็นอัตชีวประวัติ แต่รวมถึงเนื้อหาของหนังสือที่เรียกได้ว่าเขย่าขวัญ สั่นประสาท และยิ่งคำนึงถึงประเภทหนังสือว่านี่คือ ‘nonfiction’ เรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องแต่ง ยิ่งทำให้เนื้อหาหนังสือเล่มนี้ติดอยู่ในใจนานและลึกยิ่งกว่าเคย
จะมีหนังสือสักกี่เล่มที่เราอ่านแล้วนึกถึงตัวละครในหนังสือนั้นอยู่เสมอ ไม่ได้นึกถึงในเชิงคาแรกเตอร์ตัวโปรดหรืออะไรเทือกนั้น หากนึกถึงราวกับเพื่อนคนหนึ่งที่นึกถึงกัน อยากรู้ว่าเขาโตมาเป็นอย่างไรบ้าง เรื่องราวที่เขาเล่าไว้ในบทต่างๆ ที่ลำพังคนอ่านยังค้างอยู่ในใจ แล้วเขาล่ะ? เขาคนที่ประสบกับเหตุการณ์นั้นโดยตรง ป่านนี้จะเป็นอย่างไร?
เดฟ เพลเซอร์ (Dave Pelzer) ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือเพื่อนคนนั้นที่เรานึกถึงอยู่เรื่อยๆ ตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมา ใครเลยจะคิดว่ายี่สิบปีผ่านไป ในขณะที่กำลังเปิดหาหนังสือออกใหม่ผ่านช่องทางซื้อขายหนังสือออนไลน์ เรากลับเจอชื่อคุ้นๆ นี้ แต่ด้วยปกและชื่อเรื่องที่ไม่มีอะไรคล้ายคลึงกับเล่มแรกที่ทำให้เรารู้จักเขาว่านี่คือเดฟคนนั้น จริงๆ หรือไม่
และใช่ นี่คือเดฟ เพลเซอร์ ‘เด็กที่ถูกเรียกว่ามัน’ คนนั้น ที่เราคอยนึกถึงมานานหลายปี
ยี่สิบปีผ่านไป เดฟในวัย 61 ปี กลับมาพร้อมหนังสือเล่มใหม่ชื่อว่า Return to the River: Reflections on Life Choices During a Pandemic ชื่อเรื่องที่อ่านเผินๆ คิดว่าเป็นบันทึกช่วงโรคระบาด หากไม่ใช่เพราะชื่อคุ้นๆ นี้เราคงไม่มีวันสั่งซื้อมาอ่าน ไม่รู้ว่าเป็นเจตนาของผู้เขียน กองบรรณาธิการหรือไร ที่ไม่พยายามห่อหุ้มหนังสือเล่มนี้ว่าเป็น ‘ภาคต่อ’ จากบันทึกชีวิตวัยเด็กของเดฟ และเมื่ออ่านไปค่อนเล่มก็เข้าใจถึงความพยายามของเดฟที่พยายาม ‘ก้าวข้าม’ บทชีวิตปฐมวัยไม่ให้แปดเปื้อนเขาในปัจฉิมวัยอีกต่อไป
แต่ก็ใช่ว่าเดฟจะเลี่ยงไม่แตะถึงอดีตของเขาได้ หากการ ‘แตะ’ และเอ่ยถึงฉากชีวิตวัยเด็กครั้งนี้ให้ความรู้สึกต่างไปจากเล่มแรก แม้ผู้อ่านอย่างเรายังต้องเบือนหน้าออกจากตัวอักษรเวลาเดฟบรรยายถึงสิ่งที่แม่ทำ (เช่น ให้กินอาหารจากอ้วกที่เธอบังคับให้เขาขย้อนออกมา รมแอมโมเนีย แทงเขาที่ท้อง กระซิบที่ข้างหูบอกกับเขาว่าเขาไร้ค่า และเธอไม่หวังอะไรจากเขา นอกจากให้เขาไป…ตาย ฯลฯ)
ในเล่มนี้ เรารู้สึกได้ถึงความเจ็บปวดที่ออกมาจากถ้อยคำ ราวกับอ่านไดอารีส่วนตัวของเขา อะไรบางอย่างทำให้รู้สึกราวกับว่าเดฟมองย้อนกลับไปในฉากชีวิตช่วงนั้นราวกับเป็นบุคคลที่สาม และในขณะที่เล่มแรกทำให้เราเสียน้ำตาด้วยความสะเทือนใจ งานเขียนของเดฟเล่มนี้กลับทำให้ผู้อ่านอย่างเราน้ำตารื้นเมื่อเห็นว่าเดฟมองย้อนกลับไปถึงชีวิตของเขาด้วยความเข้าใจให้ทุกคน
ใช่ แม้กระทั่งแม่ที่ไม่ต้องการอะไรจากเขา นอกจากอยากให้เขา ‘ไปตายซะ’ (และเธอก็พยายามครั้งแล้วครั้งเล่าจริงๆ) และพ่อของเขาที่แม้จะไม่ได้ทำร้าย แต่ก็ไม่เคยปกป้องเขาจากแม่เลย
“ฉันรู้ดีว่าฉันเต็มไปด้วยบาดแผล? แต่ใครไม่มีบาดแผลบ้างล่ะ? ผมบอกตัวเอง ผมยังรู้ด้วยว่าผมไม่ได้บาดเจ็บเสียจนไปต่อไม่ไหว ผมแค่ต้องค่อยๆ ขยับไปทีละวัน และด้วยโชคเล็กน้อย ผมจะไปต่อได้”
แม่น้ำ อาจไม่ใช่สัญญะทางวรรณกรรมที่แปลกใหม่นักในการพูดถึงการก้าวข้าม แต่เมื่อนึกถึงที่เดฟเคยเล่าว่าความทรงจำในวันฤดูร้อนที่ครอบครัวของเขาออกไปพักผ่อนกันริมแม่น้ำ ความทรงจำ ‘ดีๆ’ ครั้งเดียวที่เดฟเคยมีกับครอบครัวที่กลายเป็นพื้นที่ผ่อนพักให้เขาหลีกหนีในยามเผชิญหน้ากับความกลัว กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยในใจ เป็นหลุมหลบภัยจากความจริงโหดร้ายที่เขาอาศัยอยู่ เป็นจุดหมายปลายทางว่าสักวันหนึ่ง สักวันหนึ่งแม่จะ ‘กลับมา’ เป็นปกติ วันหนึ่งเขาและครอบครัวจะ ‘กลับไป’ ริมน้ำและใช้เวลาร่วมกันอย่างมีความสุขอีกครั้ง
แม่ไม่เคยกลับมา
และอาจดีแล้วที่แม่ไม่กลับมา แต่อย่างน้อยที่สุด ในที่สุด เดฟก็ปลอดภัย และ ‘ด้วยโชคเล็กน้อย’ เขาก็ไปต่อได้จริงๆ โชคเล็กน้อยที่ครูของเขาเอาเขาออกมาจากบ้านได้ทัน (ในวันที่แม่หมายมั่นปั้นมือว่านี่คือวันที่เธอจะ ‘ปฏิบัติการ’ อย่างแท้จริง) ที่ครูย้ำกับเขาว่าการช่วยเหลือของครูนั้นเป็นโชคเล็กน้อย หากชีวิตที่เหลือที่เขาสร้างหลังจากนั้นคือสิ่งที่เขาทำด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการได้เข้าทำงานในกองทัพอากาศ เป็นหัวหน้าหน่วยกู้ภัยที่ใหญ่สุดในสหรัฐฯ (เฉกเช่นพ่อของเขาที่เป็นนับดับเพลิงคอยช่วยชีวิตคน)
นั่นไม่ได้หมายความว่าจู่ๆ ชีวิตจะพลิกฝ่ามือ และเดฟก็ใช้ชีวิต ‘happily ever after’ แม้เราจะปรารถนาให้เขาได้ประสบพบเจอเรื่องดีๆ ในชีวิตหลังจากนั้น แต่ชีวิตล้วนเป็นไปตามความเป็นจริง นั่นคือ เขามีเรื่องที่ทำผิดพลาด และบาดแผลฝังลึกก็ยังออกฤทธิ์มีพิษต่อทางพฤติกรรมอยู่บ้าง – หากนั่นไม่ใช่เราทุกคนหรอกหรือ?
แม้จะมีเสียงวิจารณ์ว่างานเขียนของเดฟไม่คมชัด ลุ่มลึกเหมือนบันทึกเล่มแรกของเขา ผู้อ่านอย่างเราที่เพียงได้กลับมาอ่านงานของเขากลับมองว่านี่คืออัตชีวประวัติที่บันทึกชีวิตได้อย่างที่มันเป็นอย่างแท้จริง ไม่มีเส้นเรื่องที่นิ่งและตรงไปตรงมา บางช่วงเวลาแสนยาวนานราวกับบางบทไม่มีที่สิ้นสุด บางบทสั้นรวบรัดตัดตอน บางถ้อยคำคลุมเครือ การได้โกงเวลาชีวิตได้อ่านการประมวลผลชีวิตของคนคนหนึ่งในวัยหกสิบปีที่มองย้อนกลับไปว่าการตัดสินใจ ไม่ตัดสินใจ กระทำ ไม่กระทำ ถูกกระทำ ส่งผลอย่างไรต่อชีวิตบ้าง สำหรับผู้อ่านอย่างเรา นั่นคืออัตชีวประวัติที่จริงแท้ที่สุดแล้ว
และเหนือสิ่งอื่นใด ลำพังเพียงรู้ว่าเดฟปลอดภัยและไปได้ดีหลังจากเจอฝันร้ายในชีวิตจริงเช่นนั้นมายาวนาน ก็ทำให้เรารักหนังสือเล่มนี้ด้วยตัวของมันเอง และขอบคุณหนังสือเล่มนี้เหลือเกินที่ปลุกเราให้ตื่นตั้งแต่วัยเด็กว่า แม้เราไม่อาจกำหนดชะตาชีวิตได้ แต่เรากำหนดท่าทีที่มีต่อชีวิตได้ ขอบคุณหนังสือเล่มนี้ที่ช่วยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไป ‘แทรกแซง’ เรื่องภายในบ้านได้ เมื่อบ้านไม่ใช่ที่ปลอดภัยของเด็กทุกคน และขอบคุณเดฟที่เลือกให้อภัยตัวเองและชีวิต เพราะนั่นเป็นแบบอย่างให้ผู้อ่านอย่างเราเห็นว่าท่าทีของเราส่งผลต่อชีวิตที่เหลืออย่างไร
ดีใจที่คุณปลอดภัย