วิจัยล่าสุดเผยโซเชียลมีเดียส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางด้านสมองของวัยรุ่นได้จริง

376 views
August 14, 2023

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคปัจจุบัน โซเชียลมีเดียได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการเชื่อมโยงผู้คนในสังคมจนแทบเป็นเรื่องปกติที่แต่ละคนจะให้ความสำคัญกับการมีตัวตนในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเพื่อการติดต่อสื่อสาร เสพข่าวข้อมูล หรือถึงแสดงอัตลักษณ์บางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคนวัยไหนก็ล้วนเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ได้ด้วยกันทั้งนั้น

เพราะความง่ายและความนิยมที่เกิดขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมานี้เอง ที่ทำให้เริ่มมีการพูดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ เช่น สุขภาพกาย สุขภาพใจ และประเด็นที่ลงลึกลงไปอย่างพัฒนาการของเด็กและวัยรุ่น

ล่าสุดงานวิจัยที่ใช้ระยะเวลาเก็บข้อมูลยาวนาน ของ Maria T. Maza, Kara A. Fox, Seh-Joo Kwon และคณะ จากภาควิชาจิตวิทยาและประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ได้ค้นพบว่าโซเชียลมีเดียอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสมองของวัยรุ่นในระยะยาว โดยเฉพาะส่วนของการควบคุมแรงกระตุ้นและการเรียนรู้

ทีมวิจัยใช้วิธีการสแกนสมองของผู้เข้าร่วมระหว่างเล่นโซเชียลมีเดียด้วยวิธี MRI ในกลุ่มนักเรียนที่อายุ 11-12 ปีกว่า 178 คนจากโรงเรียนมัธยมของรัฐ 3 แห่งในนอร์ทแคโรไลนาปีละครั้งเป็นเวลานาน 3 ปี เพื่อศึกษาดูแนวโน้มว่ากิจกรรมตรงหน้าส่งผลต่อพวกเขาอย่างไรบ้าง

ผลการวิจัยบ่งชี้ว่าวัยรุ่นที่มีส่วนร่วมกับโซเชียลมีเดียบ่อยๆ มีแนวโน้มการกระตุ้นสมองส่วนที่ส่งผลต่อความคาดหวังการชื่นชมยินดีจากสังคมในระดับที่มากเป็นพิเศษ และการกระตุ้นที่ว่าก็มักทำให้เกิดผลเสียตามมามากกว่าที่คิด นั่นคือความสามารถในการควบคุมแรงกระตุ้นของวัยรุ่นจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อโพสต์ของตนเองไม่ได้รับการตอบสนอง กลุ่มตัวอย่างเหล่านั้นคลิกเม้าส์ หรือคีย์บอร์ดในอัตราที่เร็วกว่าที่เป็น แสดงให้เห็นถึงความอดทนที่ลดต่ำลง คาดหวัง และรอคอย

ผู้วิจัยยังตั้งข้อสงสัยเพิ่มเติมด้วยว่าผลลัพธ์ที่พวกเขาเจอเป็นเพียง ‘การเปลี่ยนแปลงในสมอง’ ณ เวลานั้น ยังไม่สามารถอนุมานถึงภาพใหญ่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวหรือถาวร แต่ถึงกระนั้นพวกเขาก็ยังเสนอแนะให้หยิบเอาประเด็นนี้มาถกเถียงเพื่อหาความเหมาะสมอยู่ดี เพราะการอยู่บนโซเชียลมีเดียนานเกินไปก็สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายในด้านอื่นๆ ได้อีกหลายด้าน เช่น อัตราการเพิ่มขึ้นของโรคอ้วน ภาวะนอนไม่หลับ ไปจนถึงโรคทางจิตเวชที่มีหลายงานวิจัยพิสูจน์แล้ว เป็นต้น

ดังนั้นคำถามถัดมาที่น่าหยิบยกมาพูดถึงคือความเหมาะสมของการใช้งานนั่นเอง ว่าอะไรคือค่ากลางที่เหล่าผู้ปกครองควรยึดถือในการสร้างสิ่งแวดล้อมในแง่โซเชียลมีเดียให้กับลูกหลาน โดยในปัจจุบันถ้าเอาที่หลายคนยึดเป็นข้อควรปฏิบัติมากที่สุด จะเป็นคำแนะนำจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค ที่ได้ออกมาบอกว่าวัยรุ่นควรใช้เวลาบนหน้าจอหรือโซเชียลมีเดียไม่เกิน 1-2 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น

และเมื่อโตขึ้น การจำกัดเวลาที่เหมาะสมนั้นจะเป็นเรื่องของบุคคลไปตามแต่อายุ แต่สิ่งที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแนะนำ จะเป็นการส่งเสริมให้ผู้คนออกมาทำกิจกรรมทางกายมากขึ้นมากกว่า หรือพยายามสร้างขอบเขตการเล่นโซเชียลไม่ให้กัดกินชีวิตด้านอื่นมากเกิน เป็นต้น

เพราะสุดท้าย อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ว่าโซเชียลมีเดียได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมมนุษย์ไปแล้ว ดังนั้นการหาทางอยู่ร่วมกับมันในระยะห่างที่เหมาะสมจึงเป็นทางออกที่ควรคิดคำนึงถึงมากกว่าการปฏิเสธหรือโอบรับมันทั้งหมดแบบหน้ามืดตามัว

วิจัยล่าสุดเผยโซเชียลมีเดียส่งผลเสียต่อพัฒนาการด้านสมองของวัยรุ่นได้จริง


ที่มา

บทความ “social media brain adolescents” จาก nytimes.com (Online)

บทความ “How Social Media Affects Your Brain” จาก neulinehealth.com (Online)

บทความ “Association of Habitual Checking Behaviors on Social Media With Longitudinal Functional Brain Development” จาก jamanetwork.com (Online)

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก