ไม่มีใครรู้ว่ามนุษย์คนแรกที่สร้าง ‘ศาสนา’ เป็นใคร บอกได้เพียงว่าตลอดประวัติศาสตร์ที่ได้รับการจารึก ศาสนาเป็นได้ทั้งงานสร้างสรรค์และอาวุธประหัตประหาร
เราบอกอะไรได้อีก…ศาสนาคือความเชื่อ ความเชื่อที่สาวกของทุกศาสนาล้วนยืนยันว่ามันคือความจริงสูงสุดเพียงหนึ่งเดียว มันจะง่ายกว่านั้นมากหากมนุษย์จะเก็บรักษาสิ่งนี้ไว้ภายในใจ เคร่งครัดตนเองตามแนวทางคำสอนและไม่บังคับให้ผู้อื่นให้ต้องเชื่อเหมือนตน ก็นั่นแหละที่ยาก มนุษย์มีแนวโน้มจะยัดเยียดสิ่งที่ตนเชื่อว่าดีงามให้กับคนนั้นคนนี้ในนามของความปรารถนาดี
เพราะมีความจริงสูงสุดเพียงหนึ่งเดียวและแนวทางการเข้าถึงความจริงในแบบของตน โดยธรรมชาติ ศาสนาจึงมีเส้นแบ่งความ ‘เป็นเรา’ และ ‘เป็นอื่น’ ที่ชัดเจน
เหตุนี้ ความเชื่อทางศาสนาจึงควรสงวนไว้เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ควรเข้าไปข้องแวะกับอำนาจรัฐ มันคือบทเรียนที่โลกตะวันตกได้รับโดยแลกกับชีวิตหลายล้านนับตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของศาสนาคริสต์ สงครามครูเสด การเข่นฆ่าคนเห็นต่างในยุคกลาง จนถึงสงครามสามสิบปี เป็นค่าใช้จ่ายที่แพงลิบ
‘เปรียบเทียบการปฏิรูปศาสนาคริสต์-พุทธและสังคมโลกวิสัย’ ของ สุรพศ ทวีศักดิ์ ซึ่งใครที่ติดตามความคิดของสุรพศย่อมรู้ว่า เขาวิพากษ์วิจารณ์ ‘พุทธเถรวาทแบบไทยๆ’ อย่างเผ็ดร้อนและสนับสนุนการแยกศาสนากับรัฐ งานชิ้นนี้ก็คือการศึกษาบทเรียนของโลกตะวันตกเปรียบเทียบกับสังคมไทย ก่อนจะเสนอหนทางที่เขาเชื่อว่าจะช่วยลดความขัดแย้งจากศาสนาและทำให้ศาสนารวยหลากหลายได้มากกว่าที่เป็นอยู่
หนังสือเริ่มต้นด้วยความเป็นมาของศาสนาคริสต์ การขึ้นสู่จุดสูงสุดของอำนาจคริสตจักร แล้วค่อยๆ เสื่อมลงจนถูกท้าทายจากมาร์ติน ลูเธอร์ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 16 เขาไม่เห็นด้วยกับความมั่งคั่งฉ้อฉลของวาติกัน ไม่เห็นด้วยว่านักบวชเป็นหนทางเดียวที่มนุษย์จะสื่อสารกับพระเจ้า เขาเชื่อว่าชาวคริสต์ทุกคนเสมอกันต่อหน้าพระเจ้า เขาสนับสนุนให้ทุกคนศึกษาไบเบิ้ลด้วยตนเองเพื่อสนทนากับพระเจ้าโดยตรง สิ่งนี้สั่นคลอนอำนาจคริสตจักรอย่างถึงรากถึงโคน ไม่พอ เขายังปิดประกาศ ‘หลัก 95 ข้อ’ (Ninety-five Theses) ที่ประตูโบสถ์เมือง วิตเทนเบิร์ก (Wittenberg) ซึ่งอาจนับเป็นการปรากฏของคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์อย่างเป็นทางการ
เราสงสัยได้ว่าถ้าคริสตจักรและสันตะปาปามีอำนาจล้นฟ้า ทำไมไม่จัดการมาร์ติน ลูเธอร์ คำตอบคือเขาเองก็มีแบ็กดีอย่างเฟรเดอริกที่ 3 หรือเฟรเดอริกผู้เรืองปัญญา (Frederick the Wise) ผู้ครองแคว้นแซกโซนี ห้วงยามนั้นความขัดแย้งแย่งชิงอำนาจระหว่างอาณาจักรและคริสตจักรดำเนินมาก่อนแล้ว กษัตริย์จึงพร้อมจะหนุนหลังผู้หาญกล้าต่อกรอำนาจสันตะปาปา
การประท้วงของมาร์ติน ลูเธอร์เป็นต้นธารของการแยกนิกาย ความขัดแย้ง และสงคราม คริสตจักรคาทอลิกไม่ยอมนิ่งเฉยให้อำนาจของตนหดแคบ มันมาระเบิดรุนแรงในสงครามสามสิบปีที่กินเวลาตั้งแต่ต้นถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 17 คาดว่าคน 8 ล้านชีวิตต้องตายในนามของความเชื่อ สุดท้าย จบลงด้วยการนั่งคุยหาข้อตกลงก่อนจะย่อยยับกันทุกฝ่าย แล้วค่อยๆ พัฒนาสู่แนวคิดโลกวิสัยหรือ Secularism รัฐจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับศาสนาซึ่งเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ทุกคนมีเสรีภาพในการเชื่อและปฏิบัติตราบเท่าที่ไม่ละเมิดผู้อื่น
หนังสือใช้เนื้อที่สองสามบทต่อมาอธิบายการปฏิรูปศาสนาพุทธในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ของสยามที่ดำเนินไปอีกทาง สรุปได้ดังนี้
การแสวงหาหลักประกันทางการเมืองของรัชกาลที่ 4 นำไปสู่การแยกนิกายออกจากคณะสงฆ์ส่วนใหญ่ในเวลานั้นเกิดเป็นธรรมยุติกนิกายซึ่งต่อมาแปรสภาพเป็นนิกายของราชสำนักและก่อความขัดแย้งกับมหานิกายจวบจนปัจจุบัน ส่วนรัชกาลที่ 5 ก็เผชิญแรงกดดันจากลัทธิล่าอาณานิคมและต้องการสร้างอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์เพื่อความมั่นคงของสยาม จึงผนวกรวมคณะสงฆ์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐด้วยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 กำหนดโครงสร้างการปกครองสงฆ์ทั้งประเทศให้อยู่ภายใต้ร่มมหาเถรสมาคม พูดให้เข้าใจง่ายคือพระสงฆ์มีสถานะเป็นข้าราชการทำหน้าที่เผยแพร่อุดมการณ์รัฐ ต่อมาถึงรัชกาลที่ 6 ศาสนาพุทธยิ่งถูกผนวกให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงของชาติในนาม ‘ชาติ ศาสน์ กษัตริย์’ นับจากนั้น มันก็แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะแยกความเป็นไทยกับความเป็นพุทธออกจากกัน
แล้วปัญหามันอยู่ตรงไหน? ความเคยชินจากการถูกกล่อมเกลายาวนานว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธทำให้เรามองไม่เห็นความผิดปกติบางอย่างอันเป็นธรรมชาติของความเชื่อ
ทุกศาสนามีทั้งคนที่พยายามยึดมั่นกับถ้อยคำในคัมภีร์และคนที่ตีความคำสอนไปตามโลกทัศน์-ชีวทัศน์ของตน ซึ่งมันอาจจะสอดคล้องกับความเป็นไปของโลกหรือไม่ก็ได้ มันทำให้ศาสนาคริสต์มีเป็นร้อยนิกาย ศาสนาฮินดูมีผู้สมาทานแนวทางและเทพเจ้าอีกหลายร้อย อิสลามก็มีนิกาย พุทธมหายานในเอเชียตะวันออกและวัชรยานก็มีนิกาย มีแนวทางของตนตามที่เรารับรู้จากข่าว
แต่พุทธเถรวาทต่างออกไป พุทธเถรวาทมีลักษณะเฉพาะในเรื่องการยึดแนวคำสอนตามพระไตรปิฎก เน้นการบรรลุเฉพาะบุคคล ถึงกระนั้น พอลงไปดูรายละเอียดในทางปฏิบัติกลับแตกต่างกันไปตามสายอาจารย์
เมื่อพุทธเถรวาทเป็นกลไกหนึ่งของรัฐ เป็น ‘พุทธเถรวาทแบบไทยๆ’ กลายเป็นว่ารัฐต้องผูกขาดแนวทางการตีความคำสอนให้สอดคล้องกับอุดมการณ์ที่รัฐต้องการ เกิดความขัดแย้งดังที่เห็นมาโดยต่อเนื่องตั้งแต่กรณีครูบาศรีวิชัย กบฏผู้มีบุญ สันติอโศก ธรรมกาย เป็นต้น ยิ่งถ้าคำสอนแบบไหนมีคนเชื่อถือจำนวนมากและสามารถขับเคลื่อนคนได้ก็ยิ่งเป็นอันตรายในสายตารัฐ
ภายใต้ภาพมายาของพุทธเถรวาทแบบไทยๆ เสรีภาพในการตีความคำสอนและการปฏิบัติถูกปิดกั้น สังคมไทยเกิดภาพจำต่อศาสนาพุทธที่ดีว่าต้องเป็นแบบนี้ๆ พอพบเห็นการตีความแบบอื่นหรือการทำผิดวินัยสงฆ์ ทั้งพระและฆราวาสจึงเห็นดีเห็นงามให้รัฐเป็นตำรวจศาสนาเข้ามาจัดการให้กลับเข้ารูปรอย
ลองนึกดูนะครับ พระร่วมสังวาสกับสีกาที่ยินยอมพร้อมใจ ผิดพระวินัย แต่ไม่ผิดกฎหมาย แต่เราก็ต้องการให้รัฐใช้ทรัพยากรเข้าไปจับสึก ทั้งที่น่าจะเป็นเรื่องของชุมชนความเชื่อนั้นๆ จัดการกันเอง
หนักกว่านั้นคือมันไปลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพทางศาสนาที่จะเชื่อและปฏิบัติ อย่างการห้ามพระไม่ให้แสดงความคิดเห็นทางการเมือง การห้ามบวชภิกษุณี การเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ และอื่นๆ
สุรพศอธิบายแนวทางการปฏิรูปพุทธศาสนาทั้งจากฝ่ายอนุรักษนิยมกับฝ่ายเสรีนิยม ซึ่งตัวเขาเห็นด้วยกับข้อเสนอของฝ่ายหลังที่ต้องการให้แยกศาสนากับรัฐออกจากกัน ปลดปล่อยทุกศาสนาให้เป็นเรื่องของเอกชนจัดการกันเอง ตีความ เผยแผ่ และแข่งขันกันหาสาวกได้อิสระเท่าเทียมตามกำลังทรัพยากรของตน ตามความคิด ความเชื่อ ตราบเท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิ เสรีภาพ กฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน หรือก็คือศีลธรรมแบบโลกวิสัย
ยากเหลือเกิน ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยยังยากทำใจยอมรับ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงทางที่พัดโหม ข้อเสนอดังกล่าวก็มีสุ้มเสียง มีพื้นที่ของมันขึ้นมาอย่างช้าๆ ในมวลหมู่ผู้คนจำนวนหนึ่ง
ผมเคยสัมภาษณ์นักมานุษยวิทยาผู้ศึกษาอคติทางศาสนา เขาบอกว่าจากการเก็บข้อมูลของสถาบันการศึกษาระดับโลกพบว่าศาสนาจะเป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้งสำคัญของโลกอนาคต
อาจเพราะความเชื่อทางศาสนาผูกพันกับสิ่งที่เรียกว่า ‘ศรัทธา’ ซึ่งมีพลังกระตุ้นเร้าอันเหลือเชื่อ เมื่อยื่นดาบแห่งศรัทธาให้แก่ผู้ศรัทธา คนคนนั้นสามารถเชือดคอตัวเองหรือฟาดฟันคนอื่นได้ในนามของมัน
ถ้ายึดจากแนวคิดของหนังสือและตัวผู้เขียน การดึงอำนาจรัฐออกจากศาสนาอาจเป็นการปลดชวนความขัดแย้งขั้นต้นออกไปก็เป็นได้
เป็นเรื่องที่สังคมต้องสร้างพื้นที่ถกเถียงกันต่อไป