ในระยะหลังมานี้ งานแปลแนววิชาการ หรือ non-fiction เริ่มเป็นที่สนใจของนักอ่าน หนึ่งในนักเขียนที่ผลงานเป็นที่กล่าวถึงและเป็นที่นิยมไม่น้อยคือ จาเร็ด ไดมอนด์ (Jared Diamond) ความน่าสนใจ อาจจะเริ่มตั้งแต่ประวัติของเขา ที่แม้แต่นักวิจารณ์ก็ยังพบว่ายากที่จะให้นิยามว่าเขาคือผู้เชี่ยวชาญด้านใดกันแน่
The Daily Mail เรียกเขาว่า นักสรีรศาสตร์ที่ผันตัวมาเป็นนักปักษีวิทยา ก่อนที่จะหันเหไปเป็นนักภูมิศาสตร์ และลงเอยที่การเป็นผู้เชี่ยวชาญในการเล่าประวัติศาสตร์แห่งมวลมนุษยชาติ แต่บางที สิ่งที่ไดมอนด์นิยามตนเองอาจจะนิยามได้ตรงประเด็นกว่า
“ผมคือนักวิทยาศาสตร์ ที่พยายามจะเข้าใจประวัติศาสตร์ด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์”
ไม่ว่าจะถูกเรียกขานอย่างไร ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลงานของเขามักจะถูกมองว่าเป็น ‘ของขวัญแห่งปัญญา’ แต่ละเล่มเจาะลึกเรื่องราวเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ พาผู้อ่านดำดิ่งไปกับเรื่องชีววิทยาวิวัฒนาการ และชีวภูมิศาสตร์ ในวันนี้มีหลายเล่มที่ถูกแปลเป็นภาษาไทย เช่น
The Third Chimpanzee: The Evolution and Future of the Human Animal (ชิมแปนซีที่สาม วิวัฒนาการและอนาคตของสัตว์มนุษย์) ทำความรู้จักญาติสนิทของมนุษย์ที่มี DNA ต่างกันเพียงนิดแต่กลับผิดกันราวฟ้ากับดิน
Guns Germs, And Steel: The Fates of Human Societies (ปืน เชื้อโรค เหล็กกล้า กับชะตากรรมของสังคมมนุษย์) ว่าด้วย ‘เทคโนโลยี’ ที่มนุษย์ประดิษฐ์และเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์มนุษยชาติไปตลอดกาล
Upheaval: Turning Points for Nations in Crisis (การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ จุดเปลี่ยนสำหรับนานาประเทศท่ามกลางภาวะวิกฤต) ว่าด้วยการรับมือของมนุษย์กับวิกฤตครั้งสำคัญ
และเล่มล่าสุด Why is Sex Fun? : The Evolution of Human Sexuality (เซ็กซ์นั้นสนุกไฉน วิวัฒนาการด้านเพศวิถีของมนุษย์) หนังสือที่พาผู้อ่านย้อนสำรวจรากเหง้าความเป็นเรา ที่ทำให้มนุษย์ทั้งแตกต่างเหมือนกันจากสัตว์สปีชีส์อื่น ลักษณะพิเศษในการสืบพันธุ์ที่ทำให้มนุษย์วิวัฒนาการมาเป็นเราในทุกวันนี้
จากเล่มแรกถึงเล่มหลังๆ งานของเขายังคงลายเซ็นเอาไว้ นักเขียนผู้กวาดสารพัดรางวัลจากหลายสถาบัน นักวิชาการผู้บูรณาการความรู้ด้านสรีรวิทยา นิเวศวิทยา และประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกันจนฉายภาพวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ได้ลึกและกว้างเพื่อให้เรารับรู้อดีต รับมือกับปัจจุบัน และรู้ทันอนาคต
นอกเหนือจากความเป็นนักเขียนรางวัลพูลิตเซอร์แล้ว ยังมีเหตุผลที่สามารถอธิบายได้ว่า เพราะเหตุใด เราถึงควรอ่านผลงานของไดมอนด์


ประการแรก: เล่าเรื่องใหญ่ให้เข้าใจง่าย
ไดมอนด์ ขึ้นชื่อในการขยายเรื่องเล็กให้สามารถอรรถาธิบายเรื่องใหญ่ๆ ใช้แว่นขยายปรากฏการณ์ในปัจจุบันแล้วชวนมองย้อนไปไกลถึงอดีตได้อย่างไม่ขัดตาหรือขัดใจผู้อ่าน หลายเล่มเริ่มต้นจากการเล่าเหตุการณ์ใกล้ตัวที่ผู้อ่านสามารถเชื่อมโยงได้
หนังสือเล่มแรกที่เป็นแรงส่งให้เขาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกอย่างกว้างขวาง คือ Guns, Germs, And Steel ไดมอนด์เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาไม่ได้เริ่มต้นเขียนหนังสือเล่มนี้จากความต้องการที่จะพิสูจน์ทฤษฎีใดทั้งนั้น กลับกัน…เขาเริ่มต้นด้วยคำถาม เขียนในสิ่งที่สงสัย ท้าทายข้อสันนิษฐานเดิมที่มีคนตั้งเอาไว้ว่าความแตกต่างทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างทวีปต่างๆ อาจมีสาเหตุมาจากความ ‘เหนือ’ กว่าของบางเผ่าพันธุ์
“ทำไม คนขาวอย่างพวกคุณถึงมีสินค้ามากมายที่สามารถส่งมาค้าขายที่นิวกินี แต่พวกเราชาวผิวสีกลับมีสินค้าน้อยจนน่าใจหาย”
บทสนทนาของ ‘ยาลี’ ในบทแรก อาจเป็นคำถามที่ค้างคาใจใครหลายคน ว่าเพราะเหตุใดพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกถึงได้แตกต่างกันนัก ในขณะเดียวกันก็เป็นประโยคที่ทำให้นักชีววิทยาผู้ศึกษาพัฒนาการของนกอย่างไดมอนด์ สะดุดใจ สนใจ และหยิบมาใช้เป็นแก่นในการดำเนินเรื่องราวประวัติศาสตร์ของมนุษย์ในช่วง 13,000 ปี ที่ผ่านมา เขาเล่าเรื่องราวจากภาคสนามควบคู่ไปกับการนำเสนอผลการศึกษาด้านการย้ายถิ่นฐาน ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม การปรับตัวทางวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และการแพร่หลายของเทคโนโลยี
คำตอบสุดท้ายของไดมอนด์ คือ ไม่มีชนชาติไหนที่เหนือกว่าใครทั้งนั้น แต่ด้วยความที่สิ่งแวดล้อมเอื้อต่อการเพาะปลูก ผลิตอาหาร และนำไปสู่การผลิตอาวุธได้สำเร็จก่อนใครๆ ทำให้ชาวยุโรปได้เปรียบกว่าประชากรประเทศอื่นๆ ในสังเวียนโลก และนั่นก็คือสาเหตุที่ชาวสเปนมีปืนสำหรับสู้รบกับชาวอินคาจนชนะสงครามได้อย่างไม่ยากเย็น
นักอ่านหลายๆ คนกล่าวว่า Guns Germs, And Steel คือหนังสือดีที่ควรมีคู่บ้านไม่แพ้ Sapiens (เซเปียนส์) หนังสือยอดนิยมของยูวัล โนอาห์ แฮรารี (Yuval Noah Harari) ยอดขายหลายล้านเล่มไม่ได้เกิดขึ้นเพราะโชคช่วย แต่ไดมอนด์บอกว่า นั่นเป็นเพราะคำถามที่เป็นแกนหลักของหนังสือคือคำถามที่ติดอยู่ในใจของนักอ่านเช่นกัน เป็นคำถามที่เรามักจะสงสัยเมื่อตอนเป็นเด็ก เมื่อตอนเข้าสู่วัยรุ่น และเป็นคำถามสำคัญที่ผู้ถามมักจะถูกมองว่าเป็นคนเหยียดเชื้อชาติ นานวันเข้าความสงสัยในประเด็นนี้จึงถูกละเลย เพราะหากใครพลั้งเผลอพูดออกมา ก็มักจะถูกมองว่า ‘เชื่อ’ ในความแตกต่างของเผ่าพันธุ์มนุษย์ทันที
ด้วยเหตุนี้ เมื่อไดมอนด์กล้าที่จะหยิบประเด็นนี้มาขยายและขยี้ นักอ่านจึงพร้อมใจยกให้เป็นหนึ่งในหนังสือที่ควรอ่าน และควรมี

Why is Sex Fun? ผลงานแปลไทยของไดมอนด์เล่มล่าสุดก็เช่นกัน ที่เขายังหยิบยกเรื่องใกล้ตัวมาขยาย ย้อนเวลากลับไปไกลถึงจุดกำเนิดวิวัฒนาการของมนุษย์เราว่าอะไรกันที่ทำให้เรามีพฤติกรรมเช่นนี้ ทำไมเรื่องใต้สะดือถึงเป็นแหล่งกำเนิดความสุขสม (และอาจทุกข์ตรม!) ที่สุดของมนุษย์เรา และที่สำคัญพฤติกรรมทางเพศสัมพันธ์เฉพาะตัวของมนุษย์เช่นนี้ส่งผลต่อการอยู่รอด (และอาจไม่รอดในบางกรณี) ของมนุษย์เราอย่างไร
แต่ละบทเปิดตัวขึ้นมาอย่างน่าสนใจ ก่อนที่จะนำพาผู้อ่านเจาะลึกเข้าไปถึงเนื้อหาที่ว่าด้วยวิทยาศาสตร์พร้อมหลักฐานแน่นหนา ไม่ว่าจะเป็นบทที่ 1 ที่ไดมอนด์ชวนให้เรา ‘ถอด’ ความเป็นมนุษย์ออก แล้วมองพินิจพฤติกรรมทางเพศผ่านเลนส์ของเผ่าพันธุ์อื่นๆ ที่อยู่ใกล้ตัว…อย่างสุนัข
ในบทที่ 3 ที่เริ่มต้นด้วยคำถามว่า ทำไมผู้ชายถึงไม่ต้องให้นมลูก ก่อนที่จะดำเนินเข้าสู่เนื้อหาตอนต้นด้วยการเกริ่นถึงบทบาทหน้าที่ของ ‘พ่อ’ ที่ผู้ชายสามารถทำได้เกือบทุกอย่างทัดเทียมกับ ‘แม่’ ในการเลี้ยงดูทารก ยกเว้นหน้าที่เดียว คือการให้นมบุตร ผู้อ่านหลายคนที่ผ่านประสบการณ์เหล่านั้นมาคงรู้สึกว่ามี ‘empathy’ อยู่ไม่น้อย
หรือในบทที่ 4 ที่ไดมอนด์หยอดอารมณ์ขันแสบๆ คันๆ ว่าด้วยเรื่องของโฆษณาอุปกรณ์ที่ใช้วัดช่วงเวลาไข่ตก ซึ่งลิงบาบูนเห็นแล้วต้องรู้สึกขบขัน เพราะสัญชาตญาณของลิงนั้นชัดเจนกว่าของมนุษย์เป็นหลายเท่าโดยไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์ตัวช่วยใดๆ
เอกลักษณ์การเขียนเฉพาะตัวของไดมอนด์ที่ทำให้เรื่องที่น่าจะเข้าใจยาก สามารถเข้าใจได้ง่าย (ขึ้น) ช่วยให้เราเข้าใจตัวเราเอง รวมทั้งที่ทาง ท่าทีของเราต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม งานเขียนของไดมอนด์จึงถูกนำไปใช้ในการเรียนการสอนหลายวิชา เพราะเป็นพื้นฐานในการมองโลกไม่ว่าจะทำงาน หรือศึกษาเรียนรู้ต่อเพิ่มเติมในศาสตร์ใด
หากจะอ่านเป็นหนังสือฆ่าเวลา หลายคนอาจสงสัยว่าเราจะอ่านหนังสือที่ดูวิชาการเช่นนี้ไปทำไมกัน ในวันที่โลกกำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้า การอ่านประวัติศาสตร์ที่ย้อนไปนับหมื่นปีดูจะเป็นเรื่องเสียเวลา
ทว่า…ยิ่งเราก้าวไปข้างหน้าและพึ่งพาปัญญาประดิษฐ์มากเท่าไร เรายิ่งต้องเข้าใจแก่นแท้ความเป็นมนุษย์มากขึ้นเท่านั้น

เล่าเรื่องผ่านหลากหลายศาสตร์ ราวกับงานวิจัยที่เข้าถึงได้
แม้ว่าตำแหน่งหน้าที่การงานของเขาจะถูกประทับตราเอาไว้ว่าเป็นศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์ แต่ผลงานของไดมอนด์ มักประกอบไปด้วยข้อมูลหลักฐานที่ครบรอบด้าน หากย้อนกลับไปพูดถึง Guns Germs, And Steel เล่มนี้ประกอบไปด้วยหลักฐานที่มองผ่านศาสตร์ต่างๆ รอบด้าน ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ไปจนถึงสัตววิทยา หลักฐานหลายจุดมาจากงานวิจัยภาคสนามของเขา
คำถามของ ‘ยาลี’ จุดกำเนิดของหนังสือ Guns Germs, And Steel เกิดขึ้นในระหว่างช่วงภาคสนามของเขาที่นิวกินีในช่วงปี 1972 แต่กว่าไดมอนด์จะเริ่มคิดถ่ายทอดเป็นหนังสือก็ล่วงเลยมาจนถึงปี 1986 และเขียนจบจนได้ตีพิมพ์ในปี 1997 จนถึงวันนี้ในวัย 70 กว่าๆ ไดมอนด์ยังลงพื้นที่ที่นิวกินี ศึกษาพฤติกรรมคนพื้นเมือง และยังคงมีแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือเล่มใหม่ต่อไป
หนังสือของเขาบูรณาการศาสตร์ต่างๆ และเน้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ทำให้เข้าใจระบบนิเวศ และเห็นว่าทุกกิจกรรมที่เราทั้งทำและไม่ทำ ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน และเราควรปรับพฤติกรรมของเราต่อไปอย่างไรเพื่อให้เราและโลกอยู่รอดร่วมกันได้ดังเช่นที่ผ่านมา
งานของไดมอนด์มักถูกเปรียบเทียบกับแฮรารี ทั้งสองล้วนเป็นนักคิด นักเขียนที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลต่อแนวคิดเชิงประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา และสังคมมนุษย์ แต่แนวทางและความสนใจของทั้งสองก็ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
ในขณะที่ไดมอนด์เป็นนักชีววิทยา แฮรารีเป็นนักประวัติศาสตร์ งานของไดมอนด์สนใจความสัมพันธ์ระหว่างสังคมมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ในขณะที่งานของแฮรารีสนใจแรงขับเคลื่อนทางสังคมและวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อประวัติศาสตร์มนุษยชาติ นอกจากนั้นทั้งสองยังสนใจช่วงเวลาการศึกษาประวัติศาสตร์มนุษย์ที่ต่างกัน ไดมอนด์สนใจโลกโบราณก่อนสมัยใหม่ (ancient and pre-modern) ในขณะที่แฮรารีสนใจประวัติศาสตร์มนุษยชาติตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ส่วนในด้านวิธีการเขียนซึ่งเป็นสไตล์เฉพาะตัวนั้น ในขณะที่ไดมอนด์นั้นดูจะสนใจหลักฐานทางวิทยาศาสตร์โดยอ้างอิงข้อมูลจากชีววิทยา นิเวศวิทยา และภูมิศาสตร์มากกว่า เรามักเห็นวิธีการเขียนเชิงปรัชญา คาดการณ์ผ่านการตั้งคำถามใหญ่ต่อธรรมชาติและอนาคตของมนุษยชาติจากแฮรารี แต่งานของทั้งสองล้วนมีความสำคัญต่อการพัฒนาความเข้าใจความเป็นเรา และสังคมของเรา

ที่มา
บทความ “Interview with Jared Diamond” จาก pbs.org (Online)
บทความ “Jared Diamond: The Thought Leader Interview” จาก strategy-business.com (Online)
บทความ “Jared Diamond: what we can learn from tribal life” จาก TheGuardian.com (Online)
บทความ “Why You Should Read Guns, Germs, And Steel: The Fates of Human Societies” (Online)
Cover Photo: Jared Diamond, HarperCollins Publishers, Penguin Random House, W. W. Norton & Company, Orion