การเล่าเรื่องหรือเรื่องเล่าเร้าพลัง (Storytelling) เป็นเครื่องมือหนึ่งซึ่งใช้ในการจัดการความรู้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการสร้างความรู้ด้วยตนเอง เพื่อค้นหาบทเรียนและปัจจัยความสำเร็จจากเรื่องราวที่ถ่ายทอดผ่านการเล่าเรื่อง
Storytelling เป็นเทคนิคในการดึงความรู้ที่ฝังลึกในตัวตน (Tacit Knowledge) ซึ่งอธิบายและแปลงเป็นข้อมูลเชิงปริมาณหรือตัวเลขได้ยาก ให้กลายเป็นความรู้ที่ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) สกัดเป็นความรู้ที่สามารถบันทึกและเก็บรวบรวมหรือถ่ายทอดได้ โดยทั่วไปมักเลือกเรื่องราวที่เป็นความสำเร็จหรือ Success Story เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ สร้างบรรยากาศความคิดเชิงบวก และกระตุ้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
การจัดการความรู้ด้วยเรื่องเล่าเร้าพลัง มีรายละเอียดและขั้นตอนไม่ยุ่งยาก แต่มีข้อควรระมัดระวังอยู่หลายประการ ปกติแล้วจะมีการนำเครื่องมือทางจิตตปัญญาศึกษามาใช้ ซึ่งประกอบด้วย (1) สุนทรียสนทนา คือการพูดคุยกันบนหลักการความเชื่อมั่นและเคารพความเป็นมนุษย์ ยอมรับความแตกต่าง มองความสัมพันธ์ต่างๆ อย่างเชื่อมโยงเป็นองค์รวม (2) การฟังอย่างลึกซึ้ง คือฟังอย่างตั้งใจและใคร่ครวญ ไม่โต้แย้งหรือตัดสินเรื่องที่ฟังในขณะที่มีการสื่อสาร (3) การสะท้อนการเรียนรู้ ผ่านการเขียน พูด และซักถามด้วยความชื่นชม และมีการสกัดขุมความรู้
การจัดการความรู้โดยเทคนิคการเล่าเรื่อง มีประโยชน์ 2 ทางคือ ได้แนวทางหรือวิธีการปฏิบัติที่เป็นเลิศซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จ สามารถนำมาประยุกต์ต่อยอดพัฒนางานของตนเอง และใช้ถอดบทเรียนหรือสกัดความรู้ จากความผิดพลาดล้มเหลว เพื่อเป็นข้อพึงระวังไม่ให้ทำผิดซ้ำ
ขอขอบคุณ เนื้อหารายการปรับปรุงและเรียบเรียงจาก “เรื่องเล่า: วิธีวิทยาแนวใหม่ในการแสวงหาความรู้เพื่อการวิจัยทางสังคม” โดย รศ.ดร.นรินทร์ สังข์รักษา, วารสารศิลปากรศึกษาศาสตร์วิจัย, ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2561) หน้า 1-16