เป้าหมายของการเรียนรู้ตลอดชีวิต คือการที่บุคคลสามารถกำกับการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง (Self-Directed Learning) เป็นคนรักการเรียนรู้ (Love to Learn) และมี Growth Mindset
อาจเรียกสั้นๆ ว่าเป็นคน ‘คิดเป็น’ หรือ ‘รู้จักคิด’
จริงอยู่ การส่งเสริมการอ่านก็ดี การส่งเสริมการเรียนรู้ก็ดี หรือการพัฒนาห้องสมุดก็ดี มีส่วนสำคัญและจำเป็นต่อการทำให้คน ‘คิดเป็น’ แต่นั่นก็ยังไม่ใช่เงื่อนไขที่เพียงพอ หากปราศจากปัจจัยสนับสนุนทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม
ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และเป็นสาเหตุหนึ่งของความเปราะบางของไทยในเรื่องการศึกษาและการเรียนรู้ เพราะการเข้าถึงคุณภาพการศึกษาที่ดีกลับขึ้นอยู่กับความมั่งคั่งของแต่ละครัวเรือน ดังนั้นศักยภาพคนจึงถูกบั่นทอนกดทับด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจสังคม
ทว่า โครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรมดูเหมือนจะเป็นตัวฉุดรั้งการพัฒนาศักยภาพคน ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นระบบอุปถัมภ์ การเล่นพรรคเล่นพวก สังคมลำดับชั้น วัฒนธรรมอำนาจนิยม และความสัมพันธ์เชิงอำนาจ
แรงเฉื่อยทางวัฒนธรรมเหล่านี้เอง ทำให้ปัจเจกบุคคลไม่สามารถระเบิดพลังสร้างสรรค์ออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ ส่งผลโดยอ้อมต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาทักษะจำเป็น คุณภาพคน และคุณภาพแรงงาน ซึ่งอ่อนแอกว่าประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในระดับเดียวกันกับเรา ดังปรากฏในรายงานตัวชี้วัดของสถาบันระดับโลกหลายแห่ง
ถ้าหากสังคมเปิดกว้าง มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มีโอกาสที่เสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ผู้คนได้รับการปลูกฝังถึงสิทธิที่จะรู้ (Right to Know) ปราศจากข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร มีบรรยากาศและวัฒนธรรมแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ เหล่านี้ย่อมเอื้อให้ผู้คนเกิดความรักในความรู้
เมื่อประกอบเข้ากับการมีห้องสมุดคุณภาพสูง พื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายและเข้าถึงง่าย กิจกรรมส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้ที่สนุกและเท่าทันความเปลี่ยนแปลง
จุดมุ่งหมายของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่มุ่งสร้างคนให้ ‘คิดเป็น’ ก็น่าจะบรรลุถึงได้