ห้องสมุดคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หนังสือกว่า 30,000 เล่มกำลังถูกโยกย้ายระหกระเหินไปยังสถานที่แห่งใหม่ พื้นที่การเรียนรู้เดิมจะแปลงโฉมเป็นพื้นที่การทำงานร่วมกัน พื้นที่พบปะแลกเปลี่ยนความคิด ตามสมัยนิยม
แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวย่อมมีผู้ไม่เห็นด้วย ท่ามกลางคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับห้องสมุดทั่วโลก รวมทั้งห้องสมุดของไทย แต่การเปลี่ยนแปลงของห้องสมุดมหาวิทยาลัยนั้นมีความละเอียดอ่อนซับซ้อนกว่าการเปลี่ยนแปลงของห้องสมุดประเภทอื่น เพราะมันถูกตั้งคำถามที่เชื่อมโยงถึงปรัชญาและบทาทหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาที่มีต่อสังคม
การปิดห้องสมุดหนึ่งๆ ไม่ใช่หมายความว่า ‘ห้องสมุด’ กำลังจะตาย แต่เป็นธรรมดาของสรรพสิ่งที่ย่อมเปลี่ยนรูปแบบและหน้าที่ไปตามกาลสมัย ทว่า กรณีของห้องสมุดคณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัย หรือห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา นั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงอาจเกิดขึ้นเพราะความไม่เข้าใจ (และไม่ใส่ใจ?) ของผู้มีหน้าที่และอำนาจตัดสินใจในการบริหารจัดการทรัพยากรความรู้ และการจัดการพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชนวิชาการ ตลอดจนทุกภาคส่วนในสังคมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากมหาวิทยาลัย
อาจเป็นเพราะบางคนมัวแต่ติดตามและเลียนแบบ ‘เปลือก’ ของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลก แล้วทึกทักเอาเองว่าจะต้องปรับตัวเปลี่ยนไปให้เหมือนโลก แต่ไม่ได้ลงลึกถึงเบื้องหลังของความเปลี่ยนแปลง และผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้น
ที่มา
Cover Photo : Facebook Suddan Wisudthiluck