
การรับฟังเสียงสังคม หรือ Social Listening คือการเก็บข้อมูลผ่านโลกออนไลน์ เป็นเครื่องมือสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนที่มีระบบวิธีการรวบรวม จัดเก็บ และวิเคราะห์ประมวลผล เพื่อนำมาใช้ในการออกแบบและพัฒนานโยบายสาธารณะ ให้เหมาะสมกับบริบทและความต้องการที่แท้จริงของประชาชน
เป็นการเก็บความคิดเห็นที่เกิดขึ้นบนสื่อสังคมออนไลน์ ผ่านการระบุคำหลักหรือแฮชแท็ก (keyword / hashtag) ทำให้ผู้วิจัยเห็นถึงการสนทนาที่หลากหลาย เปิดกว้าง เป็นอิสระ ไม่ถูกจำกัดด้วยข้อคำถามในแบบสอบถาม และมีเวลากำกับแน่ชัด ช่วยให้ผู้ออกแบบนโยบายสามารถมองเห็นทิศทาง และแนวโน้มของสถานการณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี สามารถแก้ไขปรับปรุงนโยบายหรือบริการสาธารณะได้อย่างทันท่วงทีและตรงตามความต้องการของประชาชน
ถึงแม้จะมีข้อดีอยู่มาก เครื่องมือนี้ก็มีจุดอ่อนและข้อจำกัด ซึ่งผู้สำรวจวิจัยความคิดเห็นของประชาชนที่นำเอาวิธีการ Social Listening มาใช้ จำเป็นต้องตระหนักและพึงระมัดระวัง เช่น ความครอบคลุมของกลุ่มประชากรที่จะสำรวจ อคติของผู้วิจัย ขนาดและความกระจัดกระจายของข้อมูล
ข้อมูลเนื้อหาจาก: เก็บเสียงผ่านตัวอักษรด้วย ‘Social Listening’ (เรื่อง: รัสมิ์กร นพรุจกุล เรียบเรียง: สุภาวดี ตันติยานนท์, อธิโชค พิมพ์วิริยะกุล) สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (IPPD) [Online]และ FB Page Thailand Policy Lab – TPLab (3 มิถุนายน 2021)