‘ไดค์มัน บยอร์วิกา’ หรือห้องสมุดประชาชนออสโล ประเทศนอร์เวย์ คว้างรางวัลห้องสมุดประชาชนแห่งปี 2021 เอาชนะห้องสมุดที่เข้ารอบสุดท้ายอีก 4 แห่ง จากประเทศออสเตรเลีย เบลเยียม จีน และเนเธอร์แลนด์
ข้อที่น่าสังเกตคือ ห้องสมุด 4 ใน 5 แห่งต่างถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมือง ซึ่งหากวิเคราะห์แล้วจะแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือห้องสมุดในกลุ่มพัฒนาย่านเมืองใหม่ ได้แก่ห้องสมุดของนอร์เวย์และจีน กับห้องสมุดในกลุ่มพัฒนาย่านเมืองเก่า ได้แก่ห้องสมุดของเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์
แนวคิดการพัฒนาเมืองของสองกลุ่ม สะท้อนถึงเบื้องหลังความคิดที่เปรียบเสมือนคลื่นวัฒนธรรมการพัฒนาสองแนวทาง หนึ่งคือการพัฒนาสู่ความทันสมัย บ้างเรียกว่าความเจริญหรือเดิมใช้คำว่า ‘ศิวิไลซ์’ อีกหนึ่งนั้นคือการพัฒนาที่หวนย้อนสู่การแสวงหาคุณค่าดั้งเดิม และการอยู่ร่วมอย่างกลมกลืนไม่แปลกแยกระหว่าง ‘เก่า’ กับ ‘ใหม่’
ถ้ามองให้พ้นไปจากเรื่องราวการประกวดห้องสมุดแห่งปี ทำให้ชวนตั้งคำถามถึงประเด็นห้องสมุดกับการพัฒนาเมือง ว่า…
แนวทางพัฒนาแบบใดที่เหมาะสมกับบริบทและความเปลี่ยนแปลง โดยที่ห้องสมุดและเมืองมีความเชื่อมโยงกัน
เมืองและห้องสมุดแบบใดที่ตอบโจทย์ผู้คนและชุมชนให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี และช่วยให้ปัจเจกบุคคลสามารถปลดปล่อยศักยภาพตนเองได้อย่างเต็มที่ในการยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคม
นั่นไม่ได้หมายความว่าจะมีเพียงแนวทางใดแนวทางหนึ่งถูกต้องกว่าหรือเหมาะสมที่สุด เพราะแต่ละเมือง แต่ละห้องสมุด แต่ละชุมชน ต่างก็มีสภาพแวดล้อมที่หลากหลายแตกต่างกัน แต่ควรตั้งโจทย์จากชีวิตผู้คน ความสัมพันธ์ของชุมชน การเข้าใจความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ และมองเห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง