วรรณกรรมเรื่อง Animal Farm เป็นวรรณกรรมแนวเสียดสีการเมือง ตีความถึงการปฏิวัติใหญ่ในรัสเซีย ปี ค.ศ.1917 หากเข้าใจเรื่องราวประวัติศาสตร์ส่วนนี้มาบ้างก็จะยิ่งอ่านหนังสือเรื่องนี้ได้อย่างมีอรรถรส แต่เพราะการเมืองเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ การตีความ Animal Farm ให้จบเพียงแค่อุปมาตัวละครกับบุคคลและเหตุการณ์จริงในอดีตที่ผ่านไปแล้ว ย่อมไม่ทำให้วรรณกรรมเรื่องนี้คงทนต่อกาลเวลา
แต่งานเขียนของ จอร์จ ออร์เวล ชิ้นนี้กลับอยู่ยงคงกระพัน และถูกนำมาอภิปรายพูดถึงในหลายรูปแบบแม้จะผ่านมานานกว่า 70 ปี นั่นอาจเป็นเพราะตัวละครและเรื่องราวของ Animal Farm นั้น ยังคงมีชีวิตโลดแล่นและเป็นเรื่องจริงอยู่ในสังคม ความเป็นมนุษย์ที่ยังเต็มไปด้วยกิเลส ผลประโยชน์ ผ่านการแสวงหาอำนาจและการใช้อำนาจโดยขาดความถูกต้องชอบธรรม จนเกิดภาวะที่อำนาจนั้นฉ้อฉล แม้ผู้ใช้อำนาจเองก็อาจไม่รู้ตัวหรือจงใจแกล้งที่จะไม่รู้ก็ตาม
การอ่านหนังสือเรื่องนี้ให้สนุก จึงควรอ่านไปพร้อมกับการตรวจสอบทัศนะจุดยืนทางสังคมและการเมืองของตนเอง การใช้ชีวิตที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ควบคู่ไปกับการวิพากษ์สังคมการเมืองที่เป็นอยู่
หมายเหตุ เนื้อหาข้อมูลในรายการตอนนี้ นำมาจากหนังสือ “รัฐสัตว์ วรรณกรรมเทพนิยาย” (Animal Farm: A Fairy Story) แปลและเขียนบทวิเคราะห์โดย เกียรติขจร ไชยแสงสุขกุล จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน ทีมงาน readWORlD ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ อนึ่ง ความคิดเห็นที่เพิ่มเติมเสริมเข้าไปในรายการเป็นความเห็นส่วนตัวของผู้ดำเนินรายการ หากมีข้อผิดพลาดบกพร่องประการใด ผู้ดำเนินรายการขอน้อมรับไว้แต่เพียงผู้เดียว